ส่งลูกเข้าเรียน "วิถีพุทธ" ใครว่าเด็กจะล้าหลังคร่ำครึ!
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
เมื่อ พูดถึง "โรงเรียนวิถีพุทธ" ถือเป็นโรงเรียนทางเลือกหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิกฤตสังคม ที่หลายฝ่ายเริ่มตั้งคำถามต่อระบบการศึกษา และทวงถามการเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์ เพราะที่ผ่านมาหลายฝ่ายต่างให้ความสนใจตัวความรู้เพื่อการแข่งขัน มากกว่าที่จะเตรียมพร้อมความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้กับเด็ก
ถึง แม้จะเป็นแนวทางที่ถอดสลักความเป็นโรงเรียนในระบบเคร่งเครียด และเปลี่ยนมาใช้ "วิถีพุทธ" เป็นตัวนำในการพัฒนาจิตใจเด็กแบบองค์รวม แต่ก็ยังมีพ่อแม่หลายคนมองว่า โรงเรียนแนวนี้ เป็นการจับเด็กให้มานั่งสมาธิ สวดมนต์ หรือท่องจำความหมายของคุณธรรมจริยธรรมเพียงอย่างเดียว แล้วจะทำให้ลูกคร่ำครึ เชย ไม่ทันโลก ขาดองค์ความรู้ที่เพียงพอในการแข่งขัน
หากในความเป็นจริงแล้ว "บุปผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์" หรือ "ครูอ้อน" ผู้บริหารโรงเรียนทอสี หนึ่งในโรงเรียนวิถีพุทธ อธิบายให้ฟังในงาน Emporium Smart Kids เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า แนวทางการเรียนแบบวิถีพุทธ ไม่ใช่เป็นอย่างที่หลายคนคิด แต่จะเน้นให้เด็กเรียนรู้การลงมือปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเล่น การทำงานฝีมือ การเคลื่อนไหวร่างกาย การทำอาหาร การสนทนาพูดคุย การกล่าวคำขอบคุณ-ขอโทษ การบริการผู้อาวุโส หรือการฟังนิทานชาดก โดยใช้หลักการทางพระพุทธศาสนาเป็นตัวนำในการพัฒนาคนควบคู่ไปกับความรู้ทาง วิชาการ
" คนชอบมองว่า เรียนวิถีพุทธเหรอ เชย ล้าสมัย สวดมนต์กันวันยังค่ำ ไม่เห็นจะน่าเรียนเลย หรือเด็กต้องเรียบร้อย เหมือนผ้าพับไว้ แต่จริงๆ แล้ว อยากจะบอกว่า มันไม่ใช่ เด็กก็ใช้ชีวิตตามปกติ เพียงแต่จะเน้นเรื่องของการปลุกสติ สอนให้เด็กมีธรรมะ มีความเข้าใจในธรรมชาติเพื่อให้รู้ทันจิต ไม่เน้นการเอาชนะ แต่จะเน้นให้รู้จัก และเอาชนะใจตนเอง" ครูอ้อนไขข้อสงสัย
ขณะ ที่อีกส่วนต่างมองว่า การเรียนวิถีพุทธจะทำให้เด็กไม่ทันโลก และด้อยวิชาการนั้น ครูอ้อนอธิบายต่อว่า ทางโรงเรียนไม่ได้ทอดทิ้งวิชาการเลย แต่ในบทเรียนชีวิตที่เราให้กับเด็ก มันเป็นเนื้อเดียวกับวิชาการตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเด็กจะได้ความรู้ทางวิชาการไปพร้อมๆ กัน แต่เป็นไปแบบธรรมชาติโดยเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตจริง
ครูอ้อน-บุปผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ ผู้บริหารโรงเรียนทอสี
