[บทความ] บทความสั้นๆ ดีๆ สำหรับสอนลูก


 พอดีเจอมาจากพันทิป เจ้าของบทความใช้ชื่อว่า “พ่อน้องอี๊ฟ”

อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นบทความที่ดี เลยอยากเอามาเก็บรวบรวมเอาไว้เผื่อเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ด้วย

สอนลูกให้กตัญญู


เสาร์อาทิตย์ หรือวันหยุดหลายวันติดต่อกัน พวกเราจะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ และเป็นการสอนเด็กไปด้วยในตัวกันดี
ผมเสนอให้พาลูกๆ ไปเยี่ยม ปู่ ย่า ตา ยาย อย่าไปมือเปล่าครับ ซื้อของติดไม้ติดมือไปด้วย ไม่จำเป็นต้องราคาแพง อาจเป็นผลไม้ตามฤดูกาลที่ท่านชอบก็ได้ เวลาไปซื้อควรพาลูกไปเลือกซื้อด้วย แล้วก็บอกว่าจะซื้อไปฝากย่า คุณย่าชอบทานองุ่น แล้วก็ให้ลูกเป็นคนถือของเข้าไปให้คุณย่าด้วยตัวเอง เค้าจะจดจำได้แม่นมาก
ของฝากที่นำไปฝากญาติผู้ใหญ่ ไม่มีค่ามากมายหรอกครับ แต่มันมีความหมายทางด้านจิตใจ องุ่นโลครึ่งโล ท่านหาซื้อทานเองได้ครับ แต่ความสุขใจที่ลูกหลานเอามาฝากนี่ซิ มันชุ่มชื่นหัวใจอย่างล้นเหลือ บางทีเอาไปคุยตั้งแต่ปากซอยยันท้ายซอย ว่าลูกหลานซื้อมากฝาก

มาดูข้อดีกันว่าได้อะไรบ้างจากการใช้วันหยุดไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่
1.ทำให้ญาติผู้ใหญ่มีความสุข เห็นความสำคัญของตนเอง ว่าลูกหลานยังรักและห่วงใย ความสุขนี่เอง ที่ทำให้สุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว
2.เราเองได้แสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งทำให้เรามีความสุขและอิ่มเอมใจ
3.เป็นการสอนให้ลูกเห็นถึงความกตัญญู ด้วยการกระทำร่วมกับเค้า เป็นการสอนที่ฝังใจเค้าไปจนโต และแน่นอน เมื่อคุณแก่ตัวลง ลูกคุณก็จะพาหลานซื้อของมาเยี่ยมคุณเช่นกัน
ยัง ยังไม่หมด เพราะต่อไปหลานคุณก็จะพาเหลนมาเยี่ยมคุณหรือลูกคุณต่อไปเรื่อยๆ อีกหลายชั่วอายุคนเลยทีเดียว
เห็นมั้ยครับว่า มันเป็นการกระทำที่สำคัญและยิ่งใหญ่ขนาดไหน รีบทำตั้งแต่บัดนี้เถอะครับ ไม่เช่นนั้นอย่าหวังเลยว่าลูกคุณจะมาเยี่ยมคุณตอนแก่ตัว

สอนลูกผิดๆโดยไม่รู้ตัว

- เวลาดินสอ ยางลบ กระดาษหมด บอกลูกว่าไม่เป็นไร ที่ทำงานแม่(หรือพ่อ) มีเยอะเดี๋ยวเอามาให้ แล้วก็ทำจริงๆ ขนเอาของทางราชการหรือของที่ทำงานมาให้ลูกใช้
- การนำสิ่งของซึ่งไม่ใช่ของตัวเองกลับมาไว้ที่บ้าน เพื่อให้คนในบ้านใช้
- เอางานของลูกหรือของคนอื่นมาพิมพ์ (ปริ๊นส์) ที่ทำงาน แล้วก็กลับไปเล่าว่าที่ทำงานกระดาษเยอะ หมึกก็ฟรี ค่าไฟก็ไม่ต้องเสีย

การกระทำดังกล่าว เป็นการสอนลูกด้วยการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งลูกจะจดจำได้อย่างแม่นยำ โดยที่เราไม่ต้องพร่ำสอน แต่น่าเสียดายมันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีเอาเสียเลย มันเป็นการสอนให้ลูกเข้าใจเองว่า เราสามารถที่จะฉกฉวยของใครก็ได้ถ้ามีโอกาส โดยเฉพาะของส่วนรวม เพราะของส่วนรวมนั้นมันมีลักษณะพิเศษคือ หลายคนมีสิทธิร่วมกันในการใช้ ต่าง คนต่างใช้ แต่ไม่ค่อยมีใครรักษา ไอ้ตรงไม่ค่อยมีใครรักษานี่แหละที่เปิดโอกาสให้คนบางคนเอาเปรียบด้วยการฉก ฉวยเอาไปเป็นของส่วนตัว
เมื่อลูกเห็นบ่อยๆ และเข้าใจเองว่าสามารถกระทำได้ โดยไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งผิด สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆซึมซับเข้าไปในจิตสำนึกของลูก เมื่อโตขึ้นลูกก็จะทำตาม และที่น่าคิดต่อไปคือ ลูกก็จะทำในสิ่งที่ผิดๆแล้วสอนหลานต่อไปเป็นทอดๆ ว่าสามารถกระทำได้ โดยอาจไม่ทันสำนึกรู้ด้วยว่าที่ทำไปนั้น “ไม่ถูกต้อง”
ช่วยกันตัดวงจรไม่ดีนี้กันเถอะครับ อย่าให้มันถ่ายทอดไปยังรุ่นลูก รุ่นหลาน ของเราเลย

