อย่าสอนลูกให้ขี้เกียจ

 อย่าสอนลูกให้ขี้เกียจ



             มีด้วยหรือ ? ที่พ่อแม่จะสอนลูกให้ขี้เกียจ ? ตอบว่า “มี” และมีอยู่เป็นจำนวนมากด้วย บางทีท่านที่กำลังอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่นี่แหละ ถ้าท่านมีลูก ท่านก็อาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่เคยสอน หรือกำลังสอนลูกให้ขี้เกียจอยู่ ! ลองพิจารณาดูทีรึ ว่าจะเป็นความจริงไหม ?

            สมมุติว่า ลูกเรากำลังอยู่ในวัยเรียน อายุตั้งแต่ 3 หรือ 8 ขวบขึ้นไป ในวัยนี้เราสามารถที่จะให้ลูกช่วยเราทำงานบ้านได้ตั้งหลายอย่าง แต่พ่อแม่ส่วนมากก็มักจะไม่ให้ทำ ไม่ใช้ให้ทำ หรือไม่บังคับให้ทำ เช่น

            - ลูกควรตื่นนอนเวลา 05.00 น. หรือ 06.00 น. พ่อแม่รู้ว่า ถ้าลูกตื่นในช่วงนี้แล้วลุกขึ้นเก็บที่นอน ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ กินข้าวเสร็จล้างถ้วยชามเสร็จก็จะได้เวลาไปโรงเรียนพอดีๆ

            แต่พ่อแม่บางคนหาได้ปลุกลูกในช่วงนี้ไม่ ไปปลุกเอาหลัง 06.00 น. หรือ 07.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่จะออกจากบ้านไปโรงเรียนแล้ว เลยต้องรีบทำอะไรๆ อย่างรีบด่วนไปหมด ขาดๆ ตกๆ ต้องเอะอะโวยวายลั่นบ้าน ให้เสียสุขภาพจิตของตนเองและลูก เพราะมีเวลาน้อย

            ตามปกติ ธรรมชาติย่อมสร้างความสมดุลแล้ว ไม่ว่าในการกิน การนอน การสืบพันธ์ หรือการออกกำลังกาย ถ้าปฏิบัติอย่างถูกต้องก็ย่อมจะไม่เกิดปัญหา ไม่ว่าระยะสั้นหรือระยะยาว

            - งานกวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างถ้วยชาม รดน้ำต้นไม้ ดายหญ้า ทำความสะอาดบริเวณบ้าน เก็บกวาดเศษขยะต่างๆ ล้วนแต่ลูกในวัยนี้ช่วยได้ ทำแทนได้เกือบทั้งหมด แต่พ่อแม่ส่วนมากก็ไม่ใช้ให้ทำ

            - ถ้ามีรถส่วนตัว งานเช็ดรถ ล้างรถ ทำความสะอาดรถ ลูกในวัยนี้ก็ทำได้สบายมาก เป็นการช่วยให้ลูกได้ออกกำลังกายที่ดี ดีกว่าไปเล่นกีฬา และได้ประสบการณ์ด้วย คือ ช่วยให้ลูกทำงานคล่อง ทำงานเป็นและทำงานได้เรียบร้อย แต่พ่อแม่บางคนก็ไม่ใช้ให้ทำ

            - ลูกเล่นของเล่นต่างๆ แล้วทิ้งไว้เกลื่อนบ้าน แล้วพ่อแม่หรือคนใช้เก็บให้ แทนที่จะให้ลูกช่วยตัวเอง ก็กลับให้เป็นภาระแก่ผู้อื่น เป็นการสร้างนิสัยมักง่าย ความเห็นแก่ตัวสะสมขึ้นเรื่อยๆ

            - พ่อแม่มีงานบ้านเต็มมือจนหาเวลาว่างไม่ได้ แต่ปล่อยให้ลูกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน หรืออยู่ในบ้านก็ไม่ให้ช่วยแบ่งเบาภาระ ปล่อยให้นั่งๆ นอนๆ ดูทีวี หรือวีดิโอ หรือเล่นอะไรไปตามประสา

            สิ่งเหล่านี้ แสดงว่าพ่อแม่สอนให้ลูกขี้เกียจหรือไม่ ?

