เป็นโรคหัวใจแล้วตั้งครรภ์

เป็นโรคหัวใจแล้วตั้งครรภ์



โดย กองบรรณาธิการนิตยสารดวงใจพ่อแม่

    คุณฤทัยอายุ 25 ปี อาชีพพนักงานขายบริษัทแห่งหนึ่ง ตั้งครรภ์ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ไปฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลรัฐบาลใกล้บ้านตั้งแต่ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 2 เดือน จากการซักถามประวัติของสูติแพทย์ทราบว่า คุณฤทัยมีปัญหาเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบร่วมด้วย โดยเป็นโรคนี้มาประมาณ 3 ปีแล้วและคุณหมอที่ดูแลแจ้งให้ทราบว่าอาการโรคลิ้นหัวใจตีบของคุณฤทัยยังไม่ รุนแรงมาก ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดรักษา แต่ต้องรับประทานยาควบคุมโรคอย่างสม่ำเสมอตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

    คุณฤทัยยังเล่าประวัติเพิ่มเติมให้ฟังว่าตอนอายุประมาณ 14-15 ปี เคยเป็นไข้ เจ็บคอ เจ็บหน้าอกและปวดตามข้อ 2-3 ครั้ง ได้ไปตรวจกับคุณหมอที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง คุณหมอแจ้งให้ทราบว่าเป็นไข้รูห์มาติค และให้ยาปฏิชีวนะรับประทานมาตลอด จนกระทั้งเมื่อประมาณ 3 ปีก่อนเริ่มมีอาการหนื่อยง่ายและทำงานหนักไม่ค่อยได้ จึงไปตรวจกับคุณหมอท่านเดิมและคุณหมอแจ้งให้ทราบว่าเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบดัง กล่าวข้างต้น

    ภายหลังได้ประวัติดังกล่าว สูติแพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการคุณฤทัยต่อและได้ข้อ สรุปว่า คุณฤทัยมีการตั้งครรภ์ 9 สัปดาห์ร่วมกับมี โรคลิ้นหัวใจไมทรัลตีบ ในระดับที่ไม่รุนแรงมาก เนื่องจากคุณฤทัยยังทำงานได้ตามปกติ จะเหนื่อยง่ายกว่าคนปกติก็ต่อเมื่อทำงานหนักเท่านั้น สูติแพทย์ที่ดูแลได้แนะนำให้คุณฤทัยพักผ่อนมากๆ งดการทำงานหนักและเดินทางไกล ร่วมกับให้รับประทานยารักษาโรคหัวใจและยาป้องกันการติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ คุณฤทัยทำตามคำแนะนำของคุณหมอเป็นอย่างดี

    ขณะตั้งครรภ์ประมาณ 27 สัปดาห์ คุณฤทัยต้องทำงานค่อนข้างหนักและพักผ่อนค่อนข้างน้อย ทำให้มีอาการเหนื่อยมาก เท้าบวม สูติแพทย์ที่ดูแลเกรงว่าคุณฤทัยจะมีภาวะหัวใจวายจึงรีบรับไว้ในโรงพยาบาล ภายหลังการดูแลรักษาในโรงพยาบาลจนอาการดีขึ้น สูติแพทย์จึงอนุญาตให้คุณฤทัยกลับบ้านได้

    เมื่อตั้งครรภ์ได้ประมาณ 38 สัปดาห์ คุณฤทัยมีอาการเจ็บครรภ์จึงมาโรงพยาบาล ภายหลังการตรวจพบว่าคุณฤทัยมีการเจ็บครรภ์จริง และจากการตรวจภายในพบว่าปากมดลูกเปิดประมาณ 3 เซนติเมตร ถุงน้ำคร่ำแตกแล้ว คุณหมอจึงได้รับไว้ในห้องคลอดเพื่อติดตามการเจ็บครรภ์คลอดและเฝ้าระวังอาการ ของโรคหัวใจที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

