บทสัมภาษณ์ : ผศ.นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ เรื่อง "เคล็ดลับการเลือกซื้อของเล่นให้ลูก"

 บทสัมภาษณ์ : ผศ.นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ เรื่อง "เคล็ดลับการเลือกซื้อของเล่นให้ลูก"


รายการ “พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” FM 105

ถอดคำสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตร์ นพ.ธีรชัย บุญยะลีพรรณ กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลลาดพร้าว

ผู้ดำเนินรายการ : คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com

วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553 เรื่องเกี่ยวกับ “เคล็ดลับการเลือกซื้อของเล่นให้ลูก” ผู้ดำเนินรายการ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ฟังรายการย้อนหลังได้ที่ radiothai.fm



คุณสรวงมณฑ์ : สวัสดีค่ะคุณหมอคะ

นพ.ธีรชัย : สวัสดีครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ ต้องขอขอบพระคุณคุณหมอนะคะมาให้ความรู้กับคุณผู้ฟังในวันนี้นะคะ

ขออนุญาตเข้าเรื่องเลยละกันค่ะ วันนี้อยากจะพูดคุยเรื่องเคล็ดลับเลือกซื้อของเล่นให้ลูก พอพูดถึงเรื่องนี้คนเป็นพ่อแม่เนี่ยรับรองค่ะ ไม่เคยมีคนเป็นพ่อแม่คนไหนไม่ซื้อของเล่นให้ลูกเลยแม้แต่ชิ้นเดียว ทีนี้เรื่องของของเล่นเนี่ย คุณหมอจะต้องให้คำเสนอแนะคุณพ่อคุณแม่สักนิดนึงนะคะว่าปัจจัยอะไรที่ต้องคำนึงถึงก่อนที่จะตัดสินใจเลือกซื้อของเล่นให้ลูกคะ?

นพ.ธีรชัย : ในการเลือกซื้อของเล่นมีปัจจัยกว้างๆ มีหลักกว้างๆ อยู่ 4 ข้อ

1. มีความเหมาะสมกับอายุของเด็ก

2. เพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่นคือพ่อแม่กับเด็ก

3. ความปลอดภัย

4. ประหยัด

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

นพ.ธีรชัย : ทีนี้มาดูรายละเอียดกันนะครับ เริ่มจากข้อแรก ข้อที่สำคัญที่สุดก่อนคือต้องมีความเหมาะสมกับอายุของเด็ก ก่อนอื่นถ้าคุณพ่อคุณแม่มีลูกในแต่ละช่วงวัยก็จะรู้ว่าลูกจะค่อยๆ พัฒนาการไปเรื่อยๆ ตามระดับพัฒนาการของเด็ก ยกตัวอย่างสั้นๆ ก่อนเช่น ในเด็กเล็กนะครับ แรกเกิดมาเลยเนี่ย อายุประมาณแค่ไม่เกิน 3-4 เดือนเนี่ย จริงๆ แล้วของเล่นอื่นไม่ได้จำเป็นแต่เด็กวัยนี้ชอบจ้องมองหน้า ของเล่นจริงๆ คือหน้าพ่อแม่นะครับ หน้าคนเลี้ยงนี่แหละสำคัญเพราะว่าเค้าจ้องมองดู มองตามไป มองซ้ายมองขวา อันนี้ก็ถือเป็นของเล่นอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากนี้ก็อาจจะเป็นพวกของเล่นที่มีสีสดใส

พอโตขึ้นมาอีกหน่อยมือก็จะเริ่มกำ ของเล่นส่วนใหญ่ของเราก็คือกุ๊งกิ๊งน่ะครับ กุ๊งกิ๊งนี่ต้องเป็นกุ๊งกิ๊งผ้า ไม่ตีหัว เพราะเกิดจับไม่ดีเดี๋ยวตีหัวเด็ก

แต่ถ้าเป็นเด็กที่โตขึ้นมาอีกหน่อยนึงคือประมาณใกล้ๆ ขวบเนี่ยก็เล่นหยิบจับพวกช้อน พวกแก้วพลาสติก ของเล่นที่มีเสียงเนี่ยเด็กก็จะชอบ

พอโตมาเป็นขวบเนี่ย เด็กเริ่มคลานคล่องแคล่วว่องไวชอบไปหาของเล่นอะไรต่างๆ ก็จะมีเพิ่มเติมเช่นพวกรถ พวกช้อน ขวดพลาสติกต่างๆ ดินสอ มีรูปภาพสัตว์ นี่ก็สำคัญ

