การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว

การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว หลังคลอดลูก หากคุณแม่ให้นมลูกเอง นน.จะลงมาเป็นปกติภายใน 1-6 ด.โดยไม่ต้องซื้อคอร์สลดนน.ราคาแพง หรือ ซื้อยาลดนน.จากอินเตอร์เนทที่เป็นอันตรายมากิน โดยมีข้อแม้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 10-12 กก.ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่ 3 ด.แรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลย 3 ด.ถัดมาขึ้น 6 กก. และ 3 ด.สุดท้ายขึ้น 6 กก. ใครที่นน.ขึ้นเกินจากนี้ ไม่ดีนะคะ อย่าคิดว่าตอนท้องเป็นช่วงโปรโมชั่น อยากกินอะไรก็กินได้ตามใจอยาก อ้วนได้ไม่มีใครกล้าว่า แล้วคิดกินเพื่อลูก โด๊ปอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปมากมาย นมวัวเอย ผลิตภัณฑ์นมวัวเอย ทั้งชีส เค้ก ไอศครีม นมถั่วเหลืองซื้อมาเป็นลังๆ ไข่กินวันละหลายๆฟอง ขนมนมเนยทุกชนิด ปลาแซลมอนทุกมื้อ ผลที่ตามมา คือ แม่อ้วนทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ลูกเสี่ยงกับภาวะแพ้โปรตีนกลุ่มเสี่ยง พอคลอดลูกเสร็จ ก็ยังกินบำรุงน้ำหนักต่อ โดยคิดว่าจะทำให้ผลิตน้ำนมได้เยอะ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักส่วนเกินยังคงอยู่สะสมในร่างกาย แต่น้ำนมไม่ได้เพิ่มขึ้น (ดังรูปบน) เพราะปริมาณน้...

บทสัมภาษณ์ : อาจารย์วราภรณ์ วิไลงาม เรื่อง “ปัญหาการพูดของเด็ก

 บทสัมภาษณ์ : อาจารย์วราภรณ์ วิไลงาม เรื่อง “ปัญหาการพูดของเด็ก”


รายการ “พ่อแม่มือใหม่ หัวใจเกินร้อย” FM 105

ถอดคำสัมภาษณ์ อาจารย์วราภรณ์ วิไลงาม นักเวชศาสตร์การสื่อความหมายระดับชำนาญการ

ผู้ดำเนินรายการ คุณสรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

ผู้ถอดคำสัมภาษณ์ : คุณ เอ อรทัย orathaia.multiply.com

วันจันทร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2553 เรื่องเกี่ยวกับ “ปัญหาการพูดของเด็ก”



คุณสรวงมณฑ์  : ก่อนอื่นเลยคงต้องให้อาจารย์เล่าให้ฟังก่อนว่า โครงสร้างของการที่มนุษย์ หรือว่าทารกจะพูดออกมาได้  มันจะต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบอะไรก่อนคะ?

อาจารย์วราภรณ์ : องค์ประกอบของการที่เราจะสื่อสาร จะต้องประกอบไปตั้งแต่อวัยวะในเรื่องของการพูด เรื่องของสมอง

อวัยวะในการพูดจะหมายถึง process หรือกระบวนการในการที่เราจะพูดได้ จะต้องเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องของลมหายใจ เราจะต้องมีกระบวนการหายใจที่เป็นปกติ มีการเคลื่อนไหวของสายเสียง มีการสั่นสะเทือนของเส้นเสียง มีการเคลื่อนไหวของอวัยวะในการออกเสียงให้ถูกฐานเสียง และแหล่งกำเนิดของเสียง เราจะต้องมีการกำธรของเสียงในช่องโพรงจมูก เพื่อให้เกิดความกังวานในเรื่องของการพูด อันนี้คือความสมบูรณ์ในเรื่องของกระบวนการที่มนุษย์เราจะพูดได้

นอกจากนี้ สมองจะเป็นตัวที่จะรับสัญญาณ แปลงสัญญาณ แปลความหมาย แล้วก็สื่อสารคือเรื่องของการพูด เพราะฉะนั้นการพัฒนาภาษาก็จะมีผลต่อเรื่องของการพูด

คุณสรวงมณฑ์  : อันนี้คือเรื่องของอวัยวะโครงสร้างของการพูดแล้วก็สมอง ทีนี้ถ้ามีการผิดปกติบางอย่างที่เกี่ยวกับการพูดแสดงว่า 2 สิ่งนี้จะต้องมีอะไรที่ผิดปกติ?

อาจารย์วราภรณ์ : ใช่แล้ว จะต้องมีการตรวจหาสาเหตุ ปัญหาในเรื่องของการสื่อความหมายก็จะมีหลายๆ ประเภทออกไป

คุณสรวงมณฑ์  : ค่ะ ให้อาจารย์เล่าให้ฟังนิดหนึ่งว่า ตอนนี้ปัญหาที่มักจะเจอะเจอกับเด็กๆ ในบ้านเราเอาเฉพาะเรื่องนี้ก่อนยังไม่ไปเรื่องพฤติกรรมนะคะ

อาจารย์วราภรณ์ : เอาเรื่องของภาษาและการพูดนะคะ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องติดอ่างนะคะ หรือยังไงคะ?

คุณสรวงมณฑ์  : เอาหมดเลยค่ะ ว่าส่วนใหญ่ปัญหาที่มักจะเจอนี่เป็นปัญหาอะไรคะในบ้านเรา?

