การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว

การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว หลังคลอดลูก หากคุณแม่ให้นมลูกเอง นน.จะลงมาเป็นปกติภายใน 1-6 ด.โดยไม่ต้องซื้อคอร์สลดนน.ราคาแพง หรือ ซื้อยาลดนน.จากอินเตอร์เนทที่เป็นอันตรายมากิน โดยมีข้อแม้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 10-12 กก.ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่ 3 ด.แรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลย 3 ด.ถัดมาขึ้น 6 กก. และ 3 ด.สุดท้ายขึ้น 6 กก. ใครที่นน.ขึ้นเกินจากนี้ ไม่ดีนะคะ อย่าคิดว่าตอนท้องเป็นช่วงโปรโมชั่น อยากกินอะไรก็กินได้ตามใจอยาก อ้วนได้ไม่มีใครกล้าว่า แล้วคิดกินเพื่อลูก โด๊ปอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปมากมาย นมวัวเอย ผลิตภัณฑ์นมวัวเอย ทั้งชีส เค้ก ไอศครีม นมถั่วเหลืองซื้อมาเป็นลังๆ ไข่กินวันละหลายๆฟอง ขนมนมเนยทุกชนิด ปลาแซลมอนทุกมื้อ ผลที่ตามมา คือ แม่อ้วนทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ลูกเสี่ยงกับภาวะแพ้โปรตีนกลุ่มเสี่ยง พอคลอดลูกเสร็จ ก็ยังกินบำรุงน้ำหนักต่อ โดยคิดว่าจะทำให้ผลิตน้ำนมได้เยอะ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักส่วนเกินยังคงอยู่สะสมในร่างกาย แต่น้ำนมไม่ได้เพิ่มขึ้น (ดังรูปบน) เพราะปริมาณน้...

[บทความ] "เด็กก้าวร้าว" พฤติกรรมตามวัยจริงหรือ?

"เด็กก้าวร้าว" พฤติกรรมตามวัยจริงหรือ?

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 กรกฎาคม 2552 08:26 น.


      การแสดงความก้าวร้าวของเด็กเล็กอาจเกิดขึ้นได้ เช่น พูดจาหยาบคาย ต่อว่า ไม่เคารพผู้อื่น ทุบตี หยิก กัด ผลัก ขว้างปา ทำลายสิ่งของหรืออาจรุนแรงถึงขั้นทารุณกรรมสิ่งมีชีวิตให้บาดเจ็บหรือล้มตาย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการฝึกเด็กให้ละเมิดสิทธิผู้อื่นจนเกิดความเสียหาย ทางร่างกาย ทรัพย์สิน หรือทำให้ผู้อื่นกระทบกระเทือนจิตใจ
     
      ทั้งนี้ ความก้าวร้าว อาละวาดง่ายในเด็กอายุ 2 - 5 ปีอาจเกิดขึ้นได้เพราะยังเป็นวัยที่ขาดการควบคุมอารมณ์ตนเอง หรือเด็กบางคนมีพื้นเพทางอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยาก ปรับตัวยาก จึงเกิดความคับข้องใจและแสดงออกโดยการอาละวาดได้บ่อย ซึ่งสาเหตุของความก้าวร้าวอาจมาจาก
     
      1. สาเหตุทางชีวภาพ อาจเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น พ่อแม่มีอารมณ์ร้าย ดุ ก้าวร้าว ฉุนเฉียวง่าย อาละวาดเก่ง หรือถ้าพบว่าเด็กแสดงออกอย่างก้าวร้าวมาก ๆ และเป็นบ่อย ๆ ควรคำนึงถึงโรคใดโรคหนึ่ง เช่น สมาธิบกพร่อง ไฮเปอร์แอคทีฟ ออทิสติก หรือสมองพิการ
     
      2. สภาพจิตใจของเด็ก เด็กไม่มีความสุข เศร้า กังวล ขี้ตื่นเต้น ตกใจง่าย เด็กที่คับข้องใจบ่อย ๆ และถูกกดดันเสมอ ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กหงุดหงิดและอาจแสดงวาจากิริยาก้าวร้าวได้
     
      3. การเลี้ยงดูภายในครอบครัว
      - การทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ดูแลเด็ก
      - การลงโทษรุนแรง
      - การตามใจและยอมตามเด็กเสมอ
      - การทะเลาะกันภายในครอบครัว
      - การยั่วยุอารมณ์ให้เด็กโกรธ
      - การขาดระเบียบวินัยในชีวิต
      - การที่เด็กทำผิดแล้วผู้ใหญ่ให้ท้าย
      - การสื่อความหมายไม่ชัดเจน ทำให้เด็กสับสน กังวล ไม่รู้จักความผิดที่แน่นอน
     
