บทสัมภาษณ์ : พญ.กนกอร ลีเพชรรัตน์ เรื่อง “การฝึกวินัยการกินให้กับลูก”

 

บทสัมภาษณ์ :  พญ.กนกอร ลีเพชรรัตน์ เรื่อง “การฝึกวินัยการกินให้กับลูก”

รายการ “พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” FM 105

ถอดคำสัมภาษณ์ พญ.กนกอร ลีเพชรรัตน์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช

ผู้ดำเนินรายการ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com

วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เรื่องเกี่ยวกับ “การฝึกวินัยการกินให้กับลูก”



คุณสรวงมณฑ์ : เด็กเล็กมีพัฒนาการในด้านการกินเป็นอย่างไร?

พญ.กนกอร : โดยทั่วไปในช่วง 6 เดือนแรกจะทานนมแม่อย่างเดียวถ้าเป็นไปได้ สามารถทานนมแม่เต็มที่ได้จนถึงอายุ 6 เดือนถึงค่อยเริ่มอาหารเสริม ไม่จำเป็นต้องรีบ พอหลัง 6 เดือนไปก็อาจจะเริ่มอาหารเสริมที่ย่อยง่ายก่อน เช่น ข้าวบดละเอียด พออายุ 8 เดือน ลักษณะอาหารก็ควรจะหยาบขึ้น ไม่ถึงขนาดบดละเอียดแต่ก็มีลักษณะเละๆ พออายุมากขึ้น 9 เดือน 11 เดือนก็อาจจะเป็นอาหารที่คล้ายๆ กับของผู้ใหญ่แต่ว่ามีลักษณะนิ่ม เคี้ยวง่าย

เวลาเริ่มให้อาหารเสริมควรเริ่มทีละอย่าง ไม่ควรให้หลายๆ อย่างพร้อมกัน เพราะว่าเวลามีอาการแพ้เกิดขึ้น เราไม่ทราบว่าเป็นจากตัวไหน ปกติก็จะเริ่มทีละอย่างแล้วก็สังเกตดูอาการประมาณ 1-2 อาทิตย์ ดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ ดูยังไงว่าแพ้ก็คือ มีผื่น อาเจียน ท้องเสีย ท้องอืดหรือไม่ ถ้าไม่มีอาการแพ้ก็สามารถเริ่มอาหารเสริมชนิดต่อไปได้ หลังจากอายุ 1 ปีแล้วอาหารก็จะเป็นอาหารเหมือนผู้ใหญ่ ทาน 3 มื้อ ลักษณะอาหารเหมือนของผู้ใหญ่แต่ว่าจะเตรียมแยกต่างหาก ก็คือไม่ปรุงรสมาก

คุณสรวงมณฑ์ : แต่ยังอยู่ในปริมาณที่น้อยอยู่

พญ.กนกอร : ใช่ค่ะ แล้วก็ไม่ปรุงรสจัดเกินไป เวลาทานโดยทั่วไปก็จะทานพร้อมกันทั้งครอบครัว จะได้รู้สึกว่าทานได้มากขึ้น ทานเป็นมื้อ เป็นเวลา ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้เค้าตักข้าวกินเอง เพราะถ้าคอยตามป้อนตลอด เค้าก็จะตักกินเองไม่ค่อยได้

คุณสรวงมณฑ์ : เริ่มจากการให้ฝึกกินเองตั้งแต่อายุเท่าไหร่คะ?

พญ.กนกอร : โดยทั่วไปก็เมื่อนั่งได้ ถือช้อน ตักเข้าปากได้ โดยทั่วไปก็ประมาณ 1 ขวบก็ฝึกได้

คุณสรวงมณฑ์ : จำเป็นมั๊ยคะต้องมีเก้าอี้นั่งกินข้าวสำหรับเค้าเอง

พญ.กนกอร : ใช่ แต่ว่าโดยทั่วไปเด็กอายุประมาณนี้เค้าจะเลอะอยู่แล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เลอะ

