บทสัมภาษณ์ : ดร.นพ.ยุทธนา ภาระนันท์ ์ เรื่อง "เทคโนโลยีกับการเลี้ยงลูก"

บทสัมภาษณ์ : ดร.นพ.ยุทธนา ภาระนันท์ ์ เรื่อง "เทคโนโลยีกับการเลี้ยงลูก"

รายการ “พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” FM 105

ถอดคำสัมภาษณ์ ดร.นพ.ยุทธนา ภาระนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาให้คำปรึกษาและเวชศาสตร์ครอบครัว

ผู้ดำเนินรายการ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com

วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2553 เรื่องเกี่ยวกับ “เทคโนโลยีกับการเลี้ยงลูก”


คุณสรวงมณฑ์ : สวัสดีค่ะคุณหมอยุทธนาคะ

นพ.ยุทธนา : ครับ สวัสดีครับคุณสรวงมณฑ์และคุณผู้ฟังทุกๆ ท่านครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แหมวันนี้ตั้งใจจะมาพูดให้ความรู้กับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ที่สนใจเรื่องของการเลี้ยงดูลูก แล้วก็เป็นหัวข้อที่คุณผู้ฟังขอมาด้วยค่ะคุณหมอ เรื่องของเทคโนโลยีที่ตอนนี้มันล้นทะลักเข้ามามากมาย บอกให้รู้เท่าทัน รู้เท่าทัน ปกป้อง แล้วมันรู้เท่าทันยังไง มันจะปกป้องยังไง อันนี้เป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ไม่รู้จะทำยังไงนะคะ ก่อนอื่นเลยถามคุณหมอเข้าประเด็นเลยว่า เทคโนโลยีในยุคปัจจุบันนี้ที่มันล้นทะลักเข้ามาสู่ตัวเราเนี่ย ถ้ามองในเชิงวิชาการ มันมีข้อดีข้อเสียยังไงกับการเลี้ยงดูลูกคะ?

นพ.ยุทธนา : ครับ เทคโนโลยีนี่ถ้าเปรียบในทางการแพทย์ก็เหมือนมีดผ่าตัดนะครับ สมมติเราใช้มีดในการรักษาเยียวยาคน ผ่าตัดเอาส่วนที่ไม่ดีออกไปก็เกิดประโยชน์นะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ก็หายได้

นพ.ยุทธนา : แต่ถ้าเกิดเราทำตกหล่น แล้วมีดไปบาดนิ้วบาดมือนี่ก็เดือดร้อนเหมือนกัน การรู้เท่าทันก็ดีมากเลยครับ รู้เท่าทันนี่หมายถึงว่าเราก็ต้องรู้ทั้งพิษภัย รู้ทั้งประโยชน์แล้วก็รู้ว่าลูกเราเนี่ยถึงวัยไหนที่จะใช้ระดับไหน ให้เกิดประโยชน์ที่สุดนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

นพ.ยุทธนา : ซึ่งในต่างประเทศนี่เค้าก็เป็นห่วงกันเรื่องติดเกมนะครับ ติดเกมนี่เคยมีการสำรวจวิจัยไว้เหมือนกันนะฮะ ว่าเด็กประถมหนึ่งประถมสองนี่โดยเฉลี่ยเข้าเล่นเกมจำนวน 11 ชั่วโมงต่ออาทิตย์เลยนะฮะ

คุณสรวงมณฑ์ : 11 ชั่วโมงหรอคะ ต่ออาทิตย์

นพ.ยุทธนา : 11 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นี่ก็หมายความว่าอาจจะเฉลี่ยวันนึง

คุณสรวงมณฑ์ : ก็ 1 – 2 ชั่วโมง

นพ.ยุทธนา : ใช่ๆ คืออันนี้โดยทั่วไป แต่บางคนเป็นมากครับ ใช้ 4 – 5 ชั่วโมงนี่ทางจิตวิทยาเชิงบวกนะฮะ มองว่ามันจะมีผลต่อพฤติกรรมการเข้าสังคมนะฮะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

นพ.ยุทธนา : คือเค้าจะไม่ค่อยอยากสุงสิงกับใคร แล้วทีนี้ EQ เนี่ยคือการเข้าใจคนอื่น ความฉลาดทางอารมณ์ที่จะมีมนุษยสัมพันธ์เนี่ยจะน้อย แล้วบางทีโตไปอายุ 21 ก็กลายเป็นเด็กเหมือนอายุ 12 ในการเข้ากับเพศตรงข้ามเนี่ยเค้าก็จะทำไม่เป็น

