บทสัมภาษณ์ : อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข เรื่อง "การเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูก ตอนที่ 1"

 บทสัมภาษณ์ : อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข เรื่อง "การเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูก ตอนที่ 1"


รายการ “พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” FM 105

ถอดคำสัมภาษณ์ อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข (อาจารย์หวาน/ครูหวาน) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย (ประสบการณ์ 30 ปี)
ปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย วิทยากรรับเชิญทั่วประเทศ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา

ผู้ดำเนินรายการ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553 เรื่องเกี่ยวกับ “การเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูก ตอนที่ 1”



คุณสรวงมณฑ์ : สวัสดีค่ะอาจารย์หวานคะ

อ.ธิดา : ค่ะ สวัสดีค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : วันนี้ต้องรบกวนอาจารย์มาให้ความรู้กับผู้ปกครองนะคะ ที่เป็นพ่อแม่มือใหม่ แล้วก็ใหม่ไปหมดทุกเรื่อง รวมถึงเรื่องของการที่ลูกจะต้องเข้าสู่รั้วโรงเรียนอนุบาล ใช่ช่วงเวลานี้มั๊ยคะที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องหาแล้วล่ะ หาโรงเรียนให้ลูก?

อ.ธิดา : ตอนนี้กำลัง hot ค่ะ ตามโรงเรียนอนุบาลเนี่ย ก็จะมีผู้ปกครองขอไปดูไปเยี่ยมชมโรงเรียนนะคะ แล้วก็มาสมัครกันน่ะค่ะ เป็นช่วงหลังปีใหม่มานี่ เยอะมากๆ ที่โรงเรียนต้องต้อนรับผู้ปกครองนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : เยอะมากเลยนะคะ ดิฉันเข้าสู่ประเด็นคำถามยอดฮิตเลยว่า การจะตัดสินใจเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูกเนี่ย คุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องคำนึงถึงปัจจัยอะไรบ้างคะครูหวาน?

อ.ธิดา : เอาปัจจัยที่ยังไม่เกี่ยวกับการศึกษาก่อน อันแรกเลยคือควรจะหาโรงเรียนที่ใกล้บ้านหรือไม่ก็ใกล้ที่ทำงานนะคะ อันนี้เป็นเรื่องพื้นฐานเพราะว่าไม่อย่างนั้นเด็กๆ จะกะปลกกะเปลี้ยมากเลย ถ้าเราตระเวนพาลูกไปเรียนที่ที่ไกลทั้งบ้าน หรือไกลที่ทำงาน

เรื่องที่สองที่คุณพ่อคุณแม่ไปดูเองแล้วตัดสินใจเองได้เลยง่ายๆ นะคะ เห็นด้วยตาเลยคือเรื่องของความสะอาด ความปลอดภัย แล้วก็ความร่มรื่นถูกใจเราหรือเปล่า เพราะว่าเด็กไม่ได้ไปอยู่แต่ในตึก หรือว่าโรงเรียนที่มันอยู่ใกล้กับถนนเกินไป มีประตูชั้นเดียวอย่างเนี้ยค่ะ มันเสี่ยง หรือว่าเดินๆ ไป “เอ๊ะ ท่อระบายน้ำก็ไม่ปิดเลยหรอ” “เอ๊ะ คนสวนเอากรรไกรตัดหญ้าวางไว้” อย่างเนี้ยมันอันตรายนะคะ คือก็ต้องดูเรื่องพวกนี้ แล้วก็แอบๆ ไปดูห้องน้ำหน่อย

คุณสรวงมณฑ์ : ดูว่าเป็นยังไงบ้าง?

อ.ธิดา : ค่ะ คือเวลาเลือกโรงเรียนนี่ต้องหาข้อมูล เสร็จแล้วก็ไปเยี่ยมชมนะคะ ห้องน้ำกลิ่นเป็นยังไง สะอาดสะอ้านดีมั๊ย ปลอดภัยรึเปล่านะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : จำเป็นต้องเป็นแบบห้องน้ำสำหรับเด็กโดยเฉพาะเลยมั๊ยคะ?

