บทสัมภาษณ์ : ผศ.พญ.โสภาพรรณ เงินฉ่ำ เรื่อง “แม่ตั้งครรภ์...เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน”

บทสัมภาษณ์ :  ผศ.พญ.โสภาพรรณ เงินฉ่ำ เรื่อง “แม่ตั้งครรภ์...เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน”

รายการ “พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” FM 105

ถอดคำสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พญ.โสภาพรรณ เงินฉ่ำ อาจารย์ประจำวิชาสาขาทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

ผู้ดำเนินรายการ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com

วันศุกร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2553 เรื่องเกี่ยวกับ “แม่ตั้งครรภ์...เลือดแม่กับลูกไม่เข้ากัน”



คุณสรวงมณฑ์ : สวัสดีค่ะ คุณหมอคะ

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ค่ะ สวัสดีค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ต้องรบกวนคุณหมอนะคะมาให้ความรู้กับคุณผู้ฟัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่มือใหม่ทั้งนั้นเลยค่ะคุณหมอ

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : คือในตอนช่วงเบรกที่แล้ว ดิฉันเล่าให้คุณผู้ฟังฟังบอกว่า มันมีเรื่องราวของเลือดของแม่ลูกที่ไม่เข้ากัน ซึ่งส่วนใหญ่เนี่ยเวลาตั้งครรภ์นะคะก็จะไปตรวจ ตอนไปตรวจไปฝากคุณหมอสูติก็จะตรวจแล้ว คุณหมอก็จะบอกว่า ไม่มีปัญหา เลือดแม่ลูกเข้ากันได้เพราะฉะนั้นตั้งครรภ์ได้ปกติ หมายความว่ายังไงคะคุณหมอ

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : อ๋อ ค่ะ หมายความว่าอย่างนี้ค่ะ ที่พูดถึงว่าเลือดของแม่กับลูกไม่เข้ากันใช่มั๊ยคะ คือหมู่เลือดของลูกเนี่ย มันจะขึ้นอยู่กับทั้งหมู่เลือดของคุณพ่อและคุณแม่นะคะ ทีนี้ตอนที่คุณแม่ที่ตั้งท้องไปฝากคุณหมอสูติฯ ตรวจนี่ก็จะเป็นตรวจกรุ๊ปเลือดของคุณแม่อย่างเดียวนะคะ ยังไม่ได้ตรวจกรุ๊ปเลือดของลูกในท้องค่ะ แล้วทีนี้ถ้าเผอิญว่ากรุ๊ปเลือดของลูกอาจจะไปเหมือนกับทางคุณพ่อ มันก็มีโอกาสที่จะเข้ากันไม่ได้กับของคุณแม่ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : นั่นก็หมายความว่าตอนที่ไปตรวจตั้งแต่เริ่มต้น ก่อนตอนที่ลูกจะคลอดออกมา คือไปตรวจตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์เลยเนี่ย คือสามารถดูได้เลยหรือเปล่าคะ สามารถวินิจฉัยได้เลยหรือเปล่า ว่าเลือดของแม่กับกรุ๊ปของลูกเนี่ยมันอาจจะไม่ตรงกัน?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ยังไม่ได้เพราะว่าเราจะยังไม่ได้ตรวจกรุ๊ปเลือดของลูก เพราะว่าการตรวจกรุ๊ปเลือดของเด็กที่อยู่ในท้องเนี่ยจริงๆ มันสามารถทำได้แต่ว่ามันทำค่อนข้างยาก และมันก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับการตั้งท้องน่ะค่ะ ก็เลยคิดว่ายังไม่ได้ตรวจตั้งแต่ตอนนั้น

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แล้วมาเริ่มตรวจได้ตอนไหนคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ตรวจเมื่อหลังคลอดออกมาแล้วค่ะ ถ้าพูดถึงกรุ๊ปเลือดหลักๆ ที่พวกเราคุ้นเคยกันก็จะเป็น 2 อันใหญ่ๆ ก็คือเรื่องของกรุ๊ป ABO (เอบีโอ) นะคะอันนึงกับกลุ่ม RH (อาร์เอช) น่ะค่ะ ซึ่งอันนี้ที่อาจจะสงสัยว่าจะมีปัญหาก่อน ตั้งแต่ยังไม่ได้เกิดกรุ๊ปเลือดเลยก็คือในกรณีที่คุณแม่เป็น RH- (อาร์เอชลบ) นะคะซึ่งเป็นหมู่เลือดพิเศษซึ่งของเราส่วนใหญ่ก็จะเป็น RH+ (อาร์เอชบวก)

