บทสัมภาษณ์ : รศ.นพ.วิสันต์ เสรีภาพงศ์ เรื่อง “การตั้งครรภ์นอกมดลูก”

 

บทสัมภาษณ์ :  รศ.นพ.วิสันต์ เสรีภาพงศ์ เรื่อง “การตั้งครรภ์นอกมดลูก”

รายการ “พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” FM 105

ถอดคำสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ นพ.วิสันต์ เสรีภาพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้ดำเนินรายการ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com

วันศุกร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2553 เรื่องเกี่ยวกับ “การตั้งครรภ์นอกมดลูก”



คุณสรวงมณฑ์ : สวัสดีค่ะคุณหมอคะ

รศ.นพ.วิสันต์ : ครับ สวัสดีครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ วันนี้ต้องรบกวนคุณหมอมาให้ความรู้กับคุณผู้ฟังนะคะ พอดีคุณผู้ฟังเพิ่งประสบเหตุไม่นานนะคะ เกี่ยวกับเรื่องของอาการท้องนอกมดลูก หมายความว่ายังไงคะ?

รศ.นพ.วิสันต์ : ถ้าตั้งครรภ์ตามธรรมชาติปกติก็จะฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูก ทีนี้ถ้าเมื่อไหร่ตัวอ่อนที่ได้ไปฝังตัวนอกโพรงมดลูก เราก็ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งตำแหน่งที่ไปฝังก็อาจจะเป็นที่ท่อนำไข่ หรือปีกมดลูก นี้เป็นตำแหน่งที่เจอบ่อยที่สุด หรือบางทีอาจจะไปฝังที่ตัวรังไข่เลย หรือในบางครั้งอาจจะไปฝังตัวอยู่ในช่องท้อง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นความผิดปกติที่ไม่สามารถตั้งท้องต่อไปได้ แล้วก็จะทำให้มีอันตรายคือ จะมีการตกเลือดอยู่ในช่องท้อง ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ได้รับการผ่าตัดอย่างรีบด่วนนะฮะ

คุณสรวงมณฑ์ : อันนี้คือการท้องนอกมดลูกมีอยู่ 4 อย่างที่มีโอกาสจะไปท้องในบริเวณ ท่อนำไข่ ปีกมดลูก รังไข่ หรือว่าบริเวณช่องท้องที่คุณหมอบอก แล้วถ้า 4 อย่างนี้ถ้ามีโอกาสไปเกิดขึ้นนี่อันตรายมั๊ยคะ?

รศ.นพ.วิสันต์ : จัดว่าเป็นภาวะอันตรายอันนึง ซึ่งต้องรีบได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะว่าคนไข้จะมีความเสี่ยงที่จะมีการตกเลือดในช่องท้อง แล้วทำให้เกิดภาวะช็อก ถ้าเกิดรักษาช้าอาจจะถึงเสียชีวิตได้ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : สาเหตุล่ะคะ? สาเหตุที่ไปมีอาการท้องนอกมดลูกนี่เป็นเพราะอะไรคะคุณหมอ?

รศ.นพ.วิสันต์ : สาเหตุส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการมีพังผืด หรือว่ามีการทำงานที่ผิดปกติของท่อนำไข่ หรือว่าหลอดมดลูก คือปกติเวลาปฏิสนธิกัน ไข่กับสเปิร์มกับอสุจิจะปฏิสนธิกัน ในท่อนำไข่ตรงส่วนปลายของท่อนำไข่ แล้วพอเป็นตัวอ่อนแล้วตัวอ่อนจะค่อยๆ เคลื่อนที่โดยการ...คือตัวอ่อนไม่ได้มีขาเดินไปได้เองนะครับ แต่จะมีขนโบกของผนังตรงท่อนำไข่ เป็นตัวโบกแล้วค่อยๆ เคลื่อนที่เข้ามาฝังในโพรงมดลูก ทีนี้ถ้าเกิดมีอะไรที่ผิดปกติ ที่ทำให้การเคลื่อนที่ของตัวอ่อนในช่วงนั้นช้าไป หรือว่าไม่เคลื่อนที่มายังตำแหน่งโพรงมดลูก เค้าก็จะไปฝังในตำแหน่งที่ผิดปกตินะครับ เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่ก็จะไปเจอ ในรายที่เคยมีการอักเสบในอุ้งเชิงกรานมาก่อน เชื้อโรคที่อักเสบในอุ้งเชิงกรานก็จะไปทำลายการทำงานของท่อนำไข่ ทำให้การทำงานของขนโบกที่อยู่ตรงผนังท่อนำไข่เสียไป แล้วก็ทำให้เกิดตัวอ่อนไม่ยอมเคลื่อนที่ไปฝังในโพรงมดลูก ก็จะฝังอยู่ในตำแหน่งท่อนำไข่นะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : แสดงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดที่ตัวผู้หญิง ผู้ชายไม่ได้มีส่วนตรงส่วนนี้?