อ.ธิดา : ควรจะนะคะ เพราะว่าเค้าจะได้พึ่งพาตัวเองได้นะคะ ไม่งั้นก็ต้องรอความช่วยเหลือจากคนอื่น ก็จะไม่ดี ถ้าจะให้ดีต้องเป็นห้องน้ำที่ถูกดัดแปลงมาเพื่อเด็กๆ เช่น ประตู ต้องสามารถจะเปิดเข้าไปได้ หรือไม่ต้องมีบานเลยก็ยังได้นะคะ หรือเป็นแค่บังตาที่เราจะเห็นว่ามีเท้าเล็กๆ อยู่ในห้องน้ำนะ ไม่ได้ติดอยู่ในห้องน้ำ แล้วก็โปร่งสบาย

คุณสรวงมณฑ์ : ก็เรียกว่าเป็นบรรยากาศภายในของโรงเรียนเลย

อ.ธิดา : ใช่ค่ะ แล้วดูสิว่ามีบริการที่เราต้องการรึเปล่า คือเดี๋ยวนี้คุณพ่อคุณแม่ก็คงจะต้องดูนะคะว่า ที่โรงเรียนนี้เค้ามีอะไรที่เราต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า เช่น ถ้าเราไม่ไหวจริงๆ มีรถโรงเรียนสักเที่ยวนึงมั๊ย ที่จะพาลูกกลับบ้าน ถ้าเราต้องมารับเย็นมากเกินไป อะไรพวกนี้น่ะค่ะ หรือว่าบางบ้านลำบากจริงๆ เลยเช้าๆ เตรียมอาหารมาแล้วจะฝากครูป้อนได้มั๊ย ครูเค้าจะช่วยเราได้รึเปล่านะคะ บางทีมันก็เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับเรา

แล้วก็อีกอันนึงเรื่องพื้นฐานอีกอันนึงก็คือ ค่าใช้จ่ายเหมาะกับงบประมาณของครอบครัวเรามั๊ย คือ บางทีความอยากของเรา ความต้องการของเรา แล้วเราจัดการไม่ได้เนี่ยนะคะ มันก็จะทำให้การเรียนของลูกเนี่ยสะดุดไปนะคะ ก็มีเหมือนกันค่ะ บางทีเราก็อยากให้ลูกได้เรียน แต่ว่ามันอาจจะไม่เหมาะกับครอบครัวของเรา ความสุขในครอบครัวเราก็จะหายไป อันนี้ก็จะเป็นพื้นฐาน

คุณสรวงมณฑ์ : พื้นฐานที่ควรจะต้องไปดูก่อนนะคะ อย่าดูแค่โบรชัวร์หรือว่าเว็บไซต์

อ.ธิดา : ค่ะใช่ ต่อไปก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทางด้านการศึกษาละ เพราะว่าลูกไปโรงเรียนนี่มันก็ไม่ใช่แค่พื้นฐานกินอยู่หลับนอน ...เท่านั้นนะคะ แต่ว่ามันจะครอบคลุมถึงตัวพัฒนาการทั้งหมด แล้วก็รูปแบบของการเรียนที่ทางโรงเรียนเค้าจัดให้ ว่ามันตรงใจเรารึเปล่า หรือว่ามันเหมาะรึเปล่ากับธรรมชาติของลูกน้อยของเรา

คุณสรวงมณฑ์ : ยกตัวอย่างได้มั๊ยคะครูหวาน

อ.ธิดา : ค่ะ เดี๋ยวนี้มันก็มีคำถามว่าลูกจะไปเรียน แล้วหลักสูตรอะไร ที่มันจะเหมาะกับลูกของเรา จะเตรียมความพร้อมมั๊ย หรือจะเอาแบบเขียนอ่านเยอะๆ ดี อย่างนี้ใช่มั๊ยคะ เอ๊ะ ลูกกำลังจะไปเข้า nursery 2 ขวบ 3 ขวบ เอ๊ แล้วจะเข้าเรียนแล้ว ป.1 จะลำบากรึเปล่า ป.1 จะเป็นยังไง จะ entrance ได้มั๊ย ครูหวานเคยมีคำถามจากผู้ปกครองนะคะถามว่า “ถ้าเรียนแบบนี้แล้วเนี่ย แล้วต่อไปลูกจะ entrance ได้มั๊ย?” ก็ถามใหม่ว่า ยังเข้า ป.1 ไม่ได้  “ผมหมายถึงว่าต่อไปจะเป็นพื้นฐานไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้มั๊ย?” โอ้โห เป็นคนมองการณ์ไกลจัง (หัวเราะ)

ค่ะทีนี้เราก็มาดูว่าคุณพ่อคุณแม่ก็คงจะสงสัยว่า “เตรียมความพร้อม” มันคืออะไร แล้วก็ เอ๊ะ จะต้อง “เขียน-อ่าน” รึเปล่า