คุณสรวงมณฑ์ : ที่จะเข้าปากเป๊ะ

พญ.กนกอร : ใช่ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรที่จะไปดุเค้า เวลาเค้าตักข้าวเลอะเทอะ เพราะว่าเดี๋ยวเค้าก็จะยิ่งกลัว ยิ่งเกรง ไม่กล้าที่จะตักอาหารทานเอง ก็จะทำให้เค้ากลัวไม่ยอมทานข้าว หรือว่าเบื่อข้าวไปในที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเค้าตักข้าวเลอะเทอะไปบ้างก็ไม่เป็นไร ก็พยายามให้กำลังใจ พูดชมเค้าเวลาที่เค้าตักเข้าปากได้ หรือว่าทานข้าวหมด แล้วก็ไม่ควรที่จะคอยป้อนเดินวนรอบบ้าน ควรจะต้องทานอาหารให้เป็นที่ก็คือโต๊ะทานข้าว ถ้างั้นเดี๋ยวอีกหน่อย เค้าก็จะจับได้ละว่า ถ้าเกิดเค้าไม่ยอมทานข้าว เค้าก็จะได้ไปเที่ยวเล่น แบบนี้ก็จะไม่ยอมทานข้าวไปในที่สุด

คุณสรวงมณฑ์ : ก็เรียกว่าต้องฝึกตั้งแต่ทีแรกเลย แรกๆ เลยให้เค้าฝึกนั่งแล้วก็กินอาหารบนโต๊ะ พร้อมกับคุณพ่อคุณแม่นั่นแหละ แต่ในปริมาณที่น้อยก่อน

พญ.กนกอร : ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : ประเด็นก็คือว่าส่วนใหญ่เราทำแบบนั้นแล้วแต่ลูกไม่กิน ก็ถ้าลูกไม่กินก็ต้องป้อนล่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ ทำยังไงคะคุณหมอ?

พญ.กนกอร : ถ้าไม่กินก็ไม่ควรที่จะไปบังคับหรือว่าไปข่มขู่ เค้าก็จะยิ่งเครียด ยิ่งกลัว ยิ่งต่อต้าน

คุณสรวงมณฑ์ : ยิ่งไม่กินเข้าไปใหญ่

พญ.กนกอร : ใช่ค่ะ ควรพยายามชักจูงให้เค้าทาน ตักทานเอง ถ้าไม่ได้จริงๆ แรกๆ ก็อาจจะป้อนก่อน แต่ว่าหลังจากนั้น ก็ไม่ควรที่จะตามใจเค้าไปเสียทุกอย่าง ไม่งั้นเค้าก็จะจับได้ว่า ถ้าเค้าต่อต้านแบบนี้ เค้าก็จะได้อย่างใจของเค้า

แล้วก็เวลาในมื้ออาหารก็ไม่ควรจะนานเกินไป โดยมากก็ไม่ควรจะเกินครึ่งชั่วโมง เพราะถ้าเกินครึ่งชั่วโมงเค้าก็จะยิ่งเริ่มเบื่อ เริ่มรู้สึกว่าการทานอาหารเป็นเรื่องน่าเบื่อ ก็เลยไม่ค่อยอยากทานข้าว พอถึงมื้อข้าวก็ไม่อยากทานละ

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ นี่คือเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ต้องฝึกวินัยให้ตัวเองด้วย สมมติว่าพยายามอย่างที่คุณหมอบอกนะคะ วันนี้เริ่มละให้ลูกหัดกินด้วยตัวเอง แล้วก็สร้างบรรยากาศต่างๆ นะคะ กินพร้อมกันกับคนเป็นพ่อแม่ แต่ลองมาแล้ววันนึงก็แล้ว สองวันก็แล้ว สามวันก็แล้ว เห็นเลยว่าลูกไม่ค่อยกิน สมมติว่าลูกไม่ค่อยกินแล้วลูกก็ตัวผอมอยู่แล้ว เราจะผ่านด่านตรงนี้ไปยังไงคะคุณหมอ?

