[บทความ] เทคนิคบำบัด 'เด็กพิเศษ' พ่อแม่ช่วยลูกได้ที่บ้าน

[บทความ] เทคนิคบำบัด 'เด็กพิเศษ' พ่อแม่ช่วยลูกได้ที่บ้าน

เด็กพิเศษ หรือ “เด็กที่มีความต้องการพิเศษ” คือกลุ่มเด็กที่จำเป็นต้องได้รับการดูแล และช่วยเหลือเป็นพิเศษ เพิ่มเติมจากวิธีการตามปกติ ทั้งในด้าน การใช้ชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ และการเข้าสังคม เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาเต็มตามศักยภาพ โดยออกแบบการดูแล ช่วยเหลือเด็ก ตามลักษณะความจำเป็น และความต้องการของเด็กแต่ละคน
       
       โดยสามารถแบ่งเด็กพิเศษออกเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ เด็กที่มีความสามารถพิเศษ เด็กที่มีความบกพร่อง และเด็กยากจน/ด้อยโอกาส ซึ่งเด็กแต่ละกลุ่ม มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษเหมือนกัน แต่มีวิธีการที่แตกต่างกัน ตามความเหมาะสมของเด็กแต่ละกลุ่ม และแต่ละคน
       
       อย่างไรก็ดี วันนี้ทีมงาน Life and Family ขอเจาะลงไปที่เด็กพิเศษในกลุ่มที่มีความบกพร่องทางด้านต่างๆ เพราะเป็นกลุ่มเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นหลายด้าน ไม่ว่าจะด้านภาษา พัฒนาการ และพฤติกรรม ซึ่งแบ่งออกเป็น 9 กลุ่ม คือ
       
       เด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เด็กที่มีความบกพร่องทางการสื่อสาร เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และการเคลื่อนไหว เด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์ และพฤติกรรม เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา (Intellectual Disabilities) เด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disabilities) เด็กออทิสติก (รวมถึงความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้านอื่นๆ - PDDs) และเด็กที่มีความพิการซ้อน
       
       เด็กในกลุ่มดังกล่าว เป็นกลุ่มเด็กที่ต้องได้รับการบำบัดด้านภาษา/การสื่อสาร พัฒนาการ และพฤติกรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะได้รับการบำบัดจากผู้เชี่ยวชาญแล้ว พ่อแม่ต้องบำบัดกับลูกที่บ้านด้วย เนื่องจากมีเวลาอยู่กับลูกมากที่สุด
       
       กับเรื่องนี้ทีมงานได้สอบถามไปยัง "คุณรีเบ็กก้า คิลเดีย" นักกิจกรรมบำบัดผู้เชี่ยวชาญทางด้านบูรณาการประสาทสัมผัสที่มีประสบการณ์มากกว่า 8 ปี และ "คุณมารี เร็นนี" ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือระยะแรกเริ่มก่อนวัยเรียน มาธิลดา โรส ประเทศออสเตรเลีย ซึงเธอทั้งสองบอกถึงความสำคัญของการบำบัดที่บ้านให้ฟังว่า
       
      "พ่อแม่มีส่วนสำคัญในการต่อยอดกับโรงเรียน ซึ่งนอกจากจะมีความกระตือรือร้น และมีส่วนร่วมในการบำบัดที่โรงเรียนแล้ว เวลากลับไปที่บ้านต้องทำการบ้าน และฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะเด็กมีโอกาสในการบำบัดที่โรงเรียนหรือศูนย์อย่างน้อย 1 ชม.ต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่คุณพ่อคุณแม่มีโอกาสบำบัดถึง 8-9 ชม. โดยในระยะเริ่มแรกของการบำบัดในเด็กเล็ก บทบาทของเด็กคือการเล่น ทั้งวันของเขาจะหมดไปกับการเล่น และการได้รับความสนุก
       