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

อ.ธิดา : ทีนี้หลักการสำคัญเลยของปฐมวัยเนี่ย ในช่วงที่โลกกำลังพัฒนาสูงสุด ความคิดสร้างสรรค์ก็งอกงามนะคะ เรื่องของพื้นฐานนิสัยที่ดีมันก็ต้องถูกสร้างในวัยนี้นะคะ เค้าบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเรียนในชีวิตมนุษย์เนี่ย เราเรียนในช่วงอนุบาลทั้งหมด หลักการสำคัญก็คือเด็กจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญานะคะ ไม่ใช่แต่ว่าเรียนหนังสือกันอย่างเดียว อย่างที่เราเห็นนะคะ คุณสรวงมณฑ์ว่าบางทีเด็กเข้าเรียนแล้วเนี่ย กลับบ้านไปปุ๊บก็จะมีเสียงร้องไห้ น้ำตายังเปียกอยู่เลย ก็จะมีการบ้านคัด 3 บรรทัดอะไรอย่างเนี้ย

คุณสรวงมณฑ์ : คัดไปร้องไป

อ.ธิดา : น้ำตาร่วงเผาะๆ ก็จะเป็นการฝืนกับธรรมชาติของเค้า อย่างนี้เค้าเรียกว่าเป็นหลักเร่งรัด หรือว่าเป็นการติวเข้ม ไม่ใช่โรงเรียนแล้วค่ะแบบเนี้ย คือถ้าสมมติว่าคุณพ่อคุณแม่ไปแล้วลองคุยกับเค้า ถ้าโชคดี ควรจะขอคุยกับผู้บริหารโรงเรียนในระดับที่เค้าจัดการด้านอนุบาลว่า เอ๊ะ ที่โรงเรียนนี้เนี่ย มีจุดเด่นยังไงคะ ที่โรงเรียนสอนแบบไหน ถ้าเค้าบอกว่าถ้าเรียนที่นี่แล้วเนี่ย แน่นอนเลยว่าลูกเนี่ย “ความรู้แน่น เข้ม เข้า ป.1 สบาย” อันนี้ต้องหยุดแล้วค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ต้องหยุดละ

อ.ธิดา : ใช่ เพราะลูกเราจะโตแต่หัวอย่างเดียวก็ไม่ได้ใช่มั๊ยคะ มันจะแบกหัวยังไงไหว เค้าคงถูกขโมยความสุขไปหมดเลย หรือว่าถ้าเค้าบอกเราว่า “อ๋อ ที่นี่เนี่ยนะคะ เด็กเล่นสนุก” เราก็ต้องคิดอีกละว่า เอ๊ แล้วจริงๆ สนุกอย่างเดียวใช่รึเปล่า หรือว่า “ที่นี่เตรียมความพร้อมค่ะ แต่ว่าไม่ต้องกังวลนะคะ ลูกจะมีความสุขกับการอ่านการเขียน” อันนี้เข้าท่า อยากได้มั๊ยคะ ถ้าคุณสรวงมณฑ์ฟังอย่างนี้อยากได้มั๊ยคะ?

คุณสรวงมณฑ์ : เครียดเลยนะคะ

อ.ธิดา : อ้าวก็คือได้ทั้งพัฒนาการแล้วก็มีความสุขกับพื้นฐานที่จะรักการอ่าน แล้วก็สนุกกับการนับเลข ดีเหมือนกันเนอะ

คุณสรวงมณฑ์ : ใช่ มีผู้ปกครองบางคนบอกว่าอยากตามหาโรงเรียนในฝันแบบนี้

อ.ธิดา : ค่ะ ใช่ มันเป็นสูตร ทีนี้เนื่องจากระยะหลังผู้ปกครองก็ฟังรายการเยอะ อ่านหนังสือเยอะ ก็คำตอบนี้โรงเรียนก็จะเตรียมไว้ให้พ่อแม่ อ้าว คนอยากเร่งเรียนเหรอ ก็ได้เรียนเนอะ อ้าวคนอยากเตรียมความพร้อมก็ได้ เพราะฉะนั้น ขายได้ละ หลักสูตรนี้ขายได้ แต่จริงรึเปล่า?