พญ.กนกอร : เรื่องตัวผอมนี่ต้องมาดูก่อนว่าตัวผอมจริงหรือคุณแม่มองว่าผอม ก็คือต้องดูว่าอายุขนาดนี้ น้ำหนักส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์หรือเปล่า ถ้าอยู่ในเกณฑ์ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่บางทีคุณพ่อคุณแม่ก็จะไปเทียบกับลูกคนอื่น คนรอบข้าง เอ๊ะ ทำไมผอมกว่าเค้า ก็เลยเครียดทำให้ยิ่งเครียดก็ยิ่งบังคับลูก ถ้าเกิดว่าน้ำหนักส่วนสูงตามมาตรฐาน คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเครียดเลย ค่อยๆ ฝึกไป

และอีกอย่าง บรรยากาศในการที่จะจูงใจ ให้อยากทานอาหาร ก็อย่างที่บอกไปทีแรกว่า ควรจะทานพร้อมกันเป็นเวลาเป็นมื้อ อันที่สองก็คือสิ่งแวดล้อม หรือบรรยากาศรอบข้าง ไม่ควรจะเปิดทีวีไป ดูการ์ตูนไป หรือให้เล่นของเล่นไปในขณะที่กำลังกินข้าว เพราะว่าเค้าจะไปสนใจอย่างอื่นมากกว่าการกิน

คุณสรวงมณฑ์ : อยากเล่นมากกว่านั่นแหละ

พญ.กนกอร : แล้วพอโตหน่อยสัก 1-2 ขวบ พอจะช่วยเหลือได้บ้างอย่างเช่นอาจจะให้ช่วยล้างผักนิดๆ หน่อยๆ ซึ่งเค้าคงทำไม่ค่อยสะอาดอยู่แล้ว เราก็คงมาล้างเพิ่มอีกที แต่อย่างน้อยเพื่อให้เค้ามีส่วนร่วมในการเตรียมอาหารบ้างเล็กๆ น้อยๆ เด็ดผัก ล้างผักหรือว่าเตรียมอาหาร ถ้าพอโตขึ้นมาอีกนิดนึง ก็อาจจะให้มีส่วนร่วมในการประกอบอาหารมากขึ้น พออาหารนั้นเสร็จแล้ว วางตั้งโต๊ะ เค้าก็จะรู้สึกว่า

คุณสรวงมณฑ์ : เค้าอยากกินละ ฝีมือตัวเองนะเนี่ย มีส่วนร่วม

พญ.กนกอร : รู้สึกอยากทานมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะช่วยชมว่าอาหารที่ลูกช่วยทำอร่อย ก็คือพยายามชักจูงให้เค้ารู้สึกสนุกกับการเตรียมอาหาร การทำอาหาร การทานอาหารโดยที่ไม่ไปบังคับเค้า ไม่ไปจ้ำจี้จ้ำไชเค้า ก็จะทำให้เค้ารู้สึกอยากทานมากขึ้น

แล้วก็อาหารที่เตรียมก็อาจจะเป็นอาหารที่หลากหลาย ไม่ควรจะเป็นอาหารชนิดเดิมซ้ำกันทุกๆ วัน เค้าจะรู้สึกเบื่อ ไม่ค่อยอยากทาน พอโตมาเราก็สามารถเปลี่ยนอาหารให้หลากหลาย แต่ว่าควรจะเป็นอาหารที่ครบ 5 หมู่ แล้วก็อาจจะมีสีสันหน้าตาให้น่ารับประทานนิดนึง อย่างเช่น ก็อาจจะมีผักหลายๆ สี ก็จะทำให้เค้ารู้สึกอยากทานมากขึ้น

คุณสรวงมณฑ์ : มีคำถามจากคุณเสาวนีย์ อันนี้ตรงข้ามเลย บอกว่าลูกกินมากเกินไปแล้วปรากฏว่าน้ำหนักเกินมาตรฐานมาก จะทำยังไงดีคะ? ถึงเวลาต้องไปพบแพทย์หรือยัง?