ทีนี้ถ้าเราทราบว่าคุณแม่ RH- นะคะ แล้วของคุณพ่อ RH+ อันเนี้ยค่ะที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : อันนี้ก็ตรวจภายหลังจากคลอดลูกแล้วเหรอคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ค่ะ ที่จะทราบของลูกนะคะ ของลูกนี่จะออกมาตรวจในภายหลังค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : คนเป็นพ่อกับแม่เนี่ยตรวจได้เลยใช่มั๊ยคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : สมมติว่าอย่างกรณีที่คุณหมอยกตัวอย่างว่าคุณแม่เป็น RH+ คุณพ่อเป็น RH- มันจะส่งผลยังไงคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : คุณแม่ RH- ค่ะ ทีนี้ที่จะส่งผลก็คือว่าถ้าลูกเป็น RH+ เหมือนคุณพ่อ ในระหว่างการตั้งท้องเนี่ย มันมีโอกาสที่เลือดลูกกับเลือดแม่จะเจอกันได้ เมื่อเข้าไปในเลือดแม่ที่เป็น RH- นะคะ มันก็จะไปกระตุ้นเพราะเหมือนกับเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปน่ะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ดิฉันเข้าใจถูกมั๊ยคะคุณหมอว่า โดยปกติผู้หญิงเรา RH+ เยอะกว่า?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ใช่ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้ว RH- เนี่ยน้อย น้อยในระดับไหนคะปัจจุบันนี้?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ปัจจุบันนี้ อันนี้ไม่แน่ใจเปอร์เซ็นต์นะคะ แต่ว่าน่าจะอยู่ในหลักสัก 10 อะไรอย่างนี้ค่ะ ไม่มากค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ไม่มากเท่าไหร่

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ค่ะ กรุ๊ป RH- จะเป็นกรุ๊ปพิเศษที่บางท่านอาจจะเคยได้ยินว่า จะต้องมีการจัดตั้งพยายามหาเป็นรายชื่อพวก RH- ด้วยกันเอาไว้ว่าถ้ามีอุบัติเหตุอะไร แล้วมีความจำเป็นในการใช้เลือด มันจะถือว่าเป็นหมู่เลือดพิเศษที่หายากค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : อืม แต่ว่าของคุณผู้ชายเนี่ยส่วนใหญ่ RH+?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : มีโอกาสได้เหมือนกันค่ะว่ามีทั้งบวกและลบได้เหมือนกันค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แต่ว่าที่เป็นปัญหาแล้วทางการแพทย์ไม่อยากให้ประสบก็คือ RH- ในคุณแม่ ถูกต้องมั๊ยคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ค่ะ ถ้าเราทราบก่อนเนี่ย ทางหมอสูติฯ เค้าจะมีการฉีดยาให้ตัวนึงตั้งแต่ในระหว่างการตั้งครรภ์น่ะค่ะ เพราะว่าถ้ามีเลือดลูกเข้าไปในกระแสเลือดของแม่เนี่ย จะไปกระตุ้นและเป็นสิ่งแปลกปลอมให้คุณแม่สร้างสารต่อต้านขึ้นมา แล้วถ้าสารต่อต้านตัวนี้กลับเข้ามาในกระแสเลือดของลูก มันก็จะเกิดภาวะที่ว่าหมู่เลือดไม่เข้ากันซึ่งถ้าเกิดกับหมู่ของ RH เนี่ยมันมีโอกาสที่จะเป็นรุนแรงได้มาก มีปัญหาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ได้ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : แต่ว่าส่วนใหญ่เนี่ยเราจะคุ้นเคยกับหมู่เลือด ABO เป็นหลัก มันมีโอกาสมั๊ยคะกับหมู่เลือด ABO ที่จะไม่เข้ากัน?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : มีโอกาสเหมือนกันค่ะ ซึ่งมักจะเจอในคุณแม่ที่เป็นหมู่เลือด O ค่ะ และถ้าลูกในท้องนี่เป็นหมู่เลือด A หรือหมู่เลือด B ก็จะมีโอกาสที่เป็นหมู่เลือดที่ไม่เข้ากัน และจะมีปัญหาแต่ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงเท่าพวก RH และจะแสดงอาการหลังจากที่เด็กคลอดออกมา ก็คือจะมีปัญหาเรื่องเม็ดเลือดแดงของลูกแตก แล้วทำให้เค้ามีภาวะตัวเหลือง