คุณสรวงมณฑ์ : อันนี้ก็สำคัญ

อ.ธิดา : คุณพ่อคุณแม่ต้องฉลาดแหลมคม ให้ทันเค้าด้วย บางทีมันหลอกกันไม่ได้นะคะ เพราะว่าเราต้องเข้าไปในวันที่เค้าสอนหนังสือ

คุณสรวงมณฑ์ : มีการเรียนการสอน

อ.ธิดา : เค้ามีกิจกรรมใช่มั๊ยคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ไปแอบดูเหรอคะ?

อ.ธิดา : ขอดูเลย ถ้าไม่ให้ดูนี่แปลกนะคะเพราะว่าเราจะเอาชีวิตลูกมาฝากเค้าไว้เนี่ย เอ้อ แล้วเค้าจะให้เราดูมั๊ยเนี่ย ถ้าไม่ให้ดูแล้วเราจะจัดการยังไงล่ะ ใช่มั๊ยคะ ก็แปลกละ ส่วนใหญ่เราก็จะต้องขอดูนะคะ ก็ขอเข้าไปดู

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

อ.ธิดา : ทีนี้เราจะไปสังเกตยังไง อาจจะคุยกับเค้าก่อนเบื้องต้นว่า เอ้อ แนวโรงเรียนเป็นยังไง ถ้าแนวเร่งเรียนเราก็ตัดๆ ไปเลยนะคะ มันก็ไม่น่าจะเหมาะกับเด็กที่ต้องเติบโตทั้งร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาใช่มั๊ยคะ ทีนี้มาดูต่อว่า เอ๊ แล้วที่นี่เนี่ย คุณครูประเมินผลเด็กยังไงคะ เค้าบอกว่าที่นี่มีสอบค่ะ สอบทุกเทอมเลยเด็กจะได้เก่ง อ้าว อันนี้ก็ต้อง...ตัดทิ้ง ถูกมั๊ยคะ

คุณสรวงมณฑ์ : เพราะว่าเด็กจะยังไงล่ะเนี่ย จะต้องมาสอบแล้วเพิ่งจะวัยอนุบาลนะคะ

อ.ธิดา : ใช่ค่ะ ถ้าเค้าสอบมี paper น่ะไม่ใช่ละเพราะว่าหลักการของอนุบาลเนี่ย การประเมินผลต้องประเมินจากการสังเกตพฤติกรรมของเด็กว่า เค้าช่างสังเกตมั๊ย เค้ารู้มั๊ยว่าอะไรเหมือนอะไรต่าง อะไรเล็กอะไรใหญ่ แต่ว่าไม่ใช่จากการทำข้อสอบ นี่ยังไม่ใช่เด็กที่อยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับนะคะ แล้วก็เรียนรู้ด้วยวิธีการอื่น เด็กก็ต้องเรียนรู้จากการลงมือทำ ครูก็ต้องสังเกตนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

อ.ธิดา : ทีนี้การประเมินผล ถ้าเค้าบอกว่าเค้าสังเกตพัฒนาการค่ะ ดูว่าร่างกายของเด็กเติบโตยังไง เด็กเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมือยังไง ใช้กรรไกรเป็นอย่างไร โอ้ อันนี้ผ่าน

ทีนี้ข้อคำถามต่อไปนะคะ เอ๊ แล้วห้องเรียนเนี่ย ครูสอนนักเรียนอัตราส่วนเป็นยังไงคะ

คุณสรวงมณฑ์ : มีนักเรียนกี่คน มีคุณครูกี่คนนะคะต่อห้อง

อ.ธิดา : ค่ะ อันนี้ก็สำคัญนะคะ เพราะว่าอันนี้มันเป็นเรื่องที่จะสะท้อนว่า ครูจะมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับนักเรียนสักแค่ไหน

คุณสรวงมณฑ์ : ทั่วถึงมั๊ย

อ.ธิดา : ค่ะ มันต้องพอเหมาะพอดีกับจำนวนเด็ก เหมือนแม่ลูกเยอะน่ะค่ะ ก็เลี้ยงกันไป ต่อให้จัดการดียังไงก็ไม่มีโอกาสได้โอบกอด หรือว่าฟังเค้าคุย โดยทั่วไปตามหลักวิชาการ สัดส่วนต้องเป็นประมาณ 3 เท่าของอายุเด็ก

คุณสรวงมณฑ์ : 3 เท่าของอายุเด็ก

อ.ธิดา : 3 ขวบก็ต้อง

คุณสรวงมณฑ์ : 1 ต่อ 9

อ.ธิดา : ใช่มั๊ยคะ ประมาณเนี้ยค่ะ เด็กอนุบาล 1 อย่างเนี้ยค่ะ 3 ขวบ ห้องเรียนนึงเด็กสัก 25 คนน่าจะมีผู้ใหญ่ 3 คน

