ตกผลึกชีวิต 'ผศ.ดร.อุษณีย์' สะท้อนถึงพ่อแม่ที่ 'ลูกเรียนไม่เก่ง'

ตกผลึกชีวิต 'ผศ.ดร.อุษณีย์' สะท้อนถึงพ่อแม่ที่ 'ลูกเรียนไม่เก่ง'

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์    




 คงเคยได้ยินกันมาบ้างแล้วนะครับว่า คนเก่งในวันนี้ อาจเคยไม่เก่งมาก่อนในวัยเด็ก ซึ่งบางคนอาจเป็นที่เอือมระอาของเหล่าคุณครู และพ่อแม่ไม่น้อย ถึงกับขั้นถูกสบถด่าว่า "โง่" อยู่ตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าเด็กคนไหนถูกตำหนิแบบนี้ เสมือนเป็นการตัดโอกาส และทำร้ายจิตใจเด็กมาก ซึ่งถ้าเด็กบางคนไม่ได้รับโอกาสที่ดี อาจเป็นจุดพลิกให้หันเหชีวิต กลายเป็นเด็กไม่เรียนหนังสือไปเลยก็ได้
       
       เหมือนกับตัวอย่างชีวิตของ "ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์" ประธานศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สมัยที่เป็นเด็ก ซึ่งเธอเรียนไม่เก่ง เรียกง่ายๆ ว่า เป็นเด็กที่เรียนแย่ที่สุดในห้องเลยก็ว่าได้ จนคุณครูที่โรงเรียนต่างส่ายหน้ากับการเรียนของเธอ แต่โชคดีที่เธอได้กำลังใจจากพ่อ ผู้ซึ่งยื่นมือให้เธอจับ และฉุดเธอขึ้นจากปมที่ถูกสังคมตราหน้าว่า โง่ และเรียนไม่ได้เรื่อง
       
       กำลังใจจากพ่อ ณ วันนั้น บวกกับผู้ใหญ่ใจดีที่เข้าใจ ทำให้เธอเห็นคุณค่า และพัฒนาตัวเองจนกลายเป็น "ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์" ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติในวันนี้ได้สำเร็จ ซึ่งที่มาทำงานด้านนี้ เธอบอกว่า เกิดจากที่ตัวเอง เคยถูกทำร้ายอย่างย่อยยับในการใช้คำพูดของครู จึงอยากช่วยเด็ก เหมือนกับที่เธอมีพ่อ และผู้ใหญ่ใจดีคอยช่วยเธอในวันวาน

       หากย้อนกลับไปในวัยเด็ก "ด.ญ.อุษณีย์" เติบโตในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นข้าราชการ เป็นคนที่ไม่มีจังหวัด เพราะต้องพลัดถิ่นตามพ่ออยู่เรื่อยไป สมัยเรียน เธอเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง ต่างกับพี่ชายที่เป็นเด็กฉลาด ทำให้เธอเกิดการเปรียบเทียบในใจตลอดว่า "ทำไมพี่คิดได้ ตัวเองคิดไม่ได้" มิหนำซ้ำ เวลาไปโรงเรียนยังถูกครูตอกย้ำ โดยใช้คำพูดไม่ดีอยู่ตลอดเวลา บ้างก็โง่ บ้างก็เรียนไม่ได้เรื่อง ทำให้น้อยเนื้อต่ำใจ จนไม่กล้าที่จะแสดงความคิด หรือทำอะไรให้คนอื่นเห็น หรือเวลาเดินจะเดินตามหลังเพื่อนอยู่ตลอด
       
       อีกเหตุการณ์ที่เธอยังจำไม่รู้ลืม คือ สมัยเรียน เธอเป็นคนชอบอ่าน และชอบเขียนมาก เพราะที่บ้านมีหนอนหนังสืออย่างคุณพ่อเป็นต้นแบบ จึงแต่งเรื่องให้เพื่อนอ่าน และเล่นเป็นละครอยู่เสมอ ซึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นตอนพักเที่ยงของวันหนึ่ง ที่เพื่อนจับกลุ่มกันแสดงละคร จนลืมเวลาเข้าเรียน ปรากฎว่า ครูจับได้ จึงถูกตีกันคนละที ส่วนตัวเธอในฐานะเป็นหัวโจก ถูกครูตีหน้าแถว ต่อหน้านักเรียนทุกคน ซึ่งสร้างความอับอาย ลดทอนความมั่นใจไปมาก และตั้งแต่นั้นมาเวลาจะเขียนอะไร ทำให้ไม่กล้า และกลัวที่จะเขียน
       
