10 วิธีฝึกลูก ช่วยเหลือ ตัวเอง
เมื่อลูกไม่ได้รับการฝึกให้รู้จักช่วยเหลือตัวเอง คิดว่าลูกจะได้รับผลเสียใดบ้าง ?
* ลูกตัดสินใจเองไม่เป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายๆ ขึ้นไปจนถึงเรื่องยากๆ
* ลูกติดนิสัยคอยพึ่งพาแต่คนอื่น ทำสิ่งใดด้วยตัวเองไม่เป็นเรื่อยไปจนโต
* ลูกจะมีนิสัยรักความสบาย รับความลำบากได้ยาก เพราะเคยมีแต่คนทำให้
* ลูกจะมีปัญหาในการเข้าสังคม เพราะยึดติดอยู่กับผู้ใหญ่ที่คอยแก้ปัญหาให้
* ลูกจะปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนหรือคนรอบข้างไม่ได้
* ลูกจะคิดแก้ไขปัญหาไม่เก่ง คิดได้ช้า หรือคิดวิธีแก้ปัญหาได้น้อย
* ลูกจะมีความรับผิดชอบต่อตัวเองในด้านต่างๆ น้อยกว่าเด็กทั่วไป
* ท้ายที่สุดพ่อแม่อาจทนพฤติกรรมลูกไม่ได้เมื่อโตขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันลดลง
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลกระทบจากการที่ไม่ได้ฝึกให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง ค่ะ ทั้งๆ ที่ลูกกำลังอยู่ในช่วงวัยต้องการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง ชอบรบเร้า จะเข้ามาช่วยพ่อแม่ทำโน่นนี่ เพราะต้องการเรียนรู้การใช้ชีวิตตามผู้ใหญ่ดังนั้นลองฉวยโอกาสนี้ให้เป็น ประโยชน์ ด้วยการสอนให้ลูกรู้จักช่วยเหลือตัวเอง กับ 10 เคล็ดลับนี้สิคะ
1 เข้าใจพัฒนาการลูกวัย Toddler
วัยนี้จะมีความรู้สึกใหม่เกิดขึ้น คือ อยากรับผิดชอบชีวิตประจำวันของตัวเองบ้าง อยากมีส่วนร่วมในการล้างมือ อาบน้ำ กวาดบ้าน ถูบ้าน ใช้ค้อน คราด แปรงฟันเอง พยายามทำทุกอย่างที่เคยเห็นเขาทำ และเริ่มมีทัศนคติที่ดีกับสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำ จึงพยายามช่วยตัวเอง เช่น รู้จักสอดแขนเข้าไปในแขนเสื้อ ใส่กางเกง สนใจแกะหรือใส่กระดุม สวมถุงเท้ารองเท้าเอง แม้วัยนี้จะช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ก็ควรช่วยลูกบ้าง เช่น หากางเกง เสื้อที่ลูกใส่ได้ง่าย หาช้อนที่ตักกินเองได้ง่าย วางแปรงสีฟัน ถ้วยในที่ที่ลูกเอื้อมหยิบถึง ฯลฯ
2 เริ่มมอบหมายงานบ้าน
โอกาสทองที่เพิ่มความรู้สึกความภาคภูมิใจ และความเชื่อมั่นในตัวเองให้ลูก คือ การให้ลูกรู้จักช่วยงานบ้าน แม้จะเป็นงานเล็กๆ น้อยๆ ก็ตามค่ะ เพราะเหล่านี้ถือเป็นการส่งสัญญาณให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่มีความเชื่อมั่นว่าลูก จะสามารถรับผิดชอบ และทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วงไปได้ แถมยังช่วยให้ลูกรู้ว่าตัวเองก็มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือครอบครัวด้วย เหมือนกัน แล้วลูกยังรู้สึกดีมีความภาคภูมิใจที่ได้รู้ว่าตัวเองก็เป็นที่ต้องการของ พ่อแม่ด้วยเช่นกันค่ะ
