การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว

การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว หลังคลอดลูก หากคุณแม่ให้นมลูกเอง นน.จะลงมาเป็นปกติภายใน 1-6 ด.โดยไม่ต้องซื้อคอร์สลดนน.ราคาแพง หรือ ซื้อยาลดนน.จากอินเตอร์เนทที่เป็นอันตรายมากิน โดยมีข้อแม้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 10-12 กก.ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่ 3 ด.แรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลย 3 ด.ถัดมาขึ้น 6 กก. และ 3 ด.สุดท้ายขึ้น 6 กก. ใครที่นน.ขึ้นเกินจากนี้ ไม่ดีนะคะ อย่าคิดว่าตอนท้องเป็นช่วงโปรโมชั่น อยากกินอะไรก็กินได้ตามใจอยาก อ้วนได้ไม่มีใครกล้าว่า แล้วคิดกินเพื่อลูก โด๊ปอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปมากมาย นมวัวเอย ผลิตภัณฑ์นมวัวเอย ทั้งชีส เค้ก ไอศครีม นมถั่วเหลืองซื้อมาเป็นลังๆ ไข่กินวันละหลายๆฟอง ขนมนมเนยทุกชนิด ปลาแซลมอนทุกมื้อ ผลที่ตามมา คือ แม่อ้วนทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ลูกเสี่ยงกับภาวะแพ้โปรตีนกลุ่มเสี่ยง พอคลอดลูกเสร็จ ก็ยังกินบำรุงน้ำหนักต่อ โดยคิดว่าจะทำให้ผลิตน้ำนมได้เยอะ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักส่วนเกินยังคงอยู่สะสมในร่างกาย แต่น้ำนมไม่ได้เพิ่มขึ้น (ดังรูปบน) เพราะปริมาณน้...

" Terrible 2 เด็กดื้อ งอแง เอาแต่ใจ...หรือผู้ใหญ่เป็นเอง "

 " Terrible 2 เด็กดื้อ งอแง เอาแต่ใจ...หรือผู้ใหญ่เป็นเอง "


เขียนโดย toon

เคยบอกเพื่อนๆ แม่ๆ ไว้ว่า จะเขียนบทย่อบทสรุปของหนังสือ "วิธีการพูดกับลูกโดยไม่ทำร้ายจิตใจของเขา และทำให้เขาร่วมมือยอมทำตามคุณ" (Between Parent and Child ) ให้อ่าน สำหรับเพื่อนๆ ที่ยังไม่ได้อ่าน และรวมถึงป๊านำทางด้วย ผู้ซึ่งเป็นต้นตอโดยบอกให้แม่อ่านแล้วสรุปให้หน่อย ป๊าไม่มีเวลาอ่านเองแบบเต็มๆ แม่ก็เลยโอเค บอกว่าจะอ่านและเขียนให้

แต่แม่ก็บอกไว้แล้วนะว่า ตอนเขียนก็คงเขียนแบบรวบยอดความคิดตัวเอง คงไม่ใช่นั่งย่อหนังสือเหมือนอย่างที่ทำตอนเรียน แม่จะเขียนจากความรู้สึกรวมๆ ของตัวเอง รวมความคิดจากหนังสือที่อ่าน ไม่เฉพาะเล่มนี้เล่มเดียว แต่คงรวมๆ ที่เคยอ่านๆ มาทั้งหมด รวมความคิดจากประสบการณ์ที่เจอเอง และที่ได้ยินมาด้วย ดังนั้น พอเขียนออกมาจริงๆ แล้ว ก็ไม่อยากจะบอกว่า นี่ตามตำรานะ น่าเชื่อถือ แต่มันเป็นความคิดเห็นของแม่เอง มันก็คงขึ้นอยู่กับความคิดของคนอ่านเองว่าจะคิดเห็นอย่างไร เห็นด้วยหรือไม่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะที่เขียนนี่ไม่ใช่ตำราที่จะออกสอบว่าต้องทำตามนี้จึงจะได้คะแนนเต็ม