       ดังนั้นพ่อแม่ต้องเชื่อมสัมพันธภาพกับเด็กในระยะนี้ให้ได้ ถึงแม้ต้องสื่อสารกับเด็กด้วยวิธีการพูด แต่ทั้งนี้ต้องใช้วิธีการอื่นในการสื่อสารกับเด็กด้วย ด้วยการให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ด้วยการมอง ใช้ท่าทาง หรืออื่นๆ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจในการสื่อสารให้กับลูกนั่นเอง" นอกจากนี้ยังมีเรื่องของพัฒนาการ และพฤติกรรมที่ต้องฝึกเพิ่มเติมอีก ซึ่งคุณรีเบ็กก้า และมารี ได้เสนอเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย รวมไปถึงกลยุทธิ์ที่จะถ่ายทอดแนวคิดการบำบัดให้กับพ่อแม่ได้นำไปปฏิบัติกับลูกที่บ้านง่ายๆ ดังนี้ครับ

       1. อย่ารู้ใจเด็กไปทุกอย่าง ต้องปล่อยให้พวกเขาพยายามสื่อสารกับคุณด้วย เช่น รอคอยให้เขาเมื่อต้องการดื่มน้ำ หรือถามลูก และรอคอยคำตอบ แทนที่จะเข้ามาหาในทันที ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ ลูกยังไม่ทันได้บอกเลยว่า หิวน้ำ แต่รู้ใจไปก่อนว่าลูกหิวน้ำ นั่นจะทำให้คุณกับลูกขาดปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร เพราะลูกไม่เคยได้มีโอกาสเข้ามาหาคุณเลย มีแต่คุณที่เข้าไปหาลูกเพียงฝ่ายเดียว ทำให้ต่อมร้องขอของลูก ทำงานได้ไม่เต็มที่
       
       2. ให้ทำซ้ำๆ คุณพ่อคุณแม่ ต้องให้ลูกทำกิจกรรมต่างๆ ซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่การล้างมือก็ตาม ซึ่งขอให้ใช้ภาษา และทักษะทุกอย่างที่คุณสามารถทำได้ เช่น
       
      "ล้างมือสิจ๊ะลูก ก้อนล้างมือเราจะต้องทำอะไร เราจะต้องเปิดก็อกน้ำก่อนนะจ๊ะ น้ำร้อนมั้ยจ๊ะ เอ้...หรือว่าน้ำเย็น" หรือ "ขณะที่เราล้างมือกัน เราต้องใช้อะไรล้างเอ่ย นี่จ๊ะ สบู่ ไว้สำหรับล้างมือ ลองดมสิจ๊ะ หอมมั้ยคะ" เป็นต้น โดยจะเห็นได้ว่า เพียงแค่การล้างมือ ลูกจะได้ทักษะการเคลื่อนไหว การทรงตัว ประสาทรับความรู้สึกที่ได้จากอุณหภูมิของน้ำ รวมไปถึงประสาทสัมผัสด้านกลิ่น เช่น ได้ดมว่ากลิ่นสบู่เป็นอย่างไร เป็นต้น
       
       3. สร้างสถานการณ์สื่อสาร คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกการสื่อสารของลูกได้ ด้วยการวางของเล่นที่เด็กชอบในที่ที่เด็กเอื้อมไม่ถึง และเมื่อเด็กเอื้อมไม่ถึงก็จะแสดงอาการ และเดินเข้ามาขอจากคุณเอง หรือใช้วิธีที่ทำให้ถูกได้สงสัยจนเกิดการสื่อสาร เช่น นำหลอดไฟออกจากโคมไฟ เมื่อคุณพ่อคุณแม่เปิดมันก็ยังมืดอยู่ หรือปิดกระป๋องให้แน่น ทำให้เด็กพยายามที่จะเปิดก็เปิดไม่ได้ ทำให้เด็กเริ่มอยากจะสื่อสาร ด้วยการขอความช่วยเหลือ เพราะอยากรู้ หรืออยากได้ในสิ่งที่เขาต้องการ วิธีดังกล่าวช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกได้เป็นอย่างดี ช่วยให้ลูกมีทักษะการสื่อที่ดีขึ้น
       
       4. ทำสิ่งผิดพลาดให้ตลก-นอกเหนือกิจวัตรประจำวัน เช่น ให้แก้วนมกับเด็ก แต่ให้ลืมที่จะใส่นมลงไปในแก้ว หรือเตรียมส่วนผสมของเค้กพร้อมจะคน แต่กลับลืมช้อนไว้สำหรับคน หรืออาจจะบอกว่า ถึงเวลานอนแล้วนะลูก แต่แกล้งลืมไปว่า ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาอาหารเย็น วิธีตรงนี้จะช่วยให้ลูกกับคุณเกิดการสื่อสารกันมากขึ้น และช่วยให้ระบบสมองเกิดการกระตุ้นให้คิดได้มากขึ้นด้วย
       
