บทสัมภาษณ์ : ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ สมประสิทธิ์ เรื่อง “ภาวะซึมเศร้าในแม่หลังคลอด”

บทสัมภาษณ์ : ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ สมประสิทธิ์ เรื่อง “ภาวะซึมเศร้าในแม่หลังคลอด”

รายการ “พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” FM 105

ถอดคำสัมภาษณ์ ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ สมประสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้ดำเนินรายการ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เรื่องเกี่ยวกับ “ภาวะซึมเศร้าในแม่หลังคลอด”



คุณสรวงมณฑ์ : ภาวะซึมเศร้าจะมีอาการอย่างไรคะ?

ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : จริงๆ แล้วตัวของมันก็คงบอกความหมายของมันด้วยนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : มันจะซึมๆ


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : ใช่ค่ะ แต่ว่าจริงๆ แล้วภาวะซึมเศร้ามีหลายระดับ หรือที่เค้าเรียกว่ากลุ่มโรคทางจิตใจหลังคลอด มันจะมีหลายระดับด้วยกันน่ะค่ะ

ถ้าระดับที่น้อยหน่อยก็คงจะเป็นเรื่องของซึมเศร้า นอนไม่หลับ รู้สึกอ่อนเพลีย วิตกกังวล ไม่ค่อยมีสมาธิ เป็นต้น ถ้าภาษาอังกฤษเรียกว่า Postpartum Blue ก็คือเป็นน้อยหน่อย

อีกระดับหนึ่งก็จะรุนแรงขึ้นมา จะซึมเศร้าถึงขนาดร้องไห้เลย เบื่อหน่าย ไม่อยากเลี้ยงลูก รู้สึกผิด รู้สึกไม่มั่นใจ รู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีค่า ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ เบื่ออาหาร บางคนอาจจะคิดไปถึงการฆ่าตัวตายได้ อันนี้จะแรงขึ้นมานิดหนึ่ง เค้าเรียกว่า Postpartum Depression

ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งรุนแรงที่สุดเลย ก็จะเป็นกลุ่มที่มีเรื่องของซึมเศร้าและเรื่องของการหลงผิด เช่น เอ๊ะ ลูกเราเสียชีวิตแล้วหรือเปล่า หรือว่ามีใครจะมาเอาลูกเราไป เป็นลักษณะหลอนน่ะค่ะ เรียกง่ายๆ ว่าหลอน เค้าเรียกว่า Postpartum Psychosis ก็มี 3 ระดับด้วยกันค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ส่วนใหญ่ในสังคมไทยพบระดับไหนคะ?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : ส่วนใหญ่ของสังคมไทยมักจะอยู่แค่ Postpartum Blue ก็คือเป็นระดับน้อย แต่จริงๆ ของสังคมไทยไม่ค่อยได้รับการวินิจฉัยค่ะ เพราะว่าคนไทยส่วนหนึ่ง คิดว่ามันเป็นภาวะที่พบปกติในแม่มือใหม่ เราต้องอดทนกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เค้าคงคิดว่าเป็นภาวะปกติน่ะค่ะก็เลยไม่ได้วินิจฉัยว่าเป็นระดับไหน

คุณสรวงมณฑ์ : แต่ว่าบางคนอาจจะคิดว่าเป็นอะไรหรือเปล่า ถ้าขาดความเข้าใจในเรื่องของภาวะซึมเศร้า อย่างที่คุณหมอบอกนี่นะคะ กลัว กังวล นี่คิดมากเกินไปหรือเปล่า เดี๋ยวเลี้ยงลูกไม่ดี อุ๊ย ลูกในท้องเสียชีวิตแล้ว อะไรทำนองนี้ แสดงว่ามันมีปัญหาในเรื่องของสภาพจิต มันเกี่ยวข้องกับเรื่องของฮอร์โมนในร่างกายหรือเปล่าคะคุณหมอ


