แม่จ๋าอย่าตีหนู

 

แม่จ๋าอย่าตีหนู

การลงโทษที่ พ่อแม่มักจะทำกับเด็กเมื่อเด็กทำผิด จริงๆแล้วในการสร้างวินัยให้เด็ก พ่อแม่ควรจะคิดในแง่ของการอบรมสั่งสอน มากกว่าการมุ่งลงโทษ หรือทำร้ายร่างกายเด็ก เพราะพ่อแม่ คือผู้ที่จะคอยปรับพฤติกรรมของลูกให้ค่อยๆ เป็นไปตามทิศทางที่ต้องการ พ่อแม่ไม่ควรมีบทบาทเป็นผู้คุม ที่จะใช้อำนาจทำร้ายร่างกายหรือจิตใจลูก เพราะลูกไม่ใช่นักโทษ

เด็กหรือมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครสามารถงอกงามเติบโตในบรรยากาศของการทำร้าย ลงโทษ หรือสาปแช่ง ที่เขาได้รับจากผู้ที่เลี้ยงดูเขา แต่เขาจะเจริญงอกงาม ในบรรยากาศของการส่งเสริม สนับสนุนและให้กำลังใจกันเท่านั้น
ทำไมพ่อแม่ ถึงนิยมที่จะตีหรือลงโทษลูก หลายคนอาจจะตอบ ว่าเพื่อให้ลูกหยุดพฤติกรรมที่คุณไม่อยากเห็นเขาทำ เช่นแกล้งน้อง ไม่ทำการบ้าน หรือถ้าเป็นเด็กวัยรุ่น ก็อาจเป็นเรื่อง หนีเที่ยว สูบบุหรี่ กินเหล้า
การลงโทษ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ได้ผลจริงหรือ

จริงหรือที่น้องเต้นหยุดรังแกน้องตุ๊ก
จริงหรือที่น้องเก๋หยุดเล่นวีดีโอเกม และหันมาทำการบ้านทุกวัน
จริงหรือที่ธงชัยไม่แอบสูบบุหรี่อีก

คำตอบคือ ไม่จริง

เขา อาจจะหยุดในช่วงที่เขาถูกทำโทษ แต่มันจะทำให้เขากลายเป็น เด็กดี ตามที่คุณต้องการตลอดไปในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ เดือนหน้า หรือปีหน้า เปล่าเลย

เขาไม่ได้กลายเป็นเด็กดีขึ้น ไม่ได้ร่วมมือกับคุณมากขึ้น มิหนำซ้ำเขาอาจจะยิ่งมีอาการ หนักข้อ กับคุณยิ่งขึ้น ทำให้คุณต้องเพิ่ม ดีกรี แห่งการลงโทษของคุณให้รุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก ผลก็คือ คุณจะเหนื่อยมากขึ้นทั้งกายและใจ
เด็กเขาก็จะมีความเจ็บปวด เสียใจ และเกลียดชัง ความรู้สึกด้านลบที่ไม่อาจจะถูกลบเลือนไป ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านพ้นไปนานสักเท่าใด

พ่อ แม่บางคนอาจคิดว่าการตีหรือลงโทษจะทำให้เด็กหลาบจำ แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กๆ คิดคนละอย่างกับผู้ใหญ่โดยสิ้นเชิง สมมติว่า คุณเคยห้ามไม่ให้น้องโอ เล่นวีดีโดเกม ก่อนทำการบ้านเสร็จ ถ้าคุณอยู่บ้าน น้องโอจะไม่กล้าเล่น แต่เมื่อคุณไม่อยู่ น้องโอจะเล่นอย่างสนุกสนาน ในความคิดของน้องโอ เธอจะคิดว่า "ขอให้สนุกไว้ก่อนละกัน เรื่องถูกลงโทษเอาไว้แก้กันทีหลัง"

เมื่อคุณกลับบ้านและเจอน้องโอเล่นวี ดีโอ คุณก็ลงโทษน้องโอ การลงโทษของคุณกลายเป็นสิ่งที่น้องโอคาดไว้ก่อน เป็นการชดใช้ กับความสนุกสนานที่เธอได้รับ น้องโอไม่ต้องรู้สึกผิดเพราะได้ชดใช้กรรมนั้นกับคุณไปแล้ว ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเธอ และเมื่อการชดใช้ได้สิ้นสุดลง เธอก็จะรู้สึกอิสระ และทำผิดได้ ในขณะที่คุณกลับรู้สึกงงว่าทำไมลูกไม่รู้จักหลาบจำ

การลงโทษของคุณจึงไม่ ได้ทำให้ลูกมีพฤติกรรมดีขึ้น ตรงข้าม เด็กๆ กลับจะเรียนรู้ว่าถ้าเขาพร้อมที่จะเสี่ยงต่อการลงโทษละก็ เขาจะผิดอย่างไร แค่ไหนก็ได้

เด็กๆที่มาจากบ้านที่มีการลงไม้ลงมือ กันแรงๆ ทุกครั้งที่เด็กทำผิด เราจะพบว่า เด็กๆมีวิธีการคิดดังนี้คือ “ไหนๆ เราก็ต้องโดนอยู่แล้ว ก็ทำมันลงไปซะเลย”

เด็กที่มีนิสัยเกเร หรือเป็นอันธพาลก้าวร้าว ที่เรียกว่า "เหลือขอ" เหล่านี้ มักจะมาจากบ้านที่เขาถูกทำร้ายร่างกาย และได้รับฟังคำพูดที่รุนแรงจากพ่อแม่ของเขาเสมอ และแน่นอนว่า เด็กๆแทบจะไม่เคยได้ยินพ่อแม่ของพวกเขา ใช้คำพูดที่ให้กำลังใจ หรือชมเชยพวกเขาเลย บ้านประเภทนี้เองจะผลิตเด็กที่เป็นเหยื่อของการใช้กำลังและในอนาคต เด็กจากบ้านทำนองนี้ ก็จะสร้างปัญหาทำให้ผู้อื่นในสังคม ต้องตกเป็นเหยื่อ ของพวกเขาด้วยเช่นกัน

จากหนังสือ ก่อนจะถึงวันนั้น ของ รศ. ดร. นวลศิริ เปาโรหิตย์

ความคิดเห็น