วิธีเลือกนมให้ลูก เมื่อต้องการหยุดนมแม่

 วิธีเลือกนมให้ลูก เมื่อต้องการหยุดนมแม่


เขียนโดย พญ. สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ


ลูกสาวของดิฉันย่าง 8 เดือนแล้วค่ะ กำลังคิดจะให้แกดื่มนมผสม (ก่อนหน้านี้ทานนมแม่อย่างเดียวค่ะ) แต่ไม่แน่ใจว่าคุณสมบัติสำคัญหลักๆ ของนมกระป๋องที่จะนำมาผสมควรจะมีอะไรบ้าง อยากได้คำแนะนำเรื่องรายละเอียดของบรรดาสารอาหารต่างๆ และวิตามินที่เหมาะสมในการเลือกค่ะ


ก่อนที่หมอจะตอบว่า  ควรให้ลูกกินนมผงยี่ห้อไหน  คงต้องเรียนถามคุณแม่ก่อนว่า  เพราะอะไรจึงตัดสินใจจะให้ลูกกินนมผง  หลังจากได้ให้นมแม่มา 8 เดือน
ก.  คนรอบข้างบอกว่า นมแม่หมดประโยชน์แล้ว  น้ำหนักตัวลูกน้อย สงสัยว่านมแม่อาจไม่พอกับความต้องการของเด็กที่โตขึ้น
ข.  แม่ทำงานนอกบ้าน  ตอนนี้พยายามปั๊มนมอย่างสุดฤทธิ์  แต่ยังผลิตน้ำนมไม่พอกับความต้องการของลูก  นมที่สต๊อกไว้เริ่มร่อยหรอ
ค. แม่ให้นมและปั๊มนมมา 8 เดือนแล้ว  อยากมีชีวิตเป็นปกติ  ที่ไม่ต้องวุ่นวาย  แบกเครื่องปั๊มนม  ระวังเรื่องอาหารการกิน  ไอ้นั่นก็กินไม่ได้  ไอ้นี่ก็กินไม่ได้  ลูกแพ้นมวัว  แม่อดกินอาหารอร่อยๆ  ฮือๆ

คำตอบสำหรับ ข้อ ก.  นมแม่มีประโยชน์สำหรับเด็กทุกอายุ  หากให้นานจนฟันแท้มา  คือ อายุ 6-7 ปี  แม่และลูกจะได้ประโยชน์เต็มที่  หากให้น้อยกว่านั้น  จะได้ประโยชน์ลดหลั่นกันไป  งานวิจัยพบว่า

·  ยิ่งให้นมแม่นาน  ยิ่งมีประโยชน์ต่อแม่ลูกคู่นั้น  ช่วยลดความเสี่ยงหลายโรค  (ในลูก  อาทิเช่น เบาหวาน  หัวใจ  ไขมันในเลือด  อ้วน   มะเร็งต่อมน้ำเหลือง  ภูมิแพ้  โรค SIDS  ทางเดินปัสสาวะอักเสบ  ลำไส้อักเสบ  ในแม่ อาทิเช่น เบาหวาน  หัวใจ  ไขมันในเลือด  อ้วน  มะเร็งเต้านม  มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก  มะเร็งรังไข่  กระดูกพรุน  กระดูกหัก  ไขข้ออักเสบรูมาตอยด์  โรคซึมเศร้า)
·  เม็ดเลือดขาว  สารภูมิคุ้มกันในนมแม่จะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกป่วยบ่อย  จนกระทั่งร่างกายของลูกเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันได้เต็มที่ เมื่ออายุ 6-7 ปี  จึงทำให้เด็กที่กินนมแม่ป่วยน้อยกว่า
·  ลูกมีระดับสติปัญญามากขึ้นตามระยะเวลาที่ได้กินนมแม่  เนื่องจากได้รับสารบำรุงสมองต่อเนื่อง  จนสมองพัฒนาเต็มที่  เมื่ออายุ 6-7 ปี
·  ระดับสารอาหาร  สารภูมิคุ้มกัน ที่อยู่ในนมแม่  บางอย่างมากขึ้น  บางอย่างเท่าเดิม  ตราบจนถึงวันที่นมแม่หยุดไหล  ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานกี่ปีก็ตาม  โดยที่แม่ไม่ได้เป็นโรคขาดอาหารขั้นรุนแรง
·  เด็กเริ่มจำความได้เมื่ออายุ 4-5 ปี  หากได้กินนมแม่นาน  ลูกจะจำได้เองว่าแม่ทำอะไรเพื่อเขาบ้าง  แม่รักเขามากเพียงใด  โดยที่เราไม่ต้องบอก  เขาจะเป็นเด็กไม่ดื้อ (งานวิจัยพบว่า นมแม่ช่วยลดปัญหาเด็กดื้อ  เด็กมีปัญหา)

