การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว

การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว หลังคลอดลูก หากคุณแม่ให้นมลูกเอง นน.จะลงมาเป็นปกติภายใน 1-6 ด.โดยไม่ต้องซื้อคอร์สลดนน.ราคาแพง หรือ ซื้อยาลดนน.จากอินเตอร์เนทที่เป็นอันตรายมากิน โดยมีข้อแม้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 10-12 กก.ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่ 3 ด.แรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลย 3 ด.ถัดมาขึ้น 6 กก. และ 3 ด.สุดท้ายขึ้น 6 กก. ใครที่นน.ขึ้นเกินจากนี้ ไม่ดีนะคะ อย่าคิดว่าตอนท้องเป็นช่วงโปรโมชั่น อยากกินอะไรก็กินได้ตามใจอยาก อ้วนได้ไม่มีใครกล้าว่า แล้วคิดกินเพื่อลูก โด๊ปอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปมากมาย นมวัวเอย ผลิตภัณฑ์นมวัวเอย ทั้งชีส เค้ก ไอศครีม นมถั่วเหลืองซื้อมาเป็นลังๆ ไข่กินวันละหลายๆฟอง ขนมนมเนยทุกชนิด ปลาแซลมอนทุกมื้อ ผลที่ตามมา คือ แม่อ้วนทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ลูกเสี่ยงกับภาวะแพ้โปรตีนกลุ่มเสี่ยง พอคลอดลูกเสร็จ ก็ยังกินบำรุงน้ำหนักต่อ โดยคิดว่าจะทำให้ผลิตน้ำนมได้เยอะ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักส่วนเกินยังคงอยู่สะสมในร่างกาย แต่น้ำนมไม่ได้เพิ่มขึ้น (ดังรูปบน) เพราะปริมาณน้...

6 อาการแปลก...ระหว่างท้อง

6 อาการแปลก...ระหว่างท้อง



ความจริงระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ครั้งแรก ไม่ว่าจะมีอาการอะไรเกิดขึ้น คุณแม่มักเป็นกังวล และรู้สึกถึงความผิดปกติ ทั้งที่ความเป็นจริง บางอาการเป็นอาหารปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์นั่นเอง
ฉบับนี้ Mother&Care ครบรอบปีที่ 6 จึงขอนำเสนอ 6 อาการที่คุณแม่ส่วนใหญ่คิดว่าแปลก มาให้คลายกังวล เพื่อการตั้งครรภ์อย่างเป็นสุขกันค่ะ


1. ปัสสาวะเล็ด
“แย่แล้ว ทำไมเราถึงอั้นไม่ได้ล่ะ อะไรๆ ข้างในต้องหย่อนยานแน่เลย”
 ความจริงอาการปัสสาวะเล็ด ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์เท่านั้น สังเกตดีๆ คนปกติธรรมดาๆ ก็เป็นกันค่ะ แต่อาจจะเกิดไม่บ่อย  ปกติเราจะควบคุมการไหลปัสสาวะของเราได้ แต่ในบางกรณีเมื่ออยู่เหนือการควบคุม ก็ทำให้ปัสสาวะเล็ดลอดออกมาได้เช่นกัน เนื่องจากในช่องท้องมีแรงดันเพิ่มขึ้น เช่น ไอ จาม หัวเราะ หรือเวลาที่เรายกของหนักๆ (บางคนเกิดอาการกลัวมากๆ ก็ปัสสาวะเล็ดได้เหมือนกัน)
 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง ระบบทางเดินปัสสาวะมีการขยายตัว ส่งผลให้กล้ามเนื้อหูรูดไม่แข็งแรง ประกอบกับลูกในท้องตัวโตขึ้น มดลูกขยายตัวจนกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ได้บ่อยๆ โดยเฉพาะคุณแม่ที่ตั้งครรภ์อยู่ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย

