บทสัมภาษณ์ : อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข เรื่อง "การเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูก ตอนที่ 2 (จบ)"

บทสัมภาษณ์ : อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข เรื่อง "การเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูก ตอนที่ 2 (จบ)"

รายการ “พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” FM 105

ถอดคำสัมภาษณ์ อ.ธิดา พิทักษ์สินสุข (อาจารย์หวาน/ครูหวาน) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย (ประสบการณ์ 30 ปี)
ปัจจุบันเป็นกรรมการบริหารสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย วิทยากรรับเชิญทั่วประเทศ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตพัฒนา

ผู้ดำเนินรายการ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com

วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553 เรื่องเกี่ยวกับ “การเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูก ตอนที่ 2 (จบ)”



คุณสรวงมณฑ์ : สวัสดีค่ะอาจารย์คะ

อ.ธิดา : ขา สวัสดีค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : รบกวนเป็นวันที่ 2 ค่ะ ต่อเนื่องมาจากเมื่อวานนี้นะคะ วันนี้อาจจะต้องขอลงลึกนิดนึงค่ะอาจารย์ ก็พูดถึงโรงเรียนระดับปฐมวัยนี่แหละ ที่พ่อแม่จะหาโรงเรียนอนุบาลให้ลูก แต่ว่าได้ยินอยู่ 2 คำว่า “แนวเตรียมความพร้อม” กับ “แนววิชาการ” ถามครูหวานก่อนเลย มันต่างกันยังไงคะ?

อ.ธิดา : แนวของการเตรียมความพร้อม ก็จะเป็นแนวที่เน้นเรื่องพัฒนาการของเด็กน่ะค่ะ คือถ้าพ่อแม่เข้าไปดูก็จะเห็นว่าเด็กๆ เนี่ยเรียนผ่านการเล่น ทำกิจกรรม สนุกสนานร้องเพลง เต้นรำระบำ เล่านิทาน อันนี้ก็จะเป็นภาพที่เราเห็นโดยทั่วไป

กับอีกแนวนึงที่เรียกว่าแนววิชาการ ก็คือว่าพอเข้าไปในห้อง เราก็จะเห็นเด็กนั่ง คัด เขียน ท่องหนังสือ เพื่อที่จะเตรียมการที่จะไปเรียนหนังสือจริงๆ ก็จะเป็น 2 แนว

แล้วก็อีกแนวนึงก็คือ แนวที่เค้าผสมผสานระหว่างเตรียมความพร้อมไปด้วย แล้วก็ให้เรียนหนังสือไปด้วย

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แล้วก็ทีนี้ที่ได้ยินมาพักหลังตั้งแต่มีการปฏิรูปการศึกษาเนี่ย เราได้ยินมอนเตสเซอรี่ ได้ยินวอร์ดอร์ฟ ได้ยินนีโอ-ฮิวแมนนิส เยอะแยะมากมายเนี่ย อาจจะไม่ได้ลงลึกค่ะว่าการศึกษาทางเลือกนั้นเป็นยังไง แต่ว่าโดยรวมๆ แล้วการศึกษาที่เราได้ยินใหม่ๆ ชื่อใหม่ๆ เหล่านี้เป็นการศึกษาทางเลือกที่อยู่ในแนวเตรียมความพร้อม ถูกต้องมั๊ยคะ?

อ.ธิดา : ใช่ค่ะ เป็นแนวเตรียมความพร้อม ก็คือแนวที่นึกถึงเด็กทั้งองค์รวมน่ะค่ะว่า การเรียนรู้มันไม่ได้เรียนแต่หนังสือนะ แต่การเรียนรู้มันต้องเรียนเรื่องการใช้ชีวิตด้วย เรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกใบนี้ เรื่องของความสุขทางใจ ก็จะเป็นโรงเรียนแนวนวัตกรรมพวกนี้น่ะค่ะ ก็เอาความรู้ทางด้านต่างๆ จากนักการศึกษาหรือนักปรัชญาเนี่ยเอามาใช้ในโรงเรียน แต่โรงเรียนประเภทนี้ก็จะมีอยู่ไม่มากนัก อย่างโรงเรียนวอร์ดอร์ฟก็อาจจะมีสัก 2 – 3 โรง หรือไฮสโคปก็มีไม่มาก

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วทีนี้พอพูดถึงเรื่องของแนวเตรียมความพร้อม ในหลักวิชาการของการศึกษาปฐมวัย อาจารย์จะให้คำแนะนำมั๊ยคะว่าจริงๆ แล้วเด็กวัยขนาดเนี้ย ปฐมวัยเนี่ย จำเป็นมั๊ยต้องอ่านออกเขียนได้ หรือว่าเร่งให้มีพัฒนาการที่รวดเร็ว?

