การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว

การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว หลังคลอดลูก หากคุณแม่ให้นมลูกเอง นน.จะลงมาเป็นปกติภายใน 1-6 ด.โดยไม่ต้องซื้อคอร์สลดนน.ราคาแพง หรือ ซื้อยาลดนน.จากอินเตอร์เนทที่เป็นอันตรายมากิน โดยมีข้อแม้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 10-12 กก.ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่ 3 ด.แรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลย 3 ด.ถัดมาขึ้น 6 กก. และ 3 ด.สุดท้ายขึ้น 6 กก. ใครที่นน.ขึ้นเกินจากนี้ ไม่ดีนะคะ อย่าคิดว่าตอนท้องเป็นช่วงโปรโมชั่น อยากกินอะไรก็กินได้ตามใจอยาก อ้วนได้ไม่มีใครกล้าว่า แล้วคิดกินเพื่อลูก โด๊ปอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปมากมาย นมวัวเอย ผลิตภัณฑ์นมวัวเอย ทั้งชีส เค้ก ไอศครีม นมถั่วเหลืองซื้อมาเป็นลังๆ ไข่กินวันละหลายๆฟอง ขนมนมเนยทุกชนิด ปลาแซลมอนทุกมื้อ ผลที่ตามมา คือ แม่อ้วนทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ลูกเสี่ยงกับภาวะแพ้โปรตีนกลุ่มเสี่ยง พอคลอดลูกเสร็จ ก็ยังกินบำรุงน้ำหนักต่อ โดยคิดว่าจะทำให้ผลิตน้ำนมได้เยอะ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักส่วนเกินยังคงอยู่สะสมในร่างกาย แต่น้ำนมไม่ได้เพิ่มขึ้น (ดังรูปบน) เพราะปริมาณน้...

ชวนลูกว่ายน้ำเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้

 

ชวนลูกว่ายน้ำเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้


ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต

    เด็ก (ส่วนใหญ่) กับน้ำ เจอกันเมื่อไหร่ก็ถูกใจเมื่อนั้น เวลาที่ลูกหงุดหงิดงอแง พอคุณแม่จับอาบน้ำ โดยเฉพาะถ้าให้ลงไปแช่อยู่ในอ่างอาบน้ำ เจ้าตัวดีเป็นต้องยิ้มแก้มปริทุกครั้ง เด็กน้อยคนนักที่จะร้องไห้เวลาได้เจอน้ำ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะลูกมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับน้ำตั้งแต่ครั้งแรก เช่น คุณแม่ทำให้สำลักน้ำ หรือทำหลุดมือตอนอาบน้ำ ก็จะทำให้ลูกเข็ดขยาดน้ำไปอีกนานเลยทีเดียว เมื่อพูดถึงการเล่นน้ำ แน่นอนว่าต้องนึกถึงการว่ายน้ำ คุณพ่อคุณแม่หลายคนจะนึกถึงการพาลูกไปว่ายน้ำเมื่อลูกโตเดินได้แล้ว แต่จริงๆ แล้วไม่ต้องรอให้ลูกโตขนาดนั้นก็สามารถพาไปลงสระว่ายน้ำได้ค่ะ

    นายแพทย์สุริยา ณ นคร ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเวชศาสตร์ใต้น้ำจากประเทศออสเตรเลีย ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการพาเด็กเล็กไปว่ายน้ำ เด็กเล็กอายุไม่เกิน 1 ขวบ ยังไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ จึงยังไม่สามารถว่ายน้ำเป็นท่าๆ ได้ แต่เด็กเล็กจะมีทักษะในการกลั้นใจในน้ำได้ดี โดยเฉพาะเด็กเล็กวัยแรกเกิดถึง 4 เดือน เพราะเด็กยังมีสัญชาตญาณของการดำเนินชีวิตในครรภ์ที่เต็มไปด้วยน้ำ ดังนั้นถ้าต้องการฝึกทักษะในการดำน้ำให้ลูกควรฝึกในช่วง 4 เดือนแรกจะเหมาะที่สุด เพราะหลังจากนี้สัญชาตญาณดังกล่าวจะค่อยๆ ลดเลือนไปทำให้อาจจะต้องใช้เวลาในการฝึกนานขึ้น