อาจารย์วราภรณ์ : ในบ้านเรานี่นะคะ ถ้าในเรื่องของภาษาและการพูดเราจะนึกถึงเด็ก ยกตัวอย่างง่ายๆ ของในโรงพยาบาลเด็ก ปัญหาของเด็กที่มักจะพบมากที่สุด ในเรื่องของการสื่อความหมายคือ การพูดล่าช้ากว่าวัย ถึงวัยพูดแล้วแต่ยังไม่พูด ซึ่งก็ต้องมาหาสาเหตุอีกว่าพูดช้าเพราะอะไร ก็ต้องมีการตรวจและวินิจฉัย มีเรื่องของพูดไม่ชัด พูดเสียงผิดปกติ พูดไม่ชัดนี่ก็ยังแยกอีกนะคะ เป็นพูดไม่ชัดที่เกิดจากความคุ้นเคย หรือความเคยชินในการพูดที่ผิดปกติ โดยที่อวัยวะในการสื่อความหมายนั้นเป็นปกติ อีกกลุ่มหนึ่งก็จะเป็นคนไข้ที่มีปัญหาในด้านอวัยวะ และโครงสร้างในการพูด เช่น ในเด็กที่มีปากแหว่งเพดานโหว่ ก็จะมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสารและสื่อความหมายได้ คนไข้ที่มีปัญหาเรื่องของการพูดติดอ่าง เด็กที่มีปัญหาในเรื่องของการเรียน เรื่องของพฤติกรรมต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่เราพบได้ อันนี้เราพูดในส่วนของเด็ก

อย่างเสียงผิดปกติที่เราจะพบมากๆ ก็จะเป็นเรื่องของเสียงแหบ เราก็ต้องมาดูว่ามีสาเหตุอะไร

คุณสรวงมณฑ์  : แล้วจริงๆ แล้วเกิดจากสาเหตุอะไรคะเสียงแหบนี่?

อาจารย์วราภรณ์ : เสียงแหบต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกก็คืออาจจะเกิดจากการใช้เสียงผิด (misuse) มีการตะโกน โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ตะโกน ตะเบ็ง ส่งเสียง...

คุณสรวงมณฑ์  : เวลาร้องก็จะร้องแบบหน้าดำหน้าแดง

อาจารย์วราภรณ์ : ใช่ค่ะ แล้วก็ทำให้เกิดการทำงานของสายเสียงมากกว่าปกติ แล้วก็อาจจะมีพยาธิสภาพเกิดขึ้น เช่น มีสายเสียงบวม สายเสียงอักเสบ แล้วก็เกิดเสียงแหบตามมา

หรืออีกกลุ่มหนึ่งก็อาจจะมีปัญหาในเรื่องของอวัยวะคือสายเสียง เช่น พอใช้เสียงมากๆ ก็มีปัญหา เช่น มีตุ่มเนื้อที่สายเสียง หรือในเด็กคลอดก่อนกำหนด หรือในเด็กที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แล้วก็จะต้องมีปัญหาเรื่องของการกระทบกระเทือนกับกล่องเสียง แล้วก็ทำให้มีปัญหาในเรื่องของการพูด เป็นต้น  แต่ว่าในโรงพยาบาลเด็กของเรา ส่วนใหญ่ปัญหาที่จะมาก็จะเป็นเรื่องการร้อง การตะโกน ใช้เสียงผิดวิธี แล้วก็มีผลต่อเรื่องเสียงแหบ เสียงหายไปในขณะที่พูด

คุณสรวงมณฑ์  : ค่ะ มีแบบหายไปแล้วกลับมา หรือแหบถาวรมีไหมคะ?

อาจารย์วราภรณ์ : แหบถาวรหรือไม่? จริงๆ แล้วการแก้ไขเสียงแหบในเด็กกับผู้ใหญ่จะมีความแตกต่างกัน เราก็ต้องทำความเข้าใจนิดหนึ่งว่าในเด็ก เนื่องจากไหล่เค้าเล็ก หลักในการแก้ไขเสียงแหบข้อแรกเลยคือ จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการใช้เสียงก่อน ในเด็กที่โตขึ้นอาจจะต้องเป็นเรื่องของการฝึกการหายใจ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฉะนั้นในเด็ก ส่วนใหญ่แล้วเราจะต้องมาเน้นให้คุณพ่อคุณแม่นั้น มีส่วนช่วยในการปรับปรุงพฤติกรรมการใช้เสียง เช่น ลดการตะโกน ตะเบ็ง การทำเสียงเล็กเสียงน้อย เสียงแปลกๆ เรื่องของอารมณ์ในเด็กบางราย ตรงนี้ก็จะมีส่วนช่วยเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ในเรื่องของเสียงที่จะต้องมีการแก้ไขต่อมา

คุณสรวงมณฑ์  : มีคำถามจากคุณแม่ท่านหนึ่งนะคะ ลูกเพิ่งคลอดได้ไม่กี่วัน แล้วคุณหมอก็ตรวจพบว่าลิ้นไก่หายไปนิดหนึ่ง แล้วก็มีเพดานโหว่นิดหน่อย มันจะส่งผลกระทบยังไง?

อาจารย์วราภรณ์ : มีเพดานโหว่ด้วยใช่ไหมคะ?

คุณสรวงมณฑ์  : แต่นิดหน่อยค่ะ

อาจารย์วราภรณ์ : นิดหน่อยใช่ไหมคะ แต่ที่สำคัญตอนนี้ก็คือ ถ้าพบว่ามีปัญหาทางด้านของเพดานโหว่ร่วมด้วยแล้ว คิดว่าใน process ต่อไปของโรงพยาบาลเอง ก็จะต้องมีการส่งปรึกษาแพทย์ทางด้านศัลยกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาทางด้านของอวัยวะ และโครงสร้างก่อน เด็กทารกถ้ามีปัญหาในเรื่องของเพดานโหว่จะเกิดการสำลักนม ก็จะต้องมีการปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อที่จะใส่เพดานเทียมเพื่อป้องกันการสำลัก  มีการปรึกษาแพทย์ทางด้านศัลยกรรม เพื่อแก้ไขทางด้านของเพดานและริมฝีปาก

ไม่ทราบว่ามีปัญหาริมฝีปากด้วยหรือเปล่าคะ? หรือเป็นเฉพาะเพดานโหว่?