      4. จากสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม เด็กที่ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิดีโอ ที่แสดงออกถึงความก้าวร้าวรุนแรง ไม่มีกิจกรรมอื่นที่เป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายเพื่อคลายเครียด เมื่อถูกเร้าให้เกิดความเครียดส่วนใหญ่ก็มักจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ได้ง่าย
     
      นอกจากนี้ข่าวสารต่าง ๆ ปัญหาความเครียดในสังคม ท่าที ทัศนคติของเพื่อน คุณครู ฯลฯ ล้วนก่อให้เกิดความเครียดหรือเป็นแบบอย่างของความก้าวร้าวได้ทั้งสิ้น และเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ตลอดจนผู้เลี้ยงดูในการช่วยเหลือปรับพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กให้ดีขึ้นได้
     
      วิธีป้องกันและแก้ไข
     
      1. ผู้ใหญ่ต้องหยุดการกระทำอันก้าวร้าวของเด็กโดยทันที และต้องไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรงเพราะเป็นการสอนให้เด็กเลียนแบบโดยไม่รู้ตัว เช่น หากเด็กมีการขว้างปาสิ่งของ หรือทุบตีผู้อื่น อาจจัดการให้เด็กหยุดด้วยวิธีสงบ เช่น จับมือรวบตัวเอาไว้ บอกสั้น ๆ ว่าตีไม่ได้ และของชิ้นนี้ไม่ได้มีไว้เพื่อปา ในขณะเดียวกัน การพูดว่า "แม่รู้ว่าหนูโกรธ แต่เราไม่อนุญาตให้ตีกัน และแม่ก็ไม่อนุญาตให้น้องทำกับหนูเช่นกัน" จะเป็นตัวช่วยให้เด็กเข้าใจความรู้สึกโกรธ และหยุดยั้งการกระทำของเด็กได้ในเวลาเดียวกัน
     
      2. แนะนำทางออกอื่นให้เด็ก เช่น เมื่อเด็กโกรธกันขึ้นมา ก็สามารถเดินมาบอกผู้ใหญ่ให้ว่ากล่าวคู่กรณีได้ แต่ตีกันไม่ได้ เด็กจะเรียนรู้ว่า การก้าวร้าวเป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ แต่เราเข้าใจความรู้สึกเขา และเตรียมทางออกที่เหมาะสมเอาไว้ วิธีนี้ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ แม้จะพบว่าเด็กมีอาการอีกเป็นครั้งคราวเพราะเด็กยังระงับอารมณ์ได้ไม่หมด
     
      3. ไม่ควรตอบตกลง หรือต่อรองกันในขณะที่เด็กมีอารมณ์หรือพฤติกรรมก้าวร้าว เพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่า ผู้ใหญ่จะตอบสนองความต้องการของเขา เฉพาะในช่วงที่อารมณ์สงบ และมีพฤติกรรมที่เหมาะสมเท่านั้น
     
      4. ผู้ใหญ่ต้องระวังที่จะไม่มีอารมณ์ตอบโต้เด็ก หรือเอาชนะกัน
     
      5. การลงโทษเด็กไม่ควรใช้ความรุนแรง อาจใช้วิธีแยกเด็กอยู่ตามลำพังระยะหนึ่ง (Time Out : 1 นาทีต่อเด็กอายุ 1 ปี) โดยมีการสื่อให้เด็กเข้าใจว่า การรบกวนผู้อื่นเป็นสิ่งไม่สมควร เมื่อสงบแล้วค่อยมาพูดจากันใหม่ บางครั้งอาจใช้วิธีงดสิทธิบางอย่างเข้าช่วยด้วย
     
      6. ฝึกให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระทำที่ไม่เหมาะสมของตนเอง เช่น ซ่อมแซมของที่ชำรุดเสียหาย (โดยพิจารณาตามความเหมาะสมค่ะ)
     
      7. หลีกเลี่ยงการตำหนิ ต่อว่า เปรียบเทียบ ให้เด็กรู้สึกเป็นปมด้อย การขู่หรือหลอกให้กลัว ตลอดจนการยั่วยุให้โกรธ โดยผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างของความปรองดอง เป็นมิตรต่อกันให้เด็กเห็น
     
      เรียบเรียงข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี


ที่มา: http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000082159

ความคิดเห็น