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : มันเกี่ยวข้องโดยตรงเลยล่ะค่ะ จริงๆ แล้วสาเหตุที่เค้าพยายามหากัน เค้าก็พยายามอธิบายว่ามันเกิดจากอะไร สำหรับเรื่องของ Postpartum Blue เค้าก็พยายามอธิบายว่า มันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอย่างเฉียบพลัน หลังคลอด เพราะว่ามันจะพบได้เด่นในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอดโดยเฉพาะ 2-3 วันหลังคลอด ตรงนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนที่เฉียบพลันแล้วก็เกิดขึ้น แต่ส่วนในเรื่องของ Postpartum Depression หรือ Postpartum Psychosis ที่รุนแรงขึ้น อันนั้นอาจจะเป็นกลุ่มที่คนไข้เคยมีประวัติซึมเศร้ามาก่อน หรือว่ามีประวัติช็อกมาก่อนแล้วมาแสดงอาการตอนหลังคลอด

คุณสรวงมณฑ์ : คือหมายความว่าตัวเองเคยเป็นมาก่อนอยู่แล้วตั้งแต่ตอนยังไม่ได้ตั้งท้อง?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : อันนั้นในกลุ่มที่รุนแรงน่ะนะคะ เค้าก็บอกว่ามักจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงมากกว่า ไม่เหมือนกับ Postpartum Blue ที่ไม่มีความเสี่ยงอะไรก็เกิดขึ้นได้

คุณสรวงมณฑ์ : มันถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ไหมคะคุณหมอ?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : ถ้ากลุ่มที่เป็น Postpartum Psychosis เค้าบอกว่ามันไม่เชิงถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ถ้าทางการแพทย์เค้าก็เรียกว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ถ้ามีญาติที่มีประวัติเป็น ตัวเองก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : อันนี้คือฮอร์โมนในร่างกายด้วยในเรื่องของสภาพจิตใจ ทีนี้มันก็มีอีกอันหนึ่งที่มักจะมาคู่กันอยู่เสมอคือ อารมณ์แปรปรวน ช่วงตั้งท้องทำไมถึงได้เกิดอารมณ์แปรปรวน เดี๋ยวเมื่อกี้ยังยิ้มอยู่ สักพักหนึ่งเปลี่ยนเป็นร้องไห้ละ มันเกิดอะไรขึ้นคะ?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : จริงๆ มันก็คือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเหมือนกันน่ะค่ะ คือเวลาที่เราตั้งครรภ์ มันมีฮอร์โมนหลายตัวในร่างกายที่เปลี่ยนแปลงเยอะมาก หมอคงไม่ลงไปพูดในรายละเอียดของมัน แต่มันจะเปลี่ยนแปลงเยอะมาก จนทำให้บางอย่างนี่มันไปเกิดอาการทางจิตใจทางสมองได้ แต่ว่าทางสมองนี่มันก็ออกมาทางจิตใจให้เราเห็นว่า อยู่ดีๆ ดูทีวี ดูหนังอยู่ ก็รู้สึกโศกนาฏกรรมคือร้องไห้ไม่ทราบสาเหตุ เป็นต้น และมันก็อธิบายว่า มันเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับของฮอร์โมนเพศในร่างกายเรานี่แหละค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ระหว่างการตั้งครรภ์มีโอกาสเป็นไหมคะ?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : จริงๆ เค้าบอกว่า บางคนก็มักจะมีอาการระหว่างช่วงตั้งครรภ์ แต่ก็คิดว่ามันเป็นปกติเหมือนกัน แล้วก็ไม่ได้สนใจเหมือนกัน แล้วก็แสดงอาการชัดๆ คือหลังคลอด

คุณสรวงมณฑ์ : หลังคลอดนี่ประมาณสักกี่เดือนคะ?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : มันจะมีช่วงเวลาอย่างเช่น ถ้าเป็น Postpartum Blue ที่พบประมาณ 80% ได้โดยที่มีได้วินิจฉัยนะคะ เราจะพบในช่วง 2-3 วันหลังคลอดแล้วก็ไม่เกิน 2 อาทิตย์

แต่ถ้าเป็น Postpartum Depression หรือว่า Postpartum Psychosis ได้เกิน 2 อาทิตย์ไปแล้วถึงจะปรากฏอาการขึ้น แล้วก็อยู่ได้เป็นเดือนหรือว่าถ้าไม่ได้รับการรักษาก็อยู่เป็นปี หรือว่าสามารถกลายเป็นโรคทางจิตที่รุนแรงได้