    สำหรับประโยชน์ที่เจ้าตัวเล็กจะได้รับจากการว่ายน้ำ มีดังนี้ค่ะ

            1. การฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการว่ายน้ำตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจ ไม่กลัวน้ำ และเมื่อถึงวัยที่สามารถเรียนว่ายน้ำอย่างจริงจัง เจ้าตัวเล็กก็สามารถเรียนรู้ทักษะต่างๆ ในการว่ายน้ำได้ง่ายขึ้นและเมื่อลูกสามารถว่ายน้ำได้ เขาจะมีความภูมิใจและมีความกล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

            2. ช่วยฝึกกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายให้มีความแข็งแรงและทำงานประสานกันได้ดี ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการการยืนและเดิน รวมทั้งพัฒนาการทางสมองของลูกด้วย ซึ่งการว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายที่ปลอดภัย เพราะน้ำจะช่วยลดแรงกระแทก ที่อาจทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่างได้รับบาดเจ็บ

            3. ช่วยเสริมสร้างทักษะการทรงตัวและการลอยตัว และเมื่อถึงวัยที่ต้องพลิกคว่ำพลิกหงาย เจ้าตัวเล็กจะสามารถพลิกคว่ำ พลิกหงายได้ทั้งสองเวลาที่อยู่ในน้ำเพื่อรักษาสมดุล

            4. น้ำช่วยกระตุ้นให้ลูกมีประสาทสัมผัสที่ไวขึ้น ทั้งการมองเห็น การได้ยิน การรับรส และการดมกลิ่น

            5. การว่ายน้ำช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างคุณพ่อ คุณแม่ และเจ้าตัวเล็ก ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นเพราะได้ใช้เวลาร่วมกัน ได้เรียนรู้กันและกันมากขึ้น การได้รับการสัมผัสโอบกอดจากคุณพ่อคุณแม่เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ลูกมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย


    เริ่มเมื่อไหร่ดี

    มาถึงตอนนี้คุณพ่อคุณแม่ที่สนใจอยากให้เจ้าตัวเล็กว่ายน้ำ คงจะมีคำถามตามมาว่าควรจะพาลูกไปว่ายน้ำเมื่อไหร่ดี...คำตอบก็คือ โดยปกติแล้วเด็กๆ พร้อมที่จะเรียนว่ายน้ำอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเมื่ออายุประมาณ 2-3 ขวบ แต่คุณสามารถเริ่มฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับสระน้ำได้ก่อนหน้านั้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะสามารถเริ่มได้เมื่อลูกมีอายุประมาณ 3-4 เดือน ขึ้นไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายและความพร้อมของเจ้าตัวเล็กด้วย ถ้าลูกมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ก่อนที่จะพาเจ้าตัวเล็กไปวาดลวดลายในสระ ก็ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเพื่อความปลอดภัย และหากลูกมีความหวาดกลัวเวลาที่ลงสระคุณก็ไม่ควรบังคับ เพราะจะทำให้ลูกมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับการว่ายน้ำ ควรจะทิ้งช่วงไปสักระยะหนึ่งหรือรอให้ลูกโตกว่านี้อีกหน่อย แล้วค่อยพาลงสระก็ยังไม่สายค่ะ


    เริ่มอย่างไร

    จุดประสงค์ของการพาลูกไปว่ายน้ำตั้งแต่เล็กๆ ก็คือการฝึกให้ลูกคุ้นเคย และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเรียนว่ายน้ำ เมื่อถึงวัยที่เหมาะสม คุณแม่จึงไม่ควรจริงจัง และคาดหวังว่าลูกจะต้องทำแบบนั้นแบบนี้ให้ได้ ในเวลาเท่านั้นเท่านี้ เพราะจะทำให้เกิดความเครียดทั้งคุณและเจ้าตัวเล็ก การพาลูกเล็กไปว่ายน้ำต้องเน้นที่ความสนุกสนานเป็นหลัก เมื่อเกิดความสนุกสนานแล้ว การเรียนรู้ก็จะง่ายขึ้น ซึ่งสำหรับเด็กเล็กแล้วสิ่งที่คุณสามารถสอนลูกได้การคือ การลอยตัว การทรงตัวขณะอยู่ในน้ำ การเตะขา การพลิกตัว การเคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะต่างๆ การดำน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานนำไปสู่การเรียนว่ายน้ำในเวลาต่อมา