แล้วก็พอโตขึ้นไปอีกหน่อย พอ 2 ขวบเด็กก็จะคล่องแคล่วว่องไวมากขึ้น เด็กก็ต้องพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ เด็กก็จะหยิบ จะหมุน จะใช้รูปทรงบล็อกต่างๆ ก็เหมาะ หรือเป็นค้อนตอกๆๆ ที่เป็นเครื่องเล่นไม้นี่ก็เหมาะ

พอโตกว่านั้นขึ้นไปอีกเนี่ย เด็กก็จะชอบปีนป่ายมากขึ้น ของเล่นซึ่งออกจะออกไปทางกลางแจ้งหรือเป็นสนามเล่นในร่มก็ได้ที่เป็นพวกไม้ลื่นอะไรต่างๆ ก็จะเหมาะขึ้น

นพ.ธีรชัย : ทีนี้มาข้อ 2 คือปฏิสัมพันธ์ อันนี้เป็นข้อสำคัญรองลงมาคือ ของเล่นที่สำคัญที่สุดจริงๆ แล้วเนี่ย คือ พ่อแม่ที่เล่นด้วยนะครับ ถ้าพ่อแม่ไม่เล่นด้วยของเล่นชิ้นนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย เพราะฉะนั้นของเล่นบางอย่างก็จะต้องเล่นด้วยกันและทำให้เกิดความสนุก พอเด็กโตๆ เนี่ย ของเล่นที่เล่นด้วยกันเป็นเกม ไม่ใช่เกมคอมพิวเตอร์นะครับ อย่างเช่น เกมเศรษฐี เกมต่อจิ๊กซอว์อะไรแบบนี้นะครับ งูตกบันไดแบบนี้ จะเหมาะสำหรับการช่วยให้มีปฏิสัมพันธ์มากๆ กับเด็กแต่ละวัย

นพ.ธีรชัย : ทีนี้มาข้อที่ 3 นะครับเรื่องความปลอดภัย ความปลอดภัยนี่เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่...ทาง สสส. ก็ได้แนะนำไปบ้างแล้วใช่มั๊ยครับ...เรื่องที่สำคัญเลยก็คือ

1.      ขนาด – เอาแบบว่าเข้าปากแล้วไม่หลุดไปในปากนะครับ ของเล่นก็จะมีขนาดประมาณ 1 – 1.5 นิ้วขึ้นไปถึงจะปลอดภัย เรื่องนี้ต้องระวังมากๆ เพราะว่าเดี๋ยวติดหลอดลมนี่ช็อกหายใจไม่ออกเลย

2.      ความแหลมคมของของเล่นก็ต้องระมัดระวัง

3.      สี – ถ้าเป็นของเล่นที่คุณภาพไม่ค่อยดีก็ต้องระวัง ถ้าเป็นสีดีก็ที่เรียกว่าสี non-toxic แต่ถ้าสีเป็นพิษนี่บางทีเด็กกัดๆ อมๆ ก็ได้สารตะกั่วเข้าไปด้วย

คุณสรวงมณฑ์ : แหม แต่เวลาเค้ามีสารพิษเค้าคงไม่เขียนว่าเป็นสี toxic หรอกค่ะ

นพ.ธีรชัย : อ่อ อันนี้ก็จะบอกต่อเหมือนกันนะครับว่าจริงๆ แล้วของเล่นถ้าสังเกตดีๆ เนี่ยมันจะมีมาตรฐานรับรอง มอก. (มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ก็ดูได้ แล้วก็ดูใบคำเตือนอะไรได้นะครับ

เด็กโตที่พอรู้จักของเล่นว่าอันตรายแล้วเนี่ยแต่เล่นของบางอย่างที่จะเกิดอันตรายได้ เช่น จักรยาน บางคนเล่นสเก็ตอย่างเนี้ย อันนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์เสริมความปลอดภัย เช่น หมวกกันน็อก สนับเข่า

แล้วก็บางทีคุณพ่อคุณแม่คิดว่าของชิ้นนั้นมันใหญ่แต่บางทีมันแตกเป็นชิ้นเล็กได้ อันนี้ก็ต้องระวัง

แล้วก็ของเล่นอื่นๆ ที่จะก่อให้เกิดอันตราย เช่น ปืน ปืนลม ปืนอัดแก๊สเนี่ย ยิงไปโดนหน้าโดนตาคนอื่นอันนี้ก็อาจจะอันตรายเหมือนกัน ต้องนึกถึงไว้ก่อน