งานวิจัยเหล่านี้  เป็นการศึกษาเปรียบเทียบเด็กสองกลุ่ม คือ เด็กที่กินนมแม่  เทียบกับเด็กที่กินนมผงค่ะ  ในเมื่อข้อเท็จจริงพบว่า  นมแม่ช่วยลดความเสี่ยงตามข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น   เราอาจพูดอีกอย่างได้ว่า  การกินนมผงเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆเหล่านี้นั่นเอง   ดังนั้น ผู้ผลิตนมผง  จึงควรเขียนเตือนไว้ข้างกระป๋องนมตัวโตๆว่า (เหมือนกับการเขียนเตือนข้างซองบุหรี่  สุรา)
“ไม่เหมาะสำหรับเลี้ยงทารก  เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค  อ้วน  เบาหวาน  โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน  โรคไขมันในเลือดสูง  โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ฯลฯ  ในลูก  และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเต้านม  โรคกระดูกพรุน  ฯลฯ ในแม่   อาจทำให้ลูกสติปัญญาด้อยกว่าที่ควรจะเป็น  ระดับไอคิวลดลง 2-11 จุด  อาจทำให้ลูกป่วยบ่อย เนื่องจากไม่มีภูมิคุ้มกัน   อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกถูกกระทบกระเทือน    ดังนั้น  จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง  ควรใช้เมื่อจำเป็นจริงๆ   คิดให้ดีๆก่อนใช้  และต้องปรึกษาแพทย์  เพื่อพิจารณาหาวิธีเพิ่มน้ำนมคุณแม่ให้เต็มที่ก่อนที่จะตัดสินใจใช้นมผง”

