บทสัมภาษณ์ : พญ.อังคณา อัญญมณี เรื่อง “มีลูกคนเดียว จะมีปัญหาไหม?”

 บทสัมภาษณ์ : พญ.อังคณา อัญญมณี เรื่อง “มีลูกคนเดียว จะมีปัญหาไหม?”


รายการ “พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” FM 105

ถอดคำสัมภาษณ์ พญ.อังคณา อัญญมณี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์

ผู้ดำเนินรายการ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com

วันพฤหัสบดีที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2553 เรื่องเกี่ยวกับ “มีลูกคนเดียว จะมีปัญหาไหม?”

ฟังรายการย้อนหลังได้ที่ radiothai.fm


คุณสรวงมณฑ์ : สวัสดีค่ะคุณหมอคะ

พญ.อังคณา : ค่ะ สวัสดีค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : สวัสดีวันปีใหม่และวันเด็กนะคะคุณหมอ

พญ.อังคณา : ค่ะ เช่นกันค่ะ

(ทักทายและถามไถ่เรื่องกิจกรรมวันปีใหม่ของคุณหมอ)

คุณสรวงมณฑ์ : เข้าเรื่องเลยนะคะคุณหมอ จากสภาพสังคมโดยรวมในฐานะที่คุณหมอเองก็เป็นจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้สัมผัสกับคุณพ่อคุณแม่เยอะแยะมากมาย มีคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกคนเดียวเยอะมั๊ยคะในสภาพสังคมปัจจุบัน?

พญ.อังคณา : ในปัจจุบันใช่ไหมคะ เท่าที่หมอเจอเองเนี่ยก็พบว่าครอบครัวหลายครอบครัวเนี่ยมีลูกคนเดียวนะคะ สาเหตุที่มีลูกคนเดียวก็มีหลายๆ อย่างร่วมกันนะคะ อาจจะประกอบไปด้วยเรื่องของเศรษฐานะด้วยนะคะ บางครอบครัวมีฐานะที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็เลยอาจจะส่งผลให้ตัดสินใจมีลูกคนเดียว เพื่อที่จะมีเงินค่าใช้จ่ายพอสำหรับที่จะเลี้ยงดูลูกได้อย่างดีนะคะ แต่ในทางตรงกันข้าม ในครอบครัวบางครอบครัวที่มีฐานะดีแต่ไม่มีเวลา ก็จะทำให้คุณพ่อคุณแม่มีลูกค่อนข้างช้า นอกจากนี้ ก็อาจจะไม่มีเวลาในการที่จะมาดูแลลูกด้วย ก็เลยทำให้เค้ามีลูกเพียงคนเดียวค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แล้วก็การมีลูกเพียงคนเดียวในทางวิชาการก่อน ถือว่ามีปัญหา? หรือว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้วสำหรับสังคมไทยคะ?

พญ.อังคณา : ในความเห็นของหมอเองนะคะ การมีลูกคนเดียว ถ้าถามว่าเป็นสิ่งที่เหมาะหรือไม่เหมาะ ก็คงจะต้องขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว

คุณสรวงมณฑ์ : เงื่อนไขของแต่ละครอบครัว?

พญ.อังคณา :
ใช่ค่ะ คือบางครอบครัวถ้าเกิดไม่มีความพร้อม การที่มีลูกหลายๆ คนอาจจะทำให้การเลี้ยงดูไม่สามารถเป็นไปได้ด้วยดีนะคะ และไม่สามารถที่จะดูแลหรือให้การพัฒนาลูกได้เต็มที่ อันนี้ก็เหมาะที่จะมีลูกคนเดียวนะคะ แต่ในการมีลูกคนเดียวก็ต้องระวังหลายๆ เรื่องเหมือนกัน เพราะว่าการมีลูกคนเดียวทำให้เด็กขาดการพัฒนาในบางด้านไป ซึ่งก็ไม่ใช่ทุกด้าน แต่ถ้าเกิดเรามีความเข้าใจ แล้วเราพอมีวิธีที่จะรับมือกับการเลี้ยงลูกคนเดียวได้เนี่ย อันนี้ก็สามารถที่จะมีลูกคนเดียวได้นะคะ แล้วลูกก็จะเติบโตได้อย่างมีคุณภาพ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ ที่คุณหมอบอกว่าการมีลูกคนเดียวเนี่ย มันมีข้อเสียยังไงคะ? แล้วก็ข้อดียังไง?