คุณสรวงมณฑ์ : 3 คน

อ.ธิดา : ค่ะ ก็มีครูหลักสักคนนึง ครูผู้ช่วย แล้วก็พี่เลี้ยงก็ได้ หรือบางโรงเรียนเค้าจัดดีๆ เลย เค้าก็ครู 1 ผู้ช่วย 2 ก็แล้วแต่ ก็เป็นสัดส่วนประมาณนี้ เพราะว่าช่วงอนุบาล 1 เข้ามาใหม่ๆ เค้ายังช่วยตัวเองได้น้อยนะคะ ก็ประมาณนี้ อย่างมากก็ไม่เกิน 27 หรือไม่อย่างมากก็ไม่ควรจะเกิน 30 คน

พอมาสัก 4 ขวบ 4 ขวบก็ 4x3 เป็น 12 ก็ครูสัก 2 คนเด็ก 25 คนอะไรอย่างเนี้ยค่ะ

อนุบาล 3 ก็ครู 2 คนเช่นกัน แบบนี้น่ะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ก็เรียกว่าเป็นวิธีการง่ายๆ ที่ช่วยคุณพ่อคุณแม่ในการคิดก่อนจะตัดสินใจ

อ.ธิดา : ทีนี้อย่างสัดส่วนอย่างนี้น่ะค่ะ บางทีเราไป น่าตกใจนะคะ ห้องนึง 35 คนมีครูอยู่คนสองคน โอ้โห ไม่ไหว

คุณสรวงมณฑ์ : เดี๋ยวนี้ประถมนี่ 1 ต่อ 70 ด้วยค่ะครูหวาน ไปเจอมาแล้วอึ้งตกใจมาก

อ.ธิดา : นี่จะต้องเป็นครูแบบชั้นเยี่ยมจริงๆ ทีนี้อนุบาลก็จะต้องโอบกอดกัน คุยกัน ใกล้ชิดกันนะคะ นี่ก็จะเป็นเรื่องของสัดส่วน

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

อ.ธิดา : เมื่อกี้เราพูดถึงเรื่องหลักสูตรที่เราบอกว่าเป็นองค์ประกอบนะคะ แล้วก็ผสมผสานให้เด็กรักการอ่าน สนุกกับการเขียนอะไรอย่างนี้นะคะ เราก็มาดูว่ามันจะเป็นจริงมั๊ย ต้องเข้าไปดูในห้อง พอเข้าไปดูในห้องปุ๊บ สิ่งที่ต้องมองปร๊าด มันจะใช่ไม่ใช่ก็คือ ห้องเรียนเค้าจัดยังไง มันสะท้อนวิธีการสอนอันนั้นรึเปล่า อ้าว บอกว่าให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่นและทำกิจกรรม อันนี้เป็นสูตรของอนุบาล ก็ต้องดูในห้อง มีอะไรให้เล่นรึเปล่า

คุณสรวงมณฑ์ : ห้องโล่งเลยอย่างนี้

อ.ธิดา : โต๊ะเรียงกันอย่างประถมหรือมัธยมแบบเนี้ย

คุณสรวงมณฑ์ : ตั้งโต๊ะไว้หน้ากระดาน มองไปอย่างเดียว

อ.ธิดา : มองจ้องครูไปเถอะ อันนี้ไม่ผ่านนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ไม่ดีแน่

อ.ธิดา : ก็ต้องแสดงว่าลักษณะถ้าตั้งโต๊ะเรียงหน้ากระดานหันหาครู ก็ต้องครูเป็นคนพูด ครูเป็นคนจัดการ เด็กเงียบฟัง ผู้เรียนก็ไม่กระตือรือร้นแล้ว รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แล้ววิธีการของครูที่จะให้เด็กนั่งแบบนี้ก็คือต้องดุ หน้าตาบึ้งตึงนิด ถ้าเดินผ่านทุกห้องๆ ห้องที่หนึ่งก็แล้ว ห้องที่สองก็แล้ว นั่งเหมือนกันเลย

