แม่...ผู้สร้างต้นทุนชีวิตลูก

แม่...ผู้สร้างต้นทุนชีวิตลูก


 
ปัจจุบันสังคมไทยกำลังอยู่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อการดำรงชีวิต รวมไปถึงการเลี้ยงดูบุตรหลานที่เปลี่ยนไปตามกระแสสังคม โดยเน้นการเสริมสร้าง “ทุนปัญญา” เพียงอย่างเดียว จนลืมคิดไปว่า “สิ่งเหล่านั้นได้ส่งผลกระทบต่อ “ทุนชีวิต” และ “ภูมิคุ้มกัน” ตัวเองที่ขาดหายไปของเด็กไทย” จนเป็นที่มาของปัญหาต่างๆ ขึ้นในสังคมมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชน ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการมีพฤติกรรมเสี่ยง

ด้วยเหตุนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. โดยแผนงานสุขภาวะเด็กเยาวชนร่วมกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว จึงจัดงานแถลงข่าว “แม่...ผู้สร้างต้นทุนชีวิตลูก” ขึ้นเพื่อให้สังคมตระหนักถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น หากเด็กและเยาวชนในสังคมไทยขาดต้นทุนชีวิต

ต้นทุนชีวิตเด็กๆ ถ้วนมีกันทุกคน เริ่มตั้งแต่สายใยความรักของพ่อแม่ที่ส่งผ่านลูกน้อย มาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ โดยผ่านกระบวนการเลี้ยงดู ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับความรักความอบอุ่นจากคนรอบข้าง ญาติพี่น้อง เพื่อน ครูอาจารย์ คนในชุมชน ซึ่งจะมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ถ้าชีวิตของเด็กไม่มีอะไรเลย แม้กระทั้ง ความรัก อบอุ่น ความเชื่อมั่น ก็คงคล้ายๆ กับเด็กที่มีภูมิต้านทานชีวิตต่ำ วิ่งเล่นอย่างสนุกสนานทามกลางเชื้อโรคในสังคม ซึ่งเราไม่สามารถจะรู้ได้เลย ว่าเชื้อโรคตัวไหนที่จ้องจะทำลายชีวิตเขา
 

 
โดย นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ กล่าวว่า เด็กที่ไม่มีต้นทุนชีวิตหรือต้นทุนชีวิตต่ำ มักจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยง จากการสำรวจต้นทุนชีวิตเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 12-25 ปี จำนวน 20,892 ตัวอย่าง ใน 18 จังหวัด พบว่า ต้นทุนชีวิตที่ขาดหายไปของเยาวชนไทย มีอยู่ 4 ด้าน อันดับแรก การขาดทักษะการเป็นผู้ให้ มีเพียงร้อยละ 34 เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยทำงานบ้าน หากเยาวชนไม่มีทักษะการเป็นผู้ให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ สังคมจะขาดความเอื้ออาทร และเห็นแก่ตัวมากขึ้น ตามมาด้วยการขาดการร่วมกิจกรรมทางศาสนา ร้อยละ 43 เมื่อสิ่งเหล่านี้ขาดหายไป สิ่งที่เกิดขึ้น คือ เด็กและเยาวชนขาดแรงยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และหันไปยึดเหนี่ยวทางวัตถุ และการสะท้อนคุณค่าของเด็กๆ ในชุมชนในระดับที่น้อยมาก ร้อยละ 51 แสดงให้เห็นว่า ประเทศเราลงทุนกับเด็กและเยาวชนในกิจกรรมสร้างสรรค์น้อยมาก ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เด็กติดเกม เพราะขาดพื้นที่และกิจกรรมทางเลือกอื่นๆ สุดท้ายยอมรับการไม่พูดความจริง ร้อยละ 30 ซึ่งเป็นประตูบานแรกสู่ความไม่ซื่อสัตย์

การที่เราพบว่าเด็กมีต้นทุนชีวิตต่ำนั้น จะมีความเสี่ยงในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องยาเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การไม่รู้จักป้องกัน รวมไปถึงความรุนแรง เวลาที่จะทำอะไร เด็กไม่สามารถคิดได้ถึงผิดชอบชั่วดี

แต่ทั้งนี้!!! เราทุกคนสามารถต่อเติมต้นทุนให้กับเขาได้ ซึ่งผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการสร้างต้นทุนชีวิตให้กับลูก คือ แม่ และเป็นผู้สร้างทักษะการเป็นผู้ให้ที่สำคัญแก่ลูกได้เป็นอย่างดี เช่น ช่วยทำงานบ้าน ช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ไม่เช่นนั้นสังคมแห่งความเอื้ออาทรจะกลายเป็นสังคมแห่งการแข่งขัน และเห็นแก่ตัวในที่สุด แม่ถือว่าเป็นผู้สร้างโลก ผ่านการสร้างต้นทุนชีวิตให้กับลูกโดยการเลี้ยงดูด้วยการให้เวลา ให้ความรัก และการพูดคุยให้กำลังใจให้ทักษะกับลูก ซึ่งถือเป็นบันได 3 ขั้นแรกของการสร้างต้นทุนชีวิตให้กับเด็ก

ซึ่งนพ.สุริยเดว กล่าวต่อว่า แม่ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการใช้เวลากับลูก ส่วนใหญ่พ่อมักจะมีปัญหาเรื่องเวลาให้กับลูกมากกว่า แต่เวลาที่แม่ให้กับลูก มักอยู่ในรูปของการให้การสนับสนุนมากกว่าการสร้างสัมพันธภาพ ดังนั้น การใช้เวลากับลูกให้สัมผัสถึงความรักด้วยคำพูด หรือแม้แต่การโอบกอดสัมผัส และไม่ควรใช้คำพูดที่บั่นทอนจิตใจ ซึ่งจากการให้คำปรึกษาในคลินิกวัยรุ่นพบว่า 100% ที่มาปรึกษาไม่มีทักษะในการชื่นชม หรือพูดคุยให้กำลังใจ มีกรณีตัวอย่างที่พบว่า เด็กที่ได้เกรดเฉลี่ย 0.26 เพราะมาจากคำพูดของแม่ที่บั่นทอนจิตใจมาตลอด ดังนั้นหากบันได ทั้ง 3 ขั้นดังกล่าวขาดหายไป การสร้างต้นทุนชีวิตด้านต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ยากมาก

ดังนั้น การสร้างต้นทุนชีวิตจึงจำเป็นอย่างมาก ที่ผู้เป็นพ่อแม่ควรหันมาใส่ใจ ซึ่งมันจะช่วยให้รากเหง้าของสังคมอย่างเด็กและเยาวชน มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง สามารถป้องกันเชื้อโรคทางสังคมที่เข้ามากัดกิน และเป็นบ่อนทำลายชีวิตลูกหลานไทย ดังคำพูดที่ว่า “เพิ่มต้นทุน คุณทำได้ ขาดต้นทุน คุณซ่อมได้”

หากอยากรู้ว่า “ต้นทุนชีวิต” ของตนเองเป็นแบบไหน คุณพ่อคุณแม่หรือน้องๆ เยาวชนสามารถทดสอบต้นทุนชีวิตเบื้องต้นได้ โดยผ่านเกมทดสอบทุนชีวิตที่เว็บไซต์ thaihealth.or.th หรือ dekplus.com แล้วคุณจะรู้ว่า “ต้นทุนชีวิต สร้างได้ ด้วยสองมือคุณ!!”


เขียนโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

ขอขอบคุณ ข้อมูลดีๆ จาก สสส. ค่ะ

ความคิดเห็น