นพ.ธีรชัย : ส่วนข้อสุดท้ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ ประหยัด ในปัจจุบันนี้เรื่องเศรษฐกิจนี่ก็ต้องยึดหลักพอเพียง ของเล่นทุกชนิดไม่จำเป็นจะต้องแพงนะครับ ขอให้เข้าใจพัฒนาการของลูก คือมีสารคดีชุดหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขนะครับ ของเล่นคุณตาคนนึงทำด้วยไม้นะครับเมื่อหลายปีก่อน เป็นช่างไม้เลยทำของเล่นให้หลานเล่นเองได้ เพราะฉะนั้นของเล่นทุกชิ้นความจริงคุณพ่อคุณแม่นี่สามารถทำเองได้หมดนะครับ

โดยสรุปนะครับ บางคนก็จะเรียกว่า 4 ป คือ ประโยชน์ ปฏิสัมพันธ์ ปลอดภัย ประหยัด ก็แล้วแต่คนชอบจำนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ ก็ดูว่าใครถนัดจำแบบไหนนะคะ อันนี้พอเราเห็นแล้ว แต่ว่าคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ฟังรายการอยู่นะคะคุณหมอ อาจจะมีความรู้ติดตามเรื่องว่าจะเหมาะกับของเล่นแบบไหน แต่ประเด็นก็คือว่าของเล่นที่ขายกันอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้มันเยอะเหลือเกิน สมมติของเล่นเสริมพัฒนาการชิ้นนึงนะคะ เอามามือจับสัมผัสได้ เขย่าได้ แต่มันมีหลายราคา รูปแบบอาจจะเหมือนกัน ทีนี้เทคนิคการจะดูว่าแบบไหนควรจะมีประโยชน์ คืออย่างที่คุณหมอบอกว่าของแพงไม่จำเป็นต้องเป็นของดีเสมอไป หรือว่าของดีต้องแพงอย่างเดียวก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้นเนี่ยวิธีการไปเลือกซื้อบนท้องตลาดเนี่ย แบบไหนที่ควรต้องคำนึงถึง ต้องดูอะไรบ้าง?

นพ.ธีรชัย : จริงๆ ก็กลับมาข้อเมื่อกี้นะครับ จริงๆ เวลาจะเลือกซื้อแต่ละอย่างเนี่ยต้องดูลูกเราก่อนว่าลูกเราอยู่วัยไหน ตอนนี้จะทำอะไร ยกตัวอย่างเช่น เด็กเล็ก ถ้าเราเลือกกุ๊งกิ๊งเนี่ย เราก็ต้องดูว่าเด็กต้องหยิบจับ ก็ไม่ต้องเลือกที่อันใหญ่มาก เขย่าแล้วมีเสียงดัง เพราะบางทีเด็กจับแล้วก็ฟาดหัวก็มี แบบที่เป็นผ้า มีเสียง เขย่าๆ ก็จะดีกว่า เป็นต้น ถ้ามาตรฐานเนี่ย ส่วนใหญ่เค้าจะให้ดูว่ามี มอก. รับรองมั๊ยนะครับ อันนี้คือหลักกว้างๆ นะครับ ส่วนราคาเนี่ยเป็นเรื่องทีหลังสุด ไม่จำเป็นต้องซื้อของแพงมากนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แล้วของเล่นในบ้านเราในปัจจุบันนี้ที่คุณหมอสัมผัสเนี่ยมันได้มาตรฐานมากน้อยแค่ไหนคะ?

นพ.ธีรชัย : ของเล่นบ้านเรา จากหลายๆ ท่านที่ทำงานด้านนี้ เท่าที่ผมเคยติดตามมาเนี่ย ของเล่นโดยส่วนใหญ่จะมีมาตรฐานนะครับเพราะว่าจริงๆ แล้วในวงการของเล่นเนี่ยก็มีสมาคมนะครับ มีประกวดรางวัลอะไรกันด้วยครับ ทีนี้ของเล่นของเราก็จะมีส่วนหนึ่งที่มาจากเมืองนอกที่ไม่ค่อยได้มาตรฐาน ราคาถูก อันนี้จะเป็นปัญหาค่อนข้างมาก ซึ่งพ่อแม่จะต้องระมัดระวัง ของเล่นราคาถูกส่วนใหญ่จะแตก อย่างกุ๊งกิ๊งเนี่ย บางทีชิ้นใหญ่แต่พอแตกแล้วเอาเข้าปากก็จะไปติดหลอดลม ซึ่งความปลอดภัยนี่เป็นเรื่องที่สำคัญ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ ก็เหมือนกับที่เราเคยได้ยินว่าครั้งนึงมันเคยเกิดปัญหาเรื่องของ... ความจริงไม่ใช่แค่ครั้งเดียวด้วยนะคะ ต้องบอกว่าหลายครั้ง... คือเกิดอุบัติเหตุกับลูกหลานของเรานะคะด้วยของเล่นที่ไม่ปลอดภัยต่างๆ เพราะฉะนั้นข้อนี้เนี่ยเราควรจะต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่งเลย