วิธีป้องกัน
- เข้าห้องน้ำทันทีที่รู้สึกปวด ถึงแม้บางคนบอกว่าเบื่อที่จะต้องลุกขึ้นเดินบ่อยๆ แต่การกลั้นปัสสาวะไว้นานเกินไป จะทำให้เราควบคุมตัวเองไม่ได้ ยิ่งถ้ามีอาการไอ จาม หัวเราะ แล้วปัสสาวะเล็ดออกมา ยิ่งทำให้คุณแม่รำคาญกว่าการเดินเข้าห้องน้ำบ่อยๆ อีกค่ะ
- คุณแม่บางคน ไม่อยากเข้าห้องน้ำบ่อย จึงใช้วิธีดื่มน้ำให้น้อยลง ก็เป็นวิธีที่ผิดเช่นกันค่ะ การดื่มน้ำน้อยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหานี้ และอาจเพิ่มปัญหาสุขภาพอื่นตามมาได้ เช่นอาการท้องผูก
- หลังคลอดอาการปัสสาวะเล็ดก็จะค่อยๆ หายไปเองค่ะ ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าคุณแม่ยังมีอาการต่อเนื่อง ก็ควรปรึกษาแพทย์ค่ะ


2. มีลมในท้อง
“เรอจนอายเพื่อนข้างโต๊ะแล้วนะ ทำยังไงดีเนี่ย”
 เวลาเราพูด กินอาหาร เกิดความเครียด ในลำไส้มีแบคทีเรียมากเกินไป ล้วนทำให้เกิดลมในท้อง ส่งผลให้เรารู้สึกไม่สบาย อึดอัด ปวดมวนท้อง แต่ถ้าได้ผายลม หรือเรอ ก็จะทำให้สบายท้อง สบายตัวมากขึ้น
 สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อึดอัด รำคาญกับอาการลมในท้อง ท้องอืด เรอเหม็นเปรี้ยว ผายลม ยิ่งถ้าต้องทำงานอยู่นอกบ้านด้วยแล้ว ยิ่งรู้สึกไม่สบายใจเพิ่มขึ้นไปอีก (บางทีก็ผายลม หรือเรอออกมาชนิดห้ามไม่ทัน ยั้งไม่อยู่กันเลย)  สาเหตุที่ทำให้มีอาการแบบนี้ นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังเป็นเพราะมดลูกที่ใหญ่ขึ้นไปเบียนกระเพาะอาหาร เนื้อที่ในการบรรจุอาหารจึงน้อยลง  กระเพาะก็ทำงานได้ไม่เต็มที่ ย่อยอาหารไม่ไม่สะดวก จึงเกิดมีลมในกระเพาะขึ้นได้ ยิ่งเมื่ออายุครรภ์หลังจาก 7 เดือนไปแล้ว บางท่านอาจได้ยินเสียงโครกครากในท้อง และรู้สึกว่ามีลมมากจนท้องกลมเป่งก็เป็นได้ค่ะ

วิธีป้องกัน
- เมื่อเนื้อที่ในกระเพาะอาหารมีน้อยลง ดังนั้นจากที่เคยกินข้าวมื้อละ 1 จานพูนๆ ก็อาจจะเหลือสัก เกือบๆ 1 จาน แล้วเว้นช่วงสัก 2-3 ชั่วโมง แล้วค่อยกินอีกนิดหน่อย คือ การซอยย่อยมื้ออาหารนั่นเองค่ะ ให้เป็นมื้อเล็กๆ แต่ถี่ขึ้น กระเพาะอาหารจะได้ย่อยอาหารได้สะดวกขึ้น คุณแม่ไม่รู้สึกอึดอัดจนเกินไป
- กินอาหารที่ย่อยง่ายๆ เช่น เนื้อปลา ข้าวต้ม หลีกเลี่ยงอาหารมันๆ อาหารทอด เพราะเป็นอาหารย่อยยาก และเครื่องดื่มที่มีแก๊ส อย่างน้ำอัดลม หรือโซดา
- คุณแม่ไม่จำเป็นต้องซื้อยาขับลมมากินเองนะคะ ถ้าอึดอัดมากจนรู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ไปพบแพทย์ดีกว่าค่ะ


