5 เรื่องที่แม่ท้องไม่รู้...ไม่ได้! เพราะการตั้งครรภ์แต่ละครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายค่ะ แม่ต้องมีการเตรียมตัวเตรียมใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี และเพื่อให้การตั้งครรภ์ตลอด 9 เดือนเป็นไปอย่างราบรื่น จึงต้องให้ความสำคัญมากๆ กับเรื่องต่อไปนี้ด้วยค่ะ
1. โภชนาการยามท้อง โภชนาการที่ดีของแม่ย่อมส่งผลดีถึงลูกน้อยในท้องโดยตรงค่ะ เพราะถ้าแม่มีโภชนาการดีลูกน้อยในท้องก็จะมีสุขภาพดีและแข็งแรงตามไปด้วย
มีงานวิจัยออกมาค่ะว่า ในแม่ที่โภชนาการไม่ดี แม้ลูกอาจเติบโตอยู่ในท้องได้อย่างปกติ คลอดก็ปกติ แต่ในระยะยาวสุขภาพร่างกายจะไม่แข็งแรงเท่ากับเด็กที่โภชนาการดีมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เช่น อาจจะมีการเสื่อมของอวัยวะในส่วนต่างๆ เร็วกว่าเวลาอันควรได้ หรืออาจจะมีโรคแทรก นั่นเป็นเพราะในช่วงที่ตับอ่อนของลูกกำลังสร้างนั้นแม่มีโภชนาการที่ไม่ดี ทำให้การสร้างอวัยวะของลูกไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
ซึ่งโภชนาการที่ดีของแม่ก็ไม่มีอะไรยุ่งยากค่ะ เพียงแค่กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในแต่ละวันรวมถึงในแต่ละมื้อด้วย ไม่ใช่ว่ามื้อนี้กินแต่เนื้อสัตว์แต่มื้อต่อไปกินผักอย่างเดียว แบบนี้ไม่เกิดประโยชน์ค่ะ เพราะที่สุดแล้วร่างกายจะไม่สามารถดึงส่วนต่างๆ มาประกอบกันได้เลย เพราะฉะนั้นจึงควรกินให้ครบในมื้อเดียวกัน เพราะสารอาหารทุกอย่างมีความสำคัญ แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสมกับโครงสร้างและน้ำหนักตัวของแม่แต่ละคนนะคะ ถ้าแม่น้ำหนักตัวน้อย คุณหมออาจให้เพิ่มสารอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต แต่ถ้าแม่เริ่มมีน้ำหนักตัวมากเกินไป อาจต้องลดอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตลงบ้าง โดยสารอาหารหลักที่ต้องเน้นให้มากคือ พวกโปรตีนและผักผลไม้ เพราะมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการครบถ้วน ส่วนไขมันอย่าคิดว่าไม่มีประโยชน์นะคะ แม่ก็ต้องกินเพราะถ้าไม่กินเลยลูกจะมีพัฒนาการทางสมองที่ไม่ดีเนื่องจากไขมันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเซลล์ประสาท
นอกจากนี้ยังมีสารอาหารบางชนิดที่ทั้งแม่และลูกต้องใช้มากเป็นพิเศษ เช่น โฟลิก ธาตุเหล็ก แคลเซียม โดยเฉพาะโฟลิกนั้น แม่ต้องกินก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1-3 เดือนค่ะ 2. ฝากครรภ์ห้ามพลาด การมาฝากครรภ์ทันทีหลังทราบว่าตั้งครรภ์ จะทำให้แม่ทราบถึงวิธีดูแลตัวเอง และการไปฝากครรภ์ตามนัดจะทำให้คุณหมอได้ตรวจดูความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับครรภ์ในแต่ละสัปดาห์ ถ้าแม่สุขภาพแข็งแรงดี การนัดมาตรวจครรภ์อาจจะเว้นระยะออกไปค่ะ