แล้วป๊าเคยบอกว่าย่อมาแล้วเดี๋ยวจะ print แปะไว้อ่าน เอ่อ...คงจะไม่ได้แล้วมั้งป๊า เพราะแม่ก็ร่ายยาวพอดู 555

มีหลายประเด็นที่จะคุยให้อ่าน จะพิมพ์รวดเดียวก็คงไม่เหมาะ ก็เลยคิดว่าขอแบ่งเป็นตอนๆ เป็นหัวข้อไป ไม่เรียงตามหนังสือหรืออะไร แต่เอาตามที่อยากเขียนและคิดออก วันนี้ขอเริ่มแบบกว้างๆ ด้วยหัวข้อนี้ เพราะนำทางและเพื่อนๆ กำลังอยู่ในวัย Terrible 2 ที่ใครๆ ก็กล่าวขวัญถึง

2 ขวบ วัย terrible 2...หรอ?
เด็กเล็กๆ พูดไปก็ยังไม่เข้าใจ...หรอ?
ลูกดื้อ งอแง พูดไม่รู้เรื่อง...หรอ?
เด็กเอาแต่ใจ...หรอ?

ถ้าเด็กๆ พูดทำนองเดียวกันนี้กับผู้ใหญ่ได้ เด็กๆ อาจจะพูดว่า

30 ปี วัย fussy 30
ผู้ใหญ่แก่ๆ พูดไปก็ยังไม่เปิดใจ
ผู้ใหญ่(หัว)ดื้อ ง้องแง้ง ฟังไม่รู้เรื่อง
ผู้ใหญ่เอาแต่ตัว(เอง)


จริงมั้ยหนูๆ

แม่เองก็เคยคิดนิดๆ ว่ามันจะ terrible ซักแค่ไหนหว่า ที่ฟังมาแลดูสาหัสเหลือเกิน เล่นเอาพ่อแม่ปวดตับปวดไตกันไปทีเดียว ครั้งแรกที่แม่คิดว่า เอาเข้าแล้วไง โดนเข้าแล้ว ถึงเวลาแล้วหรือนี่ ตอนนั้นซักขวบกว่าๆ (เกินขวบครึ่งนะ) เจอแบบร้องอย่างหนักแล้วลงไปนอนซบหน้ากับพื้น แต่มีเลือกด้วยแน่ะ ถ้าพื้นบ้าน พื้นพรม เธอลงไปซบร้อง แต่ถ้าพื้นถนน หรือพื้นที่ดูดำๆ สกปรกๆ เธอไม่ค๊า เธอแค่นั่งลงร้อง ให้มันได้งี้ ยังมีสติเลือกที่อีกแน่ะ 555

ช่วงนั้นก็เกิดอาการแค่บางวัน อืมมม...จะเรียกว่าบางวันมั้ย เพราะมันก็ไม่ได้เป็นประจำสม่ำเสมออะไรขนาดนั้น เรียกว่ามาเป็นระยะๆ ประปราย นานๆ เจอที พอให้แม่ได้บริหารจิตบ้างว่างั้น 55 ก็รับมือด้วยการใจเย็น ลูกแรงมา เราเบาไป พูดไปแล้วเค้าไม่ฟัง ยังอยู่ในช่วงร้องวี้ดๆ ไม่สนใจจะฟัง เราก็หยุด รออยู่เงียบๆ รอให้สงบสติอารมณ์เย็นลงก่อน แล้วก็ค่อยเข้าไปกอดแล้วคุยกันเล็กน้อย ก็ทำอย่างนี้ตลอด อาการร้องๆๆ กรีดเสียงฟาดหัวฟาดหางจากนำทางก็มีไม่บ่อย และหากเกิดอาการก็จะหายได้เองในเวลาไม่นาน

