[บทความ] นมข้าวอะมิโนสำหรับทารกแพ้นมวัว

นมข้าวอะมิโนสำหรับทารกแพ้นมวัว



โดย : ดวงกมล สจิรวัฒนากุล

แพทย์ศิริราชวิจัย "นมข้าวอะมิโน" สำเร็จครั้งแรกของโลก ช่วยทารกแพ้โปรตีนในนมทุกชนิดรวมทั้งนมกรดอะมิโน ราคาถูกกว่านมนำเข้าเกือบ 3 เท่าตัว

ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันท์ คณดบีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยามหิดล พร้อมด้วย ศ.นพ.พิภพ จิรภิญโญ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ แถลงข่าวความสำเร็จในการวิจัยผลิต “นมข้าวอะมิโน” เป็นครั้งแรกในโลก สำหรับทารกที่แพ้โปรตีนจากนมทุกชนิด หลังจากที่ได้ใช้เวลาการวิจัยมากว่า 10 ปี

 ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวว่า การแพ้โปรตีนในนมถือเป็นปัญหาอย่างมาก และอาจเป็นสาเหตุจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ที่ผ่านมาทางศิริราชจึงพยายามคิดค้น เพื่อช่วยเหลือเด็กที่แพ้โปรตีนในนมเหล่านี้

ก่อนหน้านี้ ศิริราชประสบความสำเร็จในการผลิตนมเนื้อไก่สำหรับเด็กที่แพ้นมวัว และใช้เลี้ยงทารกไปประมาณ 4,000 ราย แต่ในจำนวน 200-300 ราย ยังแพ้นมเนื้อไก่อยู่ จึงต้องดื่มนมกรดอะมิโนที่ผลิตจากแป้งข้าวโพด ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาสูงถึงกระป๋องละ 1,600 บาท

  ดังนั้น จึงได้วิจัยเพื่อต่อยอดผลิตนมสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ทำให้ได้ “นมข้าวอะมิโน” ที่สกัดจากแป้งข้าวเจ้า พบว่าสามารถให้ทารกที่แพ้โปรตีนในนมทุกชนิดดื่มได้ รวมทั้งทารกที่แพ้นมกรดอะมิโนด้วย

 ศ.นพ.พิภพ กล่าวว่า เดิมทีการผลิตนมสำหรับทารกที่แพ้โปรตีนในนมวัว จะใช้น้ำตาลโพลิเมอร์ ที่ผลิตจากแป้งข้าวโพดที่นำเข้าจากต่างประเทศ มาเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตนมอะมิโน เพื่อเลื้ยงทารกเด็กกลุ่มนี้ แต่น้ำตาลโพลิเมอร์จากแป้งข้าวโพดนี้ ยังมีโปรตีนจากข้าวโพดเจือปนอยู่ ทำให้ทารกบางรายยังมีอาการได้

 ทางทีมงานจึงวิจัยผลิตนมจากแป้งข้าวเจ้า เนื่องจากข้าวเจ้าเป็นอาหารที่มีการแพ้น้อยมากนอกจากเนื้อไก่ โดยได้วิจัยจนสามารถผลิตน้ำตาลข้าวโพลีเมอร์จากแป้งข้าวเจ้าได้ ที่ให้โปรตีนต่ำเพียงแค่ 0.04 กรัมต่อน้ำตาลโพลิเมอร์ 100 กรัม และนำมาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเป็นนมข้าวอะมิโน และนมเนื้อไก่ เพื่อเลี้ยงทารกได้ และได้มีการยื่นจนสิทธิบัตรกระบวนการผลิตน้ำตาลข้าวโพลีเมอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 น้ำตาลข้าวโพลีเมอร์ (rice glucose polymers) จัดอยู่ในกลุ่มมาลโตเด็กซตริน ที่เกิดจากการย่อยแป้งเข้าวจ้าวด้วยน้ำย่อยอะมิเลส ด้วยอุณหภูมิและเวลาที่คงที่ จนทำให้โมเลกุลของแป้งถูกย่อยให้เล็กลง จนคุณภาพของแป้งหายไปกลายเป็นน้ำตาล