"ตามหลัก พุทธศาสนา ชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิต แต่ผู้ใหญ่หลายฝ่ายคิดว่า เรามีหน้าที่เตรียมการศึกษาเพื่อส่งเด็กอนุบาลให้เข้าเรียนในชั้น ป.1 แต่มันไม่ใช่ เป้าหมายที่แท้จริงของวิถีพุทธคือ ทำชีวิตเด็กให้เป็นชีวิตแห่งการเป็นนักศึกษา เด็กจะต้องเป็นนักศึกษาชีวิต ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรเข้ามา เขาจะสามารถเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญาได้" ครูอ้อนอธิบาย
อย่างไรก็ดี การศึกษาในแนววิถีพุทธ ครูอ้อนอธิบายต่อว่า เด็กในศาสนาอื่นก็สามารถเข้ามาเรียนรู้ในแนวทางวิถีพุทธได้ เพราะหลักการของพระพุทธเจ้าคือการพัฒนาชีวิต ไม่ได้เอาความเชื่อ หรือศรัทธาเป็นตัวตั้ง ดังนั้นเมื่อพ่อแม่เข้าใจถึงการเรียนรู้อย่างแท้จริง เรื่องของศาสนาก็ไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้อีกต่อไป
สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ
หันมาคุยกับ "สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ" หรือ "เช็ค" พิธีกรรายการคนค้นคน คุณพ่อที่เลือกให้ลูกทั้งสองคนเข้าโรงเรียนวิถีพุทธ ตั้งแต่เตรียมอนุบาล ชี้ให้เห็นว่า แนวทางการศึกษาวิถีพุทธ สอนให้เด็กมองเห็นความเป็นจริงของชีวิต นั่นก็คือ ชีวิตกลางทางที่มีความสุข ไม่ใช่พากันไปบวชชี หรือพากันไปเดินจงกลม คร่ำครึไม่ทันโลกอย่างที่หลายคนเชื่อ หรือให้ความหมาย
" ที่ผ่านมาการศึกษาเราไปตามฝรั่งว่างั้นเถอะ เด็กจึงเน้นการเอาชนะ แต่ไม่ได้เรียนรู้จากภายใน ทำให้การเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้เป็นส่วนๆ ท่อนๆ ขาดความรู้ที่เชื่อมโยงกันของจิต ดังนั้นการศึกษาแนวพุทธ คือ การเอาส่วนที่การศึกษาอื่นละทิ้งเข้ามา เป็นการศึกษาที่ยกระดับความเป็นมนุษย์ให้เด็กรู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ได้ดี ลูกผมสอบโอเน็ท เอเน็ทได้ 70 กว่าไปจนถึง 90 ลูกผมอายุ 6 ขวบ ไปต่างประเทศเองได้แล้ว ขณะที่เด็กบางคนไปด้วยกัน กลับร้องไห้อยากกลับบ้าน ซึ่งผมสามารถปล่อยให้ลูก อยู่กับสิ่งเร้า หรือกิเลสทั้งหลายได้อย่างมั่นใจ โดยที่ลูกจะรู้เท่าทันและรับมือกับสิ่งเร้านั้นๆ ได้เป็นอย่างดี" สุทธิพงศ์ ยืนยันถึงสิ่งที่ลูกได้จากการเรียนในแนวทางวิถีพุทธ
" สังคมที่มันเป็นอยู่ อย่างที่เห็น ยิ่งเรียนรู้ มีทฤษฎีการศึกษากันเยอะแยะ แต่ว่าทำไมปัญหาต่างๆ มันยิ่งเยอะขึ้น ทำไมคนยิ่งฉลาด ยิ่งเรียนมาก แต่ปัญหาในโลกนี้ไม่เคยน้อยลงเลย เพราะระบบการสอนที่ทำให้เด็กระงับกิเลส หรือรู้เท่าทันกิเลส ตอนนี้ไม่ค่อยมี ถ้าหากใครจะเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ต้องไปที่สำนักสงฆ์ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่อย่างที่คิด แต่มันสามารถที่จะอยู่ควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิชาการได้ เพราะฉะนั้นวิชาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผมว่ามันเป็นวิชาที่สำคัญสำหรับลูกผมมาก" สุทธิพงษ์ฝากทิ้งท้าย
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น