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วสมมติว่าเกิดกรณีขึ้นมา เอาแบบว่าอย่างน้อยก่อนนะคะคุณหมอ จะแก้ปัญหานี่ยังไงคะ?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : ถ้าอย่างน้อยนี่ ถ้าคุณแม่มีความรู้ตรงนี้อยู่บ้าง รู้ว่ามันเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นกับตัวเรา คนรอบข้างต้องเป็นคนช่วย ก็คือว่าพอเราเกิดอาการนี้ขึ้น เราต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะสามี หรือครอบครัวต้องให้กำลังใจ แล้วทุกคนต้องไม่ให้ความสำคัญกับลูกจนลืมแม่ ต้องให้ความสำคัญกับแม่ด้วยแล้วก็กับลูกด้วย แล้วบางครั้งก็อาจจะต้องเข้ามาสนับสนุนว่าแม่ทำได้นะ แม่เก่ง แม่สามารถเลี้ยงลูกได้ค่ะ ให้ความมั่นใจ เพราะว่ากลุ่มนี้พอเค้าซึมเศร้า แล้วเค้าจะรู้สึกว่าไม่มั่นใจในการเลี้ยงลูก วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ แล้วก็ต้องคอยดูนิดหนึ่งว่า ไม่ปล่อยให้เค้าอยู่กับลูกนานเกินไป หรือว่าอยู่คนเดียว เพราะว่าบางครั้ง ช่วงแรกเราอาจจะยังแยกไม่ได้ว่าเค้าเป็น Postpartum Blue หรือเป็น Postpartum Depression ถ้าเป็น Depression นี่มันจะรุนแรงกว่า บางครั้งอาจจะถึงขั้นไม่มีความสามารถในการที่จะเลี้ยงลูกได้ อาจจะฆ่าลูกอะไรอย่างนี้ค่ะ จะต้องคอยช่วยเหลือ แต่ว่าในกลุ่มแรก ยายังไม่ค่อยมีบทบาทเท่าไหร่ มักจะให้เป็นกำลังใจมากกว่าค่ะ แต่ถ้ายังไม่ค่อยดีขึ้น เค้าก็อาจจะพิจารณาว่าอาจจำเป็นต้องใช้ยา เช่น ยานอนหลับเข้าช่วย เพราะว่ากลุ่มนี้บางที ยิ่งแม่นอนไม่หลับก็ยิ่งจะกระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้นค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ภาวะเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของแม่ท้องในบ้านเราคะคุณหมอ?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : ในบ้านเรา อย่างที่บอกคือ บอกเปอร์เซ็นต์ยาก เพราะว่าไม่ค่อยมีรายงานแต่ถ้าในเมืองนอกนี่เค้าพูดถึงประมาณ 40-80% เลยนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : โอ้


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : แต่ในบ้านเราอย่างที่บอก คนไทยจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ ที่จะเกิดความเปลี่ยนแปลงกับชีวิตในคนหลังคลอด เค้าก็คิดว่ามันเป็นปกติน่ะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ก็ไปใช้ชีวิตตามปกติ


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : ใช่ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ถ้ามันเป็นอย่างน้อยนะคะ แล้วถ้าเราปล่อยไปมันจะนำไปสู่อะไรคะคุณหมอ?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : ก็เรียกว่า Postpartum Depression ก็คือเป็นภาวะจิตใจที่รุนแรงขึ้นอีกนิดหนึ่ง คืออาจจะเริ่มมีเรื่องของการซึมเศร้าอย่างรุนแรง เลี้ยงลูกไม่ได้ นอนไม่หลับเลย แล้วบางคนถึงขั้นฆ่าตัวตายก็มี

คุณสรวงมณฑ์ : แสดงว่าในระดับที่รุนแรงขึ้นมาในระดับที่ 2 นี่ต้องใช้ยาช่วยแล้ว?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : ใช่ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ก็กำลังใจ + ยา แล้วขั้นรุนแรงที่สุดล่ะคะ?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : ก็เป็น Postpartum Psychosis เลย อันนี้มีเรื่องของหลอน มีอารมณ์หลอนเข้ามา หูแว่ว หลงผิด เริ่มมีความคิดแปลกๆ อันนั้นต้องใช้ยา และต้องเข้ามารักษาในโรงพยาบาล เพราะว่าต้องแยกลูกออกไปเลยค่ะ เพราะว่าเราเริ่มไม่มั่นใจว่าเค้าจะดูแลลูกได้น่ะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : คือต้องเป็นเรื่องเป็นราวเลย


