การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว

การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว หลังคลอดลูก หากคุณแม่ให้นมลูกเอง นน.จะลงมาเป็นปกติภายใน 1-6 ด.โดยไม่ต้องซื้อคอร์สลดนน.ราคาแพง หรือ ซื้อยาลดนน.จากอินเตอร์เนทที่เป็นอันตรายมากิน โดยมีข้อแม้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 10-12 กก.ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่ 3 ด.แรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลย 3 ด.ถัดมาขึ้น 6 กก. และ 3 ด.สุดท้ายขึ้น 6 กก. ใครที่นน.ขึ้นเกินจากนี้ ไม่ดีนะคะ อย่าคิดว่าตอนท้องเป็นช่วงโปรโมชั่น อยากกินอะไรก็กินได้ตามใจอยาก อ้วนได้ไม่มีใครกล้าว่า แล้วคิดกินเพื่อลูก โด๊ปอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปมากมาย นมวัวเอย ผลิตภัณฑ์นมวัวเอย ทั้งชีส เค้ก ไอศครีม นมถั่วเหลืองซื้อมาเป็นลังๆ ไข่กินวันละหลายๆฟอง ขนมนมเนยทุกชนิด ปลาแซลมอนทุกมื้อ ผลที่ตามมา คือ แม่อ้วนทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ลูกเสี่ยงกับภาวะแพ้โปรตีนกลุ่มเสี่ยง พอคลอดลูกเสร็จ ก็ยังกินบำรุงน้ำหนักต่อ โดยคิดว่าจะทำให้ผลิตน้ำนมได้เยอะ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักส่วนเกินยังคงอยู่สะสมในร่างกาย แต่น้ำนมไม่ได้เพิ่มขึ้น (ดังรูปบน) เพราะปริมาณน้...

บทสัมภาษณ์ : ศ.นพ.บุญชอบ พงษ์พานิช์ เรื่อง “โรคหัวใจในเด็ก”

 

บทสัมภาษณ์ :  ศ.นพ.บุญชอบ พงษ์พานิช์ เรื่อง “โรคหัวใจในเด็ก”

รายการ “พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” FM 105

ถอดคำสัมภาษณ์ ศ.นพ.บุญชอบ พงษ์พานิช กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจในเด็ก
ปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาส ราชนครินทร์

ผู้ดำเนินรายการ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2553 เรื่องเกี่ยวกับ “โรคหัวใจในเด็ก”



คุณสรวงมณฑ์ : สวัสดีค่ะคุณหมอคะ

ศ.นพ.บุญชอบ : สวัสดีครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ รบกวนคุณหมอนะคะมาให้ความรู้กับคุณผู้ฟัง ที่เป็นพ่อแม่มือใหม่ทั้งหลายนะคะ

ศ.นพ.บุญชอบ : ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ก่อนอื่นเลยนะคะ ในฐานะที่คุณหมอเองเป็นประธานของมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ เนี่ย ปัจจุบันนี้นะคะ สถานการณ์ของเด็กที่เป็นโรคหัวใจในบ้านเราเป็นยังไงกันบ้างคะ?กโรคหัวใจฯ เนี่ยประธานป็นปรา

ศ.นพ.บุญชอบ : เด็กที่เป็นโรคหัวใจเกินร้อยละ 80 เป็นหัวใจพิการมาแต่กำเนิด ในบ้านเรานี่ก็เกิดใหม่ประมาณปีละ 8,000 คน

คุณสรวงมณฑ์ : 8,000 คน ถือว่าเยอะกว่าในอดีตมั๊ยคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : ไม่เยอะ เหมือนกันทั่วโลกน่ะประมาณร้อยละ 1 ของเด็กเกิดใหม่มีชีวิต ประมาณ 1% ของเด็กเกิดใหม่มีชีวิต

คุณสรวงมณฑ์ : ก็คือ 1 ต่อ 100 น่ะแหละ

ศ.นพ.บุญชอบ : ใช่ๆ 1 ใน 100

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วภาวะนี้นี่มันสะท้อนอะไรรึเปล่าคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : ก็เนื่องจากไอ้ความพิการแต่กำเนิดเนี่ย เกินร้อยละ 90-95 เนี่ยไม่ทราบสาเหตุ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

