บทสัมภาษณ์ : ร.ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ เรื่อง“ลูกอ้วนไป ผอมไป”

 บทสัมภาษณ์ : ร.ศ.พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ เรื่อง“ลูกอ้วนไป ผอมไป”


รายการ “พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” FM 105

ถอดคำสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ พญ.ชุติมา ศิริกุลชยานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และประธานโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ดำเนินรายการ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2553 เรื่องเกี่ยวกับ “ลูกอ้วนไป ผอมไป”

ฟังรายการย้อนหลังได้ที่ radiothai.fm


คุณสรวงมณฑ์ : สวัสดีค่ะคุณหมอคะ

พญ.ชุติมา : สวัสดีค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ถามคุณหมอก่อนเลยนะคะว่า เมื่อสักครู่นี้ได้เปิดเพลงให้คุณผู้ฟังได้ฟังนะคะ เพลงน่ารักเชียว “เด็กไทยดูดี มีพลานามัย” เกี่ยวข้องกับโครงการที่คุณหมอเป็นประธานมั๊ยคะ?

พญ.ชุติมา : ค่ะ เกี่ยวข้องกันค่ะ เปิดเพลงที่เราได้รวมสิ่งที่เราอยากให้เด็กได้ยิน ได้มีการปฏิบัติอย่างไรถึงจะดูดีมีพลานามัยน่ะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ โครงการนี้ถามก่อนล่ะค่ะ มีที่มาที่ไปยังไงคะ?

พญ.ชุติมา : โครงการนี้เริ่มมาจากที่เราพบว่าเด็กมีปัญหาโรคอ้วนเพิ่มขึ้นมาก ตั้งแต่หลายๆ ปีที่ผ่านมา  ซึ่งขณะนี้ประเทศที่พัฒนา หรือกำลังพัฒนาเหมือนบ้านเรา ก็เจอปัญหานี้เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลานะคะ ซึ่งแนวโน้มมันเป็นผลสืบเนื่องจาก เรื่องของการรับประทานอาหารที่มีพลังงานสูง ขนมขบเคี้ยว พวกผักผลไม้ไม่ค่อยรับประทาน และก็เพราะไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ใช้เวลาดูทีวี เล่นเกมคอมพิวเตอร์มากขึ้น ก็ทำให้มีการสะสมพลังงานและทำให้อ้วนมากขึ้นเรื่อยๆ นะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ ก็คือต้องถือว่าเป็นสาเหตุหลักๆ ที่พบเห็นว่าเมืองไทยเองก็มีตัวเลขที่เด็กอ้วนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยเป็นที่มาของโครงการเด็กไทยดูดีมีพลานามัยนะคะ แล้วก็ทำอะไรบ้างคะโครงการนี้?

พญ.ชุติมา : โครงการนี้เราก็มุ่งพัฒนาว่า จะทำยังไงให้เด็กรู้จักวิธีการที่จะเลือกรับประทานอาหารที่บริโภคนะคะ แล้วก็รู้จักใช้เงินในการที่ไม่ตามใจปาก เจออะไรก็ซื้อหมด แล้วก็ส่งเสริมให้เด็กมีวินัย ให้เด็กรู้จักการใช้เวลา รู้จักออกกำลังกาย ไม่ใช่ดูหนังดูทีวีอย่างเดียวนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ทีนี้พอฟังอย่างนี้แล้วเนี่ย ปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเรา แสดงว่าเด็กอ้วนไปเนี่ยเยอะกว่าเด็กที่ผอมไป ถูกต้องมั๊ยคะ?

พญ.ชุติมา : ค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นตามนี้ อย่างโครงการที่เราดำเนินการตั้งแต่ปี 2547 คือโรงเรียนภาครัฐเนี่ยมีเด็กอ้วนอยู่ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งเด็กผอมจะมีประมาณร้อยละ 2-4 ซึ่งมันแตกต่างกันเยอะ ซึ่งในอดีตเด็กผอมจะมากกว่า แต่ปัจจุบันเนื่องจากเราพยายามแก้ไข แล้วก็เนื่องจากเรื่องของสื่อ เรื่องของการที่พ่อแม่มีลูกน้อย แล้วก็ตามใจเลี้ยงดู อยากได้อะไรก็ให้ อยากรับประทานอะไรก็ให้รับประทาน ก็จะมีส่วนมากที่ทำให้เด็กอ้วนมากขึ้นๆ เรื่อยๆ

คุณสรวงมณฑ์ : ที่คุณหมอไปสัมผัสมานี่ตัวเลขในโรงเรียนนี่ของภาครัฐเหรอคะ?