       "ตอนเด็กๆ ถูกไล่ออกจากโรงเรียนถึง 2 ครั้ง ซึ่งครั้งแรกตอนอยู่ป.3 และครั้งที่ 2 ตอนอยู่ม.ปลาย ด้วยเหตุผลที่เรียนไม่เก่ง และเรียนไม่ทันเพื่อน โดยสาเหตุหนึ่งมาจากสุขภาพส่วนตัวที่ไม่ค่อยดีด้วย ซึ่งหลายๆ ครั้ง ครูยังมาตำหนิเราอีกว่า อุษณีย์ ทำไมเธอถึงได้โง่แบบนี้ เธอเรียนไม่ได้หรอก ซึ่งตอนนั้นมันเหมือนถูกสะกดจิตทางธรรมชาติ ทำให้เด็กอย่างเราหงอ ไม่กล้า และไม่มีความเชื่อมั่นที่จะทำอะไรไปเลย" เธอเล่าวันวานในวัยเด็กที่ลืมไม่ลง
       
คุณพ่อ-ชาวบ้าน พลังหนุนนำ ค้นหาฝัน
       
       ก่อนที่จะโดนไล่ออกจากโรงเรียน เธอก็ได้ค้นพบคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเธอเล่าว่า ตอนนั้นเรียนอยู่ ม.ศ.4 ที่จ.นครสวรรค์ และได้เจอเพื่อนที่ทำสโมสรโรตาแร็คอยู่ ซึ่งเป็นการทำงานเพื่อส่วนรวม จึงตระเวนไปตามหมู่บ้าน สอนชาวบ้าน และสอนหนังสือให้เด็ก
       
       กับการได้ลงพื้นที่ในครั้งนั้น ช่วยให้เธอรู้สึกว่า ตัวเองมีคุณค่า และได้กลับมาย้อนดูตัวเองอีกครั้งว่า สิ่งที่ครูเคยด่าว่าเธอ "โง่ หรือไม่ได้เรื่อง" นั้น มันไม่ถูกต้องอีกต่อไปแล้ว ตั้งแต่นั้นมา เธอจึงทุ่มให้กับงานช่วยชาวบ้านอย่างเต็มที่ และใฝ่ฝันอยากจะทำประโยชน์เพื่อชาวบ้าน จึงตั้งเป้าว่าจะเรียนคณะรัฐศาสตร์ เพื่อจะกลับมาเป็นกำนันหญิงให้ได้ แต่สุดท้ายก็ถูกไล่ออกจากโรงเรียนเป็นครั้งที่ 2 เพราะไม่ได้เรียน และไม่ได้เข้าสอบ
       
       หลังจากนั้น เธอมีความมุ่งมั่น และตั้งใจเต็มร้อย ที่จะทำฝันให้เป็นจริง เพราะมีชาวบ้าน และพ่อเป็นพลังหนุนนำ จึงย้ายมาเรียนสายศิลป์-ฝรั่งเศสที่โรงเรียนสตรีวัดระฆัง และสามารถสอบเทียบสายวิทยาศาสตร์ได้สำเร็จ บวกกับช่วงเวลานั้นใกล้กับช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พอดี เธอจึงเข้าไปเป็นแนวร่วม และมีโอกาสเข้าไปนั่งเรียนกับนักศึกษาที่ม.ธรรมศาสตร์ โดยมีกลุ่มอาจารย์ใจดี เป็นผู้เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ และค้นหาตัวเอง ซึ่งพอเรียนจบชั้นมัธยมศึกษา จึงได้ค้นพบ และเปลี่ยนความฝันจาก "กำนันหญิง" มาเป็น "ครู" เข้าศึกษาต่อที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จนมาเป็นประธานศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้สำเร็จ
       
กำลังใจถึงพ่อแม่ที่มี 'ลูกเรียนไม่เก่ง'
       
       เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพ่อแม่ที่มีลูกเรียนไม่เก่งทุกคน "ผศ.ดร.อุษณีย์" ฝากว่า "อย่าไปทำลายเด็ก ว่าเด็กโง่ มันไม่ได้สร้างผลดีอะไรเลย กว่าที่เราจะแก้จากเด็กที่ล้มเหลว หรือถูกทำลายอย่างละเอียดมากับครู สิ่งแวดล้อม มาเป็นคนที่มีประโยชน์กับสังคมได้บ้าง มันไม่ได้ก้าวข้ามกันง่ายๆ ไม่ว่าจะกล้าคิด กล้าเขียน กล้าแสดงออก เหมือนกับดิฉัน ที่กว่าจะลบความรู้สึกด้อยค่า ในวัยเด็กที่ถูกกระทำออกไปได้มันยากมาก
       