            ถ้ามองดูอย่างผิวเผิน พ่อแม่อาจนึกภูมิใจว่าตนเองรักลูก เมตตาลูก จึงไม่อยากเห็นลูกลำบากหรือเหนื่อย แต่แท้ที่จริงแล้ว นั่นย่อมแสดงให้เห็นพ่อแม่ชนิดนี้บรมโง่เขลามาก เพราะนอกจากพ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกขี้เกียจแล้ว ยังเป็นการสะสมความเห็นแก่ตัวให้แก่ลูกอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าทั้งพ่อแม่และลูกก็โง่พอๆ กัน

            แต่สำหรับพ่อแม่นั้นดูจะโง่มากกว่าลูกเสียอีก เพราะการที่พ่อแม่ได้สร้างตัวมาจนบัดนี้ ก็ไม่ได้สร้างขึ้นมาจากความเกียจคร้าน แต่สร้างขึ้นมาได้ด้วยความขยัน แต่กลับไปปล่อยหรือยอมให้ลูกขี้เกียจ นี่ถ้าไม่เป็นเพราะบาปมันมาบังใจพ่อแม่แล้วมันจะเกิดจากอะไร ? ทั้งๆ ที่เขาก็รู้อยู่แก่ใจดีว่า ไม่มีใครร่ำรวยขึ้นมาได้จากความเกียจคร้าน แต่พ่อแม่ก็กำลังสร้างลูกให้เกียจคร้านอยู่ แล้วอนาคตของลูกจะเป็นอย่างไร จะมีพ่อแม่สักกี่คนที่จะอยู่เลี้ยงลูกจนตลอดชีวิตของลูก ?

            ลูกเราถึงจะมีความรู้ดี มีปริญญายาวเป็นหางว่าว มีความสามารถสูง แต่ถ้ามันขี้เกียจหรือเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อเสียอย่างเดียวแล้ว เขาจะเอาตัวก็ไม่รอด ! อย่าได้ไปคิดหวังว่า เขาจะเป็นที่พึ่งให้แก่พ่อแม่เลย

            ว่ามาถึงตรงนี้แล้ว พ่อแม่บางคนอาจเถียงว่า “ก็ฉันไม่ได้สอนให้เขาขี้เกียจนี่นา เขาขี้เกียจเอง ฉันเบื่อที่จะเคี่ยวเข็ญ ก็เลยต้องปล่อยเขาไป จะมาโทษฉันได้อย่างไร ? จะมีพ่อแม่คนไหนบ้างที่อยากจะเห็นลูก
ขี้เกียจ ?”

            การที่เราไม่ใช้ ไม่บังคับ และไม่ทำโทษลูก นั่นแหละคือ การสอนให้ลูกขี้เกียจละ เพราะเด็กเขาไม่รู้หรอกว่า ผลแห่งความเกียจคร้านมันจะเป็นอย่างไร ? แต่พ่อแม่นั้นย่อมจะรู้ดี จึงไม่ควรที่จะปล่อยให้ลูกขี้เกียจ การอ้างแต่เพียงว่า ลูกมันไม่เอาหรือไม่ทำเอง หาได้เป็นข้ออ้างที่พ้นตัวไม่ ก็เราเป็นพ่อแม่เขา ถ้าเราบังคับลูกหรือเลี้ยงลูกให้ดีไม่ได้แล้ว เราจะเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูกได้อย่างไร ?

            ขนาดลูกเราตัวเล็กๆ เรายังบังคับหรือสอนเขาไม่ได้ แล้วท่านแน่ใจหรือว่า เมื่อเขาโตแล้วเราจะสอนเขาได้ ? อย่าหวังเสียให้ยากเลย ไม้อ่อนย่อมดัดง่ายกว่าไม้แก่ฉันใด ? การไม่ดัดนิสัยขี้เกียจของลูกในยามเล็ก โดยหวังจะให้เขาไปขยันเอาเมื่อโตนั้น ก็ย่อมจะยากเย็น ฉันนั้น !

            มาดูตัวอย่างภาพฟ้องให้เห็นว่าพ่อแม่เลี้ยงลูกไม่ถูกธรรม เลี้ยงลูกให้ขี้เกียจ หรือเลี้ยงลูกให้เป็นขโมย นั่นคือ พ่อแม่ต้องป้อนข้าวลูกหรือให้ลูกกินข้าวไปในรถ ขณะที่พาลูกไปส่งโรงเรียน ที่ลูกตื่นกินข้าวไม่ทันเพราะอะไร ?