ศ.นพ.บุญชอบ : เพราะฉะนั้นประเทศเราหรือประเทศที่เจริญแล้วเนี่ย อุบัติการณ์ก็ยังใกล้เคียงกัน

คุณสรวงมณฑ์ : ใกล้เคียงกัน

ศ.นพ.บุญชอบ : เพราะว่ามันไม่รู้สาเหตุ มันเป็นการยากที่จะป้องกัน จะป้องกันได้ก็ประมาณสัก 5% เช่น การติดเชื้อหัดเยอรมันในมารดาที่ตั้งครรภ์ภายใน 2 เดือนแรก มารดารับประทานยาซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อเด็ก หรือมีมารดาสูงอายุ อาจจะมีโอกาสที่เด็กที่มีความพิการทางโครโมโซม แล้วก็มีหัวใจพิการร่วมด้วย ซึ่งอันนี้รวมกันแล้วก็ไม่เกิน 5%

คุณสรวงมณฑ์ : ไม่เกิน 5% นี่คือข้อสันนิษฐานที่ว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุเหล่านี้

ศ.นพ.บุญชอบ : ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วก็ที่คุณหมอบอกมาเนี่ย ถ้ามันเกิดมาไม่รู้สาเหตุ แล้วเวลาเกิดมานี่เราสามารถพบได้เลยมั๊ยคะอย่างเช่น สมมติว่าคุณผู้ฟังไปคลอด คลอดแล้วสามารถรับรู้เลยมั๊ยคะ? อาการมันแสดงเลยมั๊ยคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : ร้อยละ 80 หลังคลอดใหม่ๆ หรือภายในสัปดาห์แรก ถ้าหมอตรวจละเอียดก็อาจจะบอกได้ แต่อีกประมาณร้อยละ 20 ตอนคลอดใหม่ๆ อาจจะบอกไม่ได้แต่จะมาตรวจพบได้ตอนอายุประมาณ 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน หรือบางรายบางชนิดเนี่ยมาตรวจพบตอนเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ยังมี

คุณสรวงมณฑ์ : อาการมันแสดงยังไงบ้างคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : มี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือไม่มีอาการนะครับ กลุ่มที่มีอาการก็เช่น มีอาการเขียวปลายมือปลายเท้า หรือยิ่งร้องยิ่งเขียว ไม่ใช่ร้องกลั้นนะฮะ ยิ่งร้องยิ่งเขียว

คุณสรวงมณฑ์ : เขียวนี่เขียวแบบสังเกตเห็นได้ชัดเลยมั๊ยคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : เป็นบลูน่ะ ภาษาฝรั่งเค้าเรียกเป็น blue น่ะ ที่เล็บไม่ใช่ที่ปาก ริมฝีปากนี่บางทีบอกยาก ที่เล็บมือเล็บเท้า นอกจากนั้นก็มีอาการเหนื่อยง่าย หายใจแรง หายใจหอบ หายใจเร็ว หรือเหนื่อยเวลาดูดนม ดูดๆ หยุดๆ ทำให้เด็กเลี้ยงไม่โต อันนี้ก็เป็นอาการที่อาจจะพบได้

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

ศ.นพ.บุญชอบ : หรืออาการอย่างอื่น เช่น มีติดเชื้อง่าย เป็นหวัดก็จะเป็นหลอดลมอักเสบง่าย เป็นปอดบวมง่ายๆ เพราะฉะนั้นบางทีเด็กพวกนี้ก็จะไปหาหมอตอนที่เป็นปอดบวมแล้ว ก็จะรู้ได้ว่าเป็นโรคหัวใจ

คุณสรวงมณฑ์ : อาการระดับของความรุนแรงเนี่ย คือคุณพ่อคุณแม่สามารถจะดูยังไงก่อนคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : ผู้ที่รุนแรงที่สุดก็คือกลุ่มที่มีอาการเขียวตั้งแต่แรกเกิด บางทีดูยาก เพราะฉะนั้นถ้าสงสัย เช่น เด็กร้องแล้วเขียวก็ต้องรีบไปหาหมอ หมอจะตรวจโดยใช้เครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายมือปลายเท้า อาจจะพอบอกได้ หรือไม่ก็เด็กเลี้ยงไม่โต เป็นหวัดบ่อย กินนมได้น้อย พวกนี้

