[บทความ] นมแม่มื้อดึกจำเป็นแค่ไหน


 ถ้าหากผู้ใหญ่อย่างเรากินมื้อดึก ตั้งแต่ 4 ทุ่มจนกระทั่งค่อนเช้าคือตี 4 แน่นอนว่าความอ้วนรอท่าอยู่แล้วแต่หลายคนสงสัยค่าว่า ถ้าให้ลูกกินนมมื้อดึกแล้วจะส่งผลอย่างไรบ้าง ไปหาคำตอบพร้อมกันเลยค่ะ


    ทำไมลูกตื่นบ่อยจังนะ

    เด็กเล็กในช่วง 3 เดือนแรก กระเพาะอาหารยังมีขนาดเล็กและต้องนำสารอาหารที่ได้จากน้ำนมไปช่วยสร้างการ เจริญเติบโตจึงทำให้หิวบ่อย รวมทั้งยังทำให้ตื่นบ่อยอีกด้วย ช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเหนื่อย และกังวลใจมากเป็นพิเศษค่ะ บอกได้คำเดียวว่า อย่าท้อ... เมื่อเวลาผ่านไป เจ้าตัวเล็กเริ่มเติบโตขึ้นทุกอย่างก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ

    นอกจากจะหิวบ่อยแล้ว วงจรการนอนของลูกน้อยก็ยังมีช่วงหลับตื้น (REM) มากกว่าช่วงหลับลึก (Non REM) เขาจะมีการกระดุ๊กกระดิ๊ก ยุกยิก จนคุณพ่อคุณแม่บางท่านคิดไปเองว่าลูกตื่นรีบลุกขึ้นมาให้นมทันที

    แต่ช่วง 4-6 เดือน เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มสามารถปรับตัวได้แล้วทั้งเรื่องการกินและการนอน ซึ่งในต่างประเทศ เด็กอายุ 6 เดือน มากกว่า 80% สามารถนอนยาวๆ ได้ 4-5 ชั่วโมงโดยไม่ตื่น แต่สำหรับเมืองไทยมีเด็กอยู่แค่เพียง 20% เท่านั้นที่สามารถปรับตัวนอนกลางคืนติดต่อกันนานๆ ได้ สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากพ่อแม่ที่ไม่ได้เตรียมตัวให้ลูกนั่นเองค่ะ


    นมแม่มื้อดึกจำเป็นแค่ไหน

    การดูดนมจากเต้านมแม่อย่างสม่ำเสมอในช่วงกลางคืน เป็นการกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมแม่อย่างต่อเนื่อง เหมาะกับในระยะลูกแรกเกิดใหม่ๆ โดยเฉพาะช่วง 1 เดือนแรก ซึ่งเป็นระยะเริ่มสร้างวรจรการสร้างน้ำนม ลูกมักจะดูดนมแม่บ่อยทุก 2-3 ชั่วโมงจึงเหมาะกับทารกในระยะนั้น

    เมื่อการสร้างน้ำนมสม่ำเสมอขึ้น และวงจรการนอนของลูกคงที่แล้ว การให้นมมื้อดึกก็ไม่จำเป็นมากนัก เมื่อ ย่างเข้าสู่เดือนที่สอง หากลูกเริ่มนอนกลางคืนต่อเนื่องกันได้ 4-5 ชั่วโมง ก็ปล่อยให้ลูกนอนได้ ซึ่งข้อมูลจากต่างประเทศพบว่า เด็กอายุ 2 เดือน สามารถนอนกลางคืนต่อเนื่องได้ถึง 20% ดังนั้นถ้าหากในวัยนี้ ผวาตื่นกลางคืนคราใด แม่ก็ให้นมทุกครั้งนั้นจะเป็นการสร้างนิสัย “ต้องตื่นมากิน” (Train Night feeding) ทั้งๆ ที่อาจเป็นเพียง “ดูเหมือนตื่น” จากวงจรการนอนที่เป็นช่วงหลับตื้นๆ จนกลายเป็นว่าติดนมตอนกลางคืนไปเลย และจะทำให้แก้ไขได้ยากด้วย

    สำหรับคุณแม่ที่ไม่มีการเตรียมตัวลูกก่อนมักจะปล่อยให้ลูกดูดนม มื้อดึก ดูดบ่อยจนบางครั้งลูกได้นมวันละกว่า 10-20 มื้อดังนั้นควรลองดู ถ้าหากลูกไม่ได้หิว ลองตบก้นเบาๆ หลับต่อได้ก็ปล่อยให้หลับต่อ หรือถ้าหิว ก็ให้นมนิดหน่อย แต่ให้มั่นใจว่าลูกจะต้องหิวจริงๆ จึงให้ค่ะ