       ดังนั้นพ่อแม่เป็นผู้ช่วยสำคัญ ไม่ควรละเลยในเรื่องนี้ เพราะถ้ายังปล่อยทิ้งไว้ ลูกคุณจะไม่มีทางที่จะมายืนอยู่บนเวทีของคนที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ อย่าว่าแต่ความเป็นผู้นำเลย ดิฉันมาทำงานด้านนี้ ไม่อยากให้เด็กถูกทำลาย แต่อยากเห็นเด็กไทยมีความสุข ไม่ต้องถึงกับเด่นดัง แต่ขอให้ยังชีพ เอาตัวเองให้รอด และมีจิตสาธารณะในสังคมก็พอ"


   
       "อยากจะให้กำลังพ่อแม่ที่มีลูกเรียนไม่เก่งอย่างที่ดิฉันเคยเป็นในอดีต อยากให้กลับไปดูว่า วิธีการสอนทำร้ายจิตใจเด็กหรือไม่ หรือเราได้ช่วยกู้สภาพลูกในโรงเรียนหรือเปล่า ใครทำร้ายลูกเราไหม ซึ่งพ่อแม่ต้องช่วย และเป็นผู้สนับสนุนลูก เหมือนกับที่พ่อของดิฉัน ยื่นมือมาช่วย ดังนั้นไม่ควรทิ้งลูกให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว และจมอยู่กับปมด้อยของตัวเอง เพราะจะส่งผลในระยะยาวต่อเด็ก ถ้าหากไม่ได้รับการช่วยเหลือทางด้านจิตใจอย่างทันท่วงที"
       
ผศ.ดร.อุษณีย์ ฝากแง่คิดเลี้ยงลูกให้ดี มีความสุข
       
       ทั้งนี้ ผศ.ดร.อุษณีย์ ยังให้คำแนะนำจากการตกผลึกชีวิต และวิธีคิดของเธอให้ฟังด้วยว่า การเลี้ยงดูลูกให้เก่ง และดี พ่อแม่ต้องสร้างบรรยากาศภายในบ้าน บรรยากาศที่ให้อิสระทางความคิด ไม่ควรไปปิดกั้นด้วยคำพูดที่ว่า "จะไปคิดอะไรนอกคอก" หรือ "ทำให้เหมือนๆ คนอื่นเขาบ้างสิ" ที่สำคัญหลีกเลี่ยงการลงโทษให้มากที่สุด แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ไม่ลงโทษเลย แต่ต้องใช้วิธีให้เหมาะสม และไม่ทำร้ายจิตใจลูกมากเกินไป
       
       ที่สำคัญ ควรกระตุ้นวิธีคิดด้วยกิจกรรมที่พ่อแม่สามารถจัดให้ได้ เช่น อ่านนิทาน ทำงานประดิษฐ์ด้วยกัน โดยปล่อยให้ลูกได้ทดลอง และทำด้วยตัวเอง ไม่ควรติ หรือดูถูกความสามารถของเด็ก และถ้าอยากจะให้ลูกเป็นนักสร้างสรรค์ ต้องแฝงจิตสำนึกสาธารณะเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะปลูกฝังให้ลูกคิดไกล รอบด้าน และสิ่งที่คิดไม่ส่งผลกระทบต่อคนอื่นในสังคม เมื่อเป็นเช่นนี้ ลูกก็จะมีความละเอียด เป็นเด็กฉลาด และมีจิตสึกสาธารณะไปพร้อมๆ กัน
       
       "ถ้าเด็กไม่มั่นใจ เด็กก็จะไม่สร้างสรรค์ วิธีแก้ ลองมาดูสิว่า ลูกเราทำอะไรได้ดีที่สุดบ้าง พ่อแม่ต้องมองให้เห็น ซึ่งมันจะเป็นอะไรก็ได้ แต่พ่อแม่ต้องให้ลูกทำในสิ่งที่ลูกชอบ จากนั้นมีหน้าที่ให้คำชมลูก ให้กำลังใจลูก เช่น แบบนั้นดีแล้วลูก แบบนี้แม่ว่า ควรจะเพิ่ม ลูกคิดว่ายังไงค่ะ ไม่ควรทำอะไรให้ลูกเอง หรือประคบประหงมมากเกินไป อาบน้ำก็ต้องอาบให้ กินข้าวเดี๋ยวแม่ป้อนนะ อ้ำ อ้ำ อุ๊ย เก่งมากลูก ซึ่งบางคนป้อนลูกจน 10 ขวบ แบบนี้มันไม่ได้ เพราะจะทำให้ลูกไม่มั่นใจเวลาเข้าสังคมที่จะต้องทำอะไรเอง สิ่งที่ถูกต้องคือ ควรฝึกให้ลูกดูแลตัวเองให้ได้"
       