รศ.นพ.วิสันต์ : อันนี้เป็นความผิดปกติในร่างกายฝ่ายหญิงเองไม่เกี่ยวกับฝ่ายชาย

คุณสรวงมณฑ์ : ส่วนใหญ่จะเกิดกับตอนท้องไม่นานนี่ เราจะรู้อาการที่มันแสดงนำมายังไงคะ? มันจะมีอาการยังไงคะ?

รศ.นพ.วิสันต์ : ถ้ามีอาการแล้ว อาการปกติที่จะเจอก็คือมีอาการปวดท้อง มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด นี่เป็นอาการเด่นๆ

คุณสรวงมณฑ์ : คือปวดท้องเหมือนปวดท้องประจำเดือน?

รศ.นพ.วิสันต์ : ใช่ครับ คนไข้ก็อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ แล้วก็มีอาการปวดท้อง แล้วก็มีเลือดออกนะครับ ทางการแพทย์ถ้าเกิดเราเจอก่อนที่จะปัญหา จะทำให้การรักษาง่าย และก็บางครั้งไม่ต้องใช้วิธีผ่าตัด แต่จะเป็นการยากพอสมควรที่คนไข้จะสังเกตตัวเองได้ว่ามีผิดปกติ ฉะนั้นถ้าทางหมอรู้ว่าคนไข้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เคยมีประวัติท้องนอกมดลูกมาก่อน หรือว่ามีการอักเสบในอุ้งเชิงกรานมาก่อน ท่อนำไข่ไม่ดีเราทราบอยู่แล้วเบื้องต้นก่อน ถ้าคนไข้กลุ่มนี้ตั้งครรภ์ เราก็จำเป็นต้องได้รับการตรวจว่าอยู่ในโพรงมดลูกจริงรึเปล่า เพราะงั้นถ้าเราตรวจทราบว่าอยู่นอกโพรงมดลูก เราอาจจะรีบให้การรักษาตั้งแต่ต้นๆ ก็จะทำให้ผลการรักษาดีและอาจจะไม่ต้องใช้วิธีผ่าตัด ถ้าเรารู้ช้าจนถึงคนไข้มีปวดท้อง มีเลือดออกแล้วเนี่ย ส่วนใหญ่จะต้องใช้วิธีผ่าตัดรักษานะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ประเด็นคือส่วนใหญ่คนไข้จะไม่รู้รึเปล่าคะ? เพราะว่าถ้าสมมติว่ามีเลือดออกมาส่วนใหญ่ จะคิดว่ามันเป็นประจำเดือนรึเปล่าเพราะมันมีอาการปวดท้องด้วย?