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : ใช่ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : สามารถรักษาหายขาดไหมคะ?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : โดยทั่วไป กลุ่มนี้ 70% หายขาดนะคะ 70% จะดีขึ้นภายใน 2-3 เดือนที่เราได้รับการรักษาด้วยยาค่ะ หายขาดค่ะ แต่ว่าถ้าในกลุ่มที่รุนแรงที่สุดที่เมื่อกี้บอกว่า Postpartum Psychosis กลุ่มนั้นมีความเสี่ยงของประวัติครอบครัวอยู่ และบังเอิญการตั้งครรภ์แค่เป็นตัวกระตุ้น กลุ่มนั้นจะรักษาโดยใช้เวลานานกว่าและก็อาจจะหายขาดได้น้อยลงค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ต้องขอคำแนะนำจากคุณหมอแล้วล่ะค่ะ ว่าคุณพ่อเอง หรือคนในบ้านเอง ควรจะดูแลภรรยา หรือว่าคุณแม่เพิ่งคลอดยังไง เมื่อประสบปัญหานี้นะคะ คนรอบข้างจะทำอะไรได้บ้างคะ?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : คงเป็นเหมือนที่เมื่อกี้คุยให้ฟังนะคะ คือคนไข้ต้องการการสนับสนุนจากคนรอบข้าง แล้วก็ให้ความสำคัญทั้งกับแม่และกับลูก แล้วก็ไม่ปล่อยให้อยู่คนเดียว เน้นเรื่องของจิตใจมากที่สุดเลย เช่น แม่บางคนเกิดภาวะนี้ขึ้นมา เนื่องจากรู้สึกว่าหลังการคลอดแล้วไม่มีน้ำนมให้ลูก แล้วเลยขาดความมั่นใจ แล้วก็รู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ คือคงจะต้องพยายามหาว่าอะไรที่เป็นสาเหตุ แล้วก็ต้องคนรอบข้างให้ความช่วยเหลือสนับสนุน ก็ให้เค้าได้พักผ่อนให้เต็มที่ แล้วก็ต้องเข้าใจ ทั้งการเปลี่ยนแปลงของแม่ และอารมณ์ของเค้าด้วยว่าเค้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้อยู่นะ ไม่ว่าจะเกิด Blue หรือไม่ Blue ยังไงคนรอบข้างก็เป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยกัน support คุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรน่ะค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : เรียกว่ากำลังใจนี่แหละสำคัญที่สุด


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : นอกจากเรื่องฮอร์โมนแล้ว อาหารมีส่วนเกี่ยวข้องมั๊ยคะว่าควรจะต้องรับประทานอาหารแบบไหน งด/ห้ามอะไร?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : จริงๆ ก็ไม่มีใครพูดถึงเรื่องอาหารเป็นหลักนะคะแต่ว่าคงเป็นลักษณะทั่วๆ ไป เช่น คนไข้กลุ่มนี้เค้ามักจะนอนไม่หลับอยู่แล้ว ก็คงจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารพวกชา กาแฟ เป็นต้น แต่ว่าไม่มีเน้นโดยเฉพาะว่าให้หลีกเลี่ยงอาหารประเภทไหน

คุณสรวงมณฑ์ : ท้ายสุดเลย คุณหมออยากจะฝากอะไรถึงคุณผู้ฟังบ้างคะ?


ผศ.พญ.จรินทร์ทิพย์ : ก็คงอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วค่ะ คุณแม่มือใหม่และก็ทั้งครอบครัวที่ได้สมาชิกใหม่ ทุกคนก็คงดีใจที่ได้สมาชิกใหม่ อย่างน้อยคือต้องเตรียมตัวให้พร้อม กับทั้งภาวะร่างกายและจิตใจ ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วก็ความสำคัญก็คือต้องให้ความสำคัญกับทั้งตัวแม่และลูกเท่าๆ กัน

ความคิดเห็น