สัปดาห์ที่ 1-40 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

สัปดาห์ที่ 1-4 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์




อาการแม่
คุณจะสังเกตได้ว่าประจำเดือนมาล่าช้ากว่าปกติ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนข้อแรกว่าคุณอาจตั้งครรภ์ ร่างกายภายนอกจะยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมากนัก แต่อาจจะมีอาการคล้ายก่อนมีประจำเดือน เช่น คัดเต้านม แต่ส่วนใหญ่แล้วจะยังไม่มีอาการใดๆ บ่งบอกออกมาชัดเจน แต่ภายในมดลูกคุณกำลังก่อกำเนิดชีวิตน้อยๆ อย่างเป็นจังหวะขั้นตอน และรวดเร็ว

ข้อควรระวัง
ในช่วงแรกคุณแม่หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ตัวว่าตนเองตั้งครรภ์ จึงไม่ได้ระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษ แต่ถ้าไม่แน่ใจ สิ่งที่ต้องระวัง ก็คือเรื่องอาหาร ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย

อาหารแม่
คุณแม่ที่วางแผนก่อนการตั้งครรภ์ มักจะได้เปรียบในเรื่องการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะโฟลิค ที่มีการยืนยันแล้วว่าถ้าในร่างกายแม่มีโฟลิคเพียงพอ จะช่วยป้องกันให้ลูกไม่เกิดภาวะกะโหลกศีรษะไม่ปิด และคาดว่าจะป้องกันภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ได้อีกด้วย แต่ถึงแม้จะไม่ได้เตรียมการตั้งครรภ์ล่วงหน้า การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเรื่องยา แอลกอฮอล์ บุหรี่ จะช่วยให้ลูกน้อยปลอดภัยจากความเสี่ยงต่างๆ ไปได้พอสมควร

ลูกในท้อง
เมื่อสเปิร์มที่แข็งแรงที่สุดแล้วสามารถวิ่งเข้าเส้นชัยเข้าไปอยู่ในไข่ที่สุกพอดี เราจะเรียกว่าเกิดการปฏิสนธิขึ้น จากนั้นไข่กับสเปิร์มก็จะผสมกัน กลายเป็นตัวอ่อน เริ่มแบ่งตัว และเดินทางไปยังโพรงมดลูก เพื่อหาที่อยู่ที่อบอุ่น และเจริญเติบโตต่อไป หลังจากนี้ 6-7 วัน ตัวอ่อนจะเริ่มพัฒนาตัวเองมีการแบ่งเซลล์ จะได้จำนวนเซลล์ 100-120 เซลล์ เราจะเรียกตัวอ่อนในระยะนี้ว่า “บลาสโตซิสต์”  (มีขนาดเท่าหัวเข็มหมุด) ซึ่งจะไปฝังตัวลงบนเยื่อบุโพรงมดลูกของแม่ และเกิดการตั้งครรภ์ต่อไป
   ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ 4 นี้จะเริ่มมีถุงน้ำคร่ำเกิดขึ้นแล้ว ถุงน้ำคร่ำนี้จะทำหน้าที่ป้องกันตัวอ่อนจากสิ่งแวดล้อม และป้องกันการกระทบกระเทือนที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงควบคุมอุณหภูมิ
   ความยาวของตัวอ่อนในช่วงสัปดาห์ที่ 4 จะยาวเพียง ¼ นิ้วเท่านั้น ซึ่งจะประกอบไปด้วยเนื้อเยื่อ 3 ชนิด โดยชนิดแรกจะเจริญต่อไปเป็นผม เล็บ หูส่วนใน เลนส์ตา เป็นต้น ชนิดที่สองจะพัฒนาไปเป็นระบบประสาท จอตา ต่อมใต้สมอง กระดูก กล้ามเนื้อ เซลล์เลือด เซลล์น้ำเหลือง ชนิดที่สามจะพัฒนาไปเป็นปอด หลอดลม ระบบทางเดินอาหาร ตับ ตับอ่อน กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

ขอขอบคุณ Practical Pregnancy คู่มือสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ฉบับปฐมฤกษ์ ค่ะ

แล้วจะมาอัพเดทของสัปดาห์ต่อๆ ไป เรื่อยๆ นะคะ ^^


สัปดาห์ที่ 5 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์


ภาพประกอบจากอินเตอร์เนท

อาการแม่
การตั้งครรภ์ทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน ที่ช่วยให้กล้ามเนื้อมดลูกคลายตัว ลดความดันโลหิต ส่วนฮอร์โมนเอสโตรเจน ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนม เสริมสร้างทดลูกให้แข็งแรง ฮอร์โมน HCG (Human Chroionic Gonadotrophin)  เป็นฮอร์โมนที่ผลิตออกมาจากรก เมื่อมีการตั้งครรภ์ ซึ่งผลของการตรวจปัสสาวะว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ก็ตรวจว่ามีฮอร์โมนตัวนี้เช่นกัน
     เมื่อทราบผลที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การฝากครรภ์กับสูตินารีแพทย์ เพื่อให้แพทย์ดูแลคุณแม่ตลอดการตั้งครรภ์กระทั่งคลอดลูกอย่างปลอดภัย
     ในช่วงนี้คุณแม่บางท่าน อาจจะสังเกตร่างกายตนเองได้ชัดเจนขึ้นจากอาการดังนี้
มีอาการคล้ายตอนก่อนมีประจำเดือน มีอาการคัดหน้าอก สานหัวนมสีเข้มขึ้น เหนื่อยง่ายขึ้น ต้องการพักผ่อนมากขึ้น ถ้าการทำงานคุณต้องเคลื่อนไหวมาก ก็ควรหาเวลาพักบ่อยๆ
      เริ่มมีอาการแพ้ท้อง บางท่านอาจจะรู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียนในช่วงเช้าๆ หลังตื่นนอน หรือเวลาใดก็ได้ตลอดทั้งวัน แต่มักตะเป็นในช่วงที่ท้องว่างๆ (บางคนอาจจะไม่มีอาการแพ้ใดๆ เลยก็ได้)
     มีน้ำลายมากกว่าปกติ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ

แพ้ท้อง
อาการแพ้ท้องมักจะเกิดในช่วงเช้ามากที่สุด เชื่อว่าเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน HCG ถ้ามีสูงก็จะมีอาการแพ้ท้องสูง ส่วนมากแล้วอาการแพ้ท้องจะดีขึ้นหลังจากตั้งครรภ์ไปจนถึงสัปดาห์ที่ 14-16 หรืออาจจะเร็วกว่านี้ก็ได้ ซึ่งตามปกติอาการแพ้ท้องไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อลูกในท้องแต่อย่างใด แต่ถ้ามีอาการมาก น้ำหนักลดมากผิดปกติ หรือแพ้ท้องยาวนาน ควรได้รับการรักษาจากแพทย์

ดูแลยามแพ้

รับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ อาจจะแบ่งมื้ออาหารเป็น 5-6 มื้อต่อวัน เพื่อไม่ให้ท้องว่าง หรือแน่นจนเกินไป
     หลีกเลี่ยงอาหารทอด  อาหารมัน หรืออาหารที่มีเครื่องเทศมาก เพราะกลิ่นอาจทำให้อยากอาเจียน
     ไม่ควรลุกจากที่นอนทันทีหลังตื่นนอน หรืออาจจะรับประทานขนมปังกรอบ คุกกี้แบบเค็ม ก่อนลุกจากที่นอน จะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้
     จิบน้ำขิงอุ่นๆ จะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้
     หลังจากอาเจียน กลั้วปากด้วยน้ำอุ่น ช่วยล้างกลิ่นและคราบอาหารที่ติดอยู่ในช่องปาก เพื่อลดอาการพะอืดพะอม
     ทำจิตใจให้สบาย เพราะคุณแม่หลายท่านมักกังวลกับการตั้งครรภ์มากเกินไป

ข้อควรระวัง
การตั้งครรภ?ในช่วงแรกถึงแม้ร่างกายภายนอกยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่ระบบหมุนเวียนโลหิตทำสานหนักขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้น คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยง่าย ฉะนั้นควรหาเวลาพักผ่อนในช่วงกลางวัน อาจจะนั่งพักเอนหลัง หรือหาเวลางีบในช่วงบ่าย จะทำให้คุณแม่สดชื่นขึ้น