คุณสรวงมณฑ์ : กรณีที่คุณแม่มีหมู่เลือด O นี่คุณพ่อต้อง O ด้วยมั๊ยคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ถ้าคุณพ่อ O ด้วยก็ค่อนข้างที่จะปลอดภัยค่ะ เพราะว่าลูกก็มักจะ O ด้วย

คุณสรวงมณฑ์ : แต่ถ้าสมมติว่าแม่ O แต่พ่อไป A สมมตินะคะ กรณีที่ลูกออกมาเป็น A กรณีนี้ก็มีโอกาสที่จะมีความไม่เข้ากันของหมู่เลือด ดิฉันเข้าใจถูกใช่มั๊ยคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ใช่ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : งั้นก็แสดงว่าประเภทในละครทีวีที่บอกว่าพ่อ A แม่ A ลูกก็ต้องเป็น A เท่านั้นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ถูกต้องใช่มั๊ยคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : เอาล่ะค่ะ อันนี้พอคร่าวๆ ให้คุณผู้ฟังได้พอรู้แหละว่ากลุ่มเลือดหมู่เลือดเนี่ยมันมีอยู่ 2 ประเภท ก็คือ ABO แล้วก็ RH ซึ่งเราจะคุ้นกันเฉพาะ ABO มากกว่า แต่ว่าในทางการแพทย์เป็นกังวลเรื่อง RH ทีนี้จะต้องให้คุณหมออธิบายแล้วว่าสมมติว่าเกิดกรณีขึ้นมาแล้ว เลือดของลูกกับแม่ไม่เข้ากันแล้วมันจะนำไปสู่อะไรบ้างคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ก็หลังคลอดส่วนใหญ่ที่จะเป็นปัญหา ถ้าเป็น ABO คือเราจะเจอ ABO บ่อยกว่านะคะ ก็เลือดของแม่มักจะปนเปื้อนเข้าไปในเลือดของลูกได้เยอะ ก็ตอนช่วงระหว่างการคลอดน่ะค่ะ ทีนี้หมู่เลือดที่ไม่เข้ากัน อันนี้ก็จะทำให้เม็ดเลือดแดงของลูกแตกนะคะ เพราะฉะนั้นที่เราจะต้องเฝ้าระวัง ก็คือภาวะตัวเหลืองกับภาวะซีดในลูกน่ะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : เพราะว่าระหว่างการผ่าคลอด ถูกต้องมั๊ยคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ไม่ว่าจะเป็นการผ่าคลอดหรือการคลอดเองโดยปกติก็มีโอกาสทั้งคู่ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ อันตรายมั๊ยคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ขึ้นอยู่กับความรุนแรงน่ะค่ะ ส่วนใหญ่ที่เจอก็จะไม่รุนแรงมาก และในขณะที่อยู่ในโรงพยาบาลเนี่ย เมื่อเราพบว่ามีภาวะตัวเหลือง เราก็จะวัดระดับของสารสีเหลืองตัวนี้ค่ะ และเราก็จะมีเกณฑ์ของการรักษาอยู่ว่า ถ้าเด็กอายุเท่านี้ระดับสารสีเหลืองสูงถึงเท่านี้แล้ว ต้องให้การรักษา ซึ่งการรักษาในเบื้องต้นก็คือการส่องไฟ ก็ส่วนใหญ่เราจะเจอปัญหานี้ ตั้งแต่เด็กอยู่ในโรงพยาบาลเพราะงั้นก็จะให้การรักษาได้ทัน

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แล้วกรณีแบบนี้เกิดขึ้นในบ้านเราเยอะมั๊ยคะคุณหมอ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : อ๋อ เจอบ่อยค่ะ ก็ถ้าคุณแม่เป็นเลือดกรุ๊ป O นะคะแล้วลูกเป็นเลือดกรุ๊ป A หรือ B ที่มันเป็นคู่กันอย่างนี้คิดว่าจะเจอปัญหาเรื่องนี้ได้อาจจะประมาณ 20 – 30%