อ.ธิดา : คือคำว่า “เร่ง” เนี่ย มันก็ดูไม่เหมาะอยู่แล้วนะคะ คือเร่งเนี่ย ก็คือเหมือนกับว่าเราฝืนธรรมชาติของเค้า เราอยากให้เค้าไปเร็วมากเลย แต่เราลืมมองดูตัวเค้าแล้วเอาความคาดหวังของเราเนี่ยเป็นตัวตั้ง เป็นความกลัวด้วยแหละค่ะของคุณพ่อคุณแม่ ด้วยว่าสมมติถ้าเค้าไม่ได้เรียนหนังสือเลยเนี่ย หรือเรียนน้อย เค้าจะไปสอบแข่งขันเข้า ป.1 ได้มั๊ย คือโรงเรียนระดับประถมเนี่ยก็มีการสอบด้วย แต่ว่านักวิชาการกับนักการศึกษาหรือผู้บริหารโรงเรียน เราพยายามค่ะที่จะช่วยกันอยู่แล้วว่าเราจะไม่มีการสอบ ไอ้ที่จะสอบวิชาการจริงๆ อย่าง สะกดคำ เขียน “พระมหากษัตริย์” อะไรอย่างเนี้ยค่ะ เราก็พยายามที่จะยกเลิก ต้องถามตัวเองว่าตอนนี้เราสะกดคำว่า “อัฒจันทร์” ได้มั๊ยอะไรอย่างเนี้ยค่ะ (คำนี้คนพิมพ์ก็ต้องเปิดพจนานุกรมเหมือนกันนะเนี่ย)  มันยากเกินไป โรงเรียนหลายๆ โรงก็ให้ความร่วมมือเยอะนะคะ  เค้าก็มาทำความเข้าใจกันว่าถ้าคุณจะสอบจริงๆ นะ เอาประเภทนั่นดีกว่ามั๊ย ในลักษณะของการสังเกตแทน เช่น ให้เด็กลองดูสิว่าภาพนี้เหมือนกับภาพนี้มั๊ย มันต่างกันยังไง มันสนุกกว่าเยอะ

ทีนี้ก็กลับมาเตรียมความพร้อม คำว่า “เตรียมความพร้อม” เนี่ย เราก็ต้องไม่สุดโต่งไปว่าเตรียมความพร้อมแล้ว ปฏิเสธการอ่านการเขียนไปซะเลย มันก็ไม่ใช่นะคะ เพราะว่าตัวหนังสือนี้มันอยู่รอบตัวเด็ก ถูกมั๊ยคะ เด็กเองเค้าก็ยังเติบโตแบบนี้ เห็นคุณแม่อ่านหนังสือ เด็กก็อ่านหนังสือ พวกหนูก็อยากอ่านเหมือนกันแต่ว่าวิธีการสอนอ่านเขียน ซึ่งมันตรงข้ามกับแนวเร่งเรียนเนี่ยก็คือว่า ทำยังไงที่จะทำให้เค้ารู้สึกว่าเค้าสนุกนะคะ เค้าสนุกกับการอ่านเขียน เห็นหนังสือแล้วก็ เอ้า มาอ่านหนังสือด้วยกันลูก มาเล่านิทานด้วยกัน อย่างสมมติว่าเราเล่านิทานเรื่อง “เจ้าหมูหูหาย” พอเราอ่านกับเค้าบ่อยๆ เราจะพบว่าลูกเรามีความมหัศจรรย์มากเลยตรงที่ว่า พอเห็นหน้าปกเค้าก็รู้แล้วว่าไอ้นี่มันอ่านว่าอะไร

คุณสรวงมณฑ์ : เจ้าหมูหูหาย

อ.ธิดา : พอเปิดไปหน้ารองปกมันมีคำนี้อีกแล้ว “เจ้าหมูหูหาย” คือเค้าก็อ่านด้วยวิธีของเค้า

คุณสรวงมณฑ์ : เกิดการเรียนรู้

อ.ธิดา : ใช่ แต่นี้พ่อแม่อาจจะใจร้อน อยากให้เค้าสะกดเหมือนที่ ป.1 หรือป. 2

คุณสรวงมณฑ์ : ก อา กา ข อา ขา

อ.ธิดา : หมดกัน ไม่สนุกเลย คือบางทีเราไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นบางทีการเตรียมความพร้อมจริงๆ ก็ต้องไม่ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้

คุณสรวงมณฑ์ : เป็นการผสมผสานใช่มั๊ยคะ?

