บทสัมภาษณ์ : นาวาอากาศ นพ.วิบูลย์ เรื่อง "สิ่งที่ต้องตรวจ...เมื่อยามตั้งครรภ์"

บทสัมภาษณ์ : นาวาอากาศ นพ.วิบูลย์ เรื่อง "สิ่งที่ต้องตรวจ...เมื่อยามตั้งครรภ์"

รายการ “พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” FM 105

ถอดคำสัมภาษณ์ นาวาอากาศ นพ.วิบูลย์ เรืองชัยนิคม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ และเป็นผู้อำนวยการกองสูตินรีกรรม โรงพยาบาลภูมิพล และเลขาธิการสมาคมเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์

ผู้ดำเนินรายการ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com

วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2553 เรื่องเกี่ยวกับ “สิ่งที่ต้องตรวจ...เมื่อยามตั้งครรภ์”

ฟังรายการย้อนหลังได้ที่ radiothai.fm



คุณสรวงมณฑ์ : สวัสดีค่ะคุณหมอคะ

น.พ.วิบูลย์ : สวัสดีครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ต้องรบกวนคุณหมอมาให้ความรู้กับคุณแม่มือใหม่ที่อยู่ในระหว่างการตั้งครรภ์นะคะ

น.พ.วิบูลย์ : ยินดีเลยครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ก็เข้าสู่คำถามเลยค่ะคุณหมอว่า ตลอดการตั้งครรภ์ของคนเป็นว่าที่คุณแม่ เอาตั้งแต่เริ่มต้นเลยว่าต้องตรวจอะไรกันบ้างคะ

น.พ.วิบูลย์ : ทันทีที่ทราบว่าตั้งครรภ์นะครับ ในปัจจุบันนี้เนี่ยเราก็แนะนำว่าคุณแม่ควรจะต้องตรวจเลือดนะครับ ในการตรวจเลือดของการฝากครรภ์เนี่ย สิ่งที่สำคัญที่เราจะเช็คก็คือเราจะเช็คหมู่เลือด กลุ่มเลือด RH ความเข้มข้นของเลือด เช็คภาวการณ์ติดเชื้อของไวรัสบี เช็คเรื่องการติดเชื้อของเลือดบวก ซิฟิลิส แล้วก็เช็คเกี่ยวกับเรื่องเอดส์ซึ่งเราก็จะขอความยินยอมจากคุณแม่ก่อนที่จะเจาะเช็คเรื่องเอดส์นะครับ แล้วก็สิ่งที่เราจะตรวจเพิ่มเติมอีกอย่างนึงซึ่งจะสำคัญมากในอนาคตก็คือการเจาะเลือดตรวจธาลัสซีเมียของคุณแม่ว่าคุณแม่เป็นพาหะโรคธาลัสซีเมียหรือเปล่า แล้วก็การเจาะเลือดเช็คหาว่าคุณแม่มีปัญหาเรื่องภูมิของหัดเยอรมันหรือเปล่า ซึ่งผลเลือดทั้งหมดนี้นะครับจะเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ทั้งหมดเพราะว่าเมื่อได้ผลแล้ว หมอจะมาประเมินผลว่าการตั้งครรภ์นี้มีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน หรือว่าเราจำเป็นที่จะต้องเจาะเลือดคุณพ่อตรวจเพื่อมาประเมินความเสี่ยงของการตั้งครรภ์ด้วยนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : คือนั่นหมายความว่าพอรู้ปุ๊บว่าตัวเองตั้งครรภ์ซึ่งอาจจะรู้จากเครื่องมือที่ตรวจวัดเองแล้วมาพบคุณหมอ พอตรวจปุ๊บมาฝากครรภ์ปุ๊บ คุณหมอบอกว่านี่คือสิ่งที่ต้องตรวจเลยไม่ว่าคุณแม่จะอายุเท่าไหร่ก็ตามต้องตรวจถูกมั๊ยคะ?

น.พ.วิบูลย์ : ใช่ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วจำเป็นต้องตรวจคุณพ่อด้วยมั๊ยคะ?