พญ.อังคณา : ค่ะ ในความเห็นของหมอเองคิดว่าการมีลูกคนเดียวนะคะ จริงๆ ถามว่าในเรื่องพัฒนาการของเด็กมันก็ประกอบไปด้วยหลายๆ ด้านนะคะ จะมีทางด้านร่างกาย ด้านความคิด ด้านอารมณ์ ด้านสังคม ด้านจริยธรรมนะคะ

ในส่วนของทางด้านร่างกาย คิดว่าการมีลูกคนเดียวก็ไม่ได้เป็นปัญหาในการพัฒนาการทางด้านร่างกายนะคะ เนื่องจากเด็กก็จะมีการพัฒนาไปตามวัยได้

ส่วนในด้านของความคิดสติปัญญาเนี่ยนะคะ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างนะคะ ก็คือตัวเด็กเองด้วยว่าจะมีระดับไอคิวเท่าไหร่ นอกจากนี้ การเรียนรู้สิ่งต่างๆ ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้แม้ว่าเค้าจะเป็นเพียงลูกคนเดียวนะคะ

แต่ปัญหาที่อาจจะต้องระวังก็คือพัฒนาการในด้านของอารมณ์ แล้วก็พัฒนาการด้านของสังคมนะคะ ในด้านของอารมณ์เนี่ย ก็อย่างที่เราทราบๆ กันอยู่นะคะ คนที่มีลูกคนเดียวเนี่ย พ่อแม่ก็มักจะ...

คุณสรวงมณฑ์ : ตามใจ อยากได้อะไรก็จัดให้

พญ.อังคณา : ใช่ค่ะ เนื่องจากว่ามองดูว่าลูกคนนี้จะเป็นคนที่มีความหมายสำหรับเค้า คือพ่อแม่บางคนรอมานานเลยกว่าจะมีลูกสักคนนึงในกรณีที่มีบุตรยากนะคะ  เพราะฉะนั้นการที่ลูกเกิดขึ้นมาแล้วเนี่ย ลูกคนนั้นก็ย่อมจะมีความหมายกับพ่อแม่เป็นธรรมดานะคะ ตรงนี้เนี่ย ถ้าเกิดเราให้ความหมายมากเกินไปหรือว่าคุณค่าของลูกมากเกินไปเนี่ย อาจจะทำให้การเลี้ยงดูของเราเป็นไปในทางที่มันไม่สมดุลได้น่ะค่ะ ค่ะ แล้วเด็กก็จะมีปัญหาในเรื่องของอารมณ์นะคะ ก็คือ เด็กอาจจะควบคุมตัวเองไม่ได้เมื่ออยู่กับคนอื่นนะคะ เนื่องจากว่าเมื่อเค้าอยู่ในบ้านเค้าเป็นคนที่ถูกทุกคนรักใช่มั๊ยคะ ยิ่งถ้าเกิดมีคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายอยู่ด้วย ก็จะยิ่งทำให้เค้าเป็นที่หนึ่งตลอดเวลา ทุกคนก็จะยอมเค้าทำให้เค้าเนี่ยเรียนรู้กับการที่จะต้องได้อะไรก่อนเสมอ  หรือว่าไม่รู้จักการที่จะต้องแบ่งปันให้กับคนอื่น หรือว่าการรอคอยนะคะ ตรงนี้ก็จะมีปัญหาทางด้านอารมณ์ตามมาได้นะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : แหม ช่างตรงใจกับคุณแม่พรรษชลนะคะ คือคุณแม่เนี่ยอาจจะกำลังคิดอยู่วางแผนอยู่ว่า จะมีน้องอีกคนดีหรือเปล่า ก็เลยถามมาบอกว่าการมีลูกคนเดียว หรือว่าการจะหาน้องให้อีกสักคนเนี่ย อยากให้คุณหมอช่วยแนะนำหน่อยค่ะว่ามันควรจะต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง?