รศ.นพ.วิสันต์ : คือจริงๆ มันมี 2 กรณี ถ้าคนไข้ทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ อันนั้นจะง่ายหน่อยเพราะพอมีเลือดออกปุ๊บ คนไข้ก็จะกลัว ก็จะเข้ามาปรึกษาหมอ แต่จะมีอีกบางกรณีที่อาจจะเป็นคนไข้ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะตั้งครรภ์จริงๆ และก็ลืมนับประจำเดือนตัวเองไป ประจำเดือนขาดไปนิดหน่อยแล้วไม่ได้คิดว่าตัวเองตั้งครรภ์ อันนี้อาจจะไม่ทราบแต่หลักๆ ก็คือคนไข้มักจะมีอาการปวดท้องร่วมด้วย เพราะงั้นถ้ามีปวดท้องมีเลือดออกผิดปกติ อันนี้ก็ต้องเข้ามาพบ มาตรวจให้รู้เรื่องครับ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วก็หลังจากที่ไปตรวจเรียบร้อยแล้ว คุณหมอวินิจฉัยแล้ว วิธีการคือการผ่าตัดออกอย่างเดียวเลย?

รศ.นพ.วิสันต์ : วิธีการรักษา จริงๆ เค้าแบ่งเป็น 3 อย่างใหญ่ๆ นะครับ อันแรกก็คือแค่ตามดู ว่าไม่มีอาการอะไรอันตรายแล้วปล่อยให้มันหายไปเอง

คุณสรวงมณฑ์ : ได้ด้วย?

รศ.นพ.วิสันต์ : แต่วิธีการนี้จะใช้ได้ เฉพาะกรณีที่มันเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก ที่ขนาดของการตั้งครรภ์นอกมดลูกยังไม่ใหญ่มาก และก็ผลฮอร์โมนที่ขึ้นยังไม่สูงมาก ไม่มีภาวะตกเลือดในช่องท้อง จะเป็นวิธีที่ส่วนใหญ่เราไม่ได้ใช้กันนะครับ เพราะกรณีอย่างนั้นมันเจอน้อย

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

รศ.นพ.วิสันต์ : ส่วนวิธีที่ 2 ก็คือการให้ยา เราจะมีการให้ยาบางอย่างไปทำลายการตั้งครรภ์นอกมดลูก ให้เค้าฝ่อไปโดยที่ไม่ต้องผ่าตัด แต่นี่ก็มีข้อแม้ว่าคนไข้ต้องไม่อยู่ในภาวะตกเลือด ณ ตอนนั้น และก็อายุครรภ์ยังไม่มาก ไม่เกิน 6 สัปดาห์นะครับถึงจะทำวิธีนี้ได้

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

รศ.นพ.วิสันต์ : กับวิธีที่ 3 วิธีสุดท้ายคือการผ่าตัด

คุณสรวงมณฑ์ : ส่วนใหญ่ที่ผ่านมามีคนไข้ที่ไปพบด้วยอาการแบบนี้เยอะมั๊ยคะในบ้านเรา?

รศ.นพ.วิสันต์ : จริงๆ ท้องนอกมดลูกเป็นภาวะฉุกเฉินทางสูติศาสตร์ที่จัดว่าพบได้ค่อนข้างบ่อย คือในโรงพยาบาลใหญ่ๆ อย่างเช่นอย่างที่ผมทำงานอยู่ โรงพยาบาลจุฬาเนี่ย เราก็เจอกันเรียกว่าแทบจะทุกวัน ก็เจอได้บ่อยแต่ทีนี้อุบัติการณ์เนี่ยในหลักหลายร้อย หรือในพันราย จะเจอสัก 1 รายที่จะตั้งครรภ์นอกมดลูก ทีนี้วิธีรักษา ถ้ารักษาโดยการผ่าตัดก็ทำได้ 2 วิธีใหญ่ๆ ถ้าในที่ๆ มีความชำนาญ มีเครื่องมือพร้อมอาจจะทำผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งอันนั้นก็จะทำให้คนไข้ฟื้นตัวเร็ว เจ็บแผลไม่มาก กับอีกวิธีนึงคือผ่าตัดเปิดหน้าท้องเหมือนวิธีปกติทั่วๆ ไปนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : อาการแบบไหนคะ ที่คุณหมอคิดว่าเป็นอาการที่น่ากังวล เมื่อมาถึงแพทย์แล้วน่ะค่ะ?