น.พ.วิบูลย์ : ในกรณีถ้าคุณแม่ผลเลือดปกติหมดนะครับ คุณพ่อจะตรวจหรือไม่ตรวจก็ได้ แต่ในบางโรคเนี่ยถ้าคุณแม่เป็นพาหะ ยกตัวอย่างเช่น โรคธาลัสซีเมีย เนี่ยนะครับ ถ้าคุณแม่เป็นพาหะ คุณพ่อจำเป็นที่จะต้องตรวจด้วยเพราะว่าถ้าเกิดคุณพ่อเป็นพาหะร่วมด้วย เราจะได้มาประเมินความเสี่ยงว่าลูกในครรภ์จะมีความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน และเราจำเป็นที่จะต้องตรวจวินิจฉัยอะไรเพิ่มเติมหรือเปล่า

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ ถ้าขั้นตอนแรกของการตรวจนี้ต้องใช้เวลานานขนาดไหนคะถึงจะรู้ผลน่ะค่ะคุณหมอ?

น.พ.วิบูลย์ : โดยเฉลี่ยทั่วๆ ไปก็ไม่เกินอาทิตย์ละครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ถ้าทุกอย่างผ่านไปเรียบร้อยด้วยดีไม่มีปัญหาเลย ขั้นต่อไปต้องตรวจอะไรอีกมั๊ยคะ?

น.พ.วิบูลย์ : ขั้นต่อไปคุณหมอก็จะนัดตรวจฝากครรภ์เป็นระยะๆ

คุณสรวงมณฑ์ : เป็นปกติ

น.พ.วิบูลย์ : ใช่ครับ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกจะเป็นช่วงที่คุณแม่อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ได้ เวลาคุณแม่ไปพบคุณหมอ คุณหมอก็จะแนะนำว่าอะไรควรจะทำได้บ้าง อะไรไม่ควรทำ อะไรควรจะทาน อะไรไม่ควรทานนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : อันนี้คือระหว่างการไปฝากครรภ์ คุณหมอก็จะให้คำแนะนำเป็นระยะๆ

น.พ.วิบูลย์ : ใช่ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : อีกคำถามนึงมักจะเจอบ่อยอยู่ ระหว่างการตั้งครรภ์จะต้องมีการอัลตร้าซาวนด์หรือเปล่า? จำเป็นหรือเปล่า? แล้วเริ่มตั้งแต่เดือนไหนคะ?

น.พ.วิบูลย์ : การอัลตร้าซาวนด์นี่นะครับ มันจะแบ่งออกเป็น 2 ภาคใหญ่ๆ ก็คือ ในประเทศที่เค้ามีความพร้อมในการตรวจ เค้าก็พยายามจะแนะนำให้ตรวจทุกราย เพราะการตรวจอัลตร้าซาวนด์มันเป็นดาบสองคม ก็คือถ้าเราไปตรวจโดยผู้ที่ไม่มีความชำนาญ บางครั้งก็จะทำให้การแปลผลไม่ได้ดีเท่าที่ควร ในประเทศเราในปัจจุบัน ทางราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยเนี่ยก็ได้พยายามจะรณรงค์ให้มีการผลิตแพทย์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจอัลตร้าซาวนด์มากขึ้น ซึ่งคิดว่าในอนาคตเราก็สามารถที่จะให้บริการตรวจแก่คุณแม่ทุกคนได้นะครับ คือโดยตามหลักแล้ว ถ้าเป็นไปได้ การตรวจอัลตร้าซาวนด์ในช่วง 3 เดือนแรก 1 ครั้ง มันก็จะมีประโยชน์ในการดูว่า การตั้งครรภ์นี้เป็นการตั้งครรภ์ปกติมั๊ย มีภาวะเสี่ยงอะไรหรือเปล่า แล้วก็จะเป็นช่วงระยะเวลาที่เราให้การวินิจฉัยอายุครรภ์ได้แม่นยำที่สุดครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ นั่นคือ 3 เดือนแรกอาจจะเริ่มตรวจได้ แล้วการตรวจที่ดูความปลอดภัยของเด็กนี่ อีกครั้งนึงนี่เริ่มอีกทีเมื่อไหร่คะ?