พญ.ชุติมา : นี่ภาครัฐค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : โอ้โห แล้วถ้าเอกชนล่ะคะ?

พญ.ชุติมา : ถ้าเอกชนนี่ขึ้นไปถึงร้อยละ 30 เลยนะคะ ถ้าเด็กเดินมา 3 คนจะอ้วนซะ 1 คน เพราะฉะนั้นมันเยอะมากค่ะซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วก็ตัวเลขที่พบเจอนี่ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยไหนคะ ประถม อนุบาล หรือว่า...?

พญ.ชุติมา : คือตอนนี้เด็กติดโรคอ้วนมาตั้งแต่อนุบาลแล้วนะคะ พอมาถึงวัยเรียนก็ยิ่งอ้วนมากขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนซึ่งเราดูตัวเลขจะชัดเจนเลยว่า มันเริ่มตั้งแต่ ป.1 เข้ามานี่ยังไม่มากเท่าไหร่ พออยู่ที่โรงเรียนอาหารการกินอุดมสมบูรณ์

คุณสรวงมณฑ์ : อุดมสมบูรณ์มาก บางแห่งขาย junk food ในโรงเรียนด้วย

พญ.ชุติมา : ค่ะ ใช่ค่ะ อันนั้นก็ทำให้อัตราเพิ่มขึ้นจากเดิมเนี่ยอาจจะเริ่มจาก 20 พอขึ้นไปถึง ป.6 ก็ไปถึง 30% เลย ซึ่งอันนี้นี่เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แล้วที่เราเจอมากกว่านั้นก็คือปัญหาในเรื่องของไขมันในเลือดสูงนะคะ อันนี้เฉพาะภาครัฐด้วยที่เราได้เคยตรวจเลือดของเด็กที่ปกติ ไม่อ้วนน่ะนะคะ ซึ่งเค้าสนใจ ปรากฏว่าพบว่าไขมันในเลือดสูงถึงร้อยละ 77 นั่นหมายความว่าเด็ก 4 คนจะมีไขมันในเลือดสูง 3 คนซึ่งเป็นสิ่งที่น่าตกใจ

คุณสรวงมณฑ์ : โอ้โห ร้อยละเท่าไหร่นะคะ? ขออีกทีค่ะ

พญ.ชุติมา : 77 ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : 77 เลยเหรอคะ โอ้โห

พญ.ชุติมา : ค่ะ กลายเป็นว่าเด็กปกติมีอยู่แค่ 1 ใน 4 นอกนั้นคือผิดปกติคือสูง แล้วก็สูงแต่ก็อ้วน แล้วยังพบเรื่องของความดันโลหิตสูงด้วย ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยเนี่ย อนาคตของโรคหัวใจเนี่ยอาจจะเป็นในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ อันนี้เป็นปัจจัยที่เรารู้สึกเป็นกังวลกันมากเลยค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : คือจากที่คุณหมอเองก็สัมผัสกับเด็กที่มีปัญหาเนี่ย ปัจจัยอะไรที่เป็นสาเหตุหลักๆ เลยที่คุณพ่อคุณแม่ที่ฟังอยู่ต้องตระหนักดังต่อไปนี้เลยค่ะ?

พญ.ชุติมา : ก็อย่างที่ได้นำเรียนไปแล้วว่าเป็นเรื่องของอาหารการกิน

คุณสรวงมณฑ์ : อาหารเป็นอันดับแรก?

พญ.ชุติมา : ค่ะ ใช่เลยค่ะ เพราะเท่าที่เราดำเนินการมา 3 ปีแล้วนะคะ ก็ยังพบว่าปัญหาคือเรื่องของการกินผักผลไม้น้อยมาก แล้วเด็กจะไปชอบอาหารที่ทอดๆ ไก่ทอด ลูกชิ้นทอด ไส้กรอก อะไรพวกเนี้ยนะคะซึ่งไขมันสูง ขณะเดียวกันเด็กก็ไม่ค่อยออกกำลังกาย แล้วสิ่งที่พูดเมื่อครู่ที่พูดถึงอาหารที่ขายในโรงเรียนเนี่ยก็เป็นปัจจัยส่วนหนึ่ง เพราะว่าความจริงพวกน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบอะไรต่างๆ ซึ่งเด็กชอบ แล้วมันมีให้ดื่มก็จะทำให้เด็กได้รับมากขึ้นเรื่อยๆ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ อันนี้เป็นสาเหตุหลักเรื่องของอาหารนะคะ แล้วก็เรื่องของพฤติกรรมของคนเป็นพ่อแม่ล่ะคะ เราจะทำยังไงคะ? พ่อแม่ก็ยังแหม ยังมีความรู้สึกว่าก็อ้วนๆ ลูกชั้นอ้วนๆ ก็น่ารักดีอยู่นะ