3. เจ็บกระดูกใต้อก
“นั่งก็เจ็บ นอนก็เจ็บ ทำไม่ไม่สบายตัวอย่างนี้นะ”
 อาการเจ็บแปลบบริเวณใต้อก ไม่ได้เป็นอาการที่ร้ายแรง แต่บางคนอาจจะปวดจนรู้สึกทรมาน บางคนปวดแค่พอให้หงุดหงิดใจ เหมือนมีอะไรมาตำๆ บริเวณใต้อกด้านใดด้านหนึ่ง สาเหตุเหมือนกับ 2 อาการก่อนหน้านี้คือ เมื่อมดลูกขยายตัวไปกดทับอวัยวะต่างๆ โดยที่อาการเจ็บใต้อกที่ไปกดทับกระดูก ทำให้เจ็บกระดูกใต้อกนั่นเอง ฉะนั้นเมื่อคลอดน้องแล้ว ก็จะไม่มีปัญหาที่เกิดขึ้นหลังคลอดแน่นอนค่ะ

วิธีป้องกัน
- เลือกบราที่พอดีกับหน้าอกที่ขยายขึ้น อย่าทนใส่บราขนาดเดิมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพราะยิ่งไปเพิ่มการกดทับของกระดูกมาขึ้น และควรเลือกบราที่สวมใส่สบาย ไม่มีโครงมากดทับ
- ใครที่ติดการนั่งหลังค่อม ต้องพยายามยืด นั่งหลังตรง โดยมีหมอนรองไว้ด้านหลัง เพื่อให้บริเวณใต้อกมีเนื้อที่มากขึ้น
- บรรเทาอาการเจ็บโดยการนั่ง แล้วยกมือทั้งสองข้างเหนือศีรษะ แล้วให้อีกคนช่วยดึงแขนคุณแม่ขึ้นทีละข้างช้าๆ สลับไปมา จะช่วยลดอาการเจ็บกระดูกได้


4. เหงือกอักเสบ
“ทำไมตอนท้องถึงมีเลือดออกที่เหงือก แล้วรู้สึกเจ็บๆ ช้ำๆ ด้วยนะ ทั้งที่ก็ดูแลฟันอย่างดีมาตลอด”
 โดยปกติอาการเหงือกอับเสบ จะเกิดจากการดูแลทำความสะอาดฟันไม่ดีพอ มีคราบอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเกาะบนผิวฝัน ทำให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีกลายเป็นคราบหินปูนเกาะ เป็นที่สะสมของเชื้อมากขึ้นไปอีก ให้เหงือก และคอฟันเกิดการอักเสบลุกลาม โดยอาการเริ่มต้นคือ เมื่อแปรงฟันก็มีเลือดออก เหงือกบวม ช้ำ สีคล้ำขึ้น มีกลิ่นปาก
 ในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่หลายคนเข้าใจผิด คิดว่าระหว่างตั้งครรภ์ไม่สามารถทำฟันได้ จึงละเลยในการไปหาหมอฟัน แต่ในความเป็นจริงแล้วต้องดูแลฟันมากขึ้น ถ้ามีฟันผุ หรือถึงเวลาขูดหินปูนก็ต้องไปตามนัดที่ทันตแพทย์กำหนด เนื่องจากถ้าภายในช่องปากไม่ได้รับการดูแลที่ดี มีแบคทีเรียสะสมอยู่ภายในช่องปาก ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดฟันผุ และเหงือกอักเสบขึ้นมา ข้อควรระวังอีกเรื่องคือ คุณแม่ที่เป็นเหงือกอักเสบมีภาวะเสี่ยงที่ลูกน้อยจะคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย ลูกไม่แข็งแรง เนื่องจากเชื้อโรคจะไปตามกระแสเลือดเข้าสู่รก และตัวลูกน้อยในท้อง ดังนั้นอย่าปล่อยปละละเลยเรื่องฟันเด็ดขาดนะคะ

วิธีป้องกัน
- แปรงฟัน โดยใช้ขนแปรงนุ่มๆ แปรงเบาๆ ทุกครั้งหลังกินอาหาร ถ้าแปรงไม่ได้ ให้บ้วนน้ำ แต่อย่างน้อยต้องแปรงวันละ 2 ครั้ง และควรใช้ร่วมกับไหมขัดฟัน
- หมั่นไปพบทันตแพทย์ เพื่อขูดหินปูน ตรวจเช็คว่ามีความผิดปกติเกี่ยวกับฟันหรือเหงือกหรือไม่ อย่างสม่ำเสมอ


