ตอบข้อสงสัย : ทำไม... ต้องให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ?

 

พอดีไปอ่านเจอมาค่ะ เห็นว่าอาจารย์ท่านตอบได้กระจ่างดี เลยอยากนำมาฝากกันค่ะ

ดิฉันเป็นคนนึงที่ให้ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน และยังกินนมแม่ต่อเนื่องมาจนลูกอายุขวบกว่าแล้ว และยังจะเดินหน้าให้นมแม่ต่อไปค่ะ

เรามาดูกันดีกว่าว่า คุณพ่อท่านนี้สงสัยอย่างไรเกี่ยวกับ การให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน

ข้อมูลจาก : http://www.ns.mahidol.ac.th/english/TH/forum/question.asp?QID=98

อ้างถึง
ผมไม่ยอมให้ลูกกินแต่นม 6 เดือน

จาก... คุณพ่อมือใหม่มีแฟนเป็นพยาบาล

ก่อนอืนขอบอกว่าครอบครัวผมมีอากง-อาม่า และ ผม(ป่าป้า)ที่มีความเชื่อว่าความรู้ของคนโบราณลึกซึ้ง เกินกว่าวิจัยของนักวิชาการสมัยใหม่บางคนที่เผยแพร่องค์ความรู้โดยไม่สนใจผลกระทบต่อเด็ก ๆ

ยกตัวอย่าง
เรื่องแรกการส่งเสริมให้กินเฉพาะนมแม่ 6 เดือนแรก แฟนผมบอกว่าห้ามกินอย่างอื่นเพราะจะทำให้กินนมได้น้อยลง ผมเข้าใจว่านมแม่มีประโยชน์มีสารอาหารมากมายที่จำเป็น แต่ถ้าต้องกินนมอย่างเดียวคุณลองคิดดูสิว่ามันจะทรมานอย่างไร
1. เหนียวคออันนี้ผมลองแล้วกินนมทั้งวันไม่ได้กินน้ำรู้สึกกระหายน้ำมากเลย โถ่ช่างน่าสงสารลูกผมจริง ๆ เห็นผมดื่มน้ำแล้วก็ทำตาละห้อย
2. เวลากินแต่นมไม่มีกากอาหารทำให้ขี้ไม่ออก สองถึงสามวันถึงจะถ่ายสักครั้ง ซึ่งกว่าจะถ่ายได้พ่อแม่ต้องช่วยกันเบ่งแถบตาย ลูกบ้านอื่นได้กินกล้วยตั้งแต่สองเดือนเห็นถ่ายได้ทุกวัน น่าอิจฉาจริง ๆ
3. พ่อแม่ทรมานมากครับ สำหรับข้อนี้เนื่องจากลูกกินแต่นมผมว่าไม่อิ่มแน่ ๆ ตอนกลางดึกเลยตื่นมาร้องเพลงขอกินนมตลอด ลูกผมนอนขนตาบนแป๊ะขนตาล่างไม่ถึงชั่วโมงก็ร้องงอแงขอกินนมต่อ ตอนนี้ผมและแฟนจะเป็นหมีแพนด้าอยู่แล้ว

เรื่องทีสอง ห้ามกินของหวาน
เราทุกคนต่างเคยเป็นเด็ก ต่อนเด็ก ๆ ผมได้กินไอติม กินขนมหวาน ผมรู้สึกมีความสุข และผมคิดว่าในชีวิตจริงผู้ใหญ่ทุกคนต่างบริโภคน้ำตาล มีสักกี่คนกินกาแฟไม่ใส่น้ำตาลหรือนม แล้วจะกลัวเด็กติดหวามทำไม ผมว่าการให้เด็กได้กินขนมหวานบ้าง ทำให้เค้าอารมณ์ดีสามารถเรียนรู้สิงต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพียงแต่พ่อแม่ต้องควบคุมปริมาณก็ให้พอเหมาะก็เท่านั้นน่าจะดีกว่า

รบกวนอาจารย์ทุกท่านร่วมแสดงความคิดเห็นนะครับ แบบว่าอยากทราบความคิดเห็นของอาจารย์หลาย ๆ คนว่าคิดกันอย่างไร

