จี้ อย.เพิกถอนตำรับยาอนาโปรมีน

 จี้ อย.เพิกถอนตำรับยาอนาโปรมีน


โดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค



Consumerthai – กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายครอบครัวจี้ อย.เพิกถอนตำรับยาอนาโปรมีน และเร่งดำเนินการทบทวนทะเบียนตำรับยาเจริญอาหาร หลังพบผลกระทบทำให้โลหิตจาง ท้องโต เซลล์ตับถูกทำลายเสียหายต่อสุขภาพอย่างรุนแรง

 
วันนี้(14 พ.ค.) กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายครอบครัว เข้ายื่นหนังสือต่อ น.พ.ชาตรี บานชื่น เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อขอให้ดำเนินการเพิกถอนตำรับยาอนาโปรมีน และทบทวนทะเบียนตำรับยาสำหรับเด็กอย่างเร่งด่วนอีกครั้ง หลังจากได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานและกรรมการยา ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา ซึ่งทาง อย.เพียงสั่งห้ามขายเท่านั้นแต่ยังไม่ได้เพิกถอนตำรับยาดังกล่าว

ยาอนาโปรมีนไซรัป เป็นยาสูตรผสมระหว่าง anabolic steroid กับ cyproheptadine ขึ้นทะเบียนตำรับยาเลขที่ 2A 2/36 เมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2536 สำหรับผู้เบื่ออาหาร ช่วยกระตุ้นให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น ซึ่งมีรายงานครั้งแรกว่า รศ.นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา รพ. รามาธิบดี ได้ส่งหนังสือ (ลว. 16 ธ.ค. 2542) ถึง อย. รายงานยาที่สมควรห้ามจำหน่าย กรณีเด็กหญิงอายุ 2 ปี ที่มารับการรักษา เนื่องจากกินยาน้ำเชื่อมอนาโปรมีน (Anapromine syrup) แล้วเกิดการเจริญเติบโตของอวัยวะเพศโตผิดปกติ .... ยาน้ำเชื่อมเป็นยาสำหรับเด็ก ควรยกเลิกเพราะทำให้เกิดอันตรายต่อเด็ก อย.ส่งหนังสือ ลว. 7 ม.ค. 2543 ตอบว่า ยา Anapromine Syrup เป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องจ่ายตามใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น จะกวดขันให้มีการจำหน่ายยาให้ถูกต้องต่อไป

อีก 10 ปีต่อมา มีรายงานจาก ศ.นพ.พัฒน์ มหาโชคเลิศวัฒนา ในเดือน ธันวาคม 2550 ว่า พบเด็กชายอายุ 4 ปี เป็นหนุ่มก่อนวัยคือมีอวัยวะเพศเท่ากับขนาดของผู้ใหญ่ (ประมาณ 10 ซม.) ร่วมกับมีขนหัวหน่าว มีหนวดบางๆ มีเสียงแตก และสิวบนใบหน้า เด็กโตเร็วกว่าปกติ มีความสูงเท่ากับเด็กอายุ 8 ปี มีพฤติกรรมและอารมณ์รุนแรง



นอกจากนี้กลุ่มศึกษาปัญหายา ยังได้มอบยากุมารตรากาไก่ ซึ่งเป็นยาแก้โรคซาง ตานขโมย พุงโร ตูดปอด และเจริญอาหาร ในเด็กทารกอายุตั้งแต่ 3 เดือนถึง 1 ปี เป็นยาแผนโบราณสูตรผสมขึ้นทะเบียนตำรับเลขที่ G 306/20 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2528 เมื่อนำยาตำรับนี้มาพิจารณาพบว่า ประกอบด้วยสมุนไพรในพิกัดตาลทั้ง 5 มีสรรพคุณถ่ายพยาธิ ซึ่งใช้สำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป รวมทั้งมียาระบาย ยาถ่าย ยาฆ่าเชื้อ ฯลฯ ซึ่งผิดหลักวิชาของการแพทย์แผนไทยอย่างร้ายแรง และมีข้อมูลจากกุมารแพทย์ว่า เด็กอายุ 1 ปี 4 เดือน รับประทานยานี้ เพื่อเจริญอาหารตามสรรพคุณที่ระบุไว้ในฉลาก มีผลให้เกิดอาการโลหิตจาง ท้องโต เซลล์ตับถูกทำลายเสียหายต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ฯลฯ ดังนั้นทางเครือข่ายจึงขอให้ทาง เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ได้ทบทวนทะเบียนตำรับยาเจริญอาหารและยาอื่นๆ ในเด็ก  ทั้งยาแผนปัจจุบัน รวมทั้งยาแผนโบราณอย่างเร่งด่วน และทันต่อเหตุการณ์

อีกทั้งเรียกร้องให้จัดทำนโยบาย กลไกและมาตรการในการเฝ้าระวังอันตราย ที่เกิดจากตำรับยาที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วโดยเร็ว รวมทั้งดำเนินการทางกฎหมาย หากพบว่า มีการกระทำความผิดจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อเด็ก และเรียกร้องให้มีการเยียวยาชดเชยความเสียหายต่อผู้เสียหายอีกด้วย

เพราะกรณีดังกล่าวได้มีการเรียกร้อง ให้มีการทบทวนทะเบียนตำรับยาสำหรับเด็กมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2531 จนถึงปัจจุบัน  แต่หน่วยงานและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาอย่างทันการณ์แต่อย่างไร

ความคิดเห็น