2 เทคนิคสร้างสุขสไตล์ญี่ปุ่น..สื่อสารพ่อ-แม่-ลูกในครรภ์

 2 เทคนิคสร้างสุขสไตล์ญี่ปุ่น..สื่อสารพ่อ-แม่-ลูกในครรภ์

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

หากคุณแม่ท่านใดเคยสงสัยว่าการสื่อสารกับลูกในครรภ์นั้น ควรจะเริ่มเมื่อใดจึงจะเหมาะสม ต้องรอให้อวัยวะเช่นหู พัฒนาก่อนหรือไม่ หรือควรมีอายุครรภ์เท่าใดลูกจึงจะสามารถเข้าใจในสิ่งที่แม่พูด ในวันนี้เรามีเทคนิคดี ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกในครรภ ส่งตรงจากแดนอาทิตย์อุทัย มาบอกเล่าให้ครอบครัวชาวไทยได้ลองนำไปปรับใช้ โดยอาจารย์อากิโกะ ซากาโมโต ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันชิจิดะ (Shichida Educational Institute) ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวในกิจกรรม Prenatal Workshop ซึ่งจัดที่สถาบันชิจิดะ ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ว่า
       
       "ในญี่ปุ่น เรามีการศึกษาพบว่า การสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดีที่สุดเ พื่อลูกในครรภ์เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรให้ความใส่ใจ ซึ่งการจะสร้างสภาวะดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้นั้น มีองค์ประกอบหลัก 3 ประการ ได้แก่ การให้ความรักแก่ลูก การสื่อสารระหว่างพ่อแม่ลูก และคำพูดอ่อนโยนที่พ่อแม่ได้พูดกับลูกนั่นเอง"
       
       ทั้งนี้ ผู้เป็นพ่อแม่สามารถสื่อสารกับลูกได้ ตั้งแต่วันที่คุณหมอแสดงความยินดีกับคุณแม่ตั้งครรภ์เลยทีเดียว แม้ว่าทารกในครรภ์จะยังไม่ได้มีรูปลักษณ์ที่ชัดเจนก็ตาม
       
       "การที่ลูกได้ยินเสียงของพ่อหรือแม่กำลังสื่อสารกับเขา ทำให้ลูกตื่นเต้น รอวันที่เขาจะเกิดออกมาได้พบหน้าพ่อแม่ ดังนั้นจึงควรพูดกับลูกให้เป็นกิจวัตร หรือถ้าไม่ทราบว่าจะพูดอะไรกับลูกก็อาจบอกเขาว่า ขอบคุณนะที่มาเกิดเป็นลูกแม่ก็ได้ค่ะ" อาจารย์ซากาโมโต้แนะนำ
       
       2 เทคนิคสื่อสารสไตล์ญี่ปุ่นถึงเจ้าตัวเล็ก
       
       นอกจากการพูดคุยกับลูกในครรภ์จนเป็นกิจวัตรแล้ว อาจารย์ซากาโมโต ยังได้ยกตัวอย่างการสื่อสารกับลูกตัวน้อยในครรภ์แบบง่าย ๆ มาด้วย 2 วิธี หนึ่งในนั้นได้แก่ การสื่อสารโดยการสัมผัส (Touching) ซึ่งสามารถใช้นิ้วชี้ กลาง นาง สามนิ้ว (ทำมือเหมือนลูกเสือ) กดลงไปที่ครรภ์ในจุดที่ลูกในท้องขยับนานประมาณ 1 นาที พร้อม ๆ กับบอกลูกว่า "สวัสดีค่ะ" และหากลูกโต้ตอบกลับมาด้วยการเตะหน้าท้องคุณแม่ ก็ให้ตอบกลับลูกไปว่า "ขอบคุณนะคะที่ตอบกลับแม่" หรือจะชมว่า "ลูกเก่งจังเลย" ก็ได้ในจุดนี้ จะทำให้ทารกรู้สึกดีใจที่ได้รู้ว่า แม่ของเขาก็โต้ตอบกลับมาเช่นกัน
       
       
       อย่างไรก็ดี ในครั้งแรก ๆ ของการสัมผัสด้วยวิธีดังกล่าว หากลูกไม่โต้ตอบกลับก็มีความเป็นไปได้ที่ลูกอาจกลัว ไม่คุ้นเคย หรือการสัมผัสนั้นเบาไป จนเด็กไม่รู้สึก ตลอดจนเข้าใจว่าเป็นความบังเอิญที่แม่ก็พอดีสัมผัสกลับมา ในจุดนี้จึงอยากให้กำลังใจคุณแม่หมั่นทำบ่อย ๆ อาจจะ 2 - 3 ครั้งต่อวัน เพื่อให้เด็กมีความคุ้นเคยกับสัมผัสของแม่มากขึ้น
       
       สำหรับวิธีที่สองที่อาจารย์ซากาโมโตแนะนำมาถึงคุณแม่ชาวไทย ก็คือการฝึก "Image Training" ซึ่งในจุดนี้ อาจารย์ซากาโมโต้ได้กล่าวว่า สมองของเด็กในครรภ์จะมีการทำงานด้วยสมองซีกขวามากกว่า ขณะที่สมองของคุณแม่ซึ่งเป็นผู้ใหญ่กว่านั้น จะทำงานด้วยซีกซ้ายเป็นหลัก ดังนั้น การฝึก Image Training จะเป็นการฝึกการทำงานของสมองซีกขวาของคุณแม่ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับลูกได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
       
       โดยการฝึก Image Training นั้น ผู้ฝึกควรอยู่ในอิริยาบถที่ผ่อนคลาย หลับตาลง อาจเปิดเพลงบรรเลงเบา ๆ ประกอบ เริ่มจากการหายใจเข้าทางจมูก และเป่าลมหายใจออกทางปากจนรู้สึกว่าทุกอย่างนั้นอยู่ในความสงบ ผ่อนคลาย
       
       จากนั้น ก็ให้เริ่มจินตนาการว่า บนศีรษะของคุณแม่มีลูกบอลสีทองเหลืองอร่ามวางอยู่ ลูกบอลนั้นกำลังจะลงไปในศีรษะ และเปลี่ยนให้ศีรษะกลายเป็นสีทองสว่าง จากนั้น แสงสว่างก็กลายเป็นแสงสีขาว ค่อย ๆ เคลื่อนที่ผ่านร่างกายของคุณแม่ลงไปถึงลูกในท้อง โดยให้จินตนาการว่า พลังนี้ได้ไปโอบล้อมลูกเอาไว้ และส่งไปถึงร่างกายของลูกให้แข็งแรง และความเจ็บปวดต่าง ๆ ของแม่ที่มีก็จะหายไปหมดสิ้น เมื่อทำเสร็จจะพบว่าศีรษะ ร่างกาย และจิตใจจะรู้สึกปลอดโปร่ง จากนั้นจึงค่อย ๆ เปิดตาขึ้นอีกครั้ง
       
       สองเทคนิคการสื่อสารนี้ถือเป็นกิจกรรมง่าย ๆ ที่ช่วยให้พ่อแม่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับทารกในครรภ์ได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสภาวะแวดล้อมที่ดี ให้แก่ทารกตั้งแต่ในครรภ์ เพื่อให้เขาเติบใหญ่ขึ้นมา เป็นทรัพยากรบุคคลอันมีคุณค่าต่อสังคมได้ในที่สุดนั่นเอง

ความคิดเห็น