คุณสรวงมณฑ์ : ไม่ดีแน่

อ.ธิดา : ไม่ดีแน่ แต่เราให้โอกาสเค้าว่าบางทีบางกิจกรรมเค้าอาจจะอยากให้เด็กหันหน้า แต่ถ้ามันเป็นเหมือนกันหมดเลยทุกห้องเรียน อันนี้ก็ไม่ควรจะเลือกแล้วล่ะค่ะ เพราะว่าลักษณะห้องเรียนอนุบาลเนี่ย มันจะเป็นห้องเรียนที่เป็นกลุ่มๆ นะคะ หรือไม่ก็นั่งครึ่งวงกลมกับครูนะคะ คำว่าเล่นเนี่ยหมายถึงว่า ภายในห้องน่ะค่ะก็จะมีที่เค้าเรียกว่า Learning Center หรือศูนย์การเรียน หรือมุมการเรียนรู้ เป็นมุมๆ ถ้าเป็นคุณพ่อคุณแม่นัก survey สำรวจโรงเรียนก็จะเห็นค่ะว่าโรงเรียนอนุบาลเค้ามีลักษณะเฉพาะเลย ห้องเรียนอนุบาลเค้าจะเป็นบทบาทเฉพาะเลย มีมุมอ่านหนังสือกัน มีมุมเครื่องเล่นสมมติ มีหม้อถ้วยชามลานไหเป็นมุมครัวนะคะ มุมตรงนี้ก็จะเป็นมุมบล็อก ต่อบล็อกกันต่อเลโก้กันอย่างเนี้ยค่ะ แล้วมันก็จะเป็นลักษณะที่เรานึกภาพออกเลยว่าเวลาเค้าเรียนปุ๊บเนี่ย ครูก็ต้องให้เค้ามาทำกิจกรรม เด็กได้เล่นด้วยกัน ได้มีการแลกเปลี่ยนทักษะทางสังคม เด็กได้ต่อบล็อก ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ได้ใช้กล้ามเนื้อมือใช่มั๊ยคะ แล้วก็มีมุมหนังสือ เด็กก็จะรักการอ่าน มีมุมให้เด็กนั่งเขียนเล่น อยากจะวาดรูปทำงานศิลปะ บรรยากาศอย่างนี้น่ะค่ะเรียนรู้ผ่านการเล่น

คุณสรวงมณฑ์ : มีคำถามจากคนฟังบ้างนะคะครูหวาน เดี๋ยวขอไปด้วยหลายคำถามเลย

คุณพ่อเสกบอกว่า ตอนนี้น้องอยู่อนุบาล 1 ค่ะแล้วก็อยากให้น้องมาเรียนโรงเรียนแถวๆ บ้านซึ่งเป็นโรงเรียนของรัฐ แต่ตอนนี้มีหลานเรียนอยู่ ป.4 ที่โรงเรียนแห่งนี้นะคะ แล้วก็พอมันมีการเรียนฟรีนะคะ บางวิชาอาจารย์ก็ไม่สอนทั้งเทอม หรือบางวิชาก็สอนบ้างประมาณ 2 ครั้งต่อเทอม เมื่อก่อนคุณภาพของเด็กที่โรงเรียนนี้ดีมาก แต่พอมีการเรียนฟรีคุณภาพเด็กก็แย่ลง คุณพ่อเลยอยากถามว่า จะทำอย่างไรดี พราะว่าคุณพ่ออยากให้น้องมาเรียนนี่เพราะว่าใกล้บ้าน? แล้วก็อีกคำถามก็คือ พอมีการเรียนฟรี บางโรงเรียนก็จะมาเก็บเงินจากผู้ปกครองเป็นค่าสมาชิก ถ้าสมมติจ่ายเงินมาก เกรดลูกจะดีแต่ถ้าจ่ายเงินน้อย เกรดลูกก็จะแย่ตาม จะมีวิธีแก้ปัญหานี้อย่างไร?

อ.ธิดา : โอ้ ถ้าอย่างนี้นะคะคงต้องคุยกับ...คือส่วนนึงนะคะ เราต้องยอมรับว่าเราต้องเข้าไป คือเราจะอยู่เฉยๆ คงไม่ได้ คือมันมี 2 ลักษณะ คืออันแรกเนี่ย มันเป็นข้อเท็จจริงรึเปล่า หรือว่ามันเป็นความรู้สึก หรือว่ามันเป็นสิ่งที่บอกต่อกัน ใช่มั๊ยคะต้องหาข้อเท็จจริงก่อน การหาข้อเท็จจริงได้เนี่ยก็ต้องพบผู้บริหาร ต้องกล้าเลยค่ะเข้าไปแล้วคุยกันว่ามันจริงรึเปล่า หรือว่ามันเป็นอย่างนั้นมั๊ย หรือมันเป็นกับเด็กบางคนบางกลุ่มที่เรียนแล้วไม่ประสบความสำเร็จ หรือต้องย้ายโรงเรียนหรืออะไรก็ตามแล้วเค้าก็กลับมาพูด คือมันต้องหาข้อเท็จจริงนะคะ แล้วก็หาทางออกร่วมกัน คือคิดว่าบางทีเนี่ยผู้ปกครองก็จะต้องมีบทบาทนะคะ แต่เราใช้ความสุภาพ เราไม่ได้เข้าไปกดดันโรงเรียน แต่เราไปขอข้อเท็จจริงว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าเราก็อยากอยู่โรงเรียนใกล้บ้านน่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