            มีนิทานจีนชวนคิดเรื่องหนึ่ง เจ้าหน้าที่กำลังนำนักโทษคนหนึ่งจะไปประหาร แม่ได้เดินตามนักโทษไปพลางก็ร้องไห้ไปพลาง นักโทษไม่ได้เสียใจหรือร้องไห้ แต่ได้เรียกให้แม่มาหา พอแม่เข้ามาใกล้เอียงหูมาจะฟังลูกพูด พอได้จังหวะ ลูกก็กัดใบหูของแม่เข้าเต็มแรง แม่ทั้งเจ็บทั้งตกใจ ร้องเสียงหลง เลือดไหลเป็นทาง

            ลูกนักโทษตะโกนใส่แม่ด้วยความแค้นว่า “เป็นเพราะแม่คนเดียวเชียว ที่ทำให้ฉันจะต้องถูกประหาร ฉันได้ลักเล็กขโมยน้อยเรื่อยมาแต่เด็กแม่ก็ไม่เคยห้าม จึงทำให้ฉันเสียนิสัย เลยต้องกลายเป็นนักโทษ ถ้าแม่สั่งสอนหรือห้ามปรามฉันเสียแต่เล็กๆ ไฉนฉันจะต้องมาถูกประหารด้วยเล่า ?”

            แม่ก็ได้แต่เดินก้มหน้าเสียใจ ว่าตนเลี้ยงลูกผิดไปแล้ว จากข้อคิดนี้ ถ้าพ่อแม่เห็นลูกได้อะไรติดมือมาจากโรงเรียน หรือที่ไหนก็ตาม ก็อย่าเพิ่งหลงดีใจที่ลูกบอกว่าเก็บได้ หรือเพื่อนให้เสมอไป ลูกอาจจะไปลักของใครมาก็ได้ มันอาจจะเป็นทุกขลาภในภายหน้า ถ้าพ่อแม่ไม่สอบสวนให้ถ่องแท้เสียก่อน ควรสอนลูกให้ตระหนักไว้ว่า เมื่อเก็บของได้ในโรงเรียนก็ควรเอาไปให้ครูทุกครั้งไป ไม่ควรจะถือเอามาเป็นส่วนตัว เพราะอาจจะถูกหาว่าเป็นขโมยก็ได้

            อีกตัวอย่างหนึ่ง ที่แสดงถึงการเลี้ยงลูกไม่ถูกธรรม มีภาพลักษณ์ทางลบเกี่ยวกับแม่และลูก ประทับใจผู้เขียนอยู่ครั้งหนึ่ง ในสมัยที่ยังทำงานเป็นบุรุษไปรษณีย์ ควบคุมถุงไปรษณียภัณฑ์อยู่ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง กทม.

            ในวันนั้นมีอาจารย์หญิงรุ่นอายุเลขตัวหน้าเกิน 4 กว่าๆ ไปมากแล้ว ได้มาส่งลูกสาวไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาจารย์หญิงของ รร.เตรียมอุดมศึกษา เป็นผู้สนใจธรรมะและรู้จักผู้เขียนที่กุฏิของหลวงตาแพรเยื่อไม้

            ผู้เขียนจึงตามขึ้นไปคุยด้วยบนรถไฟขบวนเชียงใหม่ อากาศวันนั้นค่อนข้าง อบอ้าว และไปรถไฟชั้นสามด้วยทั้งแม่และลูกต่างก็เหงื่อไหลเต็มใบหน้า พอนั่งลงที่เก้าอี้ แล้วแม่ก็เอาพัดเล็กๆ ที่ติดตัวมาพัดให้ลูกอย่างเร็ว โดยที่ไม่พัดให้ตัวแม่เองเลยส่วนลูกก็ทำเฉยปล่อยให้แม่พัดให้ ผู้เขียนเห็นแล้วก็สลดใจ เพราะคิดไม่ถึง ที่จริงลูกน่าจะพัดให้แม่มากกว่า

