การให้นมแม่หลังอายุ 1 ปี

 

การให้นมแม่หลังอายุ 1  ปี

เขียนโดย พญ. ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล   
 

Question :  "ลูก สาวอายุ 1ปี ค่ะ หนัก 9.3 กิโลกรัม สูง 72 ซม. คุณหมอบอกว่าสูงน้อยไป ให้เลิกกินนมแม่ได้แล้ว เพราะ สารอาหารไม่ค่อยมี อยากทราบว่าหลัง 1 ปี ไม่ควรกินนมแม่แล้วหรือคะ”

 
Answer :  ประเด็นของปัญหาในรายนี้ คือ การที่เด็กตัวเล็กไม่สูง เกี่ยวกับการกินนมแม่หรือไม่ และ หลัง อายุ 1 ปีน้ำนมแม่ยังมีประโยชน์อยู่หรือไม่
      การเจริญเติบโตของเด็กขึ้นกับปัจจัยหลายประการ : ลักษณะทางพันธุกรรม โรคและภาวะแทรกซ้อนของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ อาหารในช่วงขวบปีแรก สุขภาพ และความเจ็บป่วย
      เป็นที่สังเกตกันมานานแล้วว่า ทารกที่กินนมแม่จะมีรูปร่างที่เพรียวปราดเปรียว น้ำหนักในช่วงหลังจาก 6 เดือนแรกจะขึ้นอย่างช้าๆ จึงทำให้ดูว่าตัวเล็กเมื่อเทียบกับกร๊าฟมาตรฐานการเจริญเติบโต จึงมีคำถามว่า
     “รูปแบบการเจริญเติบโตของทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว แตกต่างจากทารกที่กินนมผสมหรือไม่ อย่างไร?” เพราะ เส้นกร๊าฟมาตรฐานเดิมรวบรวมมาจากทารกที่กินนมผสมด้วย จึงทำให้ดูว่าทารกกินนมแม่ตัวเล็ก ทั้งๆที่อาจจะเป็นปกติของทารกที่กินนมแม่ก็ได้
         
       ข้อมูลจากการประชุมวิชาการนมแม่ครั้งที่ 2 โดย รศ. กุสุมา ชูศิลป์ อ้างถึงการศึกษาเปรียบเทียบเด็กไทย 2 กลุ่ม เมื่อปี 2548 จำนวน 156 รายติดตามจนครบ 12 เดือน 140 ราย เป็นทารกที่ได้รับนมแม่ 71 ราย และ ทารกที่ได้รับนมผสม 69 ราย น้ำหนักแรกเกิดเฉลี่ยไม่แตกต่างกันระหว่าง 2 กลุ่ม พบว่า เมื่ออายุ 1 ปี ภาวะโภชนาการของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน อัตราการเกิดภาวะขาดสารอาหารไม่ต่างกัน กลุ่มเด็กที่ได้รับอาหารเสริมไม่ถูกต้อง มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการขาดสารอาหาร 4.7 เท่า แต่พบว่ากลุ่มนมแม่มีเด็กอ้วน 1/71 ราย = 1.4% กลุ่มนมผสม 8/69 ราย=11.6
         สรุปว่าเด็กไทยที่ได้รับนมแม่หรือนมผสมมีการเจริญเติบโตในช่วง 6 เดือนแรกคล้ายกัน แต่หลังอายุ 6 เดือน ทารกนมผสมมีน้ำหนักมากกว่าทารกนมแม่ ทารกที่ได้รับนมแม่ สามารถเปรียบเทียบการ เจริญเติบโตกับมาตรฐานการเจริญเติบโตของไทยได้ 2
       
