“พูดจาภาษาเด็ก” (พ่อแม่ทุกคนควรอ่าน)

 

“พูดจาภาษาเด็ก”  (พ่อแม่ทุกคนควรอ่าน)

เรื่องที่ 1 : “คำมั่นสัญญา” เสียงกรีดร้องของเด็กที่ได้รับการขัดใจ กลางศูนย์การค้าใหญ่แห่งนั้น
เรียกร้องความสนใจมิใช่น้อยจากผู้คนคับคั่งของบ่ายนั้น

เจ้าของเสียงเป็นด.ช.วัยไม่เกิน6ขวบ ร่างกลมป้อม ผิวขาว ผมหยักสลวย
ขณะนั้น..แกสลัดมือจากผู้ปกครองลงดิ้นปั่ดๆกับพื้นร้องไห้โฮๆ อย่างไม่อายใคร ต่อด้วยคำรำพัน

“คนอะไร!พูดแล้วไม่ทำตามสัญญา”
“เอาเถอะ…เอาเถอะ…แล้วสิ้นเดือนจะซื้อให้”
ผู้หญิงซึ่งคงเป็นมารดา ก้มลงฉุดด้วย คงจะอายต่อสายตา
ซึ่งจับจ้องมาเป็นจุดเดียวเต็มทีแล้ว

แต่พอได้ยินประโยคนั้น พ่อเทวดาน้อยยิ่งแผลงฤทธิ์ ตะเบงขึ้นสุดเสียง
“ไม่เชื่อ…เดี๋ยวแม่ก็หลอกเค้าอีก บอกอย่างนี้มาตั้งหลายหนแล้ว
คนอะไร พูดแล้วก็ไม่ทำตามที่พูด คนโกหก!”

ผู้เป็นพ่อควักผ้าเช็ดหน้าออกมาซับเหงื่อขณะที่เหลียวมองรอบๆด้วยสีหน้าเจื่อนๆ
สุดท้ายก็ตัดสินใจก้มลงคว้าลูกขึ้นมา เดินลิ่วๆออกประตูไป
มองเห็นแขนขาของพ่อหนูกวัดไกวอย่างไม่ยอมแพ้
จนลับตาและเสียงตะโกน
“คนโกหก คนไม่ทำตามคำพูด”

ใครๆ ที่พบเห็นเหตุการณ์บ่ายนั้นต่างพากันหัวเราะขบขัน
ปัญหา ลูกแผลงฤทธิ์จะเอาโน่น เอานี่มีอยู่เสมอจนดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญไปเสียแล้ว แต่เราเคยคิดกันว้างหรือเปล่าว่าเบื้องหลังคำรำพึงรำพันว่า”คนโกหก…พูดไม่ จริง…ไม่ทำตามสัญญา”นั้นมีใครเคยไปสัญญาอะไรไว้กับแกบ้าง

มีบ้างไหม ที่ลูกๆทะเลาะกันแย่งของกัน คุณแก้ปัญหาไม่ตกก็เลยตัดสินด้วยประโยคที่ว่า
“ให้น้องไปก่อน แล้วแม่จะซื้อให้ใหม่”
มีบ้างไหมที่ลูกรบเร้า จะไปโน่น ไปนี่จนคุณรำคาญ ก็เลยสัญญาส่งๆ พอให้แกเลิกมายุ่งกับคุณว่า…
“สิ้นเดือนจะพาไป”

มีบ้างไหม …ที่คุณสัญญากับแก เพียงให้พ้นจากภาวะเฉพาะหน้าด้วยถ้อยคำลักษณะดังนี้
“ให้งานเสร็จก่อน”
“พรุ่งนี้จะพาไป”
“วันหลังจะซื้อให้”
“ไว้อีกหน่อยก่อน”
ฯลฯ

เด็กส่วนมาก ยึดถือคำมั่นสัญญาที่พ่อแม่ให้กับแกอย่างเหนียวแน่น
แกไม่เคยเข้าใจหรอกว่า”วันหลัง”หรือ”อีกหน่อย”ที่คุณสัญญากับแกนั้น
มีระยะเวลาเนิ่นนานสักเพียงไหน

ในขณะที่ “วันหลัง” ของผู้เป็นพ่อแม่ อาจหมายถึงระยะเวลาที่พอจะซื้อข้าวของนั้นๆให้แกได้โดยที่ตัวเองไม่เดือดร้อน
แต่สำหรับลูกๆแล้ว”วันหลัง”ของแกก็คือ เวลาใดก็ได้ที่ไปเจอะเจอสิ่งของนั้นๆเข้า