พญ.ชุติมา : ค่ะ คือจริงๆ แล้วทางการแพทย์ “อ้วน” เราถือเป็น “โรค” นะคะเพราะว่ามันไม่ได้มีแค่เรื่องอ้วนอย่างเดียวแล้ว มันจะตามมาด้วยเรื่องของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงนี่แน่นอนที่เราพบแล้วนะคะ ต่อไปก็เป็นโรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจ บางคนนี่นอนหายใจ อ้วนมากๆ บางทีหยุดหายใจเป็นช่วงๆ แล้วเราก็เคยพบว่าต้องนำส่งเด็กไปที่ห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาล เนื่องจากเด็กหายใจเองไม่ได้นะคะ แล้วที่สำคัญอีกอย่างนึงคือเรื่องของโรคมะเร็ง ซึ่งมะเร็งเนี่ยมันจะเกี่ยวเนื่องจากเรื่องของอาหารที่มีไขมันสูง และเนื่องจากเด็กไม่ค่อยรับประทานผักผลไม้ ซึ่งจะมีสารต้านมะเร็งด้วยนะคะ อันนี้แล้วก็ช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีเนี่ย ตรงนี้เด็กไม่ค่อยรับประทาน นั่นก็คือชอบอาหารไขมันสูง โปรตีนสูง ก็เลยทำให้มีปัญหาเรื่องของมะเร็งตามมาได้นะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : คุณหมอคะ แล้วอะไรที่เป็นตัวบอกคะ? มันจะมีมาตรฐาน มีสัดส่วนยังไงว่าตอนนี้ลูกชั้นอ้วนละ? หรือว่าตอนนี้ลูกชั้นผอมไปละ? มันมีเกณฑ์ยังไงคะ?

พญ.ชุติมา : เกณฑ์นี่ส่วนมากจะให้ชั่งน้ำหนักแล้วก็วัดความสูงนะคะ แล้วเราก็จะใช้น้ำหนักเทียบกับความสูง ว่าสูงขนาดนี้ควรจะน้ำหนักเท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ แล้วเนี่ยมันจะมีกราฟของกรมอนามัยนะคะ ใครที่ดูทางอินเตอร์เน็ตหรือว่าทางโรงเรียน รวมทั้งในสมุดสุขภาพเด็กก็จะมี

คุณสรวงมณฑ์ : เวลาไปรับวัคซีนเนี่ยจะมีอยู่แล้ว

พญ.ชุติมา : ค่ะ ใช่ค่ะ ก็ดูว่าความสูงขนาดนี้ น้ำหนักน้องเท่าไหร่ ถ้าเผื่อมันไปตกอยู่ในเกณฑ์สีเขียวก็แปลว่าสมส่วนปรกติ แต่ถ้าไปตกอยู่ในเกณฑ์สีม่วงก็คือเด็กอ้วน หรือตกในเกณฑ์สีส้มหรือสีแดงก็แปลว่าเด็กผอมเกินไปอย่างนี้นะคะ อันนี้ก็ดูตามเกณฑ์ตรงนั้นนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แล้วถ้าความคิดที่ว่าไม่เป็นไรหรอกเด็กๆ อ้วนไว้เดี๋ยวโตไปก็ไปลดเอง คุณหมอคิดว่ายังไงคะ?