จากครั้งแรกที่เจอ ผ่านมาไม่นานก็รู้สึกว่าอาการเริ่มหายไป และจนมาถึงวันนี้ (2 ขวบ 2 เดือน เศษๆ) อาการ terrible 2 (คาดว่าใช่ตามที่คนอื่นเค้ากล่าวขวัญกันนะ) สำหรับแม่แล้วรู้สึกว่ามันปกติมาก มันก็แค่อาการงอแงบางครั้งบางคราวที่ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กโต วัยรุ่น หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ก็มีไม่ต่างกัน เมื่อเวลาที่เราไม่ได้ดั่งใจอะไรซักอย่าง เราก็อาจจะกลายร่างไปได้ เพียงแต่อยู่ที่การแสดงออกของแต่ละวัยเท่านั้นเอง ยิ่งโตก็(อาจจะ)ยิ่งรู้จักควบคุมอารมณ์หรือการแสดงออกได้ดีขึ้น (ที่ต้องวงเล็บเผื่อ "อาจจะ" ก็เพราะว่ากับคนบางคนวัยวุฒิก็มิได้ช่วยอะไร ไม่ร้องไห้แงๆ เหมือนเด็กๆ แต่สติแตก วีนแตกซะยิ่งกว่าเด็กก็มี) และที่สำคัญเด็กเล็กๆ บางครั้งยังไม่สามารถพูดบอกหรือสื่อความรู้สึก ความต้องการ ของเค้าออกมาได้หมดอย่างที่ใจเค้าต้องการ และเมื่อพ่อแม่หรือคนอื่นไม่เข้าใจ และไม่สามารถตอบสนองความรู้สึกเค้าได้ถูกจุด เค้าก็เลยหัวเสีย หงุดหงิด และทำอะไรไม่ถูก เมื่ออธิบายไม่ได้มาก ก็เลยทำได้แค่ร้องแสดงความไม่พอใจ ไม่สบอารมณ์ออกมา เพื่อบอกให้รู้ว่า ไม่ใช่น๊าาาา หนูไม่เอาแบบนี้

ถ้าพ่อแม่และคนรอบตัวเข้าใจสักหน่อยว่า เค้าก็แค่ไม่สบอารมณ์เหมือนที่เราๆ ก็มีบ้าง เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปสติแตกปวดหัวอะไรกับอาการนี้ เค้าก็แค่ระบายออกเหมือนอย่างที่เราเองก็ทำ เราอาจจะระบายออกด้วยการตีหน้ายักษ์ โวยวายกับคู่กรณี บ่นให้เพื่อนฟัง หรือแอบนั่งเซ็งทำใจเงียบๆ คนเดียว ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำคือ เข้าใจและยอมรับอารมณ์ของลูก ลูกมีอารมณ์ได้ มีความต้องการได้ ไม่เข้าใจเราได้ เราต้องรู้ทันความรู้สึกของลูก แล้วก็สะท้อนความรู้สึกของเค้าออกมาได้ บอกว่าเรารู้ว่าเค้ารู้สึกยังไง สะท้อนสิ่งที่เค้าคิดออกมา เค้าจะได้เย็นลงเพราะรู้ว่าสิ่งที่เค้าจะสื่อ แม่เข้าใจนะ สิ่งที่เค้ารู้สึก แม่รู้และยอมรับนะ ถ้าเราบอกเค้าได้ว่าหนูไม่พอใจเพราะอะไร อีกหน่อยพอเค้าบอกเองได้ เค้าก็จะสามารถถ่ายทอดให้เราเข้าใจได้ดี ต่อไปเค้าจะได้รู้จักอารมณ์และก็รู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง คนที่รู้ทันอารมณ์ตัวเองก็คือคนที่มีสติ มีสติแล้วก็จะได้จัดการได้ถูกทาง

สิ่งที่จะทำต่อไป ไม่ใช่อธิบายหรือบ่นให้มันยืดยาว คิดถึงว่าเวลาเราอารมณ์ไม่ดีเราต้องการอะไร เราก็แค่ต้องการคนที่รับฟังและ(ทำเหมือน)เห็นด้วยกับเรา มันจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้นกว่าจะมีใครมาค้าน หรือมาร่ายเหตุผลร้อยแปดในตอนนั้น (แม้ว่าเค้าจะพูดถูก) และการพูดไปทั้งๆ ที่ลูกก็ยังกรีดเสียง ไม่พร้อมรับฟัง แม่มิต้องกรีดเสียงพูดแข่งกับลูกเหรอ ให้เวลาสักหน่อย เมื่อเค้ารู้ว่าเราเข้าใจเค้าแล้วเค้าจะสงบได้เร็ว