คุณสรวงมณฑ์ : ไม่มีปฏิสัมพันธ์จะเข้ายังไงดี

นพ.ยุทธนา : ใช่ แล้วก็จะมีปัญหาตามมาทางจิตใจ เพราะว่ามนุษย์เนี่ยต้องอยู่ด้วยกันแล้วจะมีความสุข

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

นพ.ยุทธนา : ทีนี้เข้ากับสังคมไม่เป็นก็จะซึมเศร้าง่าย มันมีผลตามมาถ้าหากว่าเราไม่รู้เท่าทันนะฮะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ อันนี้คือพูดถึงเรื่องของเกม ถ้าพูดถึงเรื่องของเทคโนโลยี มันมีอะไรบ้างนะคะคุณหมอ? คืออ่ะเกมล่ะ ที่มันจะมาปะทะกับลูกเราแน่ๆ แล้วมันมีเรื่องอื่นๆ อีกมั๊ยคะที่คนเป็นพ่อแม่จะต้องระมัดระวัง?

นพ.ยุทธนา : คือเทคโนโลยี โดยเนื้อหานี่มันเป็นเรื่องของการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันนะ แล้วก็อาจจะหมายรวมถึงด้านสื่อต่างๆ ด้วยนะฮะ เช่น เดี๋ยวนี้เค้าแบ่งรายการใช่มั๊ยฮะ เอาล่ะ อย่างนี้ประเภท น

คุณสรวงมณฑ์ : น หนู พ่อแม่ควรแนะนำ

นพ.ยุทธนา : ใช่ อายุเท่าไหร่ อย่างนี้ลูกเกี่ยวละ ลูกเกี่ยว หมายความว่าภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ก็ตาม หรือแม้แต่ทีวีที่บ้านก็ตาม หรืออินเตอร์เน็ตใช่มั๊ยฮะ เดี๋ยวนี้สื่อก็เข้ามาทางนี้ ดังนั้น ถ้าหากว่าเป็นไปได้เนี่ย เราเองในความเป็นพ่อแม่เนี่ยก็ต้องสกรีนหรือคัดกรองนะฮะ อย่างเช่น อินเตอร์เน็ตเนี่ย เนื่องจากว่าถ้าปล่อยให้ลูกไปเล่นในห้องของตัวเอง เราไม่อยู่ในที่เราจะเข้าถึงได้เนี่ยจะอันตราย อย่างนี้ไม่ได้ละ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

นพ.ยุทธนา : เราก็ต้องตั้งที่เล่นอินเตอร์เน็ตคือให้เข้าใช้คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตเนี่ย

คุณสรวงมณฑ์ : กลางบ้านเลย

นพ.ยุทธนา : กลางบ้านเลยก็ได้ คือให้เราเข้าถึงได้ หรือถ้าจะใช้ในห้อง อืม แต่ผมว่าไม่แนะนำให้ใช้ในห้องของลูกเลยนะ ไว้กลางบ้านดีกว่า

คุณสรวงมณฑ์ : ถือว่าเป็นข้อห้ามเลยละกันสำหรับเด็กเล็กๆ ทั้งหลาย

นพ.ยุทธนา : ใช่ เพราะไม่งั้นสื่อเข้ามาถึงตัวลูกเรา อะไรก็ไม่รู้

คุณสรวงมณฑ์ : เราไม่มีวันรู้เลย

นพ.ยุทธนา : อันนี้ก็อันตราย เราก็ต้องตั้งกติกานะ ผมเสนอนะ ตั้งกติกาไว้เลย กี่โมงถึงกี่โมง เล่นวันนึงไม่เกิน 2 ชั่วโมงอะไรอย่างเนี้ย 1-2 ชั่วโมงก็พอแล้ว แล้วก็เอาเวลาที่เหลือไปทำการบ้าน ไปใช้เวลากับคน

คุณสรวงมณฑ์ : คุณหมอ เดี๋ยวนี้มันมีโน้ตบุ๊คนะคะ (notebook) เด็กๆ ก็บอกว่าไม่ได้มันต้องหาข้อมูล มันต้องใช้โน้ตบุ๊ค คุณครูบอกมาต้องใช้โน้ตบุ๊ค อันนี้มีความสำคัญมั๊ยคะ มันก็เหมือนต้องติดตัวเลยนะ

นพ.ยุทธนา : หลานของผมนี่ก็ค้นอินเตอร์เน็ตเหมือนกันนะ ใช้ในการทำการบ้าน รู้สึกว่าคล่องมากเลยเด็กวัยรุ่นนะ

