เลือกโรงเรียนอนุบาลให้เหมาะกับลูก

 เลือกโรงเรียนอนุบาลให้เหมาะกับลูก



ตัดสินใจเพื่อลูกไม่ใช่ตัวเอง
ด้วยอาชีพการงานทำให้ดิฉันยังต้องเวียนว่ายอยู่กับโรงเรียนระดับวัยอนุบาลจำนวนมาก ทั้งที่เจ้าลูกชายทั้งสองคนก็ผ่านพ้นวัยอนุบาลมานานพอควร
ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงพ่อแม่กำลังหาโรงเรียนให้ลูก คำถามในท่วงทำนองที่ว่า “ให้ลูกเรียนโรงเรียนอนุบาลที่ไหนดี” จึงกลายเป็นคำถามที่พบบ่อย

โรงเรียนอนุบาลมีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กยิ่งนัก ถ้าพ่อแม่เลือกโรงเรียนให้ลูกได้ดีเหมาะกับลูก ก็เท่ากับเป็นการวางรากฐานการศึกษาที่ดีให้กับลูกด้วย

การเลือกโรงเรียนแห่งแรกของชีวิตลูก ต้องอยู่ที่ดุลพินิจของคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองในการตัดสินใจ

ที่สำคัญต้องมีความรู้ในเรื่องการศึกษาด้วย

อย่าเลือกโรงเรียนให้ลูก เพราะมีคนบอกว่าโรงเรียนนั้นดี โรงเรียนนี้ดี แต่ขอให้เลือกเพราะได้หาข้อมูลความรู้ และได้ไปดูแนวทางการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งนั้นด้วยตัวเองซะก่อนที่จะตัดสินใจ

เพราะ…อนาคตของลูก พ่อแม่สามารถออกแบบรากฐานที่ดีได้

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการศึกษาระดับปฐมวัยเป็นอย่างไร แนวทางการเรียนการสอนมีแบบไหนบ้าง และเราควรจะเลือกโรงเรียนแนวไหนให้เหมาะกับลูกของเรา

ปัจจุบันแบ่งแนวทางการเรียนการสอนแบบคร่าวๆ ได้ดังนี้

ประเภทแรก เป็นแนวทางที่เน้นเร่งเรียนเขียนอ่าน

แนวทางการเรียนการสอนของโรงเรียนอนุบาลประเภทนี้จะเคร่งครัดเรื่องวิชาการ เรียกว่าจบระดับอนุบาลก็สามารถอ่านออกเขียนได้ และเน้นที่จะให้เด็กไปสอบเข้าโรงเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ในโรงเรียนชื่อดังให้ได้ โรงเรียนประเภทนี้จะพบเห็นอยู่เป็นจำนวนมาก

ประเภทที่สอง เป็นแนวเตรียมความพร้อม
แนวทางนี้จะเน้นเรื่องความพร้อมของเด็กให้เหมาะสมตามวัย จะไม่เน้นเรื่องวิชาการ ประมาณว่าถ้าคาดหวังว่าลูกต้องอ่านออกเขียนได้เมื่อจบอนุบาลสามแล้วล่ะก็ อย่าเลือกแนวนี้เลยค่ะ เพราะแนวทางนี้เน้นเรื่องพัฒนาการรอบด้าน ฝึกทักษะต่างๆ ตามช่วงวัย ประมาณเรียนๆ เล่นๆ แต่ก็ฉลาดได้เหมือนกัน

ยังจำได้ว่าเมื่อครั้งที่มีการปฏิรูปการศึกษาในครั้งแรกเมื่อปี 2542 มีการศึกษาทางเลือกเกิดขึ้นมากมายเพื่อขานรับแนวทางนี้ ได้แก่

Waldorf เน้นสอนให้เด็กเรียนรู้ผ่านการเล่น สอนกิจกรรมให้ฝึกทักษะการคิดจินตนาการ ทั้งศิลปะ ดนตรี โดยให้เด็กได้ปฏิบัติจริง

Montessori แนวทางนี้จะเน้นสอนตามพัฒนาการและความต้องการของเด็ก เพื่อให้เด็กพึ่งพาตนเองได้ เรียนรู้เป็นรายบุคคล เน้นการเตรียมการสอนของครูตามขั้นตอน โดยใช้อุปกรณ์ในการฝึกประสาทสัมผัสเด็ก

Neo-Humanist เป็นการนำศาสตร์ทางตะวันออกผสานความทันสมัยแบบตะวันตก เช่น มีการให้เด็กฝึกสมาธิ ทำโยคะ ขณะเดียวกัน ก็ใช้เสียงเพลงและวิธีการสอนใหม่ๆ ด้วย


Reggio Emilia 
เน้นการสอนให้พ่อแม่ ครู เด็ก ชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กเรียนรู้ มีการตั้งสมมติฐาน สำรวจแล้วแสดงผลผ่านการวาดภาพ งานปั้น การเล่นละคร การเขียน

Project Approach เป็นการสอนด้วยวิธีสะสมแฟ้มผลงานเด็ก โดยสืบค้นหาข้อมูลตามเรื่องที่เด็กสนใจ ค้นหาคำตอบจากคำถามที่เกี่ยวกับหน่วยการเรียนรู้ คำถามนั้นจะมาจากเด็กกับครูร่วมกัน เพื่อให้เด็กรู้จักตัดสินใจ และพ่อแม่มีส่วนร่วม