เมื่อลูกสงบแล้ว ต้องรีบสอนเลยมั้ย ต้องรีบอธิบายเหตุการณ์เมื่อกี๊เลยมั้ย ไม่จำเป็นเลย ถ้าบอกเค้าไปแล้วว่าเราเข้าใจเค้า เราก็ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรให้มากความเรื่องนั้นอีก หากเรื่องนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่อยากให้ลูกทำอีก เป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร ก็ควรที่จะหาโอกาสสอนทีหลังเมื่อสบโอกาสตามแต่เรื่องนั้นๆ (การจะสอนยังไงก็แล้วแต่เรื่องอีกหละนะ ถ้าจะให้พูดถึงคงต้องแยกไว้ต่างหาก) เมื่อลูกเงียบ ลูกจบ เราก็ควรจบ หากจะพูดจริงๆ ก็พูดให้สั้นและกระชับที่สุด มิใช่บ่นร่ายยาวฉายซ้ำ เด็กไม่อยากฟัง เหมือนที่เราเองเคยบ่นตอนเด็กๆ ว่า ผู้ใหญ่ขี้บ่นจัง

ทีนี้สิ่งที่เราต้องทำก็คือ การช่วยสอนให้เค้ารู้จักแสดงออกหรือระบายอารมณ์อย่างถูกต้องเหมาะสม ลูกโมโหได้ งอแงได้ ง่วงได้ โกรธได้ เหมือนเราๆ แต่จะทำยังไงถ้ามีอารมณ์เหล่านี้แล้ว จะแสดงออกยังไงให้ดี การสอนเรื่องนี้ที่ดีที่สุดก็คือ การที่แม่ตอบโต้พฤติกรรมต่างๆ ของเค้านี่เอง

แม่ไม่พอใจได้ โมโหได้ โกรธลูกได้เหมือนกัน บอกเค้าว่าแม่ไม่พอใจได้ แต่บอกด้วยการบอกกล่าว ไม่ใช่ดุด่าหรือโวยวายหรือบ่นให้มากความ พูดแบบเรียบๆ แสดงความไม่พอใจด้วยคำพูดและสีหน้าได้แบบไม่รุนแรง ลูกจะได้เห็นว่า แม่โมโหได้แต่แม่รู้จักที่จะบอกดีๆ นะ แม่โมโหแต่แม่ก็จะไม่โวยวายนะ แม่โมโหแต่แม่ก็ไม่ปาของ ไม่ดิ้นกับพื้นนะ ทำเป็นตัวอย่างก่อนอันนี้สำคัญ มันใช้เวลาในการให้เด็กซึมซับ แต่ได้ผลกว่าในระยะยาว

การตอบโต้ของแม่จะทำให้เค้าค่อยๆ ซึมซับแล้วรู้ว่า ถ้าไม่พอใจจะแสดงออกยังไง บอกได้แม่จะเข้าใจ และก็เหมือนกับว่าเป็นการปลูกฝังว่า ไม่ใช่ใครทำเราแรงเราต้องตอบกลับแรง ถ้าแม่ตอบโต้ด้วยอารมณ์ที่แรงกลับ ตี หรือบังคับ หรือข่มขู่ หรือดุด่าว่ากล่าว อาจจะหยุดเด็กได้แค่ตอนนั้นแต่จะไม่ช่วยให้เค้าเปลี่ยนพฤติกรรมได้ แล้วมันก็จะเกิดขึ้นอีก และในอนาคต อีกหน่อยใครแกล้งเค้าเค้าก็อาจจะตอบกลับแบบเดียวกันกับที่โดน รู้แต่จบปัญหาด้วยความรุนแรงและการเอาชนะ ซึ่งเค้าควรจะรู้จักตอบกลับอย่างสงบ รู้ว่าตัวเองไม่พอใจแต่ไม่ใช้ความรุนแรงนะ ไม่ใช่ว่าคนมีแรงมีอำนาจมากกว่าจะชนะนะ เหมือนกับที่แม่ชนะเค้าเพราะแม่ดุเค้าได้ตีเค้าได้

