กระดาน วิเศษ กระดาน 100 ช่อง

 กระดาน วิเศษ กระดาน 100 ช่อง


เรื่องการเตรียมความพร้อมให้ลูก พูดถึงเรื่องกิจกรรม 4 อย่าง วันนี้มาเน้นกันเรื่องกระดาน 100 ช่อง ขอเรียกกระดาน 100 ช่องนี้ว่า"กระดานวิเศษ"เพราะสรรพคุณของกระดานมันวิเศษจริงๆ อ่านจบแล้วใครเห็นเป็นอื่นก็ไม่ว่ากันค่ะ อิ อิ

เรื่องกระดาน100ช่อง หน้าตาจะเป็นตารางแถวละ 10 ใส่เลข 1-10 แถวสองใส่เลข 1-20 ทำจนครบ 10 แถวก็มีเลข 1-100 จะใช้กระดาษตีช่องแล้วแปะปนกระดาษแข็งหรือบอร์ดแข็งๆก็ใช้ได้แล้ว ส่วนตัวเบี้ยที่จะมาวางบนกระดานก็จะมี 100 อันเขียนเลข 1-100 ให้ชัดๆ จะใช้ฝาเบียร์หรือกระดาษแข็งตัดก็โอเค แต่สำหรับเด็กเล็กแนะนำว่าทำกระดานที่ใช้กับแม่เหล็กจะเหมาะกว่าเพราะเด็กๆ ยังควบคุมมือไม่ได้ดีถ้ามือปัดไปโดนเบี้ยในกระดานก็เบี้ยวไปมา

ประโยชน์ แรกของกระดานวิเศษ  สำหรับเด็กเล็กที่ยังวางเบี้ยไม่เป็นก็จะมีคุณพ่อหรือคุณแม่ทำหน้าที่แทน โดยวิธีเอาลูกนั่งตักแล้วพ่อแม่เป็นคนวางเบี้ยให้ลูกดู โดยหยิบเบี้ยที่ต้องการสอน เช่นจะสอน 1-10 ก็หยิบเบี้ย 10 อันกองไว้การวางก็สุ่มหยิบเบี้ยจากในกอง ถ้าหยิบได้ 8 ก็วางเบี้ยเลข 8 ในตารางช่องที่ 8 ไล่ทำจนเบี้ยที่เตรียมไว้หมด แล้วก็กอด หอมแก้ม ชม ทำทุกวิธีให้ลูกรุ้สึกดีกับกระดานวิเศษอันนี้ ไม่ยากใช่มั๊ยคะ ที่เราไม่เรียงเลขเพราะว่าเมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะต้องวางเบี้ยเอง การที่เด็กต้องมาค้นเลข 1 จากกองเบี้ยทั้ง 100อันจะทำให้เด็กท้อได้ ดังนั้นเขาสุ่มหยิบได้เลขอะไรก็วางเลยค่ะ

กระดานแบบพื้นฐานคือมีตัวเลข 1-100 ก็โอเคแล้ว แต่ถ้าเอาแบบครบหลักสูตรเราจะแบ่งเป็น quarter ด้วย แบ่งซ้าย-ขวา บน-ล่าง ก็จะได้เป็น 4 quarter ถ้าคิดตามก็จะเห็นว่าเลข 1-5 เป็นสีนึง(ฟ้า) พอเลข 6-10 เป็นอีกสีนึง(เหลือง) ประโยชน์ของตาราง quarter คือแบบนี้ค่ะ ตอนลูกเล็กเราสอนวางแค่ 1-5 ลูกก็จะเห็นว่าเบี้ยอยู่ในช่องสีฟ้าตลอด พอเราเริ่มสอนเลข 6 เมื่อไหร่ เขาจะเห็นได้เลยว่ามันคือ 5+1 ถ้าเลข 9 ก็คือ 5+4 เก็ทมั๊ยคะ เจ๋งเนอะตารางร้อยช่อง เก่งนี่ทึ่งสุดๆกับประโยชน์ของตารางวิเศษนี้