นพ.ธีรชัย : ถูกต้องครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ทีนี้มาถึงอีกเรื่องนึงค่ะคุณหมอ การที่จะเลือกซื้อของเล่นให้ลูกเนี่ยนะคะ นอกจากสิ่งที่คุณหมอบอกทั้ง 4 อย่างแล้วเนี่ย เรื่องของเพศนี่มีส่วนต่อการตัดสินใจเลือกซื้อของเล่นให้ลูกมากน้อยแค่ไหนคะ?

นพ.ธีรชัย : ครับ คือเรื่องของเพศในแง่ของเด็กเล็กเนี่ย เรื่องเพศก็ยังไม่ได้เป็นปัจจัยมากนัก แต่พอสัก 3 ขวบซึ่งรู้จักเรื่องเพศว่าใครเป็นชายใครเป็นหญิงนะครับ ตรงนี้ก็พอมีส่วนด้วย แต่จริงๆ แล้วโดยธรรมชาติถ้าสังเกตนะครับ เด็กผู้ชายก็จะชอบเล่นไปทางเครื่องมือช่าง ไม่จำเป็นต้องเป็นพวกปืนนะครับ จริงๆ แล้วทางหมอเด็กจะไม่แนะนำให้เล่นพวกปืนผาหน้าไม้ เพราะว่ามีหลายครั้งที่เราเห็นว่าของเล่นเมืองไทย หมายถึงของเล่นปัจจุบันนี้นะครับ มันทำเหมือนจริงมากๆ เหมือนจริงจนแยกไม่ออกว่าของจริงหรือของปลอม แล้วถ้าเด็กคนนึงเล่นปืนไปเรื่อยๆๆๆๆๆๆ พอวันโชคร้ายไปเจอของจริง ก็เหมือนอย่างที่เราเคยได้ดูข่าวบ่อยๆ

คุณสรวงมณฑ์ : รู้เท่าไม่ถึงการณ์

นพ.ธีรชัย : ใช่ เพราะเค้าแยกไม่ออกนะครับ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องระวัง คือถ้าเกิดเครื่องมือช่างเนี่ยก็จะเหมาะกับเด็กผู้ชาย ส่วนเด็กผู้หญิง ธรรมชาติถ้าให้เค้าเลือกเนี่ยเค้าก็จะเลือกไปทางตุ๊กตาโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าพ่อแม่ไปเลือกให้สลับกันอย่างนี้พ่อแม่ก็ไม่เหมาะนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : อันนี้เรื่องของการเลือก แล้วถ้ากรณีที่ก็มีไม่น้อยเหมือนกันค่ะคุณหมอที่บางทีเด็กผู้หญิงจำนวนมากที่ไปเลือกรถมั่ง ของเล่นที่เป็นผู้ชายมาก หรือว่าเด็กผู้ชายไปเลือกของเล่นที่เป็นของเด็กผู้หญิง จะมีคำแนะนำยังไงคะ?