ตอบคำถามโดย :  อ.ดร.พรรณรัตน์ แสงเพิ่ม

อ้างถึง
ข้อคิดเห็นของคุณพ่อมือใหม่น่าสนใจมากค่ะ ขอตอบทีละประเด็นนะคะ

ประเด็นแรกที่บอกว่าเด็กที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียว จะรู้สึกเหนียวคอเพราะไม่ได้กินน้ำตาม ซึ่งคุณพ่อก็ได้ยกตัวอย่างที่คุณพ่อกินนมโดยไม่กินน้ำทั้งวัน ทำให้รู้สึกเหนียวคอ คิดว่านมที่คุณพ่อกินคงไม่เหมือนกับที่ลูกกินหรอกนะคะ เพราะคุณพ่อกินนมวัวส่วนลูกกินนมแม่ ซึ่งในน้ำนมแม่มีส่วนประกอบที่แตกต่างจากนมวัวอย่างมากค่ะ โดยเฉพาะปริมาณน้ำในนมแม่มีอยู่ถึงมากกว่าร้อยละ 80 ทำให้น้ำนมแม่ไม่เหนียวข้นอย่างที่คิด เด็กจึงไม่รู้สึกระคายคอค่ะ การกินน้ำหลังจากกินนมแม่จึงไม่จำเป็น นอกจากนั้น หากคุณพ่อกังวลว่าลูกจะได้รับน้ำไม่เพียงพอ ขอให้สังเกตจากปริมาณและสีของปัสสาวะของลูก ถ้าลูกปัสสาวะออกดี วันละ 6 – 8 ครั้ง และสีไม่เข้ม ก็แสดงว่าลูกได้รับน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายแล้ว เคยมีผู้ทำการวิจัยไว้ด้วยค่ะว่า ความเข้มข้นของปัสสาวะของเด็กที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวก็ไม่ได้มีความเข้มข้นมากกว่าปกติ เป็นการยืนยันว่าการที่ลูกกินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกไม่ได้ทำให้ลูกขาดน้ำค่ะ

ประเด็นต่อไปนะคะ คุณพ่อบอกว่าประมาณ 2 – 3 วันลูกถึงจะถ่ายสักครั้งหนึ่ง แต่ไม่ได้บอกว่าลักษณะของอุจจาระของลูกเป็นอย่างไร การที่เด็กที่กินนมแม่ไม่ได้ถ่ายอุจจาระทุกวัน เป็นเพราะน้ำนมแม่มีส่วนประกอบส่วนใหญ่คือน้ำ ทำให้ย่อยและดูดซึมได้ง่าย และมีกากน้อย จนอาจไม่สามารถกระตุ้นให้มีการถ่ายอุจจาระวันละหลายครั้งหรือทุกวันได้ ต่อเมื่อมีปริมาณกากอาหารจำนวนมากพอ จึงจะกระตุ้นให้ร่างกายขับออกมาเป็นอุจจาระซึ่งอาจใช้เวลาหลายวัน เด็กที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวบางคนใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ก็มีค่ะ โดยลักษณะของอุจจาระของเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว ในช่วงแรกเกิดจะค่อนข้างเหลว และอาจถ่ายวันละหลายครั้งจนคุณพ่อคุณแม่ตกใจว่าลูกท้องเสีย แต่เมื่อร่างกายของลูกมีความพร้อมในการย่อย และการดูดซึมนมแม่ที่ดีขึ้นจะทำให้มีกากน้อยอย่างที่กล่าวมาแล้ว อุจจาระของลูกอาจมีลักษณะเป็นครีมเหลวเหนียวคล้ายยาสีฟันได้ค่ะ ขอเพียงให้ลักษณะของอุจจาระที่ลูกถ่ายออกมาไม่เป็นก้อนแข็ง และลูกไม่ต้องออกแรงเบ่งมากจนเกินไป การถ่ายน้อยครั้งก็ไม่มีปัญหาค่ะ