เด็กจะเรียนรู้การวางเบี้ย 1-100 เราจะจับเวลาทุกครั้งที่ทำแบบฝึกหัด ทุกอย่างที่ทำมีความคิดอยู่เบื้องหลัง การจับเวลาทำให้สมองซีกขวาทำงานค่ะ จำไว้เสมอว่าเราต้องทำให้เด็กคิดว่า"โอ้โห มันง่ายจัง หนูทำได้ในเวลาอีกแล้ว" สมมติว่าเวลาของการทำแบบฝึกหัดนั้นๆคือ 5 นาที ถ้าลูกทำไม่ได้ใน 5 นาที อีกวันเราจะลดจำนวนเลขลง เป้าหมายคือให้เค้าทำได้ในเวลาจนคล่องแล้วจึงค่อยๆเพิ่มเสต็ปความยาก พูดถึงเรื่องจับเวลานึกถึงคุมอง คุมองก็จะให้เด็กที่เริ่มเรียนตอนแรกๆนั่งเขียนเลขในตารางช่องๆโดยมีการจับ เวลา หลักการเดียวกันกับกระดานร้อยช่องของเรานี่หละค่ะ แต่ข้อดีของกระดานร้อยช่องอีกอย่างคือ เด็กเมื่อเล็กกล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรงเค้าจะเขียนเลขได้ไม่เร็ว การที่เราให้เค้าวางเบี้ยด้วยจะทำให้รู้ว่าจริงๆลูกรู้จักตัวเลขมากน้อยแค่ ไหนด้วย (แต่เรื่องเขียนเราก็ต้องฝึก เด็กโตจะมีเรื่องเขียนเลขในกระดาษร้อยช่องเพิ่มเติม)

เมื่อเด็กวาง 1-100 คล่อง เราก็จะเริ่มประยุกต์การใช้ตารางเช่น วางแต่เลขคู่ วางแต่เลขคี่ หรือไปจนถึงสูตรคูณ ซึ่งเด็กไม่รู้หรอกค่ะว่าวิธีแบบนี้เรียกสูตรคูณ แต่ถ้าให้เค้าวางโดยนับไปทีละ 3 ก็คือสูตรคูณแม่ 3 นั่นเอง เราก็จะบอกลูกว่า "วันนี้คุณแม่ใจดีให้หนูวางเว้นช่องเพิ่ม เว้น 2 ช่องเลยค่ะ เลข 1 กับ 2 ไม่ต้องวาง วางเลข 3 แล้ว 4 กับ 5 ก็ไม่ต้องวาง วางเลข 6" นึกภาพตามนะคะ เลขที่ได้ออกมาคือ 3 6 9 12 15 18 21...99 สิ่งที่ลูกจะเห็น(ในวันหนึ่งซึ่งไม่ใช่วันแรกที่ทำแน่ๆ)คือ เลขมันเรียงเป็นแนวทแยง อันนี้คือลูกได้ pattern sense แล้วค่ะ ทำต่อเนื่องลูกจะรู้ทันทีว่าจะวางแม่ 4 รูปแบบตารางจะออกมาเป็น
อย่างไร เค้าจะไวมาก จะสูตรคูณแม่อะไรเราก็เลือกเลยค่ะให้ทำทุกวัน ลูกจะยิ่งชอบเลขสูงๆด้วยซ้ำเพราะวางเบี้ยน้อยตัว ฮิ ฮิ