คุณสรวงมณฑ์  : เป็นเฉพาะเพดานโหว่ค่ะ

อาจารย์วราภรณ์ : เป็นเฉพาะเพดานโหว่ฉะนั้นคงต้องมีการปรึกษาทางด้านของศัลยกรรม คิดว่าโรงพยาบาลคงจะต้องดำเนินการตรงนี้ให้คุณแม่อยู่แล้วเพราะ process หรือกระบวนการ เด็กก็ต้องได้รับการแก้ไขทางด้านของอวัยวะ ต้องมีการผ่าตัดแล้วก็ดูว่าผิดปกติขนาดไหน หลังจากที่มีการผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว เด็กก็ต้องมาฝึกพูดซึ่งเด็กที่เพดานโหว่ก็จะมีปัญหาหลายๆ อย่างไม่ใช่เฉพาะแค่พูดไม่ชัด อาจจะต้องมาดูในลักษณะภาพรวม มีการประเมินว่ามีการพูดช้าหรือไม่ มีการพูดไม่ชัดแน่ๆ ในเด็กเพดานโหว่ พูดเสียงขึ้นจมูกอู้อี้ๆ เหมือนที่บางคนบอกว่า “เอ๊ ลิ้นไก่สั้นหรือเปล่า? ทำให้พูดแล้วมีปัญหา”

ทีนี้ถ้าลิ้นไก่สั้นแล้วไม่ได้มีปัญหาความผิดปกติทางโครงสร้าง เป็นลักษณะแค่นั้นโดยที่ไม่สามารถแก้ไขโดยการผ่าตัดได้ ก็คงจะต้องฝึกพูด แต่ถ้ามีปัญหาทางด้านของอวัยวะและโครงสร้าง ก็ต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขก่อน แล้วก็จะมีการส่งต่อทำระบบค่ะ

คุณสรวงมณฑ์  : ก็คือว่าอย่าเพิ่งไปวิตกกังวลมากจนเกินไป ไปปรึกษา...

อาจารย์วราภรณ์ : ก็ต้องปรึกษาแพทย์ ถ้าน้องอยู่ในโรงพยาบาล คุณแม่ก็ต้องปรึกษาคุณหมอเลยว่าจะต้องทำยังไงต่อไป เพื่อที่จะรับการรักษาต่อเนื่องเพราะว่าจะต้องพบอีกหลายๆ หน่วยเพื่อที่จะประเมินความผิดปกติตรงนี้นะคะ

คุณสรวงมณฑ์  : แล้วลิ้นไก่นี่มันส่งผลต่อการพูดโดยตรงหรือเปล่าคะ?

อาจารย์วราภรณ์ : จริงๆ ส่งผลต่อการพูดในเรื่องคุณภาพของการออกเสียง

คุณสรวงมณฑ์  : อักขระที่ชัดเจน

อาจารย์วราภรณ์ : ไม่ใช่ค่ะ พูดเสียงขึ้นจมูก

คุณสรวงมณฑ์  : อ๋อ

อาจารย์วราภรณ์ : การที่ลิ้นไก่สั้นหรือมีความผิดปกติในด้านของเพดานโหว่ จะทำให้ลักษณะของการออกเสียง เวลาเราพูด เสียง...

คุณสรวงมณฑ์  : มันจะขึ้นจมูก

อาจารย์วราภรณ์ : ค่ะ เสียงส่วนใหญ่จะเป็นเสียงที่เค้าเรียกว่าเสียง oral เป็นเสียงที่อยู่ในช่องปาก แล้วก็จะมีบางหมู่เสียงในภาษาไทยเท่านั้นเอง ที่จะต้องเป็นเสียงขึ้นจมูก ทีนี้พอมีปัญหาที่ลิ้นไก่ มีปัญหาที่เรื่องของเพดานอ่อนและผนังคอ ก็จะทำให้มีการปิดของอวัยวะทั้งสองส่วนตรงนี้ไม่ดี เพราะฉะนั้นเวลาพูด ถ้ากล้ามเนื้อไม่แข็งแรงพอก็จะต้องมีลมรั่วไปทางจมูก เด็กลักษณะเหล่านี้ก็จะพูดแล้วอู้อี้ๆ มีลมรั่วทางจมูกขณะที่มีการออกเสียง

คุณสรวงมณฑ์  : แต่รักษาให้หายขาดได้ไหมคะ?

อาจารย์วราภรณ์ : ก็จะต้องแก้ไขทางด้านของอวัยวะก่อน โดยการผ่าตัดถ้าเป็นลักษณะของเพดานโหว่นะคะ  แล้วขั้นตอนต่อไปก็ต้องฝึกพูด เพื่อที่จะควบคุมเรื่องของการเคลื่อนไหว เรื่องของการออกเสียงให้ชัดเจน ร่วมไปกับการแก้ไขเรื่องเสียงขึ้นจมูก

คุณสรวงมณฑ์  : กรณีของคุณแม่ท่านนี้นะคะ ถ้าจะไปรับการแก้ไข ควรจะต้องรอให้เค้าอายุเท่าไหร่ก่อนแล้วหรือเปล่าคะอาจารย์?

