พัฒนาภาษาช้า เพราะทีวี !!

 พัฒนาภาษาช้าเพราะทีวี



ใครจะคิด...ว่าเวลาแค่ 2 ชั่วโมงหน้าจอทีวี... จะส่งผลต่อลูกถึงเพียงนี้

ด้วยความที่บ้านเป็นโฮมออฟฟิส คุณรัชนีจึงต้องทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย โดยไม่มีผู้ช่วยมาแบ่งเบาภาระ ยิ่งเป็นช่วงบ่ายที่มีลูกค้าติดต่อเข้ามามากที่สุด น้องเจตน์ ลูกชายวัย 9 เดือนยิ่งชอบคลานมาดึงๆ ดันๆ  สะกิดเรียกแม่ไปเล่นเป็นเพื่อน เวลายามบ่ายจึงเป็นความวุ่นวายที่คุณรัชนีพยายามหาทางแก้ไข

...และแล้วบ่ายวันหนึ่งเธอก็เจอทางออกที่เข้าท่า เมื่อเห็นลูกชายจ้องโฆษณาการ์ตูนเด็กในโทรทัศน์ตาไม่กระพริบ

บ้านของคุณรัชนีมีโทรทัศน์อยู่ 3 เครื่อง และเครื่องหนึ่งก็ตั้งอยู่ในห้องทำงานกึ่งห้องนั่งเล่น ซึ่งเธอและลูกต้องอยู่ด้วยกันทุกบ่าย ปกติเธอกับสามีจะนั่งดูข่าวโดยที่น้องเจตน์ก็คลานเล่นไม่สนใจ แต่พอเป็นการ์ตูน ลูกชายวัยซนกลับยอมนั่งนิ่งไม่วุ่นเหมือนทุกที เธอจึงคิดว่า นี่คือวิธีแก้ไขที่น่าจะดีสำหรับทุกฝ่าย

คุณรัชนีเลือกซื้อวีซีดีการ์ตูนมาเปิดให้ลูกดู เพื่อดึงดูดความสนใจหลายแผ่น แล้วก็ได้ผล น้องเจตน์นอนดูโทรทัศน์เงียบๆ โดยไม่ร้องกวนได้ถึงวันละ 2 ชั่วโมง คุณแม่ก็เอาเวลาช่วงนั้นมาจัดการงานได้ตามสบาย โดยไม่มีมือเล็กๆ มาคอยดึงอีก ลูกก็ยังอยู่ในสายตาของเธอ อยู่ในห้องเดียวกัน จึงไม่น่าจะมีปัญหา

...แต่เรื่องกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด

เวลาผ่านไปจนน้องเจตต์อายุได้ 1 ขวบครึ่ง  แต่พัฒนาการทางภาษาของหนูน้อยกลับไม่ไปถึงไหน คุณรัชนีสังเกตว่าลูกชายของเธอพูดได้เพียงคำสั้นๆ เช่น เต่า ปลา แอร์ เท่านั้น ถ้าอยากได้อะไรก็จะชี้นิ้วบอกให้แม่ช่วยหยิบให้หรือคลานไปหยิบเอง ในขณะที่เด็กคนอื่นสื่อสารเป็นประโยคสั้นๆ แล้ว

คุณรัชนีตกใจมากเมื่อรู้ชัดว่า เธอได้ปล่อยให้ทีวีทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัวเสียแล้ว


หลังจากนั้น คุณแม่สาวทำงานคนเก่งก็ตัดสินใจเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ เลิกทำงานตอนกลางวันและทุ่มเมเวลาให้ลูหชายคนเดียวอย่างเต็มที่ โดยจะทำงานก็เมื่อหลังสองทุ่ม ซึ่งน้องเจตน์หลับไปแล้วเท่านั้น


โทรทัศน์ถูกเมิน หนังสือนิทานเด็กกลายเป็นสื่อเรียนรู้ใหม่ที่คุณรัชนีเลือกหยิบมาใช้ปูพื้นฐานทางภาษาของลูกวัยซน ตอนกลางวันเธอจะคุยกับลูก พาลูกไปเดินเล่น หรือชวนกันเล่นตัวต่อ (ของเล่นชิ้นโปรดของน้องเจตน์) พร้อมทั้งพูดคุยไปด้วย ส่วนตอนกลางคืน คุณแม่หรือคุณพ่อก็จะอ่านหนังสือนิทานให้ลูกชายฟังทุกคืน

นอกจากนี้ เธอยังไปขอคำแนะนำจากคุณหมอซึ่งชี้ว่า เธอไม่ควรปล่อยให้ลูกชี้นิ้วขอสิ่งของแล้วหยิบให้ แต่ควรตั้งเงื่อนไขให้ลูกพูดว่า “ขอครับ” หรือ ”เอาอันนี้” เสียก่อน ซึ่งคุณแม่ก็ทำตามคำแนะนำ อย่างเคร่งครัด
เวลาอ่านนิทานเธอจะถามคำถามง่ายๆ ไปด้วย “นี่ตัวอะไรลูก เสือใช่ไหม ไหนเรียกเสือซิ” ถ้าเป็นคำยากๆ คุณแม่จะพูดช้าๆ ให้น้องดูปากไปด้วย น้องเจตน์ก็จะเลียนการออกเสียงคำ และจดจำความหมายของคำไปด้วยอย่างเพลิดเพลิน

ความพยายามและความอดทนของคุณแม่เห็นผลใน 1-2 เดือนให้หลัง น้องเจตน์ค่อยๆ สื่อสารได้มากขึ้น มีคลังคำมากกว่าเดิม และยังรู้จักผสมคำกริยากับคำนามเข้าด้วยกันได้ คุณรัชนีเริ่มให้น้องกลับไปดูโทรทัศน์และวีซีดีได้บ้างหลังจากลูกชายอายุครบ 3 ขวบ แต่เธอไม่ปล่อยให้ลูกนั่งอยู่หน้าจอทีละนานๆอีก โดยกำหนดเวลาไว้เพียงวันละครึ่งชั่วโมง หรือการ์ตูน 1 ตอนเท่านั้น

จนถึงตอนนี้ น้องเจตน์อายุเกือบ 4 ขวบ เป็นเด็กร่าเริง พูดเก่งแล้วยังชอบดูโขน ดูหุ่นละครเล็ก และจดจำตัวโขนได้หลายตัว (จุดเริ่มต้นมาจากนิทานเรื่องหนุมานที่คุณแม่อ่านให้ฟังนั่นเอง)

คุณรัชนีฝากทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ทำให้เธอแก้ไขข้อผิดพลาดครั้งนี้ได้ก็คือ ความตั้งใจที่จะทุ่มเทเวลาให้ลูกอย่างเต็มที่ และไม่นำข้ออ้างง่า “ไม่มีเวลา” หรือ “ไม่มีทางเลือก” มาใช้อีก

ขอขอบคุณ : Real Parenting สำหรับข้อมูลค่ะ

ความคิดเห็น