น.พ.วิบูลย์ : ก็ช่วงประมาณสัก 5 เดือนครับเพราะว่าช่วง 5 เดือน ทารกในครรภ์ก็จะมีขนาดที่พอเหมาะนะครับ เราสามารถที่จะเห็นความผิดปกติได้ในระดับเป็นที่น่าพอใจ โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์ทั่วๆ ไปก็มักจะส่งตรวจในช่วงประมาณนี้ 5 เดือน เพราะว่าเราก็จะต้องมาชั่งน้ำหนักระหว่างการตรวจแล้วได้ผลที่แน่นอน กับการที่ส่งตรวจไปเรื่อยๆ โดยไม่มีข้อบ่งชี้เนี่ย ภาระงานของผู้ตรวจมันก็จะเยอะ ความละเอียดรอบคอบมันก็จะลดลงครับ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วตรวจเดือนที่ 5 นี่ เรื่องเพศนี่ดูได้หรือยังคะ?

น.พ.วิบูลย์ : เดือนที่ 5 เรื่องเพศก็จะเห็นแล้วครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย?

น.พ.วิบูลย์ : ใช่ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ดิฉันเข้าใจถูกต้องมั๊ยคะว่า 3 เดือนแรกเนี่ยเป็นการตรวจว่าระยะของการตั้งครรภ์ที่ถูกต้อง และก็การเตรียมความพร้อมเด็กสมบูรณ์มั๊ย แต่ระยะที่ 2 เนี่ยคือประมาณสัก 5 เดือนเนี่ยเป็นการตรวจดูว่าเด็กยังปลอดภัยดีมั๊ย แล้วก็ดูเรื่องของเพศด้วย อย่างนี้ถูกต้องมั๊ยคะ?

น.พ.วิบูลย์ : เพศนี่จะเป็นเหตุผลรองนะครับ ช่วง 5 เดือนนี่เหตุผลหลักก็คือ เราจะมาดูความผิดปกติของทารกในครรภ์เพราะช่วง 5 เดือน จะเป็นเวลาที่ค่อนข้างจะเหมาะ เพราะว่าอวัยวะส่วนใหญ่เนี่ยจะพัฒนามาเกือบสมบูรณ์หมดแล้ว เมื่อมีความผิดปกติเนี่ย เราสามารถที่จะเห็นได้ง่าย แล้วก็จะได้วางแผนการรักษาได้ถูกต้องขึ้น

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ เดี๋ยวนี้ได้ยินนะคะว่าอัลตร้าซาวนด์นี่มันมีแบบ 2 มิติ 3 มิติ 4 มิติด้วย มันมีความแตกต่างกันยังไงคะคุณหมอ?

น.พ.วิบูลย์ : อัลตร้าซาวนด์โดยทั่วไปถ้าเราจะดูในเหตุผลทางด้านการแพทย์นี่นะครับ 2 มิติ 3 มิติ 4 มิติเนี่ย เราสามารถที่จะดูความผิดปกติได้เหมือนกันหมดสำหรับผู้ที่มีความชำนาญแล้วนี่นะครับ ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ว่าอัลตร้าซาวนด์ 4 มิติซึ่งเป็นรุ่นล่าสุดเนี่ยนะครับ มันจะเป็นอัลตร้าซาวนด์ที่ประมวลภาพ ทำให้ผู้ป่วยเนี่ยสามารถที่จะเห็นภาพได้ใกล้เคียงกับทารกจริงๆ ในบางครั้งในทารกที่มีความผิดปกติเนี่ย เราสามารถที่จะอธิบายให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจได้ง่ายกว่าการดูภาพ 2 มิติ แต่ว่าการทำ 4 มิติเนี่ยมันก็จะต้องใช้เครื่องมือที่มีราคาแพง แล้วก็ใช้คนที่มีความชำนาญมากขึ้นนะครับ ซึ่งเราก็คงยังไม่สามารถให้บริการได้ทั่วๆ ไป

คุณสรวงมณฑ์ : ก็คือว่าคุณพ่อคุณแม่นี่ก็สามารถใช้ปกติแหละ ก็คือตามขั้นตอนที่โรงพยาบาลจะใช้เครื่องมือแบบไหน ไม่จำเป็นต้องไปถึงขั้น 4 มิติเพราะว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ มันก็คงต้องเพิ่มขึ้นด้วย ถูกต้องนะคะ?