3 อย่าคิดว่าลูกไม่สามารถ
ถึงจะดูว่าลูกวัยเตาะแตะยังเล็ก แต่ขอบอกว่าลูกก็สามารถช่วยเก็บของเล่นที่ลูกเล่นเกลื่อนบ้านลงใส่ในตะกร้า เก็บ ของเล่นได้ หยิบเสื้อผ้าที่จะซักใส่เครื่องซักผ้าได้ (แม้ว่าจะค่อยๆ ใส่ทีละชิ้นทีละชิ้น) วางช้อนส้อมบนโต๊ะอาหารเมื่อถึงเวลากินข้าวเย็นได้ วางผ้ารองจานข้าวได้ (ถ้าที่บ้านใช้) จับคู่ถุงเท้าของพ่อที่ซักสะอาดแล้วให้เข้าคู่ได้ (โดยแม่เป็นคนพับ) เมื่อลูกทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ นี้จนเริ่มชินแล้ว จึงค่อยมอบหมายให้ลูกทำงานที่ยากขึ้นไปอีกนิดเมื่อลูกโตขึ้นได้
4 ทำงานบ้านเป็นเรื่องสนุก
ควรแสดงออกให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่สนุกและพอใจที่ได้ทำงานบ้านร่วมกับลูก เช่น แทนการใช้คำสั่งให้เก็บของเล่นที่เกลื่อนกลาดบนพื้น อาจใช้วิธี ชวนลูกเล่นแข่งเก็บของเล่นใส่กล่อง เกมพาน้องตุ๊กตากลับบ้าน ซึ่งก็คือ เก็บตุ๊กตาเข้าที่ ร้องเพลงที่ลูกชอบด้วยกัน แต่งเพลงขึ้นมาใหม่ในการพับผ้า คิดท่าเต้นขณะกวาดบ้าน แข่งกันเก็บผ้าปูที่นอน ซื้อไม้กวาดเด็ก ที่พรวนดินเด็ก ถุงมือเด็กให้ลูกหยิบจับ ซึ่งนอกจากช่วยให้ลูกยินดีที่จะทำมากขึ้น ลูกยังสนุก และลดความวุ่นวายเวลาลูกมาแย่งอุปกรณ์จากแม่ได้ด้วย
5 ดูความสนใจของลูก
การที่จะฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับงานบ้าน พ่อแม่ควรเริ่มต้นจากงานที่ลูกสนใจก่อน เพราะความอยากรู้อยากเห็นจะเป็นแรงกระตุ้นให้ลูกเรียนรู้ และทำสิ่งนั้นได้ดี รวมทั้งรู้สึกสนุกได้ มากกว่าการไปบังคับให้ลูกทำในสิ่งที่ไม่สนใจ ถ้าลูกอยากจะเข้ามาช่วย หรือขอเข้ามามีส่วนร่วมขณะพ่อแม่กำลังทำงานบ้าน ควรให้ลูกเข้ามามีส่วนช่วยทำงานบ้าง ถึงลูกจะถ่วงเวลาให้ทำได้ชักช้า วุ่นวาย หรือไม่ทันใจไปบ้าง ก็ได้อย่าดุว่าลูกเลยนะคะ
6 หางานง่ายๆ ให้ลูกทำ
อย่าเริ่มด้วยงานบ้านยากๆ จนลูกรู้สึกเบื่อหน่าย ท้อถอย หางานง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน ทำได้ง่ายตามวัย โดยเน้นเรื่องความพยายามของลูก แม้ว่าผลงานที่ออกมาจะ ไม่เรียบร้อย แต่คนตัวเล็กอย่างลูกต้องใช้ความพยายามมาก งานที่ควรให้ลูกทำ เช่น * เก็บของเล่น ของใช้ เสื้อผ้าเข้าที่ *ให้อาหารสุนัข แมว ปลา * ล้างผัก * เก็บของเล่นชิ้นเล็กใส่ตะกร้าหรือกล่อง * หยิบเสื้อผ้าใส่เครื่องซักผ้าที่เปิดฝาด้านหน้า *วางรองเท้าในที่เก็บ *วางช้อนส้อมบนโต๊ะ * วางแผ่นรองจานข้าว
7 ชมเชยและชื่นชมลูกบ้าง