คุณสรวงมณฑ์ : ใช่มั๊ยคะ พอจับปุ๊บคล่องมาก

นพ.ยุทธนา : บางทีคล่องกว่าเรา แชทแชท (chat) อะไรเร็วมาก ซึ่งตรงนี้ก็เป็นประโยชน์ในแง่ที่ว่าเราก็ฝึกให้เค้ากลั่นกรองด้วยตัวเองนะฮะ ถ้าเป็นวัยประมาณ ม. 3 ม. 4 ม. 5 ขึ้นไปเนี่ย ให้เค้ารู้จักคิดแยกแยะ อะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ แล้วก็เลือกเอา แต่ถ้าประถมนะหรือมัธยมต้นเนี่ย ผมว่า ม. 1 ม. 2 เนี่ย ผมว่าเราก็ต้องดูแลใกล้ชิดหน่อย อาจจะต้องตั้งกติกาเพราะวัยนี้ในเชิง human development ในการพัฒนาการทางสมองหรือจิตใจเนี่ย คือเป็นวัยที่ต้องมีกฎกติกาให้เค้าเดินครับ เค้าคิดเองยังไม่ได้ เพราะงั้นเราก็ตั้งไว้เลย กี่โมงถึงกี่โมง เสร็จแล้วเนี่ยนอนกี่โมงตื่นกี่โมง แล้วก็อย่าลืมให้คำชื่นชมเค้าด้วยถ้าเค้าทำตามได้ “ดีมากลูกบอยทำตามที่ตกลงกันไว้” เค้าจะรู้สึกว่าภาคภูมิใจ “คนเก่งเนี่ยจะนอนก่อน 2 ทุ่ม 3 ทุ่มนะ” หรือ “เล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมงนะวันนึง” “ลูกบอยเป็นคนเก่งใช่มั๊ย” เอาตามนี้ เค้าจะชื่นชมแล้วก็ร่วมมือนะครับ แล้วสมมติว่าถ้าเค้าละเมิดอะไร เราก็ต้องรีบเลยนะ

คุณสรวงมณฑ์ : ต้องเข้มงวดด้วยกับกฎกติกาของเรา

นพ.ยุทธนา : ต้องรักษากติกาด้วยเพราะไม่งั้นเนี่ย วัยนี้จะมีความต้องการ เค้าเรียกว่า autonomy คืออยากจะเป็นตัวของตัวเอง อยากรู้ว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง พอละเมิดไปปั๊บพ่อแม่เฉย บอกให้เล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมง

คุณสรวงมณฑ์ : โอ๊ย 3 ชั่วโมงไม่เห็นว่าเลย

นพ.ยุทธนา : เอ้อ อย่างนี้นะ พ่อแม่ยังเฉยนะ เด็กจะเล่นต่อฮะ ไป 4 – 5 ชั่วโมงเลย อย่างงั้นเราก็ต้องรีบเบรกเลยครับพอก่อนจะครบ 2 ชั่วโมง สมมตินะ เราตั้งไว้ 2 ชั่วโมงก่อน “อ้าว ลูกบอย อีก 10 นาทีมันจะครบ 2 ชั่วโมงตามที่เราเคยตกลงกันไว้นะ”

คุณสรวงมณฑ์ : เตือนๆ

นพ.ยุทธนา : อ่า พอเค้ารู้เค้าก็จะ อ้อ รู้เวลาละ อีก 10 นาทีเสร็จปั๊บ พอเค้าหยุดปุ๊บเราก็ชื่นชมเลย

คุณสรวงมณฑ์ : เลิกเป็นเลิก

นพ.ยุทธนา : ใช่ แล้วก็ให้กำลังใจชื่นชมเค้า หรือถ้าเค้าลืมไปปั๊บเราก็ต้องบอกเลยนะ แต่เราไม่บอกเชิงตำหนินะฮะ เราบอกเชิงระบุพฤติกรรม เราจะไม่บอกว่า “บอย ไม่รับผิดชอบเลย รับปากแล้วไม่ทำตาม” เราจะไม่พูดแบบนี้ ถ้าในเชิงจิตวิทยาเชิงบวก เราจะระบุพฤติกรรม ไม่ปรักปรำตัวตนนะฮะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

นพ.ยุทธนา : เราก็จะบอกว่า “เออ พ่อนี่เห็นบอยเล่นเกมเลยมา 15 นาทีแล้วนะ” แบบนี้เราระบุพฤติกรรมใช่มั๊ยฮะ “เล่นเลยมา 15 นาที” “พ่ออยากให้บอยเล่นไม่เกิน 2 ชั่วโมงนะที่ตกลงกันไว้ดีมั๊ย”