คุณสรวงมณฑ์ : ต้องไปพบแพทย์แล้ว

ศ.นพ.บุญชอบ : อ้า ควรจะพักผ่อนก็แล้วแต่

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ อันนี้ก็คือเป็นลักษณะอาการนำที่พอจะสังเกตได้คร่าวๆ

ศ.นพ.บุญชอบ : ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : สมมตินะคะ ดิฉันจะให้คุณผู้ฟังคิดภาพตามกันไป สมมติว่าคุณพ่อคุณแม่พาน้องไปพบคุณหมอ แล้วคุณหมอวินิจฉัยว่ามีเค้าละ จะเป็นโรคหัวใจเนี่ย กระบวนการในการดูแลรักษาเป็นยังไงคะคุณหมอ?

ศ.นพ.บุญชอบ : คือเราก็ต้องวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคหัวใจชนิดไหน

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

ศ.นพ.บุญชอบ : แล้วก็มีเครื่องมือตรวจอุลตร้าซาวนด์หัวใจ เค้าเรียกว่า เอ๊คโค่คาร์ดิโอแกรม (Echocardiogram )

คุณสรวงมณฑ์ : มันมีกี่ชนิดคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : ตอนนี้ก็มีชนิด 2 มิติ 3 มิติ จริงๆ แล้ว 2 มิติก็บอกได้แล้วว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ แต่ก็ต้องตรวจโดยหมอที่มีความชำนาญ ที่จะทำเครื่องนี้ ก็จะบอกได้ว่ามันเป็นชนิดไหน และก็จะแนะนำการรักษาได้ ทีนี้ถ้าตรวจไม่เป็น หรือไม่มีเครื่องนี้ ก็ต้องแนะนำให้ส่งต่อไปยังศูนย์หัวใจ ซึ่งขณะนี้มีทั่วประเทศนะฮะ มีของกระทรวงสาธารณสุข ของเอกชนก็มีทั่วประเทศ ครับ ส่งไปแล้วเค้าจะวินิจฉัยให้ได้ว่าเป็นชนิดไหน

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ หลังจากวินิจฉัยแล้ว เป็นแล้ว ต้องผ่านกระบวนการรักษายังไงคะคุณหมอ?

ศ.นพ.บุญชอบ : กลุ่มที่มีอาการ เช่น มีอาการหัวใจวาย มีอาการหอบ เลี้ยงไม่โต หมอเค้าจะให้ยารักษาภาวะหัวใจวาย

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

ศ.นพ.บุญชอบ : แต่ถ้าเป็นชนิดเขียว ถ้าเขียวมากๆ นี่หมอเค้าจะแนะนำให้ผ่าตัดทันที หรือไม่ก็ให้ยาชั่วคราวแล้วก็รีบส่งไปที่ศูนย์ที่ทำการผ่าตัดได้ ทีนี้บังเอิญศูนย์ผ่าตัดเด็กเล็กเนี่ยก็มีน้อยในประเทศไทย เพราะว่าศูนย์หัวใจที่เกิดใหม่ๆ ในต่างจังหวัดนี่จะผ่าผู้ใหญ่หรือเด็กโตซะส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นปัญหาก็คือตอนนี้พอเด็กเล็ก เด็กที่ต้องการรักษาด่วนนี่มันไม่มีที่จะไปเพราะว่าเต็มหมดน่ะ เตียงเต็มหมด

คุณสรวงมณฑ์ : มีคำถามจากคุณผู้ฟังนะคะ คือเมื่อวันก่อนคุณย่าสมรเค้าบอกว่าพาหลานไปตรวจที่โรงเรียน ที่โรงเรียนเค้าตรวจพบว่าหัวใจของน้องเต้นผิดปกติ ประเด็นคือพอบอกว่าเต้นผิดปกติ คุณย่าก็เลยพาไปโรงพยาบาล พอไปโรงพยาบาลนะคะ คุณหมอก็พาไปอัลตร้าซาวนด์ ก็ไม่พบอะไรผิดปกติแต่ว่าประเด็นคือหัวใจของน้องเต้นแรงมากค่ะ