น.พ.วิบูลย์ : ใช่ครับ ถูกต้องครับ แล้วประโยชน์มันก็ไม่ได้มากขึ้นเหมือนกับในทางตำรา เค้าว่าอัลตร้าซาวนด์ 4 มิตินี่ก็เหมือนกับ เป็นงานเอ็นเตอร์เทนเฉยๆ

คุณสรวงมณฑ์ : มันเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาการ

น.พ.วิบูลย์ : ใช่ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ทีนี้พอหลังจากนั้นแล้วนะคะ ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์จำเป็นต้องตรวจอะไรอีกมั๊ยคะ?

น.พ.วิบูลย์ : ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์นี่นะครับ ก็จะเป็นช่วงที่จะมีภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์มาได้ง่ายขึ้น ดังนั้นจะสังเกตเห็นว่าเวลาคุณแม่ที่ฝากครรภ์เนี่ย ในช่วงอายุครรภ์น้อยๆ นี่คุณหมอจะนัดห่าง เช่น อาจจะนัดทุก 4 สัปดาห์ในช่วง 7 เดือนแรก แล้วก็จาก 7 เดือนถึง 9 เดือนก็จะนัดทุก 2 สัปดาห์มาจนถึงเดือนสุดท้ายเนี่ย เราจำเป็นที่จะต้องนัดทุกสัปดาห์ละครับ ซึ่งในการตรวจทุกครั้งเนี่ย คุณหมอก็จะแนะนำอาการผิดปกติแทรกซ้อน ที่คนไข้จะต้องรีบมาพบแพทย์ก่อนวันนัด เช่น การมีอาการปวดศีรษะ ตาพร่ามัว บวมผิดปกติ มีท้องแข็งตึง มีมูกเลือดออก สงสัยลูกดิ้นน้อยลง หรือว่าสงสัยตัวเอง เอ๊ะ มีน้ำอะไรออกทางช่องคลอด หรือว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด พวกนี้ก็เป็นอาการผิดปกติที่จำเป็นที่จะต้องตรวจตามนัด แต่ถ้าไม่มีอาการดังกล่าวนี้แล้วนะครับ สิ่งที่คุณแม่จะต้องทำก็คือ สมควรที่จะต้องคอยเฝ้าสังเกตการณ์ดิ้นของทารกในครรภ์ ซึ่งโดยปกติแล้วเนี่ย คุณหมอก็จะให้นับโดยเฉลี่ยใน 1 วันเนี่ย ถ้าทารกดิ้นเกิน 10 ครั้งขึ้นไป เราก็จะถือว่าทารกในครรภ์น่าจะมีสุขภาพแข็งแรงดีอยู่ เพราะว่าไอ้การตั้งครรภ์เนี่ยมันอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ณ ชั่วโมงใด ณ วันใดก็ได้ ดังนั้น การที่จะให้ทารกในครรภ์ปลอดภัยดีเนี่ย เราจะต้องร่วมมือกันทั้งแพทย์ ทั้งผู้ป่วย และก็สามีด้วยนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ทีนี้เวลาไปฝากครรภ์ในแต่ละครั้งเนี่ยนะคะ ทุกครั้งเนี่ยว่าที่คุณแม่จะต้องได้รับการตรวจโดยการตรวจความดันนะคะ หรือว่าชั่งน้ำหนักเนี่ย เป็นเพื่อบอกอะไรในทางการแพทย์คะคุณหมอ?