สอนให้ลูกโกง

เวลาเราพาเด็กๆไปเที่ยวสวนสนุก ซึ่งส่วนใหญ่จะมีแป้นวัดความสูงเวลาเข้า เพื่อดูว่าจะต้องเสียค่าบัตรผ่านประต ูในราคาผู้ใหญ่หรือราคาเด็ก อาจมีการกำหนดความสูงที่ 120 ซม. หากต่ำกว่าก็เสียค่าบัตรผ่านในราคาเด็ก ซึ่งมักจะถูกกว่าราคาผู้ใหญ่มาก อาจด้วยความตระหนี่หรือต้องการประหยัด บางคนอาจบอกให้ลูกยืนย่อตัวหน่อย งอเข่านิดๆ เพื่อให้ต่ำกว่าเกณฑ์ บางแห่งอาจวัดที่อายุ เช่น ไม่เกิน 12 ขวบ เด็กบางคนก็เลยถูกผู้ใหญ่แนะนำว่า
“เวลาเค้าถามอายุให้บอกว่า 11 ขวบ รู้มั้ย เราจะได้เสียค่าบัตรผ่านประตูในราคาถูก เจ้าหน้าที่เค้าไม่รู้หรอก เพราะเรายังไม่มีบัตรประชาชน” เอาหละพอผ่านประตูเข้าไปได้ด้วยราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง (ด้วยวิธีการที่ไม่ค่อยจะถูกต้อง) คราวนี้ก็จะตระเวนหาเครื่องเล่น ยิ่งถ้าเป็นการซื้อบัตรแบบเหมาจ่ายครั้งเดียวด้วยแล้ว เด็กๆยิ่งชอบเพราะจะสามารถเล่นได้ทุกชนิด โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
พอมาเจอเครื่องเล่นที่กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ ห้ามเล่น (เป็นการป้องกันอันตรายของเด็ก) ผู้ปกครองบางคนก็แนะนำเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ขวบ ว่า “ถ้าเค้าถามว่าอายุเท่าไหร่ให้บอกว่า 13 ขวบ นะ เค้าจะได้อนุญาตให้เล่น” แต่ถ้าเจอเครื่องเล่นที่กำหนดส่วนสูงไว้ว่า “ห้ามต่ำกว่า 120 ซม.” ผู้ปกครองบางคนก็แนะนำเด็กว่า “เวลายืนวัดให้เขย่งปลายเท้าหน่อย ไม่งั้นเดี๋ยวไม่ผ่าน อดเล่นนะ”

ถ้าผมเป็นเด็กก็คงจะงงมาก ไม่แน่ใจในตัวเอง เด็กคงคิดว่า ตกลงแล้วเราอายุเท่าไหร่ว่ะ ความสูงก็ผันแปรไปต่างเหตุการณ์ได้ด้วย มันเหมือนการสอนให้เด็กโกงไปในตัว อย่าทำให้เด็กคิดและจดจำว่า
“ทำอย่างไรก็ได้ที่เราได้รับประโยชน์ จะถูกต้องหรือขัดกับระเบียบ กฎเกณฑ์ อย่างไรไม่สำคัญ”

สอนลูกให้โกหก

เมื่อวานเขียนเรื่องสอนลูกผิดๆโดยไม่รู้ตัว ชาวคณะสนใจอยู่หลายคนเหมือนกัน วันนี้มีเวลาเลยแถมให้อีกเรื่องครับ
ผมเพิ่งเข้ามาใหม่เลยไม่ได้สมัครสมาชิกครับ ขอโทษด้วย

เคยเป็นกันมั้ยครับ เวลาคุยโทรศัพท์แล้วเผลอพูดโกหกให้ลูกได้ยินโดยไม่รู้ตัว

เช่น กำลังขับรถพาลูกไปเที่ยว แล้วพอดีโทรศัพท์ดัง มีคนโทรตามแล้วเราก็พูดตอบไปว่า
“ผมกำลังประชุมอยู่”
“อ๋อ ผมอยู่ที่ทำงาน”
“วันนี้ไม่ค่อยสบาย อยากพักผ่อนอยู่บ้าน”
“แฟนผมป่วย ต้องเฝ้าไข้ที่โรงพยาบาล”
ฯลฯ

หรือที่ยิ่งไปกว่านั้นคือสอนให้ลูกโกหกแก้ตัวให้ตนเอง เช่น อยู่บ้านกับลูก แล้วโทรศัพท์ดังขึ้น ซึ่งเรารู้ว่าจะมีคนโทรมาหา แต่เราก็ไม่อยากคุยด้วย เลยกำชับลูกว่า
“ ถ้าเป็นเสียงผู้หญิงโทรมาให้บอกว่าพ่อไม่อยู่บ้านนะ”

สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ลูกเห็นว่า การโกหกสามารถทำได้ ไม่ใช่ความผิดอะไรใหญ่โต
เหมือนกับการบันทึกข้อมูลในหัวลูกซ้ำๆ ว่า “โกหกได้ไม่เป็นไร” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย ผมขอแนะนำว่า คราวต่อไป
“อย่าทำสิ่งที่ไม่ดีให้ลูกเห็นและ ถ้าเป็นไปได้อย่าทำเลยจะดีกว่า”

ความคิดเห็น