อาหารแม่
ช่วงนี้คุณอาจจะยังรู้สึกเบื่ออาหาร บางคนอยากของเปรี้ยวๆ ควรรับประทานแต่น้อย ถ้าหลีกเลี่ยงได้จะดีกว่า โดยเฉพาะของหมักดอง เลี่ยงไปกินน้ำผลไม้เย็นๆ หรือไอศกรีมที่มีรสเปรี้ยวๆ แทน และเลือกอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต จำพวกขนมปังโฮลวีต ธัญพืช จะกินได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้อง
     อาหารที่มีโปรตีนสูงอย่างเช่น เนื้อวัว เนื้อหมู อาจจะทำให้ไม่ค่อยสบายท้องนัก และอยากจะอาเจียน ก็ลองเปลี่ยนมาเป็ฯเต้าหู้ หรือไข่จะดีกว่า จนกว่าอาการแพ้ท้อวจะร้อยลง
     การดื่มน้ำมากๆ เป็นอีกวิธีที่ช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ แต่ไม่ควรดื่มน้ำร่วมกับมื้ออาหาร หรือดื่มน้ำมากๆ หลังอาหารทันที เพราะจะทำให้ท้องแน่นจนเกินไป

ลูกในท้อง
ลูกน้อยมีขนาดเท่าๆ กับผลองุ่น สร้างหัวใจครบ 4 ห้อง และหัวใจเริ่มทำงาน เริ่มสร้างเพดานปาก


สัปดาห์ที่ 6 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
คุณแม่บางท่านอาจจะเริ่มแพ้ท้องในสัปดาห์นี้ และมักมีอาการท้องผูก ถึงแม้คุณจะเป็นคนที่มีระบบขับถ่ายปกติดีมากก่อนการตั้งครรภ์ ก็อาจเกิดการท้องผูกขึ้นได้เช่นกัน

ท้องผูก
อาการท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์นี้ เกิดจากฮอร์โมนโปรเจสเทอโรนที่ทำให้กล้ามเนื้อลำไส้ทำงานน้อยลง อาหารผ่านไปได้ช้ากว่าปกติ น้ำที่อยู่ในอาหารจึงถูกดูดซึมเข้าร่างกายได้มากขึ้น ทำให้อุจจาระแห้ง เกิดอาการท้องผูกตามมา

วิธีแก้
ดื่มน้ำให้มากขึ้น
ดื่มน้ำผลไม้ เช่น น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศคั้นสด และกินผลไม้สด ผักที่มีกากใย ธัญพืชต่างๆ
การออกกำลังกายบาๆ เช่น เดินวันละ 10-15 นาที ในตอนเช้า นั่งพักสักครู่ดื่มน้ำอุ่นๆ หรือนมอุ่นๆ
ห้ามใช้ยาระบายโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อลูกได้ ถ้าท้องผูกมากควรปรึกษาแพทย์

ข้อควรระวัง
   ต้องระมัดระวังในเรื่องการใช้ยาต่างๆ ให้ดี โดยเฉพาะคุณแม่ที่ต้องรับประทานยาประจำ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบอกคุณหมอที่ไปฝากครรภ์อย่างละเอียด ถ้าไม่แน่ใจควรงดยานั้นๆ ไว้ก่อน และไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะในช่วงไตรมาสแรกนี้ เป็นช่วงที่ลูกน้อยกำลังสร้างอวัยวะพื้นฐานที่สำคัญทั้งหมด
   หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นพิษเริ่มตั้งแต่แอลกอฮอล์ ควันบุหรี่ สถานที่มลพิษสูง ยาฆ่าแมลง

อาหารแม่
   บางท่านที่อาจจะยังเบื่ออาหารเนื่องมาจากอาการแพ้ท้อง  ก็ยังไม่ต้องวิตกกังวลมากเกินไปนัก ให้รับประทานอาหารที่รู้สึกว่าย่อยง่ายไปก่อน

ลูกในท้อง
   สัปดาห์นี้ตัวอ่อนมีขนาดเท่ากับเล็บนิ้วก้อย ถ้าทำการอัลตร้าซาวด์ก็จะเห็นรูปทรงของหัวกับรอยโค้งของกระดูกสันหลังได้ชัดเจน เริ่มมีหนังตา หู มือ และเท้า ที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้น หัวใจเต้นประมาณ 180 ครั้งต่อนาที



สัปดาห์ที่ 7 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
   คุณแม่บางท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมตัวเองถึงต้องเข้าห้องน้ำบ่อยจัง ปวดปัสสาวะเร็วขึ้น ก็มีอยู่ 2 เหตุประกอบกัน
   ประการแรก เป็นผลมาจากฮอร์โมนอีกเช่นกัน เพราะระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไปรบกวนการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้กล้ามเนื้อเรียบผ่อนคลายมากขึ้น กระเพาะปัสสาวะก็เป็นกล้ามเนื้อเรียบเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อมีปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะเพียงเล็กน้อย ก็ทำให้คุณม่รู้สึกปวดปัสสาวะแล้ว
   ประการที่สอง ฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน ทำให้เลือดมาคั่งบริเวณมดลูกเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปเลี้ยงตัวอ่อนก็กระทบกับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ระคายเคือง บีบตัวบ่อยขึ้น จึงรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยขึ้นนั่นเอง และขนาดที่โตขึ้นของมดลูกก็มีส่วนไปเบียดกระเพาะปัสสาวะเช่นเดียวกัน
   ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องน่าวิตกกังวลแต่อย่างใด เพราะเป็นอาการปกติ ถ้าเข้าสาการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 (สัปดาห์ที่ 13-26) อาการปวดปัสสาวะบ่อยจะน้องลงไปกว่าช่วงนี้ และจะกลับมาปวดบ่อยอีกทีช่วงไตรมาสที่ 3

ข้อควรระวัง
   คุณแม่ที่ชอบการออกกำลังกาย ยังสามารถออกกำลังกายได้ แต่ควรปรับเปลี่ยน เช่น จากการวิ่งมาเป็นเดินเร็วแทน ไม่เล่นกีฬาที่จะได้รับความกระทบกระเทือนได้ง่าย แต่สำหรับคุณแม่ที่มีภาวะตั้งครรภ์ยาก แท้งคุกคาม หรือมีข้อบ่งชี้ด้วยสุขภาพที่ไม่แข็งแรง ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการออกกำลังกาย

อาหารแม่
   ในช่วงตั้งครรภ์ร่างการต้องการธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น เพราะร่างกายจะนำมาสร้างฮีโมโกบิล ซึ่งจะคอยทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งยังช่วยในการสร้างเอนไซม์และพลังงาน คุณแม่จึงต้องรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น ได้แก่ ไข่แดง ถั่วเมล็ดแห้ง ผักใบเขียว

ลูกในท้อง
   ตัวอ่อนมีความยาวประมาณ 1.3 เซนติเมตร ระบบประสาทพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีการสร้างรูจมูก ริมฝีปาก ลิ้น ปละฟัน เริ่มมีการฟอร์มตัวในส่วนของมือ และแขน เริ่มสร้างตับ ปอด ไต และมีการพัฒนาลำไส้ใหญ่ตัวอ่อนเริ่มเคลื่อนไหวได้ (ตรวจได้จากทางอัลตร้าซาวด์)


สัปดาห์ที่ 8 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
   คุณแม่อาจจะรู้สึกว่าอารมณ์แปรรวนง่าย มีสาเหตุมาจากความเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย บวกกับความวิตกกังวลในการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์แรก หรือการตั้งครรภ์ที่มีปัญหา คุณแม่มักจะคาดเดาอาการ เป็นห่วงลูกน้อย มีความสงสัยในการตั้งครรภ์ ซึ่งความเครียดระหว่างการตั้งครรภ์นี้ ถึงแม้จะยังไม่มีผลงานวิจัยอะไรมายืนยันชัดเจน ว่ามีผลต่อลูกในท้องหรือไม่ แต่กับร่างกายคุณแม่เองย่อมมีผลแน่นอน เช่น ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ ปวดหัว ซึ่งอาการทางกายของคุณแม่เหล่านี้ อาจจะส่งผลกระทบจ่อลูกน้อยได้เช่นกัน ดังนั้นคุณแม่ควรทำจิตใจให้สบาย หาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ควรเก็บความกังวลสงสัย ควรพูดคุยกับคนรอบข้าง และแพทย์ที่คุณแม่ฝากครรภ์

ข้อควรระวัง
   คุณแม่บางท่านอาจจะหลงลืมไปบางขณะว่าตนเองกำลังตั้งครรภ์ จึงเผลอทำอะไรเร็วๆ หรือทำตามความเคยชิน ดังนั้นคุณแม่จึงต้องระมัดระวังเรื่องการกระแทก ยกของหนัก การยืนนานๆ ให้มากเป็นพิเศษ  เพราะในช่วงระยะ 3 เดือนแรกจองการตั้งครรภ์ ตัวอ่อนอาจจะยังยึดติดกับโพรงมดลูกไม่แข็งแรงดีนัก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการแท้งได้