พญ.กนกอร : ต้องดูว่าน้ำหนักกับอายุสัมพันธ์กันหรือเปล่า ถ้ามากเกินกว่ามาตรฐานกำหนดก็อาจจะมีปัญหานิดนึง คือในเด็กเล็กๆ ไม่ควรที่จะไปจำกัดอาหาร ไม่ควรลดน้ำหนักแบบผู้ใหญ่ เพราะว่าจะมีผลต่อการพัฒนาทางด้านสมอง และการเจริญเติบโต เพราะฉะนั้นต้องมาดูว่าที่อ้วนเป็นเพราะว่าทานอะไรมากเกินไป และเป็นอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น ขนมถุงๆ หรือว่าพวกของทอด ของมันมากเกินไป พวกนี้ก็จะทำให้น้ำหนักมากกว่ามาตรฐาน บางคนยังติดนม ทานแต่นมไม่ยอมทานข้าวก็ฉุนม ทำให้อ้วนได้เหมือนกันเพราะว่าหลังจากอายุ 1 ปีไปแล้ว นมจะเป็นอาหารเสริม อาหารที่หลักๆ ก็คือ 3 มื้อ และก็ควรเป็นอาหารที่มี 5 หมู่ารที่หล ควรจะเน้นผักและผลไม้ด้วยค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วก็มาถึงคำถามนึงยอดฮิตเลยนะคะ สมมติได้ลองพยายามแล้วและลูกไม่กินตามมื้ออย่างที่คุณหมอแนะนำ ถ้าคุณพ่อคุณแม่จะใช้วิธีการว่าถ้าหนูไม่กิน มื้อนี้หนูงดเลย ควรทำหรือไม่ควรทำยังไงคะ?

พญ.กนกอร : จริงๆ ก็ควรจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเกิดว่ามื้อนี้ไม่ทานก็ไม่เป็นไร ให้เค้าไม่ต้องทาน ไม่ต้องไปฝืน ไปจี้ ไปบังคับมากเพราะหลังจากนั้นเค้าก็จะรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ตามใจ เค้าก็จะรู้สึกหิว พอเค้าหิวเค้าก็จะต้องทานเองในมื้อถัดไป คราวหน้าเค้าก็จะไม่ใช้วิธีนี้

คุณสรวงมณฑ์ : บางครั้งผู้ใหญ่ในบ้านคนนึงอาจจะเห็นด้วยกับวิธีการที่คุณหมอแนะนำ บอกว่ามื้อนี้ไม่กิน หนูก็อด ไปกินเอามื้อหน้า แต่ปรากฏว่าอีกฝั่งนึง คุณแม่หรือคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายกลัวว่าลูกจะหิว ก็เลยเดินป้อน ทีนี้มันเกิดความไม่ลงตัวกันในบ้านอย่างนี้ มันจะส่งผลกระทบในเรื่องพฤติกรรมการกินของลูกมั๊ยคะ?

พญ.กนกอร : ก็ต้องมีแน่นอนอยู่แล้วค่ะ เพราะเค้าจะรู้ว่าถึงเค้าจะทำแบบนี้ แล้วแม้คุณพ่อคุณแม่จะไม่ตามใจเค้า ก็จะยังมีคนอื่นตามใจเค้าอยู่ เพราะฉะนั้นการฝึกวินัยการทานอาหารก็จะไม่ประสบความสำเร็จซะแล้ว เพราะฉะนั้นควรที่จะต้องมีแนวทางเดียวกันที่ถูกต้องในบ้านหลังนั้น ก็คือควรจะต้องคุยกันให้เข้าใจก่อนค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : คือคุยกันก่อนว่าจะมีทิศทางเป็นแบบไหน จะเอายังไง เพื่อไม่ให้เด็กสับสนด้วย

พญ.กนกอร : ใช่ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์ : แล้วก็การกินอาหารที่เหมาะสมแล้วก็ฝึกวินัยมันมีหลากหลายรูปแบบ แล้วมันต้องเตรียมมั๊ยคะว่ามื้อไหนเป็นมื้อไหน ต้องเป๊ะ 3 มื้อมั๊ย? จำเป็นมั๊ยคะ?