พญ.ชุติมา : ไม่ๆ เลยค่ะ ตอนนี้ต้องพยายามเปลี่ยนแปลงทัศนคติตรงนี้ เพราะว่างานวิจัยทั่วโลกออกมาหลายฉบับเลยที่บอกว่า เด็กอ้วนตั้งแต่วัยเด็กเล็กก็จะทำให้อ้วนต่อไปในตอนโต แล้วก็ตอนเป็นผู้ใหญ่ เพราะฉะนั้นมันจะสะสมไปเรื่อย เซลล์ไขมันที่มันเกิดขึ้นเนี่ยมันไม่หายไป แล้วก็มันสามารถทวีขึ้นได้เรื่อยๆ ต่างจากเซลล์ชนิดอื่นเพราะฉะนั้นมันจะอ้วนไปได้เรื่อยๆ แล้วบางคนที่พยายามจะลดน้ำหนักลงมาเนี่ย เผลอแป๊บเดียวก็จะอ้วนกลับไปใหม่ได้นะคะ คือมันเป็นสิ่งที่ยาก เพราะฉะนั้นเราควรป้องกันมากกว่าที่จะมาตามแก้ไขทีหลังค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : สมมตินะคะถ้าคุณผู้ฟังที่ฟังอยู่ ลูกอ้วนไปแล้วจะทำยังไงคะคุณหมอ?

พญ.ชุติมา : ถ้าอ้วนไปแล้วเนี่ยนะคะ สิ่งๆ แรกที่อยากให้ดูนิดนึงคือดูที่หลังคอนะคะว่ามีปื้นดำๆ หลังคอและหน้าคอด้วยค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ทั้งหลังคอและหน้าคอ จะเป็นขี้ไคลหรือเปล่าคะ?

พญ.ชุติมา : คล้ายๆ ขี้ไคลดำๆ แต่ขัดไม่ออกนะคะ ตรงนั้นเป็นสัญญาณเตือนแล้วว่าถ้าอ้วนต่อไปต้องเป็นโรคเบาหวานละ เพราะฉะนั้นถ้าเจอตรงนี้ ก็ต้องรีบปรึกษาแพทย์ดูละว่า ควรจะเช็คเลือดดูว่าเป็นเบาหวานหรือยัง ขณะเดียวกันเนี่ย ก็ต้องขอคำแนะนำจากแพทย์ ว่าทำอย่างไรจะควบคุมน้ำหนักไม่ให้ขึ้นไปกว่านี้ หรือลดลงมาได้ นั่นก็คือขึ้นกับเรื่องของอาหารที่จะต้องบริโภค แล้วก็ส่วนใหญ่เนี่ยก็ต้องให้เด็กได้ออกกำลังกาย ถ้าเผื่อว่าน้ำหนักลดลงมาได้เนี่ย ไอ้ตัวที่มันดำที่คอก็จะหายไป ก็เจือจางไป แต่ส่วนใหญ่บางทีผู้ปกครองเองก็ตามใจแล้วก็รู้สึกผิด บางครั้งถ้าลูกอยากกินแล้วไม่ได้กิน บางทีตามใจมากเกินไป แต่ก็ค่อยๆ สามารถจะแก้ไขได้นะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ก็เรียกว่าต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเป็นพ่อแม่ด้วย อย่าตามใจมากเกินไป

พญ.ชุติมา : ค่ะ ต้องเป็นต้นแบบด้วย อะไรที่ควรรับประทานก็คือต้องทานให้ลูกดูด้วย อะไรที่ไม่ควรก็ไม่ควรซื้อเข้าบ้านมาเก็บไว้ในตู้เย็น สิ่งเหล่านี้พอใกล้มือเด็กก็จะไขว่คว้าได้แล้วก็จะรับประทาน มันก็จะทำให้แก้ไขนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : จะบอกลูกว่า “หนูอ้วนไปแล้วนะลูก หนูห้ามกินแล้วนะน้ำอัดลม” แต่แม่กำลังกินอยู่ แบบนี้ก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหานี้ได้

พญ.ชุติมา : ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : เพราะฉะนั้นปัญหานี้ก็ต้องเริ่มจากคนเป็นพ่อแม่ กรณีนี้เด็กอ้วน แล้วถ้ากรณีแบบไหนที่เรียกว่าผอมไปคะคุณหมอ?

