"กรดโฟลิก" มีประโยชน์อย่างไรกับสมองลูก
ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
กรดโฟลิก เป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับแม่ตั้งครรภ์
หลาย ๆ คนไม่ค่อยคุ้นหู แต่แม่ตั้งครรภ์ในประเทศทางตะวันตกรู้จักกันดี
เพราะมีสถิตการขาดสารนี้กันมากทีเดียว ส่งผลให้เด็กทารกที่คลอดออกมาพิการทางสมอง
ถึงกับมีการรณรงค์ให้แม่ตั้งครรภ์ได้รับกรดโฟลิกให้เพียงพอ ตั้งแต่ก่อนหน้าตั้งครรภ์ และในช่วงต้นของการตั้งครรภ์
กรดโฟลิกเป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง มีอยู่ในผักใบเขียวทั่วไป
โชคดีที่อาหารการกินบ้านเราเป็นประเภท น้ำพริกผักจิ้ม และเรามีผักสดรับประทานตลอดปี
จึงไม่ค่อยมีการขาดกรดโฟลิกแต่อย่างไร คุณแม่ทั้งหลายก็ควรมีความรู้เรื่องนี้ไว้บ้าง เพื่อการดูแลครรภ์ให้สมบูรณ์ที่สุด
กรดโฟลิกสำคัญอย่างไร
กรดโฟลิกมีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์ใหม่ ๆ ช่วยให้โครงสร้างสมองสมบูรณ์ ช่วยในการดูดซึมน้ำตาลและโปรตีน และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเม็ดเลือด
กรดโฟลิก มีความสำคัญต่อการตั้งครรภ์ ตั้งแต่เริ่มมีการปฏิสนธิเลยทีเดียว ขณะที่เซลล์แบ่งตัวเป็นสอง
กรดโฟลิกจะช่วยให้การแบ่งตัวของเซลล์เป็นไปอย่างสมบูรณ์ และช่วยในการจัดสร้างโครงสร้างของสมองทารกให้สมบูรณ์ด้วย ถ้าแม่ขาดกรดโฟลิกในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกหลังปฏิสนธิ (ช่วงที่แม่เริ่มสังเกตว่าเมนส์ขาด) จะทำให้สมองทารกซึ่งกำลังจัดตัวเป็นหลอด เหมือนหลอดกาแฟเกิดเสียหายบกพร่อง
ทำให้ทารกที่เกิดมามีสมองพิการ (NTDs-Neural Tube Defects) เช่น เป็นโรคสมองเปิด (spina bifida) คือ เกิดช่องโหว่ที่ปลายสมอง เพราะหลอดสมองสร้างตัวไม่สมบูรณ์ ทำให้เดินไม่ได้ ควบคุมระบบขับถ่ายไม่ได้ คล้ายกับอาการของคนเป็นดาวน์ซินโดรม
หรืออาจเป็นโรคปากแหว่ง เพดานโหว่ หรือมีความพิการที่แขนขา หัวใจ ปอด กระดูก
ภาวะที่ร่างกายแม่ขาดกรดโฟลิก ยังเป็นกรรมพันธุ์ด้วย ถ้าปู่ย่าตายายเคยมีลูกพิการทางสมองแบบ NTDs ลูกหลานมีสิทธิ์เป็นด้วย หรือลูกคนแรกเป็น คนต่อมามีสิทธิ์ที่จะเป็นด้วย ได้มากทีเดียว ในกรณีนี้จำเป็นจะต้องได้รับกรดโฟลิกก่อนตั้งครรภ์ ในปริมาณที่มากกว่าแม่ทั่ว ๆ ไป
การรับประทานกรดโฟลิกตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์ ช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรค NTDs ได้ถึง 75 เปอร์เซ็นต์
มีการค้นพบว่า กรดโฟลิกอาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์เป็นพิษด้วย
กินอย่างไรถึงได้กรดโฟลิกเพียงพอ
อย่างที่บอกแล้วว่า กรดโฟลิกมีความสำคัญต่อลูก ตั้งแต่เริ่มมีการปฏิสนธิ ดังนั้นแม่ควรจะได้รับกรดโฟลิกให้เพียงพอก่อนหน้าตั้งครรภ์ เริ่มตั้งแต่เมื่อคิดวางแผนจะมีลูก หรือก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน และรับประทานติดต่อไปถึงหลังตั้งครรภ์อย่างน้อย 3 เดือน
จะรับประทานเรื่อยไปตลอดระยะตั้งครรภ์ก็ได้
ปริมาณที่แม่ตั้งครรภ์ได้รับคือ วันละ 0.4 มิลลิกรัม หรือราว 1 ใน 6 ส่วนของอาหารที่รับประทานในแต่ละวันก็พอ ในต่างประเทศมีการจัดกรดโฟลิกในรูปของยาเม็ดให้แม่ตั้งครรภ์รับประทาน กรดโฟลิกที่แพทย์ให้นี้ได้รับการยืนยันแล้วว่า ไม่ส่งผลข้างเคียงอย่างใด
และไม่มีการสะสมในร่างกาย จึงรับประทานติดต่อเป็นเวลานานได้ ร่างกายจะกำจัดส่วนเกินไปเองโดยธรรมชาติ
แม่ไทย ๆ อย่างเราไม่ต้องกังวลกับเรื่องกรดโฟลิกให้มากนัก อาหารการกินของเราอุดมไปด้วยผักไม่เหมือนประเทศตะวันตกที่มีฤดูหนาวยาวนาน
หาผักใบเขียวกินยาก แต่ก็อย่าประมาท กินผักใบเขียวให้มากไว้ก่อน ไม่ใช่ได้กรดโฟลิกอย่างเดียว ได้คุณค่าอาหารอื่น ๆ อีกมากมาย
ซึ่งคุณแม่คงทราบกันดีแล้วล่ะค่ะ
อาหารที่มีกรดโฟลิกมาก
ผักใบเขียว เช่น ผักโขม บล็อกโคลี่ เห็ด ตับ ถั่วที่มีสีเขียว มันฝรั่ง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลมีล ส้ม ผลิตภัณฑ์ถั่วเหลือง ตับ นม ไข่ โยเกิร์ต
ผักควรกินผักสด ๆ หรือลวกเร็ว ๆ ความร้อนจะทำลายกรดโฟลิกในผักใบเขียว ตับมีกรดโฟลิกมาก เพราะมีวิตามินเอสูง อาจทำให้พิการเมื่อแรกเกิด
(ผู้ที่รับประทานวิตามินเอ เพื่อรักษาโรคตาหรือโรคผิวหนังควรระวัง)
ที่มา... นิตยสารรักลูก
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น