อาจารย์วราภรณ์ : จริงๆ ถ้าอยู่ในโรงพยาบาลอยู่แล้ว คุณหมอก็จะให้คำแนะนำอยู่แล้ว คือเริ่มต้นกระบวนการเลย อย่างน้อยถ้ามีเพดานโหว่ร่วมด้วย ก็จะต้องมีการปรึกษาแพทย์ทางด้านอย่างที่บอกน่ะค่ะ คือทางด้านทันตกรรม คุณหมออาจจะต้องใส่เพดานปลอม เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เด็กสำลักเวลาทานนม และเด็กจะต้องได้รับการ follow-up หรือการตรวจต่อเนื่อง การส่งปรึกษาตามแผนกต่างๆ ตามระยะเวลาอันเหมาะสมอันควร เพราะฉะนั้นเด็กก็อาจจะต้องพบศัลยแพทย์เพื่อที่จะรับคำแนะนำ แล้วการผ่าตัดก็ต้องมีช่วงเวลาของเค้าอีกว่าจะเริ่มผ่าเมื่อไร

คุณสรวงมณฑ์  : ค่ะ สาเหตุเกิดจากอะไรคะอาจารย์?

อาจารย์วราภรณ์ : ถ้าเป็นในเรื่องของเพดานโหว่ สาเหตุก็อาจจะเป็นเรื่องของความผิดปกติทางด้านพันธุกรรม อาจจะเคยมีหรือมีใครในครอบครัวที่มีปัญหาเหล่านี้มาก่อน เป็นเรื่องของยีน (gene) ที่ผิดปกติที่จะต้องแก้ไขในเรื่องของอวัยวะ เพื่อที่จะพูดให้ได้ชัดเจนแล้วก็สื่อความหมายได้นะคะ

คุณสรวงมณฑ์  : คำถามคุณณรงค์ศักดิ์บอกว่าลูกชายตอนนี้ 5 ขวบแล้วนะคะ ยังออกเสียง “ส” เป็น “ต” อยู่เลย อย่างนี้ถือว่าผิดปกติและต้องรับการฝึกแก้ไขหรือเปล่าคะ?

อาจารย์วราภรณ์ : ก็จะต้องถามต่อไปอีกนิดหนึ่งนะคะว่าจริงๆ อาจจะไม่ได้มีเฉพาะเสียง “ส” ตัวเดียวหรือเปล่า หรือว่ายังไงคะ?

คุณสรวงมณฑ์  : อืม ตอนนี้แจ้งมา “ส” ตัวเดียวค่ะ

อาจารย์วราภรณ์ : “ส” ตัวเดียวใช่ไหมคะ ก็แนะนำให้ไปตรวจและก็ไปพบนักแก้ไขการพูดเพื่อได้รับการประเมินนะคะ คือพัฒนาการของเด็ก ในเรื่องการออกเสียงการพูด ในแต่ละวัยจะพูดชัดเจนไม่เท่ากัน เด็กที่มีอายุน้อยก็จะออกเสียงชัดเจนได้หมู่เสียงจำนวนหนึ่ง พอ 7 ขวบอย่างนี้ก็ควรจะพูดชัดเจนทุกๆ เสียง แต่ถ้า “ส” นี่ประมาณ 5 ขวบครึ่งก็ควรจะพูดได้ชัดแล้ว ตอนนี้ถ้าน้องอายุประมาณ 5 ขวบเป๊ะๆ เราก็อาจจะต้องพาไปตรวจ เพราะเราจะได้ประเมินว่าน้องมีพูดตัวอื่นไม่ชัดหรือเปล่าค่ะ

คุณสรวงมณฑ์  : ค่ะอาจารย์ อยากจะให้อาจารย์ช่วยลำดับพัฒนาการในเรื่องการพูดในแต่ละวัย ขอตั้งแต่เล็กเลยค่ะอาจารย์ว่าถ้าออกเสียงแบบไหนยังไม่ต้องกังวล เป็นปกติ แล้วควรมาถึงอายุขนาดไหนที่ต้องกังวล เช่น 7 ขวบอย่างที่อาจารย์บอก อย่างนี้เริ่มมีปัญหาแน่ๆ ค่ะ

อาจารย์วราภรณ์ : โดยปกติแล้วในแต่ละวัยเราจะพูดชัดเจนได้ไม่เท่ากัน ทีนี้ถ้าเราพูดถึงเบื้องต้นก่อนเลยนะคะ  คุณพ่อคุณแม่เองอาจจะสังเกตอย่างนี้ก่อนก็ได้ค่ะ เพราะเราอาจจะไม่รู้ เนื่องจากเราไม่ได้เป็นนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง เราอาจจะใช้วิธีสังเกตง่ายๆ อย่างนี้ค่ะว่า เมื่อเทียบลูกเรากับเด็กในวัยเดียวกัน แล้วปรากฏว่าลูกเราพูดไม่ได้เท่าคนอื่น “เอ๊ ทำไมวัยเดียวกัน คนอื่นพูดชัดแต่ลูกเรายังไม่ชัดอีกเยอะแยะเลย”  ก็อาจจะเป็นมูลเหตุเบื้องต้นเลย ที่เราจะพาน้องมาตรวจมาประเมิน เพราะว่าการมาตรวจในโรงพยาบาลกว่าจะได้รับคิวตรวจ กว่าจะตรวจ กว่าจะพบ บางครั้งต้องบอกว่าไม่ได้สามารถตรวจได้ในวันเดียวกันทุกๆ แผนกนะคะ เพราะฉะนั้นไม่ควรจะรอถ้าอยากรู้

ยกตัวอย่างง่ายๆ ละกันค่ะว่าในวัยแต่ละวัยที่เมื่อกี้คุณพิธีกรถามว่า จะสังเกตยังไงว่าชัดในหน่วยเสียงไหนนะคะ อย่างเช่น สมมติประมาณ 2 ขวบถึง 2 ขวบครึ่งนะคะ เด็กจะออกเสียงที่เป็นฐานเสียงริมฝีปาก เช่น “ม” ควรจะเรียก “แม่” ได้ละ

คุณสรวงมณฑ์  : “หม่ำ”

อาจารย์วราภรณ์ : “หม่ำ” “น้ำ” “อย่า” “ยาย” “ข้าว” “เอา” อย่างนี้เป็นคำที่เป็นฐานเสียงดังที่กล่าวมาแล้วนะคะ แล้วพอเริ่มโตขึ้น จำนวนหน่วยเสียงก็จะมากขึ้น อย่างที่เคยอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่ฟังตอนอยู่ที่โรงพยาบาลนะคะ ก็ไม่อยากให้จำเพราะอย่างที่บอกแล้วว่าเราไม่ใช่นักสัทศาสตร์

คุณสรวงมณฑ์  : แล้วก็คือจะไปจับผิดแต่ตรงนั้นใช่ไหมคะ?