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ คุณหมอพอจะยกตัวอย่างกรณีที่พบเคสของคุณหมอเอง เล่าให้คุณผู้ฟังฟังสักนิดนึงได้มั๊ยคะว่าขั้นตอน พอคลอดออกมาแล้วทารกจะไปไหน แล้วก็จะมีการวินิจฉัยยังไง แล้วถ้าสมมติว่าเจอเด็กที่มีกรณีแบบนี้ ทางการแพทย์จะมีขั้นตอนในการดำเนินการยังไงคะคุณหมอ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ภาวะหมู่เลือดที่ไม่เข้ากันนะคะ ต้องบอกว่ามันเป็นสาเหตุอย่างนึงของภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด คือมันยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกหลายอย่าง ทีนี้ในทางปฏิบัติก็คือว่าเราจะไม่ได้บอกอะไรกับคุณแม่ให้คุณแม่วิตกกังวลอะไรมากนะคะ แต่ว่าหลังคลอดมาเนี่ยค่ะ เด็กแรกเกิดทุกคนจะได้รับการดูแลจากแพทย์และก็พยาบาลอยู่แล้ว ซึ่งทุกวันที่คุณหมอหรือว่าคุณพยาบาลดูแลเด็กไปดูแลเด็ก อาจจะเปลี่ยนผ้าอ้อม ไปวัดไข้ วัดอุณหภูมิอะไรพวกเนี้ย ก็จะมีการสังเกตว่าเด็กเริ่มมีภาวะตัวเหลืองรึยัง แล้วถ้าเราเห็นว่าเด็กเริ่มมีภาวะตัวเหลือง เราก็จะตรวจระดับของสารสีเหลืองตัวนี้ค่ะว่ามันสูงเท่าไหร่  และก็เราก็จะมีเกณฑ์อยู่น่ะค่ะว่ามันขึ้นอยู่กับอายุเด็กด้วยนะคะ แล้วก็ถ้าเด็กอายุเท่านี้แล้ว แล้วก็เจาะได้ว่าระดับสารสีเหลืองเป็นเท่าไหร่  แนวทางการดูแลจะเป็นแบบไหนนะคะ บางคนอาจจะยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะต้องส่องไฟรัดขา เราก็จะวางแผนติดตามเจาะเลือดตามดูน่ะค่ะ แต่ถ้าถึงเกณฑ์ที่ต้องได้รับการรักษา เราก็จะเริ่มต้น ก็จะย้ายเด็กลงมาส่องไฟรักษาภาวะตัวเหลืองค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ใช้เวลาในการรักษานานขนาดไหนคะคุณหมอต่อแต่ละกรณีน่ะค่ะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ภาวะตัวเหลืองนี่ หลังจากที่เราเริ่มต้นส่องไฟรักษาไปแล้ว เราก็จะต้องวัดระดับของสารสีเหลืองตัวนี้เป็นระยะๆ  แล้วก็เราจะหยุดส่องไฟรักษา เมื่อระดับของสารสีเหลืองตัวนี้มันลงมาอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยแล้ว

คุณสรวงมณฑ์ : เกณฑ์ที่ปลอดภัยนี่วัดยังไงคะ? ต้องอยู่ในระดับที่เท่าไหร่คะคุณหมอ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : อันนี้ก็จะขึ้นอยู่กับอายุเหมือนกัน

คุณสรวงมณฑ์ : ของเด็ก

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ค่ะ หมายถึงว่าถ้าเด็กในวันแรกๆ เนี่ย ถ้าเราวัดได้สัก 10 ในวันแรกนี่ถือว่าสูง แต่ถ้าเด็กคนนั้นอายุได้ 4 – 5 วันแล้ววัดได้ 10 อันนั้นก็ถือว่าไม่สูง

คุณสรวงมณฑ์ : ไม่สูงเท่าไหร่

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วกรณีอย่างนี้มีโอกาสหายขาดไหมคะ? ตัวจะกลับมาปกติ

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : หายขาดค่ะ เพราะว่าเลือดแม่ที่ปนเปื้อนเข้ามาในตัวลูกน่ะค่ะ มันก็จะค่อยๆ หมดไป ภูมิตัวนั้นที่เข้ามาทำให้เม็ดเลือดแดงของลูกแตกเนี่ยจะค่อยๆ หมดไป เพราะฉะนั้นปัญหาที่เป็นมาก ที่ทำให้มีปัญหาเม็ดเลือดแดงแตกมากเนี่ย มักจะเป็นในช่วงสัปดาห์แรกๆ เท่านั้นเอง แล้วก็โดยทั่วไปสารภูมิคุ้มกันต่างๆ ที่ผ่านจากคุณแม่มาที่ลูกเนี่ยก็จะอยู่ได้ประมาณ 3 – 4 เดือนหรืออย่างมากก็อยู่ได้ถึง 6 เดือน แต่ว่าปัญหาหลักก็คือช่วงอาทิตย์แรก