        ในเรื่องของความสูง มีการศึกษาของ Kramer3 และคณะ เมื่อ พ.ศ.2546 ในประเทศเบลาลูส จัดแบ่งเด็กที่อายุ 3 เดือนเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจำนวน 2,862 รายได้รับนมแม่อย่างเดียวเพียง 3 เดือน หลังจากนั้นให้อาหารอื่นๆ และกลุ่มที่ 2 จำนวน 621 ราย ได้รับนมแม่อย่างเดียวมากกว่าหรือเท่ากับ 6 เดือน ผลการศึกษาพบว่า ขณะที่ทารกมีอายุระหว่าง 3-6 เดือน และ ช่วงอายุ6-9 เดือน ทั้งสองกลุ่มมีอัตราการเพิ่มความยาวไม่แตกต่างกัน แต่ในช่วงอายุ 9-12 เดือนทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว 3 เดือน มีอัตราการเพิ่มความยาว 13.3  6.3 มิลลิเมตรต่อเดือน ในขณะที่กลุ่มทารกที่ได้นมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีอัตราการเพิ่มความยาว 14.2  6.8มิลลิเมตรต่อเดือน จะเห็นว่าอัตราการเพิ่มความสูงของเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ไม่ต่างจากกลุ่มที่กินนมแม่เพียง 3เดือน
         ในเดือนเมษายน ค.ศ.2006 WHO ได้ออก growth chart สำหรับทารกที่กินนมแม่โดยเฉพาะ (WHO Child Growth Standard)4 ( รูปที่ 1 และ 2 ) โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างทารกที่เลี้ยงด้วยน้ำนมแม่ใน 6 ประเทศ จาก 5 ทวีป คือ บราซิล กานา อินเดีย นอร์เวย์ โอมาน และ สหรัฐอเมริกา กลุ่ม ตัวอย่างมีความตั้งใจที่จะทำตามแนวปฏิบัติที่ดีในการเลี้ยงดูเด็ก และ แม่ไม่สูบบุหรี่ มีการดูแลสุขภาพอย่างดี ดังนั้น growth chart ใหม่นี้จึงอ้างอิงกลุ่มเด็กที่กินนมแม่เป็นหลัก และถือเป็นภาวะปกติของการเจริญเติบโต จากมาตรฐานชุดใหม่นี้ยืนยันว่า แบบแผนของน้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ไม่เหมือนกับเด็ก ที่เลี้ยงด้วยนมผสม และการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวใน 4-6 เดือนแรกไม่ได้ทำให้เด็กน้ำหนักน้อย แต่กลับมีน้ำหนักขึ้นได้ดีหรือดีกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสม 5
         ในเด็กที่อายุมากกว่า 1 ปี ต้องให้รับประทานอาหาร 3 มื้อเป็นหลัก ส่วนนมแม่เป็นเพียงอาหารเสริมเท่านั้น ถ้าเด็กได้รับอาหารหลักอย่างถูกต้อง จะมีการเจริญเติบโตได้ตามเกณฑ์
         น้ำนมแม่หลังอายุ 1 ปีมีประโยชน์หรือไม่ ?
         WHO และ UNICEF ประกาศเมื่อวันที่ 22 พย. ปี 2005 เรื่อง “ Innocenti Declaration 2005”6 เกี่ยวกับการส่งเสริม ปกป้อง และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดังนี้
“ …..วิสัยทัศน์ของเราคือสิ่งแวดล้อมที่พร้อมจะช่วยทำให้ แม่ ครอบครัว และผู้ดูแลเด็กกลุ่มอื่นๆ สามารถตัดสินใจเมื่อได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว เรื่องการให้อาหารที่เหมาะสมแก่เด็ก, ซึ่งคือการให้นมแม่อย่างเดียวล้วนใน 6 เดือนแรก ตามด้วยการเริ่มอาหารเสริมที่เหมาะสมกับวัย และยังคงให้นมแม่อย่างต่อเนื่องจนถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น…”
          คำกล่าวที่มักได้ยินกันเสมอๆโดยไม่มีหลักฐานอ้างอิงใดๆ คือ”นมแม่หลัง 6 เดือน หรือ 1 ปีไม่มีคุณค่าแล้ว” เมื่อถามกลับไปว่า ไม่มีคุณค่าได้อย่างไร ในเมื่อเต้านมก็เต้าเดิม อาหารที่แม่กินก็กินเหมือนเดิม น้ำนมที่กลั่นออกมาอยู่ๆเมื่อถึงเวลาดังกล่าวฉับพลันสารอาหารต่างๆพากันหด หายไปหมดหรือ ?
           สารอาหาร และ ภูมิคุ้มกันประเภทเซลล์ และ immunoglobulin ยังคงมีอยู่ในนมแม่เสมอแม้จะเข้าขวบปีที่สอง  มีหลักฐานยืนยันว่าทารกที่กินนมแม่เป็นระยะเวลานานจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น การติดเชื้อ Hemophilus influenza type B ซึ่งมีแนวโน้มพบในทารกที่กินนมผสมมากกว่า มีหลักฐานพบว่าการให้นมแม่เป็นเวลานานช่วยป้องกันเด็กเล็กจากโรคหูชั้นกลาง อักเสบเรื้อรัง
นอก จากนี้มีหลายรายงานแสดงถึงผลของการให้นมแม่นานต่อโรคเรื้อรังบางชนิด เช่น Shu et al พบว่าการให้นมแม่ลดโอกาสเสี่ยงต่อ childhood leukemia8 ยิ่งให้นานยิ่งเห็นความเกี่ยวเนื่องได้ชัดเจนขึ้น อีก 2 รายงาน9,10บ่งชี้คล้ายๆกันว่าการให้นมแม่มีผลต่อการป้องกันโรค lymphoma ในทารกที่ได้รับนมแม่เป็นเวลานานกว่า
           ข้อ สำคัญอีกเรื่องคือ การให้นมแม่กับการพัฒนาสมอง ผู้วิจัยหลายกลุ่มรวมทั้ง meta-analysis โดย Anderson J11 พบว่าทารกที่กินนมแม่มี higher level of cognitive achievement ในทุกๆอายุ และมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับระยะเวลาที่ให้นมแม่ด้วย คือยิ่งให้นานยิ่งเห็นได้ชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามผู้วิจัยบางท่าน12ก็กล่าวว่า อาจจะมีปัจจัยด้านพันธุกรรม และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นบทบาทที่สำคัญด้วย
           การให้นมแม่นานเกิน 12 เดือน ที่Denmark 13พบว่ามีผลลบต่อความยาวในวัยทารก( ความยาวน้อยกว่า 1 ซม) แต่ไม่มีผลต่อความสูงเมื่อเป็นผู้ใหญ่ อีกการศึกษาหนึ่งในเปรู14 ในเด็กที่กินนมแม่อายุ 12- 24 เดือนพบการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันขึ้นกับอาหารและการเกิดท้องเสีย ผู้วิจัยสรุปว่า ควรให้นมแม่นานเกิน 12 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กที่โภชนาการไม่ดีและมีโรคท้องร่วงที่รุนแรง ซึ่งในกลุ่มหลังนี้ทารกที่กินนมแม่จะช่วยเพิ่ม linear growth ทารกที่จะได้ประโยชน์มากขึ้นจากการให้นมแม่นานเกิน 12 เดือน คือกลุ่มที่เลี้ยงไม่โต และมีความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะดังการศึกษาหนึ่งในชุมชนชนบทของ Senegal15
       