รศ.นพ.วิสันต์ : อาการที่น่ากังวลก็คือชีพจร ความดัน ถ้าเกิดผิดปกติมีอาการแสดงว่าคนไข้อยู่ในภาวะช็อก ก็คือความดันต่ำมาก ชีพจรเร็ว คนไข้มีภาวะซีดจากการเสียเลือดในช่องท้อง อันนี้เป็นภาวะที่เร่งด่วนคือ ถ้าเราดูแลรักษาไม่ทันท่วงทีคนไข้จะถึงเสียชีวิตได้ ก็จะตกเลือดอยู่ในท้องนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วอย่างนี้ถ้าตั้งท้องในคราวต่อไป มันมีภาวะความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหนคะ?

รศ.นพ.วิสันต์ : คนที่เคยตั้งครรภ์นอกมดลูกครั้งนึงเนี่ย โอกาสที่จะเป็นซ้ำจะมีเยอะกว่าคนทั่วไป เพราะแสดงว่าต้องมีบางอย่างในร่างกายเค้าไม่ปกติ ถ้าคนไข้คนนั้นยังไม่ได้รับการแก้ไขสิ่งที่ผิดปกติตรงนั้น โอกาสจะเกิดซ้ำก็อาจจะถึงประมาณ 5-10% ในท้องต่อไปครับ

คุณสรวงมณฑ์ : นั่นหมายความว่าสามารถที่จะป้องกันแก้ไขได้ ทำยังไงคะคุณหมอ?

รศ.นพ.วิสันต์ : ก็ต้องขึ้นอยู่กับสาเหตุ คือจริงๆ สาเหตุหลักก็คือเรื่องการอักเสบในอุ้งเชิงกรานแล้วเกิดพังผืด เพราะงั้นถ้าเราสามารถผ่าตัดเลาะพังผืดออกไปได้อาจจะดีขึ้น บางสาเหตุอาจจะเป็นเพราะได้รับยาบางอย่าง เช่น เป็นยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน ยาพวกนี้จะไปมีส่วนทำให้การเคลื่อนไหวของขนโบกที่ตรงท่อนำไข่ช้าลง และก็ทำให้ตัวอ่อนเคลื่อนที่ช้าลง ในที่สุดเค้าก็มาฝังที่ท่อนำไข่ งั้นเราก็ต้องเปลี่ยนวิธีคือไม่ต้องใช้ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน แทนที่จะคุมแบบฉุกเฉินก็ต้องคุมแบบปกติทั่วไป เช่น กินยาคุมตามปกติ ถ้าเกิดเรากำจัดสาเหตุตรงนั้นได้ก็จะหายไป แต่บางครั้งมันเป็นความผิดปกติที่เราแก้ไม่ได้ เช่น ถ้าเกิดขนโบกที่ท่อนำไข่มันเสียไป ทำงานไม่ดีอันนี้เราแก้ไขไม่ได้ งั้นในการท้องคราวหน้าคนไข้จะมีความเสี่ยง ก็ขึ้นอยู่กับว่าถ้าเราดูว่าท่อนำไข่อีกข้างนึงมันดี บางทีหมอผ่าตัดก็จะพิจารณาตัดท่อนำไข่ข้างที่ไม่ดีนี่ทิ้งไปเลย เพื่อรักษาโรคและก็เพื่อแก้ไขไม่ให้มันเป็นซ้ำด้วย แต่เค้าก็จะสูญเสียความสามารถในการตั้งครรภ์ไป เนื่องจากเหลือท่อนำไข่แค่ข้างเดียว อันนั้นก็คือมีข้อดีข้อเสีย

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วมันมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับวัยของผู้หญิงด้วยมั๊ยคะ?

รศ.นพ.วิสันต์ : จริงๆ วัยไม่น่าเกี่ยวฮะ เกี่ยวกับการทำงานของท่อนำไข่มากกว่า

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วเรื่องของกรรมพันธุ์นี่มันมีโอกาสมั๊ยคะ?