หรือคำผลัดผ่อนของคุณที่ว่า”ให้งานเสร็จ”
ทันทีที่คุณวางดินสอจากเส้นสายบนกระดาษที่โต๊ะเขียนแบบ
แกก็คิดว่าถึงเวลาที่คุณควรจะพาแกไปเที่ยวได้แล้ว
แกยังไม่รู้จักขั้นตอนของงานว่า กว่าจะเรียบร้อยลุล่วงไปโครงการหนึ่งๆนั้น
จะต้องผ่านการตรวจ…การแก้ กี่ครั้งกี่หน

ความรู้สึกนึกคิดของผู้ใหญ่และเด็กไม่เท่าเทียมกัน ถ้าไม่แน่ใจว่า
จะสามารถทำอะไรได้ในช่วงเวลาอันจำกัด ก็จงอย่าไปใ้คำมั่นสัญญากับแกเป็นอันขาดว่า
“พรุ่งนี้จะซื้อให้”
“งานเสร็จจะพาไป”
“อีกหน่อย…”
หรือถ้าจะสัญญากับแก คุณก็จะต้องอธิบายให้แกเข้าใจถึงระยะเวลาดังกล่าวโดยถี่ถ้วน
เพื่อให้แกตรึกตรองเอาเองว่าแกจะสามารถรอคอยเวลานั้นๆได้หรือไม่

คำสัญญาที่ให้แก่เด็ก เพียงเพื่อให้พ้นจากปัญหาเฉพาะหน้าชั่วครั้งชั่วคราว
โดยคุณไม่ได้คิดที่จะปฏิบัติตามนั้น จะทำให้คุณไม่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากแกอีกต่อไป
คิดดูเถิดว่า คุณจะต้องสะเทือนใจเพียงไร เมื่อได้ยินแกตะคอกใส่ว่า
“คนโกหก พูดแล้วไม่ทำตามสัญญา!”


เรื่องที่ 2 : “แม่ปูลูกปู”พ่อเบรครถกึกจนบอยหัวทิ่ม ถ้าไม่จับพนักไว้ทันก็คงได้หัวโนหรือปากเจ่อกันบ้าง
อารมณ์ของพ่อเดือดปุด แต่ยังไม่ทันจะอ้าปาก
บอยซึ่งยืดคอขึ้นมองตามสาวน้อยวัยรุ่น 2 คนเพิ่งจะเดินนวยนาดตัดหน้ารถไปอย่างทองไม่รู้ร้อน
และหัวร่อต่อกระซิกกันราวกับเดินอย่างถูกต้องบนทางม้าลาย ก็โผล่หน้าออกไปตะโกนสุดเสียง
“โธ่…อีหนู! เดี๋ยวก็ไม่ได้มีผัวหรอก!”

ทำให้พ่อสะดุ้งเฮือก ผรุสวาจาเผ็ดร้อนอยู่เพียงริมฝีปาก
มองดูบุตรชายวัยเพียง 5 ขวบ
ยังเรียนอยู่ชั้นอนุบาลด้วยซ้ำไป
แล้วก็ถามซ้ำอย่างไม่แน่ใจนัก
“บอยว่าอะไรนะ?”

พ่อหนูเอ่ยซ้ำด้วยน้ำเสียงใสไร้เดียงสา
ดูหน้าตาของแกแทบไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าแกเข้าใจประโยคที่เอ่ยออกมาทุกถ้อยกระทงความ
“บอยช่วยว่าให้พ่อไง เห็นพ่อว่าอย่างงี้ทุกที เวลาพ่อโกรธ”

แววตาบริสุทธิ์นั้นทำให้พ่อดุแกไม่ลง
นิ่งอยู่ซักพักก่อนที่จะออกรถไปอย่างระมัดระวัง
ระวังทั้งการขับรถและระวังทั้งคำพูดวาจา
ซึ่งมักหลุดออกไปโดยลืมคิดถึงผู้นั่งอยู่ด้วย
เขาผู้นั้นอายุเพียง 5 ขวบ
กำลังพร้อมที่จะรับฟัง และจดจำทุกสิ่งทุกอย่างจากผู้ที่อยู่ใกล้
ทุกสิ่งทุกอย่าง ที่แกนึกว่าเป็นสิ่งงที่ถูกต้องดีงาม
แกยังไม่รู้จักตริตรองหรอกว่า คำไหนพ่อพูดได้
แต่แกพูดแล้ว จะเป็นสิ่งที่ไม่สมควรไป…