แต่สิ่งสำคัญคือ เวลามาฝากครรภ์ แม่ต้องบอกรายละเอียดให้หมด ไม่ว่าจะเป็นโรคประจำตัว หรือประวัติการแท้ง เคยต้องผ่าตัดคลอดมาก่อน หรือเป็นโรคที่มีความเสี่ยงอื่นๆ อย่างเช่น กามโรค และต้องไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้ง หากต้องเลื่อนนัดฝากครรภ์ ก็ไม่ควรทิ้งระยะห่างมากนะคะ เพราะภาวะแทรกช้อนอาจจะเกิดขึ้นได้ ยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้าย คุณหมอจะเริ่มนัดถี่ขึ้น เพราะโอกาสเกิดภาวะแทรกช้อนมีสูงกว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2
3. ตรวจคัดกรองก็สำคัญ สามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ในช่วงเดือนแรกๆ ของการตั้งครรภ์ การตรวจร่างกายโดยรวมก็ถือว่าเป็นการตรวจคัดกรองอย่างหนึ่งค่ะ เพื่อดูว่าแม่มีโรคที่สามารถส่งผ่านไปถึงลูกได้หรือไม่ ถ้ามีจะได้ป้องกันเอาไว้ก่อน หรือเพื่อเป็นการประเมินสภาพการตั้งครรภ์ของแม่ว่าจะดำเนินไปได้โดยปลอดภัยหรือไม่ ต้องระวังแค่ไหน บำรุงอย่างไร และมีความเสี่ยงต่อสุขภาพแค่ไหน
การตรวจคัดกรองจะมีหลายช่วงอายุครรภ์ค่ะ ช่วงเดือนแรกจะต้องมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูโรค เช่น พวกธาลัสซีเมียโลหิตจาง (ซึ่งคนไทยเป็นมากพบได้ถึง 1 ใน 3) โรคทางเพศสัมพันธ์ ทางกรรมพันธุ์ ไวรัสตับอักเสบบี
พออายุครรภ์ 3-4 เดือน จะมีการตรวจคัดกรองโดยการเจาะเลือดไปตรวจว่ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะเกิดฮอร์โมนผิดปกติหรือไม่ หรือในแม่ที่อายุมากก็จะมีการตรวจคัดกรองโรคดาวน์ชินโดรม โดยการเจาะน้ำคร่ำขณะที่อายุครรภ์ 5 เดือน ในต่างประเทศจะมีการตรวจคัดกรองโครโมโซมในแม่ตั้งครรภ์ทุกคน ไม่ว่าจะอายุน้อยหรือมาก ซึ่งเป็นผลดีเพราะการตรวจนั้นจะช่วยทำให้ทราบถึงความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้แต่เนิ่นๆ ในบ้านเราส่วนมากจะมีการตรวจคัดกรองโครโมโซมเฉพาะโรงพยาบาลที่มีโรงเรียนแพทย์ ซึ่งก็อยากแนะนำแม่ทุกท่านนะคะว่าสามารถขอให้คุณหมอที่ฝากครรภ์ช่วยตรวจคัดกรองโครโมโซมให้เราได้ เพราะการตรวจคัดกรองโครโมโซมนั้น ถ้าเราไม่ได้บอกคุณหมอ หรือไม่ใช่แม่ที่มีอายุมากหรือมีความเสี่ยง คุณหมอมักจะไม่ได้ตรวจให้ค่ะ
4. สุขภาพทารกในครรภ์...ต้องดูแล ต้องดูแลไปตลอดตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์เลยค่ะถ้าแม่มีโภชนาการดี มีการฝากครรภ์สม่ำเสมอและมีการตรวจคัดกรอง ก็อุ่นใจได้ว่าลูกที่อยู่ในครรภ์ของเราค่อนข้างจะสมบูรณ์
แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือการสังเกตและการเอาใจใส่ตัวเองของแม่ค่ะ เพราะแม่จะมีโอกาสเจอกับคุณหมออย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง แต่จำนวนวันที่เหลือคือเวลาที่ลูกอยู่ในท้องกับแม่ แม่จึงเป็นคนเดียวที่จะรับรู้ความเคลื่อนไหวของลูกได้มากที่สุดนะคะ