คุณสรวงมณฑ์ : อย่างนี้นี่ทานนมแม่ได้มั๊ยคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ได้ค่ะ ได้เลยค่ะ ไม่มีปัญหาเลยค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ถ้าสามารถที่จะกินนมแม่อาจจะช่วยอาการได้ด้วยรึเปล่าคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : เรื่องของการกินนมแม่นี่อาจจะเป็นผลทางอ้อมค่ะ ถามว่าถ้าเกิดในวันแรกนี่ เราสนับสนุนให้เด็กทารกทุกคนกินนมแม่อยู่แล้วใช่มั๊ยคะ อันนี้ถ้าการให้น้ำนมแม่ประสบความสำเร็จ มันจะมีปัจจัยนึงก็คือว่าถ้าเด็กทานนมได้ดีนะคะ แล้วเค้าก็ขับสารขี้เทาในลำไล้ ก็คือวันแรกที่เด็กถ่ายอุจจาระออกมามันจะเป็นขี้เทาใช่มั๊ยคะ ในขี้เทาเนี่ยมันก็จะมีสารสีเหลืองตัวนี้อยู่ในปริมาณมากนะคะ ถ้าเด็กสามารถถ่ายออกมาได้เร็วก็จะดี เพราะว่าถ้าเค้าถ่ายออกมาได้ช้าแล้วมันอยู่ในลำไส้นานขึ้น มันก็จะมีการดูดซึมสารสีเหลืองตัวนี้กลับด้วยค่ะ มันก็เป็นอีกปัจจัยนึงที่ทำให้เค้าเหลือง ก็จะมีหลายสาเหตุของภาวะตัวเหลืองอันเนี้ยค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ก็ต้องวินิจฉัยกันไป

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ค่ะ ใช่ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : แต่ว่ากรณีของเด็กที่เลือดแม่ลูกไม่เข้ากัน แล้วเด็กคนนี้เนี่ยอาการนำคือตัวเหลือง แล้วจะมีอาการอย่างอื่นด้วยมั๊ยคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ก็ที่ต้องระวังตามไปด้วยกัน ก็คือว่าถ้าบางคนที่เป็นรุนแรงนี่เราจะระวังว่าเค้าจะมีภาวะซีดด้วยรึเปล่า ถ้าเม็ดเลือดแดงเค้าแตกไปมากน่ะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ ส่วนใหญ่นี่สักอายุเท่าไหร่คะถึงจะหายไป?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ส่วนใหญ่เค้าจะเริ่มมีอาการสักวันสองวันแรกเลยนะคะ แล้วก็ในรายที่ไม่รุนแรง บางทีเราส่องไฟไปรักษา ถ้าสัก  2-3  วัน 4 วันดีขึ้นก็จะหยุดได้ค่ะ แต่อาจจะมีบางรายที่นานหน่อย ต้องอยู่ส่องไฟ 5 – 6 วันอย่างเนี้ยค่ะ แล้วก็จะมีส่วนน้อยลงไปอีกที่เป็นแบบรุนแรงมาก ที่เรากลัวก็คือสารสีเหลืองในเลือดตัวนี้น่ะค่ะ ถ้ามันมีในระดับที่สูงมากๆ เลยเนี่ย มันมีโอกาสที่จะผ่านเข้าไปในสมองได้ ซึ่งตัวเนี้ยค่ะจะเป็นอันตรายที่สุดก็คือ ถ้ามันผ่านเข้าไปจับกับเนื้อสมองแล้วเนี่ย มันจะทำให้เด็กมีปัญหาเรื่องของการควบคุมการทำงานกล้ามเนื้อ เด็กก็จะมีปัญหาเรื่องของพัฒนาการที่ล่าช้าตามมาได้ หรือในบางรายก็อาจจะมีผลต่อสติปัญญาด้วยค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ดิฉันถามเผื่อไปเลยค่ะคุณหมอ เพราะว่าจะเห็นเด็กที่ตัวเหลืองเนี่ยนะคะ คือเคยเห็น อาจจะไม่ใช่ปัจจัยนี้ กรณีที่เด็กตัวเหลืองเนี่ยมันเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง นอกจากเรื่องเลือดที่ไม่เข้ากันกับแม่ค่ะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : อ๋อค่ะ สาเหตุ คือเด็กแรกเกิดเนี่ยนะคะ ต้องบอกว่าอาจจะ 40-50% เลยนะคะที่หลังคลอดในวันแรกๆ เนี่ยมีปัญหาเรื่องตัวเหลือง แต่ว่าส่วนใหญ่ของเด็กที่ตัวเหลืองนี่จะไม่อยู่ในเกณฑ์ที่อันตราย เพราะว่าในเด็กแรกเกิดสารสีเหลืองในเลือดเค้าจะสูงกว่าพวกเราอยู่แล้ว เป็นโดยธรรมชาตินะคะ ทีนี้ถ้าสาเหตุมันไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากกลไกตามธรรมชาติ เรื่องของปริมาณเม็ดเลือดของเค้า เม็ดเลือดที่มีอายุสั้นอะไรพวกเนี้ย ก็ไม่ต้องการการรักษาอะไรนะคะ แต่ถ้าเค้ามีสาเหตุอย่างอื่นเสริมเข้ามา อย่างเช่นเรื่องของหมู่เลือดไม่เข้ากัน ซึ่งอาจจะเป็นหมู่เลือดหลักก็คือ ABO, RH เนี่ยนะคะ หรือมันอาจจะเป็นหมู่เลือด minor อีกหลายๆ อย่างซึ่งเจอไม่บ่อยนะคะ อันนั้นก็เป็นสาเหตุนึง