คุณสรวงมณฑ์ : มันเกินแล้วนะ

นพ.ยุทธนา : อ้า อย่างเนี้ยเค้าก็จะ อ๋อ หรอ เค้าก็จะโอเค เค้าจะไม่รู้สึกว่าถูกปรักปรำ

คุณสรวงมณฑ์ : ถูกตำหนิ

นพ.ยุทธนา : ใช่ แต่ว่าจะรู้พฤติกรรมตัวเองว่า เอ๊ย มันเกิดอย่างนี้ อันนี้จะเหมาะกว่า

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ มันมีอีกเรื่องนึง นี่ประสบการณ์ตรงจากคุณผู้ฟังเองนะคะที่ถามมา คือตั้งใจที่จะเข้าไปหาเพลงที่เกี่ยวกับเด็ก ก็เสิร์ช search engine เข้าไปที่ google นี่แหละค่ะ พอคลิกคลิปเข้าไปแค่คำว่า “เด็ก” ขึ้นมานี่นะคะ มันก็กลายเป็นคลิปโป๊มาเพียบเลย

นพ.ยุทธนา : โอ้โห

คุณสรวงมณฑ์ : อย่างนี้จะทำยังไงดีคะ แน่นอนว่าเด็กเค้าอาจจะแบบว่า ยังไม่ต้องพิมพ์คำว่า “sex” เลยนะคะ เอาแค่คำว่า “เด็ก” เนี่ยมันก็มาละ เราจะดูแลลูกยังไงคะ? บางทีพ่อแม่ยังงงเลย มึนเลยเจอแบบนี้

นพ.ยุทธนา : ใช่ อันนี้อย่างที่เราทราบเนี่ย ภาพที่เป็นในเชิงล่อแหลม เช่น เรื่องเพศ หรือว่าก้าวร้าวรุนแรงเนี่ย ถ้าเข้ามามากนะ ในเด็กจะมีอันตรายนะฮะ คือสิ่งที่เสพเข้าไป ได้รับเข้าไปจะมีผลต่อพฤติกรรม ดังนั้นในทาง IT เนี่ย โดยส่วนใหญ่เค้าก็จะมีเว็บที่ช่วยสกรีน แล้วมีเวลาตั้งนะฮะว่าควรจะตั้งเวลากี่โมงถึงกี่โมงได้ อย่างที่ผมเคยเนี่ย เค้าก็ตั้งเวลาไว้ให้ลูกสาวว่า เล่น อันนี้กี่โมงถึงกี่โมง อันนี้เค้าจะมีโปรแกรมนะฮะ ก็อาจจะต้องไปไต่ถามเกี่ยวกับเรื่องโปรแกรมนิดหน่อย แล้วก็เอามาติดตั้งในคอมพิวเตอร์เรา สกรีนได้ ตั้งเวลาได้ ก็จะปลอดภัยขึ้น

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

นพ.ยุทธนา : แล้วในเชิงจิตวิทยานี่ผมเสนอว่า ไม่ว่าจะสื่อที่เข้ามาทางอินเตอร์เน็ต หรือทางที่โรงเรียน หรือหนังสือ หรือหนังสือการ์ตูนโป๊อะไรก็ตามนะฮะ ผมมองว่าเราต้องช่วยกัน 3 ฝ่าย คือ ทางโรงเรียนต้องช่วยด้วย ทางผู้ปกครองต้องช่วยด้วย แล้วก็ทางสื่อสารมวลชนเนี่ยต้องรณรงค์ นั่นก็คือทางผู้ปกครอง โดยหลักจำเป็นต้องมีโอกาสใช้เวลากับลูกฮะ ถามกันด้วยความรักห่วงใย “ลูก วันนี้ไปเรียนหนังสือ อ่านหนังสือเป็นยังไงบ้าง” ก็ถามคำถามปลายเปิดไป เค้าก็จะเล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้มีเรื่องคนนั้นคนนี้ แล้วถ้าเราจะถามเรื่อง sensitive นะฮะ อย่างเช่น เรื่องรูปคลิปโป๊ หรือพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศอะไรอย่างนี้ สมมตินะฮะ เราก็อาจจะถามในเชิงเป็นอุปมาครับ

คุณสรวงมณฑ์ : เลียบๆ เคียงๆ อย่าโพล่งไปเลย

นพ.ยุทธนา : ยกตัวอย่างเช่น เอาจากในข่าวนะฮะ “โอ้ ปฏิทินมีรูปโป๊นี่ เอ๊ หนูเห็นแล้วหนูรู้สึกยังไง?” แบบนี้ก็ได้ใช้อุปมาเชื่อม แล้วคือ “รู้สึกอย่างนี้แล้วมันเป็นยังไง” ก็ลองถามเค้า เพราะเด็กวัยนี้เค้าก็ใสๆ ก็ตอบ ถาม-ตอบ เราก็จะได้สอนเรื่องเพศศึกษาไปด้วย แบบนี้นะฮะเพราะเวลาถามมันจะได้เป็นแบบธรรมชาติ