น.พ.วิบูลย์ : การชั่งน้ำหนักกับวัดความดันเนี่ย โดยเฉลี่ยทุกครั้งที่คุณแม่มาฝากครรภ์เนี่ย คุณแม่จะต้องชั่งน้ำหนัก วัดความดัน ตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่าภาวะน้ำตาลหรือไข่ขาวในปัสสาวะ ฟังหัวใจทารก วัดขนาดมดลูก ซึ่งทุกอย่างเนี่ยก็จะมีประโยชน์ในการที่จะมาประเมิน ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าคุณแม่มาปั๊บ ตรวจแล้วน้ำหนักมันขึ้นเยอะมากๆ อันนี้ก็จะเป็นสิ่งเริ่มเตือนเราแล้วว่า เอ๊ะ คุณแม่นี่อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ได้นะ เช่น อาจจะเป็นครรภ์เป็นพิษ อาจจะเป็นเบาหวานในระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นต้น หรือว่าคุณแม่มาปั๊บวัดแล้วความดันสูงมากๆ ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องครรภ์เป็นพิษแทรก หรือว่าตรวจแล้ว เอ๊ะ สงสัยทำไมมดลูกไม่ได้โตขึ้นตามขนาดอายุครรภ์ที่ควรจะเป็น ดังนั้น การที่คุณหมอนัดทุกครั้งเนี่ย คุณหมอก็จะมีวัตถุประสงค์ในการที่จะตรวจเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับคนไข้นะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : อันนี้เป็นหลักๆ ที่คนไข้ทุกคนที่ไปเนี่ยต้องได้รับการตรวจ ทีนี้ถามถึงเรื่องของการเจาะน้ำคร่ำบ้างว่าจำเป็นต้องทำทุกรายมั๊ยคะ? แล้วก็รายไหนที่จำเป็นคะ?

น.พ.วิบูลย์ : ในการเจาะน้ำคร่ำเนี่ย ส่วนใหญ่เราก็จะแนะนำในแม่ที่มีกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเสี่ยงที่เราพบได้บ่อยก็คือแม่ตั้งครรภ์ที่อายุเกิน 35 ปีขึ้นไปครับ เพราะว่าตามอุบัติการณ์แล้วเนี่ย เราก็จะพบว่าแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่อครบกำหนดคลอดเนี่ยอายุเกิน 35 จะมีโอกาสที่จะมีลูกที่มีความพิการ เช่น ปัญญาอ่อน สูงกว่าคนที่อายุน้อยๆ ดังนั้น เราจึงแนะนำแม่ในกลุ่มพวกนี้ ถ้าเป็นไปได้ควรจะได้รับการเจาะน้ำคร่ำ เพราะว่าการเจาะน้ำคร่ำก็จะมีความแม่นยำในการบอกผลว่า ลูกมีปัญญาอ่อนมั๊ยถึง 99% แล้วก็มีภาวะแทรกซ้อนจากการเจาะค่อนข้างจะน้อย โดยเฉลี่ยแล้วก็จะประมาณ 3 คนถึง 5 คนในพันคนที่ได้รับการเจาะสำหรับคนที่ชำนาญแล้วนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วก็ควรจะเจาะเดือนไหนคะคุณหมอ?

น.พ.วิบูลย์ : เราจะเจาะเมื่อช่วงอายุครรภ์ประมาณ 4 – 5 เดือนครับ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วกรณีของการตรวจโครโมโซมล่ะคะ?

น.พ.วิบูลย์ : นี่แหละครับการเช็คน้ำคร่ำก็เป็นการเจาะน้ำคร่ำเพื่อไปส่งตรวจโครโมโซมครับ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วถ้าขั้นตอนนี้มันมีความผิดปกติที่เกิดขึ้น คุณหมอจะต้องทำยังไงคะ?