อาจารย์วราภรณ์ : จะไปกังวลค่ะ แล้วก็เวลาลูกออกเสียงมาแล้วก็จะมานั่งดูกันว่า ตอนนี้ลูกเรากี่ขวบ ชัดหรือยัง ปรากฏว่าน้องเค้าพูดไปถึงไหนแล้วเรายังหาไม่เจอเลยว่าชัดหรือไม่ชัด เพราะฉะนั้นเอาง่ายที่สุดเลยว่าเราดูแล้วว่า “ถ้าเทียบกับเพื่อนเค้า ข้างๆ บ้านในวัยเดียวกัน เค้าชัดแล้วนะ ทำไมเรายังไม่ชัด”

แล้วพัฒนาการในเรื่องของการออกเสียง ก็อย่างที่บอกแล้วว่าแต่ละวัยไม่เท่ากัน อย่าง “ส” นี่ประมาณ 5 ขวบบางคนก็ได้ละ บางคน 5 ขวบครึ่งถึงจะได้ หรือถ้า 7 ขวบควรจะชัดทุกๆ เสียงในหน่วยเสียงที่เป็นพยัญชนะในภาษาไทยนะคะ อันนั้นจะเป็นภาพรวม แต่ว่าบางครั้งคุณพ่อคุณแม่บางท่านก็จะบอกว่า “อ้าว แล้วทำไมน้องชายเค้า 3 ขวบ “ส” ยังชัดเลย? แล้วของหนู 5 ขวบทำไมยังไม่ชัด แล้วจะอิงใครยังไงดี?” ก็อย่างที่บอกว่าอยากให้พามาตรวจ เพื่อที่จะได้รับการประเมิน และดูว่าต้องแก้ไขหรือไม่

สำหรับน้องที่ 3 ขวบก็พูด “ส” ชัด ตัวเองก็จะบอกว่าเรื่องของพัฒนาการในการออกเสียงตามหน่วยเสียงต่างๆ ตามพัฒนาการนั้น เค้ามีการทดสอบกับเด็กเป็นพันๆ คน จึงมีค่ามาตรฐานในการประเมิน (เรียกกันว่า “ค่านอร์ม” (norm)) ก็เหมือนกับการตรวจเลือด ที่จะต้องมีค่ามาตรฐานว่าตรวจแล้วค่านี้ปกติ อันนี้เกินไป อันนี้ต่ำไป ต้องได้รับการแก้ไข เพราะฉะนั้นถ้าเค้าอยู่ในวัย แล้วก็ยังไม่ได้ คือถ้าถึงวัยแล้วยังไม่ได้ อันนั้นต้องแก้ แต่ถ้าน้องคนนี้ที่ 5 ขวบแล้ว “ส” ไม่ได้ใช่ไหมคะ ถ้าคุณแม่หรือคุณพ่อพามาด้วยว่า 4 ขวบแล้วยังพูด “ส” ไม่ชัดตัวเดียว ก็จะแนะนำเบื้องต้นให้ แล้วก็ประเมินให้ว่าเสียงอื่นๆ มีอะไรผิดปกติหรือไม่ ถ้าพบว่าไม่มีอะไรเลย ก็จะต้องบอกคุณพ่อคุณแม่ว่ารอได้ไม่เป็นไร เพราะส่วนใหญ่แล้วเด็กเป็นพันๆ คนจากค่านอร์มหรือค่ามาตรฐาน เค้าได้ประมาณ 5 ขวบถึง 5 ขวบครึ่ง จึงไม่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขเดี๋ยวนั้น แต่ว่าอาจจะแนะนำให้มีการส่งเสริมในเรื่องของการพูด การเป็นแบบที่ดีในเรื่องของการพูด การออกเสียงต่างๆ อันนั้นก็จะช่วยได้ค่ะ แล้วก็ถ้าถึงวัยแล้วหรือว่าเกิดความกังวล ก็พามาตรวจสักนิดหนึ่งก็น่าจะดีนะคะ

คุณสรวงมณฑ์  : ทีนี้บางคนกังวลเรื่องลูกพูดติดอ่าง อันนี้มันเกิดจากสาเหตุอะไรคะ?

อาจารย์วราภรณ์ : สาเหตุของการพูดติดอ่าง เค้าบอกว่าจริงๆ แล้วเราไม่ทราบชัด มีคนทำการศึกษามากมายว่าจะเกิดจากความผิดปกติด้านร่างกายหรือไม่ หรือมีความผิดปกติทางด้านสมองหรือไม่ หรือบางคนก็เชื่อว่าเป็นเรื่องของพันธุกรรม บางรายก็สงสัยว่ามีความขัดแย้งทางด้านจิตใจหรือไม่ เรื่องของบุคลิกภาพ เรื่องของอารมณ์หรือไม่