พญ.อังคณา : ค่ะ จริงๆ แล้วการที่จะมีลูก 2 คนขึ้นไปก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีนะคะ เนื่องจากว่าเด็กก็จะสามารถที่จะฝึก เหมือนเป็นสนามที่เค้าจะฝึกเรื่องทักษะทางสังคมนะคะ การที่มีพี่น้องอยู่ด้วยกัน อันนั้นก็เป็นเหมือนสนามอันนึงที่เด็กจะได้ฝึกการเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน การเรียนรู้ที่จะเสียสละ การให้อภัย การอดทนรอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ถ้าหากเค้าได้ฝึกในขณะที่เค้าอยู่ที่บ้าน เมื่อเค้าออกไปสู่สังคม เช่น เข้าโรงเรียน หรือว่าไปอยู่กับเพื่อนนอกบ้านเนี่ย เค้าจะสามารถที่จะทำได้ดีมากขึ้นนะคะ ทีนี้ถ้าเกิดว่าคุณแม่อยากที่จะมีลูกเนี่ย อาจจะต้องดูก่อนว่า เอ๊ะ ตอนนี้เนี่ยเรามีความพร้อมหรือเปล่านะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานะของเรา ในเรื่องของการเงิน หรือว่าในเรื่องของเวลา แล้วก็อาจจะต้องดูในเรื่องของอายุของลูกคนโตด้วยนะคะว่าห่างกันเท่าไหร่ ถ้าลูกคนแรกยังมีอายุไม่โตพอที่จะดูแลตัวเองได้ เช่น อายุอาจจะประมาณสัก 1 ขวบ อันนี้อาจจะยังไม่ควรที่จะมีลูกคนต่อไปนะคะ เพราะว่าถ้าเรามีลูกคนต่อไปเนี่ยเราจะต้องให้เวลากับลูกคนต่อไปค่อนข้างมาก ถ้าพี่เค้ายังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ก็อาจจะเป็นปัญหาได้เหมือนกันนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : คำถามยอดฮิตอีกคำถามนึงก็คือว่า แล้วควรจะห่างกันสักกี่ปีคะคุณหมอ?

พญ.อังคณา : ในความเห็นของหมอ คิดว่าน่าจะห่างกันสัก 2-3 ปีนะคะ น่าจะเป็นช่วงเวลาที่กำลังพอเหมาะ เนื่องจากว่าเด็กเมื่ออายุประมาณ 2-3 ปีก็สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองพอได้แล้วนะคะ แล้วก็สามารถเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือน้องได้ด้วยนะคะ ซึ่งตรงนี้จะทำให้เค้ารักกันมากขึ้นนะคะ แต่ถ้าเกิดอายุห่างกันมากเกินไป อย่างเช่น 6-7 ปีเนี่ยก็อาจจะเป็นปัญหาเหมือนกันเพราะว่า ในการเล่นหรือการอยู่ร่วมกัน อาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกันนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ความสนใจต่างกันเพราะว่าวัยต่างกัน

พญ.อังคณา : ใช่ค่ะ อาจจะทำให้พี่รู้สึกอึดอัดรำคาญน้องได้ แต่ก็ไม่ใช่เป็นข้อที่ยกเว้นนะคะ ไม่ใช่ว่าถ้าเกิดลูกคนโตอายุ 6-7 ปีแล้วจะไม่มีน้องอีกเลยก็ไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ ก็คงต้องปรับไปตามความเหมาะสมและความต้องการของครอบครัวนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วเพศล่ะคะ? คือมีลูกเพศชายตอนนี้ อยากได้ลูกสาวอีกสักคน อันนี้เป็นตัวแปรได้มั๊ยคะว่าเวลาเลี้ยงดูแล้วจะมีปัญหาหรือเปล่า? อย่างที่คุณหมอบอกว่าเรื่องของวัยมีความแตกต่างกันว่าถ้า 7-8 ขวบแล้วก็มีลูกเล็กเนี่ยจะต้องระวังอะไร แล้วถ้าเรื่องของเพศล่ะคะต้องระวังอะไร?