รศ.นพ.วิสันต์ : ไม่เกี่ยวฮะ

คุณสรวงมณฑ์ : ไม่เกี่ยวด้วย คือเป็นอยู่ที่ตัวของผู้ป่วยเป็นหลัก

รศ.นพ.วิสันต์ : ใช่ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : อยากให้คุณหมอเล่าว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน ณ ตอนนี้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องภาวะของการตั้งครรภ์นอกมดลูก ที่อยากจะให้คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจว่ามันเป็นยังไง? ส่วนใหญ่คนฟังนี่จะเป็นพ่อแม่มือใหม่เลยค่ะคุณหมอ แล้วเรื่องอะไรที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษค่ะ

รศ.นพ.วิสันต์ : หลักการคือต้องพยายามรู้แต่เนิ่นๆ อย่าทิ้งไว้ให้เป็นเยอะ งั้นวิธีที่เราจะสังเกตความผิดปกติก็คือประจำเดือนของเรานี่เองแหละ ถ้าเกิดมันผิดปกติไป เช่น ประจำเดือนขาดไปสัก 1-2 อาทิตย์แล้วกลับมามีประจำเดือนกะปริดกะปรอยร่วมกับอาการปวดท้อง อันนี้จะต้องเข้ามาตรวจ แต่มันมีหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะอย่างนี้นะครับ ไม่ได้เป็นท้องนอกมดลูกอย่างเดียว แต่ถ้ามาตรวจ คุณหมอสูติ-นรีแพทย์ตรวจอย่างละเอียดแล้วสรุปว่าไม่ใช่ เราก็จะได้ไม่มีปัญหานะครับ ถ้าเราตรวจรู้ว่าใช่เราก็จะได้มีทางเลือกว่าเราจะรักษาด้วยวิธีใด อาจจะรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัดก็ได้ เช่น การฉีดยาบางอย่างให้ฝ่อไป อย่างนี้เราก็จะไม่เจ็บตัวมาก เราก็ไม่ต้องไปเสี่ยงต่อภาวะช็อก ภาวะเสียเลือดนะครับ แต่ถ้าเราวินิจฉัยได้ช้า เช่น บางคนอาการมากขึ้น ปวดท้องมากขึ้น มาตรวจแล้วมีการตกเลือดในช่องท้อง อันนี้ก็อาจจะต้องถูกผ่าตัดนะครับ งั้นถ้าหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ไม่ได้คุมกำเนิดและก็มีเพศสัมพันธ์ เวลาประจำเดือนเราผิดปกติมีอาการปวดท้อง อันนี้จะต้องนึกถึงภาวะนี้ไว้เสมอนะครับ เราต้องมาตรวจ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

รศ.นพ.วิสันต์ : ถ้าเกิดเป็นระยะเริ่มแรก บางครั้งคุณหมอ หรือแม้แต่ผู้ที่ชำนาญก็อาจจะตรวจวินิจฉัยการท้องนอกมดลูกได้ยาก บางทีอาจจะต้องใช้วิธีตรวจติดตาม เพราะฉะนั้นบางทีถ้าเราไปเจอคุณหมอแล้ว เค้าตรวจแล้วคิดว่าไม่ใช่ แต่ถ้าอาการเรายังไม่ดีขึ้น ยังปวดท้อง ยังมีเลือดออก อาจจะต้องกลับมาตรวจใหม่ เพราะบางทีอาการไม่ชัดเจอจะตรวจยากพอสมควร ต้องใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการหลายอย่างประกอบกัน แต่ในรายที่มีอาการชัดเจน มีตกเลือดในท้อง ส่วนใหญ่คุณหมอสูติ-นรีแพทย์จะวินิจฉัยได้ไม่ผิด แต่ในรายที่เป็น ในระยะเริ่มแรกไม่มีอาการตกเลือดในท้อง จะวินิจฉัยได้ยากพอสมควร แล้วถ้ากลุ่มคนไข้คนไหนที่เราซักประวัติได้แล้วว่ามีความเสี่ยงชัดเจน เช่น มีประวัติเคยท้องนอกมดลูกมาก่อน เคยผ่าตัดตัดต่อท่อนำไข่ เช่น คนที่เคยผ่านการแก้หมัน ทำหมันไปแล้วมาขอแก้หมันเนี่ย กลุ่มนี้ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงกลุ่มนึง เคสพวกนี้พอเราตรวจรู้ว่าตั้งครรภ์ เราจะต้องตรวจให้ละเอียดเลยว่าเป็นตั้งครรภ์อยู่ในโพรงมดลูกรึเปล่า

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ มีอยู่ประเด็นนึงที่คุณหมอบอกว่าผ่าตัดมีอยู่ 2 วิธีคือผ่านกล้องกับเปิดหน้าท้อง คุณหมอจะมีการวินิจฉัยแตกต่างกันยังไงถึงจะเลือกวิธีคะ?

