“นอน” เรื่องสำคัญของลูกขวบแรก
การ นอนสำคัญต่อสมอง พัฒนาการ และการเจริญเติบโตของทารกน้อย เพราะ Growth Hormone ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายของเด็กเจริญเติบโตนั้นจะหลั่งมากในช่วง ที่นอนหลับสนิท การตื่นบ่อย การนอนน้อยอาจทำให้การหลั่งของฮอร์โมนตัวนี้ลด ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของลูกได้
สำหรับเด็กน้อยวัยขวบแรก การนอนเป็นเวลา และได้นอนหลับพ้กผ่อนอย่างเพียงพอตามความต้องการเป็นสิ่งสำคัญ แต่นอนเท่าไหร่ล่ะถึงจะเพียงพอสำหรับหนูน้อย
หนูน้อยขวบแรก : นอนเท่าไหร่จึงจะพอ
แรกเกิด- 5 เดือน
ทารกแรกเกิดใช้เวลานอนมากถึง 16-17 ชั่วโมงต่อวัน โดยหลับสั้นๆ ในช่วงกลางวันบ่อยถึง 4-5 ครั้ง ครั้งละ 2-4 ชั่วโมง การนอนสำคัญสำหรับทารกมาก เพราะเป็นช่วงที่ระบบประสาทและแขนงประสาทต่างๆ เจริญเติบโต
เด็กแต่ละคนมีลักษณะนิสัยการนอนต่างกัน เด็กบางคนนอนง่าย เสียงหรือสิ่งรบกวนใดก็ไม่สามารถรบกวนการนอนหลับของหนูได้ ขณะที่บางคนจะตื่นบ่อยเพราะสิ่งรบกวนต่างๆ คุณพ่อคุณแม่จึงควรจัดสิ่งแวดล้อมในห้องนอนของลูกให้เงียบสงบ ในช่วงกลางวันห้องที่ลูกนอนไม่ควรสว่างเกินไป ไม่มีเสียงดังมารบกวน และมีอากาศปลอดโปร่งเย็นสบาย
ในช่วงกลางคืนลูกจะเคลื่อนไหวได้บ่อย บางครั้งอาจเป็นการตื่นจริงๆ ตื่นเพราะหิว หรืออาจเป็นแค่การพลิกตัวตามช่วงวงจรการนอน โดยระยะเวลาระหว่างมื้อนมที่เหมาะสมในเด็กแรกคลอดก็คือทุกๆ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งจะค่อยๆ ยืดขึ้นเป็นทุกๆ 4-5 ชั่วโมงในช่วงอายุ 5 เดือน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าทุกครั้งที่ลูกพลิกตัวหรือลืมตาจะต้องนำ ลูกมากินนมเสมอไป
Tips
* อย่าลืมฝึกให้ลูกสามารถหลับได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องใช้เปลหรืออุ้มขึ้นมากล่อมให้หลับทุกครั้ง
* เมื่อลูกอายุ 3 หรือ 4 เดือน ลูกจะค่อยๆ พัฒนาการนอนในช่วงกลางวันเป็นเวลามากขึ้น ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีในการฝึกให้ลูกนอนเป็นเวลา
6-12 เดือน
ในวัย 6 เดือน ลูกจะนอนช่วงกลางวันเพียง 2 หรือ 3 ครั้ง ตอนเช้า 1 ครั้ง ตอนบ่าย 1 ครั้ง หรือตอนเย็นๆ อีก 1 ครั้ง