สาเหตุส่วนที่ 2 ก็คือบางคน ในระหว่างการคลอด เค้าอาจจะมีเลือดออกที่บริเวณตรงหนังศีรษะนะคะ ซึ่งพบได้บ่อยเหมือนกัน

คุณสรวงมณฑ์ : มันออกมาเลยเหรอคะ เลือด หรือว่าซึมๆ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : คือมันจะอยู่ใต้ชั้นเยื่อหุ้มกระดูกกะโหลกน่ะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : มองเห็นได้ชัดเจนนะคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : เราก็จะเห็นแค่ว่ามันนูนๆ ขึ้นมาค่ะ ซึ่งเลือดที่ออกมาค้างอยู่ตรงเนี้ย พอมันสลายไปมันก็จะมีสารสีเหลืองอันเนี้ยออกมาค่ะ ก็อาจจะเป็นสาเหตุอีกสาเหตุนึงที่ทำให้เป็น ที่ทำให้เหลืองมาก

หรือบางคนอาจจะมีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง ที่เค้าขาดเอ็นไซม์บางอย่าง ทำให้มันแตกง่ายกว่าปกติเข้าไปอีก คือเดิมของเด็กแรกเกิดก็จะแตกง่ายอยู่แล้ว แล้วถ้าเด็กกลุ่มที่มีการขาดสารเอ็นไซม์ตัวนี้ ที่บางท่านอาจจะเคยได้ยินที่เรียกว่า “จี ซิก พีดี” (Glucose – 6 Phosphate Dehydrogynase Deficiency: G-6 PD) น่ะนะคะ มันก็จะแตกง่ายขึ้น ก็จะเป็นอีกกลุ่มนึงที่เจอว่าเหลืองบ่อยๆ น่ะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : เคยมีกรณีนึง พอดีคุณผู้ฟังเคยโทรศัพท์มาเล่าให้ฟังนะคะบอกว่า ลูกยิ่งกินนมแม่แล้วเค้าสังเกตว่ายิ่งกินแล้วยิ่งเหลือง มันจะเกิดจากอะไรคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ค่ะ สาเหตุกลุ่มนึงที่ว่าเหลืองที่สัมพันธ์กับนมแม่ก็เจอได้นะคะ ซึ่งอาจจะต้องขอแยกออกเป็น 2 กลุ่ม หมายถึงเหลืองที่สัมพันธ์กับนมแม่นะคะ

กลุ่มแรกก็คือว่าในวันแรกๆ เนี่ยค่ะ น้ำนมคุณแม่อาจจะยังน้อยอยู่ แม่อาจจะยังเพลียยังเหนื่อย หรือว่าตัวเด็กเองก็ยังหลับมากนะคะ แต่โดยรวมก็คือทำให้เค้าได้น้ำนมคุณแม่เข้าไปค่อนข้างน้อย เด็กพวกนี้เราจะเห็นว่าน้ำหนักเค้าจะขึ้นไม่ค่อยดี อันนั้นก็จะเป็นสาเหตุนึงที่จะมีปัญหาว่าเค้าตัวเหลืองมากได้นะคะ