พญ.กนกอร : จำเป็นที่จะต้องทาน 3 มื้อนะคะ บางคนในวัยเข้าโรงเรียนใหม่ๆ ช่วงเช้าบางทีรีบเร่งที่จะต้องไปโรงเรียน บางทีก็ทำให้ขาดอาหารมื้อเช้าไปซึ่งจริงๆ แล้วมื้อเช้าจะไปมื้อที่สำคัญที่สุดด้วยซ้ำไป เพราะว่ามีวิจัยมาแล้วว่า เปรียบเทียบเด็กที่ทานอาหารเช้ากับไม่ทานอาหารเช้า เด็กที่ทานอาหารเช้าเป็นเด็กที่มีการเรียน มีการพัฒนา...(สัญญาณสะดุดเล็กน้อย) แล้วก็ควรที่จะทานให้ครบ 3 มื้อ อาจจะมีอาหารว่างระหว่างมื้อ เช่น ช่วงประมาณบ่าย 3 ระหว่างมื้อกลางวันและมื้อเย็นก็อาจจะมีอาหารเสริมอาหารว่างเล็กๆ น้อยๆ ให้เด็กทาน

คุณสรวงมณฑ์ : ค่ะ ทีนี้ดิฉันถามเลยไปถึงพฤติกรรมในเรื่องการกิน เช่น เรื่องไม่กินผัก ไม่กินอาหารที่เป็นประโยชน์ จะมีคำแนะนำยังไงคะคุณหมอ?

พญ.กนกอร : เรื่องไม่กินผักนี่จะมีปัญหามากเลย การไม่กินผักโดยมากเกิดจากการที่ไม่ได้ฝึกตั้งแต่แรก ไม่ได้ฝึกตั้งแต่เล็กๆ พอเค้าไม่ยอมทานคุณพ่อคุณแม่ก็ปล่อยปละละเลย ก็ทำให้เค้าไม่ได้ฝึกการทานมาตั้งแต่เล็ก พอเค้ามาฝึกตอนโตจะยิ่งยาก การที่จะให้เด็กทานผัก ก็อาจจะหาผักหลายๆ แบบ หลายๆ สี ในการที่ให้เริ่มทานผักครั้งแรก ไม่ควรเป็นผักที่มีรสชาติขม หรือมีกลิ่นฉุนเพราะว่าพอเค้าลองครั้งแรก

คุณสรวงมณฑ์ : ยกตัวอย่างสักหน่อยได้มั๊ยคะคุณหมอ ถ้าเริ่มแรกใช้ผักอะไรดี?

พญ.กนกอร : ผักง่ายๆ เช่น ผักกาดขาวเพราะว่าพวกนี้จะมีรสหวานแล้วก็ไม่มีกลิ่น แล้วถ้าอย่างพวกขึ้นฉ่ายหรือว่าพวกคะน้า มันจะแข็ง มีกลิ่น แล้วก็มีรสชาติออกขมนิดนึง พวกนี้พอเด็กลองเข้าไปแล้ว บางทีเค้าก็กลัวไปเลย แล้วก็จะไม่ลองทานผักชนิดอื่น อาจจะเริ่มจากผักที่ง่ายๆ อย่างที่บอกไป ผักกาดขาว แตงกวา แล้วหลังจากนั้นก็อาจจะให้ผักหลากหลายชนิดขึ้น หลากหลายสีขึ้น เช่น แครอท มะเขือเทศ สลับสับเปลี่ยนกันไป ถ้าเกิดว่าเค้ายังไม่ยอมทานอีกก็อาจจะเอาผักไปทำอย่างอื่น เช่น ทำเป็นรูปตุ๊กตา ทำให้เค้ารู้สึกว่าผักมีหน้าตาน่ารัก อยากทานมากขึ้น หรือไม่ก็เอาไปผสมกับของที่ชอบ เช่น ถ้าเค้าชอบทานช็อกโกแลตก็อาจจะเอาไปชุบช็อกโกแลต หรือตั้งชื่อผักให้น่ากิน อย่างเช่น แตงกวาสุดหล่อ ให้ดึงดูด ให้น่าสนใจ ให้อยากลองมากขึ้น