            นี่แสดงให้เห็นถึงการเลี้ยงลูกไม่ถูกธรรม คิดเดาเอาเองว่า ถ้าอยู่ที่บ้านแม่คงจะทำอะไรให้ลูกสาวหมด แม้แต่กางเกงในก็คงซักให้ด้วย และก็คงจะยังไม่ได้ทำให้อยู่อย่างเดียวคือ ไม่ได้ล้างก้นให้เท่านั้นกระมัง ! และตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไป ผู้เขียนก็ไม่ติดต่อกับอาจารย์คนนั้นอีกเลยจนบัดนี้ เพราะผู้ที่ศึกษาธรรมะและปฏิบัติธรรมะอย่างถูกวิธีแล้ว เขาย่อมจะไม่เลี้ยงลูกให้เป็น “ลูกบังเกิดเกล้า” เช่นนี้อย่างแน่นอน

            การเลี้ยงลูกให้ถูกต้องจริงๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลหลายฝ่าย แต่ที่สำคัญจริงๆ ก็พ่อแม่นั่นแหละ จะต้องเป็นพ่อแม่ที่ทั้งเข้มและทั้งแข็งอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

            แน่นอน, พ่อแม่บางคนเป็นคนใจอ่อน พอเห็นลูกเศร้าซึมหรือน้ำตาออกก็ใจแป้ว ไม่อาจจะบังคับหรือทำโทษลูกได้ ก็เลยยอมไม่ให้ลูกทำอะไรๆ ไปหมดทุกอย่าง บางคนลูกโตจนเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วก็ยังซักเสื้อผ้าไม่เป็น เพราะแม่ทำให้หมด ที่ยังไม่ได้ทำให้ก็เห็นจะมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นคือ ยังไม่ได้ล้างก้นให้เท่านั้นแหละ !

ลูกโง่ๆ บางคนอาจนึกภูมิใจ ที่ตนมีพ่อแม่ที่ตามใจไปหมดทุกอย่าง
(โตแล้วไปโรงเรียนก็ยังต้องรับส่งกันอยู่) ไม่ว่ากิจในบ้านหรือนอกบ้าน ลูกไม่ต้องรับผิดชอบอะไรด้วยเลย วันเสาร์อาทิตย์หยุดเรียนก็นั่งเล่นนอนเล่น หรือเที่ยวไปตามสบาย พ่อแม่มีเงินให้ใช้ไม่ข้องขัด


            ลูกทั้งหลายโปรดรับรู้ไว้เถิดว่า เธอไม่ใช่คนมีบุญหรอก มันเป็นบาปของเธอต่างหากที่ต้องมาเกิดเป็นลูกของพ่อแม่ชนิดนี้ เพราะการที่เธอไม่ทำอะไร โตขึ้นก็จะทำอะไรไม่เป็น และคนที่ ไม่ทำงานออกแรงร่างกายก็ย่อมจะอ่อนแอ มักจะเจ็บออดๆ แอดๆ ถูกแดดถูกฝนนิดหน่อยก็เป็นหวัดง่ายเพราะร่างกายไม่แข็งแรง

            บางคนอาจแย้งว่า จะปลุกลูกแต่ดึกได้อย่างไร ? ก็ลูกมันเพิ่งจะนอนได้ไม่กี่ชั่วโมงเพราะทีวีเพิ่งปิด ถ้าปล่อยให้ลูกนอนตอนทีวีปิด ปัญหานี้ก็แก้ไม่ได้ก็ต้องปล่อยให้อาจารย์ทีวีเขาแก้ให้สิ ! พ่อแม่บางคนก็เหี๊ยบกับลูกมากจนเกินไป ใช้ให้ลูกทำงานที่เสี่ยงต่ออันตรายมาก และหนักเกินไปจนลูกไม่มีเวลาไปวิ่งเล่นกับเพื่อนๆ อย่างนี้มันก็ตึงเกินไป

            ทางที่ถูกนั้นควรจะพบกันครึ่งทาง คือ ไม่ควรจะหย่อนยานจนลูกขี้เกียจ และก็ไม่ควรจะตึงจัดจนลูกเครียด อยู่ในระหว่างกลางๆ หรือมัชฌิมานั่นแหละเป็นดีที่สุด

พึงเลี้ยงมารดาและบิดาด้วยโภคทรัพย์ที่ได้มาโดยชอบธรรม
ธมฺเมน มาตาปิตโร ภเรยฺย

ธรรมิกสูตร 25/365

ที่มา http://www.dhammajak.net

ความคิดเห็น