แต่ว่าทฤษฎีซึ่งเราเชื่อมากๆ คือการพูดติดอ่างเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงกับเรื่องของการเรียนรู้ นั่นแปลว่าอะไรคะ แปลว่าเป็นการเรียนรู้อย่างผิดๆ ทำไมถึงบอกอย่างนั้นนะคะ ในเรื่องของการสื่อสารและการพูด พัฒนาการในเรื่องของการพูด เราพัฒนามาตั้งแต่เล็กๆ เรามีการพัฒนาในเรื่องของการรับรู้ เรื่องของการออกเสียงต่างๆ ในช่วงวัยที่กำลังเป็นวัยพัฒนาภาษาและการพูด ช่วงวัยเด็กเล็กๆ 3-5 ขวบนี้เป็นวัยที่กำลังพัฒนา เด็กจะเริ่มรู้จักคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ พูดประโยคจากเป็นคำๆ พูดได้ยาวขึ้น แล้วก็ใช้คำพูดในการโต้ตอบสื่อสาร ทีนี้เมื่อใดก็ตามตอนที่เค้ายังเล็กแล้วมีการพัฒนา คือกำลังหัดเรียนรู้ในเรื่องของการพูด บางครั้งก็อาจจะมีลักษณะของการพูดแล้วต้องนึก ตะกุกตะกัก หรือว่าพูดไม่ทันกับสิ่งที่คิดจะพูด เมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น บางทีคุณพ่อคุณแม่อาจจะเร่งหรือจี้หรือมีพฤติกรรมอะไร ที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นความกังวลกับเรื่องของการพูด ต่อไปก็จะเริ่มมีความไม่มั่นใจเรื่องการพูด ตะกุกตะกักมากขึ้น การสื่อสารก็จะถูกบล็อกมากขึ้น

คุณสรวงมณฑ์  : ไม่มั่นใจ

อาจารย์วราภรณ์ : ค่ะ แล้วโอกาสตรงนี้ค่ะ ที่จะส่งเสริมให้เค้ามีการพัฒนาการพูดติดอ่างเมื่อโตมากขึ้นได ้เพราะฉะนั้นจะต้องมีการสร้างเสริมและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะตรงนี้ เราก็ต้องมาดูด้วยว่าการพูดติดอ่างนี้ เกิดจากกำลังมีการพัฒนาทางภาษาแล้วยังพัฒนาได้ไม่สมวัย เราจะต้องมาสร้างเสริมตรงนี้หรือไม่ หรือว่าติดอ่างจริงๆ ต้องแก้จริงๆ แล้วเราจะแก้ยังไงอีก

คุณสรวงมณฑ์  : ปัญหาเรื่องติดอ่างนี้ในบ้านเรามีเยอะหรือไม่คะ?

อาจารย์วราภรณ์ : ติดอ่าง ในบ้านเรานี้เท่าที่ดูในโรงพยาบาลเด็กของเรา มีจำนวนเปอร์เซ็นต์ไม่เยอะ  แต่อย่างที่บอกว่า เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลเด็ก เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้ว ก็จะมาจากการพูดไม่คล่องที่เกิดขึ้นได้ในวัยเด็ก เนื่องจากเด็กกำลังพัฒนาภาษา จากการทำงานของตัวเอง ส่วนใหญ่จะแนะนำพ่อแม่ว่าวิธีการอย่างไรที่จะไปสร้างเสริม หรือว่าเวลาเค้าพูดติดเราจะทำอย่างไร ปรากฏว่าพอมาติดตามเรื่องของการรักษา คุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านก็จะบอกว่าเริ่มดีขึ้น เริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่ปัญหาแล้ว

คุณสรวงมณฑ์  : คือสามารถแก้ไขได้?

อาจารย์วราภรณ์ : ค่ะ

คุณสรวงมณฑ์  : ให้หายขาดได้?

อาจารย์วราภรณ์ : ค่ะ แล้วถ้าต่อไปเราตรวจได้ว่าเป็นการติดจริงๆ หรือเป็นลักษณะที่ต้องแก้ไขซึ่งลักษณะการติดก็มีความแตกต่างกัน ก็ต้องมาดูว่าเราจะแก้ยังไง เราจะสร้างเสริมตรงนี้ยังไง เพื่อที่จะให้คนไข้สามารถพูดได้คล่อง แล้วก็ดำรงชีวิตอยู่ในสภาพสังคมของเราได้นะคะ

คุณสรวงมณฑ์  : ค่ะ แล้วเด็กอีกประเภทหนึ่งที่ออกเสียง “อ” หมดเลยทุกพยัญชนะล่ะคะ?

อาจารย์วราภรณ์ : เป็น “อ” หมดเลยหรือคะ?

คุณสรวงมณฑ์  : ค่ะ

อาจารย์วราภรณ์ : ประมาณกี่ขวบก็ไม่รู้?

คุณสรวงมณฑ์  : อันนี้เคยเจอเด็ก ตอนนั้นอายุประมาณ 3 ขวบน่ะค่ะ

อาจารย์วราภรณ์ : ถ้า 3 ขวบเป็น “อ” ก็แนะนำให้พามาตรวจเพราะว่าถ้าเป็น “อ” หมดเลยอันนั้นต้องมาดูแล้ว แล้วเรื่องของการวินิจฉัยการตรวจ จริงๆ แล้วลืมบอกไปนิดหนึ่งว่าในเด็กที่พูดไม่ชัด นอกจากจะต้องฝึกพูดให้ได้ชัดเจนตามฐานเสียง และหน่วยเสียงที่จะต้องออกเสียงแล้ว เด็กจะต้องอาศัยอะไรบ้าง เด็กต้องอาศัยการมอง การฟัง เพราะฉะนั้นการพามาพบแพทย์ในเบื้องต้นแพทย์ต้องมีการตรวจพิเศษ เช่น การตรวจการได้ยิน เพื่อที่จะดูว่ามีปัญหาเรื่องของการฟังแยกเสียงหรือเปล่า มีปัญหาเรื่องการพูดหรือเปล่า มีการตรวจว่ามีปัญหาเรื่องของอวัยวะในช่องปากหรือเปล่า ที่จะทำให้เด็กพูดไม่ชัด ถ้าเราตรวจมาแล้ว การได้ยินก็ปกติ อวัยวะหรือโครงสร้างต่างๆ ก็ปกติทุกอย่าง นั่นแสดงว่าเด็กมีภาวะพูดไม่ชัดจากการที่มีการเรียนรู้ในเรื่องของการพูดที่ผิดปกติ ที่ต้องแก้ไขโดยการพูดกับนักแก้ไขการพูดค่ะ

คุณสรวงมณฑ์  : ดิฉันถามเลยไปถึงกรณีที่เป็นเรื่องของพฤติกรรมบ้างแล้วนะคะ เช่น สมมติว่าอยู่กับพี่เลี้ยงแล้วพี่เลี้ยงเป็นชาวต่างชาติ เช่น พม่า แล้วเด็กเค้าติดภาษาไป แสดงว่ามันเป็นเรื่องของพฤติกรรม และมันสามารถแก้ไขได้หรือไม่คะอาจารย์?