อาหารแม่
   คุณแม่ที่ต้องทำงานนอกบ้าน กินอาหารนอกบ้านเป็นประจำต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องของความสะอาด ทางที่ดีคุณแม่ควรเตรียมอาหารจากบ้าน หรือเลือกร้านที่ไว้ใจได้ ที่สำคัญอย่าลืมรับประทานผลไม้ นมสด และน้ำสะอาดให้เพียงพอในแต่ละวัน

ลูกในท้อง
   ในสัปดาห์นี้ ลูกในท้องคุณแม่ตะเปลี่ยนจากสถานะตัวอ่อน มาเป็นทารกในครรภ์ แขนขายาวขึ้น ปลายของแขนขาก็มีร่องเล็กๆ ที่จะกลายเป็นมือและเท้าเล็กๆ ต่อไป มีขนาดตัวยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร (1 นิ้ว) สมองมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เริ่มสร้างสายสะดือ หูชั้นกลาง

 สัปดาห์ที่ 9 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์



ภาพประกอบจากอินเตอร์เนท

อาการแม่
คุณแม่จะรู้สึกขี้ร้อนง่ายขึ้น เกิดจากการสันดาปในร่างกายที่เพิ่มขึ้น ฐานหัวนมมีสีคล้ำขึ้น มีตุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นโดยรอบ เหงือกอ่อนนุ่มลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ถ้าแปรงันแรงอาจทำให้เลือดออกตามร่องฟันได้ง่ายขึ้น

ข้อควรระวัง
คุณแม่ต้องรักษาสุขภาพในช่องปากเป็นอย่างดี แปรงฟันให้สะอาด และควรไปพบทันตแพทย์ตรวจฟันอย่างสม่ำเสมอ เพราะผลของฮอร์โมนในร่างกายที่ปรับเปลี่ยนไป อาจทำให้เหงือกอักเสบได้ง่าย จึงต้องพิถีพิถันในเรื่องการแปรงฟันอย่างถูกวิธี ใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม ไปพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูน ลดแหล่งสะสมของคราบอาหารและเชื้อจุลินทรีย์

อาหารแม่
รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง นอกจากจะช่วยในส่วนของระบบขับถ่ายแล้ว กากใยเหล่านี้จะช่วยในเรื่องการทำความสะอาดฟันไปในตัวอีกด้วย และวิตามินที่ได้จากผลไม้ ก็เป็นวิตามินที่ร่างกายต้องใช้นำไปเสริมสร้างการทำงานต่างๆ ในร่างกายให้เป็นระบบ แถมยังเป็นอาหารว่างที่ทดแทนอาหารจำพวกขนมหวานได้เป็นอย่างดี

ลูกในท้อง
สัปดาห์นี้ทารกมีความยาว 3-4 เซนติเมตร (เท่าๆ กับผลสตรอเบอรี่) สามารถเคลื่อนไหวได้เล็กน้อย เห็นปากกับจมูกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ระบบประสาท และระบบทางเดินอาหารพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว สมองมีขนาดใหญ่ขึ้น



สัปดาห์ที่ 10 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
บางท่านอาจรู้สึกว่าช่องคลอดบวม แต่ไม่เจ็บปวดใดๆ มีตกขาวหรือสีใสเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีกลิ่น ก็ถือว่าเป็นเรื่องกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าตกขาวมีสีเปลี่ยนไป มีกลิ่นรุนแรง ต้องรีบปรึกษาแพทย์

ข้อควรระวัง
คุณแม่ต้องคอยสังเกตอาหารต่างๆ ของตัวเอง เช่น ตกขาวมีมากจนผิดปกติหรือไม่ มีเลือดออกจากช่องคลอดหรือไม่ มีอาหารปวดท้องผิดปกติหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ แม้บางครั้งดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็ต้องหมั่นสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

อาหารแม่
แคลเซียม แร่ธาตุสำคัญอีกตัวหนึ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องการมาก รวมทั้งลูกในท้องด้วย เพราะแคลเซียมเป็นแร่ธาตุ ที่ช่วยเสริมสร้างให้กระดูกและฟันของแม่แข็งแรง ช่วยให้การส่งข้อมูลของระบบประสาทของลูกในท้องเป็นไปอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งการทำงานของกล้ามเนื้อ
แหล่งแคลเซียมที่สำคัญได้แก่ นม ปลาตัวเล็ก กุ้งแห้ง ผักใบเขียว

ลูกในท้อง
มองเห็นใบหูส่วนนอกติดกับศีรษะชัดเจนขึ้น สมองมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว นิ้วมือนิ้วเท้าเริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้น แต่ยังคงยึดติดกันอยู่ มองโดยรวมจะเห็นว่ามีรูปร่างหน้าตาคล้ายคนมากยิ่งขึ้น ในสัปดาห์นี้ลูกน้อยมีความยาวประมาณ 4.5 เซนติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ 5 กรัม


สัปดาห์ที่ 11 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
คุณแม่จะรู้สึกอึดอัดหายใจไม่สะดวก ต้องการหายใจให้เต็มปอดมากกว่าเดิม ต้องการออกซิเจนมากขึ้น นั่นเป็นเพราะร่างกายต้องการอากาศมากขึ้น ให้คุณแม่หลีกเลี่ยงการเดินในที่ที่มีควันรถมาก เพราะอาจจะทำให้หน้ามืด เป็นลมได้

ข้อควรระวัง
คุณแม่ไม่ควรอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทไม่ดี ต้องมีการทำความสะอาดบ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้ฝุ่นต่างๆ เป็นการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงระกว่างตึ้งครรภ์ จัดเก็บเครื่องเรือนหรือุปกรณ์ที่อาจจะทำให้ลื่นหกล้มโดยง่ายออกไป และหาเวลาพักผ่อนให้มากเท่าที่ร่างกายต้องการ

อาหารแม่
ในช่วงนี้หลายท่านอาจจะอย่ารู้สึกรับประทานอาหารแปลกๆ ที่ตัวเองไม่เคยอยากมาก่อน ให้พิจารณาว่าถ้าเป็นอาหารที่ไม่เป็นอันตรายก็สามารถรับประทานได้ แต่ถ้าเป็นอาหารหมักดอง อาหารที่มีผงชูรสในปริมาณสูง อาหารปรุงแต่งที่ไม่แน่ใจในกระบวนการผลิต ควรหลีกเลี่ยงจะดีที่สุด

ลูกในท้อง
เมื่อเข้าสู่สัปดาห์นี้ ตับเริ่มผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง ไตก็เริ่มทำงานเช่นกัน มองเห็นเค้าโครงใบหน้าสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขนาดของศีรษะยังใหญ่กว่าส่วนอื่น เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของสมอง หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ลูกในท้องมีความยาว 5.5 เซนติเมตร หนัก 10 กรัม

สัปดาห์ที่ 12 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
รูปร่างคุณแม่จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เอวค่อยๆ หนาขึ้น เริ่มมีหน้าท้องขึ้นน้อยๆ เพราะมดลูกเริ่มขยายตัวให้มีพื้นที่รองรับต่อการเจริญเติบโตของลูก ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์น้ำหนักตัวอาจจะขึ้นมาเพียง 1-2 กิโลกรัม แต่ถ้ามีอาการแพ้ท้องมาก อาเจียนมาก รับประทานอาหารไม่ลง ก็เป็นไปได้ว่าน้ำหนักตัวจะไม่ขึ้นหรือลดไปเล็กน้อย

ข้อควรระวัง
คุณแม่ที่ชินกับการสวมใส่เสื้อผ้าที่พอดีตัวจะรู้สึกอึดอัด เพราะเอวเริ่มขยาย ดังนั้นควรหาเสื้อผ้าตัวหลอมมาใส่แทนชุดเดิม บางท่านอาจจะยังรู้สึกว่าชุดคลุมท้องอาจจะใหญ่เกินไป ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นกางเกงหรือประโหรงยางยืด หรือจะหาแบบที่เลื่อนไซส์ได้ เปลี่ยนไซส์ยกทรงให้ใหญ่กว่าเดิม 2 ไซส์ (บางท่านอาจจะขยายใหญ่กว่านี้) เผื่อไปถึงช่วงหลังคลอด และควรสวมใส่รองเท้าส้นเตี้ย หรือไม่มีส้น พื้นไม่ลื่น ใส่สบาย