อ.ธิดา : ใช่ คือความจริงแล้วการทำยังไงให้เค้าสนุกกับการเรียน สมมติอย่างเขียนก็เหมือนกัน แทนที่เราจะจับเค้ามาเร่งรัดที่จะให้เขียน ก ไก่ 3 บรรทัด เค้าอยากเขียนคำว่า “แม่” มาลูกมาเดี๋ยวแม่เขียนให้ดู เดี๋ยวครูเขียนให้ดู หนูอยากเขียนคำว่า “แม่” ใช่มั๊ย ก็ไม่ต้องไปรอเรียนสระแอ ก ไก่ ถึง ม ม้า ใช่มั๊ยคะ ถึง ฮ นกฮูก ก่อนลูก ถึง ฮ นกฮูกเสร็จแล้วก็มา อะ อา อิ อี อุ อู กว่าจะ “แม” แล้วเมื่อไหร่จะ “แม่” ทีนี้ความอยากรู้มันก็หมดไป เตรียมความพร้อมนี่จะสอนแบบว่า อยากเขียนคำว่าแม่เหรอลูก เขียนไป ผิดถูกไม่เป็นไร เขียนบ่อยๆ เดี๋ยวหนูเขียนได้ เพราะฉะนั้นเนี่ย ที่บอกว่าเป็นการผสมผสานเนี่ย เป็นการผสมผสานผ่านการเข้าใจตัวเค้า เข้าใจธรรมชาติและไม่ฝืนเค้า

คุณสรวงมณฑ์ : แต่ประเด็นก็คืออย่างนี้ค่ะครูหวาน คือระยะหลังเนี่ยดิฉันเชื่อว่าคือคนเป็นพ่อแม่เนี่ยนะคะ ก็เข้าใจเรื่องการศึกษาแบบเตรียมความพร้อม และปรารถนาจะให้ลูกมีความสุขเนี่ยเยอะขึ้นเยอะมาก

อ.ธิดา : ใช่ เยอะขึ้นเยอะค่ะ ดีมาก

คุณสรวงมณฑ์ : แต่ว่าประเด็นก็คือว่า เอ๊ะ พอจบอนุบาลแล้วเนี่ย จะไปต่อ ป.1 ละ อันนี้มีความรู้สึกว่าจะยังไงดี ชักเริ่มเป๋ๆ อยู่ว่าถ้าขึ้น ป.1 แล้วก็ต้องไปสอบอย่างที่ครูหวานบอกนะคะ บางทีต้องสอบ

อ.ธิดา : entrance เข้า ป.1

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ entrance สำหรับเด็ก ป.1 ก็คือต้องสอบเข้า แล้วถ้าลูกเรายังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ สอบไม่ได้แน่ๆ แล้วจะทำยังไงคะช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้?

อ.ธิดา : จริงๆ แล้วตอนช่วงที่เค้าขึ้นมาจากอนุบาล 2 มาเป็นอนุบาล 3 นี่นะคะ เด็กเนี่ยมีศักยภาพเยอะพอสมควร ถ้าเราปูพื้นฐานเค้ามาดีๆ เราอ่านนิทานกับลูกทุกวันนะคะ แล้วเราก็ชวนเค้าขีดๆ เขียนๆ มาเรื่อยๆ อย่างมีความสุข พอเค้ามาอยู่ชั้นอนุบาล 3 เนี่ย เค้ามีความพร้อมขึ้นเยอะนะคะ เราก็ชวนลูกน่ะค่ะ หรือว่าโรงเรียนเค้าอาจจะช่วยระดับหนึ่ง แต่คุณพ่อคุณแม่นั่นแหละสามารถจะช่วยลูกได้เยอะนะคะ เราก็ชวนอ่านหนังสือด้วยกัน มาเขียนจดหมายถึงคุณยาย คำไหนหนูเขียนไม่ได้แม่ก็ช่วยเขียนให้ ก็ช่วยกันไปช่วยกันมาอยู่อย่างเนี้ยค่ะ เค้าก็จะพัฒนาไปได้เยอะ แล้วเอาเข้าจริงๆ นะคะ ความกลัวบางทีมันมีมาก มากกว่าข้อสอบ ก็ให้ลูกซ้อมไว้เยอะๆ ก่อนเผื่อคุณครูเค้าถาม ก็เคยคุยกับมาเซอร์ (master) นะคะของโรงเรียนคาทอลิกแห่งนึง เค้าบอกว่ามาเซอร์เค้าบอกเท่าไหร่ผู้ปกครองก็ไม่เชื่อ มาเซอร์ไม่ได้สอบขนาดนั้น แล้วไอ้ที่มันขายอยู่หน้าโรงเรียนของมาเซอร์นี่ยากจะตาย นั่นมาเซอร์ไปสอน ป.2 อะไรอย่างเนี้ยค่ะ ความกลัวตรงนี้แหละมันเกินขอบเขต แล้วระยะหลังๆ นี้นะคะ โรงเรียนหลายโรงก็ถอยมาเยอะมากแล้วค่ะ เพียงแต่ว่าพ่อแม่กลัวน่ะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วก็ ก็เลยทำให้คือมันเริ่มเป๋ๆ เหมือนกัน ทีนี้มันมีค่านิยมอีกประเภทหนึ่งเหมือนกันค่ะครูหวานก็คือ โรงเรียนของประถม คือตอนนี้คุณพ่อคุณแม่เริ่มพุ่งเป้าไปถึงระดับประถมนะคะ entrance ป.1 คือคิดไปเผื่อ entrance เข้ามหาวิทยาลัยเลย แล้วก็เริ่มมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ แนวทางการศึกษาแบบนี้ ช่วงรอยต่อแบบนี้เนี่ยจะเป็นการเสียโอกาสรึเปล่า เพราะว่าคืออย่างประสบการณ์โดยตรงนะคะ เจอผู้ปกครองที่อยู่ที่โรงเรียนด้วยกันเนี่ย ระหว่างทางพาลูกออกอนุบาล 1 อนุบาล 2 เพราะว่าเกรงว่า ป.1 จะไม่สามารถไปเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้ คือค่านิยมตรงนี้เนี่ยมันยังคงมีอยู่แล้วก็ยังเกิดขึ้นทั่วไป ถ้าจะอธิบายให้พ่อแม่เข้าใจควรจะต้องมีองค์ประกอบยังไงคะอาจารย์?

