ใครตีลูกบ้าง...อ่านทางนี้!!

 ใครตีลูกบ้าง...อ่านทางนี้!!


โดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์



  ผู้เชี่ยวชาญชี้ตีลูกบ่อย ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว และในที่สุดพ่อแม่ก็จะได้ไม่คุ้มเสีย
       
       แม้ว่าคนโบราณมักกล่าวไว้ว่า ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีนักวิจัยออกมาเปิดเผยว่า หลังจากที่ศึกษาพฤติกรรมเด็กที่ถูกพ่อแม่ตีบ่อยๆนั้น พบว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมแข็งกร้าวซึ่งจะส่งผลร้ายระยะยาวแน่นอน

   
      “ลิซ่า เบอร์ลิน” นักวิจัยจากศูนย์จัดตั้งนโยบายเพื่อเด็กและครอบครัว ในมหาวิทยาลัยดุ๊ก ประเทศสหรัฐอเมริกาอธิบายว่า การที่พ่อแม่ตีลูกไม่ว่าจะตีเบาหรือแรง และบ่อยครั้งแค่ไหน จากการสำรวจและวิจัยข้อมูลต่างๆพบว่า มันก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ขณะที่การว่ากล่าวตักเตือน ไม่ได้มีส่วนทำให้เด็กเป็นคนก้าวร้าว เหมือนการถูกตีแต่อย่างใด

       
       ทั้งนี้ เธอและทีมงานได้สำรวจเด็กๆกว่า 2,500 คน จากครอบครัวที่มีรายได้น้อย โดยทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เคยถูกพ่อแม่ตีมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งผลออกมาว่า เด็กๆมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตและพฤติกรรมพอสมควร อนึ่งนักจิตวิทยาหลายฝ่ายได้เห็นพ้องต้องกันว่า การทำโทษลูกนั้น ควรดูเวลาและสถานที่ด้วย
       
       “ทั้งเด็กเล็กและเด็กโตที่ได้พูดคุยด้วย ฉันคิดว่าปัญหาสำคัญคือความรู้สึกนึกคิดของพวกเขานะ เพราะเด็กๆเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรถูก อะไรผิด พวกเขาไม่รู้และไม่เข้าใจเรื่องการถูกทำโทษ ว่าทำไมพ่อแม่ต้องลงมือกับหวกเขาด้วย โดยเฉพาะการตี ซึ่งในขณะที่พ่อแม่อาจจะทำไปเพราะรัก แต่เชื่อเถอะว่าลูกๆของพวกคุณไม่เข้าใจพวกคุณหรอก เพราะเขายังเด็กเกินไปที่จะรับฟังเหตุผล” เบอร์ลินกล่าว
       
       อย่างไรก็ดี เบอร์ลิน และทีมงานพบว่า เด็กๆที่ถูกตีตั้งแต่ขวบปีแรก จะเริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อพวกเขาอายุครบ 2 ขวบ และอาจจะมีผลกระทบกับกระบวนการทางความคิดในช่วง 3 ขวบขึ้นไป
       
       ส่วนเหตุผลที่การศึกษาครั้งนี้ได้เน้นไปที่กลุ่มเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย เพราะจากการสำรวจครั้งที่ผ่านๆมาพบว่า การลงโทษ ไม่ว่าจะเป็นการตี หรือวิธีอื่นๆสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นเรื่องปกติสำหรับพวกเขาไปเสียแล้ว โดยเบอร์ลินได้อธิบายในเรื่องนี้ว่า
       
       “สาเหตุที่เด็กกลุ่มนี้จะคุ้นชินกับการโดนลงโทษมากกว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ เป็นเพราะ พ่อแม่ของพวกเขามีความเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายในแต่ละวัน รวมไปถึงภาระ หน้าที่ และความรับผิดชอบที่ต้องแบกรับซึ่งไม่สอดคล้องกับรายได้ของครอบครัว"
       