หลายคนอาจนึกไปไม่ถึงว่าการที่ลูกได้รับความไว้วางใจให้ทำงาน จะช่วยสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นในใจลูกอย่างได้ผล จนเกินคาดค่ะ นักจิตวิทยายืนยันว่าการให้ลูกมีส่วนร่วมทำงานบ้าน จะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เกิดรู้สึกในทางบวกกับตัวเองมากขึ้น คำชมและเสียงตบมือจึงเป็นกำลังใจที่ลูกต้องการ เมื่อลูกทำงาน ได้สำเร็จ ทำได้ดีก็อย่าลืมชมเชยในความสามารถของลูกถึงลูกจะยังทำได้ไม่เนี้ยบเรียบ ร้อยเท่าพ่อแม่ก็ตาม ให้เวลาลูก อีกสักนิดนะคะ แล้วลูกก็จะค่อยทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ
8 อย่าให้งานลูกมากเกิน
การให้ลูกทำงานหลายชิ้นจะทำให้ลูกรู้สึกเบื่อหน่าย เพราะจะทำให้ลูกล้มเลิกการทำงานเหล่านั้นได้ค่ะ เลือกงานบ้านให้ลูกทำทีละอย่างก็พอ หรืออย่างมากสุดก็ไม่ควรให้เกิน 2 ชิ้น ที่สำคัญไม่ควรเปลี่ยนใจไปมาให้ลูกทำงานอย่างอื่นแทรกขึ้นมาทั้งที่ลูกยังทำ งานชิ้นเดิมไม่เสร็จ ถ้าจะให้ลูกทำงานบ้านเพิ่มอีก ควรเริ่มให้หลังจากที่ลูกทำงานหลักเสร็จไปแล้วลูกจะได้ตั้งใจทำงานให้สำเร็จ เป็นชิ้นๆ ไป ควรให้ลูกทำทีละน้อย ใช้เวลา ไม่นานนักลูกจะได้ทำงานได้ง่ายและสะดวกขึ้น แล้วควรอยู่ใกล้ๆ ลูกด้วย จะได้ช่วยเหลือเมื่อเกิดติดขัดค่ะ
9 อย่าทำแทนลูกทุกอย่าง
การไม่ปล่อยให้ลูกทำงานด้วยตัวเองให้สำเร็จลุล่วงไป จะเป็นการทำลายความมั่นใจของลูก ทำให้ลูกไม่กล้าที่จะทำงานต่างๆ ด้วยตัวเองตามลำพังคนเดียว เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถที่จะทำได้ ดังนั้นเมื่อเห็นลูกทำอะไรชักช้าไม่ทันใจ อย่าตัดความรำคาญด้วยการรีบทำแทนลูกทันที หรือช่วยเหลือลูกทุกอย่างเพราะกลัวลูกจะลำบากนะคะ ต้องใจเย็นๆ ปล่อยให้ลูกทำเองจะดีกว่า เก็บความอยากช่วยงานลูกไว้ก่อน ถ้าลูกจัดการงานนั้นได้เสร็จเรียบร้อย เป็นแม่เองที่อาจอยากจะช่วยทำแทนลูกน้อยลงเรื่อยๆ ในอนาคตได้ค่ะ
10 พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี
ถ้าอยากให้ลูกรู้จักพึ่งตัวเองได้ดี แต่พ่อแม่ไม่ค่อยได้ทำงานบ้านให้ลูกเห็น หรือถ้าทำก็จะมีเสียงบ่น หรือทำงานบ้านด้วยท่าทีเคร่งเครียด เหล่านี้ไม่ถือเป็นตัวอย่างที่ดีค่ะ พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีในการทำงานบ้านอย่างเต็มใจและมีความสุข ต้องอดทน และหนักแน่นด้วย เพราะลูกจะไม่สามารถปฏิบัติเพียงครั้งเดียวแล้วทำได้เลย อย่าคาดหวังว่าลูกจะต้องทำได้ดีอย่างที่สอนทุกครั้ง พูดจาดีๆ กับลูกให้ลูกเต็มใจทำ การที่ลูกได้ช่วยเหลืองานบ้าน ก็นับเป็นแบบฝึกหัดที่ดี ทำให้ลูกเป็นคนมีน้ำใจรู้จักช่วยเหลือคนอื่นด้วยค่ะ
update by flower
Mother & Care / May
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Mother & Care
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น