อ.ธิดา : คือความจริงแล้วในช่วงของอนุบาลนี่นะคะ ที่โรงเรียนเค้าผสมผสานในเรื่องของการอ่านเขียนเข้าไปแล้วเนี่ย ต้นทุนที่เด็กได้นี่นะคะ มันได้เยอะมากเพราะว่าการที่เราจะเอาลูกเราไปเรียนในระดับชั้น ป.1 เนี่ยมันอาศัยหลายอย่างมาก หนูมีความมั่นคงทางอารมณ์พอรึเปล่าที่จะไปนั่งทำข้อสอบ ซึ่งโรงเรียนเตรียมความพร้อมพวกนี้จะให้เยอะ แล้วก็หนูช่างสังเกตมั๊ย เพราะว่ามันจะมีตัวลวงเยอะมากเลยเวลาที่ลูกเราไปสอบ คือเด็กบางคนนี่นะคะเอาแต่เรียนๆ แต่ว่าภาวะอารมณ์ไม่ดี พอไปถึงหน้าห้องสอบจริงๆ เนี่ยไม่ยอมเข้าห้องสอบ

คุณสรวงมณฑ์ : ไม่มีอารมณ์

อ.ธิดา : ค่ะ เกิดความเครียด แล้วก็พอไปเจอปัญหาอะไรนิดนึง เช่น สมมติว่าดินสอที่เตรียมไว้ตกลงมาหัก ไม่กล้าขอครู ไม่กล้าบอก เพราะฉะนั้นแค่ว่าภาวะที่แกจะไปสอบเนี่ย จิตใจหรือสภาพตัวเองก็ไม่พร้อมแล้ว อย่าพูดถึงเลยว่าตอนที่เข้าไปเรียนแล้วอีก พอเข้าไปเรียนแล้วอีก ไหนเรื่องความสามารถของการเป็นผู้นำ กล้าคิดกล้าตัดสินใจ คือบางทีลูกเราตอนที่เค้าอยู่อนุบาล จริงๆ แล้วเราเตรียมเค้าเพื่อจะมีชีวิตที่สมบูรณ์ต่อไปในอนาคตใช่มั๊ยคะ เราไม่ได้เตรียมเค้าเพื่อที่จะไปเข้าห้องสอบอย่างเดียว ตรงเนี้ยค่ะมันเป็นรากฐานที่สำคัญ แต่ครูหวานก็เชื่อนะคะว่า เด็กที่เตรียมตัวมาอย่างดีพอสมควร ในโรงเรียนเตรียมความพร้อมที่จัดการศึกษาที่เหมาะสมเนี่ย จริงๆ แล้วเข้าได้ค่ะ เข้าไปเรียนต่อในระดับ ไปสอบผ่านไอ้ด่านตรงนี้ได้เนี่ยนะคะ ในช่วงปิดเทอมก่อนที่เค้าจะไปสอบ เตรียมเค้าอีกสักนิดนึง ให้เค้าคุ้นเคยกับแบบฝึก บางทีเด็กๆ เนี่ยเค้าอาจจะไม่คุ้นกับการทำพวกแบบฝึกเท่านั้นเอง เท่านั้นเองจริงๆ นะคะ แล้วถ้าเค้ามีสมาธิดี เค้ามีความมุ่งมั่น เค้ามีความตั้งใจ เค้ามีความสุขกับการเรียนแล้วเนี่ย เราเติมอะไรให้เค้าอีกสักนิดนึงก่อนที่เค้าจะไปสอบ เหมือนการเตรียมความพร้อมสักนิดนึง หรือว่าในโรงเรียนอนุบาลนี่เค้าจะมีการจัดห้องสอบคล้ายๆ การสอบ ให้หนูๆ คุ้นเคย อย่าไปย้ายโรงเรียนเลยค่ะ เตรียมให้เค้าอีกสักนิดเดียวเอง เค้าก็จะมีความสุข

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วทีนี้ก็มาถึงคำถามยอดฮิตว่า โรงเรียนดีๆ ที่มักจะเป็นโรงเรียนในฝันของคนเป็นพ่อแม่เนี่ย มักจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง จำเป็นมั๊ยคะว่าการศึกษาที่แพงจึงจะเป็นการศึกษาที่ดีเท่านั้น?