       อย่างไรก็ดี เมื่อลูกไม่มีความมั่นใจในเรื่องเรียน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พ่อแม่บางคนเข้าใจผิดว่า ถ้าลูกอ่อนเลข จำเป็นต้องให้ลูกไปเรียนเลขเสริม แต่ผศ.ดร.อุษณีย์ มองในอีกมุมหนึ่งว่า ให้พ่อแม่สังเกตดูว่า ลูกชอบอะไร เช่น ถ้าชอบวาดรูป ลองนำสิ่งที่ลูกชอบ มาผสมผสานกับการเรียนคณิตศาสตร์ดู เช่น ลองพาลูกไปหาครูวาดเขียน จากนั้นบอกให้ครูสอนเลขจากวาดเขียนได้หรือไม่ หรือตัวพ่อแม่ อาจจะสอนลูกเองก็น่าจะทำได้
       
       ดังนั้น วิธีการสอนให้เด็กมั่นใจ ต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็ก อยู่ในวิสัยที่พ่อควรจะทำ ซึ่งเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนมีความรู้ ถ้าสอนเองได้ ควรสอนลูกด้วยตัวเอง เพราะพ่อแม่คือครูที่ลูกรัก และอยู่กับลูกมากที่สุด ในกรณีที่พ่อแม่มีลูก 2 คน การเปรียบเทียบความต่าง เป็นสิ่งลดทอนความมั่นใจ และความเชื่อมั่นของลูกได้มาก เพราะฉะนั้นขอให้คิดอยู่เสมอว่า เด็กทุกคนไม่เหมือนกัน แม้แต่กับลูกฝาแฝดก็ไม่เหมือนกัน รวมไปถึงพ่อแม่ส่วนใหญ่มักชอบเปรียบเทียบลูกกับเด็กข้างบ้าน หรือญาติพี่น้องจนลูกรู้สึกด้อย นี่เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องระวัง
       
       "ลูกสาว กับลูกชายของดิฉัน เวลาคะแนนตกมาหน่อย ก็โดนหนักไม่น้อย บางทีคุณครูบอกว่า กลับไปบอกแม่เหอะ ทำไมไม่สอนลูกให้เป็นอัจฉริยะ ก่อนที่จะไปสอนคนอื่น แม่เธอดูออกฉลาด ทำไมเธอถึงเป็นแบบนี้ ซึ่งคำพูดแบบนี้ พอลูกเราฟัง ก็จะยิ่งรู้สึกแย่สิ ซึ่งครูไม่ควรพูดในเชิงเปรียบเทียบแบบนี้ เฉพาะครูบางคนนะ ที่เห็นเด็กเป็นที่ระบายอารมณ์ของตัวเอง อันนี้ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเด็กมาก" ผศ.ดร.อุษณีย์ฝากถึงครูไทยบางคนที่ชอบใช้คำพูดทำร้ายความรู้สึกเด็ก
       
       จากประโยคสั้นๆ ของพ่อเมื่อครั้งที่เธอถูกไล่ออกจากโรงเรียนที่ว่า "ไม่เป็นไรนะลูก ลูกเก่งตั้งหลายอย่าง หนูอ่านหนังสือเก่งไม่ใช่หรอ" รวมไปถึงกลุ่มชาวบ้าน ที่เห็นคุณค่าในตัวเธอ และผู้ใหญ่ใจดีที่เปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ และค้นหาตัวเอง
       
       ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นพลังหนุนนำ ที่ฉุดเธอให้ขึ้นจากเหวนรกแห่งปมด้อย ผสานบาดแผลอันเจ็บร้าวในอดีต ทำให้เธอลุกขึ้นเดินอย่างมีเป้าหมาย และไม่น้อยใจตัวเองว่าด้อยค่าเหมือนที่ครูบางคนเคยพูด แต่กลับทำให้เธอเป็นคนมีค่า ที่สามารถทำ และสร้างสิ่งที่ดีให้กับคนอื่นได้ไม่น้อย นี่คือชีวิตของ "ผศ.ดร.อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์" ประธานศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ทีมงานนำผลึกชีวิตของเธอ มาเป็นตัวสะท้อนให้พ่อแม่เข้าถึงหัวใจลูกที่เรียนไม่เก่งกันมากขึ้น
       
       ทีมงาน Life and Family เป็นกำลังใจให้คุณครู และพ่อแม่ทุกคนนะครับ ^_^

ความคิดเห็น