ศ.นพ.บุญชอบ : คือเต้นผิดปกติหรือเต้นผิดจังหวะอาจจะไม่มีโรคหัวใจก็ได้ อาจจะเป็นระบบไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ ซึ่งถ้าเด็กไม่มีอาการ หรือเป็นชนิดที่ไม่มีอันตราย นี่ก็อาจจะหายเองได้ แต่ถ้าเป็นแล้วเป็นนาน เป็นจนมีอาการ เป็นบ่อยๆ นี่อาจจะต้องให้ยารักษา มียารักษาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจได้ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : เราจะสังเกตเห็นได้มั๊ยคะว่าแบบไหน ที่เป็นการเต้นผิดปกติแล้วก็เป็นบ่อยๆ เราจะดูยังไงคะคุณหมอ?

ศ.นพ.บุญชอบ : คือเด็กเค้าอาจจะรู้สึกเองถ้าเด็กโตหน่อยนะฮะ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

ศ.นพ.บุญชอบ : ถ้าเด็กเล็กหน่อยก็จับชีพจรดูหรือคลำที่หัวใจก็จะพอบอกได้ ทีนี้บางครั้งการเต้นผิดจังหวะนี่มันไม่ได้เป็นนาน เป็นเดี๋ยวเดียวหายไป ไปหาหมอก็ไม่มีแล้ว พวกนั้นอาจจะต้องทำติดโฮลเตอร์ (Holter) ซึ่งคลื่นไฟฟ้าหัวใจไว้ 24 ชั่วโมงแล้วไปแปลผลทีหลัง พวกนั้นก็จะวินิจฉัยได้ว่าเป็นชนิดร้ายแรงหรือไม่ ถ้าเป็นชนิดร้ายแรง ก็อาจจะต้องรับประทานยา หรือมีวิธีการรักษา โดยการที่ใช้สายสวนเข้าไปจี้ในจุดที่ผิดปกตินั่นได้

คุณสรวงมณฑ์ : และถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกทำไมเหนื่อยง่ายจัง มีผลมั๊ยคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : ถ้าเป็นหัวใจเต้นผิดจังหวะ เหนื่อยง่ายนี่ก็แสดงว่าเป็นชนิดที่รุนแรงนะครับ แต่ถ้าเป็นชนิดที่ไม่รุนแรงนี่เค้าจะไม่รู้สึกอะไรนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แล้วอะไรบ้างที่จะเป็นความเสี่ยงของเด็กที่อาจจะเป็นโรคหัวใจ? แล้วจะมีกิจกรรมบางอย่างที่ห้ามทำ?

ศ.นพ.บุญชอบ : เด็กโรคหัวใจโดยเฉพาะโรคหัวใจที่ไม่มีอาการ ไม่มีความพิการรุนแรงก็อาจจะออกกำลังกายได้ตามปกติ ถ้าเป็นรุนแรงเนี่ย หมอก็จะแนะนำนะฮะว่าไม่ควรจะออกกำลังกายรุนแรง หรืองดพละ หรืองดเรียน ร.ด. อย่างนี้จะทำได้ ทีนี้ถ้าเป็นไม่มากเด็กเค้าจะควบคุมตัวเองได้ คือถ้าเค้าเหนื่อยเค้าก็หยุด

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กล่ะคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : เด็กเล็กถ้ามีอาการนี่ก็...คืออาการที่สำคัญของเด็กเล็กก็คือเหนื่อยหอบ กินน้อย โดยเฉพาะพวกนี้ก็จะมีเลือดไปปอดเยอะ ก็จะมีอาการคั่งเลือดที่ปอด เพราะฉะนั้นพวกนี้ถ้าเป็นหวัดก็จะเป็นปอดบวมหรือหลอดลมอักเสบง่าย ก็จะได้แนะนำว่าถ้าไปโรงพยาบาลไปฉีดวัคซีนก็นั่งห่างๆ เด็กป่วยหน่อย หรือคนป่วยก็อย่าให้เข้าใกล้เพราะเค้าเป็นหวัดก็จะเป็นปอดบวม เป็นหลอดลมอักเสบง่าย อาจจะเป็นอันตรายได้ เพราะฉะนั้นวิธีป้องกันก็เป็นอย่างนั้นครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แล้วกลุ่มเด็กเหล่านี้เนี่ยสามารถรักษาให้หายได้มั๊ยคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : คือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเกือบ 100% สามารถรักษาโดยการผ่าตัด หรือการใช้สายสวนได้ ในปัจจุบันนะครับแต่ต้องไปให้ทันเวลา และก็หมอเค้าจะแนะนำกันไป ว่าที่ไหนจะผ่าอะไรได้ไม่ได้นี่ก็จะแนะนำ ซึ่งปัจจุบันมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านี่นะครับ ถ้ามีบัตรทองก็สามารถจะรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐได้ทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ก็ช่วยสนับสนุนการผ่าตัดเด็กโรคหัวใจอยู่ในปัจจุบันนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : แสดงว่าเรื่องที่เด็กเป็นโรคหัวใจ ก็ต้องถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ร้ายแรงเท่าไหร่นัก

