[บทความ] “เล่นกับลูก” ไม่ใช่แค่เรื่องเล่น ๆ สำหรับเด็ก

 

“เล่นกับลูก”ไม่ใช่แค่เรื่องเล่นๆสำหรับเด็ก /ดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    2 เมษายน 2552 08:42 น.
   


       เด็ก ๆ ในวัยแรกเกิด ถึง 10 ขวบนับเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดในชีวิต เนื่องจากเซลล์สมองมีการเจริญเติบโตเต็มที่และรวดเร็ว ธรรมชาติของเด็กในวัยนี้จะเรียนรู้ผ่านการเล่นจากอุปกรณ์ที่เป็นรูปธรรมคือ สิ่งที่จับต้องได้ ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการนำไปสู่การเรียนรู้ในขั้นสูงต่อไป
       
       กิจกรรมการเล่นกับลูกวัยทารก
       
       * ร้องเพลงกับลูกโดยการโยกตัวเด็กไปมาให้เข้ากับทำนองเพลง โดยเพลงที่เหมาะสมกับเด็กวัยทารกก็คือ เพลงที่มีทำนองอ่อนโยน
       * ท่องคำคล้องจองพร้อมกับจับนิ้วมือและนิ้วเท้าของเด็กให้ขยับไปมาเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก
       * แขวนโมบายที่มีเสียงในบริเวณที่ลูกมองเห็นเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อสายตาและการฟังเสียง
       * หาหนังสือที่มีลายเส้นชัดเจนให้เด็ก ๆ ดู เด็กในวัยนี้ชอบสีดำ สีขาวและสีแดง
       * ให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสสิ่งของหรือรูปทรงต่างๆที่มีพื้นผิวแตกต่างกัน เช่น สำลี ผ้า กระดาษทราย เป็นต้น
       * จัดหาเครื่องเขย่าที่ไม่อันตรายวางไว้ใกล้ตัวเด็ก
       * หารูปภาพสัตว์ ต้นไม้ ผลไม้ ภาพพ่อ แม่และผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็กให้เด็กดู
       * อ่านหนังสือที่มีภาพประกอบให้เด็กๆฟัง โดยขณะที่เล่าให้เด็กๆได้ดูรูปภาพไปด้วย
       * พูดคุยกับลูกเสมอๆ และให้ลูกได้สังเกตดูริมฝีปาก เพื่อพัฒนาการด้านภาษา
       * วางผ้าห่มไว้ที่พื้นเพื่อให้ลูกกลิ้งไปมา
       * ระวังอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กซึ่งอาจติดคอเด็กได้ เพราะเด็กวัยนี้ชอบในสิ่งของเข้าปาก
       * ควรล้างและทำความสะอาดอุปกรณ์ของเล่นของเด็กให้สะอาดอยู่เสมอ
       
       กิจกรรมการเล่นกับลูกวัยคลาน
       
       • เล่นลูกบอลกับลูก โดยใช้ลูกบอลที่ทำด้วยวัสดุที่อ่อนนุ่ม เช่น ผ้า ไหมพรม พลาสติก เป็นต้น
       • หาอุปกรณ์เล่นน้ำให้ลูกได้เล่นเช่น หนังสือลอยน้ำ ตุ๊กตาพลาสติกลอยน้ำ ขวด หรือกระป๋องพลาสติก เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการลอย การตัก การเท
       • อ่านนิทานที่มีภาพประกอบให้เด็กฟังทุกวัน
       • ให้เด็กๆดูรายการทีวี ที่มีประโยชน์และเหมาะสมกับวัยของเด็ก โดยผู้ใหญ่ต้องอยู่ด้วยเพื่อช่วยอธิบายให้เด็กฟัง
       • ซ่อนของไว้ใต้ผ้าห่มแล้วให้เด็กๆหา
       • ร้องเพลง และอุ้มเด็กเต้นรำ
       • จัดหาบริเวณที่ปลอดภัย ให้เด็กได้คลานไปสำรวจที่ต่างๆ
       • ตัดกล่องกระดาษใหญ่ทำเป็นอุโมงค์ หรือรถ หรือหาบ้านจำลองให้เด็กเล่น
       • ให้เด็กๆได้ละเลงสี วาดภาพโดยใช้นิ้วมือ
       • ให้เด็กๆเล่นแป้งปั้น เพื่อฝึกกล้ามเนื้อนิ้วมือ
       • ฝึกเดินขึ้นบันไดกับลูก
       
      กิจกรรมการเล่นกับเด็กก่อนวัยเรียน
       
       • ฝึกการวาดภาพ โดยใช้สมุดภาพระบายสี และดินสอสีเทียนแท่งใหญ่
       • อ่านหนังสือนิทานเล่มใหญ่ให้เด็กๆฟัง
       • ให้เด็กๆฝึกเปิดหนังสือนิทานเอง
       • เปิดเพลงหลายๆแบบที่ไม่มีจังหวะรุนแรงให้เด็กฟัง พร้อมกับให้เด็กเต้นตาม
       • เล่นซ่อนหากับเด็ก
       • ฝึกโยนลูกบอลลงตระกร้า
       • ให้ลูกเล่นเกมตัวต่อ หรือเกมเลโก้
       • ฝึกทำกิจวัตรประจำวันเช่น อาบน้ำ แต่งตัว ทานอาหาร แปรงฟัน เป็นต้น
       • ให้เด็กได้เล่นน้ำ เล่นทราย
       • เล่นบทบาทสมมติกับลูก เช่น เป็นแม่ครัว เล่นพูดคุยทางโทรศัพท์ เป็นต้น
       
       กิจกรรมการเล่นกับเด็กวัยเรียน
       
       • ให้ลูกเล่นเครื่องเล่นสนาม เช่นชิงช้า บาร์โหน ไม้ลื่น เป็นต้น
       • อ่านนิทานให้ลูกฟังทุกวัน
       • ฝึกให้ลูกเล่นไม้บล็อก และภาพตัดต่อ จับคู่ภาพ เป็นต้น
       • ร้องเพลง เต้นรำ และทำเครื่องดนตรีง่ายๆ เช่นกลอง หรือเครื่องเขย่าร่วมกับลูก
       • ฝึกการวาดภาพระบายสี และการเขียนง่ายๆ ร่วมกับลูก
       • พาลูกไปสถานที่ต่างๆ เช่น ไปห้องสมุด สวนสัตว์ ตลาด ไปรษณีย์ เป็นต้น
       
       สิ่ง ที่คุณพ่อคุณแม่ควรคำนึงถึงคือ การจัดกิจกรรมการเล่นที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย เด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะของตัวเองไม่สามารถเปรียบเทียบกับคนอื่นได้ แต่จำไว้ว่าของเล่นที่ดีที่สุดในโลกสำหรับเด็กๆคือตัวคุณพ่อ คุณแม่นั่นเอง

ความคิดเห็น