คุณสรวงมณฑ์ : ดิฉันยกตัวอย่างของดิฉันเองเลยได้มั๊ยคะ ลูกเนี่ยดูแล้วนะคะ แล้วมันจะต้องไปยังไงต่อ ดิฉันถามลูกชายวัยประถมนี่แหละค่ะว่าดูแล้ว เห็นแล้วรู้สึกยังไง อันนี้คุณพ่อเค้าถาม เค้าดูแล้วเค้าเห็นแล้วเค้ารู้สึกว่าจู๋มันยาวขึ้น แล้วจะต่อยังไงคะเนี่ย

นพ.ยุทธนา : ในวัยประถมเค้าจะมีความอยากรู้อยากเห็น แต่ไม่ได้มีอารมณ์ในเรื่องเพศสัมพันธ์อะไร ไม่มีเลย อยากรู้อยากเห็นเนี่ยเราก็ให้ความรู้ไปเลย บอกว่า “อันนี้มันก็เป็นเหมือนอวัยวะนึงในร่างกายของเรา” แล้วเราก็อธิบายไปนะฮะว่าเป็นอย่างไร

คุณสรวงมณฑ์ : ก็คือสามารถที่จะพูดตรงๆ กับเค้านั่นแหละ ให้ดูแล้วมันเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องที่มันต้องมาปิดบังซ่อนเร้นกัน

นพ.ยุทธนา : ใช่ เพราะว่ายิ่งปิด เด็กก็ยิ่งอยากรู้อยากเห็นว่า เอ๊ มันอะไร เดี๋ยวแกไปหาเอง ยิ่งได้ข้อมูลแบบเชิงลบ (หัวเราะ) บอกไปว่าเป็นอวัยวะนึงในร่างกายซึ่งจะเป็นประโยชน์หลายๆ อย่าง ในทางการแพทย์เค้าก็ให้มีประโยชน์ในการขับถ่ายปัสสาวะ เราก็บอกเค้าแค่นี้ เพราะว่าเค้าก็ยังไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์

คุณสรวงมณฑ์ : คือเค้าเองยังไม่ได้สนใจในเรื่องของ sex เท่าไหร่ เพียงแต่ว่าคุณหมอกำลังจะบอกว่าให้เรียนรู้ว่าตัวเรารู้สึกอย่างไร และกำลังจะมีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็เป็นการสอนทางตรงอย่างนึงด้วย

นพ.ยุทธนา : ให้เกิดประโยชน์ทางด้านบวกครับ

คุณสรวงมณฑ์ : คุณหมอคะ ทีนี้เรื่องของเทคโนโลยี ต้องยอมรับว่ามันเข้ามาสู่เด็กที่เล็กลงเรื่อยๆ ทีนี้ขอมาเรื่องของโทรศัพท์มือถือบ้าง คุณพ่อคุณแม่อาจจะบอกว่ามันจำเป็น คำว่าจำเป็นและก็มีลูกน้อยอย่างเด็กวัยอนุบาลนี่ดิฉันก็เห็น แล้วก็เชื่อว่าคุณผู้ฟังหลายท่าน ได้มีโอกาสเห็นว่าเด็กอนุบาลก็ใช้มือถือแล้ว คุณหมอคิดว่ายังไงคะ?

นพ.ยุทธนา : จำเป็นไม่จำเป็นนี่ต้องดูผลกระทบนะฮะ ผลกระทบหมายความว่าถ้าเค้าไม่มีเนี่ย มันจะมีผลกระทบอะไรบ้าง แล้วมันมีผลกระทบรุนแรงมั๊ย คือแต่ก่อนเราก็ไม่มีกันใช่มั๊ย ก็ไม่เดือดร้อนอะไร

คุณสรวงมณฑ์ : “เดี๋ยวนี้รถมันติด เวลาขับรถไปรับลูกไม่รู้จะไปจอดตรงไหน ก็ติ๊ดติ๊ด โทรหา ให้ลูกออกมาเลย” อะไรอย่างเนี้ย นี่มักจะเป็นคำตอบแรกของคนเป็นพ่อแม่ที่คิดว่ามันจำเป็น