    2 ชั่วโมงภายหลังรับไว้ในโรงพยาบาล คุณฤทัยเกิดอาการเหนื่อยหอบค่อนข้างรุนแรง สูติแพทย์ฟังเสียงการหายใจของปอดพบว่ามีน้ำอยู่ในปอดค่อนข้างมาก จึงให้ยาขับน้ำออกจากปอด และได้ให้นอนหัวสูงร่วมกับให้ยาแก้ปวดและดมแก๊สออกซิเจน ขณะเดียวกันก็เชิญคุณหมอโรคหัวใจเข้ามาร่วมดูอาการอย่างใกล้ชิดด้วย

    3 ชั่วโมงต่อมา คุณฤทัยก็คลอดลูกโดยสูติแพทย์ได้ใช้คีมช่วยคลอดเนื่องจากไม่อยากให้คุณฤทัย ต้องเบ่งคลอดมาก ลูกที่คลอดออกมาเป็นลูกสาว น้ำหนัก 2450 กรัม เป็นเด็กครบกำหนดแต่ตัวค่อนข้างเล็ก ตอนคลอดออกมาร้องไม่ค่อยดัง แขนขาปวกเปียก กุมารแพทย์จึงรับไว้ดูแลในห้องเด็กอ่อนอยู่3 วัน หลังจากนั้นสามารถนำกลับคืนไปให้คุณแม่ดูแลได้ ภายหลังคลอดอาการเหนื่อยหอบของคุณฤทัยก็ดีขึ้นตามลำดับและสามารถกลับบ้านได้ ทั้งแม่และลูกภายหลังนอนโรงพยาบาล 7 วัน

    การตั้งครรภ์ขณะที่คุณแม่เป็นโรคหัวใจอยู่ด้วย ก่อให้เกิดปัญหาต่อทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ได้หลายประการ เช่น คุณแม่อาจจะเกิดภาวะหัวใจวายได้ในขณะที่ลูกในครรภ์ก็มักจะมีการเจริญเติบโต ไม่ค่อยดี คุณแม่ที่เป็นโรคนี้จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดีและอย่างระมัด ระวังทั้งในขณะที่ตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด เช่นเดียวกับกรณีของคุณฤทัยที่ยกมาเป็นตัวอย่างในครั้งนี้

    หัวใจ

    หัวใจเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก โครงสร้างเกือบทั้งหมดเป็นกล้ามเนื้อ มีขนาดประมาณกำปั้นมือของผู้เป็นเจ้าของ วางอยู่ในทรวงอกค่อนมาทางด้านซ้าย ทำหน้าที่เป็นเครื่องสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย หัวใจเต้นประมาณ 70-80 ครั้งต่อนาทีตลอดชีวิต ไม่เคยเหน็ดเหนื่อยเลย

    เครื่องสูบฉีดคู่

    จริงๆแล้วหัวใจจะทำหน้าที่คล้ายเครื่องสูบฉีด 2 เครื่องที่อยู่ติดกัน โดยแบ่งเป็นเครื่องสูบฉีดซีกขวาเครื่องหนึ่งและเครื่องสูบฉีดซีกซ้ายอีก เครื่องหนึ่ง โดยแต่ละซีกแยกการสูบฉีดเลือดออกจากกันอย่างสมบูรณ์ หัวใจซีกขวาสูบฉีดเลือดดำหรือเลือดที่ผ่านการใช้แล้วไปฟอกที่ปอด ในขณะที่หัวใจซีกซ้ายสูบฉีดเลือดแดงหรือเลือดที่ผ่านการฟอกจากปอดแล้วไป เลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

    หัวใจแต่ละซีกมี 2 ห้อง หัวใจห้องบนเรียกชื่อว่า เอเทรียม (atrium) หัวใจห้องล่างเรียกว่า เวนทริเคิล (ventricle) เอเทรียมขวาทำหน้าที่รับเลือดจากหลอดเลือดดำ ในขณะที่เอเทรียมซ้ายทำหน้าที่รับเลือดแดงจากปอด แล้วจะบีบตัวพร้อมกันเพื่อขับเลือดเข้าไปในเวนทริเคิล โดยเลือดดำเข้าเวนทริเคิลขวาและเลือดแดงเข้าเวนทริเคิลซ้าย