ศ.นพ.บุญชอบ : คือเทคโนโลยีปัจจุบันเราช่วยได้ไงฮะ แต่ปัญหาก็คือเคส emergency หรือเคสด่วนเนี่ยจะมีปัญหาเรื่องหาเตียงหรือจะ admit ทีนี้ถ้ามีข้อขัดข้องก็ติดต่อที่มูลนิธิเด็กโรคหัวใจได้ โทรศัพท์ไปปรึกษาได้นะครับ เราจะหาทางที่จะช่วยเหลือให้ได้

คุณสรวงมณฑ์ : เบอร์โทรศัพท์อะไรคะคุณหมอ?

ศ.นพ.บุญชอบ : 02-716-6070-1 ถ้าทางเว็บไซท์ก็ http://www.doctordek.com

คุณสรวงมณฑ์ : ทีนี้คุณหมอคะ ได้ยินคำว่า “หัวใจรั่ว” เป็นยังไงคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : หัวใจรั่วนี่ก็มี 2 ชนิด คือ ผนังรั่ว ซึ่งพบบ่อยในหัวใจพิการแต่กำเนิด เช่น ผนังห้องล่างมีช่องโหว่ หรือผนังห้องบนมีช่องโหว่

และถ้าอีก term นึงก็คือ ลิ้นหัวใจรั่ว พวกนี้มักจะพบในคนไข้ที่เกิดภายหลัง เช่น เกิดจากไข้รูห์มาติก (Rheumatic fever) ก็อาจจะมีลิ้นไมตรัล (Mitral valve) หรือลิ้นเอออร์ติกรั่ว (Aortic valve) อันนี้ก็เป็นลิ้นรั่ว ถ้าผนังรั่วนี่ก็พบบ่อยในเด็กที่เป็นหัวใจพิการแต่กำเนิดครับ



(ที่มาของภาพจาก http://th.wikipedia.org/wiki/หัวใจ)

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ มันมีอาการอะไรที่สังเกตนำ ก่อนที่จะให้คุณพ่อคุณแม่สงสัยแล้วพาไปพบคุณหมอคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : อาการก็เหนื่อยเร็วอย่างที่เรียนเมื่อกี๊ เลี้ยงไม่โต

คุณสรวงมณฑ์ : เลี้ยงไม่โต คือโดยพัฒนาการต่างๆ เนี่ยคือตัวเล็กหรือว่ายังไงคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : น้ำหนักไม่ค่อยขึ้นเพราะว่ากินนมน้อยแล้วก็ป่วยบ่อย ก็จะเลี้ยงไม่โต ได้แคลอรี่ไม่พอ บางคนเลี้ยงไม่โต หาสาเหตุไม่ได้ แต่ถ้าไปตรวจแล้วหมอฟังหัวใจหน่อยก็จะบอกได้ว่าน่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคหัวใจในเด็กนี่ส่วนใหญ่จะฟังเสียงผิดปกติได้

คุณสรวงมณฑ์ : เพราะฉะนั้นถ้าสงสัย มีพฤติกรรมคือ หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นแรง ไปพบแพทย์ก่อนล่ะงผิดปกติได้กยก็จะบอกได้ว่าไม่โตื่องที่ร้ายแรงนัก