อาหารแม่
ในบรรดาสารอาหารต่างๆ โปรตีนมีส่วนสำคัญในการสร้างและซ่อมแซมเซลล์ กล้ามเนื้อ อวัยวะ เนื้อเยื่อ การผลิตเอนไซน์ต่างๆ ถ้าคุณแม่ไม่มีอาการแพ้ หรือมีอาการน้อยลง ก็ให้เพิ่มอาหรจำพวกเนื้อสัตว์ โดยเลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ปลา ถั่ว ไข่ และควรรับประทานให้ครบทั้ง 5 หมู่ทุกวัน

ลูกในท้อง
ลูกในท้องมีอวัยวะครบหมดทุกส่วนแล้ว หัวใจลูกน้อยจะเต้นประมาณ 110-160 ครั้งต่อนาที และหน้าอกเริ่มขยับขึ้นลงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเป็นการรองรับระบบการหายใจต่อไป และกำลังสร้างอวัยวะเพศภายใน

ทารกยาว 6.5 เซนติเมตร หนัก 20 กรัม


 เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 กันแล้วนะคะ


สัปดาห์ที่ 13 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์


อาการแม่
หน้าท้องคุณแม่เริ่มนูนออกมาน้อยๆ เห็นเส้นเลือดบริเวณเต้านมชัดและมากขึ้น บางท่านอาจมีอาการแพ้ท้องลดลง แต่ถ้าท่านไหนที่ยังแพ้ท้องมากอยู่ควรปรึกษาแพทย์

ข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าท้องคุณแม่จะยังไม่ใหญ่ แต่ก็ต้องระมัดระวังการกระทบกระเทือนให้มาก นอนพักผ่อนให้เพียงพอ

อาหารแม่
มีคำกล่าวว่า ถ้าอยากรับประทานอาหารอะไร เป็นไปได้ว่าร่างกายต้องการสารอาหารตัวนั้น แต่ก็ยังไม่มีอะไรพิสูจน์คำกล่าวนี้ ถ้าอาหารที่คุณแม่อยากมีประโยชน์ เช่น ผลไม้สด คุณแม่สามารถรับประทานได้ แต่ถ้าอาหารนั้นอาจก้อให้เกิดโทษ เช่น น้ำอัดลม ของหมักดอง ก็อยากให้คุณแม่เลี่ยงจะดีที่สุด

ลูกในท้อง
กระดูกค่อยๆ เจริญเติบโต ขากรรไกรมีเหง้าฟันครบ 32 เหง้า เริ่มดูดปาก กลืนน้ำคร่ำ และปล่อยเป็นปัสสาวะออกมา เล็บและผมยาวขึ้น รกเป็นแหล่งอาหารและออกซิเจนของทารก

ทารกยาว 7.5 เซนติเมตร หนัก 30 กรัม



สัปดาห์ที่ 14 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
ตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป จะถือว่าคุณแม่ตั้งครรภ์เข้าสู่ข่วงไตรมาสที่ 2  ซึ่งในไตรมาสแรกที่ผ่านมา บางท่านอาจจะน้ำหนักตัวไม่ขึ้น เนื่องจากอาการแพ้ท้อง หรือโดยปกติก็มักจะขึ้นเพียง 1-2 กิโลกรัม แต่นับจากนี้ไป น้ำหนักตัวคุณแม่จะขึ้นประมาณ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์

ข้อควรระวัง
การเคลื่อนไหวร่างกายทำได้อย่างปกติ เพียงแต่ต้องเพิ่มความระวัง และลดความเร็วลงบ้าง เช่น เดินช้าลง

อาหารแม่
คุณแม่หลายท่านมีความสุขกับการรับประทานอาหารมากขึ้น ก็ให้เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพราะต่อไปนี้ลูกน้อยจะรับสารอาหารผ่านรก ซึ่งติดกับผนังมดลูกของแม่ ดังนั้นอาหารที่แม่รับประทานเข้าไป ย่อมส่งผลถึงลูกน้อยด้วย

ลูกในท้อง
รูปร่างหน้าตาเหมือนคนมากขึ้น มีคาง หน้าผาก และจมูกชัดเจนขึ้น สามารถหันศีรษะและทำหน้าผากย่นได้ รับรู้ต่อสิ่งเร้าอย่างเลียงและแสง ตอบสนองต่อการสัมผัสได้ แขนขาเห็นเป็นรูปร่างชัดเจน ไตเริ่มทำงาน มีการขัยถ่ายออกมา เนื่องจากการกลืนน้ำคร่ำของทารก

ทารกยาว 9 เซนติเมตร หนัก 60 กรัม



สัปดาห์ที่ 15 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
หัวใจทำงานหนักขึ้น เพราะมีการเพิ่มปริมาณเลือด เลือดมีการไหลเวียนมากขึ้น เพราะต้องการนำออกซิเจนไปให้ลูกด้วย ช่่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด ที่คุณจะวางแผนท่องเที่ยวก่อนที่ท้องจะใหญ่เกินไป

ข้อควรระวัง
ในการตั้งครรภ์ช่วงนี้คุณแม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้ทุกวิธี ทั้งรถยนต์ เครื่องบิน หรือนั่งเรือ แต่ระหว่างการเดินทาง โดยเฉพาะถ้าเป็นการเดินทางไกล คุณแม่ควรมีการเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ยิ่งถ้าท้องใหญ่ขึ้น ก็ต้องเคลื่อนไหวเพิ่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น ควรมีการวางแผนในเรื่องที่พัก การเดินทาง และการเตรียมพร้อมที่ดีก่อนเที่ยวเสมอ

อาหารแม่
น้ำสะอาดอย่างน้อย 1 ลิตรต่อวัน จะช่วยให้ร่างกายคุณแม่สดชื่น ลดอาการท้องผูก บรรเทาอาการแสบร้อนที่ทรวงอกได้เป็นอย่างดี ควรหลีกเลี่ยงน้ำที่ไม่แน่ใจแหล่งผลิต เพราะถ้าเกิดอาการท้องเสียขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ จะยิ่งทำให้คุณแม่อ่อนเพลีย และอาจส่งผลต่อลูกในครรภ์ไปด้วย

ลูกในท้อง
โครงกระดูกพัฒนาเร็วขึ้น แต่ยังคงเป็นกระดูกอ่อนอยู่ และจะพัฒนาเป็นกระดูกแข็งต่อไป ส่วนขายาวกว่าส่วนแขน ผมหนาขึ้น เริ่มมีขนตาและคิ้ว สามารถได้ยินเสียงในท้อง เช่นเสียงท้องร้อง เสียงหัวใจแม่

ทารกยาว 12 เซนติเมตร หนัก 100 กรัม


สัปดาห์ที่ 16 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
ส่วนใหญ่อาการแพ้ท้องมักจะหายไปแล้วเมื่อเข้าสู่สัปดาห์นี้ คุณแม่จะรู้สึกเป็นสุข มีความสุขกับการตั้งครรภ? บางท่านอาจจะรู้สึกเหมือนมีอะไรมาสะกิดภายในหน้าท้องเบาๆ บ้างแล้ว (ลูกน้อยกำลังขยับตัวไปมา) แต่โดยส่วนมากแล้วคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แรกอาจจะยังไม่รู้สึก และอยากอาหารมากขึ้น

เจาะน้ำคร่ำ
ถ้าคุณแม่อายุเกิน 35 ปีแล้ว หรือมีประวัติเคยมีลูกที่ผิดปกติทางพันธุกรรม หรือมีความผิดปกติทางพันธุกรรมในครอบครัว แพทย์จะแนะนำให้เจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซม ที่พบบ่อยที่สุดคือ ดาวน์ซินโดรม โดยจะเจาะในช่วงอายุครรภ์ 16-18 สัปดาห์ ซึ่งการเจาะคุณหมอจะทำการอัลตร้าซาวน์ เพื่อหาตำแหน่งที่ไม่โดนตัวเด็ก จากนั้นก็ทายาฆ่าเชื้อบริเวณที่จะเจาะ ฉีดยาชา แล้วใช้เข็มยาวเจาะเข้าไปจนถึงมดลูกดูดน้ำคร่ำออกมาเล็กน้อย (20 ซีซี) ใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จึงจะทราบผล

อาหารแม่
อาหารจำพวกไส้กรอก ลูกชิ้น กุนเชียง หมูยอ แหนม อาหารสำเร็จรูป ไม่ได้ห้ามไม่ให้รับประทาน เพียงแต่ไม่อยากให้รับประทานบ่อย เพราะการแปรรูปอาหารเหล่านี้ผ่านกระบวนการและสารเคมีมากพอสมควร ถ้าเป็นอาหารแปรรูปที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ จากหน่อยงานที่รับผิดชอบด้วยแล้ว ยิ่งไม่มีความปลอดภัย พิษภัยของอาหารอาจจะไม่ได้ปรากฏผลทันทีทันใด จาอาจส่งผลระยะยาวก็เป็นได้