 นอก จากประโยชน์ด้านพัฒนาการสมอง ร่างกาย และสุขภาพกายแล้ว การให้นมแม่ยังมีผลต่อความฉลาดทางอารมณ์ด้วย จากผลการวิจัยเพื่อศึกษาความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่โดย ดร. วีณา จีระแพทย์ และคณะ 16 พบว่า เด็กกลุ่มที่เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน มีคะแนนเฉลี่ยของความฉลาดทางอารมณ์โดยรวมและรายด้าน ( ด้านดี เก่ง และสุข) สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กกลุ่มที่เลี้ยงด้วยนมแม่ร่วม กับนมผสม และของกลุ่มเด็กที่เลี้ยงด้วยนมผสมร่วมกับอาหารเสริมอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติ และยังพบว่าระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวมีความเกี่ยวข้องกับ ความฉลาดทางอารมณ์ กล่าวคือกลุ่มที่ให้นมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน มีคะแนนเฉลี่ยของความฉลาดทางอารมณ์โดยรวม สูงกว่า ของกลุ่มที่ได้นมแม่อย่างเดียว 4 เดือนและ 1 เดือน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
        ในสังคมปัจจุบันอาจจะมองว่าการให้นมแม่เป็นระยะเวลานานไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่แนวโน้มแม่ที่มีการศึกษาสูง มีการงานที่ดี เลือกที่จะให้นมแม่กันมากขึ้นและ ให้นานขึ้น ถึงแม้จะต้องกลับไปทำงานก็ยังปั๊มนมแม่เก็บไว้ให้ลูก เราในฐานะที่เป็นบุคลากรด้านการแพทย์ควรจะหาความรู้เพื่อสนับสนุน ให้แม่กลุ่มนี้ได้ให้นมแม่ไปได้นานเท่าที่ต้องการ หรือ ถึงแม้ไม่สนับสนุน ก็ไม่ควรขัดขวางหรือพูดให้เสียกำลังใจ หรือให้คำแนะนำที่ผิด
     