แล้วก็อย่างที่หมอบอกไปแต่แรกว่า อาจจะให้เค้าช่วยเตรียมหรือว่าล้างผัก เด็ดผัก แล้วก็ไปประกอบอาหาร ก็ทำให้เค้ารู้สึกว่าอยากรับประทานอาหารที่เค้าช่วยเตรียม พอเค้าทานผักไปแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็สำคัญเลย ต้องชื่นชมหน่อย ต้องชม คือคำชมกับเด็กจะเป็นของคู่กันอยู่แล้ว พอเราชมเค้าก็จะรู้สึกปลื้มว่าทำแบบนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่ชม แต่ถ้าเกิดเค้าไม่ทานจริงๆ ก็อย่าไปฝืน อย่างที่หมอบอกว่ายิ่งไปบังคับไปจี้เค้า เค้าก็ยิ่งกลัว ยิ่งจะต่อต้าน ยิ่งจะเครียด แล้วก็จะไม่ยอมทาน คือถ้าเกิดว่ามื้อนี้เค้าไม่ยอมทานจริงๆ ก็ไม่เป็นไรอย่าไปฝืนเค้า เดี๋ยวมื้อหน้าลองใหม่ ลองไปเรื่อยๆ พยายามฝึกไปเรื่อยๆ จูงใจไปเรื่อยๆ

อีกอย่างนึงก็อาจจะหาไอดอล (idol) ไอดอลก็คือคนที่เค้าชอบ คนที่เค้าปลื้ม ชื่นชม ทานผัก คนนี้สมมติว่าเป็นพ่อ ก็บอกว่าคุณพ่อชอบทานผัก ก็เลยโตเร็วแข็งแรงแบบนี้ แล้วคุณพ่อก็พยายามทานผักให้เค้าดูบ่อยๆ เค้าก็จะรู้สึกชื่นชมและก็อยากเหมือนพ่อ ก็อยากทำตาม ก็อยากกินผักขึ้นมา แล้วก็ต้องใจเย็นในการฝึกที่จะทานผักเพราะฉะนั้นเร่งรีบไม่ได้ บังคับไม่ได้ ฝืนเค้าไม่ได้ ต้องใจเย็นนิดนึง

แล้วก็ควรจะมีความร่วมมือของทั้งบ้าน คุณพ่อคุณแม่หรือว่าคุณปู่คุณย่าควรจะให้ความร่วมมือ ไม่ใช่ว่าถ้าเค้าไม่กินก็ปล่อยไป ไม่กินก็ไม่กิน หาอย่างอื่นให้กิน พอโตขึ้นมาก็จะฝึกยากหน่อย

คุณสรวงมณฑ์ : อันนี้เลยถามเผื่อไปอีกเรื่อง ถ้าไม่ใช่แค่ผักแต่ว่าเป็นเด็กช่างเลือกเลย ประเภทไอ้นี่เขี่ยทิ้ง เลือกไม่กินกุ้ง ไม่กินหมูอย่างนี้ เราจะมีวิธีการจัดการกับพฤติกรรมของการเลือกกินยังไงคะ?

พญ.กนกอร : ก็เหมือนๆ กับการที่ไม่กินผักเพราะก็เป็นพฤติกรรมเลือกทานอย่างหนึ่งเหมือนกัน ต้องพยายามให้เค้าสามารถทานได้ทุกอย่างตั้งแต่เล็กๆ เลย แล้ววิธีการก็คล้ายๆ กันค่ะ ไม่ต่างกันมาก

คุณสรวงมณฑ์ : ปัญหามันก็คือว่าบางคนไม่ได้ทำมาตั้งแต่เล็ก แล้วตอนนี้ฟังอยู่นะคะคุณหมอ แต่เด็กก็เริ่มโตซะแล้ว แล้วปัญหานี้มันก็คาอยู่ สมมติว่าฟังอยู่ จะเริ่มสตาร์ทแก้ปัญหาอย่างที่คุณหมอบอก จะเริ่มยังไง มีปัจจัยอะไร จะเริ่มยังไงคะ เริ่มจากมื้อไหน ยังไง?