    ภายหลังรับเลือด เวนทริเคิลทั้ง 2 ข้างจะฉีดเลือดพร้อมกัน โดยเวนทริเคิลขวาจะฉีดเลือดดำไปยังปอดเพื่อฟอกให้เป็นเลือดแดง และเวนทริเคิลซ้ายจะฉีดเลือดไปส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อให้นำไปใช้ในการทำ งาน ผนังของเวนทริเคิลทั้ง 2 ข้างจะหนากว่าผนังของเอเทรียมทั้ง 2 ข้างมากเพราะต้องออกแรงฉีดเลือดแรงกว่าเอเทรียมทั้ง 2 ข้าง

    ระหว่างเอเทรียมกับเวนทริเคิลแต่ละด้านจะมี ลิ้นหัวใจ คอยเปิดปิดอยู่ เมื่อเอเทรียมบีบตัวขับเลือดลงมายังเวนทริเคิล ลิ้นหัวใจจะเปิดออกเพื่อให้เลือดไหลลงมาได้ แต่เมื่อเวนทริเคิลบีบตัวขับเลือดออกไปยังปอดหรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย ลิ้นหัวใจจะปิดเพื่อป้องกันไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับเข้าไปในเอเทรียม ลิ้นหัวใจที่ปิดระหว่างหัวใจห้องบนขวาและล่างขวาเรียกชื่อว่า ลิ้นไทรคัสพิด (Tricuspid valve) ส่วนลิ้นหัวใจที่ปิดระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้ายเรียกชื่อว่า ลิ้นไมทรัล (Mitral valve)

    โรคหัวใจ

    โรคหัวใจมีมากมายหลายชนิด ทั้งชนิดที่เป็นความพิการมาตั้งแต่เกิด หรือเป็นโรคที่เกิดขึ้นในภายหลัง
    โรคหัวใจที่เป็นความพิการแต่กำเนิด เช่น

    . ผนังระหว่างหัวใจซีกซ้ายและขวามีรูรั่วถึงกัน ทำให้เลือดดำและเลือดแดงมาผสมกัน

    . ห้องหัวใจเวนทริเคิลมีขนาดเล็กกว่าปกติ ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยกว่าปกติ

    สาเหตุของโรคในกลุ่มนี้มักจะเกิดขึ้นตั้งแต่ตัวผู้ป่วยเป็นทารกอยู่ใน ครรภ์ของแม่ตัวเอง แล้วคุณแม่ของผู้ป่วยมีปัญหาบางประการ เช่น ไปรับประทานยาที่มีอันตรายบางชนิด หรือมีการติดเชื้อโรคบางชนิด เช่นหัดเยอรมัน เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้ตัวผู้ป่วยเกิดความพิการของหัวใจในที่สุด
    โรคที่เกิดขึ้นในภายหลัง เช่น

    . โรคลิ้นหัวใจตีบ ทำให้เลือดไหลจากเอเทรียมลงมายังเวนทริเคิลได้น้อย

    . โรคลิ้นหัวใจรั่ว ทำให้เลือดไหลย้อนกลับจากเวนทริเคิลไปเอเทรียม

    ทั้งสองกรณีนี้ จะทำให้เลือดถูกสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้น้อยลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยง่าย และถ้าเป็นนานอาจหัวใจวายตายได้ สาเหตุของโรคในกลุ่มนี้มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิดซึ่งเมื่อเข้า ไปในเลือดแล้ว สามารถไปเกาะและทำลายลิ้นหัวใจได้ ทำให้ลิ้นหัวใจที่เคยเป็นเนื้อเยื่อที่ยืดหยุ่นได้ดีคล้ายประตูที่เปิดปิด ได้สนิท กลายเป็นประตูที่ฝืดมากเปิดได้ไม่เต็มที่ (กรณีเป็นโรคลิ้นหัวใจตีบ) หรือเปิดได้มากเกินไปจนปิดกั้นอะไรไม่ได้ (กรณีเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว)