ลูกในท้อง
ทารกเริ่มเคลื่อนไหวไปรอบๆ มากขึ้น บางครั้งคุณอาจจะรู้สึกได้บ้างว่าลูกมีการเคลื่อนไหว มีขนอ่อนขึ้นตามร่างกาย ระบบประสาทกำลังสร้างปลอกหุ้มรอบเส้นใยประสาท ซึ่งช่วยให้ระบบประสาทเชื่อมต่อกันเร็วขึ้น

ทารกยาว 16 เซนติเมตร หนัก 135 กรัม


 สัปดาห์ที่ 17 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์



ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต

อาการแม่
พอถึงช่วงเวลานี้ ช่วงเอวเป็นเส้นตรงไหแล้ว เพราะมดลูกที่ขยายขึ้นรองรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย ใครที่ยังไม่ได้ซื้อชุดคลุมท้องอย่างเป็นจริงเป็นจัง ก็จำเป็นต้องหาซื้อมาใส่ได้แล้ว เพราะจะทำให้คุณเคลื่อนไหวได้สบายกว่ามาก
คุณแม่บางท่านอาจจะเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับเหงือก ถ้ายังไม่เคยพบทันตแพทย์เลย ช่วงนี้เป็นอีกช่วงที่ควรไปหาทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพฟัน เหงือก และรับคำแนะนำในการดูแลช่องปากระหว่างตั้งครรภ์ และถ้าคุณแม่เป็นสาวทำงาน ก็ควรจะมีการวางแผนในการทำงาน เพื่อการลาคลอดเอาไว้แต่เนิ่นๆ ด้วย พอใกล้คลอดจริงๆ จะได้ไม่ฉุกละหุก ไม่เครียด และไม่เหนื่อยจนเกินไป

อาหารแม่
มาถึงช่วงนี้คุณแม่เริ่มรับประทานอาหารเก่งขึ้น อยากรับประทานมากขึ้น ใครที่ชอบเรื่องอาหารการกินเป็นทุนเดิม เห็นว่าตัวเองท้อง ยังไงก็ต้องอ้วน ก็เลยตามใจปาก แบบนี้ก็ไม่ดีอีกค่ะ เพราะจะทำให้คุณแม่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์มากๆ ได้ มีผลต่อการคลอด แล้งหลังคลอดจะลดยากมากๆ โดยเฉพาะขนมหวานที่อุดมไปด้วยแป้งและน้ำตาล รับประทานได้ค่ะ แต่อย่าให้มากเกินไปเท่านั้นเอง

ลูกในท้อง
ทารกเริ่มขมวดคิ้วได้ แขนขนสมบูรณ์มากขึ้น เริ่มมีผิวหนังและกล้ามเนื้อ กำลังพัฒนาระบบรับรส สามารถแยกรสชาติน้ำคร่ำได้

ทารกยาว 18 เซนติเมตร หนัก 185 กรัม



สัปดาห์ที่ 18 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
ช่วงนี้คุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นได้ชัดเจนขึ้น คุณแม่อาจจะหายใจไม่ค่อยสะดวก เหมือนมีอะไรขวางทางเดินหายใจภายในโพรงจมูก คุณอาจจะสังเกตเห็นว่าบางครั้งจะมีตกขาวใสๆ บ้าง ซึ่งสิ่งที่กล่าวมาล้วนเป็นเรื่องปกติขณะตั้งครรภ์

อาหารแม่
อยากจะชวนแม่ตั้งครรภ์ทุกท่านมากินปลา ก็เลยหาคุณค่าของปลามาฝากกัน

ปลามี...
โปรตีน 17-23% ซึ่งช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ให้สภาพดีดังเดิม แถมยังเป็นโปรตีนที่ร่างกายย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ
กรดอะมิโน มีหลายชนิดแต่ที่สำคัญคือ ไลซีน ทรีโอนิน ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาสมอง เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ช่วยให้นอนหลับสนิท ไม่แก่ก่อนวัย
โอเมก้า 3 เป็นกรดไขมันจำเป็น เป็นไขมันที่ไม่ได้ทำให้อ้วน แต่ช่วยป้องกันโรค เพราะไปช่วยป้องกันการสะสมตัวของไขมันอิ่มตัว(คอเรสเตอรอล) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ ที่สำคัญกว่านั้น โอเมก้า 3 ยังช่วยลดความเครียด บรรเทาอาการซึมเศร้า ลดการอักเสบของผิวหนัง ลดอาการไขข้ออักเสบ และไม่ทำให้อ้วน
นอกจากนี้ก็ยังมีไอโอดีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 บี 2 ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อตัวคุณแม่และลูกในครรภ์

ลูกในท้อง
ลูกดูดหัวแม่มือได้แล้ว ลูกน้อยกำลังฝึกหายใจเอาน้ำคร่ำเข้าปอด และหายใจออก โดยการปล่อยน้ำคร่ำออกมา ผิวหนังยังย่นๆ อยู่ เพราะยังไม่มีการสร้างไขมันใต้ผิวหนัง

ทารกยาว 21 เซนติเมตร หนัก 235 กรัม


สัปดาห์ที่ 19 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
ตอนนี้ลองสังเกตช่วงล่างบริเวณบั้นท้าย สะโพก ต้นขา จะมีเนื้อมากขึ้น ช่วงสะโพก บั้นท้ายกลมขึ้น จากการขยายตัวของมดลูก และการปรับสภาพภายในร่างกาย เพื่อความพร้อมในการคลอด
เส้นเลือดเล็ก เห็นชัดขึ้นบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีผิวค่อนข้างขาว เพราะมีการไหลเวียนของโลหิตเพิ่มมากขึ้น และจะหายไปเองหลังจากคลอดลูกแล้ว

อาหารแม่
สำหรับคุณแม่ที่ไม่ชอบรับประทานเนื้อสัตว์ หรือเป็นคุณแม่ที่รับประทานมังสวิรัติ แต่กลัวว่าจะขาดโปรตีน ให้คุณแม่รับประทานไข่ไก่อย่างน้อยวันละ 1 ฟอง และอาหารจำพวกเต้าหู้ จะเป็นตัวที่ช่วยเสริมโปรตีนให้คุณได้เป็นอย่างดี

ลูกในท้อง
ในสัปดาห์นี้ อารกทำน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เซลล์สมองยังคงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ประสาทไขสันหลังเริ่มหนาตัวขึ้น

ทารกยาว 23 เซนติเมตร หนัก 285 กรัม



สัปดาห์ที่ 20 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
ช่วงนี้ ทุกคนจะเห็นว่าคุณเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างชัดเจน สะดืออาจจะแบนราบ หรือจุ่นออกมา และจะอยู่แบบนี้ไปจนหลังคลอด มีอาการเสียดท้องเกิดขึ้นได้บ่อยๆ

ข้อควรระวัง
คุณแม่ควรรับประทานอาหารให้ช้าลง เคี้ยวอาหารให้ละเอียด เพื่อช่วยให้กระเพาะอาหารทำงานสบายขึ้น

อาหารแม่
ที่แนะนำให้แม่ตั้งครรภ์รับประทานไข่ เป็นเพราะว่า ไข่เป็นอาหารที่ให้โปรตีนสูง และเป็นโปรตีนที่สมบูรณ์ คือ มีกรดอะมิโนครบทุกชนิด ตามที่ร่างกายต้องการ และยังมีแร่ธาตุที่สำคัญอีกมากมาย เช่น วิตามินเอ บี อี ดี ไอโอดีน ฟอสฟอรัส
การรับประทานไข่ให้ได้คุณค่า ต้องเลือกไข่ที่สด สะอาด ปรุงสุกทั้งไข่แดงและไข่ขาว

ลูกในท้อง
ช่วงนี้ลูกในครรภ์จะเจริญเติบโตข้าลง แต่ไปเร่งให้ระบบต่างๆ ในร่างกายพัฒนาอย่างเต็มที่แทน เริ่มสร้างไขมันเพื่อปกป้องผิวจากน้ำคร่ำ

ทารกยาว 25.5 เซนติเมตร หนัก 340 กรัม


 สัปดาห์ที่ 21 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
เห็นหน้าท้องเคลื่อนไหว เมื่อลูกเคลื่อนไหวได้ชัดเจนขึ้น รู้สึกหายใจได้ไม่ค่อยลึก หรือหายใจเพียงเบาๆ ก็เพมือนกระบังลมจะยกขึ้นมากกว่าเดิม คุณอาจรู้สึกเพลียง่าย หมดแรงง่าย