อีกรายหนึ่ง แม่เพิ่งรับลูกกลับจากร.ร.ด้วยความอ่อนระโหยเป็นพิเศษ
วันนี้งานเยอะ จนแม่แทบไม่ได้เงยจากโต๊ะทำงาน
กว่าจะขับรถฝ่าการจราจรที่ติดขัดเช่นเคยทุกวัน
กว่าจะค้าหาลูกสาวจากกลุ่มเพื่อนๆกลางสนาม
และกว่าจะพารถค่อยๆเคลื่อนไปตามถนนด้วยเกียร์ 1 2สลับกันอยู่แค่นั้น
แม่ก็เหงื่อตก หน้าซีดเซียว จนแม่หนูวัย 7 ขวบต้องถามขึ้น

“แม่เป็นอะไรจ๊ะ”
“แม่เหนื่อยจังเลยวันนี้ ปวดหัวด้วย ต้องขับรถระวังๆหน่อย”
“โอ๋..ไม่เป็นไรหรอกจ้ะ” แกปลอบผู้เป็นมารดา
“แม่ขับรถไปเรื่อยๆนะจ๊ะ ถ้าใครมันบีบแตร หรือว่าอะไรแม่ก็อย่าไปฟัง หนูจะด่าให้เอง”

แม่ชงัก เกือบจะหายจากความป่วยไข้ในทันที พึมพำอย่างงงๆ
“ด่าเหรอคะ”
“ไอ้บ้า บีบอยู่ได้ เก่งจริงก็แซงขึ้นไปซีวะ จะรีบไปหาพ่อหาแม่ก็ไป
เดี๋ยวจะตายซะก่อนหรอก”

แม่หนูเอ่ยฉาดฉานเพื่อยืนยันความมั่นใจให้แม่
หน้าของผู้เป็นมารดาเจื่อนลงทุกที ก็มันคำพูดของแม่ทั้งนั้นนี่นา
ตั้งแต่เริ่มขับรถ แม่ก็เริ่มปากจัดโดยอัติโนมัติ
และก็มักจะลืมไปทุกทีว่ามีลูกสาวน้อยนั่งอยู่ด้วยข้างหลัง
แกกำลังอยู่ในวัยสังเกตจดจำทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในสายตาของแก

“หนูอย่าพูดอย่างนั้นอีกนะคะ มันไม่น่าฟังเลย”
แม่เตือน ดวงหน้าของลูกสาวปรากฏความพิศวง แม้ว่าแกจะไม่ปริปาก
แต่ว่าสายตาของแกก็สงสัยอยู่ชัดๆว่า
“ทำไมแม่พูดได้ แต่หนูพูดไม่ได้”

อีกมุมหนึ่ง ผู้ปกครองซึ่งอาจจะเป็นมารดา หรือป้า หรือน้า
กำลังละล้าละหลังจูงเด็กข้ามถนน
รถยนต์เลี้ยวหัวมุมมาโดยเร็ว
และก็เบรคเสียงสนั่นห่างทางม้าลายเพียงคืบเดียว
จะด้วยความโกรธ หรือตกใจก็ตามแต่
คำด่ายาวเหยียดก็หลุดออกมาโดยไม่ได้คิดถึงพ่อหนูแม่หนูที่กำลังจูงอยู่

แน่ละ…ถ้อยคำที่หลุดออกมาโดยมิได้กลั่นกรองเหล่านี้ถูกบันทึกเอาไว้แล้ว
เท่าที่แกจะจดจำได้ และเมื่อไหร่ที่สบโอกาส แกก็จะนำเอามาใช้อย่างเหมาะสม อย่างไม่น่าเชื่อ

ก็เมื่อแม่ปูเดินส่ายไปมาไม่ตรงทาง
แล้วจะบังคับลูกปูเดินถูกทิศทางได้อย่างไร
เด็กๆในวัยนี้นิยมชื่นชมพ่อของแกว่าเป็นวีรบุรุษ
และแม่ก็คือวีรสตรีคนเดียวในความรู้สึกของแก
ฉะนั้น…พึงระลึกไว้ตลอดเวลาว่า …
ไม่อยากให้ลูกเป็นอย่างไร ก็อย่าทำสิ่งนั้นให้แกเห็นเลย

ความคิดเห็น