อาจารย์วราภรณ์ : อันนี้พูดถึงในกลุ่มคนไข้พูดไม่ชัดใช่ไหมคะ?

คุณสรวงมณฑ์  : ใช่ค่ะ

อาจารย์วราภรณ์ : พูดไม่ชัด ก็อย่างที่บอกไปว่าแม่แบบเป็นอย่างไร ลูกแบบก็จะเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าเค้ากำลังเรียนรู้ภาษา พัฒนาเรื่องของการออกเสียง เค้าได้ยินมายังไงเค้าก็จะต้องออกเสียงอย่างนั้น เพราะฉะนั้นพอเราแนะนำเรื่องการฝึก ที่จะต้องกลับไปแก้ไขในแต่ละหน่วยเสียงแล้ว ผู้ที่จะเป็นคนที่จะช่วยฝึกก็เป็นบุคคลที่มีความสำคัญค่ะ คือถ้าเกิดว่าคนฝึกก็พูดไม่ชัด อันนั้นก็จะเป็นปัญหาขึ้นมาได้

คุณสรวงมณฑ์  : แล้วอย่างนี้อาจารย์มีคำแนะนำหรือไม่คะ? เราควรจะสร้างสภาพแวดล้อมอย่างไรเพื่อให้เด็กเล็กๆ ที่กำลังอยู่ในวัยฝึกพูด สามารถมีต้นแบบในการฝึกทักษะในการพูดที่ถูกวิธีคะ?

อาจารย์วราภรณ์ : ค่ะ เฉพาะกลุ่มที่พูดไม่ชัด คุณพ่อคุณแม่เองก็จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ในเรื่องของการพูดทั้งในเรื่องของการออกเสียง เรื่องของความเร็ว บางทีพูดเร็วพูดรัว เด็กก็จะตาม และการเป็นแบบที่ดีในการพูด ไม่มีการล้อเลียน บางครั้งลักษณะของการที่เด็กพูดไม่ชัดที่เป็นเรื่องของ functional หรือการเรียนรู้การพูดผิดๆ เริ่มต้นมาจากการที่เด็กพูดไม่ชัดได้อยู่แล้วด้วยวัย บางครั้งคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ใหญ่จะรู้สึกว่าน่ารัก บางคนโดนล้อ บางคนรู้สึกมันน่าเอ็นดูจังเลย พูดไม่ชัด

คุณสรวงมณฑ์  : “ย้อเย่น” ก็ไปทำเสียงตามว่า “ย้อเย่น”

อาจารย์วราภรณ์ : ค่ะ ก็เล็กๆ ก็น่ารัก ทีนี้พอเริ่มโตแล้วก็เริ่มจะไม่น่ารัก หลายๆ คนก็จะบอกว่าเริ่มจะไม่น่ารักแล้วจะทำอย่างไรดี เพราะหลายๆ ครั้งเด็กก็จะเรียนรู้ว่าผู้ใหญ่พึงพอใจหรือไม่ ได้รับความรู้สึกด้วยสีหน้าท่าทางว่าชอบใจ จึงมีการพัฒนาแล้วก็เกิดลักษณะการพูดอย่างนี้จนโต อันนั้นก็เลยต้องมาปรับเปลี่ยนเรื่องของการพูด แล้วการล้อต่างๆ นี่ไม่ควร แล้วการเป็นแบบอย่างที่ดีกับลูกค่อนข้างสำคัญเพราะว่าเด็กหลายๆ คนที่มารับการตรวจที่โรงพยาบาล มีบางคนพูดไม่ชัด แต่เค้าก็ไม่รู้สึกว่าเค้าพูดไม่ชัด เพราะเป็นความเคยชิน หลายๆ ครั้งในการประเมินคนไข้ในห้องฝึก เราจะพบว่าคุณพ่อคุณแม่เองมีความคาดหวังกับการพูด เวลาอยู่ในห้องฝึกให้เด็กพูดออกเสียง เด็กจะตั้งใจเป็นพิเศษเลยค่ะ ตั้งใจแล้วก็พยายามปั้นคำเพื่อที่จะให้ชัด เหมือนรู้สึกว่ากำลังถูกทดสอบอยู่ อันนั้นก็เป็นสิ่งที่เมื่อมั่นใจว่าเป็นปัญหาแล้วก็คงจะต้องมาพบผู้เชี่ยวชาญ เพื่อที่จะรู้เทคนิคและวิธีการในการที่จะออกเสียงให้ถูกฐานเสียง เพราะหลายๆ ครั้งคุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านจะบอกว่าก็พยายามอยู่นะคะคุณครู ก็พยายามที่จะให้เค้าดูปาก พยายามที่จะให้เค้าออกเสียง คือก็ต้องอย่างที่บอกคือต้องมาดูว่าลักษณะการพูดไม่ชัดตรงนั้น เป็นลักษณะการพูดไม่ชัดแบบผิดแบบไม่สม่ำเสมอหรือไม่ เป็นการผิดบ้างถูกบ้างหรือไม่ ถ้าผิดบ้างถูกบ้างคือมีโอกาสที่จะถูก มีโอกาสที่จะใช้เองได้ คุณพ่อคุณแม่ก็เป็นแบบที่ดีไป แต่ถ้าเป็นลักษณะของการผิดถาวร เช่น พูด “ไก่” เป็น “ไอ่” นั่นเป็นการใช้ฐานเสียงในการพูดผิด ลักษณะของฐานในการออกเสียงคือตำแหน่งในการที่จะออกเสียง และก็ไม่ใช่แค่ตำแหน่งนะคะ วิธีการในการออกเสียงอีก เพราะฉะนั้นนักการพูดก็จะประเมิน และก็จะแนะนำวิธีการที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องกลับไปฝึก ในเรื่องของการออกเสียงตั้งแต่เป็นหน่วยเสียง เป็นคำ เป็นวลีในเรื่องของการพูดตามให้เป็นประโยค แล้วก็ต้องฝึกถึงขั้นที่ว่าเอามาใช้เองเป็นด้วยเพราะหลายๆ ครั้งเราเจอนะคะว่าเวลาน้องอยู่ในห้องฝึกสามารถพูดได้ ทำได้ พูดตามได้ กลับบ้านก็พูดตามคุณแม่ได้ แต่พอเวลาพูดเองในชีวิตประจำวัน เราก็จะเจอปัญหาว่าน้องเค้าพูดผิดอีกแล้ว เค้าเรียกว่ายัง generalize หรือว่ายังไม่สามารถที่จะเอาไปใช้เองได้ หรือว่าระมัดระวังไม่เป็นในเรื่องของการพูดเพื่อให้ตัวเองพูดได้ชัด อันนี้ก็ต้องมาดูกันนะคะ

