การทำอัลตร้าซาวด์ในขณะตั้งครรภ์

 าวด์คนท้อง


อันเนื่องมาจากมีคุณแม่มาโพสท์ถามเรื่องการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงในขณะตั้งครรภ์ แต่ละโรงพยาบาลหรือคลินิกทำบ่อยแค่ไหน แตกต่างกันอย่างไร อย่ากระนั้นเลย วันนี้มาคุยกันเรื่องนี้ดีกว่าครับ

การตรวจด้วยคลื่น เสียงความถี่สูงขณะตั้งครรภ์ มีข้อแนะนำว่า ให้ทำ"เท่าที่จำเป็น"ครับ ไม่น่าจะขึ้นอยู่กับสถานบริการ(โรงพยาบาล หรือคลินิก) ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ทำมากกว่าว่า...จำเป็น...หรือไม่

คลื่นเสียงความถี่ สูงมีความปลอดภัยต่อทารกในครรภ์ครับ เพราะไม่มีการใช้รังสี และไม่เคยมีการศึกษาอะไรที่แสดงให้เห็นว่า ทารกที่อยู่ในครรภ์ซึ่งได้รับการทำการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงเกิดความ ผิดปกติใดๆ เท่าที่เคยมีการศึกษามา ก็มี"บาง"การศึกษาที่สงสัยว่า การทำอัลตร้าซาวด์"อาจจะ"ทำให้ทารกที่คลอดออกมาถนัดซ้ายมากขึ้น เรื่องนี้ไม่มีการยืนยันชัดเจนนะครับ แต่...แต่...(บอกแล้วผมเป็นพวกชอบแต่)ไม่ได้แปลว่า การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงขณะตั้งครรภ์ จะไม่มี Risk หรือความเสี่ยงเสียทีเดียว ทั้งนี้ความเสี่ยงที่ว่า เป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นทางทฤษฎีเท่านั้นนะครับ(ในทางปฏิบัติไม่เคยพบ) ขอยืนยันว่าไม่เคยมีรายงานอันตรายที่เกิดจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงแต่ อย่างใด แต่เนื่องจากการผ่านพลังงานคลื่นเสียง"อาจจะ"มีผลในทางทฤษฎีบางอย่างได้ คำแนะนำจึงให้ "ทำเท่าที่จำเป็น"

คราวนี้มาดู "ความจำเป็น" ของแพทย์ที่ทำดีกว่าครับ แพทย์ทำการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่ออะไรบ้าง
1. เพื่อดูอายุครรภ์
2. เพื่อตรวจดูความพิการแต่กำเนิดของทารก
3. เพื่อตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
4. เมื่อเกิดความผิดปกติ และแพทย์ใช้การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อหาสาเหตุ
5. เหตุผลอื่นๆ เช่น ต้องการดูเพศทารก


การทำอัลตร้าซาวด์เพื่อดูอายุครรภ์ 
ไม่ใช่เพื่อใช้แทนอายุครรภ์จากการคำนวณนะครับ หากจำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายได้ และประจำเดือนมาเป็นรอบๆที่สม่ำเสมอ(อาจคลาดเคลื่อนได้บ้างนิดหน่อย) อย่างนี้การคำนวณอายุครรภ์จะแม่นยำกว่าครับ ที่นี่ถ้าจะทำอัลตร้าซาวด์เพื่อดูอายุครรภ์ ทำเมื่อใดก็ได้ครับแต่...ความแม่นยำจะแตกต่างกันออกไปตามแต่ช่วงเวลาที่ทำครับ

การทำอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจดูความพิการแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ 
ส่วนใหญ่จะทำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 18 สัปดาห์ขึ้นไปครับ แต่มีการตรวจบางอย่างที่จะทำเร็วกว่านี้ เช่นการตรวจความหนาของผิวหนังระดับคอ(Nuchal thickness)จะทำเมื่ออายุครรภ์ประมาณ 12 สัปดาห์ครับ เป็นการตรวจคัดกรองกลุ่มอาการดาวน์(Down Syndrome)อย่างหนึ่งครับ

การทำอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจติดตามการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ จะทำเมื่อคิดว่าทารกตัวค่อนข้างเล็ก(ทราบอายุครรภ์แน่นอนแล้ว) หรือมีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น มีภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นโรคหัวใจ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตที่ผิดปกติได้ กรณีเหล่านี้แพทย์จะทำการตรวจมากกว่าหนึ่งครั้ง เพื่อที่จะได้เปรียเทียบการเจริญเติบโตหรือเอาค่าการเจริญเติบโตที่ได้ไป พล็อตกราฟแสดงการเจริญเติบโตครับการตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อหาสาเหตุของความ ผิดปกติ หมายถึงมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น แพทย์จึงใช้อัลตร้าซาวด์เพื่อประกอบการวินิจฉัย ที่เจอบ่อยๆก็...เช่น มีเลือดออกผิดปกติขณะตั้งครรภ์ ถ้าอายุครรภ์น้อยๆ แพทย์ก็จะกังวลว่าเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก ท้องลม หรือทารกเสียชีวิตแล้วกำลังจะแท้ง ถ้าอายุครรภ์มากมากหน่อยก็จะสงสัยเรื่องรกเกาะต่ำ หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด กรณีเหล่านี้จะทำเมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติครับ ถ้าไม่มีก็ไม่จำเป็นต้องทำ

ส่วนสาเหตุอื่นๆ เช่น ทำอัลตร้าซาวด์เพื่อดูเพศทารก เรื่องนี้แปลกมากครับ เพราะส่วนใหญ่คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เข้าใจว่าการทำอัลตร้าซาวด์ทำเพื่อดูเพศให้เท่านั้น เวลาไปบอกคุณแม่ว่าจะขอทำอัลตร้าซาวด์ บางคนจะบอกว่าไม่ทำเพราะไม่อยากทราบเพศ (อึมมมม...อึ้งไปเหมือนกันครับ)  หรือบางท่านก็มาขอทำเพื่อดูเพศลูก เรื่องนี้ก็แล้วแต่ครับ การทำเพื่อดูเพศทารกในครรภ์เป็นเรื่องที่มีทั้งข้อดีและข้อไม่ดีครับ ถ้าจะทำส่วนใหญ่ก็จะต้องอายุครรภ์ 16-18สัปดาห์ขึ้นไปครับ ทั้งนี้นอกจากขึ้นอยู่กับอายุครรภ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้ทำ ความละเอียดของเครื่อง และท่าของทารก บางรายแพทย์ที่ชำนาญบางท่านเห็นเพศทารกตั้งแต่อายุครรภ์น้อยกว่า 16 สัปดาห์ก็มีครับ

ในปัจจุบันมีเทคโนโลยี่การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง แบบ 3 มิติ และ 4 มิติ(ทำเป็นภาพเคลื่อนไหวจากภาพ 3 มิติที่สร้างขึ้น) ความนิยมในการตรวจด้วยวิธีใหม่มีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะคนทั่วไปดูรู้เรื่องกว่าการทำอัลตร้าซาวด์แบบเก่าซึ่งเห็นเป็นภาพตัด ขวาง มีแต่แพทย์เท่านั้นที่ดูรู้เรื่อง ความนิยมการทำอัลตร้าซาวด์ 3 มิตินี้มากจนกลายเป็น Entertaining ultrasound ไปแล้ว กล่าวคือ ถ้าคุณพ่อคุณแม่อยากดูหน้าลูก ก็มาขอหมอตรวจ บางคนก็ให้เหตุผลว่ามีข้อดีคือทำให้เกิด Bonding(ความผูกพันธ์)ตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์
หวังว่าคงทำให้คุณแม่ทั้งหลายมีความเข้าใจกับเครื่องมือนี้มากยิ่งขึ้นนะครับ

ที่มา : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=naughtydoc&group=2

ความคิดเห็น