พญ.ชุติมา : เด็กที่ผอมเกินไปก็อย่างที่ได้เล่าไปในตอนต้นว่า ถ้าเราดูจากน้ำหนักเทียบกับความสูง คือถ้ามันต่ำกว่าเกณฑ์สีส้มนะคะก็คือผอมเกินไป ทีนี้เด็กๆ ที่ผอมเกินไปก็ไม่ดีอีก เนื่องจากว่าถ้าน้ำหนักน้อยเกินไป มันก็มีโอกาสที่จะเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่าย เนื่องจากเรื่องของภูมิต้านทานร่างกายไม่ดีนะคะ เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และเด็กเหล่านี้ก็จะเจริญเติบโตช้า แล้วถ้ายิ่งเฉพาะในกรณีที่สมองกำลังเจริญเติบโตในวัยก่อน 5 ขวบเนี่ยล่ะค่ะ เพราะสมองเจริญเติบโตเกือบ 100% ในช่วงนี้ ถ้าเผื่อเราขาดสารอาหารในช่วงวัยก่อนเรียน หรือคือวัยอนุบาลนี่ก็จะมีโอกาสที่สมองจะพัฒนาไม่ได้เต็มที่ ตามศักยภาพที่ควรจะเป็นน่ะนะคะ ก็ทำให้การเรียนรู้อาจจะต่ำกว่า ผิดปกติได้ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วถ้าสมมตินะคะ สมมติไปอีกว่าพอเทียบเกณฑ์เอาน้ำหนักเทียบกับความสูงแล้วเนี่ย ปรากฏว่าเป็นเด็กที่เตี้ยอีกต่างหาก เตี้ยหรือว่าสูงเนี่ยเป็นปัญหามั๊ยคะ?

พญ.ชุติมา : ขอบคุณมากเลยค่ะสำหรับปัจจัยนี้ เด็กที่เตี้ยเนี่ยเป็นการที่จะบ่งบอกว่า เด็กได้ขาดสารอาหารมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะปกติเมื่อเริ่มแรกเนี่ยมันจะกระทบแต่เรื่องน้ำหนักไม่ขึ้น แต่ถ้าไประยะนึงเรื้อรังนานก็จะกระทบต่อส่วนสูง เพราะฉะนั้นถ้าไปกระทบต่อส่วนสูง แล้วเนี่ยมันก็มีโอกาสไปกระทบต่อสมองได้นะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ เพราะฉะนั้นเวลาดูเกณฑ์เนี่ยต้องไปพร้อมๆ กันนะคะ เฉลี่ยไปพร้อมๆ กัน

พญ.ชุติมา : ใช่ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : เคยได้ยินนะคะคุณหมอว่าลูกตัวเตี้ยแล้วเค้ามีการไปต่อกระดูกเนี่ย วิทยาการมันไปยังงั้นจริงๆ เหรอคะ? ฟังแล้วตกใจเหมือนกัน

พญ.ชุติมา : เราไม่แนะนำค่ะ เพราะถ้าเผื่อตรงนั้นมันมีเรื่องการของการผ่าตัดซึ่งเสี่ยงหลายๆ อย่าง แต่ถ้าสมมติว่า เราจะให้เด็กได้เจริญเติบโตตามศักยภาพ ตามวัยของเค้าเนี่ยก็คือให้รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่นะค ไม่ใช่ทานแค่เนื้อสัตว์ หรือว่าทานข้าวแค่นี้เท่านั้น แต่ต้องมีผักมีผลไม้ต่างๆ ให้ครบด้วย แล้วก็เรื่องของการออกกำลังกายที่สำคัญเนี่ยนะคะ ทีนี้ถ้าเผื่อว่าการออกกำลังกาย ทานอาหารได้ครบแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของการพักผ่อนหลับนอนนะคะ เด็กต้องพักผ่อนให้เพียงพอเพราะว่าถ้าสมมติว่าเด็กนอนดึกเกินไป การเจริญเติบโตก็จะช้า เพราะฉะนั้นเด็กก็ไม่สามารถที่จะให้น้ำหนักขึ้นมากได้นะคะ ในพ่อแม่ที่มีลูกน้ำหนักน้อยส่วนใหญ่ก็จะเป็นกังวลมากเลย และส่วนมากหมอก็จะแนะนำในเรื่องของอาหาร การออกกำลังกาย แล้วก็พักผ่อนให้เพียงพอนะคะ แต่ก่อนอื่นยังไงก็ต้องดูว่า เด็กมีโรคประจำตัว ที่จะเป็นสาเหตุที่จะทำให้น้ำหนักเด็กไม่ขึ้นหรือเปล่านะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ คือสิ่งที่คุณหมอบอกความจริงทุกคนก็เรียนมา หรือว่าคนเป็นพ่อแม่ทุกคนก็เรียนนะคะ ที่ว่ารับประทานอาหาร ออกกำลังกาย แต่ทำมั๊ย ทำไม คือเราก็รู้ดีแหละว่าอันนี้เราก็ควรกินผัก ไอ้นี่เราไม่ควร เราควรหลีกเลี่ยง แต่สุดท้ายแล้วเนี่ยเราก็พบเห็นเด็กอ้วนเต็มไปหมดเลย คุณหมอคิดว่าจะทำยังไงคะ รู้ทั้งรู้นะคะบางทีพ่อแม่ก็รู้แต่มันอดไม่ได้ซักทีเลย