รศ.นพ.วิสันต์ : จริงๆ อันนี้อยู่ที่ความชำนาญของคุณหมอที่ทำมากกว่า แล้วก็ความพร้อมของห้องผ่าตัดที่โรงพยาบาลนั้นๆ นะครับ แต่มันก็จะมีข้อห้ามคือผ่าตัดทางกล้องเนี่ย ข้อเสียคือมันจะทำได้ช้ากว่า งั้นในกรณีที่คนไข้อยู่ในภาวะช็อก อันนี้อาจจะต้องเลือกเปิดหน้าท้องตามวิธีปกติ แต่ถ้าคนไข้ยังไม่อยู่ในภาวะช็อก ถ้าเกิดในที่ๆ มีความพร้อม บุคลากรมีความชำนาญในการทำผ่าตัดทางกล้อง ก็สามารถทำได้ไม่แตกต่างกับการผ่าตัดเปิดหน้าท้องนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วก็หลังจากที่ผ่าตัดแล้วคนไข้จะดูแลตัวเองยังไงคะ?

รศ.นพ.วิสันต์ : ถ้าผ่าตัดผ่านกล้อง การฟื้นตัวก็จะเร็วคืออาจจะนอนโรงพยาบาล 1-2 วันก็น่าจะกลับบ้านได้ ก็จะเจ็บแผลอยู่สัก 1-2 อาทิตย์ก็น่าจะกลับไปทำงานได้ปกติ แต่ถ้าผ่าตัดเปิดหน้าท้องก็อาจจะหลายวันหน่อย อาจจะเป็นเดือนกว่าจะทำงานได้ตามปกติ แต่คงอยู่โรงพยาบาลนานกว่าผ่าตัดกล้องสัก 2-3 วัน

คุณสรวงมณฑ์ : เพราะว่าผ่าตัดเปิดหน้าท้องนี่มันคล้ายๆ ทำคลอดเลยมั๊ยคะ?

รศ.นพ.วิสันต์ : ใช่ ก็จะต้องลงแผลผ่าตัดในลักษณะคล้ายๆ กับผ่าท้องคลอด ใช่ครับ ทีนี้มันก็ขึ้นอยู่กับถ้าคนไข้เสียเลือดเยอะ อยู่ในภาวะช็อก บางทีก็ใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวแต่ถ้าเราวินิจฉัยได้เร็ว ทำผ่าตัดได้เร็ว ก็อาจจะฟื้นตัวเร็วขึ้น

คุณสรวงมณฑ์ : มีประเด็นไหนที่คุณหมออยากจะบอกคุณผู้ฟังมั๊ยคะ? ที่ดิฉันตกหล่นอะไรอยากจะฝากคุณผู้ฟังมั๊ยคะ?

รศ.นพ.วิสันต์ : ประเด็นที่ 1 ก็คือการสังเกตตัวเองพื่อจะให้เรารู้แต่เนิ่นๆ เมื่อกี้ที่เน้นไปแล้ว ถ้าเมื่อไหร่ประจำเดือนเราผิดปกติ ร่วมกับมีอาการปวดท้อง อันนี้ควรจะต้องรีบเข้ามาพบสูติ-นรีแพทย์จะได้ตรวจให้แน่ใจว่าเป็นภาวะอะไร ท้องนอกมดลูกก็เป็นหนึ่งในสาเหตุพวกนี้นะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ

รศ.นพ.วิสันต์ : อันที่ 2 ก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาท้องนอกมดลูกในอนาคต ก็คือการป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบในอุ้งเชิงกราน ทีนี้ก็จะไปพูดถึงสังคมส่วนรวมนะครับ เพราะเดี๋ยวนี้วัยรุ่นมีเซ็กซ์โดยไม่ป้องกันกันเยอะขึ้น และก็เนื่องจากมีการเปลี่ยนคู่นอนกันบ่อย ก็อาจจะมีการติดต่อทางโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทางโรคติดเชื้อประเภทต่างๆ แล้วก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดการอักเสบในอุ้งเชิงกราน อันนี้ก็จะเป็นสาเหตุทำให้ในอนาคต มีโอกาสเป็นท้องนอกมดลูกได้มากขึ้น ถ้าจะมีเซ็กซ์ ก็อาจจะต้องมีการป้องกัน โดยเฉพาะในคู่นอนที่เราไม่ทราบ ไม่ได้เป็นสามีโดยตรง อาจจะต้องมีการใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน อันนี้ก็จะป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ได้ ก็จะช่วยป้องกันได้อีกทางนึงนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ดิฉันขออนุญาตเล่าเรื่องของคุณผู้ฟังนะคะที่ส่งเข้ามาให้ฟัง คุณเสกที่ภรรยามีอาการท้องนอกมดลูกนะคะบอกว่า เริ่มต้นภรรยาเค้าจะมีอาการปวดท้องมาก แล้วก็มีอาการหน้ามืดด้วย เค้าไม่ทราบว่าท้องนะคะและเข้าใจว่าตัวภรรยาก็ไม่น่าทราบนะคะ ตอนแรกก็ช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นแต่ปรากฏว่าไม่ดีขึ้น ก็ไปพบหมอนะคะ ตอนนั้นหน้าซีดมากแล้วคุณหมอเห็นก็เลยพาเข้าห้องฉุกเฉิน วัดความดันตัวล่างอยู่ที่ 40 คุณหมอก็มีการให้น้ำเกลือ ความดันก็ไม่ขึ้น ลักษณะอาการเหล่านี้ทางการแพทย์ต้องดำเนินการยังไงต่อคะ?

รศ.นพ.วิสันต์ : ลักษณะอย่างนี้ก็แสดงว่าคนไข้อยู่ในภาวะช็อกอยู่นะครับ ก็ต้องรีบตรวจว่าสาเหตุเป็นจากอะไร ธรรมดาทั่วๆ ไปที่เราปฏิบัติกันทางการแพทย์ก็คือ ต้องดูว่าคนไข้ช็อกเพราะการเสียเลือด หรือเป็นเพราะสาเหตุทางหัวใจ หรือเป็นเพราะติดเชื้อ ถ้าคนไข้มีหน้าซีดแบบนั้น ก็น่าจะสงสัยว่าช็อกจากการเสียเลือด ก็ต้องไปหาสาเหตุว่ามันเสียเลือดที่ตำแหน่งไหน ทีนี้ท้องนอกมดลูกก็เป็นสาเหตุนึงที่เจอบ่อย ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่จะมาด้วยเรื่องช็อกจากการเสียเลือด เราก็ต้องตรวจร่างกายอย่างละเอียด แล้วก็ซักประวัติว่ามีการเสียเลือดที่ตำแหน่งอื่นรึเปล่า เช่น ถ่ายเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด ถ้าไม่เจอชัดเจนก็ต้องตรวจร่างกายดู ถ้าเป็นท้องนอกมดลูก เราก็อาจจะเจอว่าท้องคนไข้อืดขึ้น มีอาการกดเจ็บในท้อง ถ้ามีภาวะอาการสนับสนุนอย่างนั้น เราก็อาจจะต้องรีบผ่าตัดฉุกเฉินทันทีนะครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ เอาล่ะค่ะวันนี้ต้องขอบคุณคุณหมอมากนะคะมาให้ความรู้กับเราในวันนี้นะคะ

รศ.นพ.วิสันต์ : ครับ

คุณสรวงมณฑ์ : ขอบพระคุณค่ะ

รศ.นพ.วิสันต์ : ครับ สวัสดีครับ

ความคิดเห็น