คุณสรวงมณฑ์  : จากประสบการณ์ตรงของอาจารย์ที่แก้ไขปัญหาการพูดให้กับเด็กๆ ส่วนใหญ่ไปด้วยปัญหาอะไรมากที่สุดคะอาจารย์?

อาจารย์วราภรณ์ : สำหรับโรงพยาบาลเด็กนี้ อย่างที่บอกคือมาด้วยเรื่องพูดช้าค่ะ

คุณสรวงมณฑ์  : อายุเท่าไรคะที่เรียกว่าพูดช้าแล้วพ่อแม่ควรจะต้องจูงไปพบแล้ว?

อาจารย์วราภรณ์ : ง่ายที่สุดเลยนะคะ cut point เลยแล้วกันว่าถ้า 2 ขวบแล้วคุณพ่อคุณแม่ยังเห็นลูกยังไม่พูดเลย เรียกชื่อก็ยังไม่เข้าใจ ฟังคำสั่งก็ยังไม่ได้ เช่น “สวัสดี” “บ๊ายบาย” “ตบมือ” น้องก็ไม่เข้าใจ

คุณสรวงมณฑ์  : ก็ไม่ตอบสนอง

อาจารย์วราภรณ์ : ไม่ตอบสนองก็อาจจะต้องพามาตรวจ หรือบางทีก็สังเกตด้วยวิธีนี้คือ เอาแบบลูกทุ่งๆ เลย “ทำไมลูกคนอื่นกับลูกเราไม่เท่ากัน?” อันนี้ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งค่ะเพราะหลายๆ ครั้งตัวเองมักจะเจอปัญหาอย่างนี้นะคะว่า คุณพ่อคุณแม่บางท่านที่มีความเชื่อว่า “ไม่เป็นไรมั๊ง ตอนนี้เค้า 2 ขวบเอง ที่บ้านเนี่ย คุณพ่อเค้ายังตั้ง 5 ขวบค่อยพูด” นะคะ แต่ความเชื่อนี้เดี๋ยวนี้น้อยลงนะคะอาจจะเพราะด้วยความรู้ความใส่ใจ หลายๆ ครั้ง เราจะพบว่าอายุที่คุณพ่อคุณแม่พาน้องมาโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษานั้นเร็วขึ้น

คุณสรวงมณฑ์  : อย่าไปใช้ความเชื่อที่ว่า “เด็กพูดช้าเพราะปากหนัก แล้วเอาเขียดไปตบปาก”

อาจารย์วราภรณ์ : อันนั้นก็เคยได้ยินมาเหมือนกัน มีมาเหมือนกันนะคะ แต่เดี๋ยวนี้เราไม่รอแล้ว ก็ดูว่า เอ๊ะ ช้า ต้องพามาตรวจ เพื่ออะไรคะ? เด็กจะต้องพบแพทย์ อาจจะต้องพบกุมารแพทย์ก่อน เด็กพูดช้าควรจะต้องได้รับการตรวจการได้ยิน เพื่อจะดูว่ามีปัญหาทางด้านของการได้ยินหรือไม่ ถ้าไม่ใช่จากสาเหตุการได้ยิน ก็จะต้องมาหาสาเหตุอีกว่าเด็กมีปัญหาอื่นๆ หรือไม่ เช่น มีความผิดปกติของสมองหรือไม่ มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมหรือไม่ เช่น ในเด็กออทิสติก หรือบางรายอาจจะไม่มีอะไรเลย ฟังเข้าใจ รู้เรื่องทุกอย่าง แต่ไม่ใช้การพูดในการสื่อความหมาย เหมือนที่ผู้ใหญ่บางคนเรียกว่าเป็นโรค “ขี้เกียจพูด” อันนั้นก็ต้องมากระตุ้น แล้วก็มาดูว่าเราจะกระตุ้นเค้าอย่างไร จะฝึกเค้าอย่างไร เด็กต้องได้รับการตรวจการวินิจฉัยจากแพทย์ โดยการมาตรวจที่โรงพยาบาลก่อน



ความคิดเห็น