อ.ธิดา : พ่อแม่นี่มีส่วนมากนะคะที่จะช่วยเป็นหูเป็นตา มีส่วนในการช่วยร่วมกันพัฒนาโรงเรียนนะคะ บางทีมันอาจจะเกิดขึ้นหรือมันมีการเปลี่ยนแปลงนะคะ ก็ต้องเข้าไปพูดคุยกัน

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ มาอีกท่านนึงนะคะบอกว่า คุณเพ็ญจันทร์ถามว่า โรงเรียนอนุบาลของรัฐและเอกชนมีความแตกต่างกันอย่างไร? ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกิจกรรม การเรียนการสอน รวมไปถึงข้อดีข้อเสียด้วยค่ะ

อ.ธิดา : ของรัฐกับเอกชนมันจะมีข้อต่างกันตรงที่ว่า บางกรณีเนี่ยรัฐนี่จำเป็นที่จะต้องรับเด็กในเขตพื้นที่เข้าไป มันเลยทำให้อัตราส่วนครูต่อนักเรียนค่อนข้างมาก คืออัตราส่วนของนักเรียนน่ะเยอะ คือแทนที่สมมติว่ามันจะเป็น 1 ต่อ 9 อย่างนี้ก็ทำไม่ได้แล้วเพราะว่าเด็กในพื้นที่เข้ามาเยอะ เพราะฉะนั้นมันก็อาจจะทำให้เกิดความอัดแอของตัวห้องเรียน กับอีกอันนึงก็คือว่า ความที่โรงเรียนของรัฐบางแห่งเนี่ย มันจะมีห้องเรียนเยอะ ความใกล้ชิดอะไรนี่ก็จะมีผล แล้วก็เมื่อก่อนนี้เราจะมีความรู้สึกว่าโรงเรียนรัฐเนี่ย ใส่ใจเรื่องเด็กอนุบาลน้อยนะคะ เค้าจะถนัดเรื่องของประถม แล้วก็เอาครูเนี่ยที่เป็นประถม หรือว่าสอนไม่เก่งละมาอยู่อนุบาลซะ ก็ถอยๆ ลงมาเรื่อยๆ มันก็เลยทำให้คุณภาพของโรงเรียนของรัฐในส่วนของอนุบาลลดลงไป ในอดีตนะคะ แต่ในระยะหลังมาเนี่ย โรงเรียนของรัฐเนี่ยก็พัฒนาขึ้นเยอะ อย่างเช่นโรงเรียนของ กทม.อย่างเนี้ยค่ะ เค้าก็จะมีการอบรมครูอนุบาล... ก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคก็คือจำนวนนักเรียน

คุณสรวงมณฑ์ : ที่ไม่สัมพันธ์กัน

อ.ธิดา : ใช่ค่ะ กับอีกอันนึงที่คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจจะเห็นเป็นข้อเสีย แต่ความจริงมันก็ไม่ใช่ข้อเสีย คือ เด็กเนี่ยจะมาจากหลากหลายสถานะทางครอบครัวทางด้านเศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจของแต่ละคน มันก็จะทำให้เด็กเนี่ยมาหลากหลายมากเลย เด็กบางคนก็พ่อแม่ไม่ได้ใกล้ชิด ไม่ได้ดูแลวาจาคำพูดอะไรอย่างนี้ค่ะ ครูก็จะต้องมาขัดเกลากันเยอะ ทีนี้ถ้ามองมุมบวกก็จะมองละ เออ ลูกก็จะได้อยู่ในลักษณะหลายๆ อย่างเป็นโจทย์ เช่น เป็นโจทย์ให้เราฝึกลูก ฝึกลูกศิษย์ ทีนี้ของเอกชนมันก็จะมีอีกอย่างนึงที่พ่อแม่อาจจะรู้สึกว่า โอเค อยากให้อยู่โรงเรียนเอกชนเพราะว่า 1. พ่อแม่ก็จะเป็นพ่อแม่กลุ่มใกล้ๆ กัน ลักษณะเดียวกัน 2. อัตราส่วนค่อนข้างดี 3. เอกชนส่วนใหญ่แล้ว เจ้าของโรงเรียนหรือผู้บริหารของโรงเรียนก็จะใกล้ชิด เข้ามาดูแลเพราะว่ามันเป็นธุรกิจของเค้า มันเหมือนกับโรงเรียนมีเจ้าของน่ะค่ะ ใช่มั๊ยคะ กับเจ้าของที่มันเป็นส่วนกลางเนี่ย ความใส่ใจมันก็อาจจะมีผลตามความเชื่อนะคะ อย่างของรัฐก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารโรงเรียน

