เปิดสมอง-กาย-ใจ เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย

 เปิดสมอง-กาย-ใจ เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย




เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเสริมสร้างพัฒนา การที่เหมาะสมให้อนาคตของชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในเด็กปฐมวัย คือเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 3-6 ขวบ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อหนังสือ เด็ก, นิตยสารมาเธอร์แอนด์แคร์ และ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ แถลงข่าวโครงการ “อ่าน เล่น เรียนรู้ ตามสมรรถนะเด็กปฐมวัย” ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ถนนสุโขทัย เมื่อ  เร็ว ๆ นี้โดย ดร.สายสุรี จุติกูล ที่ปรึกษาด้านเด็ก สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ให้ทรรศนะเกี่ยวกับความสำคัญของการอ่าน เล่น เรียนรู้ ในเด็กปฐมวัยว่า ทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มันสมองของเด็กเติบโตเร็วมาก เด็กเล็กถึงแม้ไม่ได้พูดแต่ก็ฟังเข้าใจ พ่อแม่ของเด็กวัยดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก
   
“สิ่งที่ต้องเน้นคือ เด็ก ๆ เรียนรู้ผ่านการสัมผัสเบื้องต้น ต้องเปิดโอกาสให้ลองทำทุกอย่างที่อยากทำ เช่น อยากเดิน อยากวิ่ง หรืออยากเล่น และการเข้าถึงในเชิงบวก ทำอะไรกับเด็กต้องบวกอย่างเดียว พูดดี ๆ และเอื้อต่อเขาด้วยการชี้แนะในสิ่งที่เขาทำไม่ถูก ห้ามเร่งห้ามบังคับ แต่ให้ผู้ใหญ่สังเกตว่าเด็กไปในทิศทางไหน สรุปคือต้องเปิดสมอง เปิดกาย เปิดใจของเด็กในช่วงปฐมวัยให้ได้มากที่สุด สิ่งเหล่านี้จะทำให้พัฒนาการของพวกเขามั่งมีขึ้น”
   
ในโอกาสเดียวกันนี้ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “อ่าน เล่น เรียนรู้ เพื่อส่งเสริมสมรรถนะของเด็กปฐมวัยอย่างรอบด้าน” โดย ดร.วรนาท รักสกุลไทย นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาระดับปฐมวัย กล่าวว่า คำว่าสมรรถนะหมายถึงพฤติกรรมและความสามารถ ในที่นี้หมายถึง แคน ดู (can do) เช่น เด็กวัย 3 ขวบ ชอบถือหนังสือไปมา และสามารถเปิดหนังสือจากหน้าไปหลังได้ เด็ก 4 ขวบสามารถอ่านรูปภาพ และ 5 ขวบต้องสามารถบอกได้ว่าเป็นหนังสืออะไร ตอบคำถาม ใครอะไรที่ไหนอย่างไรได้ การอ่านเป็น เล่นเป็น เรียนเป็น เชื่อมโยงกันทำให้เด็กคิดเป็นและเติบโตเป็นคนมีความสุข จึงต้องทำให้เด็กรักการอ่านให้ได้ ซึ่งเด็ก วัยนี้ต้องอ่าน เล่น และเรียนรู้ด้วยความสนุกสนานเท่านั้น ที่สำคัญคือ เด็กจะสนุกสนานได้ตามผู้ใหญ่ที่อยู่แวดล้อม ผู้ใหญ่ต้องเป็นต้นแบบ มีอารมณ์ขัน และให้กำลังใจเขา เด็กนั่นเองที่จะเป็นครูและสอนให้เราพลิกแพลงเมื่ออยู่  กับเขา
   
ด้าน อ.ชีวัน วิสาสะ นักแต่งและนักเล่านิทาน ให้ความเห็นว่า เด็กมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา อยากแนะให้พ่อแม่เริ่มต้นการอ่านเป็นแรงบันดาลใจต่อยอดไปสู่การเล่น เช่นเปิดหนังสือนิทาน แล้วทำกิจกรรมต่อเนื่องจากหนังสือ หรือเล่นภาษาด้วยการยกตัวอย่างคำขึ้นมา แล้วให้เด็กหาคำอื่นที่ความหมายเดียวกัน ซึ่งอยากให้เน้นว่าการสื่อสารกับลูกควรเป็นการสื่อสารทั้งสองฝ่าย อย่างการอ่านนั้นไม่ใช่เด็กได้อยู่ฝ่ายเดียว แต่ผู้ใหญ่ก็ได้เรียนรู้ที่จะพูดคุยภาษาเด็กด้วย เพราะปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น ผู้ใหญ่ใช้ภาษาผู้ใหญ่พูด ทำให้เด็กไม่เข้าใจ.

โครงการ “อ่าน เล่น เรียนรู้ ตามสมรรถนะเด็กปฐมวัย” เป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสำหรับครูและพ่อแม่เด็กระดับปฐมวัยทั่วประเทศ จุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ พัฒนาทักษะการอ่าน การเล่น และทักษะชีวิตตามสมรรถนะของเด็กปฐมวัย จะจัดสัญจรให้ความรู้ทั่วประเทศ เริ่มที่ จ.ราชบุรี 19-20 มิ.ย., จ.เชียงราย 26-27 มิ.ย., จ.อุบลราชธานี 17-18 ก.ค., จ.สุราษฎร์ธานี 24-25 ก.ค. และ จ.นครสวรรค์ 31 ก.ค.-1 ส.ค. 53 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 0-2241-8000 ต่อ 341, 326 หรือ www. motherandcare.in.th


ที่มา : เดลินิวส์ June 15, 2010

ความคิดเห็น