                แต่ความเป็นจริงคือ  ในโลกของการค้าเสรี  และคนที่มีความรู้เรื่องนมแม่ยังมีอยู่น้อย  จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตนมผง  ในการให้ข้อมูลที่บิดเบือนแก่ผู้บริโภค  การโฆษณาในทีวี  นิตยสาร  คอลล์เซ็นเตอร์โทรหาคุณแม่อย่างไม่หยุดหย่อน  บอกให้เลิกนมแม่ได้แล้ว  ไม่มีประโยชน์แล้ว  และแนะนำให้กินนมยี่ห้อนี้  มีสารอาหารระดับพรีเมี่ยม  เป็นเอกสิทธิ์เฉพาะตัว  บลาๆๆๆ    การจัดอีเว้นท์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของเด็ก  ความฉลาดของเด็ก  เสริมศักยภาพนู่นนี่  ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อว่า  นมผงราคาแพงเหล่านี้  มีคุณภาพดีเทียบเท่ากับนมแม่  หรือ  ดีมากกว่านมแม่เสียอีก   ในฐานะที่เป็นแม่และเป็นหมอ  ได้แต่แอบหวังว่า  ในอนาคตจะมีผู้เห็นความสำคัญของสุขภาพเด็กอย่างแท้จริง  จะได้มีการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างจริงจังและควบคุมการทำการตลาดที่บิดเบือนอย่างรุนแรงของบริษัทนมผงเหล่านี้  ไม่ให้มากเกินไป
                ส่วนเรื่องน้ำหนักตัวขึ้นน้อย  ก่อนที่จะโทษว่าเป็นเพราะนมแม่ไม่พอ  ควรหาสาเหตุที่แท้จริง เช่น พ่อแม่อาจเป็นคนตัวเล็ก  ลูกอาจเป็นเด็กที่กินไม่เก่ง   ควรได้รับการประเมินว่านมแม่มีปริมาณน้อยจริงหรือไม่จากคลินิคนมแม่  หรือผู้เชี่ยวชาญ   ส่วนเรื่องคุณภาพของนมแม่  ไม่ต้องหวั่นไหว  คุณภาพดีตลอดอายุการใช้งาน  หากคุณแม่ไม่ได้เป็นโรคขาดสารอาหารขั้นรุนแรง
คำตอบสำหรับ ข้อ ข.  ถ้านมแม่เริ่มไม่พอ  วิธีการเพิ่มนมแม่ คือ การปั๊มให้บ่อยขึ้น  กินอาหารกระตุ้นน้ำนม  หาความรู้เพิ่มเติมจากเว็บนมแม่ (www.thaibreastfeeding.org , www.breastfeedingthai.com)   หรือ ปรึกษาคลินิกนมแม่
คำตอบสำหรับ ข้อ ค.  การให้นมแม่  สามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติค่ะ  เวลาแม่ป่วย หรือได้รับยาบางอย่าง  ส่วนใหญ่ให้นมได้  (หาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บนมแม่   แต่ผู้ไม่ทราบเรื่องนมแม่  มักจะห้ามนู่นนี่หลายอย่าง  จนทำให้คุณแม่ใช้ชีวิตลำบาก)   ยกเว้นแต่กรณีที่ลูกมีปัญหาแพ้อาหารหลายอย่าง  ที่ทำให้คุณแม่ต้องงดอาหารเหล่านั้นด้วย  แต่บางทีวิกฤตก็เป็นโอกาสค่ะ  เช่น  กรณีที่ลูกแพ้นมวัว  คุณแม่ต้องหยุดกินนมวัวและผลิตภัณฑ์นมวัว  ปรากฏว่า  คุณแม่มีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วย  เพราะที่จริงแล้ว  คุณแม่ก็เป็นโรคภูมิแพ้  ซึ่งก็แพ้นมวัวด้วยเหมือนกัน  แต่ที่ผ่านมาไม่ทราบ  ทำให้คุณแม่เป็นผื่นแพ้ หรือ เป็นหวัดบ่อย  หลังจากเลิกกินนมวัว  อาการผิดปกติของคุณแม่ก็ดีขึ้นด้วย  นอกจากนี้ยังทำให้คุณแม่ควบคุมน้ำหนักได้ด้วย  เพราะอาหารที่มีนมวัวเป็นส่วนประกอบ  ประเภทอร่อยๆทั้งหลาย เช่น ไอศกรีม  เค้ก  ชีส  ล้วนแต่เป็นอาหารเพิ่มน้ำหนัก หรือ ทำให้เป็นโรคอ้วนได้ง่าย  วิกฤตเป็นโอกาสอีกอย่าง คือ ทำให้คุณแม่สนใจหาความรู้เรื่องอาหารที่มีคุณภาพมากขึ้น  สนใจเรื่องความอร่อยถูกปากลิ้นน้อยลง  เพราะห่วงใยสุขภาพของลูก  ทำให้ดูแลเรื่องอาหารของตัวเองดีขึ้น  ไม่กินซี้ซั้วตามใจชอบเหมือนเดิม
                ส่วนเรื่องความยุ่งยากลำบากในการใช้ชีวิต เช่น การปั๊มนม  การถูกปลุกกลางดึกเวลาลูกกินนม (เด็กกินนมผง  ก็มีตื่นกลางดึกเหมือนกัน  แต่อาจไม่บ่อยเท่า)   เวลาท้อเวลาเหนื่อย   ให้คิดเสียว่า  ดีกว่าเหนื่อยเวลาลูกป่วยค่ะ  เพราะเวลาลูกป่วย  คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  อยากจะป่วยแทนลูก  (เพราะเห็นลูกทรมานเวลาไข้ขึ้น  ต้องโดนเจาะเลือด  ให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด  พ่นยาเคาะปอดดูดเสมหะ)   คุณแม่ทนเหนื่อยปั๊มนมให้นมลูกต่อไปอีกนานหน่อย  ส่วนคุณพ่อก็คอยให้กำลังใจคุณแม่  สู้ๆค่ะ  หมอเป็นกำลังใจให้