การ แนะนำให้หยุดให้นมแม่นั้นทำได้ง่ายมาก ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที แต่การแนะนำเพื่อเริ่มให้นมแม่หรืออธิบายเพื่อให้แม่คงให้นมแม่ต่อไปนั้น ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่เป็นการใช้เวลาที่คุ้มค่าที่สุด เพราะ
          สิ่งที่แม่ลูกจะได้รับจากการให้นมแม่มิใช่เพียงแค่ การให้อาหารหรือภูมิคุ้มกันเท่านั้น แต่เป็นวิถีชีวิตและความผูกพันระหว่างแม่ลูกที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปตลอดชีวิต
เอกสารอ้างอิง

   1.
      Ruth A Lawrence, MD: Drug in breast milk. In Ruth A Lawrence: Breastfeeding A guide for medical profession, 4th edition 1994 . Mosby-Year Book Inc. St. Louis ,Missouri
   2.
      เอกสารประกอบการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 2 Mother support: going for the gold

วัน ที่ 6-8 สิงหาคม พ.ศ. 2551 : การเจริญเติบโตของทารกที่ได้นมแม่อย่างเดียว รศ. กุสุมา ชูศิลป์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หน้า 170-171

   3.
      Kramer MS , Guo T Platt, RW Shapiro , S collet JP,Chalmers B, Hodnett E ET al. Breastfeeding

and infant growth: Biology or Bias? Pediatrics. 2002; 110: 343-7

   4.
      WHO Multi center Growth Reference Study Group. Enrolment and baseline characteristics in the

WHO Multi center Growth Reference Study. Acta Paediatrica. 2006, suppl 450:7-15

   5.
      เอกสารประกอบการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 2 Mother support : going for the gold

วัน ที่ 6-8 สิงหาคม พ.ศ. 2551 : มาตรฐานสากลชุดใหม่สำหรับการเจริญเติบโตของเด็กทารกที่เลี้ยงด้วยน้ำนมแม่ : ต่างจากมาตรฐานสากลเดิมและมาตรฐานไทยอย่างไร ผศ.ดร. อุไรพร จิตต์แจ้ง สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล หน้า 162
6. Innocenti Declaration 2005 On Infannt and Young Child Feeding 22 November  2005 Florence Italy

   7.
      Goldman AS: Immunologic components in human milk during the second year of lactation. Acta Paediatr Scand 72 : 461-462, 1983
   8.
      Shu KO ,Linet MS, Steinbuch M , et al : Breastfeeding and risk of childhood acute leukemia. J Natl Cancer Inst 20:1765-1772,1999
   9.
      Davis MK : Review of the Evidence for an association between infant feeding and childhood cancer. International Journal of Cancer II: 29-33,1998
  10.
      Mathur GP,Gupta N, Mathur S, et al: Breastfeeding and childhood cancer. Indian Pediatr 30:651-657,1993
  11.
      Anderson J Johnstone B,Remley D : Breastfeeding and cognitive development: A meta-analysis. Am J Clin Nutr 70:525-535,1999
  12.
      Jacobson SW , Chiodo LM, Jacobson JL : Breastfeeding effects on intelligence quotients in 4 and 11-year-old children. Pediatrics 103:e7, 1999
  13.
      Michaelsen KF, Mortensen El, Reinish JM: Duration of breastfeeding and linear growth(abstract 015) . In Programs and Abstracts of the 9th International Conference of the International Society for Research in Human Milk and Lactation. Munich,Germany, Kloster Irsee, October,1999
  14.
      Marquis GS : Breastfeeding and stunting among toddlers in Peru (abstract 013). In Programs and Abstracts of the 9th International Conference of the International Society for research in Human Milk and Lactation. Munich,Germany, Kloster Irsee, October,1999
  15.
      Simondon KB , Simondon F ,Costes A , et al : Breastfeeding and growth in rural Senegalese toddlers (abstract 014) . In Programs and Abstracts of the 9th International Conference of the International Society for Research in Human Milk and Lactation. Munich,Germany, Kloster Irsee, October,1999
  16.
      เอกสารประกอบการประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติครั้งที่ 2 Mother support : going for the gold วันที่ 6-8 สิงหาคม 2551 : ความฉลาดทางอารมณ์ ของเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ ดร. วีณา จีระแพทย์ ณัฐธดา อนุกูล คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หน้า 194


ขอขอบคุณข้อมูลจากศุนย์นมแม่แห่งประเทศไทยค่ะ

ความคิดเห็น