อ.ธิดา :
   

ไม่จริงนะคะ เพราะว่าตอนนี้เราพบว่าในโรงเรียนหลายๆ แห่งเนี่ย บางทีมันมีค่าใช้จ่ายที่แพงเนี่ย มันต้องไปดูว่ามันตกถึงลูกเราแค่ไหน เพราะว่าบางทีโรงเรียนอนุบาลที่ไม่ไกลจากบ้านนัก ครูดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิดและมีความเข้าใจทางด้านการศึกษาเนี่ย ลูกได้เต็มๆ แต่บางทีเนี่ย อาคารสวยๆ ตึกใหญ่ๆ แต่ไม่ได้ใส่ใจลงไปถึงรายละเอียดที่ลูกสัมผัสจริงๆ มันก็เป็นภาพลวงตานะคะ ใช่มั๊ยคะมันเป็นภาพลวงตา เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วโรงเรียนที่ดีที่สุด ทำใจเลยค่ะ ไม่มี มันมีโรงเรียนที่ดีที่สุดคือโรงเรียนที่พ่อแม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย คุณแม่เข้าไปทำงานกับคุณครูประจำชั้น คนสำคัญคือครูประจำชั้น ต่อให้หลักสูตรอะไรต่ออะไรดีนะคะ ครูที่เอามาย่อยใช้เนี่ย ทีนี้คุณพ่อคุณแม่ยุคนี้ค่อนข้างเก่ง ก็เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน มีอะไรดีก็แลกเปลี่ยนคุณครู

คุณสรวงมณฑ์ : มีส่วนร่วมกับโรงเรียนด้วย

อ.ธิดา : ใช่ ตอนนี้เห็นว่าลูกเนี่ยชักเริ่มหงอยจ๋อยแล้วอ่ะ เป็นอะไรก็ไม่รู้ ก็เข้าไปคุยกับคุณครู หรือว่าเราไปฟังมาแล้วเรื่องนี้ดีจังเลยค่ะ คุณครูๆ เอาไปดูมั๊ยคะ มีหนังสือออกมาใหม่น่าสนใจนะคะ ก็ชวนกันคุย ก็แลกเปลี่ยนสนทนา ยิ่งเราใส่ใจลูกเท่าไหร่คุณครูก็ใส่ใจลูกเราเท่านั้น

คุณสรวงมณฑ์ : อันนี้คือส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับโรงเรียนอนุบาลเอกชน ทีนี้ดิฉันถามเผื่อผู้ปกครองที่เลือกโรงเรียนภาครัฐ ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดบางอย่าง ที่เมื่อวานนี้นะคะครูหวานได้เล่าให้เราฟัง แต่ว่าสุดท้ายแล้วก็เลือกโรงเรียนภาครัฐ เพราะว่าอยู่ในระดับใกล้บ้าน แล้วก็จะด้วยเหตุปัจจัยอะไรก็แล้วแต่ เค้าจะต้องปรับตัวยังไงกับโรงเรียน อาจจะใน กทม. ก็ได้ค่ะ

อ.ธิดา : ค่ะ คือในโรงเรียนของภาครัฐอย่างที่ครูหวานบอก จะมีจุดอ่อนเรื่องของการเอาใจใส่ ทีนี้เนื่องจากว่าคุณครูก็ต้องรับภาระเด็กเยอะ สิ่งที่ดีที่สุดคือทำยังไงให้ลูกเราช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุดนะคะ สอนยังไงเค้าจะเก็บของของเค้า ดูแลนะคะ เอาดินสอไป 3 แท่งเอากลับมาให้มันครบ

คุณสรวงมณฑ์ : บางทีเอาเกินกลับมาด้วย

อ.ธิดา : ทีนี้ถ้ามันเกินกลับมาต้องคุยกับคุณครูยังไง คือ เราต้องไม่ทิ้งโรงเรียนน่ะค่ะ ไม่ทิ้งคุณครู ขณะเดียวกันฝึกลูก ถามลูก คุยกับลูกบ่อยๆ ว่าตอนนี้ลูกเป็นยังไง มีปัญหากับ... สมมติว่าลูกเค้ากลับมาหงอยมาก หงอยๆ ตายละเป็นไรลูก วันนี้เนี่ยคุณครูดุเรื่องเค้าไปทำร้ายเพื่อน ก็ชวนคุย มันเกิดอะไรขึ้นล่ะลูก แล้วลูกทำอย่างนั้นมีวิธีอื่นมั๊ยลูก ที่ลูกจะแก้ปัญหาเพื่อนมาแหย่อย่างเนี้ย ลูกมีวิธีมั๊ย หรือลูกซัดกลับไปเลย ลูกมีวิธีอื่นมั๊ยคะ อะไรอย่างเนี้ย ก็ชวนเค้าคุย ชวนเค้าพูด เอางานเค้ามาดูสิ ทำตามมั๊ย เสร็จมั๊ย เนี่ยล่ะค่ะคือสิ่งที่พ่อแม่จะช่วยได้ และมันไม่ได้จะแค่ว่าลูกจะเก่งขึ้นดีขึ้นเท่านั้น สัมพันธภาพน่ะค่ะ ระหว่างแม่ลูกมันก็จะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วมันอยู่ที่พ่อแม่จริงๆ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วการที่จะฟันฝ่าอุปสรรคนะคะ ให้ข้อคิดเห็นสำหรับพ่อแม่สักนิดนึงว่า สิ่งแวดล้อมที่เมื่อวานที่ครูหวานบอกนี่ มันอาจจะมีองค์ประกอบปะทะมาที่ตัวลูก พ่อแม่จะต้องสร้างภูมิต้านทานให้กับลูก ที่จะต้องส่งลูกไปเรียนยังไงบ้างคะ?