       "ทั้งนี้การที่เด็กส่วนใหญ่โดนตีและถูกกระทำในลักษณะที่คล้ายๆกัน ซึ่งเราอาจนิยามได้ว่า มันคือ ‘วัฒนธรรมพาไป’ ของบุคคลที่มีพฤติกรรมเหมือนๆกัน เช่น บางครอบครัว คุณย่า คุณยาย จะเป็นคนตีเด็ก เพราะสมัยก่อนถูกเลี้ยงมาแบบนั้น และพวกเขาเองก็เลี้ยงลูกไม่ต่างกัน หรืออีกประเภทหนึ่งมาจาก การยุยงของเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการเลียนแบบพฤติกรรมจากครอบครัวอื่น เช่นเพื่อนบ้านบอกหรือพูดโน้มน้าวว่า เด็กทำแบบนั้นทำไมถึงไม่ตี จริงๆแล้วควรจะตีนะ เพราะจะได้จำ อีกอย่างที่เราตีเพราะเรารัก ถ้าไม่รักก็ไม่ตี อยากให้ลูกหลานได้ดี ต้องตีให้เป็นเรื่องธรรมดา แบบนี้เป็นต้น”

       อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาครั้งที่ผ่านมา พบว่า พ่อแม่ที่ตีลูกส่วนใหญ่มักเป็นพ่อแม่ที่มีอายุน้อย การศึกษาไม่สูงมากนัก มีแรงกดดันและภาวะความเครียดเป็นทุนเดิม และที่สำคัญนั้นส่วนใหญ่มักเป็น พ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือแม่เลี้ยงเดี่ยว
       
       “เด็กๆที่ถูกพ่อแม่ตีบ่อยๆนั้น จากการสำรวจทำให้เรารู้ว่า ส่วนหนึ่งมาจาก พ่อแม่ของพวกเขา ที่สมัยเด็กๆนั้น พ่อแม่เหล่านี้ก็ถูกตีมาเช่นกัน หนำซ้ำอาจถูกตีบ่อยตั้งแต่เด็กๆจึงรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรถ้าจะทำกับลูกของตัวเองบ้าง” เบอร์ลินเสริม
       
       ทั้งนี้ หากแบ่งตามเขตพื้นที่แล้วพบว่า ครอบครัวทางตอนใต้ของอเมริกาหรือเป็นกลุ่มคริสเตียนหัวโบราณ กลุ่มคนเหล่านี้มักมีความเชื่อผลของการทำโทษเด็กนั้นมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย และเชื่อว่าเพราะเด็กทำผิด ผู้ใหญ่จึงต้องลงมือถึงจะรู้ความ
       
       สรุปแล้วควรตีลูกหรือไม่
       
       อาจเป็นเรื่องธรรมดาของเด็กๆทีต้องซุกซนจนได้เรื่อง ซึ่งด้วยวัยที่กำลังอยากรู้อยากเห็นนี่เอง ที่ทำให้พ่อแม่หลายคนไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ จึงลงมือตีลูกตั้งแต่ยังเล็ก
       
       เบอร์ลินเผยว่า เด็กในช่วงขวบปีแรกเป็นวัยที่เริ่มซุกซนและจะเริ่มโดนตีบ้างแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ ‘โรเบิร์ต ลาร์เซเลีย’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ของวิทยาศาสตร์การพัฒนามนุษย์และครอบครัว จาก มหาวิทยาลัยรัฐโอคลาโฮมา ประเทศอเมริกาได้เสริมข้อมูลเรื่องนี้ว่า
       
      “แม้ว่าจะไม่มีข้อบัญญัติไว้ว่าห้ามตีลูกช่วงขวบปีแรกและไม่มีใครบอกว่า 2 ขวบขึ้นไปสามารถตีได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับเด็กวัยหนึ่งขวบนั้นพ่อแม่ควรจะพยามยามพูดกับลูกก่อน แม้ว่าเขาจะไม่เข้าใจเราทันทีก็ตาม ซึ่งการพูดคุยและอธิบายให้ลูกฟังย่อมเป็นทางออกที่ดีกว่าการลงมือเป็นแน่”
       
