ส่งเสริมลูก "อ่าน เล่น เรียนรู้" อย่างไรให้ได้ผล
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
กระแสการตื่นตัวเรื่องพัฒนาการเด็ก ทั้งการอ่าน เล่น เรียนรู้ มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ในบางครั้งจะไม่ได้รับผลตอบกลับที่ดีมากนัก แต่ทุกภาคส่วนก็แสดงจุดมุ่งหมายเดียวกัน โดยให้พ่อแม่ตระหนัก และให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมากขึ้น
เช่นกันกับโครงการ "อ่าน เล่น เรียนรู้ ตามสมรรถนะเด็กปฐมวัย" ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก นิตยสาร Mother & Care และสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ เพื่อให้ทุกบ้านรู้แนวทางส่งเสริมพัฒนาการ อ่าน เล่น เรียนรู้ให้ลูกอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียน ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญ
ในเรื่องนี้ "ดร.สายสุรี จุติกุล" ที่ปรึกษาด้านเด็ก สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า เมื่อก่อนจะเรียกแทนเด็กตั้งแต่แรกเกิด ถึง 6 ปี ว่า "เด็กก่อนวัยเรียน" ต่อมามีการตกลงให้เปลี่ยนเป็นเด็กก่อนปฐมวัย เพื่อความเข้าใจ และเหมาะสมกับการเจริญเติบโตสมองของเด็ก เป็นส่วนที่พัฒนาได้รวดเร็วกว่าองค์ประกอบอื่นๆ ของร่างกาย ดังนั้นความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการเด็ก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ ครูอาจารย์ จะต้องวิ่งตามให้ทัน
สอดรับกับการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ที่ปรึกษาด้านเด็กรายนี้ บอกว่า พ่อ แม่ควรเข้าใจลูกด้วย เพราะเด็กบางคนที่ชอบอ่านหนังสือ หรือชอบฟังนิทานเรื่องเดิมซ้ำๆ ทุกวัน เมื่อได้ฟังบ่อยๆ เด็กจะไม่เบื่อ แต่ผู้ใหญ่มักจะเบื่อเสียก่อน ดังนั้นต้องมีการดัดแปลงเนื้อหาของนิทานเรื่องเดิมๆ ที่เคยอ่านให้ลูกฟัง อาจจะมีการเพิ่ม เติม แต่ง เรื่องราวที่น่าตื่นเต้นเข้าไป เด็กจะเกิดอาการแย้งขึ้นมาทันทีว่า "ไม่ใช่ มันไม่ใช่แบบนี้นะ มันต้องเป็นแบบนี้ต่างหาก" ทำให้พ่อแม่เห็นพัฒนาของลูกว่ามีความสนใจและจดจำที่ดี ซึ่งพ่อแม่ไม่ควรไปเร่งรัดเด็กจนเกินไป เพราะเป็นการบังคับ และทำร้ายเด็กทางอ้อม
ด้าน อาจารย์ชีวัน วิสาสะ นักแต่งและเล่านิทาน เผยแนวทางการประยุกต์หนังสือกับการเล่นให้ฟังว่า ให้พ่อแม่ลองสังเกตสัตว์ที่ชอบเล่นกับลูก ส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลือดอุ่น ต่างจากมนุษย์ที่ไม่ค่อยชอบเล่นกับลูก หรือเล่นเพียงเพื่อความสนุกอย่างเดียว ซึ่งไม่ได้สอนลูกระหว่างการเล่น นอกจากนี้ยังมีพ่อแม่บางคนที่ไม่รู้แม้กระทั่งจะเล่นอะไรกับลูก ดังนั้นลองหันมาใช้กิจกรรมจากหนังสือประยุกต์กับการเล่น ดึงเอาตัวละคร และถ้อยคำสำคัญของนิทานมาใช้ประกอบการเล่นอันแสนสนุกกับลูกกันดีกว่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก
โดย อาจารย์ชีวัน ได้ชี้ให้เห็น พร้อมยกตัวอย่างจากนิทานเรื่อง "อนุบาลช้างเบิ้ม" ว่า ในนิทานเรื่องนี้มี คำว่า "เบอเลิ่มเทิ่ม" แปลว่า "ใหญ่" ซึ่งพ่อแม่สามารถนำมาพูดคุยกับลูกได้ เช่น คำศัพท์ในภาษาไทยที่ให้ความหมายว่าใหญ่มีคำว่าอะไรบ้าง เป็นการเพิ่มพูนคำศัพท์ให้กับลูกด้วย และนอกจากนั้นยังฝึกให้เด็กรู้จักคิดเชื่อมโยงเกี่ยวกับจำนวนที่มีให้นิทาน พ่อแม่สามารถนำมาสอนให้ลูกหัดคิดว่า มีค่าตรงกับสิ่งรอบตัวอย่างไรบ้าง เช่น จำนวน 5 ก็สามารถสอนลูกว่านิ้วมือและนิ้วเท้าของมนุษย์มีจำนวนข้างละ 5 นิ้ว แต่ถ้ารวมกันนิ้วมือก็มีทั้งหมด 10 นิ้ว และนิ้วเท้าก็มี 10 นิ้วเช่นกัน