    เตรียมตัวไปว่ายน้ำ

            * สำหรับเจ้าตัวเล็กที่ยังกล้าๆ กลัวๆ กับการเล่นน้ำ คุณแม่สามารถฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการอยู่ในน้ำ โดยการชวนลูกนอนแช่น้ำเล่นกับคุณในอ่างอาบน้ำที่บ้าน ก่อนที่จะพาไปลงสระจริง

            * เวลาที่พาลูกลงสระ คุณต้องมีความมั่นใจและผ่อนคลาย เพราะหากคุณมีความวิตกกังวลและเครียด เพราะหากคุณมีความวิตกกังวลและเครียด ลูกจะพลอยเครียดไปกับคุณด้วย

            * แม้จะเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี แต่การลงสระครั้งแรกอาจสร้างความตื่นตระหนกให้ทั้งคุณและลูกได้ คุณแม่ควรสบตาลูกบ่อยๆ และกอดลูกให้แนบชิดกับอกเวลาลงสระ จะช่วยให้คุณและลูกรู้สึกผ่อนคลาย และมีความมั่นใจมากขึ้น

            * ของใช้จำเป็นหลักๆ ที่คุณแม่ต้องเตรียมเวลาที่พาเจ้าตัวเล็กไปว่ายน้ำคือ กางเกงว่ายน้ำ, ผ้าเช็ดตัว, ผ้าอ้อม, นม สำหรับเจ้าตัวเล็กที่สามารถรับประทานอาหารอื่นนอกจากนมแล้ว คุณแม่ควรเตรียมอาหารว่างไปด้วย เพราะหลังว่ายน้ำเสร็จ เจ้าตัวเล็กจะหิวโซแน่ๆ ค่ะ, ของเล่นชิ้นโปรดของลูกที่สามารถลอยน้ำได้สัก 2-3 ชิ้น เพื่อช่วยให้ลูกคลายความวิตกกังวลตอนลงสระครั้งแรก และอย่าลืมถุงพลาสติกสำหรับใส่ผ้าเปียกนะคะ


    ดำน้ำกันดีกว่า

    แม้ว่าเด็กเล็กๆ จะมีสัญชาตญาณของการกลั้นหายใจในน้ำได้ดี แต่การจะฝึกให้ลูกดำน้ำก็ต้องมีเทคนิคกันหน่อย ไม่อย่างนั้นอาจทำให้การฝึกล้มเหลวได้ค่ะ และอย่าลืมว่าการฝึกให้ลูกดำน้ำ ต้องอยู่ในความดูแลของผู้เชี่ยวชาญตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัย ถ้าพร้อมแล้วมาเริ่มกันเลยค่ะ

            1. จับลูกไว้ในท่าตัวตั้งตรง จากนั้นให้จังหวะโดยการนับ 1-2-3 แล้วเป่าลมเข้าที่ตาของลูก เพื่อเป็นสัญญาณให้ลูกหลับตา ก่อนที่ครูฝึกจะวักน้ำขึ้นมารดศรีษะของลูก ในขั้นแรกนี้ถ้าเจ้าตัวเล็กมีอาการตกใจให้คุณแม่กอดลูกไว้แนบอก หากเจ้าตัวเล็กแสดงท่าทางหวาดกลัวมากๆ ก็ให้พักสักครู่แล้วค่อยเริ่มใหม่