น.พ.วิบูลย์ : ก็พอได้ผลปุ๊บเนี่ย เราก็ต้องมาคุยกันนะครับ เพราะว่ามันมีทางเลือกหลายทางซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่ด้วย เพียงแต่ว่าหมอก็จะมีหน้าที่พยายามหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น สมมติเจาะมาแล้วปุ๊บ ลูกเป็นเด็กดาวน์หรือปัญญาอ่อนเนี่ย ทีนี้ในบางคนเค้าก็จะมีความรู้สึกว่า เค้ารับไม่ได้กับการที่มีลูกปัญญาอ่อน เป็นภาระอะไรกับเค้ามาก ตอนนี้ถ้าเค้าไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ต่อ คุณหมอก็คงจะพิจารณาช่วยยุติการตั้งครรภ์ให้เค้า เพราะว่ามันก็จะเป็นข้อบ่งชี้อันหนึ่งที่สามารถทำได้ในทางการแพทย์ แต่สำหรับบางครอบครัวเนี่ย เค้าคิดว่าเค้าไม่พร้อมที่จะยุติการตั้งครรภ์ เพราะเค้าถือว่ามันเป็นบาป เค้ารับไม่ได้ อันนั้นก็จะต้องมีการเตรียมตัวล่ะครับ เพราะว่าเด็กปัญญาอ่อนทุกคนเนี่ย ไม่ใช่ว่าคุณภาพชีวิตมันจะไม่ดี ถ้าเค้าไม่มีความผิดปกติของทางร่างกายร่วมด้วย ถ้าเราอัลตร้าซาวนด์แล้วพบว่ามีแต่โครโมโซมผิดปกติอย่างเดียว แล้วอัลตร้าซาวนด์ปกติหมด บางครั้งเนี่ยแม่ไม่อยากจะทำแท้ง เราก็จะให้คุณแม่เนี่ยเริ่มไปศึกษาหาความรู้ละว่า การดูแลเด็กในกลุ่มนี้เป็นยังไง เพราะว่าในปัจจุบันนี้มันจะมีวิธีในการที่จะดูแลคนไข้กลุ่มนี้เป็นพิเศษ เช่น อาจจะต้องมีการเตรียมความพร้อมของพ่อแม่ในการดูแล เตรียมขั้นตอนในการกระตุ้นพัฒนาการ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะต้องดูแลพิเศษ ซึ่งก็พบว่าในปัจจุบันนี้ ก็จะมีคนไข้กลุ่มหนึ่งก็จะตัดสินใจแบบนี้เพิ่มขึ้นนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แล้วทีนี้มาถึงช่วงสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ก่อนที่จะเนี่ยคุณหมอจะต้องตรวจอะไรเป็นพิเศษมั๊ยคะ ก่อนจะตัดสินใจว่าจะทำการคลอดอย่างใดอย่างหนึ่ง?

น.พ.วิบูลย์ : เราก็จะมาดูว่าคนไข้เนี่ย ครบกำหนดมั๊ย หรือว่ามีข้อบ่งชี้ในการคลอดหรือเปล่า ในบางคนที่เป็นโรคเนี่ยเค้าอาจจะไม่ครบกำหนด มีข้อบ่งชี้ในการคลอดอันนั้นก็อีกเรื่องนึง แต่นี้เราจะมาพูดในกรณีคนไข้ที่ปกติทั่วๆ ไปนะครับ ถ้าคนไข้ปกติทั่วๆ ไปแล้วมาฝากครรภ์ปกติดี ทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ดีหมดนะครับ เราก็อาจจะรอได้ถึงประมาณ 40 – 41 สัปดาห์ ไม่จำเป็นที่จะต้องรีบให้เค้าคลอด ยกเว้นแต่ว่าเค้ามีภาวะแทรกซ้อนอย่างที่หมอบอก เช่น ลูกดิ้นน้อย สงสัยลูกไม่โต หรือว่ามีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นเราก็จำเป็นต้องให้เค้าคลอด ตอนนี้เมื่อเราตัดสินใจว่าคนไข้คนนี้สมควรที่จะคลอดแล้ว เราก็ค่อยมาประเมินอีกครั้งนึงว่าการคลอดด้วยวิธีไหนจะปลอดภัยสำหรับแม่กับลูกมากที่สุด ถ้าไม่มีข้อห้ามเลยนะฮะ เราก็พยายามจะให้คลอดทางช่องคลอดก่อน โดยก่อนที่จะให้คลอดทางช่องคลอดได้เนี่ย เราก็ต้องเช็คว่าปากมดลูกเนี่ยพร้อมหรือเปล่านะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ต้องเปิดกี่เซนติเมตรนะคะ?

น.พ.วิบูลย์ : โดยเฉลี่ยแล้วเนี่ย มันจะมี 2 อย่าง ถ้าจะคลอดเองเนี่ย จะคลอดได้มันก็ต้องเปิด 10 เซน แต่ถ้าสมมติเราจะมาเร่งคลอดเนี่ย เราก็ต้องให้ปากมดลูกเปิดอย่างน้อย 2 – 3 เซน มีความนุ่มพอที่เราคิดว่าใช้ยาเร่งได้นะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : กรณีที่ได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่าปากมดลูกไม่เปิดนี่หมายความว่ายังไงคะคุณหมอ?