"หลักการสอน นี้ เด็กไม่ได้แค่ความสนุกและการจินตนาการ แต่เด็กจะได้ในเรื่องการคิดเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังได้ความรู้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์และการคำนวณด้วย หากพ่อแม่มีเวลาเล่นกับลูก ลองฝึกให้เขาแต่งนิทาน ต่อยอดจากนิทานที่พ่อแม่อ่านให้ลูกฟัง ไม่แน่ว่าวงการหนังสือจะมีนักแต่งนิทานตัวน้อยแจ้งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้" อาจารย์ชีวันเผย
ถึงแม้การอ่านสามารถเริ่มต้นได้จากที่บ้าน แต่พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็มักจะโยนภาระหน้าที่ไปให้คุณครูที่โรงเรียนตาม ธรรมเนียม ในประเด็นนี้ "ดร.วรนาถ รักสกุลไทย" หรือ "คุณครูป้าหนู" นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาระดับปฐมวัย ผู้คล่ำหวอดในวงการการศึกษาของเด็กอนุบาล สะท้อนมุมมองว่า อยากให้ผู้ใหญ่คิดย้อนไปสมัยที่เป็นเด็กว่าเราเคยเล่นขายของ เราได้รับความรู้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ การค้าขาย หรือได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบข้างอย่างไร ดูว่าเราคิดเป็นได้อย่างไร การที่พ่อแม่ฝึกให้หยอดกระปุกออมสิน พาไปฝากเงินที่ธนาคาร เราได้อะไรจากตรงนั้นบ้าง หรือขณะที่นั่งกินข้าวด้วยกันที่บ้าน เราเคยเล่าเรื่องที่โรงเรียนให้พ่อแม่เราฟังบ้างไหม เป็นคำถามที่ผู้ใหญ่ต้องถามตัวเองแล้วว่า พอถึงตอนนี้ที่เรามีลูก จะต้องเริ่มฝึกให้เขาได้รับประสบการณ์ที่ดีอย่างที่เราเคยผ่านมาในอดีต
ดังนั้นพ่อแม่ควรคิดว่า ทุกคนต้องเป็นที่พึ่งซึ่งกันและกัน อย่าคิดว่าส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนแพงๆ แล้วคุณครูต้องเป็นคนจัดการดูแลความเป็นอยู่และอบรมสั่งสอนลูกทุกอย่าง แต่อยากให้พ่อแม่ให้เวลากับลูกของตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แม้บางครอบครัวต้องมีเรื่องของอาชีพ หน้าที่การงานเข้ามาเกี่ยวข้อง เด็กจึงต้องอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติพี่น้อง แต่ในความเป็นจริงมีจำนวนไม่น้อยที่เด็กต้องอยู่ในความดูแลของสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์รับเลี้ยง และโรงเรียน
"พี่พยายามบอกกับผู้ปกครองทุกคนว่า เรื่องเงินทองไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย แต่ว่าสิ่งที่เด็กควรจะได้รับจากพ่อแม่ คือ เวลาที่พวกเขาจะได้อยู่กับพ่อแม่ ตราบใดที่คุณยังไม่มีเวลาให้กับลูก พัฒนาการของลูกก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ และพี่จะพูดเสมอว่า อย่าไว้วางใจคนข้างนอกบ้าน ให้ไว้ใจคนในบ้านว่าสามารถสอนให้ลูกเรียนรู้อย่างเข้าใจได้" คุณครูป้าหนู อธิบาย
นักการศึกษาฝากทิ้งท้ายว่า อยาก ให้พ่อแม่เขามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของโรงเรียน สร้างความใกล้ชิดกับลูก กับเพื่อนของลูกทั้งที่อยู่โรงเรียน ไปอ่านนิทานให้เด็กที่โรงเรียนฟัง คุณพ่อคุณแม่เห็นผลได้ทันที และอีกอย่างทางโรงเรียนก็จะได้ทราบแนวการสอนและการเลี้ยงดูของแต่ละครอบครัว เป็นอย่างไร เพื่อนำมาปรับใช้กับเด็กขณะที่เขาอยู่ที่โรงเรียนด้วย
*** สำหรับโครงการ "อ่าน เล่น เรียนรู้ ตามสมรรถนะเด็กปฐมวัย" จะออกเดินสายพาคาราวานเสริมสร้างทักษะต่างๆ ของเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้านไปทั่วประเทศ ครอบครัวไหนสนใจสอบถาม โทร. 0-2241-8000 ต่อ 341,326 หรือ www.motherandcare.in.th
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น