พญ.กนกอร : ก็คือพอโตมาจะแก้ยากนิดนึงนะคะแต่ก็ต้องพยายามหน่อย จะเริ่มมื้อไหนก็เริ่มได้เลยไม่ต้องรอ สามารถเริ่มได้เลย อย่างเช่น สมมติโตแล้วไม่ยอมทานผัก ยังไงๆ ก็ไม่ยอมทาน คราวนี้คุณพ่อคุณแม่ก็จะต้องหนักใจนิดนึง ต้องใจเย็นหน่อย ต้องพยายามหน่อย ก็อาจจะเอาผักไปทำหรือไปซ่อนในอาหารที่เค้าชอบ เช่น เค้าชอบทานขนมปัง ก็เอาขนมปังห่อผักแล้วไปทอดแล้วก็ให้เค้าทาน

คุณสรวงมณฑ์ : เปลี่ยนเมนู

พญ.กนกอร : ค่ะ เปลี่ยนเมนู ไม่ใช่แค่ผักล้วนๆ ก็อาจจะเอาผักเป็นส่วนประกอบในอาหารที่เค้าชอบ โดยเริ่มที่ปริมาณเล็กน้อยก่อน ยังไม่ต้องเยอะ พอเค้าเริ่มคุ้นชินกับรสชาติ เราก็ค่อยๆ เพิ่มปริมาณ ก็จะทำให้เค้าทานผักได้มากขึ้น พอเค้าคุ้นชินกับผักแล้ว คราวนี้เราก็สามารถเอาผักมาประกอบอาหาร เป็นอย่างอื่นที่เค้าสามารถทานได้ง่าย ต้องค่อยๆ ใจเย็น ค่อยๆ ฝึกนิดนึง ถ้าเกิดว่าครั้งแรกพอเค้าเจอผักแล้วเค้าไม่ยอมทาน ยังเขี่ยผักออกอยู่ ก็อาจจะต้องลดปริมาณผัก หรือว่าสิ่งที่เค้าไม่ชอบทาน คือลดปริมาณเล็กน้อย แล้วก็อาจจะไปซ่อนที่มิดชิดมากขึ้น ให้เค้าพยายามคุ้นเคยกับรสชาติ พอเค้าคุ้นกับรสชาติแล้ว การฝึกก็จะง่ายขึ้น

คุณสรวงมณฑ์ : คุณน้องถามมาเกี่ยวกับเรื่องเพดานปากของลูกที่มันสูงผิดปกติ แต่ว่าเรื่องนี้ดิฉันขออนุญาตไปเป็นคราวหน้า แต่จะถามคุณหมอว่ากรณีที่เด็กมีความผิดปกติอย่างเช่น เพดานปากสูงมีผลต่อการกินของเด็กมั๊ยคะ?

พญ.กนกอร : เรื่องเพดานปากสูงไม่ค่อยมีผลกับการกินเท่าไหร่ แต่ถ้าเกิดว่าเป็นเพดานโหว่ ก็อาจจะมีปัญหาทำให้เวลากินมีการสำลักได้ง่ายเหมือนกัน อันนี้ก็ต้องระวังนิดนึง ต้องไปปรึกษากับคุณหมอเรื่องการผ่าตัดทำผนังเทียมนะคะ แต่ว่าเรื่องเพดานสูงไม่น่าเกี่ยวนะคะ

คุณสรวงมณฑ์ : ท้ายสุดเลยคุณหมอจ ะฝากอะไรถึงคุณผู้ฟัง ที่ส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่มือใหม่ค่ะ

พญ.กนกอร : การเลี้ยงลูกบางทีดูเหมือนจะยากแต่จริงๆ แล้วก็ไม่ยากอย่างที่คิด เราจะต้องใจเย็นนิดนึง เข้าใจเค้าให้มาก อย่าไปบังคับหรือว่าไปดุเค้าเพราะว่าเค้าจะยิ่งกลัว ยิ่งเกรง ไม่กล้าทำในสิ่งที่เค้าอยากจะทำ ก็คือพยายามใจเย็นและก็ค่อยๆ ฝึกวินัยของเค้าค่ะ

ความคิดเห็น