ลงโทษอย่างสร้างสรรค์

ลงโทษอย่างสร้างสรรค์



สมัยเด็กทุกครั้งที่ผมซน หรือดื้องอแงจะต้องแลกมาด้วยรอยไม้เรียว ปรากฏเป็นแนวยาวแสบร้อนแก้มก้นยิ่งนัก
‘ความเจ็บ’ และ ‘ความหวาดกลัว’ คืออาวุธสำคัญของคนรุ่นก่อน ในการควบคุมพฤติกรรมของเด็ก ด้วยความเชื่อว่า ‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ หรือ ‘ไม้เรียวสร้างคนให้เป็นรัฐมนตรี’ ฯลฯ 

     แต่มาถึงวันนี้ หลายๆ สังคม ได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมเด็ก จนมีข้อสรุปคล้ายกันว่า การใช้ความรุนแรงกับเด็กและเยาวชน ไม่ใช่หนทางแห่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ดี
     เนื่องเพราะเด็กส่วนใหญ่ที่ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกเฆี่ยนตีเพื่อเป็นการลงโทษนั้น มักคิดว่า พวกเขาได้ชดเชยการกระทำผิดของตน ด้วยการถูกทำโทษอย่างรุนแรงไปแล้ว ดังนั้น เด็กจึงไม่คิดจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรืออุปนิสัยใดๆ
      อีกทั้ง เด็กบางคนยังมีทัศนคติว่า ‘การใช้ความรุนแรงถือเป็นสิ่งปกติธรรมดา’ เพราะ พ่อแม่ หรือครูบาอาจารย์ใช้กระทำกับพวกเขาอยู่บ่อยๆ
    ดังนั้นหลายประเทศจึงถือว่าการทำร้ายร่างกาย   และจิตใจเด็กไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ เป็นการกระทำทารุณกรรมต่อเด็ก (Child Abuse) มีความผิดตามกฎหมาย แม้แต่ในประเทศไทยก็มี พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ระบุไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 26 ว่า ‘...ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้บุคคลใด... กระทำหรือละเว้นการกระทำ อันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายและจิตใจของเด็ก...’
     แต่ถึงกระนั้น เราๆ ท่านๆ คงเคยผ่านตา เรื่องการเฆี่ยนตี ทำร้ายร่างกายและจิตใจของเด็ก ภายใต้ข้ออ้างว่า ‘เป็นการสั่งสอน หรือลงโทษไม่ให้เสียผู้เสียคน’
     ด้วยเหตุนี้ เมื่อลูกชายของผมถึงวัยต้องเข้าโรงเรียน ผมอดเป็นห่วงไม่ได้ เนื่องเพราะความแสบ ซน ดื้อของเขานั่นเอง ยิ่งเมื่อไม่นานมานี้ ได้ดูคลิปสารคดีเชิงข่าวเกี่ยวกับครูโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่ง ทำร้ายร่างกายเด็กนักเรียนตัวน้อยๆ ด้วยแล้ว ผมยิ่งใจคอไม่ค่อยดี
     แต่โชคดีครับว่า โรงเรียนของเจ้าแสบ โดยเฉพาะคุณครูประจำชั้น มีวิธีลงโทษเจ้าทโมนน้อยของผมอย่างสร้างสรรค์
   