อาหารแม่
เต้าหู้ มีปริมาณโปรตีนสูงมาก หรืออาจจะมากกว่าเนื้อสัตว์บางชนิด เป็นอาหารย่อยง่าย ที่สำคัญคือมีเลซิติน ที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาท ยังมีใยอาหารที่เข้าไปช่วยการทำงานของระบบลำไส้

ลูกในท้อง
ช่วงนี้ลูกน้อยแอคทีฟมากขึ้น และจะรู้สึกได้ว่าลูกน้อยเตะหน้าท้องเบาๆ อยู่บ่อยๆ มีการสร้างปุ่มรับรัส รับรู้รสของน้ำคร่ำว่าหวาน หรือขมได้แล้ว และดื่มน้ำคร่ำในปริมาณมากขึ้น

ทารกยาว 28 เซนติเมตร หนัก 390 กรัม


สัปดาห์ที่ 22 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
บางครั้งอาจจะรู้สึกแน่นช่วงหน้าอกบ้าง เนื่องจากท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น สูงขึ้น จนเบียดเนื้อที่ของปอด รู้สึกอีดอัดในท่านั่งปกติ ให้คุณแม่ลองยกแขนสูงชูเหนือศีรษะหายใจเข้าลึกๆ จะรู้สึกดีขึ้น

อาหารแม่
ชั่วโมงเร่งด่วนที่ต้องทำงานนอกบ้าน ควรเตรียมอาหารไว้ในยามจำเป็น เพราะการทานอาหารให้ได้คุณค่าอาจทำได้ยาก ดังนั้นควรเก็บอาหารสดสำรองติดบ้านไว้บ้าง เช่น มีผักหลายชนิดแช่ไว้ในตู้เย็น มีเนื้อสัตว์และปลาพอสมควรในช่องแช่แข็ง และนำออกมาใช้ ตามความต้องการในแต่ละมื้อได้สะดวก ซื้อสลัดผักสดเก็บไว้ในตู้เย็น อาจจะปรุงอาหารไว้ก่อนแล้วแช่แข็งเก็บไว้ เมื่อต้องการทานก็นำมาอุ่นใหม่ได้สะดวก ในยามเร่งรีบ

ลูกในท้อง
หูเป็นรูปร่างสมบูรณ์ ประสาทหูพัฒนาขึ้นมามาก อาจเรียนรู้เสียงจากภายนอกท้องแม่ได้ สามารถตอบสนองต่อเสียงภายนอก เช่น เสียงพ่อแม่ เสียงดนตรี ซึ่งการใช้ดนตรีตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป จะช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์สมองลูกน้อย


สัปดาห์ที่ 23 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
บางครั้งคุณแม่อาจจะรู้สึกเจ็บจี๊ดๆ เหมือนมีเข็มเล็กๆ ทิ่ม นั่นเป็นเพราะกล้ามเนื้อท้องมีการเกร็งตัว ให้คุณแม่นั่งพักสักครู่ ถ้าอาการเกร็งหายไปก็จะไม่เจ็บ แต่ถ้าเจ็บมากจนผิดสังเกต ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

อาหารแม่
คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารต่างๆ ที่ไร้ประโยชน์ เพราะอาหารหลายชนิดที่เห็นตามท้องตลาดไม่มีคุณค่าทางอาหารใดๆ นอกจากแป้ง น้ำตาล และสารให้รสหวานทุกชนิด เช่น น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลเทียม  ขัณฑสกร ขนมหวาน ทองหยิบ ทองหยอด เครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม น้ำผลไม้กระป๋อง ขนมเค้ก โดนัท ซึ่งมีแป้งเป็นส่วนประกอบหลัก ผลไม้กระป๋องแช่น้ำเชื่อม ไอศกรีมรสหวานจัด เครื่องปุรงอาหารที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบสูง เช่น น้ำสลัด น้ำจิ้มที่มีรสหวานจัด เป็นต้น

ลูกในท้อง
เมื่อถึงช่วงนี้ ลูกจะมีลักษณะคล้ายช่วงแรกเกิดมากขึ้น ส่วนศีรษะได้สัดส่วนพอเหมาะกับลำตัว สามารถกำมือได้แล้ว แขน ขา พัฒนาเต็มที่ ในเด็กผู้ชายถุงอัณฑะพัฒนาเกือบสมบูรณ์ ส่วนเด็กผู้หญิงก็พัฒนารังไข่โดยมีไข่เป็นหมื่นผองอยู่เรียบร้อยแล้ว

ทารกยาว 31 เซนติเมตร หนัก 440 กรัม


สัปดาห์ที่ 24 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
คุณแม่จะรู้สึกว่าตัวหนาขึ้น รู้สึกเมื่อยต้นขาและเท้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะคุณแม่ที่ต้องเดินหรือยืนบ่อยๆ เป็นเพราะน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 14 อย่างต่อเนื่อง

ข้อควรระวัง
ช่วงนี้คุณแม่ต้องมั่นใจว่าหารองเท้าสบายๆ พื้นไม่ลื่น มาเป็นรองเท้าคู่ใจเรียบร้อยแล้ว ถ้าใครรู้สึกท้องหนัก ก็อาจจะหากางเกงพยุงท้องมาใส่ก็ได้เช่นกัน และการเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ ต้องทำด้วยความระมัดระวังมากขึ้น เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้ปวดหลังได้

อิริยาบถที่ถูกต้อง
นั่งทำงาน – นั่งหลังตรง มีพนักพิง โดยหาหมอนใบเล็กๆ มาดันส่วนโค้งของหลังไว้ หรับระดับความสูงของเก้าอี้ให้พอดี คือ เท้าสามารถเหยียบพื้นได้เต็มเท้า หรือหาเก้าอี้ตัวเล็กๆ มาวางรองไว้ใต้ขา  เพื่อไม่ให้เส้นเลือดใต้ขาถูกกดทับเกินไป และควรลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง
ถือของ – ถ้าเป็นของหนักควรแบ่งถือ 2 ข้างเท่าๆ กัน และถ้าต้องยกของจากพื้น ต้องนั่งคุกเข่าเอาไว้ ห้ามก้มลงไปยกขึ้นมา จะทำให้ปวดหลังได้
นอน – ท่าที่เหมาะที่สุดสำหรับคนท้องคือ การนอนตะแคง แล้วใช้หมอนใบเล็กรองเท้า และหัวเข่าเอาไว้ ถ้านอนหลาย เมื่อท้องแก่ เส้นเลือดด้านหลังอาจถูกกดทับ

ลูกในท้อง
การฟังเสียงดีขึ้น เริ่มแยกแยะเสียงได้ สามารถลืมตาได้ ผิวหนังหนาขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงโปร่งใส มองเห็นเส้นเลือดได้อยู่ คุณหมอสามารถฟัง และวัดอัตราการเต้นหัวใจของลูกน้อยในครรภ์ได้ ถุงลมในปอดพัฒนาสมบูรณ์แล้ว แต่การทำงานเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจยังไม่สมบูรณ์

ทารกยาว 33 เซนติเมตร หนัก 500 กรัม

 สัปดาห์ที่ 25 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์



ภาพประกอบจากอินเตอร์เนท

อาการแม่
คุณแม่อาจจะได้รับคำชมว่า ทำไมเปล่งปลั่งขึ้น หน้ามีเลือดฝาดมากขึ้น นั่นเป็นเพราะการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดใต้ผิวหนัง และเมื่อมดลูกขยายขึ้น ก็ทำให้ คุณแม่รู้สึกปวดปัสสาวะได้บ่อยขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะไปเบียดเนื้อที่กระเพาะปัสสาวะ อาการตะคริว แสบร้อยในอก และแวดหลัง สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป

อาหารแม่
อย่างที่ทราบกันดีว่าเมืองไทยเป็นเมืองร้อน เชื้อโรคย่อมเจริญเติบโตในอาหารได้ดียิ่ง และเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการเฝ้าคอยระวังเรื่องการปรุง และการเก็บรักษาอาหารเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เมื่อจะปรุงเนื้อสัตว์ต้องมั่นใจเสมอว่าเนื้อสัตว์นั้นสุกแล้วจริงๆ หลีกเลี่ยงอาหารกระป๋องทุกชนิด โดยเฉพาะที่มีรอยบุบ ขึ้นสนิม บวมพอง หรือมีกลิ่นไม่ดี สำหรับเครื่องดื่มประเภทนม ต้องแน่ใจว่าผ่านการฆ่าเชื้ออย่างดี อาหารค้างคืนให้อุ่นได้อีกเพียง 1 ครั้ง ถ้ามีกลิ่นไม่ดีไม่ควรรับประทาน อาหารสดแช่แข็ง เมื่อนำมาละลายแล้ว ไม่ควรนำกลับไปแช่แข็งใหม่ ควรกะปริมาณให้พอดีเท่าที่คุณแม่ต้องการใช้เท่านั้น