อ.ธิดา : คือสมมติว่าถ้าเค้ามีสิ่งแวดล้อมที่มัน เอ่อ เรียกว่าเราไม่พอใจ แต่ว่าเราก็ต้องเลือกเรียนโรงเรียนนี้เพราะว่าหลายปัจจัยอื่นๆ ใช่มั๊ยคะ นี่แหละค่ะครูหวานคิดว่าไอ้ภูมิคุ้มกันมันอยู่ที่ว่า ความใกล้ชิดของแม่กับลูกนะคะ การจัดสภาพแวดล้อมของบ้านเราเอง ถ้าที่โรงเรียนเนี่ย สมมติว่าโรงเรียนเนี้ยหนังสือเค้าน้อย เราเห็นแล้วเราแบบ เค้าไม่ให้งบประมาณด้านหนังสือเลย ในห้องเรียนควรจะมีมุมหนังสือ แต่ว่ามันไม่มีหรือมันมีน้อยมากเลย เราจะทำยังไง เราก็หาหนังสือของเรานั่นแหละในบ้าน จัดมุมในบ้านของเรา ชวนลูกอ่านหนังสือ หรือขณะเดียวกันเราอาจจะไปชวนคุณพ่อคุณแม่ เออ ลองคุยกับคุณครูดูสิ แต่ละบ้านก็มีหนังสืออยู่ เอาไปแลกเปลี่ยนกันที่โรงเรียนมั๊ย  แล้วคุณครูก็จัดมุมในห้อง

คุณสรวงมณฑ์ : อืม

อ.ธิดา : คืออย่าอยู่เฉยๆ น่ะค่ะ ก็จะทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือความรักความใกล้ชิดกัน ให้เวลากับลูก

คุณสรวงมณฑ์ : หรือแม้ว่าจะเอาไปแบ่งปันกันที่โรงเรียน ก็เกิดการเรียนรู้ร่วมกันด้วย

อ.ธิดา : ใช่ค่ะ หรือว่าวันนี้หนูมีหนังสือดีหนูเอาไปให้เพื่อน แล้วเราก็ชวนเพื่อนเอง เด็กๆ อ่ะค่ะเค้าก็อยากเอาหนังสือของเค้ามาแลกเปลี่ยน ครูก็ช่วยจัดการซะหน่อย มันไม่มีข้อห้ามใดๆ ทั้งสิ้นในการที่จะไม่พัฒนาเด็ก มันไม่มีหนังสือเราก็ช่วยกัน ไม่มีอุปกรณ์เราก็ช่วยกันพ่อแม่นะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ครูหวานคะ ครูหวานเองก็ทำงานทางด้านการศึกษาปฐมวัยมา 30 กว่าปีเนี่ย ครูหวานคิดว่าปัจจุบันนี้เนี่ยอะไรที่น่าเป็นห่วงนะคะ และเป็นกังวลแล้วก็อยากจะให้คนเป็นพ่อแม่ควรจะรู้เอาไว้ ก่อนจะตัดสินใจคะ?

อ.ธิดา : สิ่งที่กังวลแบบเห็นชัดมากเลยนะคะในยุคหลังเนี่ย คือ พ่อแม่ตามใจลูกมาก มากจริงๆ ค่ะจนขาดการดูแลในเรื่องอื่นๆ  เช่น สมมติว่าลูกอยากนั่งตักพ่อแม่เวลาขับรถอะไรอย่างเนี้ย