คุณสรวงมณฑ์ : มีอีกท่านนึงนะคะ คุณพรรษชลบอกว่า ตอนนี้น้องไปเรียนได้ระยะนึงนะคะ น้องอยู่อนุบาล 1 เทอมแรกตั้งใจเรียนมากเลย ตั้งใจทำการบ้าน พอมาเทอม 2 เริ่มงอแงไม่ยอมทำการบ้าน แล้วก็บางทีคุณแม่ก็ขู่น้องเหมือนกัน ขอถามอาจารย์ว่าจะมีวิธีแก้ไขอย่างไรคะ?

อ.ธิดา : ค่ะ เทอมที่ 1 ก็ต้องมาดูว่าความแตกต่างหรือมันเกิดอะไรขึ้นมั๊ยในช่วงระหว่างเทอม 1 กับเทอม 2 อย่างเช่น บ้านเรามีอะไรเปลี่ยนมั๊ย เพราะว่ามันก็มีเหมือนกันนะคะ บางทีเรานึกไม่ถึง เช่น ช่วงหลังคุณพ่อเนี่ยไปบินเยอะ หรือว่าคุณพ่อต้องไปต่างจังหวัด หรือคุณแม่เองน่ะแหละมีงานเยอะขึ้นรึเปล่า มีเวลากับเค้ามากน้อยแค่ไหน หรือว่าความใส่ใจกับน้องคนเล็ก แล้วตัวเองเป็นพี่คนโต มันมีอะไรเปลี่ยนแปลงมั๊ย ถ้าทุกอย่างสงบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ครูที่โรงเรียน เปลี่ยนครูมั๊ย ผู้ช่วยออกไปรึเปล่า ครูผู้ช่วย หรือพอมาเทอมที่ 2 ครูเร่งรัดเด็กเกินไปรึเปล่า ลูกตามไม่ทันมั๊ย หรือมันเกิดอะไรขึ้นกับเค้า ที่นั่งเรียนของเค้าไกลเกินไปมั๊ย เค้าเป็นเด็กที่ต้องการความใส่ใจมากกว่าปกติรึเปล่า ต้องดูหมดเลยค่ะ หู ตา เป็นยังไง แต่ที่สำคัญต้องไปคุยกับคุณครูค่ะ มันเกิดอะไรขึ้น ลูกเริ่มไม่สนุก มันยากไปรึเปล่า เค้าไม่ประสบความสำเร็จมั๊ย ต้องไปคุยเลยค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ต้องดูปัญหาสภาพแวดล้อมด้วย ดูองค์ประกอบเหล่านี้ก่อนที่จะไปตัดสิน

อ.ธิดา : ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ความจริงประเด็นนี้น่าสนใจมากเลยค่ะครูหวาน ขออนุญาตต่อวันพรุ่งนี้ได้มั๊ยคะ ครูหวานเสียสละเวลาอีกวันนึง

อ.ธิดา : ได้ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : นะคะ ต้องขอขอบพระคุณวันนี้ด้วยเวลาอันจำกัด

อ.ธิดา : พรุ่งนี้เราจะมาดูอีกนะคะว่า เออ อะไรบ้างที่มันเป็นภาพลวงตาแล้วเราจะมีวิธีไปสืบยังไงในห้องเรียน

คุณสรวงมณฑ์ : นะคะ วันนี้ต้องขอขอบพระคุณครูหวานมากนะคะ

อ.ธิดา : ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ขอบพระคุณค่ะ

อ.ธิดา : ค่ะ สวัสดีค่ะ

ความคิดเห็น