            2. เมื่อลูกเริ่มคุ้นเคยกับขั้นตอนแรกของการฝึกแล้ว คุณสามารถเริ่มฝึกการดำน้ำในขั้นต่อไปได้เลย โดยขั้นตอนการฝึกการดำน้ำในขั้นตอนแรก แต่หลังจากที่ครูฝึกก็เหมือนกับขั้นตอนแรก แต่หลังจากที่ครูฝึกวักน้ำรดศรีษะมิดน้ำแล้วดึงลูกขึ้นมากอดไว้ สิ่งที่คุณแม่ควรทำคือต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูก โดยเริ่มจากตัวคุณแม่ต้องมั่นใจก่อน และทุกครั้งที่ลูกโผล่ขึ้นมาพ้นน้ำ คุณแม่ต้องยิ้มและชมลูกเสมอ เพื่อให้เจ้าตัวเล็กรู้สึกดีและอยากฝึกอีกเรื่อยๆ

    เมื่อเจ้าตัวเล็กสามารถดำน้ำได้คล่องแล้ว คุณแม่ยังสามารถฝึกให้ลูกลอยตัว เพื่อให้เจ้าตัวเล็กสามารถทรงตัวในท่าตั้งตรงได้ และไม่สำลักน้ำเวลาอยู่ในสระ โดยทางโรงเรียนจะมีปลอกแขนใส่ไว้ที่แขนทั้งสองข้างของลูก เพื่อช่วยพยุงตัว หลังจากใส่ปลอกแขนแล้ว ครูฝึกจะจับเจ้าตัวน้อยให้อยู่ในท่าตั้งตัวตรง ในขณะที่คุณแม่พยายามเรียกร้องความสนใจให้ลูกเงยหน้าขึ้น โดยอาจจะใช้วิธีดีดนิ้ว ปรบมือ หรือถือของเล่นที่มีเสียง เมื่อลูกเริ่มทรงตัวได้ดีแล้วครูจะค่อยๆ เลื่อนมือที่จับตัวลูกไปพยุงที่คาง โดยคุณแม่ยังคงดึงความสนใจให้ลูกเลยหน้าอยู่ หลังจากนั้นคุณครูจะเริ่มปล่อยมือที่พยุงคางออก เพื่อให้เจ้าตัวน้อยลอยตัวอย่างอิสระ


    ข้อควรระวัง

            * ก่อนพาลูกลงสระ ควรเช็คอุณหภูมิของน้ำในสระก่อน ว่าเหมาะสำหรับลูกหรือไม่ สำหรับอุณหภูมิที่พอเหมาะและสบายสำหรับเด็กนั้น จะอยู่ระหว่าง 31-34 องศาเซลเซียส

            * เมื่อเห็นว่าลูกเริ่มมีอาการหนาวสั่น ควรรีบพาลูกขึ้นจากสระแล้วห่อผ้าไว้ให้ร่างกายอบอุ่น

            * การลงสระครั้งแรก ไม่ควรให้ลูกอยู่ในน้ำนาน เกิน 10 นาที เมื่อลูกเริ่มคุ้นเคยแล้วจึงค่อยเพิ่มเวลาให้มากขึ้น สำหรับเจ้าตัวเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี ไม่ควรให้อยู่ในน้ำนานเกินครั้งละครึ่งชั่วโมง

            * ถ้าเจ้าตัวเล็กมีไข้ ไม่สบาย ก็ไม่ควรพาลูกไปว่ายน้ำ

            * ถ้าเจ้าตัวเล็กมีปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง เช่น เป็นภูมิแพ้ที่ผิวหนัง ควรปรึกษาคุณหมอก่อนว่า คลอรีนในสระจะทำให้ผิวของลูกเกิดการระคายเคืองหรือไม่

            * คุณแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาที่อยู่ในสระน้ำ เพื่อความปลอดภัย

            * การฝึกให้ลูกลอยตัวในน้ำและดำน้ำ ควรมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำตลอดเวลา

            * ถ้าลูกสะอึกอยู่ ไม่ควรให้ดำน้ำเพราะจะให้ลูกกลืนน้ำเข้าไปได้


    ไม่ยากเลยใช่ไหมคะสำหรับการพาเจ้าตัวเล็กลงสระ ขอให้คุณมีความมั่นใจ และคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก เพียงเท่านี้คุณก็มีกิจกรรมดีๆ ไว้ทำร่วมกันในครอบครัวแล้วค่ะ.

ที่มา.. นิตยสารบันทึกคุณแม่

ความคิดเห็น