พญ.อังคณา : เรื่องของเพศ คิดว่าตรงนี้ไม่ได้มีส่วนที่สำคัญมากนักนะคะ คือคิดว่าเป็นเพศไหนก็ได้นะคะ เพราะว่าเด็กก็สามารถเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้อยู่แล้วนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ ถึงแม้ว่าความสนใจอาจจะแตกต่างกันระหว่างลูกสาวและลูกชาย

พญ.อังคณา : ใช่ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ ทีนี้มาถึงประเด็นที่อยากจะให้คุณหมออธิบายสักนิดนึง เอาล่ะ มีคุณพ่อคุณแม่จำนวนมากที่โดยวัยแล้วอาจจะต้องตัดสินใจนะคะ ด้วยปัจจัยอะไรก็แล้วแต่เยอะแยะเงื่อนไขของแต่ละสภาพครอบครัว ตัดสินใจมีลูกคนเดียวแน่ๆ อะไรบ้างที่ควรจะต้องคำนึงถึงดังต่อไปนี้คะคุณหมอ ว่าเอาล่ะไม่มีน้องให้เค้าแน่ๆ ละ?

พญ.อังคณา : ค่ะ ถ้าเกิดเราตัดสินใจที่จะมีลูกคนเดียวแล้วเนี่ย เราก็ต้องถามตัวเองก่อนว่า เราเองเนี่ยพร้อมมั๊ยที่จะเป็นเพื่อนกับลูก เนื่องจากว่าถ้าเกิดว่าลูกเติบโตมาเป็นเด็กคนเดียวในบ้านเนี่ย แล้วถ้าเกิดว่าเค้าขาดเพื่อนเนี่ยนะคะ ก็จะทำให้เค้าไม่ได้พัฒนาการในด้านต่างๆ อย่างสมบูรณ์นะคะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอารมณ์และก็เรื่องของสังคมนะคะ

ในเรื่องของอารมณ์ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ตั้งใจจะมีลูกคนเดียวเนี่ย คุณพ่อคุณแม่ต้องเรียนรู้ที่จะเป็นเพื่อนกับลูกได้ ในการที่จะเล่นกับลูก ไม่ใช่ว่าซื้อเป็นของเล่นให้เด็กนั่งเล่นคนเดียวนะคะ แต่ว่าควรที่จะหาของเล่นหรือเกมสนุกๆ ที่จะทำให้พ่อแม่ได้มีส่วนร่วมเล่นกับเด็กด้วย ตรงนี้จะทำให้เด็กเนี่ยมีความสุขแล้วก็สนุกสนานได้ แล้วก็นอกจากนี้ก็ยังทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ลูกจะสามารถพูดคุยทุกเรื่องกับพ่อแม่ได้นะคะ ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญ เพราะว่าเมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่นเด็กจะไม่ไปติดเพื่อนนะคะ ถ้าเกิดพ่อแม่เหินห่างกับลูก พ่อแม่ไม่เคยลงไปเล่นกับลูก ไม่มีความสัมพันธ์ที่สนิทสนมใกล้ชิดกันเนี่ย ตรงนี้อาจจะเป็นปัญหาได้ว่าโตขึ้นเค้าอาจจะไปติดเพื่อน หรือว่าต้องการที่จะอยู่กับเพื่อนมากกว่าพ่อแม่ ซึ่งตรงนี้เราควรที่จะเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็กนะคะ คือถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่เคยเล่น พ่อแม่บางคนเนี่ยเป็นคนที่ไม่เคยเล่นกับลูกนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : เล่นไม่เป็น ไม่รู้จะเล่นยังไงดี ทำตัวเป็นอะไรหนอที่จะเหมาะกับลูก อาจจะไม่รู้