    กรณีของคุณฤทัย ซึ่งเคยมีประวัติเป็นไข้รูห์มาติคมาก่อนและเป็นโรคลิ้นหัวใจไมทรัลตีบตามมา ในภายหลัง จัดเป็นโรคหัวใจที่เกิดขึ้นในภายหลังดังกล่าวข้างต้น และเป็นโรคหัวใจที่พบได้บ่อยทีเดียว

    ไข้รูห์มาติคคืออะไร ?

    ไข้รูห์มาติคเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่ว่า เบต้า ฮีโมลัยติค เสตร็บโตคอคคัส ( ?-hemolytic streptococcus) ซึ่งมักจะพบได้บ่อยในแหล่งที่ง่ายต่อการติดเชื้อ เช่น ในโรงเรียน ในตลาด หรือในโรงพยาบาล คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการไข้คล้ายเป็นไข้เจ็บคอตามธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดาก็คือ อาจจะมีอาการปวดตามข้อ หรือเจ็บหน้าอกร่วมด้วย บางรายอาจมีก้อนนูนขึ้นใต้ผิวหนังที่บริเวณต่างๆด้วย ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานไม่รีบไปหาแพทย์เพื่อรับการรักษา เชื้อโรคจะลุกลามไปทำลายลิ้นหัวใจได้ โดยเชื้ออาจจะอยู่ได้เป็นเวลายาวนานหลายปีแม้ว่าอาการไข้จะหายไปแล้วก็ตาม กรณีของคุณฤทัยก็เป็นเช่นที่ว่านี้

    โรคหัวใจกับการตั้งครรภ์

    ปกติการตั้งครรภ์เองก็ทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะป็นการเสี่ยงต่อการที่จะเจ็บท้องแล้วไม่ยอมคลอด ตกเลือดหลังคลอด เสี่ยงต่อการผ่าตัดคลอด ฯลฯ แต่ถ้ามีโรคหัวใจร่วมด้วยความเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น

    ผลต่อแม่

    ขณะตั้งครรภ์ปริมาณเลือดในร่างกายของคุณแม่จะเพิ่มมากขึ้นถึงประมาณ 1 ลิตรเลยทีเดียว ทั้งนี้เพื่อนำส่วนหนึ่งไปเลี้ยงลูกด้วย การเพิ่มปริมาณของเลือดเช่นนี้ในคุณแม่ที่ปกติจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ในคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจ การที่ต้องแบกรับปริมาณเลือดที่เพิ่มขึ้นจะทำให้มีโอกาสหัวใจวายและเสีย ชีวิตได้ง่ายขึ้น

    ผลต่อลูกในครรภ์

    สำหรับลูกน้อยในครรภ์ที่มีการเจริญเติบโตขึ้นทุกวัน ก็มีความต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้นด้วยเช่นกัน ผลดังกล่าวทำให้หัวใจของคุณแม่ต้องพยายามสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงลูกมากขึ้น ในคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจ ประสิทธิภาพของหัวใจจะลดลงทำให้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงลูกได้ไม่มากพอ ลูกของคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจจึงมักมีการเจริญเติบได้น้อยกว่าลูกของคุณแม่ ที่ปกติ ซึ่งผลดังกล่าวจึงมักทำให้ลูกของคุณแม่ที่เป็นโรคหัวใจคลอดออกมาตัวเล็กกว่า ปกติ กรณีของคุณฤทัยก็คลอดลูกที่มีตัวค่อนข้างเล็กกว่าปกติเช่นกัน

    ข้อมูลจาก : นิตยสาร ดวงใจพ่อแม่ ฉบับที่ 105 เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547

ความคิดเห็น