เทคนิค 3 สร้าง แนวทางพิชิตใจ "ลูกวัยรุ่น"โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 12 กรกฎาคม 2553
"ทำไมลูกไม่ยอมออกไปไหนกับ เรา" "ทำไมพ่อแม่ถามอะไร ไม่เห็นพูด อะไรๆ ก็เชื่อแต่เพื่อน" "ยิ่งโต ทำไมยิ่งดื้อ สอนอะไรก็เถียง" หลายคำถามข้างต้น เชื่อว่าเป็นความรู้สึกของพ่อแม่หลายคนที่พบว่าลูกเปลี่ยนไป ซึ่งในหลายรายพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นเร็วมาก จนพ่อแม่ซึ่งไม่เข้าใจในเรื่องของจิตวิทยาวัยรุ่น ต้องกลุ้มอกกลุ้มใจ ด้วยคิดว่าลูกมีพฤติกรรมผิดปกติ และสรุปพฤติกรรมของลูกไปต่างๆ นานา
ในเรื่องนี้ "แพทย์ หญิงอังคณา อัญญมณี" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ โดยอธิบายรูปแบบการเปลี่ยนแปลงวัยของเด็กว่า ปกติแล้วเด็กจะมีการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอย่างเห็นได้ชัดใน 2 ช่วงคือ
1. การเปลี่ยนแปลงครั้งแรก คือ ช่วงวัยที่เล็กๆประมาณ 2-3 ปี เด็กจะเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว เช่น เดินได้ วิ่งได้ ใช้มือหยิบจับสิ่งต่างๆได้เอง ควบคุมการขับถ่ายได้บ้าง ช่วงนี้เด็กจะลดการพึ่งพาพ่อแม่และเริ่มแยกออกมาเป็นตัวของตัวเอง หากห้ามไม่ให้ทำอะไรเด็กก็อาจจะสะบัดมือหรือร้องไห้อาละวาด ผู้ใหญ่อาจมองว่าเด็กดื้อรั้น ทั้งที่จริงๆแล้วเด็กกำลังพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง จึงดูเหมือนต่อต้านพ่อแม่ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นพัฒนาการของเด็กตามปกติ
2. การเปลี่ยนแปลงรอบที่สอง คือ ช่วงที่เด็กกำลังจะเข้าสู่วัยรุ่นประมาณ 11-12 ปี เด็กจะเริ่มเป็นตัวของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง มีเหตุผลของตนเองและทำตามที่ตนคิด ต่างจากเดิมที่พ่อแม่บอกอะไรก็เชื่อ นอกจากนี้เด็กยังต้องการอิสระและความเป็นส่วนตัว ไม่ชอบให้พ่อแม่เข้ามาควบคุมจัดการเหมือนแต่ก่อน ซึ่งอาจทำให้ผู้ใหญ่มองว่าเป็นเด็กไม่ดี เถียงคำไม่ตกฟาก พอโตแล้วปีกกล้าขาแข็ง เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวถือเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่ต้องเข้าใจและรับมือ มากกว่าจะสรุปว่า ลูกมีปัญหา หรือคิดว่าลูกผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับลูกของคนอื่นๆ
ถึงกระนั้น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น บอกต่อว่า คงต้องพิจารณากันจริงๆ ว่า เด็กที่เข้าสู่วัยรุ่นแล้วยังเชื่อฟังทำตามที่พ่อแม่บอกทุกอย่างนั้น เป็นเด็กที่ปกติดีจริงๆ หรือเป็นเด็กที่มีปัญหาบางอย่างแอบแฝงอยู่ เช่น เด็กไม่ได้คิด เพราะพ่อแม่คิดให้ ตัดสินใจให้หมดทุกอย่าง หรือเด็กคิดแต่ไม่กล้าบอก เพราะกลัวว่าบอกไปแล้วพ่อแม่ก็ไม่ฟังจึงต้องเก็บกดเอาไว้หรือแอบทำโดยไม่ให้ พ่อแม่รู้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า เด็กไม่ได้มีการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง
ในทางตรงกันข้าม เด็กวัยรุ่นที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับพ่อแม่ มีการโต้เถียง ต่อต้านคำสั่งของแม่บ้างถือเป็นเรื่องปกติที่แสดงถึงการพัฒนาทางความคิดและ ความเป็นตัวเองอย่างแท้จริงเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต หากพ่อแม่เข้าใจพัฒนาการของลูกวัยนี้ ก็จะไม่เกิดคำถามอย่างเช่นที่ยกตัวอย่างในตอนต้น เพราะคำถามดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า พ่อแม่ยังมีความคิด และความคาดหวังที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และความคิดดังกล่าวอาจจะส่งผลให้พ่อแม่เกิดความผิดหวัง เสียใจ โกรธที่ลูกไม่เป็นอย่างที่ต้องการ ตามมาด้วยคำพูดและการกระทำในทางลบกับลูก ซึ่งเป็นการผลักลูกให้ออกห่างจากพ่อแม่ (ที่รักลูกด้วยใจจริง) และเปิดโอกาสให้บางสิ่งหรือบางคน (ที่ไม่รู้ว่าดีหรือร้าย) เข้ามาใกล้ชิดและมีอิทธิพลกับลูกแทน
"วัยรุ่นยังเป็นวัยที่มีการ เปลี่ยนแปลงของอารมณ์ได้ง่าย เนื่องจากต้องเผชิญและปรับตัวกับหลายสิ่งทั้งสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป การเรียนที่หนักขึ้น การเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน ฯลฯ อย่างไรก็ตามในกรณีที่พ่อแม่พบว่าลูกมีอารมณ์แปรปรวนมากจนถึงระดับที่ไม่ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ก็น่าสงสัยว่ามีโรคบางอย่างร่วมด้วยหรือไม่ เช่น บางช่วงลูกมีอารมณ์เบื่อหน่ายซึมเศร้า ไม่อยากทำอะไร แต่บางช่วงกลับครึกครื้นมั่นใจ อยากทำหลายอย่าง โดยอาการเหล่านี้รุนแรงมากจนส่งผลกระทบต่อการเรียน และก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อคนรอบข้าง อาจเข้าข่ายของการเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว" จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นกล่าว
เทคนิค 3 สร้าง แนวทางพิชิตใจลูกวัยรุ่น
สำหรับแนวทางในการเลี้ยงดูลูกในช่วงวัยรุ่นนั้น แพทย์หญิงอังคณา แนะนำว่าควรใช้หลัก 3 สร้าง ในการเชื่อมร้อยใจระหว่างลูกกับพ่อแม่ ในการเลี้ยงดูลูกในแต่ละวัน ดังนี้
สร้างที่ 1 สร้างความสัมพันธ์ที่ดีบนพื้นฐานของความเคารพนับถือในตัวตนของลูก โดยพ่อแม่ต้องหมั่นใช้ 3 “ส” คือ สนุกสนาน สนับสนุน แสดงความรัก
- หากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับลูกแล้วเกิดความสนุกสนานด้วยกัน หัดหัวเราะให้กับความผิดพลาดทั้งของลูกและของตนเอง เพื่อสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และช่วยดึงเราให้จดจ่อกับปัญหาน้อยลง
- สนับสนุนลูกอยู่เสมอ แม้ลูกจะผิดพลาดล้มเหลว พ่อแม่ต้องไม่ตอกย้ำข้อเสียของลูก แต่ให้ความสำคัญและส่งเสริมข้อดีในตัวลูก เชื่อมั่นในตัวลูก ให้ลูกมั่นใจว่าลูกเป็นที่รัก เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่เสมอ และลูกมีความสามารถเพียงพอที่จะทำสิ่งต่างๆได้