คุณสรวงมณฑ์ : ก็ยอม

อ.ธิดา : พ่อขับรถอยู่ก็เอา แม่ลูก ให้นั่งตักเพียงเพราะว่าลูกอยากนั่งตักพ่อ แล้วก็สนุกกับการเล่นกับพวงมาลัย โห แต่มันอันตรายมาก หรือว่าพาลูกไปห้าง ลูกร้องอยากได้ จัดการกับลูกไม่ได้ ก็ตามใจ ตามใจไปหมดเลยค่ะ จริงๆ แล้วเพื่อจะระงับเหตุ อยากหาความสุขกัน ไม่อยากทะเลาะกับลูก ทีนี้พอตามใจ เด็กโตขึ้นทุกวันนะคะ การเอาแต่ใจเนี่ยมันมากขึ้นเรื่อยๆ จนเราก็พบว่าเดี๋ยวนี้เด็กไม่ค่อยจะเกรงใจพ่อแม่ สังเกตมั๊ยคะเวลาเราไปตามร้านอาหาร เด็กจะวีนจะโวยวาย พ่อแม่จัดการลูกไม่ได้ ก็ปล่อยไปอย่างเนี้ย ครูหวานคิดว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องคิดมองยาวน่ะค่ะ ว่าถ้าเราไม่สร้างวินัยให้กับลูก ไม่ให้เค้ารับผิดชอบตั้งแต่วันนี้เนี่ย ยิ่งโตยิ่งยาก ยากขึ้นทุกวันนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : คือหมายความว่าถ้าปล่อยปละละเลยไปเนี่ย โอกาสจะแก้ปัญหานี่มันยากกว่า?

อ.ธิดา : ใช่ค่ะ แต่เราต้องมีวิธีการละมุนละม่อม คือยืนยันแต่อย่าใช้อารมณ์กับลูก แม่ไม่ให้คือไม่ให้ หน้ายิ้มๆ นี่แหละค่ะแล้วก็จ้องตาไว้ “ไม่ได้นะลูก” มันไม่ได้จริงๆ ลูกจะมากินน้ำอัดลมขณะที่รับประทานอาหารไม่ได้ ไม่ได้คือไม่ได้

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วถ้าแม่ไม่ได้แล้วลูกไปหาพ่อ แล้วพ่อได้ล่ะคะ?

อ.ธิดา : พ่อก็ต้องจับมือสมัครสมานนะคะกับแม่ แล้วถ้ากรณีที่คุณย่าจัดการอยู่คุณพ่อก็ไม่ต้องยุ่ง

คุณสรวงมณฑ์ : อันนี้ต้องตกลงกันก่อน

อ.ธิดา : ใช่ อย่าเป็นพระเอก อย่าเป็นพระเอกแล้วคุณย่าเป็นผู้ร้าย

คุณสรวงมณฑ์ : เดี๋ยวลูกไม่รัก

อ.ธิดา : ถ้ากลัวลูกไม่รัก แล้วยิ่งเวลาน้อยๆ อย่างนี้นะคะ ไม่ได้น่ะค่ะ ต้องปล่อย ใครจัดการก็จัดการ แล้วเราจะได้ลูกที่เลี้ยงง่าย ว่าง่ายนะคะ อย่าไปตามใจกันซะจนในที่สุดตัวเองก็เอาไม่อยู่ แล้วสุดท้ายก็ตีลูก เนี่ยค่ะ ทำร้ายร่างกายกัน

คุณสรวงมณฑ์ : คำถามจากคุณพรรษชลบอกว่า การที่เราโทรศัพท์ไปหาคุณครูที่โรงเรียนของลูก เกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกที่โรงเรียนว่า ลูกอยู่ที่โรงเรียนเป็นอย่างไร แกล้งเพื่อนมั๊ย ดื้อมั๊ย ประมาณทุกๆ 1 – 2 เดือนจะเป็นการดีมั๊ยค่ะ? แล้วก็ระยะเวลาที่เราโทรไป เราควรจะโทรไปปรึกษากับคุณครูที่โรงเรียนเนี่ยควรจะซักนานแค่ไหน? คือควรทำหรือเปล่า? แล้วถ้าควรทำนี่ควรจะใช้เวลาบ่อยแค่ไหน?

อ.ธิดา : ค่ะ อันนี้ก็ต้องดูว่าโรงเรียนเค้ามีการสื่อสารแค่ไหน บางโรงเนี่ยเค้าก็มีจดหมายถึงคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้วทุกสัปดาห์ ก็มีบันทึก อันนั้นเราก็ไม่ต้องพะวงมากก็ได้เพราะว่าเราก็สื่อสารกันตลอด แต่ถ้าไม่มีการสื่อสารกันถี่นักเนี่ย การจะโทรไปคุยกับคุณครูเนี่ยนะมันมีข้อตกลงกันอยู่ว่า มันจะต้องโทรในช่วงเวลาไหน