       และหากถามว่า จริงๆแล้วพ่อแม่ควรตีลูกหรือไม่นั้น ลาร์เซเลีย ผู้ที่รวบรวมผลงานวิจัยเรื่องนี้กว่า 26 ชิ้น กล่าวว่า ยังไม่มีข้อพิสูจน์ใดที่สามารถฟันธงได้ว่า จริงๆแล้วพ่อแม่ควรตีลูกหรือไม่ แต่สิ่งที่ได้จากการศึกษามาเป็นเวลานานนั้นคือ การตีมันก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านพฤติกรรมและจิตใจจริงๆ
       
       “เด็กๆที่มีอายุระหว่าง 2- 6 ขวบ นั้นเป็นช่วงเรียนรู้ระเบียบวินัย ต่างๆดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่สามารถทำได้คือ การแนะนำ อธิบายให้ลูกเรียนรู้และเข้าใจสิ่งนั้นๆเท่าที่จะทำได้ ซึ่งทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการลงมือจะดีมาก โดยที่ผ่านมา ขณะที่พ่อแม่กลุ่มหนึ่งลงมือตีลูก แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยืนยันว่า พ่อแม่ไม่ควรตีลูกเลยไม่ว่าพวกเขาจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม โดยแม่บางคนยอมรับว่า เธอได้รับคำแนะนำจากคุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยายมาบ้างว่าควรสอนลูกและอธิบาย ดีกว่าตีโดยไร้เหตุผล”



       ‘ซูซาน นิวแมน’ นักจิตวิทยาและนักเขียน เจ้าของหนังสือ “ลิตเติ้ล ติงส์ ลอง รีเมมเบอร์ – มาทำให้ลูกของคุณรู้สึกว่ามันคือวันที่พิเศษในทุกๆวัน (Little Things Long Remembered: Making Your Children Feel Special Every Day) กล่าวว่า พ่อแม่ควรสอนลูกและชี้แนะแนวทางว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี อะไรควร อะไรไม่ควร โดยใช้ช่วงเวลาว่างๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาทานขนม หรือก่อนเข้านอนก็ได้
       
       “การที่เด็กมีความทรงจำที่ไม่ดีในวัยเยาว์ นิวแมนเผยว่า พ่อแม่ความสร้างความรู้สึกและความทรงจำที่มีความรัก และความอบอุ่นให้กับลูก ดีกว่าใช้ความรุนแรงและบอกว่ารัก”
       
       “ดังนั้นพ่อแม่ทุกคนควรปลูกฝังให้ลูกมีความประพฤติดี ซึ่งอาจจะบอกกับลูกว่า หนูรู้ไหมว่า การเป็นเด็กดีนั้นควรทำอย่างไร แล้วถ้าหนูเป็นเด็กดี ไม่ดื้อ ไม่ซน หนูน่ารักแค่ไหนกัน”
       
       ทางด้านนักจิตวิทยา ‘ลอร่า มาร์คแฮม’ ผู้ให้คำแนะนำในเว็บไซต์ AhaParenting.com. เผยว่า แม่ส่วนใหญ่ตีลูกเพราะลูกซน โดยเฉพาะวัย 1 ขวบ ซึ่งมันมีผลต่อความรู้สึกเด็กแน่นอน
       
       “ถ้าแม่เห็นว่า ความซุกซนคือสาเหตุที่ทำให้ต้องตีลูก ลูกทำให้แม่โมโหจึงต้องใช้คำรุนแรงกับเด็กที่ไร้เดียงสา ลูกของคุณจะมีพฤติกรรมที่แย่ลงทันที อีกทั้งยังทำให้เด็กเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่ายขึ้นอีกด้วย”
       
       อย่างไรก็ดี ในอนาคต เบอร์ลินคาดว่าจะลงพื้นที่จัดตั้งโครงการการทำงานร่วมกับครอบครัวที่มีรายได้น้อย และมีความเสี่ยงในการใช้กำลังกับลูกสูง โดยเธอจะพยายามแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และยังจะส่งเสริมพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูกอย่างถูกวิธีอีกด้วย เพราะเธอเชื่อว่า พ่อแม่ทุกคนสามารถฝึกแนวทางการเลี้ยงลูก โดยปราศจากการใช้กำลังและอารมณ์ได้ ไม่ว่าพวกเขาจะรวยหรือจนก็ตาม
             
       เรียบเรียงจาก ซีเอ็นเอ็น นิวส์

ความคิดเห็น