นพ.ยุทธนา : ถ้าจำเป็นเราก็ต้องชั่งละ คำถามแรกจำเป็นมั๊ย โดยดูจากผลกระทบ อันที่ 2 เนี่ย ผลดีผลเสียคุ้มกันมั๊ย อย่างเนี้ยก็ต้องถามคำถามที่ 2 ละเพราะว่ามันต้องบริหารความเสี่ยงว่าถ้าสมมติลูกเรามีมือถือแล้วมันติดคุย ไม่เรียนเลย เราได้ประโยชน์แค่ว่าเรียกลูกมาขึ้นรถ อันนี้ไม่คุ้มแน่และอย่าเสี่ยงดีกว่า ใช้วิธีอื่นในการเรียกลูกมาขึ้นรถดีกว่า

คุณสรวงมณฑ์ : มันมีวิธีการเยอะแยะนะคะที่สามารถจะแก้ปัญหานั้นๆ ได้ คือ อาจจะแก้ปัญหานี้แต่ไปสร้างปัญหาใหม่ในเรื่องอื่นๆ อีกเยอะแยะที่ตามมา

นพ.ยุทธนา : ครับต้องชั่งผลดีผลเสียเหมือนกัน เพราะเทคโนโลยีบางอย่างมันเหมาะกับบางกลุ่มบางวัย วัยอื่นไปใช้มันจะเกิดผลดีไม่คุ้มกับเสีย

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ คุณหมอเองพอจะยกตัวอย่างประสบการณ์สักนิดนึงได้มั๊ยคะ ที่มีคุณพ่อคุณแม่มาขอคำปรึกษาคุณหมอในเรื่องของเทคโนโลยี  ส่วนใหญ่จะมีปัญหาทางด้านไหนคะ ในเรื่องของเทคโนโลยีที่เด็กๆ ประสบอยู่?

นพ.ยุทธนา : ที่เจอตอนนั้นไปให้คำปรึกษาครอบครัวเป็นกลุ่มเลยนะฮะ เค้าก็บอกว่า “ลูกสาวนี่นะคะ พอมาถึงบ้านปิดประตูเข้าห้อง คุยกับเพื่อน โทรศัพท์ตลอดเป็นชั่วโมงๆ เลยค่ะคุณหมอ ทำไงดีคะ?” เค้าก็ปรึกษามา

คุณสรวงมณฑ์ : อันนี้น่าจะเป็นปัญหายอดฮิตเลย

นพ.ยุทธนา : คือวัยทีนนี่นะ ก็สนิทกับเพื่อนนะโดยธรรมชาติของวัย

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

นพ.ยุทธนา : คือเค้าต้องการการยอมรับ ต้องการอิสระ แล้วก็ต้องการเป็นตัวของตัวเองนะฮะ ก็รู้สึกว่าอยู่กับเพื่อนนี่มันได้ ทีนี้เนี่ยผมก็เลยเสนอว่าอย่างเนี้ย ในเชิงจิตวิทยาเค้าจะวิเคราะห์ว่า 1. ครอบครัวเปิดโอกาสให้มีการ bonding หรือมีการสร้างความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างพ่อแม่ลูกเนี่ยมากน้อยแค่ไหน ไม่งั้นเนี่ย ถ้าบ้านไม่อบอุ่นก็ติดเพื่อน ติดเพื่อนก็ใช้สื่อคือโทรศัพท์ตลอดนะฮะ ผมก็เสนอว่า “เป็นไง กินข้าวเย็นที่บ้านแล้วคุยกันยังไงบ้าง?” โห บางครอบครัวนี่อาทิตย์นึงไม่ได้กินข้าวเย็นด้วยกันเลยนะ ผมก็เลยบอกครอบครัวนึง “เอางี้ สุดสัปดาห์นี่ไปทำกิจกรรม 4 ส. หน่อยนะ” 4 ส. นี่ก็คือ “สุดสัปดาห์เสริมสร้าง” เค้าก็พากันไปปิกนิก ก็ได้คุยกันละ ไปเที่ยวทะเลกลับมายิ้มเลย คุยกันรู้เรื่องนะฮะ เค้าไม่ติดเพื่อนมากละ ก็เริ่มมากินข้าวกับพ่อแม่ละ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่อยๆ พูดแล้วก็บอกความในใจว่าพ่อแม่ห่วงยังไง

นพ.ยุทธนา : ใช่ แล้วผมก็ถามอีกคำถามนึงว่าเวลาสร้าง bonding หรือความผูกพันเนี่ย การสัมผัสโอบกอดในครอบครัวก็ช่วยด้วยนะฮะ ก็ช่วยมาก ก็ถามเค้าว่า “แล้วยังไงบ้าง ได้โอบกอดลูกแล้วก็บอกความรักที่เรามีกับลูกยังไงบ้าง?” ทางครอบครัวนี้เค้าเป็นครอบครัวแบบไม่ค่อยแสดงออกนัก