             
 ทีนี้เข้าเรื่องกันเสียที  เรื่องการเลือกชนิดของนมผงนะคะ

การเลือกนมผง

·   ถ้าลูกแพ้นมวัว  หมอแนะนำให้กินนมถั่วเหลือง  แต่บางคนแพ้นมถั่วเหลือง  ต้องใช้นมสูตรพิเศษ คือ นูตรามิเยน หรือ นีโอเคต (หาซื้อยาก  กินยาก  ราคาแพง)
·   ถ้าลูกไม่แพ้นมวัว  แต่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว  แนะนำให้กินนมวัวสูตรป้องกันภูมิแพ้  หรือ นมถั่วเหลือง หรือ นมสูตรพิเศษ  แต่ครอบครัวของหมอเป็นภูมิแพ้  ลูกและหลานเคยลองกินนมวัวสูตรป้องกันภูมิแพ้  พบว่าไม่เวิร์ค  ยังแพ้อยู่ดี  คนหนึ่งคันตาคัดจมูก  คนหนึ่งเป็นหอบหืด  คนหนึ่งเลือดกำเดาไหล  ต้องเปลี่ยนเป็นนมถั่วเหลืองจึงดีขึ้น
·   ถ้าไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว  และอยากให้ลูกกินนมวัวสูตรปกติ  ไม่ใช่สูตรป้องกันภูมิแพ้  เพราะเคยชิมดูพบว่าไม่อร่อย  กลัวลูกไม่ยอมกิน  กลัวลูกไม่อ้วน  หมอขอแนะนำว่า  ลองกินดูได้ค่ะ  แล้วคอยสังเกตอาการผิดปกติว่ามีหรือไม่ เช่น  นอนกรน  ขยี้ตา  ขยี้จมูก  หายใจเสียงดังครืดคราด  ผื่นคันตามหน้า แขนขา ลำตัว  ถ่ายเป็นมูกเลือด  ท้องผูก  อาเจียนแหวะนมบ่อย  ร้องโคลิก   ถ้ามีอาการเหล่านี้  อย่าลืมนึกถึงภาวะแพ้นมวัว  ให้ลองเปลี่ยนเป็นนมถั่วเหลือง หรือ นมสูตรพิเศษ  แล้วดีขึ้นหรือไม่  บางคนไม่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว  แต่เพราะคุณแม่กินนมวัวเพื่อบำรุงครรภ์ขณะตั้งครรภ์  จึงไปกระตุ้นให้ทารกมีอาการแพ้ได้
·   ถ้ากินนมผงวัวสูตรปกติแล้ว  ไม่มีอาการผิดปกติดังกล่าว  จำเป็นหรือไม่  ต้องกินนมผงราคาแพง  ที่โฆษณาว่าเติมดีเอชเอ  โคลีน  ทอรีน  พรีไบโอติก  คำตอบ คือ ไม่จำเป็นค่ะ  เพราะยังไม่มีผลงานวิจัยที่เชื่อถือได้ว่า  การเติมสารเหล่านี้ลงไปในนมผงจะเป็นประโยชน์มากขึ้นกว่านมผงที่ไม่ใส่  ให้เลือกนมผงที่มี อย. และระบุว่าใช้เลี้ยงทารกได้    ไม่จำเป็นต้องดูตัวเลขของวิตะมิน  เกลือแร่  สารต่างๆข้างกระป๋องเพื่อเปรียบเทียบว่า  ยี่ห้อไหนมากที่สุด มากที่สุด  ไม่ได้แปลว่า  ดีที่สุด หรือ แพงที่สุด คือ ดีที่สุด (เพราะราคาที่แพง เนื่องจาก เสียค่าประชาสัมพันธ์  ค่าการตลาด  โฆษณา)
·   หลังอายุ 1 ขวบ  อาหาร 5 หมู่เป็นอาหารหลัก  นมเป็นอาหารเสริมเพื่อรับแคลเซียม ให้กินนมกล่องได้เลย (หมอสนับสนุนนมถั่วเหลืองมากกว่านมวัว)  ไม่ต้องกินนมผงราคาแพง  เติมสารนู่นนี่ เพราะเป็นแค่จุดขายของผลิตภัณฑ์  ไม่ได้มีประโยชน์มากกว่าจริง   ไม่ต้องกินนมกล่องที่ทำมาจากนมผงเอามาละลายแล้วบรรจุกล่อง    ถ้าอยากได้ดีเอชเอ  ให้กินจากปลา  อโวคาโด  สาหร่าย  ถ้าอยากได้ธาตุเหล็กให้กินจากผักใบเขียว  ถ้าอยากได้พรีไบโอติกให้กินผักผลไม้เยอะๆ (ถ้าใครได้กินนมแม่มาก่อน  จะได้พรีไบโอติกสะสมมาเพียบ)
·   ถ้าลูกเป็นเด็กที่ไม่ยอมกินนมอื่น  นอกจากนมแม่  หากแม่ต้องหย่านมแม่  จะทำอย่างไรดี  คำตอบ คือ ไม่ต้องกินนมอะไรก็ได้ค่ะ  แค่กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงในปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน   ไม่ต้องกลัวลูกไม่สูงค่ะ  เพราะ  ช้าง  ยีราฟ  เมื่อเลิกกินนมแม่  ก็กินอาหารตามธรรมชาติ (real  food)  ไม่ได้กินนมวัว  นมถั่ว   ก็ไม่เห็นว่า จะตัวเตี้ยแต่อย่างใด


ขอขอบคุณ : ข้อมูลจากศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยค่ะ

ความคิดเห็น