พญ.อังคณา : ใช่ค่ะ ซึ่งตรงนี้เนี่ยมันฝึกไม่ยากเลยนะคะ แค่คุณพ่อคุณแม่หาเกมที่เล่นด้วยกันได้หลายๆ คนมาเล่นกับลูกนะคะ ตรงนี้ก็จะทำให้ลูกได้ฝึกด้วยนะคะ จะฝึกการรอคอย จะฝึกเกี่ยวกับเรื่องของการที่จะรู้จักให้อภัย รู้จักการแบ่งปันด้วยนะคะตรงนี้ อันนี้อย่างที่บอกก็คือ ต้องมาดูว่าความพร้อมของคุณพ่อคุณแม่น่ะมีมั๊ย ตรงนี้บางคนก็ตั้งใจแต่ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไง เราก็อาจจะต้องลองหาความรู้ หรือลองปรึกษากับผู้ที่มีความเข้าใจตรงนี้ เพื่อที่จะให้เราเลี้ยงดูลูกได้อย่างเหมาะสมนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : คุณหมอพอจะมีกรณีแนะนำมั๊ยคะว่าคุณพ่อคุณแม่ที่ไปปรึกษานะคะ จากกรณีของจริงนะคะที่มีลูกคนเดียวเนี่ย ส่วนใหญ่ไปด้วยสถานการณ์ไหนคะ?

พญ.อังคณา : ลูกคนเดียวในช่วงวัยเด็กเนี่ย ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีปัญหานะคะ เนื่องจากว่าวัยเด็กเนี่ยเด็กก็จะอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ในบ้านใช่มั๊ยคะ ตรงนั้นก็มักจะไม่ค่อยมีปัญหามาก ก็อาจจะมีแค่เรื่องของอารมณ์นะคะที่ว่าเด็กอาจจะเอาแต่ใจ แต่ตรงนั้นก็ยังไม่ถึงขั้นที่คุณพ่อคุณแม่จะพามานะคะ แต่เมื่อถึงวัยที่เค้าเข้าสู่วัยรุ่นเนี่ยค่ะ ตรงนี้เนี่ยปัญหาก็จะตามมาค่อนข้างมากเหมือนกัน ก็คือมีกรณีเหมือนกันที่ว่าคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกคนเดียวเนี่ยมีความเป็นห่วงมาก ซึ่งบางครั้งมันอาจจะมากเกินไปนะคะ พ่อแม่ที่คอยดูแลทุกๆ อย่างนะคะ เค้าก็จะมีความคาดหวังกับลูกค่อนข้างสูงนะคะ ในความรักหรือว่าการทุ่มเทตรงนี้เนี่ย คุณพ่อคุณแม่ก็หวังว่าหรือมักจะมองว่าลูกเป็นสิ่งสำคัญ เด็กจะเป็นความหวังให้กับพ่อแม่นะคะ ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งถ้าเด็กทำอะไรผิดพลาด เช่น เด็กอาจจะเรียนไม่ดีหรือว่าเด็กอาจจะอยากที่จะอยู่กับเพื่อนมากกว่า เพราะว่าวัยรุ่นเนี่ยเด็กก็จะออกห่างจากพ่อแม่มากขึ้น และก็ไปอยู่กับเพื่อนมากขึ้นซึ่งตรงนี้พ่อแม่บางคนไม่เข้าใจนะคะ แล้วก็ทำให้พ่อแม่ยิ่งตามลูกมากเข้าไปอีก ก็จะทำให้เด็กอึดอัดมาก ซึ่งบางครั้งมันก็จะทำให้เกิดการปะทะกันในครอบครัว ซึ่งเป็นปัญหาที่รุนแรงจนคุณพ่อคุณแม่ต้องพาเด็กมานะคะ จริงๆ ถ้าพ่อแม่มีความเข้าใจถึงพัฒนาการในแต่ละช่วงแต่ละวัย ก็จะทำให้พ่อแม่ปรับวิธีการเลี้ยงดูลูกได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น ซึ่งเด็กก็จะไม่มีปัญหาตามมานะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : คุณย่าสมร ถามมาบอกว่า น้องออมสิน เป็นเด็กที่ขี้อิจฉานะคะ ถ้าคุณย่าไปอุ้มเด็กคนอื่นที่อยู่ข้างๆ บ้านน้องก็จะงอน แล้วก็โกรธ และที่สำคัญห้ามแสดงออกว่ารักเด็กคนอื่นนอกจากต้องรักน้องคนเดียว จะมีวิธีการพูดแก้ไขกับน้องอย่างไร แล้วก็โตขึ้นน้องจะติดนิสัยนี้หรือเปล่าค่ะคุณหมอ?