ลูกในท้อง
เซลล์สมองพัฒนาอย่างต่อเนื่อง กระดูกส่วนกลางลำตัวเริ่มแข็งมากขึ้น ลูกน้อยฝึกการหายใจอย่างขะมักเขม้น บางครั้งคุณแม่จะรู้สึกได้ว่าลูกน้อยสะอึก

ทารกยาว 34 เซนติเมตร หนัก 600 กรัม



สัปดาห์ที่ 26 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
อาทิตย์สุดท้ายก่อนเข้าสู่ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 คุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านต้องมีการวางแผนแล้วว่า จะหยุดทำงานตั้งแต่เมื่อไหร่ การลางานล่วงหน้าเพื่อเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน จะได้รู้กำหนดการคลอด การลาของคุณ และช่วงเวลาต่อไปนี้ จะเป็นช่วงที่คุณแม่เตรียมตัวเตรียมใจเข้าสู่การคลอด บางท่านอาจจะมีอาการเส้นเลือดขอดบริเวณน่อง เท้า เกิดขึ้นมาได้

เส้นเลือดขอด
เกิดจากเลือดส่วนปลายขา ไม่สามารถไหลเวียนกลับเข้าสู่การสูบฉีดของหัวใจได้ตามปกติ ซึ่งเส้นเลือดดำนี้ จะมีลิ้นเปิดปิด เพื่อกักเลือดไม่ให้ไหลย้อนกลับลงข้างล่างตามแรงโน้มถ่วง เมื่อลิ้นนี้อ่อนแอ เลือดก็จะย้อนมารวมกันที่เส้นเลือดด้านล่าง ไปค้างอยู่ในหลอดเลือด จาทำให้บริเวณนั้นมีเส้นเลือดที่ขดหรือขมวด ปูกออกมาเป็นสีม่วงคล้ำ บางครั้งอาจจะมีอาการปวด

บางท่านอาจะเกิดเส้นเลือดขอดเล็กน้อยระหว่างตั้งครรภ์ บางท่านเป็นอยู่แล้ว แต่เมื่อตั้งครรภ์อาจมีอาการมากขึ้นได้ หรือไม่เป็นเลยก็ได้  วิธีบรรเทาปวดคือ ใช้ผ้ายืดรัดบริเวณที่เป็น จะช่วยบรรเทาอาการปวด และการอยู่ในท่าที่ถูกต้อง เปลี่ยนอิริยาบถเป็นระยะ ไม่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ

อาหารแม่
คุณแม่รู้หรือไม่ว่า ไขมันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการสร้างเซลล์สมอง และประสาทของลูกน้อยในครรภ์ (พบไขมันมากถึง 60%) และไขมันที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ คือ โอเมก้า 3 (DHA) ซึ่งได้จากปลาทะเล และสาหร่ายทะเลเป็นส่วนใหญ่ ส่วนไขมันอีกชนิดหนึ่งที่จำเป็นเช่นกัน คือ โอเมก้า 6 พบได้ในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน ดอกคำฝอย
ดังนั้นคุณแม่ควรรับประทานอาหารทะเล อย่างน้อยลองครั้งต่อสัปดาห์

ลูกในท้อง
ลูกเริ่มตื่นและนอนเป็นเวลา เริ่มสร้างไขมันใต้ผิวหนัง ซึ่งจะเป็นตัวช่วยรักษาระดับอุณหภูมิในร่างกายลูกน้อย ตั้งแต่อยู่ในครรภ์และหลังคลอด แต่น้ำยังซึมผ่านผิวหนังเข้าไปได้อยู่ ชอบเคลื่อนไหวมากขึ้น

ทารกยาว 35 เซนติเมตร หนัก 700 กรัม


สัปดาห์ที่ 27 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
เวลาคุณแม่รับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ หรือหิว อาจจะรู้สึกแสบร้อนบริเวณทรวงอก เนื่องจากมดลูกที่ขยายตัวไปเบียดอวัยวะภายในอื่นๆ น้ำย่อยอาจจะมีการไหลเข้ามาบริเวณหลอดอาหาร

อาหารแม่
ไม่ควรรับประทานอาหารรสเผ็ด หรือรสจัดจนเกินไป ใส่เสื้อชั้นในให้ถูกกับขนาดของเต้านม ไม่คับจนเกินไป จะทำให้อึดอัด

ลูกในท้อง
เป็นอีกช่วงหนึ่งที่น้ำหนักตัวลูกน้อย จะเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว ลูกน้อยลืมตาได้มากขึ้น สามารถมองเห็นแสงที่ผ่านมาทางหน้าท้องคุณแม่ และกำลังฝึกการดูดเพื่อวางพื้นฐานในการดูดนมแม่หลังคลอด

ทารกยาว 36 เซนติเมตร หนัก 800 กรัม



สัปดาห์ที่ 28 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
สัปดาห์นี้ภายในเต้านมจะผลิตหัวน้ำนม หรือที่เรียกว่าคอลอสตุม (Colostrums) เราจะคุ้นเคยในชื่อน้ำนมเหลือง ซึ่งจะออกเพียง 2-3 วันแรกของการคลอดเท่านั้น เป็นน้ำนมที่มีคุณค่ามากสำหรับลูกน้อย เพราะอุดมไปด้วยภูมิคุ้มกัน

ลูกในท้อง
อวัยวะต่างๆ ฟอร์มตัวขึ้นครบสมบูรณ์แล้ว ระบบภายในต่างๆ ก็เริ่มทำงานแต่ยังไม่สมบูรณ์ดีนัก ถ้าทารกคลอดออกมาในช่วงนี้ก็มีโอกาสรอดชีวิต แต่ก็ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ 150 ครั้งต่อนาที

ทารกยาว 37 เซนติเมตร หนัก 900 กรัม


 สัปดาห์ที่ 29 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์



ภาพประกอบจากอินเตอร์เนท

อาการแม่
บางครั้งเมื่อลูกดิ้น หรืออิงกับผนังหน้าท้องด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อคุณคลำดู อาจจะพอเดาได้ว่านี่เป็นเท้า หรือก้นลูก ตั้งแต่สัปดาห์นี้ คุณมาอาจมีน้ำหนักตัวขึ้นถึงสัปดาห์ละ 1 กิโลกรัม

ลูกในท้อง
รอบตัวลูกน้อยมีไขมันเคลือบตัวอยู่ ถุงลมปอดพัฒนาอย่างสมบูรณ์ คิ้วและขนตายาว และเต็มมากขึ้น สายตาเริ่มโฟกัสได้

ทารกยาว 38 เซนติเมตร หนัก 1000 กรัม


สัปดาห์ที่ 30 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
มาถึงสัปดาห์นี้ คุณแม่จะดูอุ้ยอ้ายขึ้น เคลื่อนไหวช้าลง ก็ไม่ต้องกังวลใดๆ เพราะเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงตั้งครรภ์ ต้องระมัดระวังเรื่องท่าทางที่อาจทำให้ปวดหลังได้ง่าย เช่น ท่ายกของ ท่านอน ถ้าคุณเดินเร็ว หรือเดินขึ้นบันไดมากเกินไป ก็จะทำให้หายใจไม่สะดวกง่ายขึ้น

ลูกในท้อง
คุณแม่อาจจะรู้สึกลูกเคลื่อนไหวช้าลง หรือน้อยลงไปมาก เพราะลูกในครรภ์ตัวโตขึ้น พื้นที่ในท้องมีจำกัด แต่ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะลูกน้อยจะอยู่อย่างอุ่นสบายในท้องคุณแม่เหมือนเดิม และถ้าลูกน้อยขยับแขน ขา หรือพลิกตัว คุณแม่จะสามารถรู้สึก หรือจับส่วนใดส่วนหนึ่งของลูก ที่ดันหน้าท้องคุณแม่ออกมาได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ทารกยาว 39 เซนติเมตร หนัก 1100 กรัม


สัปดาห์ที่ 31 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
การหายใจไม่เต็มอิ่ม ทำให้คุณแม่หลายคนอึดอัดมากในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ออกแรงมากเกินไป คุณต้องทำอะไรช้าลง คุณอาจจะไม่ใส่เสื้อยกทรงช่วงนอน จะทำให้หายใจสะดวกขึ้น หรือเลือกเสื้อชั้นในที่เหมาะแก่การใส่นอนโดยเฉพาะ