ส่วนในช่วงกลางคืน ลูกวัยนี้จะมีพลังงานสำรองเพียงพอที่จะไม่ต้องกินนมในช่วงกลางคืนอีกแล้ว เด็กส่วนใหญ่จะนอนยาวได้นาน 6-8 ชั่วโมงติดต่อกัน แต่เด็กบางคนยังต้องกินนมในตอนกลางดึก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรจะหาทางให้ลูกเลิกตื่นขึ้นมาดื่มนมมื้อดึก เพราะการดูดนมตอนกลางคืนจะทำให้ฟันและช่องปากมีสภาพเป็นกรด ฟันจึงผุง่าย ระบบทางเดินอาหารและต่อมไร้ท่อต่างๆ ต้องทำงานเพื่อย่อยและดูดซึมนมที่ได้รับเข้าไปใหม่ เพราะฉะนั้นการให้ลูกวัยนี้กินนมตอนกลางดึกจึงไม่มีความจำเป็น
Tips
* เด็กวัยนี้เริ่มติดตุ๊กตา ผ้าห่ม หรือหมอน ฯลฯ การติดนี้จะค่อยๆ หายไปในวัย 3-6 ปี การมีสิ่งของที่ลูกติดไว้ใกล้ตัวจะช่วยให้ลูกหลับได้เองโดยไม่ต้องพึ่ง ผู้ใหญ่หรือขวดนม
บันทึกสัญญาณการนอนของลูก
พยายามสังเกตสัญญาณการนอนต่างๆ ของลูก เช่น เวลาง่วงนอนลูกจะเริ่มขยี้ตา ลูกจะงอแงเสมอในช่วงสายๆ หรือหลังอาหารเที่ยง ลูกมักหลับบนรถเสมอ ถ้าต้องนั่งรถในช่วงเย็นๆ คุณพ่อคุณแม่ควรจะสังเกตได้ว่า หากเปรียบเทียบระหว่างการนอนหลับไม่นานกับนอนนานกว่า ลูกมีอารมณ์เช่นไรหลังจากตื่นนอน ลองเก็บข้อมูลสถิติเกี่ยวกับสัญญาณการนอนของลูกสัก 1 หรือ 2 สัปดาห์ จะช่วยให้เห็นรูปแบบการนอนของลูกชัดเจนขึ้น
ยกตัวอย่าง หากลูกของเราเริ่มแสดงอาการง่วงเหงาและพร้อมที่จะนอนตอน 10 โมงเช้าเสมอๆ ดังนั้นก่อนจะถึงเวลา 10 โมงเช้าสัก 10-15 นาที คุณแม่ก็เริ่มพาลูกเข้านอนได้เลย ให้นม กล่อมให้หลับ และพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงที่แผ่วเบาลง นี่จะช่วยให้ลูกพร้อมที่หลับเมื่อถึงเวลา ไม่ต้องรอให้ลูกง่วงเต็มที่ เหนื่อยและงอแงแล้วจึงพาลูกเข้านอน
พยายามให้ลูกนอนตามเวลา
การให้ลูกนอนตรงตามเวลาทุกวันจะช่วยให้ลูกพัฒนานิสัยการนอนที่ดีได้ในอนาคต พยายามหลีกเลี่ยงกิจกรรมต่างๆ ที่รบกวนเวลานอนของลูก
หากลูกของเราอยู่เนิร์สเซอรี่ในช่วงจันทร์ถึงศุกร์ และนอนหลับเป็นเวลา ช่วงวันเสาร์อาทิตย์ คุณพ่อคุณแม่ควรจัดให้ลูกนอนตรงกับเวลานอนที่เนิร์สเซอรี่ด้วย
อย่างไรก็ตามหนูน้อยแต่ละคนมีนิสัยการนอน และอาจมีนาฬิกาในตัวต่างกัน เด็กบางคนอาจเป็นพวกนอนครั้งละน้อยๆ นอนบ่อยๆ แต่ละครั้งนอนไม่ถึง 1 ชั่วโมง คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวล หากลูกไม่มีอาการเหนื่อย ไม่งอแง ดื่มนม ทานอาหารได้ตามปกติ นั่นแสดงว่าลูกได้พักผ่อนเพียงพอแล้ว
หลังจากดูแลให้ลูกน้อยพักผ่อนอย่างเพียงพอ คุณพ่อคุณแม่ก็ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ เพื่อสุขภาพที่ดีของครอบครัว และเพื่อให้พร้อมรับมือเจ้าตัวน้อยเวลาที่หนูตื่นขึ้นมา
ที่มา :http://www.momypedia.com/babylove/article_detail_06.aspx
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น