พญ.อังคณา : น้องออมสินนี่อายุเท่าไหร่คะ?

คุณสรวงมณฑ์ : ตอนนี้น่าจะประมาณ 4 ขวบครึ่งค่ะ

พญ.อังคณา : ประมาณ 4 ขวบครึ่งนะคะ คือถ้าเกิดว่าน้องออมสินเค้าเป็นหลานคนเดียวของคุณย่าใช่มั๊ยคะ?

คุณสรวงมณฑ์ : ตอนนี้เป็นหลานคนเดียวค่ะ

พญ.อังคณา : ค่ะ เป็นหลานคนเดียวเนี่ย ถ้าเกิดกรณีนี้ก็เหมือนกัน คุณย่าก็คือจะอยู่กับน้องออมสินมาตั้งแต่เล็กนะคะ แล้วก็จะมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก ตรงนี้น้องออมสินก็เป็นเหมือนที่ 1 ของคุณย่าใช่มั๊ยคะ ทีนี้เด็กในวัยนี้เนี่ย เค้าก็ยังมีความคิดที่ยังพัฒนาไม่เต็มที่นะคะ เด็กจะมองอะไรเป็นรูปธรรมนะคะ ถ้าเกิดเด็กเห็นคุณย่าไปอุ้มเด็กคนอื่น เด็กอาจจะรู้สึกว่า เอ๊ะ คุณย่ารักเด็กคนนั้นเหมือนกับเค้าหรือเปล่า เพราะเด็กจะยังไม่เข้าใจว่าการอุ้มเนี่ยมันหมายถึงความรักหรือเปล่า ทีนี้ในเด็กเล็กเนี่ย เราก็ต้องเข้าใจว่าเค้ายังไม่สามารถที่จะเข้าใจในเรื่องของนามธรรม หรือเรื่องที่ซับซ้อนได้ ตรงนี้เราก็อาจจะไม่ต้องอธิบายอะไรที่เป็นเหตุเป็นผลกันมากนักนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : เพราะว่าเด็กเค้ายังไม่เข้าใจ

พญ.อังคณา : ใช่ค่ะ เพียงแต่ว่าถ้าเราดูแล้วว่าเวลาเราอุ้มแล้วน้องเค้ามีอารมณ์อย่างนี้บ่อยๆ เนี่ย  เราก็อาจจะหลีกเลี่ยงไปน่ะนะคะ โดยการที่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปอุ้มนะคะ อาจจะเป็นแค่การทักทาย หรือว่าการที่ยิ้มกับเด็กคนนั้นก็เพียงพอแล้วนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แล้วก็โตขึ้นจะมีโอกาสมั๊ยคะที่จะติดนิสัยนี้? เป็นไปได้มั๊ยคะถ้าไม่ได้แก้ไขหรือว่าป้องกันนิสัยนี้จะค่อยๆ หายไปเมื่อโตขึ้น? เข้าใจเองน่า อะไรอย่างเนี้ยค่ะ