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ รักนะแต่ไม่แสดงออก

นพ.ยุทธนา : ใช่ สามี คือ คุณพ่อเนี่ยจะเงียบ แล้วคุณแม่นี่ก็เก่งงาน ก็ทำงาน คุณลูกก็กลับมา อ้าว พ่อก็ไม่พูด แม่ก็ยังไม่กลับ ก็เลยไม่ค่อยสนิทกัน ก็เลยไปหาเพื่อนดีกว่า ก็เลยบอกเค้าว่า “เอางี้นะ กลับไปบ้านนะ พอถึงปั๊บ เอ้า กอดกันก่อน ก่อนทำอย่างอื่นนะ กอดกันก่อน พอลูกมาถึงบ้านเข้าไปกอดกันก่อน” ผมก็แนะนำแบบนี้เลยนะ ผมก็ทำให้ดูเลย คือ ครอบครัวผมเนี่ย คุณแม่ผม ภรรยากลับมา ก็โอบกอดกันอย่างเนี้ย

คุณสรวงมณฑ์ : คือกลายเป็นวัฒนธรรมของครอบครัวไป เป็นเรื่องปกติ

นพ.ยุทธนา : มีอวยพรกันด้วยนะฮะ อวยพรกันด้วย คือครอบครัวผมนี่เป็นครอบครัวที่รู้จักพระเจ้านะฮะ พอก่อนออกจากบ้าน อ้าว ขอพระเจ้าอวยพรให้มีความสุขประสบความสำเร็จ แล้วก็โอบกอดกัน

คุณสรวงมณฑ์ : เหมือนเป็นการอวยพรซึ่งกันและกัน

นพ.ยุทธนา : ใช่ๆ เพราะว่าโดยทางจิตวิทยาเนี่ย การสัมผัส มันจะสื่อความรู้สึกลึกๆ ได้นะครับ บางทีนะภาษากายเนี่ย มันจะสื่อความรู้สึกได้มากกว่าพูดด้วยซ้ำนะ

คุณสรวงมณฑ์ : แหม คุณหมอพูดแบบนี้นะคะ ดิฉันนึกถึงถ้าเกิดว่าเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่แบบว่า “รักนะแต่ไม่แสดงออก” เค้าจะมีความรู้สึกว่าอย่าไปพูดชม เดี๋ยวเหลิง แล้วก็มักจะใช้คำในทางลบนะ “แกเนี่ย เกิดมาทำไมไม่รู้” อะไรทำนองเนี้ย แล้วผลของเด็กจะเป็นยังไงคะ

นพ.ยุทธนา : เด็กจะขาด self-esteem นะฮะ คือ ความภาคภูมิใจในตัวเองเพราะรู้สึกว่าทำยังไงพ่อแม่ก็ไม่ยอมรับซะที

คุณสรวงมณฑ์ : “วันๆ เอาแต่เล่นคอมพิวเตอร์ ไม่สนใจพ่อแม่ คุยแต่โทรศัพท์มือถือ เปลืองก็เปลือง”

นพ.ยุทธนา : พอพูดไปอย่างนี้ปุ๊บ เด็กก็เลย เอ๊ย ไม่มาบ้านดีกว่า มาแล้วไม่ค่อย happy ก็ไปติดเพื่อน ถ้าเพื่อนดีก็ดีไปใช่มั๊ยฮะ ถ้าเพื่อนไม่ดีก็ลำบากละ ไปติดยงติดยา มีปัญหาทางเพศ อะไรอย่างนี้ตามมา ก็คือ ผมเสนอนะว่าต้องสร้างบรรยากาศครอบครัวเชิงบวกนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : เชิงบวกในบ้าน

นพ.ยุทธนา : เชิงบวกคือกรอบความคิดที่ว่าพอชมแล้วจะเหลิงเนี่ย ผมคิดว่าอันนั้นเนี่ยเป็นความไม่สมดุลนะฮะ ไม่สมดุลเพราะว่าผลที่ตามมาเนี่ย เด็กจะขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ขาดความภาคภูมิใจในตัวเอง อันนี้ส่งผลกระทบมาก ดังนั้น เวลาชมเนี่ยนะ เราก็ชมแบบสมดุล ก็คือ พอเค้ามีสิ่งดีๆ ให้เห็นปั๊บ อ่ะ ชมเลยทันที ชมในเชิงพฤติกรรมด้วยนะฮะ เช่น สมมติเค้าตื่นเช้า นัดไว้แล้วไม่โอ้เอ้เลยวันนี้ ก็บอกว่า “โอ้ บอย พ่อประทับใจลูกมากเลย ขยันตื่นแต่เช้าตามที่ได้ตกลงกันไว้ ดีมากเลย บอยเป็นเด็กที่รับผิดชอบตื่นเช้า” อย่างเนี้ย ระบุเลยนะฮะ แล้วก็พอเค้ากลับมาจากโรงเรียน เกิดผลสอบ..ผลสอบนี่สำคัญเลยนะฮะ ผลสอบหรือเด็กแสดงอะไรในโรงเรียนเนี่ย..