นพ.ธีรชัย : จริงๆ แล้วพ่อแม่คงกลัวเรื่องการแสดงบทบาทผิดเพศ จริงๆ แล้วการเลือกของเล่นเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้เป็นตัวทำให้เกิดสิ่งที่กังวลนะครับ จริงๆ มันมีอีกหลายอย่าง ทีนี้เอาตรงของเล่นก่อน จริงๆ มันก็แล้วแต่ คือจะทำอะไรอย่างหนึ่ง พฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เมื่อไหร่ที่เค้าทำดีหรือทำแล้วได้รับคำชมเค้าก็จะยิ่งสนใจไปทำสิ่งนั้นมากขึ้น อย่างเช่น เด็กผู้ชาย ถ้าคุณพ่อพาเล่นช่างไม้หรือซ่อมก๊อกน้ำอะไรอย่างนี้นะครับ แล้วเราชมเค้า เค้าก็จะชอบและก็ทำต่อ ถ้าเค้าไปเล่นตุ๊กตาแต่งตัวให้สวยงามแต่เราชมนิดหน่อยพอ ไม่ให้ความสำคัญมาก สิ่งเหล่านั้นเด็กก็จะยกเลิกไป นี่คือพฤติกรรมโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นก็คืออย่าไปถึงกับส่งเสริมแต่ก็ไม่ใช่ถึงกับเป็นข้อที่จำกัดตัวเองเพราะว่าจริงๆ แล้วการที่เค้าจะมีปัญหาเรื่องพฤติกรรมที่พ่อแม่กลัวคือเรื่องผิดเพศหรือแสดงบทบาทผิดเพศเนี่ยมันมีองค์ประกอบเยอะมาก ตั้งแต่พันธุกรรม การแต่งตัวให้ลูก การที่คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่าง เช่น ไปเที่ยวกัน คุณพ่อเปิดประตูรถให้คุณแม่ ยกกระเป๋าหนักๆ ให้คุณแม่ นี่คือตัวอย่างของความเป็นสุภาพบุรุษผู้ชาย เด็กผู้ชายก็จะซึมซับนะครับ เด็กผู้หญิงก็ทำกับข้าวหรือช่วยงานบ้านอย่างนี้ ก็เป็นตัวอย่างที่คุณแม่ทำให้ดู มันมีหลายเรื่องไม่ใช่ของเล่นอย่างเดียว นธุกรรบาทผิดเพศเนี่ยะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : มันมีองค์ประกอบหลายเรื่อง

นพ.ธีรชัย : ทีนี้ของเล่นที่แนะนำ ของเล่นที่ดีๆ นะครับ นอกจากที่ผมบอกไปแล้ว คือ คนเลี้ยง คนเล่นด้วย พ่อแม่ก็สำคัญที่สุด เป็นของเล่นที่สำคัญที่สุดเลย รองลงไปนะครับ ของเล่นที่ดีคือของเล่นที่เล่นได้หลากหลาย ที่เราแนะนำเลยก็คือ หนังสือ หนังสือนี่ถือเป็นของเล่นอย่างหนึ่งนะครับ หนังสือ 1 เล่ม แรกเกิดนี่เราอ่านหนังสือให้ลูกฟังแต่ว่าลูกยังไม่ได้มองเห็นชัดมากนัก เค้าได้ยินเสียงโดยการกระตุ้นประสาทหู นิทานเรื่องเดิมนะครับ พอเค้าโตอีกหน่อยเรามีรูปภาพให้เค้าดูอีก เค้าก็จะมองรูปภาพ การดูหนังสือจะต่างจากการดูโทรทัศน์นะครับ หนังสือจะเป็นภาพนิ่งค่อยๆ เปิด จะสร้างสมาธิ ถ้าดูนิทานเรื่องเดียวกันแต่ดูจากทางทีวี ดูทีวีจะมีสมาธิไม่ค่อยดีนะครับ สมมติเป็นนิทานอีสป ก็จะเป็นเรื่องสัตว์ เค้าก็จะสนุกสนาน แล้วพอโตขึ้นอีกนิด ในนิทานเรื่องเดียวกัน ก็จะมีสอนคุณธรรมจริยธรรม หนังสือเล่มเดียวตั้งแต่เล็กไปจนโต ได้เยอะ อันนี้คือความหลากหลาย

นพ.ธีรชัย : ของเล่นอีกชิ้นนึงที่แนะนำเลยก็คือ ลูกบอล ลูกบอลมันจะกลิ้งไปกลิ้งมานะครับ จนถึงโตๆ ไปเตะฟุตบอลก็ยังได้ นี่ลูกบอลก็แนะนำ

นพ.ธีรชัย : อีกอันนึงซึ่งโดยส่วนตัวผมเองชอบมากที่สุดเลยก็คือ อุปกรณ์ทางศิลปะ เพราะว่าเป็นการส่งเสริมเด็กเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ทำสมาธิ และยังมีราคาถูก คือมีแค่กระดาษกับดินสอ 1 แท่งก็สามารถทำศิลปะกับลูกได้ โดยส่วนตัวผมจะแนะนำคนไข้เรื่องศิลปะค่อนข้างมาก

คุณสรวงมณฑ์ : ก็ท้ายสุดคงต้องขอให้คุณหมอแนะนำแล้วล่ะค่ะว่าเท่าเล่ามาทั้งหมดเนี่ย แต่ปรากฏว่าสุดท้ายแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็เห็นดีเห็นงามว่าวิธีการเลือกที่ดีควรจะเป็นยังไง แต่สุดท้ายเนี่ยลูกไม่เอา ลูกจะเอาของเล่นตามใจตัวเอง แล้วประเภทแบบว่าไม่เอา จะเอา พ่อแม่ไม่ซื้อให้ก็กรี๊ดกร๊าดโวยวายลงไปนอนดิ้น แนะนำยังไงคะคุณหมอ?