    อืม...ลองมาดูวิธีลงโทษของคุณครูกันดีกว่าครับ

    บ่ายวันหนึ่ง ขณะที่เพื่อนตัวน้อยๆ ในห้องกำลังนอนพักกลางวันอย่างมีความสุข เจ้าลิงน้อยชวนเพื่อนซี้คู่ใจปวน... ปลุกเพื่อนๆ มาเล่นกระโดดโลดเต้น สร้างความโกลาหลไปทั่วห้อง จนกระทั่งคุณครูเข้ามาห้ามปราม แล้วเรียกสองหัวโจกคุยเครียด
      “...ถ้าพวกหนูกำลังนอนหลับอย่างมีความสุข แต่ถูกเพื่อนคนอื่นมาปลุก หนูจะรู้สึกอย่างไร”
      “ไม่ชอบครับ” เด็กทั้งสองตอบโดยทันที
      “ถ้าหนูไม่ชอบ เพื่อนๆ ของหนูที่นอนอยู่ก็ไม่ชอบเหมือนกัน ยิ่งปลุกมาเล่น เอะอะโวยวายแบบนี้ คิดว่าทำถูกต้องไหม”
      “ไม่ถูกครับ”
      “เมื่อรู้ตัวก็ดีแล้ว แต่ต้องมีการลงโทษ คราวหน้าจะได้ไม่ทำอีก ตกลงไหม”
      “ตกลงครับ” คราวนี้เสียงของเจ้าหนูเริ่มอ่อย เพราะไม่รู้ว่าจะต้องถูกลงโทษอย่างไร
     ในที่สุดคุณครูตัดสินใจลงโทษคู่หูจอมซน ด้วยการให้ออกมาหน้าห้องเล่านิทานจากหนังสือให้เพื่อนๆ ฟัง แต่ปัญหาคือ เด็กทั้งสองคนยังอ่านหนังสือไม่ออก ครูจึงให้พวกเขาใช้จินตนาการเล่าเรื่องจากรูปภาพที่เห็นในหนังสือ
      แน่นอนครับว่า มันเป็นการกระตุ้นให้เด็กต้องปะติดปะต่อเรื่องเอาเองจากภาพที่เห็น ซึ่งสร้างความลำบากให้กับเด็กพอสมควร แต่ในที่สุดเจ้าลิงน้อยของผม ก็สามารถมั่วเล่านิทานไปจนจบ แต่เพื่อนสนิทของเขายังทำไม่ได้ จึงต้องนำหนังสือนิทานเล่มนั้นกลับบ้านไปให้พ่อแม่อ่านให้ฟัง  แล้วจำมาเล่าให้เพื่อนๆ ฟังในวันรุ่งขึ้น
      ความซนของลูกชายผมยังไม่หมดครับ เย็นวันหนึ่ง ไม่รู้เขานึกหมั่นไส้เพื่อนอะไรขึ้นมา หยิบรองเท้าข้างหนึ่งของเพื่อน ซึ่งวางอยู่หน้าห้องโยนลงไปที่ระเบียงด้านนอก
     พฤติกรรมของจอมเกเรน้อยถูกจับได้ หลังจากโดนคุณครูเทศนาชุดใหญ่ เขาก็ถูกทำโทษให้กลับบ้าน ไปคิดหาวิธีเอารองเท้าของเพื่อนขึ้นมาจากระเบียงให้ได้ พร้อมทั้งให้เขียนวิธีการ ขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียดและวาดรูปประกอบมาด้วย
 ตอนแรกเจ้าแสบมีไอเดียบรรเจิดมากครับ
      “...เออ...ต้องเอารถดับเพลิงมาที่โรงเรียน เพราะรถดับเพลิงมีบันไดยาวๆ สูงๆ มาถึงก็ปีนบันไดขึ้นไปเอารองเท้าลงมา..
      ...เอารถเครนยกของมาก็ได้ครับ เอามาหิ้วตัวขึ้นไปบนระเบียงเอารองเท้าลงมา...”
     แต่สุดท้ายหลังจากถกเถียงถึงความเป็นไปได้ และความเหมาะสมกับแม่ของเขา เจ้าหนูตัดสินใจใช้วิธีการหาไม้มาต่อให้ยาวๆ เพื่อเขี่ยรองเท้าจากระเบียงให้ตกลงมาบนสนาม
      คืนนั้น เมื่อได้ข้อสรุป เจ้าหนูมีหน้าที่คัดลอกเขียนแผนการ พลาง วาดรูปประกอบ
    ครับ...แม้ว่าสุดท้ายวิธีการนี้จะไม่ได้นำมาใช้จริง เพราะคุณครูได้ชิงกระโดดลงไปที่ระเบียงหยิบรองเท้าขึ้นมาก่อนแล้ว

แต่ผมคิดว่าวิธีการลงโทษของคุณครูน่าสนใจยิ่ง
      ถือว่า เป็นการลงโทษแบบสร้างสรรค์ (Creative punishment)

      เพราะใช้โอกาสที่เด็กทำผิด สร้างเงื่อนไข กระตุ้นให้เด็กได้คิด ได้ใช้จินตนาการในการแก้ปัญหา แก้ไขสิ่งที่ตนทำผิดด้วยตนเอง ขณะเดียวกันเด็กก็ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเองไปด้วย

   
      วิธีการลงโทษเช่นนี้ เหมาะอย่างยิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครอง จะลองนำมาประยุกต์ใช้ปราบเจ้าวายร้ายตัวน้อยประจำบ้าน
      แหะ...แหะ..ว่าแต่ลูกไม่ต้องถูกทำโทษแบบสร้างสรรค์บ่อยๆ ก็ได้นะ



ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก motherandcare ค่ะ

ความคิดเห็น