คุณสรวงมณฑ์ : ไม่ใช่กำลังเรียน สอนอยู่

อ.ธิดา : เพราะว่าคุณครูอนุบาลเนี่ยจะมีเวลาที่จะคุยกับคุณพ่อคุณแม่น้อยมาก เพราะว่าแม่ลูกเยอะน่ะค่ะ ใช่มั๊ยคะมันจะชุลมุนกันทั้งวัน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นช่วงหลังอาหารกลางวันของเด็ก ที่เด็กเริ่มนอนก็อาจจะคุยกันได้สั้นๆ แต่ถ้าจะให้ดีก็คือหลังเลิกเรียนนะคะ ก็จะโทรศัพท์คุยกับคุณครู ก็คุยในประเด็นที่เราเข้าใจ หรือเขียนจดหมายน้อยดีที่สุด ถึงคุณครูว่าคุณครูสะดวกจะให้โทรมาสักช่วงไหนดีนะคะ แล้วก็คุยกับคุณครู ควรโทรนะคะอย่าปล่อยให้ปัญหามันเรื้อรังไป แต่ถ้าทำนัด นัดหมายเล็กๆ ง่ายๆ คุณครูโดยส่วนใหญ่แล้วเนี่ยอยากจะคุยกับคุณพ่อคุณแม่นะคะ เพราะว่าปัญหาของเด็กเนี่ยบางทีมันเชื่อมโยงระหว่างบ้านกับโรงเรียน เค้าจะมีความสุขกว่าด้วยซ้ำถ้าจะได้คุยกัน มันเหมือนกับพ่อแม่น่ะค่ะ คุยเรื่องลูกแล้วมันสนุกอ่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : คุยได้ทั้งวัน

อ.ธิดา : ครูเองก็อยากจะคุยกับคุณพ่อคุณแม่ คือ เราเสียใจนะคะ เขียนบันทึกไป แล้วก็เขียนทั้งเนี่ยค่ะ 25 คน แต่คุณพ่อคุณแม่แค่คนเดียวยังไม่เขียนกลับมาเลย น้อยใจนะคะ พวกคุณครูเค้าก็จะบ่นน้อยใจว่า โหย เขียนมาบอกหน่อยไม่ได้เหรอ ก็อยากรู้อ่ะว่ามันเป็นยังไง สื่อสารทุกทางดีที่สุด

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ ท้ายสุดค่ะครูหวาน เสียดายเวลาจริงๆ เลย อยากจะบอกอะไรมั๊ยคะ ความจริงเนี่ยอยากจะบอกคุณผู้ฟังว่า มันมีอีกประเด็นนึงที่ครูหวานพูดเอาไว้ดีมากๆ เลยนะคะ ก็คือเรื่องของประเด็นสมรรถนะตามวัยของเด็ก แต่ว่าโดยเวลาแค่นี้ยังไงมันก็ไม่มีทางพอ เอาไว้ด้วยโอกาสอันเหมาะเนี่ยขออนุญาตครูหวาน

อ.ธิดา : ค่ะ ก็เป็นทีละเรื่องไปก็ได้ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ ก็ท้ายสุดเลยขอให้ครูหวานอยากจะบอกอะไร มีแนะนำอะไรเป็นพิเศษสำหรับคุณพ่อคุณแม่ในการตัดสินใจค่ะ

อ.ธิดา : อยากเรียนอย่างนี้ค่ะ ว่าเวลาที่เราจะตัดสินใจจะเลือกโรงเรียนนี่นะคะ อยากให้ให้ความสำคัญ จัดเวลาที่ดีนะคะ แล้วก็ต้องไปดู แล้วก็อย่าไปฟังเพื่อนบอกอย่างเดียว ไปดูแล้วอย่าดูโรงเดียว ดูหลายๆ โรงเรียนใกล้ๆ บ้าน เอาให้เหมาะใจเราเพราะว่าในวันที่เราเอาลูกไปฝากไว้ เราจะได้สบายใจ จะได้ทำงานได้ ไม่งั้นเราก็หวาดระแวงอยู่ตลอดเวลาว่า เอ๊ะ ตกลงมันดีจริงไม่ดีจริง แล้วพอเราเลือกแล้วเนี่ย แล้วเราคิดว่าหลักเกณฑ์ที่เราเลือกมันเหมาะใจเราแล้วเนี่ย อย่าทอดทิ้งโรงเรียน คือหมั่นไปดูบ่อยๆ นะคะ ยิ่งเราเข้าไปใกล้ชิดกับโรงเรียนเท่าไหร่ เราจะได้สัมพันธภาพที่ดี แล้วสัมพันธภาพที่ดีมันก็จะสื่อไปถึงตัวเด็กๆ ถ้าพ่อแม่ใส่ใจให้กำลังใจครู ครูก็มีกำลังใจแต่อย่าไปแบบจับผิดจับจ้องเลยนะ

คุณสรวงมณฑ์ : ทำไมคุณครูไม่ทำอย่างนี้ ทำไมคุณครูไม่ทำอย่างนั้น

อ.ธิดา : อย่างเนี้ยค่ะ ไปให้กำลังใจกันดีกว่าเพราะเค้าก็เหนื่อย แล้วก็พอเราให้กำลังใจกันทุกอย่างมันก็จะดีขึ้นนะคะ สัมพันธภาพที่ดีก็จะตกถึงลูกเสมอ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ นี่คือหัวใจสำคัญเลยนะคะ เป็นเสียงจากคุณครูท่านนึงเลย ที่บอกแทนใจคุณครูทั้งประเทศเลยนะเนี่ย ต้องขอบพระคุณคุณครูหวานมากเลยนะคะมาให้ความรู้กับเราในวันนี้

อ.ธิดา : ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ขอบพระคุณค่ะ

อ.ธิดา : ค่ะ สวัสดีค่ะ

ความคิดเห็น