นพ.ธีรชัย : เราเลือกอยากให้ลูกเล่นในสิ่งที่คิดว่าดีแต่บางทีลูกไม่ชอบ เราต้องทำใจกลางๆ ว่าเราอยากให้ลูกเล่นแบบนี้แต่ลูกไม่ชอบเนี่ยตกลงแล้วมันเหมาะสมมั๊ย สมมติว่าเด็กอยากจะซื้อของหนึ่งชิ้น แต่พ่อแม่ไม่ชอบ เช่น เด็กอยากจะเล่นศิลปะอย่างนี้แต่พ่อแม่บางคนไม่ค่อยชอบนะฮะ พ่อแม่บางคนบอกว่าเล่นแล้วเลอะมือ เลอะกำแพงบ้าน แบบนี้เราต้องคำนึงว่าศิลปะจริงๆ เป็นสิ่งที่ดีแต่ตัวกติกาการเล่น เช่น ไปวาดกำแพงบ้านอย่างเนี้ย ตรงนี้มันอยู่ที่กติกาการเล่น พ่อแม่อาจจะห้ามไม่ให้ลูกเล่นอุปกรณ์ศิลปะ แต่เราไม่ค่อยไปแก้ที่กติกาการเล่นกัน ตรงนั้นมันคนละประเด็นกัน แต่สมมติเป็นของที่ ยกตัวอย่างเช่น ซื้อรถให้ลูกเล่น แล้วลูกไปเจอรถคันใหม่แต่ของที่บ้านยังเล่นได้อยู่เลย ของชิ้นนี้ลูกอยากได้อีก ตรงนั้นก็คงจะไม่เหมาะสมแน่ เป็นการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น หลักการก็คือ

1.      ถ้าไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ตั้งแต่เริ่มต้นก็คือ พยายามอย่าผ่านร้านของเล่น มันยั่วใจนะครับ ก็อย่าทำ

2.      สมมติถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้วจริงๆ เราก็ไม่ควรตามใจนะครับ เด็กที่บางคนร้องดิ้น เราต้องทำใจนิ่งๆ นะครับ อย่าเพิ่งไปคิดว่าอายคนรอบข้าง ตัดปัญหา

คุณสรวงมณฑ์ : เอาให้มันเสร็จๆ

นพ.ธีรชัย : ครับ เสร็จๆ  อย่างนั้นเราก็จะเสร็จเด็กนะครับ เพราะถ้ามีอีกเด็กก็จะร้องดังกว่านี้อีก อย่าทำ ถ้าเค้าร้องดิ้นบางครั้งเราก็ต้องยอมปล่อยให้เค้าร้องดิ้น เราแค่คอยดูแลความปลอดภัยให้เค้าอย่าหัวโขกโต๊ะ โขกเก้าอี้ เสร็จแล้วเราก็พูดบอกเค้าว่า “ตอนนี้หนูร้องเสียงดัง แม่ฟังไม่รู้เรื่อง ถ้าหนูเงียบสงบแล้วเดี๋ยวมาคุยกัน” นะครับ แต่ว่าเราก็ต้องทำใจนิ่งๆ นะ ส่วนใหญ่เราจะใจไม่นิ่งพอ

คุณสรวงมณฑ์ : เอาล่ะค่ะวันนี้ก็ต้องขอบพระคุณคุณหมอมากนะคะที่มาให้ความรู้กับคุณผู้ฟังในรายการนะคะ ขอบพระคุณมากค่ะคุณหมอคะ

นพ.ธีรชัย : ครับ ยินดีครับ ขอบคุณนะครับ

หมายเหตุ:- คำสัมภาษณ์อาจจะไม่สมบูรณ์ 100% เนื่องจากสัญญาณเสียงไม่ชัดเจนในบางช่วง

ขอขอบคุณ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ค่ะ

ความคิดเห็น