ประโยชน์ใหญ่ๆอีกเรื่องของกระดานวิเศษนี้คือ เด็กที่ทำตารางร้อยช่องจะไม่เป็นเด็กนับนิ้ว อย่างที่พ่อธีร์เล่าให้ฟังว่าลูกสาวพ่อธีร์ตอนขึ้น ป. 1 กลับบ้านมาบอกพ่อว่า"หนูทำเลขไม่ได้" พ่อธีร์ก็งงว่าลูกสาวบวกเลข 2 หลักคล่องตั้งแต่อยู่อนุบาลไม่น่าจะเจอเลขที่ทำไม่ได้ในโรงเรียน พอมาฟังลูกเล่าถึงบางอ้อ ลูกพ่อธีร์บอกว่าคุณครูสอนบวกเลขแบบ "เอา 2 ไว้ในใจชูนิ้วขึ้นมา 3 นับต่อจาก 2 เป็น 3 4 5" แล้วเขียนคำตอบ แต่ลูกพ่อธีร์ทำไม่เป็น คือเค้าผ่านขั้นนั้นมาแล้ว เห็นโจทย์ปั๊บเค้าเขียนคำตอบเลย แต่เพื่อนๆท่องแบบนี้เค้าทำไม่เป็น กลับมาให้พ่อธีร์สอน พ่อธีร์ก็สอนค่ะ แต่สาวน้อยทำๆไปได้ซักพักบอกว่าไม่เอาแล้วหนูทำแบบเดิมของหนูดีกว่าไม่รู้จะ เอาไว้ในใจทำไม พ่อธีร์บอกว่า"เราเป็นพ่อเป็นแม่มีหน้าที่สอน เค้าอยากรู้อะไรเราก็สอน แต่สุดท้ายให้เค้าได้เลือกหนทางของเค้าเอง เค้าจะเรียนรู้เองว่าหนทางที่จะทำให้ได้มาซึ่ง
คำตอบมันมีสารพัดวิธี และเขาสามารถเลือกได้"

เด็กที่ได้ฝึกกับกระดานร้อยช่องจะเหมือนมี เครื่องคิดเลขติดตัวเข้าห้องสอบเลย มีปัญหาอะไรนึกไม่ออกเอาเหรียญออกมาวางแทนเบี้ย เพราะภาพกระดานอยู่ในหัวเค้าหมดแล้ว เด็กจะได้เรียนรู้การแก้ปัญหาสารพัดโจทย์ด้วยการใช้กระดาน ไม่ว่าจะเป็นโจย์บวกหรือลบ ไปจนถึงหาครน หรม เชื่อมั๊ยคะว่ากระดาน 100 ช่องทำได้ เมื่อเราฝึกลูกแต่เล็กเรื่องกระดาน 100 ช่อง ลูกได้เห็นกระดานช่องๆอย่างนี้ทุกวันเป็นปีๆ (ถึงแม้หน้าตาจะเปลี่ยนไปบ้าง เดี๋ยวเลขโน้นหาย เดี๋ยวเลขนี้โผล่)ก็จะเกิดความเคยชินกับกระดาน ไม่กลัวของเล่นพวกนี้ พอโตขึ้นเราจะสนับสนุนให้ลูกเล่นหมากกระดาน เลือกได้เลยค่ะว่าจะให้เล่นอะไร หมากฮอส หมากรุก โซโดกุ โกะ(หมากล้อม) อะไรก็ได้ดีหมด เด็กที่ได้เล่นหมากกระดานซึ่งถือเป็นกีฬาชนิดหนึ่งจะมีผลพลอยได้คือรู้จัก แพ้ชนะ เรามั่นใจได้ว่าโตขึ้นลูกจะไม่เป็นเด็กเก่งแต่วิชา แต่ลูกจะเป็นเด็กที่รู้ทักษะการอยู่ในสังคม รู้จักแพ้ชนะ ซึ่งส่งผลต่อไปในอนาคตของเค้า ใครสนใจอ่านกันต่อในเรื่องของซูซาน แชมป์โลกหมากรุก ได้จากบทความเรื่อง "สารคดี The Brilliant Brian" นะคะ จะเห็นได้จากชีวิตของซูซานว่าทำไมซูซานถึงประสบความสำเร็จในชีวิต
และ ทำไมอัจฉริยะที่รู้แต่วิชาการถึงล้มเหลวในการใช้ชีวิต เช่น ซอฟิเยาะ (เรื่องนี้ติดค้างไว้มาเขียนเล่าต่อ)

ประโยชน์ของกระดาน 100 ช่องวิเศษขนาดนี้แล้วจะไม่ให้เรียกว่ากระดานวิเศษได้อย่างไรจริงมั๊ยคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก mamycenter.com ค่ะ


ความคิดเห็น