น.พ.วิบูลย์ : ก็อาจจะมีคนไข้บางรายเมื่อครบกำหนดคลอดแล้ว แล้วก็เริ่มมีภาวะแทรกซ้อน เช่น อาจจะมีน้ำคร่ำน้อย หรือว่าลูกดิ้นน้อย หรือว่าเค้ามีโรคทางอายุรกรรมอยู่เนี่ย คุณหมอเค้าก็คิดว่าเอาละสมควรจะต้องคลอดละ แต่ว่าเช็คดูละปากมดลูกไม่เปิดนี่ก็คือ ปากมดลูกคนเราปกติมันจะปิดนะฮะ ถ้าปากมดลูกมันปิดปุ๊บ การที่จะไปใช้ยาเร่งคลอดมันก็เกิดอันตราย ในบางครั้งเราก็อาจจะต้องพิจารณาผ่าคลอดให้ เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูกนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : เอาล่ะค่ะ วันนี้ได้รับความรู้จากคุณหมอมากมายเลยนะคะ ทีนี้ทราบมาว่าคุณหมอเองก็เป็นเลขาธิการสมาคมเวชศาสตร์มารดาและก็ทารกในครรภ์ จะมีงานดีๆ เกิดขึ้นที่ไหน? ยังไงคะคุณหมอ?

น.พ.วิบูลย์ : อ๋อครับ ในของสมาคมนี่นะครับ ก็จะมีการจัดอบรมและประชุม ก็เหมือนกับเป็นการประชุมเพื่อให้ความรู้ใหม่ๆ แก่สูตินรีแพทย์ และก็พยาบาล และก็ผู้ที่ดูแลเกี่ยวข้องกับมารดาและทารกนะครับ โดยเฉลี่ยเนี่ยเราก็จะจัดประมาณปีละครั้ง ซึ่งในปีนี้เราก็มีกำหนดการที่จะจัดที่ โรงแรมเดอะทายด์ ที่บางแสนในวันพุธที่ 5 – 7 พฤษภาคมนี้นะครับ ก็เป็นการให้ความรู้กับผู้ที่ดูแลผู้ป่วยทั่วๆ ไปเพราะเราหวังว่าสมาคมน่าจะมีส่วนช่วยพัฒนาความรู้ และก็แลกเปลี่ยนความรู้กับสมาชิกทั่วประเทศ เพื่อที่จะให้สมาชิกได้มีโอกาสนำความรู้ใหม่ๆ และเทคนิคใหม่ๆ ไปช่วยเหลือผู้ป่วยในต่างจังหวัดอีกครั้งนึงนะฮะ เพราะว่าสมาคมเองก็มีกรรมการอยู่ไม่เยอะ ไม่สามารถที่จะเอื้อมมือไปได้ทุกที่ เราก็จะใช้งานนี้แหละครับ เป็นการเชิญสมาชิกของสมาคมไปร่วมประชุมด้วย

คุณสรวงมณฑ์ : เอาล่ะค่ะ วันนี้ต้องขอบคุณคุณหมอมากนะคะที่มาให้ความรู้กับเราในวันนี้นะคะ ขอบพระคุณค่ะ สวัสดีค่ะ

น.พ.วิบูลย์ : ครับ สวัสดีครับ

หมายเหตุ :-

การประชุมในวันที่ 5 -7 พฤษภาคม 2553 วิทยากรได้แก่

1.      นพ.เอกชัย โควาวิสารัช
2.      ศ.นพ.เยื้อน ตันนิรันดร
3.      นอ.นพ.วิบูลย์ เรืองชัยนิคม
4.      ศ.(คลีนิก)นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ
5.      รศ.นพ.ชาญชัย วันทนาศิริ
6.      รศ.พญ.ฐิติมา สุนทรสัจ
7.      ศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ
8.      นพ.ถวัลย์วงศ์ รัตนศิริ
9.      นพ. ศุภวิทย์ มุตตามระ

สนใจเข้าร่วมประชุมติดต่อสมาคมเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ 02-718-1489

ขอขอบคุณ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ค่ะ

ความคิดเห็น