Whole Language Approach เป็นการสอนภาษาแบบบูรณาการ ผ่านการฟัง พูด อ่าน เขียนพร้อมกัน ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เตรียมความพร้อมทุกด้าน ให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาได้ง่ายและเร็วขึ้น

High/Scope เน้นการเรียนรู้แบบลงมือกระทำผ่านมุมเล่นหลากหลาย ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะกับพัฒนาการ และการแก้ปัญหา แบ่งการสอนเป็นกลุ่มย่อยเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงยกตัวอย่างคร่าวๆ ถ้าพ่อแม่สนใจต้องเจาะลึกหาข้อมูลเพิ่มเติม

ในยุคนั้นเกิดโรงเรียนระดับปฐมวัยที่ยึดแนวทางการเรียนการสอนทางเลือกดังกล่าวอย่างมากมาย แต่ปัจจุบันดูเหมือนจะเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งที่ยังคงดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะท้ายสุด ก็ไม่สามารถต้านการศึกษาในระบบที่มีการแข่งขันสูงได้ ทำให้การศึกษาทางเลือกในระดับปฐมวัยค่อยๆ จางไป

แต่ก็มีการศึกษาอีกหลายประเภทที่เกิดเป็นกระแสและได้รับความนิยมอย่างมากในยุคปัจจุบัน ก็คือ โรงเรียนสองภาษา, โรงเรียนโปรแกรมภาษาอังกฤษ และโรงเรียนนานาชาติ ที่นับวันก็ยิ่งขยายตัว และคนเป็นพ่อแม่ก็สนใจให้ลูกหลานเข้าเรียนในโรงเรียนแนวทางนี้กันเพิ่มมากขึ้น เพราะอยากให้ลูกเก่งภาษาอังกฤษตั้งแต่เล็ก

จะว่าไปแล้ว การเลือกโรงเรียนอนุบาล นอกจากแนวทางการศึกษาแล้ว สิ่งที่พ่อแม่ควรคำนึงถึง และสำคัญมากก่อนตัดสินใจก็ยังมีอีกมายมายเหลือเกิน เช่น

ประการแรก เรื่องการเดินทาง ต้องยอมรับว่าเงื่อนไขเดินทางเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้ลูกด้วย เอาเป็นระดับดีใกล้บ้านก็น่าจะทำให้ชีวิตของทุกคนในบ้านมีความสุข ไม่ต้องใช้รถเป็นบ้านแทน

ประการที่สอง อัตราส่วนครูกับเด็กควรเหมาะสม ครูหนึ่งคนต่อเด็กในห้องไม่ควรเกินห้องละ 20 คน เพื่อให้ครูสามารถดูแลเด็กได้ทั่วถึง เพราะเด็กเล็กต้องการการดูแลที่ใกล้ชิด

ประการที่สาม สภาพแวดล้อมส่งเสริมการเรียนรู้ เหมาะสมต่อพัฒนาการเด็กหรือไม่ มีสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับช่วงวัย ทั้งหนังสือนิทาน อุปกรณ์การเรียนรู้ ฯลฯ รวมถึงสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียนไม่ได้ดีแต่ตึกเพียงอย่างเดียว

ประการที่สี่ มีกิจกรรมเสริมทักษะชีวิตให้กับเด็กๆ ด้วยหรือไม่ เช่น กีฬา กิจกรรมกลุ่ม หรือสนามเด็กเล่น ที่เด็กสามารถปีนป่ายเพื่อพัฒนาการทางด้านร่างกายด้วย

ประการสุดท้าย มาตรการความปลอดภัย เพราะเด็กเล็กจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เพราะโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นต้องให้ความสำคัญและสำรวจภายในโรงเรียนว่าเอาใจใส่ในเรื่องนี้แค่ไหน

แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ เรื่องทัศนคติและค่านิยมของคนเป็นพ่อแม่

อย่าคิดว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ต้องดีกว่าโรงเรียนขนาดเล็กเสมอไป บางครั้งโรงเรียนขนาดใหญ่เกินไปคุณครู หรือเจ้าหน้าที่อาจดูแลเด็กได้ไม่ทั่วถึง และก็มีหลายโรงเรียนที่แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ก็มีคุณภาพ

และอย่าคิดว่าโรงเรียนแพงๆ แล้วจะต้องดีเสมอไป เพราะหลายโรงเรียนมักเรียกค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าความเป็นจริง ก่อนตัดสินใจเลือกโรงเรียนอนุบาลแห่งแรกในชีวิตลูก ควรให้ความสำคัญ และมองอนาคตด้วยว่าต้องการวางรากฐานการศึกษาของลูกในอนาคตอย่างไร อย่าคิดเพียงแค่ให้ลูกมีที่เรียนเท่านั้น หรือจะคิดก็เฉพาะช่วงเปลี่ยนช่วงชั้นเท่านั้น

และต้องไม่ลืมดูด้วยว่าลูกมีความสุขหรือไม่…!! ขอให้เป็นการตัดสินใจเพื่อลูกอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการตัดสินใจเพื่อตัวเอง

ที่มา : ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ความคิดเห็น