พญ.ชุติมา : ก็ส่วนใหญ่แล้วอาหารที่ดีต่อสุขภาพมันมักจะไม่ค่อยอร่อย อย่างผักเนี่ยก็อาจจะบอกว่าขม เหม็นนะคะ ผลไม้ก็ไม่ชอบ แต่ว่าของทอดมันหอมแล้วก็รสชาติมัน ยิ่งมันก็ยิ่งอร่อยนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : เย้ายวนเหลือเกิน

พญ.ชุติมา : ค่ะ แล้วก็สิ่งที่โฆษณาออกมาเนี่ย มันชวนให้เราอยากลอง เรื่องตรงเนี้ยค่ะเป็นสิ่งที่เราเองเราก็ต่อสู้กับสื่อมาพอสมควร มีการประชุมกันเหมือนกันนะคะว่าพยายามจะลดเรื่องโฆษณาลงให้เหลือ 10 นาทีนะคะ ก็ต่อรองกัน ตอนแรกเราต้องการให้ 8 นาที เค้าก็บอกว่าไม่ได้ของเค้าขอ 12 นาที ประมาณนั้น ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราพยายามเคลื่อนไหวอยู่ตอนนี้นะคะ คือสื่ออะไรที่ไม่ดีต่อเรื่องสุขภาพของเด็ก เราก็พยายามที่จะให้ลดน้อยลง แต่เรื่องของการตลาดของเค้า เค้าจะมีวิธีการเลี่ยงไปยังไงเค้าก็จะรู้

คุณสรวงมณฑ์ : สามารถจะดิ้นไปได้ทุกทาง

พญ.ชุติมา : อย่างเช่นบางทีก็เข้าไปในโรงเรียนอะไรอย่างเนี้ยค่ะ นี่วันเด็กก็ใกล้เข้ามา เค้าเลยมีการแจกสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กๆ อีกนะคะ ก็เป็นสิ่งที่อยากจะฝากท่านผู้ปกครอง คุณครูที่โรงเรียนด้วยว่าก็คงต้องพิจารณาให้ดี สำหรับเรื่องสุขภาพของเด็กค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ เพราะถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้ว แหม กว่าจะมาเยียวยากันได้เนี่ยเรื่องใหญ่เลย ท้ายสุดเลยค่ะคุณหมอคะ ถ้าอยากให้ลูกของเรามีหุ่นดี และต้องการจะติดต่อให้ลูกลองเข้าไปดูโครงการเด็กดีมีพลานามัย จะติดต่อได้ที่ไหนอย่างไรคะ?

พญ.ชุติมา : ค่ะ ก็เข้าไปดูในเว็บไซต์ได้นะคะ http://www.dekthaidoodee.com/ ในนั้นก็จะมีข้อมูลทุกอย่าง ทั้งสาเหตุ ทั้งเรื่องของการแก้ไขอะไรต่างๆ นะคะ แล้วก็มีเพลง “เด็กไทยดูดี” ก็ไปโหลดได้นะคะ แล้วก็มีการ์ตูนสำหรับเด็กที่ว่าอะไรควรรับประทาน อะไรไม่ควรรับประทาน ซึ่งเราตั้งชื่อว่า “Dr.Smart พิฆาตโรคอ้วน” ก็สามารถเข้าไปดูได้ค่ะ

(คุยกันเรื่องเพลง “เด็กไทยดูดี” ซึ่งแต่งและร้องโดยลูกชายของคุณหมอเอง)

คุณสรวงมณฑ์ : วันนี้ต้องขอบคุณคุณหมอมากนะคะที่มาให้ความรู้กับเราในวันนี้ค่ะ

พญ.ชุติมา : ค่ะ ขอบคุณมากค่ะ สวัสดีค่ะ

ความคิดเห็น