ตอนแรกๆ แม่ก็ทำแค่อย่างที่เล่าไปคือ ถ้าพูดแล้วหยุดไม่ได้แม่ก็เงียบแล้วรอก่อนค่อยปลอบค่อยอธิบายทีหลัง แต่ตอนนี้แม่เปลี่ยนใหม่ แม่จะหาสิ่งที่ลูกต้องการสื่อจริงๆ ให้ได้ก่อน แล้วพูดออกไปตามที่คิดว่าลูกรู้สึก พูดด้วยความเข้าใจ เห็นอกเห็นใจ ซึ่งมันได้ผลกว่า! (ไม่ต้องทนฟังเสียงร้องนานเท่าเดิม)

ยกตัวอย่าง

วันหนึ่ง เราจะออกไปส่งของในเมืองกัน ทีนี้ต้องรอป๊าไปเอารถที่โกดังก่อน นำทางก็เอาเลยสิ ปะป๊า ปะป๊าาาาาาา จะไปกับป๊า จะไปเอารถ แม่ก็บอกว่าป๊าไปเอารถก่อนนะแล้วเดี๋ยวกลับมารับแม่กับหนูไง เราไปเล่นรอป๊ากันก่อนเนอะ ก็ยอมเข้ามาเล่นนะ แต่... แม่ทำอะไรก็ไมถูกใจ


แม่เอาอันนี้สิ
ไม่ใช่ๆ ทำแบบนี้
ต้องจับแบบนี้
แง้วๆๆๆ แล้วก็ร้องไห้แงงงงงงงง


เอ่อ แม่ก็ทำตามขั้นตอนการเล่นของลูกแล้วนะ แต่ก็ไม่ได้ดั่งใจเธอซะที ทีนี้แม่ก็เลยหันไปโอบลูกแล้วพูดว่า

หนูอยากไปเอารถกับปะป๊าใช่มั้ย กลัวป๊าไม่กลับมารับใช่มั้ยคะ

นำทางนิ่งแล้วพยักหน้าหงึกๆ แล้วก็หยุดร้องไห้ แม่เห็นว่าดูท่าทางจะสงบสติแล้วก็เลยพูดต่อนิดหน่อย

ป๊าไม่ทิ้งลูกหรอก แม่ก็ต้องรอป๊าเหมือนกัน เราเล่นรอป๊ากันก่อนเนอะ

นำทางพยักหน้าหงึกๆ อือๆ แล้วทีนี้ก็เล่นรอได้อย่างสงบ

นำทางไม่ได้อารมณ์เสียที่แม่เล่นด้วยไม่ถูกใจ หรือจะเอาแต่ใจว่าแม่จะต้องทำตามที่ตัวเองสั่ง แต่จริงๆ แล้วนำทางกำลังกังวลถึงเรื่องที่ป๊าออกไปก่อน กลัวว่าจะไม่ได้ไปด้วย ไม่มั่นใจว่าป๊าจะมารับจริงหรือเปล่า เมื่อแม่เข้าใจลูกและบอกแทนลูกได้ตรงจุด และแม่ให้ความรู้สึกมั่นใจกับลูกได้ นำทางก็เลยสบายใจและมั่นใจขึ้น จึงยินดีที่จะรอต่อได้

ถ้าเกิดว่าแม่ไม่เข้าใจ หรือแม่ไม่ยอมรับความรู้สึกลูก บางคนก็อาจจะตอบโต้แบบนี้

แม่ก็เล่นแล้วไง แม่ก็ทำตามที่บอกแล้ว หนูจะเอายังไงอีก
ลูกต้องรอสิ หนูต้องรู้จักรอ เดี๋ยวป๊าก็มา