คุณสรวงมณฑ์ : “เรียนไม่ได้เรื่อง”

นพ.ยุทธนา : ใช่ เราก็ต้องบอกเค้าเลยนะฮะ “เออ เป็นไง เห็นว่าวันนี้ประกาศผล คือ มันอาจจะมีอะไรที่คะแนนตก แล้วก็คะแนนเท่าเดิม แล้วก็คะแนนดีขึ้นใช่มั๊ย มี 3 แบบ เราก็ต้องบอกแบบคะแนนดีขึ้นก่อนนะฮะ ต้องบอก “เอ้ย คะแนนคณิตศาสตร์สูงขึ้นหนิ เอ้อ ดีจังเลยลูกทำไง?” อ้า เราก็ถามคำถามปลายเปิด เค้าก็จะได้เล่าให้ฟัง พอเราเห็นคะแนนสังคมมันลดลง “เอ้อ คะแนนสังคมมันตกไปหน่อยนะลูก มันเกิดอะไรขึ้น?” เราก็ถามคำถามปลายเปิดอย่างเนี้ย แทนที่จะบอก “ไม่เอาไหนเลยคะแนนสังคม คราวก่อนดีกว่านี้” เราไม่พูดแบบนี้ เพราะอันนี้เป็นเชิงลบ เราก็ถามเชิงบวก “เอ้อ มันเกิดอะไรขึ้น” “แล้วถ้ามันจะให้ดีแบบคะแนนคณิตศาสตร์ที่ลูกทำได้เนี่ย จะทำยังไง” เราก็ถามคำถามปลายเปิดเชิงแบบนี้ เราจะสร้างบรรยากาศเชิงบวกได้ดี ลูกก็อยากมาบ้าน อยากคุยกับเรา ไม่ไปใช้เทคโนโลยี ติดเทคโนโลยี 2 – 3 ชั่วโมง แล้วบางทีนะเป็นโรคปวดไมเกรนอีก เพราะในทางการแพทย์ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถือเนี่ย มันมีผลนะฮะ มันจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณศีรษะ ขมับเนี่ย เกร็งตัว แล้วก็ปวดศีรษะ บางคนเนี่ยไม่รู้

คุณสรวงมณฑ์ : “โอ้ ทำไมมันปวดหัวบ่อย”

นพ.ยุทธนา : ก็เพราะอันนี้แหละฮะ ก็ต้องสังเกตและก็ผ่อนคลาย

คุณสรวงมณฑ์ : ปวดหัว ปวดหูด้วยนะคะ

นพ.ยุทธนา : หูด้วย ใช่

คุณสรวงมณฑ์ : เอาล่ะค่ะ วันนี้ได้รับความรู้เยอะแยะมากมาย มีทิ้งท้ายอะไรสักนิดนึงถึงคุณพ่อคุณแม่มั๊ยคะ

นพ.ยุทธนา : ครับ ก็อยากให้ข้อคิดไว้นะฮะ ในแง่ของการดูแลเด็กเนี่ย เนื่องจากถ้าเด็กเป็นเด็กเล็กเนี่ยนะฮะ เค้ายังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดี ก็อยากให้ข้อคิดไว้นะฮะว่า “ความเขลามักอยู่ในใจของเด็กนะครับ แต่ความรักและการตีสอนเนี่ย ก็ขับมันให้ห่างออกไปจากเขา” (“การตีสอน” ไม่แน่ใจว่าฟังถูกต้องหรือเปล่า) เพราะงั้นก็อยากจะให้เราเลี้ยงดูเค้าอย่างอบอุ่นนะครับ ไม่ใช่ตามใจนะฮะ เลี้ยงดูแบบใส่ใจ และเค้าจะโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้าที่ดี

คุณสรวงมณฑ์ : โอเค เยี่ยมมากเลย ขอบพระคุณมากนะคะคุณหมอที่มาให้คำแนะนำในวันนี้ สวัสดีค่ะ

นพ.ยุทธนา : ผมยินดีครับ สวัสดีครับ

ความคิดเห็น