กับอีกกลุ่มนึงก็คือว่าเด็กได้นมแม่ดีเลยค่ะ แล้วก็เนื่องจากว่าในน้ำนมแม่เนี่ยมันมีสารบางอย่าง ซึ่งพอทานเข้าไปแล้วนี่ มันจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสารสีเหลืองที่อยู่ในลำไส้นะคะ ก็เลยจะทำให้เด็กตัวเหลืองได้

คุณสรวงมณฑ์ : แต่ก็ไม่เป็นอันตราย

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : แต่ก็ไม่เป็นอันตราย แต่ว่ายังไงก็ตามเราก็จะต้องติดตาม

คุณสรวงมณฑ์ : ไปพบคุณหมอนั่นแหละ

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ใช่ค่ะ คือความสำคัญของเรื่องตัวเหลืองก็คือว่าถ้าเหลืองมากๆ ที่กลัวก็คืออย่างที่เรียนให้ทราบว่ามันจะเข้าไปจับกับเนื้อสมองได้ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเหลืองจากสาเหตุอะไรก็ตาม ใช่ค่ะ ต้องดูแล

คุณสรวงมณฑ์ : ต้องไปพบแพทย์นะคะ แล้วคุณหมอคะ กลับมาเรื่องเลือดแม่ลูกไม่เข้ากันเนี่ย สมมติว่าคนแรกเป็น ทีนี้ลูกคนที่ 2 นี่มีโอกาสเป็นมั๊ยคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : หมายถึงคุณพ่อคุณแม่คู่เดิม?

คุณสรวงมณฑ์ : คู่เดิมค่ะ คนแรกเป็นแล้ว คนที่ 2 ต้องเป็นด้วยรึเปล่า?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : มีโอกาสค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : แต่ก็มีโอกาสไม่เป็นก็ได้

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ใช่ค่ะ เพราะว่ามันก็ขึ้นอยู่กับหมู่เลือดของลูกน่ะค่ะ สมมติว่าถ้าสมมติคุณแม่กรุ๊ป O คุณพ่อเป็นกรุ๊ป A ใช่มั๊ยคะ แล้วเผอิญลูกทั้ง 2 คนเป็น A ทั้งคู่อย่างเนี้ยค่ะ ก็มีโอกาสเป็นได้ทั้งคู่เลยค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วกรณีนี้เนี่ยคนเป็นแม่นะคะ คือลูกมีอาการแล้ว แม่มีอาการด้วยมั๊ยคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : คุณแม่ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : อืม คุณแม่ไม่มีปัญหาอะไร

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ค่ะ แม่ก็จะกังวลเพราะว่าลูกอาจจะต้องโดนตรวจเลือดบ่อยๆ หรือว่าต้องย้ายลงมาส่องไฟรักษาอย่างนี้น่ะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : มันมีวิธีการป้องกันมั๊ยคะคุณหมอ

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : เรื่องของกรุ๊ป ABO นี่ยังไม่มีค่ะ แต่ว่าเรื่องของกรุ๊ป RH เนี่ยมีค่ะ เรื่องของกรุ๊ป RH เนี่ยมันมีอย่างนี้นะคะว่า ถ้าท้องแรกถ้าเราทราบตั้งแต่แรกเลยว่าคุณแม่เป็น RH- นะคะ แล้วไปฝากท้องเนี่ย คุณหมอสูติฯ เค้าจะฉีดยาตัวนึงให้เรียกว่าเป็น immunoglobulin ฉีดให้กับคุณแม่ในช่วงที่ตั้งครรภ์ได้สักประมาณ 28 สัปดาห์แถวๆ นั้นครั้งนึงนะคะ แล้วก็หลังคลอดลูกทันที ก็จะฉีดให้อีกครั้งนึง