วิธีการสังเกตก็อย่างเช่น ลูกดิ้นดีหรือไม่ สุขภาพแม่แข็งแรง น้ำหนักขึ้นตามปกติ ท้องใหญ่ขึ้นมั้ย หัวใจเต้นดีหรือไม่ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แม่สามารถสังเกตได้เองค่ะ ซึ่งถ้าเมื่อไหร่ที่พบความผิดปกติ เช่น รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง ดิ้นช้าลง อย่านิ่งนอนใจนะคะ รีบมาพบคุณหมอเพราะเด็กยังมีโอกาสรอด แต่ถ้ามาตอนลูกไม่ดิ้นแล้ว คุณหมอจะช่วยอะไรไม่ได้ค่ะ เพราะเวลาที่เกิดอันตรายขึ้นกับเด็กในครรภ์ จะมีระยะเวลาที่พอจะช่วยชีวิตลูกได้ คือภายใน 12 ชั่วโมงนับตั้งแต่ลูกดิ้นน้อยลง ถ้ามาในช่วงนั้นลูกก็มีโอกาสรอด เพราะฉะนั้นจึงต้องหมั่นสังเกตในทุกอาการที่เกิดขึ้นช่วงตั้งครรภ์ค่ะ 5. ภาวะแทรกซ้อน...เตรียมรับมือ ภาวะแทรกซ้อนมีมากมายเลยค่ะ และเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงเดือนแรกๆ ไปจนถึงคลอดหรือหลังคลอด ไม่ว่าจะเป็นการแท้ง ตั้งครรภ์แฝด 3-4 คน การตั้งครรภ์นอกมดลูก แท้งคุกคาม รกเกาะต่ำเลือดออก ครรภ์เป็นพิษ ไทรอยด์ หรือถ้ามีความเครียดก็จะทำให้คลอดก่อนกำหนด เด็กโตช้า หรือบางคนน้ำหนักขึ้นเยอะ ทำให้เกิดโรคเบาหวานตามมาระหว่างตั้งครรภ์ หรือเกิดครรภ์เป็นพิษ หรือแม้แต่ตอนกำลังคลอดก็อาจจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น น้ำคร่ำติดเชื้อ มดลูกแตก (ทำให้เสียชีวิตทันที) ตกเลือดหลังคลอด ไส้ติ่งอักเสบ เป็นต้น ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้ค่ะ แต่อาจป้องกันได้ หากแม่ดูแลสุขภาพให้ดี ทำตามคำแนะนำของคุณหมอก็จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ค่ะ
แต่อาจจะมีภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่สุดวิสัยจริงๆ ไม่สามารถช่วยเหลือหรือป้องกันได้ อย่างกรณีสายสะดือถูกกดทับทำให้เด็กเสียชีวิตในไม่กี่นาทีค่ะ หรืออาจเกิดอุบัติเหตุแบบเฉียบพลัน เช่น ตกบันได ตกจากรถมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น ซึ่งแม่ต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มาก เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น
เป็นแม่...คุณภาพ ถ้าอยากได้ลูกที่มีคุณภาพ แม่ก็ต้องมีคุณภาพด้วยค่ะ การเป็นแม่คุณภาพ คือการหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเองค่ะ ซึ่งปัจจุบันแหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ อินเทอร์เน็ต วิทยุ โทรทัศน์ เพื่อหาความรู้เสริม เพราะบางครั้งเราต้องยอมรับค่ะว่าเวลาที่ไปฝากครรภ์คุณหมออาจจะไม่ได้ตรวจเช็คร่างกายให้ตรงตามมาตรฐานที่เรารู้มา เพราะฉะนั้นเราอาจจะใช้สิทธิขอให้คุณหมอช่วยตรวจให้ แม่จึงต้องพยายามทำตัวให้เหมือนหมอสูติค่ะ ต้องรู้ว่าตลอดทั้ง 9 เดือน เราต้องทำอะไร ตรวจอะไร ดูแลตัวเองอย่างไร ทั้งนี้เพื่อความสมบูรณ์แข็งแรงของแม่และลูกเครดิต : ข้อมูลจากรักลูกค่ะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น