- แม้ลูกจะโตเป็นวัยรุ่นแล้ว ลูกก็ยังคงต้องการความรักจากพ่อแม่เสมอ เด็กแต่ละคนต้องการความรักในรูปแบบที่ต่างกัน บางคนต้องการการสัมผัส บางคนต้องการคำพูด หรือบางคนอาจต้องการของขวัญ การแสดงความรักในแบบที่ลูกต้องการจะช่วยให้ลูกสัมผัสความรักนั้นได้มากกว่า การรักลูกเพียงในใจ
สร้างที่ 2 สร้างทักษะในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพโดยการคิด -> ฟัง -> พูด
- เวลาพ่อแม่เห็นพฤติกรรมบางอย่างของลูกที่เราไม่ชอบ อย่าเพิ่งรีบตัดสินหรือใช้อารมณ์กับลูก ให้เราคิดก่อนทุกครั้งว่าลูกคงมีเหตุผลบางอย่าง และที่เราไม่ชอบก็เพราะเรามีเหตุผลบางอย่างเช่นกัน การคิดจะช่วยให้เรามีสติ ควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น ช่วยให้เรามีความพร้อมที่จะฟังและพูดกับลูกได้ดีขึ้น
- เมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้เราฟังลูกพูดก่อน อย่าเพิ่งรีบพูดเสียเอง การฟังเพื่อให้เข้าใจลูก ไม่ใช่เพียงแค่ฟังเรื่องราวที่ลูกเล่าเท่านั้น แต่ต้องฟังลงไปถึงความรู้สึกลึกๆของลูกและสะท้อนความรู้สึกของลูกออกมา
- การพูดกับลูกวัยรุ่นต้องระวังที่จะไม่เป็นการตำหนิหรือดูถูกลูก อาจเริ่มต้นประโยคด้วยความรู้สึกและความคิดของเราเอง เช่น "แม่ไม่สบายใจเลยที่ลูกกลับดึก เพราะแม่ห่วงว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับลูก"
สร้างที่ 3 สร้างโอกาสที่ลูกจะได้เรียนรู้การเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง
- สร้างบรรยากาศแบบประชาธิปไตยในบ้าน โดยจัดการประชุมในครอบครัวขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกมีโอกาสเสนอความคิดเห็นอย่างเต็มที่ โดยที่พ่อแม่พร้อมจะฟัง
- เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ควรร่วมกันวิเคราะห์หาสาเหตุทั้งจากตัวลูกและตัวพ่อแม่ด้วย ช่วยกันเสนอทางเลือกต่างๆในการแก้ปัญหา วิเคราะห์ผลดีผลเสียที่อาจตามมาจากทางเลือกนั้นๆ หรือหากเป็นการทำข้อตกลง ก็ควรมีการระบุถึงผลที่จะตามมาอย่างชัดเจนหากลูกไม่ปฏิบัติตาม
- ลงมือทำในสิ่งที่ตกลงร่วมกัน และยอมให้ลูกรับผิดชอบกับผลที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง เพื่อลูกจะได้เรียนรู้อย่างแท้จริง
สำหรับพ่อแม่ที่มีลูกวัยรุ่น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ฝาก ทิ้งท้ายว่า แค่ความรัก อาจไม่เพียงพอ ยังต้องมีความเชื่อว่า ลูกพร้อมที่จะดีด้วย เพราะยากที่วัยรุ่นจะเชื่อว่าตนเป็นคนดีและทำสิ่งดีๆได้ หากพ่อแม่ยังไม่เชื่อว่าเขาเป็นอย่างนั้น และหากวันนี้ลูกทำสิ่งที่ผิด ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจะผิดไปตลอดทั้งชีวิต สิ่งที่พ่อแม่ต้องมีคือความอดทนและการให้อภัย แม้การดูแลลูกวัยรุ่นจะต้องใช้พลังมากมายที่มีอยู่ในตัวพ่อแม่ ทั้งพลังความรัก พลังความเชื่อมั่น และพลังความหวังที่มีต่อลูก แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าชื่นใจและคุ้มค่าที่ลูกเราจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มี คุณภาพในอนาคต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น