หรือ

โอ๋ๆ อย่าร้องไห้นะ ไม่ต้องร้อง

หรือ

ปล่อยให้ร้องไป รอป๊ามาถึง
รอให้เงียบ แล้วค่อยอธิบายกันใหม่ (อย่างที่แม่เคยทำ)


เหล่านี้ไม่ช่วยให้เด็กรู้จักการจัดการกับความรู้สึกตัวเองได้เลย แล้วเด็กก็ไม่ได้รับรู้ด้วยว่าแม่เข้าใจเค้า ถ้าเรายอมรับและเข้าใจเค้า เค้าก็จะมีความรู้สึกที่ดีที่จะบอกกล่าวสิ่งต่างๆ กับแม่ รู้ว่าแม่จะเข้าใจและรับฟัง และก็ยังทำให้เป็นคนที่มีความมั่นคงทางใจมากขึ้น เพราะสามารถแสดงออกได้ (อย่างเหมาะสม)

การปลอบทำนองว่า ไม่ต้องร้อง ไม่ต้องกลัว แม่คิดว่ามันจะเหมือนกับว่า สิ่งที่เค้ากลัวนี่มันไม่ควรกลัวหรอ ความรู้สึกของเค้าไม่ถูกต้องหรอ เค้าอาจจะกลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจไป หรือไม่แน่ใจในสิ่งที่ตัวเองรู้สึก แม่เองก็เคยพูดบ้าง อย่างเช่น นำทางมักกลัวเสียงดังๆ เมื่อก่อนแม่ก็ปลอบว่า โอ๋ๆ ไม่ต้องกลัว คุณแม่อยู่นี่นะ แต่เดี๋ยวนี้แม่จะพูดว่า ลูกกลัวหรอ ตกใจเพราะเสียงดังใช่มั้ย แม่ก็หนวกหูเหมือนกัน เราเข้าไปในครัวกันดีกว่า ที่แม่พูดอย่างนี้ เพราะแม่อยากบอกให้ลูกรู้ว่าความรู้สึกนี้มันไม่ผิด ถ้าลูกจะรู้สึกอะไรลูกก็บอกตรงๆ ได้ ลูกกลัวได้ แต่เราจะทำยังไงต่อไป จะแก้ปัญหานี้ยังไง

แม่ยอมรับว่าแม่เองก็มีอาการหลุดอยู่บ้าง (หรือที่แม่ๆ ชอบเรียกกันว่า ปรี๊ดแตก) แต่แม่ก็ไม่ใช้การลงโทษ ตี หรือใช้ความรุนแรงใดๆ จัดการกับลูก อันที่จริงปรี๊ดแตกของแม่มักไม่ใช่ปรี๊ดเพราะลูก แต่ปรี๊ดป๊า 555 เพราะว่าบางทีตอนที่หมดมุขจะล่อลูกแล้ว หรือหมดแรงจะจัดการกับลูกแล้ว เริ่มเหนื่อยใจ ก็อยากจะให้ป๊ามาเสียบแทนบ้าง แต่ป๊าชอบทำตัวไม่รู้ร้อนรู้หนาวหนะสิ ไอ้นี่แหละที่ทำให้แม่ปรี๊ดแตก

ส่วนถ้าจะหลุดกับลูก แม่ก็มีบ้างเหมือนกัน แต่ก็จะหลุดแบบเงียบๆ อย่างเช่น บางทีหมดมุขแล้วหงะ แล้วแม่ก็เริ่มนอยละ เริ่มจะหมดความอดทน ก็จะแบบเงียบเลย บอกลูกแค่ว่า แม่ไม่พอใจเรื่องนี้ แล้วก็เงียบไปเลย ไม่บ่นให้มากความ