    โดยปกติเด็กจะเริ่มฟันขึ้นเมื่ออายุ 6-7 เดือน ซึ่งช่วงเวลานี้แม่ควรจะหยุดให้นมมื้อดึกลูกได้แล้ว เพราะนอกจากจะส่งผลต่อวงจรการนอนของเขาแล้ว ยังจะส่งผลทำให้ฟันที่เพิ่งขึ้นแช่อยู่ในน้ำนม ทำให้เกิดฟันผุได้ แม้ว่าเด็กที่กินนมแม่จะมีโอกาสเกิดฟันผุได้น้อยกว่าก็ตาม

    วิธีปฏิบัติก็คือ อย่าปล่อยให้ลูกหลับขณะที่มีขวดนมอยู่ในปากหรืออย่าโอบกอดเขาจนหลับ เมื่อรู้สึกว่าลูกเคลิ้มๆ กำลังจะหลับให้ปล่อยเขาหลับเอง ไม่โอบกอด ไม่ให้ดูดนมจนหลับ ก่อนมีฟันขึ้นคือประมาณ อายุ 6 เดือน ก็ไม่ต้องให้ลูกดูดน้ำล้างปากแต่หลังอายุ 6 เดือน จะเริ่มมีฟันขึ้นแล้ว ก็ควรให้ดูดน้ำล้างปากก่อนที่เขาจะหลับ ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันฟันผุ ในระยะนี้วิธีที่ดีที่สุดคือก่อนเวลานอน ให้ลูกกินนมจนอิ่ม แล้วพาลูกไปล้างปากทำความสะอาดฟัน แล้วพาเข้านอน อาจจะร้องเพลง หรือ พูดคุยเบาๆ หรือจะเล่านิทานให้ฟังก็ยิ่งดี เรียกว่าลูกนอนหลับด้วยเสียงเพลงเสียงแม่ก่อนนอน

    ถึงนมแม่มื้อดึกจะมีประโยชน์สักเพียงใด แต่ก็ควรให้ในช่วง 3 เดือนแรกเท่านั้นนะคะ ฉบับหน้าเรามาติดตามเคล็ดลับดีๆ ของนมแม่กันอีกนะคะ


    ใส่ใจนมมื้อดึกของลูก

            * ถ้าลูกอายุ 2-3 เดือน แต่ไม่ตื่นมากินนมก็ไม่ต้องปลุกขึ้นมากินนะคะ เพราะอาจจะสร้างรากฐานให้เขาติดนมมื้อดึกและติดขวดนมได้
            * คุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้นมทุกครั้งที่ลูกตื่น เพราะเขาไม่ได้หิวซะทุกครั้งแต่ถ้าหากลูกร้องแล้วทำปากจ๊วบๆ ก็สามารถให้ได้ แต่ต้องรู้หลักว่าให้ได้นิดเดียว พอหายหิวให้เอาออก
            * หัดให้ลูกกินตอนกลางวันเต็มที่ ถ้าลูกติดต้องกินนมมื้อดึกก็ค่อยๆ เปลี่ยนจากนมให้เป็นน้ำ และไม่ให้เลย
            * คุณแม่ต้องแน่ใจว่า กลางวันลูกกินนมในปริมาณที่มากพอและก่อนอนก็ได้กินนมจนอิ่มแล้ว ตอนดึกจึงไม่ต้องกลัวว่าลูกจะหิวอีก
            * ถ้าฝึกลูกมาตั้งแต่เล็กๆ ลูกที่กินนมแม่ ส่วนใหญ่มักจะเลิกนมมื้อดึกได้จริงๆ ประมาณ อายุ 5 เดือน ลูกที่กินนมผสมจะเลิกนมมื้อดึกได้ ประมาณ อายุ 4 เดือน
            * การนอนกินนมกรณีกินนมจากขวดที่ปล่อยให้ลูกนอนราบดูดนมขวด อาจจะทำให้ลูกสำลักได้ ถ้าต้องกินควรอุ้มยกหัวลูกในระดับสูง เพราะถ้านอนในแนวราบแล้วท่ออากาศเชื่อมระหว่างหูกับปากจะอยู่ในระดับเดียว กันน้ำนมอาจไหลจากปากเล็ดลอดไปหาหูได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาหูน้ำหนวกได้ง่ายค่ะ

ที่มา.. นิตยสารรักลูก ฉบับที่ 301 กุมภาพันธ์ 2551


ความคิดเห็น