ศ.นพ.บุญชอบ : ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : เอาล่ะค่ะ แล้วที่เห็นว่าเด็กบางคนเนี่ย เป็นไข้แล้วก็มีอาการหอบอยู่ด้วยเนี่ยค่ะ อันนี้เป็นลักษณะอาการแบบไหนคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : คือไข้หอบนี่ส่วนมากเป็นเรื่องของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีหลอดลมอักเสบ หรือแม้แต่ปอดบวม  เค้าอาจจะไม่ได้มีโรคหัวใจก็ได้ แต่ที่เรียนแล้วคือ เด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดหลายชนิดที่จะเป็นปอดบวมง่าย  เพราะฉะนั้นตอนช่วงที่เป็นปอดบวม อาจจะตรวจฟังเสียงหัวใจไม่ได้ผิดปกติ แล้วพอเด็กหายก็จะฟังได้ หรือเอกซเรย์ก็จะเห็นหัวใจโต ก็จะบอกได้ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ แล้วถ้าสมมติกรณีที่เด็กไม่ได้เป็นมาแต่กำเนิดเนี่ย ระหว่างทางมีโอกาสเป็นมั๊ยคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ :
ก็เป็นชนิดที่เป็นโรคหัวใจรูห์มาติก หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งพบได้น้อยลงนะครับ พบไม่มาก พวกนี้ก็ต้องรักษาทางยา หรือไม่ก็ถ้าเป็นลิ้นหัวใจพิการจากไข้รูห์มาติก ถ้าเป็นมากๆ เป็นเรื้อรังก็อาจจะต้องผ่าตัด ส่วนมากจะพบในผู้ใหญ่ในเด็กโตครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ในเด็กโตนี่ส่วนใหญ่สาเหตุมาจากอะไรคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : ไข้รูห์มาติกก็เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งเรียกว่า สเตร็บโตคอคคัส (Streptococcus) ที่ทำให้เกิดทอนซิลอักเสบ ทอนซิลเป็นหนอง คออักเสบ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไข้สูง และเจ็บคอ ก็ควรจะพบแพทย์ กับให้ยาปฏิชีวนะ ก็จะป้องกันได้ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ เอาล่ะค่ะท้ายสุดเลย มีข้อห้ามอะไรมั๊ยคะที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะรู้?

ศ.นพ.บุญชอบ : ข้อสำคัญก็คือเด็กที่เป็นโรคหัวใจเนี่ยนะครับ ต้องดูแลฟันให้ดี

คุณสรวงมณฑ์ : ฟัน

ศ.นพ.บุญชอบ : ฟันนี่บางคนคิดว่าไม่สำคัญ ถ้าฟันผุจะมีเชื้อโรคในปากเยอะมาก เพราะฉะนั้นเด็กที่เป็นโรคหัวใจเนี่ยประการที่ 1 คืออย่าให้ฟันผุ

คุณสรวงมณฑ์ : อย่าให้ฟันผุ

ศ.นพ.บุญชอบ : วิธีป้องกันก็คืออย่าให้อมนม อย่าให้อมทอฟฟี่ แปรงฟันถ้าเด็กโตหน่อย และก็อาจจะทานฟลูออไรด์เสริม แล้วก็พบทันตแพทย์เป็นครั้งคราว เพราะถ้าฟันผุเนี่ย เชื้อโรคจากฟันเนี่ย ถ้าเป็นโรคหัวใจอยู่มันจะไปติดที่หัวใจทำให้หัวใจอักเสบก็รักษายาก เพราะฉะนั้นก็ 1. ป้องกันอย่าให้ฟันผุ ถ้าผุไปหาหมอก็ต้องบอกหมอว่าตนมีโรคหัวใจอยู่นะ แล้วก็กินยาฆ่าเชื้อก่อนทำฟันก่อนถอนฟัน ถ้ามีเลือดออกนี่ต้องกินยาฆ่าเชื้อก่อนครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ คุณหมออยากจะฝากอะไรคุณพ่อคุณแม่มั๊ยคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีสมัยใหม่นี่ทางประเทศไทยเรา ก็สามารถจะให้การช่วยเหลือเด็ก ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจได้  เพราะฉะนั้น ถ้าท่านไม่มีทุนทรัพย์ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ได้รับการรักษานะครับ นอกจากการรักษาพยาบาลโดยสำนักงานประกันสุขภาพเป็นผู้จ่ายแล้วนี่ มูลนิธิฯ ก็จะช่วยเหลือในค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายระหว่างการรักษาพยาบาล เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องกังวลในแง่ของค่าใช้จ่ายนะครับ มูลนิธิฯ สามารถที่จะช่วยได้ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : มูลนิธิฯ ทำอะไรบ้างคะตอนนี้คะคุณหมอ?