อย่างเช่น เรื่องไม่ยอมให้แม่แปรงฟันให้ (แต่ตัวเค้าเองแปรงเองแล้ว แล้วเค้าบอกว่าเค้าแปรงแล้ว แต่แม่บอกว่ามันไม่สะอาดพอ) แม่ก็ล่อไปล่อมา หามุขสุดฤทธิ์ มีบางวันสุดท้ายก็ยังไม่ยอมอีกแม่ก็เงียบเลย แบบว่าเหนื่อยและโมโหแล้วเฟ้ย ก็บอกว่า

หนูไม่ให้แม่แปรงให้ แม่ก็ไม่แปรงก็ได้ แต่แม่โมโหแล้ว แม่ไม่อยากคุยแล้ว

แล้วก็เงียบไปทำอะไรของตัวเองต่อไป

(วิธีการนี้ก็ไม่ได้แนะนำว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ควรใช้ การใช้วิธีแบบนี้ ก็เป็นการขู่ลูกเหมือนกัน ลูกจะทำด้วยยอมจำนน กลัวแม่ไม่ยุ่งด้วย แต่ไม่ได้ช่วยให้เค้าสำนึกว่าเค้าควรจะต้องทำ หรือทำด้วยความยินดี ซึ่งสิ่งที่แม่ปลูกฝังนำทางต่างๆ แม่จะพยายามหาทางทำให้ลูกรู้สึกชอบที่จะทำได้ด้วยตัวเอง แต่อย่างที่บอก อันนี้แม่เป็นเมื่อหลุดแล้วจริงๆ)

นำทางก็จะแบบรู้แล้วถ้าแม่เงียบนี่ คือโกรธมากๆ ละ เค้าก็จะแบบบางทีถ้าป๊าอยู่ด้วย ก็จะหันไปหาที่พึ่งคือป๊าแทน ป๊าก็จะบอกว่า แม่โกรธแล้วเห็นมั้ย หนูแปรงเองมันไม่พอ ไม่สะอาด แม่เลยอยากช่วยแปรงให้ บางทีลูกก็จะกุ๊งกิ๊งๆ เฉไฉไรไปสักพักแล้วก็ค่อยๆ เดินมาหาแม่เอง หยิบแปรงมาส่งให้ แล้วบอกว่า ให้แม่แปรงให้ แม่ก็หันมาหา ยิ้ม แล้วก็ ดีแล้ว หนูหัดแปรงเองก็ดีแล้วลูก แต่มันไม่พอ แม่ช่วยนะ

บางทีก็อาจจะเก๊ก ไม่ยอมให้แม่แปรงอยู่ดี แล้วก็หันไปให้ป๊าแปรงให้แทน ก็โอเค แล้วพอแปรงเสร็จก็จะค่อยมาหาแม่บอกว่า ป๊าแปรงให้แล้ว ปากหอมแล้ว มาให้แม่หอม (แอบง้อว่างั้น อิอิ)

ก่อนจบตอนนี้ ขอทิ้งท้ายไว้ว่า เราต้องเคารพในความรู้สึกและความคิดของลูก บางอย่างที่เค้าไม่พอใจ และตอนนั้นเราเองก็ไม่พอใจ แต่มันก็เป็นเพราะคิดคนละอย่าง เหมือนอย่างผู้ใหญ่ทะเลาะกันหนะแหละ บางทีเราคิดแต่ว่าเด็กไม่รู้เรื่อง สิ่งที่เด็กทำมันผิด ไม่ถูก ลูกควรจะเข้าใจอย่างนี้ เราควรจะบอกทางที่(เราคิดว่า)ถูกให้เค้า แต่บางทีบางอย่าง มันอาจจะไม่ใช่เรื่องผิดที่ลูกเค้าจะคิด หรือจะอยากทำอีกอย่าง ที่มันขัดกับเราก็ได้ ถ้าเราไม่ฟังลูกบ้าง เอาแต่บอกว่า ไม่ ลูกต้องทำตามที่แม่บอก ตี บังคับ ... เรานี่แหละที่เอาแต่ใจ

ลิงค์ถาวร : http://www.numthang.org/content/4937/1/

ความคิดเห็น