ในส่วนของการที่ลูกตื่นมาร้องกินนมตอนดึก ซึ่งคุณพ่อสงสัยว่าลูกจะได้นมไม่พออาจเป็นไปได้เช่นกันค่ะ ถ้าลูกมีความสนใจในสิ่งแวดล้อมมากเกินไปก็จะไม่ค่อยดูดนม ทำให้ได้นมก่อนนอนน้อยไปลูกจึงรู้สึกหิวในกลางดึก แต่ถ้าลูกดูดนมมื้อก่อนนอนได้อย่างเต็มที่ ก็ไม่น่าจะเกิดจากการได้รับนมไม่พอค่ะ อีกประการก็คือในช่วงเดือนแรกๆ ที่ลูกอยู่ในช่วงของการเรียนรู้ในการกินและการนอน คุณแม่บางคนอาจกังวลว่าลูกจะได้รับนมไม่พอ จึงปลุกลูกขึ้นมากินนมมื้อกลางคืนเป็นประจำ ทำให้ลูกเหมือนกับถูกฝึกให้ตื่นมากินนมกลางดึก ลูกจึงเกิดความเคยชิน นอกจากนั้น การที่เด็กตื่นขึ้นมาร้องกลางดึกอาจไม่ได้เกิดจากความหิวเสมอไป ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ลูกตื่นมาร้องกลางดึกได้ เช่น ร้อนเกินไป หนาวเกินไป ปัสสาวะรดที่นอน หรือไม่สบาย หากคุณพ่อคุณแม่แก้ไขปัญหาที่ทำให้ลูกตื่นมาได้ และปลอบโยนลูกสักพักลูกก็จะหลับต่อได้โดยไม่ต้องกินนมแม่แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามมีคุณแม่หลายคน ที่มักจะให้ลูกดูดนมแม่ทุกครั้งที่ลูกตื่นมาร้อง โดยที่ไม่ได้พิจารณาว่าสาเหตุที่ลูกร้องคืออะไร

สำหรับประเด็นสุดท้ายในเรื่องของการกินอาหารรสหวาน ซึ่งคุณพ่อคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา หากให้เด็กได้กินอาหารที่มีรสหวานบ้าง เมื่อก่อนก็เคยคิดเช่นนั้นค่ะ แต่จากการศึกษาเราพบประเด็นที่น่าสนใจในเรื่องนี้หลายเรื่องค่ะ เรื่องแรกก็คือ การให้เด็กกินอาหารที่มีรสหวาน ก็จะทำให้เด็กได้รับพลังงานมากกว่าความจำเป็น เกิดการสะสมในร่างกายทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพตามมาอีกนาน ในส่วนของผลที่เห็นจากการกินอาหารที่มีรสหวานอย่างชัดเจนคือ เด็กที่กินอาหารที่มีรสหวานจนติดใจในรสหวาน จะทำให้เด็กกินอาหารที่มีรสธรรมชาติน้อยลงหรือปฏิเสธอาหารนั้นไปเลย สิ่งที่ตามมาคือเด็กจะขาดสารอาหารที่จำเป็น สำหรับการเจริญเติบโตของร่างกาย เช่น โปรตีน และเกลือแร่ต่างๆ อีกประการที่สำคัญคือปัญหาสุขภาพฟัน เพราะอาหารที่มีรสหวานจะไปเคลือบอยู่ในช่องปากและฟันของเด็ก หากการทำความสะอาดปากฟันไม่ทั่วถึงจะทำให้เด็กมีฟันผุ แม้ในเด็กเล็กที่ยังไม่มีฟันอาหารรสหวาน จะไปเคลือบอยู่ในช่องปากและเป็นอาหารที่ดีสำหรับเชื้อโรค เด็กจึงอาจเกิดการติดเชื้อราในช่องปากได้ง่าย

หวังว่าคำอธิบายที่กล่าวมาจะทำให้คุณพ่อเข้าใจได้มากขึ้นนะคะ และหากมีข้อสงสัยในเรื่องอื่นๆ ก็เชิญเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้อีกค่ะ
ตอบคำถามโดย : ผศ.ฉันทิกา จันทร์เปีย

อ้างถึง
เรียนคุณพ่อมือใหม่
ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมคุณพ่อที่มีความใส่ใจในการเลี้ยงลูกมาก และได้ให้ลูกกินนมแม่มาตั้งแต่เกิด ไม่ทราบว่าตอนนี้ยังให้นมแม่อยู่หรือไม่ อย่างไรก็ขอเป็นกำลังใจให้ทำเพื่อลูกของเราต่อไปนะคะ ที่คุณพ่อถามมาขอตอบดังนี้

ประเด็นที่ 1 ทำไมเด็กที่กินนมแม่ในช่วง 6 เดือนแรกจึงไม่ควรให้อาหารอย่างอื่นแม้แต่น้ำ?