 จานนั้นใช้วิธีการพิเศษจนได้โปรตีนที่ต่ำมาก ซึ่งเป็นน้ำตาลที่สามารถนำมาเป็นส่วนผสมในการผลิตนมข้าวอะมิโนและนมจากเนื้อไก่ พร้อมเติมสารอาหารที่จำเป็น โดยไม่มีการแต่งสี แต่งกลิ่น และปรุงรส จากนั้นนำมาแช่แข็งที่อุณหภูมิ -72 องศาเซลเซียส เมื่อรับประทานจะนำมาละลาย และรับประทานให้หมดภายใน 1 วัน

 น้ำตาลข้าวโพลีเมอร์ที่ได้นั้นยังสามารถนำมาดัดแปลงใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่ม เช่น เครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา สารอาหารสำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับอาหารผ่านสายยาง

 ศ.นพ.พิภพ กล่าวว่า เด็กที่กินนมแม่และนมวัวไม่ได้ เมื่อมาพบแพทย์เบื้องต้นจะให้ลองดื่มนมเนื้อไก่ทดแทน และหากยังแพ้นมเนื้อไก่จึงให้ดื่มนมข้าวอะมิโนนี้ โดยราคานมเนื้อไก่จะอยู่ที่ 400 บาทต่อออนซ์ ขณะนมข้าวอะมิโนจะอยู่ที่ 600 บาทต่อออนซ์

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาได้นำนมข้าวอะมิโนทดลองให้ทารกดื่ม 3 ราย อายุตั้งแต่ 6-9 เดือน ปรากฏว่าอาการแพ้โปรตีนจากนมหมดไป มีการเจริญเติบโตเป็นปกติ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ

อย่างไรก็ตาม จะวิจัยเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างนมข้าวอะมิโนที่ผลิตได้กับนมกรดอะมิโนที่นำเข้า ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอโครงการกับทางสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยแพทย์ 9 แห่ง งบประมาณ 6 ล้านบาท เพื่อทดสอบกับทารกจำนวน 250 คน คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2553

ศ.นพ.พิภพ กล่าวเพิ่มว่า สถิติภาพรวมของเด็กไทยที่แพ้โปรตีนจากนมทุกชนิด มีประมาณ 1,000 รายต่อปี และมีแนวโน้มว่าจะมีอัตราการแพ้โปรตีนจากนมวัวมากขึ้น โดยพบรายใหม่ 20,000-40,000 รายต่อปี

 อาการแพ้จะเกิดขึ้นทันทีที่รับประทานอาหาร หรือเกิดจากรับประทานอาหารไปแล้ว 2 สัปดาห์ อาการที่แพ้จะพบทั้งผื่น ลมพิษ และอาการผิดปกติในทางเดินอาหาร ร้องกวนโยเย ท้องอืดท้องเสีย บางคนถึงขึ้นถ่ายอุจจาระเป็นเลือด และบางคนก็มีการแพ้ในระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด

และมีข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า หากพ่อหรือแม่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นโรคภูมิแพ้ โอกาสที่ลูกเกิดมาจะแพ้โปรตีนจากน้ำ 50% แต่หากทั้งพ่อและแม่เป็นภูมิแพ้ ลูกที่เกิดมาจะแพ้โปรตีนจากนมสูงถึง 70-80%

 นอกจากนี้ ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ ยังได้กล่าวว่า ขณะนี้นมข้าวอะมิโนยังอยู่ในระดับการวิจัยเท่านั้น แต่หากมีเอกชนสนใจก็จะผลักดันไปในระดับอุตสาหกรรมได้ เพื่อช่วยให้เด็กที่มีปัญหาแพ้โปรตีนในนมทุกชนิด ซึ่งช่วยได้เร็วเท่าไหร่เด็กก็จะเจริญเติบโตได้ดี อีกทั้งเชื่อว่าจะมีราคาที่ถูกกว่านมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ความคิดเห็น