5. เหงื่อออกตอนกลางคืน
“อากาศก็ไม่ร้อน ทำไมเราถึงเหงื่อออกตอนกลางคืนนะ ผิดปกติหรือเปล่าเนี่ย!”
 เป็นเรื่องปกติของคุณแม่ตั้งครรภ์ที่จะขี้ร้อนมากขึ้น มีเหงื่อออกมาขึ้น ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลากลางคืนที่อากาศเย็นสบายก็ตาม นั่นเป็นเพราะว่า ภายในร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์มีการเพิ่มปริมาณเลือด เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของลูกน้อย ซึ่งส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัว จึงทำให้ร่างกายเกิดความร้อนได้มากกว่าปกติ เมื่อร่างกายร้อนก็ต้องมีการระบายออกด้วยกลไกของร่างกาย คุณแม่จึงมีเหงื่อออกมากขึ้นนั่นเองค่ะ

วิธีป้องกัน
     ความจริงแล้วไม่ได้เป็นเรื่องที่ต้องป้องกันแต่อย่างใด แต่เป็นวิธีที่เลือกปฏิบัติให้ถูกต้องซะมากกว่า
- กินอาหารที่ช่วยลดความร้อนในร่างกาย เช่น ผัก ผลไม้สด ธัญพืชต่างๆ เพราะอาหารจำพวกนี้จะมีวิตามินเกลือแร่อยู่สูง มีโพแทสเซียมมาก ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย
- ดื่นน้ำสะอาดในอุณหภูมิปกติ ก็สามารถช่วยลดความร้อนได้ดีเช่นกัน
- เลือกเสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าเบาสบาย ซับเหงื่อได้ดี ใส่แล้วไม่อึดอัด

 
6. สีผิวเข้มขึ้น มีเส้นคล้ำที่หน้าท้อง
“ทำไมผิวหนังบางที่ ถึงมีสีเข้มขึ้นล่ะ ทั้งๆ ที่อยู่ในร่มผ้านี่น่า”
  ถึงแม้คุณแม่จะมีผิวขาวเป็นทุนเดิม หรือจะมีสีผิวน้ำผึ้งเป็นธรรมชาติ แต่เมื่อตั้งครรภ์ บริเวณผิวหนังที่มีสีเข้มกว่าปกติอยู่แล้ว เช่น ลานนม จุกนม รักแร้ หน้าท้อง เส้นตามลำคอ จะมีสีเข้มขึ้น คุณแม่บางคนเป็นกังวล พยายามขัดถู ใช้สครับทั้งหลายแหล่มาขัด และทาครีมบำรุงผิว ก็ต้องขอบอกว่า ทำช่วงนี้ก็ยังไม่ได้ผลค่ะ เพราะสีผิวที่คล้ำขึ้น เกิดจากฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น ไปกระตุ้นเม็ดสีใต้ผิวหนังให้มีการทำงานมากขึ้น สีผิวจึงคล้ำขึ้น และในแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนอาจจะไม่เปลี่ยนมากมายนัก แต่ทำให้บางคนกลุ้มใจไม่มากเหมือนกัน

วิธีป้องกัน
 ต้องบอกว่าไม่มีวิธีป้องกันจริงๆ ค่ะ ในเรื่องนี้เพราะเกี่ยวกับฮอร์โมนในร่างกายที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เหมือนปัจจัยภายนอก แต่สิ่งที่พอจะช่วยได้บ้างคือ การบำรุงผิวด้วยผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนเหมาะกับผิว เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น และการดื่มน้ำสะอาด กินผักผลไม้เพื่อให้ผิวมีสุขภาพดี รับรองว่าได้ผลระยะในช่วงหลังคลอดอีกด้วย และเจ้ารอยดำทั้งหลาย ก็จะค่อยๆ จางหายไปหลังจากคลอดลูกแล้วเช่นกันค่ะ

 

6 อาการที่กล่าวมาข้างต้น คุณแม่บางคนเป็นมาก บางคนเป็นน้อย บางคนมีเพียงไม่กี่อาการ บางคนเป็นครบทุกอาการที่กล่าวมา ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพใจให้แข็งแรง ไม่ต้องเครียดกับอาการที่ถือว่า “เป็นปกติ” สำหรับคุณแม่ท้องกันเลยนะคะ


Source: Mothere&Care Vol.7 No.73 January 2011

ความคิดเห็น