       5. สร้างเรื่องขึ้นมาให้เด็กได้สื่อสาร เพื่อให้เด็กจะได้มีเรื่องไปคุยกับเพื่อน หรือพ่อแม่ หรือใช้สื่อสารกับคนอื่น คุณแม่ต้องสร้างเรื่องให้เด็ก เช่น เสื้อในรูปภาพ บางอย่างในประเป๋า ที่ติดผม เป็นต้น ทำให้เด็กมีความมั่นใจ และมีพัฒนาการสื่อสารได้เร็ว ยกตัวอย่างเช่น
       
       "เสื้อคือสิ่งที่เราใส่ ทำให้เราไม่โป๊ ลูกเห็นมั้ยจ๊ะว่าเสื้อมีหลายสี มีเสื้อแขนขาว และเสื้อแขนสั้น ลูกอยากได้แบบไหนจ๊ะ ชี้ให้แม่ดูหน่อยสิ อ่อ ลูกอยากได้เสื้อสีแดง แขนสั้น" หรืออาจะถามต่อว่า "แล้วน้องตุ๊กตาของลูกใส่เสื้อสีอะไรจ๊ะ" เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กเข้าใจเรื่องราว และสามารถรับรู้ได้ว่า อะไรคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร?
       
       6. ตั้งความหวังไว้ให้สูง ฝันให้ถึงดวงดาว และให้ความฉลองความสำเร็จในแต่ละก้าว เมื่อลูกของคุณสามารถบรรลุในสิ่งที่ตั้งไว้ จากนั้นตั้งเป้าหมายต่อไป แต่อย่าลืมที่จะกลับมายังทักษะก่อนหน้านี้ด้วย เพื่อที่จะรวบรวมทักษะที่ต้องคำนึง และเชื่อมโยงถ้าเป็นสิ่งที่จำเป็น
       
       7. การจดบันทึก คุณพ่อคุณแม่ควรมีการบันทึกข้อมูล ด้วยการทำหนังสือประสบการณ์ของลูก เช่น ทำอัมบั้มรูปถ่ายของลูกใสแต่ละช่วงวัย ด้วยภาพในทุกอิริยาบท เพื่อเก็บไว้เป็นสิ่งระลึกกับให้ลูก ว่าพวกเขาได้ผ่านความสนุกอะไรมาบ้าง เช่น หกล้ม ลูกกำลังกินน้ำ ล้างมือ แปรงฟัน หรือไปเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น
       
       สิ่งเหล่านี้จะเป็นความสนุกสนานที่พ่อแม่จะทำกับลูกๆ และให้ประสบการณ์ต่างๆ กลับมาอีก หรืออีกอย่างคือ การทำบันทึกประจำวัน มันเป็นสิ่งพิเศษที่จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ฉลองกับความสำเร็จกับก้าวเล็กๆ บนถนนของความสำเร็จนี้ เป็นสิ่งจารึกที่มีความหมาย และเมื่อลูกโตขึ้น สามารถนำกลับมาเล่าให้ลูกได้เป็นอย่างดี เพิ่มความสุข และความสนุกไปในตัว
       
       ดังนั้น การเข้าใจการบำบัด และการเป็นผู้มีส่วนร่วมแบบกระตือรือร้น ไม่เพียงแต่มีประโยชน์ต่อลูกของคุณเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กได้พัฒนาความเป็นตัวเอง ลดความเครียดของคุณ แล้วท้ายที่สุดมันเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูก เปรียบเสมือนรางวัลที่คุณพ่อคุณแม่จะได้รับจากความสำเร็จร่วมกันตลอดช่วงชีวิต
       
       /// ทีมงานขอให้ระลึกอยู่เสมอว่า บุคคลที่มีความสำคัญที่สุดต่อพัฒนาการของเด็ก คือคุณ (พ่อกับแม่ของเด็ก) และผู้เชี่ยวชาญที่ดีที่สุดก็คือคุณเช่นกัน ///

โค๊ด:
ที่มา : http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9520000089563

ความคิดเห็น