ลูกในท้อง
อวัยวะต่างๆ ครบถ้วนสมบูรณ์เต็มที่ ปอดแข็งแรงขึ้น ระบบประสาทและเซลล์สมองยังมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการส่งสัญญาณสื่อประสาท เพื่อเพิ่มระดับการทำงานของสมองมากขึ้น ลูกน้อยสามารถรับรู้ความเจ็บปวดได้แล้ว

ทารกยาว 40 เซนติเมตร หนัก 1400 กรัม


สัปดาห์ที่ 32 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
ถ้าคุณรู้สึกอุ้ยอ้ายมาก ควรจะมีแผนแล้วว่า จะมีการเตรียมตัวคลอดอย่างไร มีแผนการลางานอย่างไร อย่าลิมใช้เวลาว่างในการพูดคุยกับลูก หลายคนมีอาการมือเท้าบวม

ลูกในท้อง
กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น ค่อนข้างเคลื่อนไหวเป็นช่วงเวลา เมื่อลูกน้อยขยับตัวแต่ละครั้ง อาจจะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บได้บ้าง โดยเฉพาะทารกที่ดิ้นเก่งๆ ในช่วงสัปดาห์นี้ ทารกอาจจะกลับหัวลงไปด้านล่างมดลูกก็ได้

ทารกยาว 40.5 เซนติเมตร หนัก 1600 กรัม


 สัปดาห์ที่ 33 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
น้ำหนักคุณแม่ขึ้นช้าลง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหยุดอยู่แค่นี้ จะเพิ่มขึ้นอีก ให้คุณแม่หาเวลาว่างนั่งพักแล้วฟังเพลงสบายๆ เป็นการผ่อนคลายความเครียด และลูกน้อยในครรภ์ก็จะได้ฟังไปพร้อมๆ กับคุณแม่ด้วย

ลูกในท้อง
ไขมันที่เคลือบหุ้มตัวหนาขึ้น ผมและเล็บยาวขึ้น ผิวเรียบยิ่งขึ้น แต่ก็ยังย่นอยู่เล็กน้อย ปอดได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ระบบการหายใจพร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอก

ทารกยาว 41.5 เซนติเมตร หนัก 1800 กรัม


สัปดาห์ที่ 34 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
อาหารมือเท้าบวมอาจทำให้คุณแม่หลายคนวิตกกังวล ซึ่งทุกครั้งที่พบแพทย์ คุณหมอจะตรวจอย่างละเอียด

ลูกในท้อง
ช่วงนี้เป็นช่วงที่ทารกทำน้ำหนักอีกช่วง สำหรับเด็กผู้ชายลูกอัณฑะลงมาอยู่ที่ขาหนีบเรียบร้อยแล้ว ขนคิ้ว ขนตา ขึ้นเต็มเรียบร้อย ทารกกระพริบตาได้ดีขึ้น

ทารกยาว 43 เซนติเมตร หนัก 2000 กรัม


สัปดาห์ที่ 35 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
คุณแม่จะรู้สึกหายใจลำบาก หายใจไม่เต็มปอด และกังวลเรื่องการคลอดบ่อยๆ คุณแม่ต้องพยายามทำใจให้สบาย และไปตามนัดของแพทย์ทุกสัปดาห์ รวมถึงถ้ามีอาการที่ไม่แน่ใจ เช่น มีเลือด มีน้ำไหล ปวดท้องผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ทัน

อาหารแม่
เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป จุรู้สึกอึดอัดง่ายยิ่งขึ้น คุณแม่ควรรับประทานมื้อเล็กลง ไม่นอนทันทีหลังจากรับประทานอาหาร ให้เดินช้าๆ หรือนั่งพักให้หายอึดอัดก่อน

ลูกในท้อง
ลูกน้อยเคลื่อนไหวช้าลง เพราะตัวโตขึ้น พื้นที่ในท้องน้อยลง ระบบต่างๆ พัฒนาอย่างสมบูรณ์ แต่ระบบภูมิคุ้มกันอาจจะยังพัฒนาไม่เต็มที่นัก

ทารกยาว 44.5 เซนติเมตร หนัก 2300 กรัม


สัปดาห์ที่ 36 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
ตอนนี้ยอดมดลูกของคุณแม่อยู่ใต้กระดูกหน้าอก และบางครั้งจะรู้สึกว่าท้องเกร็งบ่อยๆ ทำให้หลายท่านกังวลว่าลูกกำลังจะคลอด ซึ่งนี่เป็นการเตรียมตัวของมดลูกนั่นเอง

ลูกในท้อง
มีไขมันสะสมใต้ผิวหนังมากขึ้น ลำไส้กำลังผลิตขี้เทา (เป็นสิ่งที่เกิดจากเซลล์ที่ตายแล้ว และสารคัดหลั่งจากลำไส้และตับ)  ระบบประสาทพร้อมจะสั่งการหลังจากคลอด ทั้งเรื่องการดูด กลืน การหาว

ทารกยาว 46 เซนติเมตร หนัก 2500 กรัม


สัปดาห์ที่ 37 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์


ภาพประกอบจากอินเตอร์เนท

อาการแม่
ถ้าลูกน้อยกลับศีรษะลงมาสู่อุ้งเชิงกรานแล้ว คุณจะหายใจได้สะดวกขึ้น แต่จะเดินลำบาก คำโบราณจะเรียกว่าท้องลด คือ ถึงเวลาใกล้คลอดเต็มที และอาจจะรู้สึกเจ็บหัวหน่าว แพราะน้ำหนักมากดทับนั่นเอง

ลูกในท้อง
ทารกกำลังฝึกหายใจ เพื่อจะได้ออกมาหายใจภายนอก แต่เป็นการหายใจที่อยู่ในน้ำคร่ำอยู่ ส่วนใหญ่ทารกจะกลับหัวลงมาอยู่ในอุ้งเชิงกรานแล้วในช่วงนี้

ทารกยาว 47 เซนติเมตร หนัก 2700 กรัม


สัปดาห์ที่ 38 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
เป็นช่วงที่ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ อีกช่วงหนึ่ง เพราะมดลูกมากดทับกระเพาะปัสสาวะ เนื่องจากส่วนใหญ่ศีรษะของลูกน้อย จะกลับลงมาอยู่ด้านล่างของมดลูกแล้ว

ข้อควรระวัง
เวลาเดินคุณแม่อาจจะรู้สึกเจ็บหน่วงบริเวณหว่างขา และหัวหน่าว ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการเดินมากๆ และนั่งพักขาบ่อยๆ

ลูกในท้อง
ผิวหนังของลูกเป็นสีชมพูดีแล้ว ผมยาวประมาณ 5 เซนติเมตร เล็บงอกยาวขึ้น ไขมันที่หุ้มตัวเริ่มลอกออกไปบ้าง ทารกอาจจะคลอดออกมาในช่วงนี้ก็ได้ ซึ่งไม่ผิดปกติแต่อย่างใด

ทารกยาว 48 เซนติเมตร หนัก 2900 กรัม


สัปดาห์ที่ 39 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่
การคลอดอาจจะเกิดขึ้นช่วงไหนก็ได้ คุณแม่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยการจัดของใช้ที่จะเตรียมไปโรงพยาบาล และเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน

ลูกในท้อง
ลูกอาจจะคลอดวันใดก็ได้ เพราะตอนนี้ทุกส่วนในร่างกายลูก ได้รับการพัฒนามาอย่างสมบูรณ์ เท่าที่ธรรมชาติเอื้ออำนวยให้เจริญเติบโตในท้องแม่

ทารกยาว 49 เซนติเมตร หนัก 3000 กรัม


สัปดาห์ที่ 40 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแม่

ถ้ามาถึงช่วงนี้ คุณแม่ก็เตรียมตัวเตรียมใจต้อนรับสมาชิกใหม่ได้แล้วค่ะ อย่าลืมทำจิตใจให้สบาย เตรียมพร้อมรับหน้าที่คุณแม่อย่างเต็มตัว

ลูกในท้อง
ลูกกลับศีรษะแล้วอยู่ตอนล่างของมดลูก ในท่าขอตัวแน่น และเคลื่อนตัวมากดทับปากมดลูกที่นุ่มมากขึ้น เตรียมพร้อมสำหรับการคลอด

ทารกยาว 50 เซนติเมตร หนัก 3000 กรัม

ขอขอบคุณ Practical Pregnancy คู่มือสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ฉบับปฐมฤกษ์ ค่ะ



ความคิดเห็น