ที่เป็นเช่นนี้เพราะกระเพาะของเด็กโดยเฉพาะเมื่อแรกเกิดเล็กมาก มีความจุประมาณ 20 มล.
ดังนั้นหากเด็กกินน้ำหรืออาหารอื่นๆเข้าไป จะไปแย่งที่นมทำให้เด็กอิ่ม ไม่ยอมดูดนม ทำให้ขาดอาหารที่จำเป็นสำหรับเขา ในขณะเดียวกันเมื่อเด็กไม่ดูดนมแม่ การสร้างน้ำนมของแม่ก็ลดน้อยลง ต่อไปอาจเกิดปัญหาน้ำนมไม่พอ และอยากบอกให้คุณพ่อสบายใจว่าในน้ำนมแม่มีน้ำเป็นส่วนประกอบราว 80% ดังนั้นเด็กจะได้รับน้ำพออย่างแน่นอน ต่างจากการกินนมผสมที่คุณพ่อทดลองกินทั้งวันแล้วรู้สึกเหนียวคอ เพราะมีน้ำน้อยกว่า และเด็กที่กินนมผสม ก็ควรได้รับน้ำหลังนมเพื่อป้องกันลิ้นเป็นฝ้าจากคราบน้ำนมที่เกาะลิ้นด้วย ส่วนอาหารอื่นที่นิยมป้อนกันเช่นกล้วย น้ำส้ม หรือข้าวบด เมื่ออายุประมาณ 3 เดือนนั้น เมื่อผู้ใหญ่ป้อนเด็กก็กิน แต่เนื่องจากน้ำย่อยของเด็กยังสร้างไม่สมบูรณ์ อาจทำให้มีอาการปวดท้อง ท้องอืดได้ นอกจากนั้นเซลเยื่อบุลำไส้ของเด็กในช่วง 6 เดือนแรกยังเจริญไม่ดี อาจมีสารบางชนิดจากอาหารที่เราป้อนแทรกซึมเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เด็กเกิดโรคภูมิแพ้ หรือท้องเสียได้ง่าย ส่วนในเรื่องเด็กไม่ถ่ายอุจาระทุกวันนั้นเนื่องจากนมแม่ย่อยง่าย ดูดซึมได้ดี จึงทำให้เด็กอาจไม่ถ่ายทุกวันแต่ท้องไม่ผูก (อุจาระไม่แข็งจนต้องเบ่งหน้าดำหน้าแดง) คุณพ่ออย่ากังวลไปเลยค่ะ บางคน 7 วันถ่ายครั้งหนึ่งก็ยังมี

ประเด็นที่ 2 น้องนอนหลังกินนมแม่ได้ไม่นานก็ตื่นแสดงว่ากินนมไม่อิ่มหรือไม่ ?

ตามธรรมชาติของเด็กแรกเกิดจะกินนมบ่อย ประมาณ 2 – 3 ช.ม./ครั้ง คือประมาณ 8 ครั้ง/วัน เด็กที่กินอิ่มจะหลับได้ประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นนมแม่หรือนมผสม เพราะกระเพาะอาหารเขาเล็กจึงต้องกินบ่อย เมื่อโตขึ้นความถี่ของมื้อนมจะน้อยลง แต่ปริมาณนมจะเพิ่มขึ้น ทำให้เด็กหลับได้นาน การที่น้องนอนเพียงชั่วโมงเดียวแล้วตื่น อาจเป็นเพราะได้นมไม่เต็มที่จากการที่ดูดนมไม่ถูกวิธี หรืออาจไม่สุขสบายอย่างอื่น หากปรับแก้ไขตรงนี้ได้เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่คงจะสบายขึ้นค่ะ

ประเด็นที่ 3 เด็กห้ามกินของหวานจริงหรือ ?


ที่บอกว่าเด็กห้ามกินหวานนั้นในความหมายที่ถูกต้องคือ ไม่ต้องการให้เด็กติดกับรสชาติหวาน แต่ไม่ได้แปลว่าห้ามไม่ให้เด็กกินของหวาน ของที่ไม่ควรให้เด็กกินคือนมรสหวาน อาหารที่ปรุงใส่น้ำตาล ท็อฟฟี่ เพราะจะทำให้เด็กอ้วนและฟันผุ เพราะเด็กเล็กๆการแปรงฟันยังทำได้ไม่ดีพอ แต่ขนมหวานเช่นไอศกรีม ขนมเบเกอรี่ ขนมไทย เช่นตะโก้ ขนมตาล ฯลฯ ก็สามารถให้รับประทานได้เป็นครั้งคราว เหมือนผู้ใหญ่รับประทานของหวานหลังอาหารมื้อหลัก แต่ระวังอย่าให้บ่อยนักเพราะจะทำให้อ้วน ทางที่ดีควรให้ผลไม้เป็นหลักจะดีกว่า ลูกจะได้วิตามินและท้องไม่ผูกด้วยค่ะ

ความคิดเห็น