ศ.นพ.บุญชอบ : มูลนิธิฯ ทำหลายเรื่อง เรื่องสำคัญที่ทำตอนนี้ก็คือ เราออกหน่วยตรวจคนไข้เด็ก ที่เป็นโรคหัวใจในต่างจังหวัดปีละหลายครั้งนะครับ โดยให้หมอในโรงพยาบาลต่างจังหวัดรวบรวมไว้ แล้วเราก็ยกทีมไป แล้วก็ไปตรวจให้ละเอียดแล้วส่งผ่าตัดให้ทันที

อันที่ 2 ก็คือเราไปสอนพยาบาลวิชาชีพทั่วประเทศ ให้วินิจฉัยโรคหัวใจในเด็กได้ เพราะว่าในอนามัยเนี่ยไม่มีหมอ หรือแม้ในโรงเรียนก็ไม่มีหมอตรวจ เพราะฉะนั้นเราสอนพยาบาลให้ไปตรวจที่อนามัย คือถ้าเด็กมาฉีดวัคซีนก็ฟังซะหน่อย ก็จะบอกได้ คือถ้าไปตรวจเด็กนักเรียนเนี่ย นอกจากดูเรื่องผิวหนังดูเรื่องการเจริญเติบโต ก็ให้เค้าฟังเป็นแล้วจะวินิจฉัยได้ เพราะว่ามีเด็กที่ไปโรงเรียน โดยไม่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคหัวใจอีกจำนวนมากนะครับ  บางครั้งถ้าปล่อยไว้นานเกินไป ก็จะผ่าตัดไม่ได้ หรือมีความเสี่ยงในการผ่าตัดสูง

อีกอันที่เราทำมา 5-6 ปีก็คือการเพิ่มปริมาณการผ่าตัดเด็กโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เนื่องจากเด็กพิการแต่กำเนิดอย่างที่เรียนแล้วว่าปีนึงเกิดประมาณ 8,000 คน 4,000 คนต้องผ่าตัดแต่ขีดความสามารถของโรงพยาบาลทั่วประเทศไทย ทั้งรัฐและเอกชน ผ่าได้ไม่เกินปีละ 2,500 รายเพราะฉะนั้นเราก็เลยเพิ่มผ่าให้อีก 1,000 กว่าราย โดยให้ค่าตอบแทนทีมผ่าตัดให้ผ่านอกเวลาราชการ วันเสาร์อาทิตย์ ทั้งในตอนเย็น เราก็ทำมา 5-6 ปีแล้ว ปีนี้เราก็จะทำ 2,500 รายโดยเป็นการถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จกรมหลวงฯ นะครับซึ่งท่านทรงเป็นองค์ประธานให้เรา เราก็เริ่มทำมาแล้วตั้งแต่ต้นปีนะครับ การผ่าตัดนอกเวลา เราทำมา 5-6 ปีก็ผ่าไป 6,000 กว่ารายนะครับ เพราะฉะนั้นถ้าท่านผู้ป่วยสงสัยว่าจะเป็นโรคหัวใจก็ไปตรวจครับ

คุณสรวงมณฑ์ : คุณหมอบอกว่า 4,000 คนที่ผ่าตัด แล้วอีก 4,000 คนนี่หายเองเหรอคะ?

ศ.นพ.บุญชอบ : จำนวนหนึ่งหายเองหรือดีขึ้นโดยไม่ต้องผ่าตัด ก็ยังโชคดีว่าถ้าผ่าตัด 8,000 คนเราก็คงเหนื่อย (หัวเราะ)

คุณสรวงมณฑ์ : คุณหมออาจจะเป็นโรคหัวใจแทนนะคะ (หัวเราะ) เอาล่ะค่ะ วันนี้ต้องขอบพระคุณคุณหมอมากนะคะ มาให้ความรู้กับคุณผู้ฟังในวันนี้ค่ะ

ศ.นพ.บุญชอบ : ยินดีครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ขอบพระคุณค่ะ

ศ.นพ.บุญชอบ : สวัสดีครับ



ความคิดเห็น