คุณสรวงมณฑ์ : ฉีด 2 ครั้ง

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ฉีด 2 ครั้งค่ะ แล้วลูกคนแรกเนี่ย มักจะไม่มีปัญหาเรื่องตัวเหลือง เพราะว่าคุณแม่ที่เป็น RH- เนี่ยเค้ายังไม่มีสารที่ต้านกับกรุ๊ปเลือดอันนี้ค่ะ แต่เค้าจะถูกกระตุ้นด้วยเลือดจากลูกคนแรก เพราะงั้นที่คุณหมอฉีดยาอันนี้ให้เนี่ยค่ะ ก็เพื่อป้องกันว่าไม่ให้เลือดของลูกคนแรกคนเนี้ยไปกระตุ้น ให้คุณแม่สร้างสารต่อต้านอันนี้ขึ้นมา ซึ่งถ้าคุณแม่ไม่ได้รับในท้องแรกแล้วได้เลือดจากลูกคนแรกเข้าไปแล้ว ตัวคุณแม่เองก็จะมีสารต่อต้านตัวนี้อยู่น่ะค่ะ พอท้องลูกคนที่ 2 อันเนี้ยจะเกิดปัญหา แต่ถ้าเกิดว่าได้รับยาที่ว่าฉีดป้องกันอันนั้นเอาไว้นะคะ ก็จะช่วยลด คือโอกาสที่จะมีปัญหาในลูกคนที่ 2 ก็จะน้อยลงไปเยอะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : คือไม่ได้หมายความว่าพอคนที่ 2 มาฉีดใหม่

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : คนที่ 2 ก็ต้องฉีดป้องกันเพื่อไม่ให้เลือดจากคนที่ 2 เข้าไปกระตุ้นจนมีผลกับคนถัดไปอะไรอย่างเนี้ยค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : เรื่องของ RH นี่จะป้องกันได้ค่ะถ้าเราฝากท้องเร็วๆ นะคะ หมายถึงว่าพอทราบว่าตั้งท้องก็รีบไปฝากท้อง แล้วคุณหมอก็จะตรวจกรุ๊ปเลือด ซึ่งเดี๋ยวนี้ถือว่าเป็นสิ่งปกติที่จะตรวจทั้ง ABO แล้วก็ RH ให้ด้วยเลยน่ะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : สมมติกรณีที่คุณแม่ที่มีกลุ่มเลือด RH- นะคะแต่ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ ปกติเนี่ยจะมีอันตรายกับตัวเองมั๊ยคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ไม่มีปัญหาอะไรค่ะ แต่ถ้าเผอิญมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับเลือดเนี่ยค่ะ อาจจะมีปัญหาในการหาเลือดกรุ๊ป RH-

คุณสรวงมณฑ์ : เอาล่ะค่ะ ท้ายสุดเลยคุณหมออยากจะฝากอะไรกับคุณผู้ฟังมั๊ยคะ ที่กำลังวิตกกังวลว่าอยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ เรื่องเหล่านี้เนี่ยจะดูแลหรือว่าจะให้คำแนะนำยังไงคะ?

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : คุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่นะคะ ก็อยากจะให้ไปฝากท้องนะคะ ถ้าทราบว่าหรือสงสัยว่าตัวเองจะตั้งครรภ์เนี่ย อยากจะให้ไปตรวจเลยนะคะเพราะว่ามีภาวะอย่างอื่นด้วยอีกหลายๆ อย่างที่คุณหมอสูติฯ เค้าจะดูแล และก็มีการตรวจคัดกรองอะไรให้ ตั้งแต่ที่เราไปฝากท้องตอนแรกๆ เลย และถ้าเราทราบว่ามีปัญหาอะไรอยู่เนี่ยมันก็จะมีการดูแลต่อเนื่อง แล้วก็อยากจะให้ฝากท้องที่ไหนก็ฝากท้องที่เดิมไปเรื่อยๆ เพื่อที่ประวัติ

คุณสรวงมณฑ์ : จะได้ยังอยู่ที่โรงพยาบาล

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ใช่ค่ะ แล้วก็เวลาเรากลับไปคลอด เราก็กลับไปคลอดที่โรงพยาบาลนั้นนะคะเพื่อที่คุณหมอสูติฯ เค้าก็จะทราบประวัติเรา แล้วก็จะส่งต่อให้กับคุณหมอเด็กได้อย่างเนี้ยค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : เอาล่ะค่ะ วันนี้ต้องขอบพระคุณคุณหมอมากนะคะ มาให้ความรู้กับเราในวันนี้ค่ะ

ผศ.พญ.โสภาพรรณ : ค่ะ ยินดีค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : สวัสดีค่ะ 

ความคิดเห็น