พญ.อังคณา : อันนี้เด็กก็จะมีพัฒนาการในด้านความคิดที่มากขึ้นน่ะนะคะ ซึ่งเมื่อเค้าโตขึ้นเนี่ย คือระหว่างที่เค้าเติบโตไปเนี้ย เราเองก็ต้องมีการที่จะทำความเข้าใจกับเค้าด้วยนะคะ เช่น เกี่ยวกับเรื่องของการแสดงออกตรงนี้เนี่ย คุณย่าเนี่ยไปอุ้มเด็กคนอื่น ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณย่าจะรักเด็กคนอื่นเท่ากับออมสินนะคะ ซึ่งตรงนี้เมื่อเค้าโตขึ้นเค้าก็พร้อมที่จะรับฟังเหตุผลได้นะคะ แล้วก็เด็กก็จะมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เราเองก็จะต้องสอนเค้าด้วยนะคะเมื่อมีโอกาส เช่น เมื่อออมสินเนี่ยไปเจอเด็กเล็กๆ หรือไปเจอเพื่อนนอกบ้านเนี่ยนะคะ เพื่อนบ้านเนี่ย เราเองจะต้องสอนออมสินด้วยให้เค้าเป็นคนที่รู้จักให้ด้วยนะคะ เมื่อเด็กรู้จักให้เนี่ยเค้าก็จะไม่รู้สึกที่จะอิจฉาหรือว่า...

คุณสรวงมณฑ์ : รู้สึกขาด

พญ.อังคณา : ใช่ค่ะ เพราะเค้าก็จะรู้สึกว่าเค้าเนี่ยให้ขนมกับเด็กที่เล็กกว่านะคะ เค้าทำให้เด็กคนนั้นมีความสุข เค้าก็จะรู้สึกดีรู้สึกภูมิใจในตัวเองไปด้วย ทีนี้เมื่อเวลาที่คุณย่าไปอุ้มน้องคนอื่น น้องออมสินก็จะไม่มีความรู้สึกโกรธหรือว่าอิจฉามากนักนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ เอาล่ะค่ะ ท้ายสุดเลย คุณหมออยากจะฝากอะไรถึงคุณผู้ฟังมั๊ยคะ ที่ตอนนี้อยู่ในข่ายแบบว่ามีลูกคนเดียว ซึ่งเยอะนะคะที่เป็นแฟนรายการแล้วมีลูกคนเดียวค่ะ

พญ.อังคณา : ค่ะ ก็คืออยากให้กำลังใจคุณพ่อคุณแม่นะคะที่มีลูกคนเดียวนะคะ ว่าคุณพ่อคุณแม่เนี่ยอาจจะต้องเหนื่อยนิดนึง ในการที่จะเป็นเพื่อนกับลูกนะคะ เนื่องจากว่าถ้าเกิดคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เป็นเพื่อนกับลูกแล้วเนี่ย ลูกเองก็จะรู้สึกขาดนะคะ พัฒนาการในด้านต่างๆ เด็กก็จะไม่ได้ฝึกไม่ได้พัฒนาเหมือนกับเด็กที่มีพี่น้องนะคะ ซึ่งตรงนี้เนี่ยถ้าเกิดว่าเราเหนื่อยนิดนึงในช่วงนี้นะคะ ก็เชื่อแน่ว่าลูกของคุณที่โตขึ้นเนี่ยนะคะจะเป็นเด็กที่ดีมีคุณภาพนะคะ แล้วก็เป็นเด็กที่มีความสุขได้นะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : เอาล่ะค่ะ วันนี้ต้องขอบคุณคุณหมอมากนะคะที่มาให้ความรู้กับเราในวันนี้ ขอบพระคุณค่ะ

พญ.อังคณา : ค่ะ สวัสดีค่ะ

ขอขอบคุณ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ค่ะ

ความคิดเห็น