ข้อมูลที่ต้องรู้ก่อนเลือกโรงเรียนอนุบาลเพื่อลูกรัก

ข้อมูลที่ต้องรู้ก่อนเลือกโรงเรียนอนุบาลเพื่อลูกรัก



โรงเรียนอนุบาลมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาลูก ถ้าเลือกโรงเรียนให้ลูกได้ดี ก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง เพราะนอกจากลูกจะชอบไปโรงเรียน มีความสุขกับการเรียนแล้ว ยังทำให้ลูกเรียนได้ดีด้วย อีกทั้งโรงเรียนในบ้านเราก็มีให้เลือกอยู่มาก มีการเรียนการสอนหลายแนว ลองทำความรู้จัก พร้อมเช็กลิสต์ความชอบไม่ชอบด้วยกันดีกว่าค่ะ
 
การเรียนการสอน 4 แนว... แบบไหน คิดว่า “ใช่” สำหรับลูก

1. แนวเร่งเรียนเขียนอ่าน   [.....]  ใช่    [.....]  ไม่ใช่
แนวทางการสอนของโรงเรียนอนุบาลเดิม เป็นโรงเรียนที่รับรองว่าเรียนจบแล้วจะสามารถเข้าประถม 1 ในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้ แนวการสอนเน้นสอนคัดลายมือ บวกลบเลขได้ อ่านออกเขียนได้เมื่อจบชั้นอนุบาล 3 
2. แนวเตรียมความพร้อม   [.....]  ใช่    [.....]  ไม่ใช่
เตรียมความพร้อมของเด็ก โดยฝึกทักษะความคิด จิตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาการกล้ามเนื้อ แนวการสอนจะเน้นการเล่น เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และบริหารกล้ามเนื้อ อนุบาลแนวนี้ยังแยกย่อยเป็นอีกหลายแนวทางตามปรัชญาการศึกษาออกประมาณ 7 แนวคิด
 
ปรัชญาการศึกษาของโรงเรียนอนุบาล 7 แนวคิด
1. มอนเตสซอรี (Montessori) เน้นสอนตามพัฒนาการและความต้องการของเด็ก เพื่อให้เด็กพึ่งตนเองได้ เรียนรู้เป็นรายบุคคล เน้นการเตรียมการสอนของครูตามขั้นตอน โดยใช้อุปกรณ์ในการฝึกประสาทสัมผัสเด็ก
2. วอลดอร์ฟ (Waldorf) เน้นสอนให้เด็กเรียนรู้ด้วยการเล่น พัฒนาการใช้อวัยวะต่างๆ ใช้อุปกรณ์ สอนกิจกรรมให้ฝึกคิดจินตนาการ ทั้งศิลปะ ดนตรี วาดเขียน งานภาคปฏิบัติ เช่น ทำสวน ประกอบอาหาร ประดิษฐ์
3. นีโอฮิวแมนนิส (Neo-Humanist) เป็นการนำศาสตร์ทางตะวันออกผสานความทันสมัยแบบตะวันตก เช่น มีการให้เด็กฝึกสมาธิ ทำโยคะ ขณะเดียวกันก็ใช้เสียงเพลงและวิธีการสอนใหม่ๆ ด้วย
4. โครงการ (Project Approach) การสอนแบบโครงการให้เด็กรู้จักตัดสินใจ โดยสืบค้นหาข้อมูลตามเรื่องที่เด็กสนใจ ค้นหาคำตอบจากคำถามที่เกี่ยวกับหัวเรื่อง ไม่ว่าคำถามนั้นจะมาจากเด็กครู หรือเด็กกับครูร่วมกัน
5. เรกจิโอเอมิเลีย (Reggio Emilia) เป็นสอนที่ครู เด็ก ชุมชน พ่อแม่มีส่วนร่วมในการจัดสภาพแวดล้อมให้เด็กเรียนรู้ สังเกต ตั้งสมมุติฐาน สำรวจแล้วแสดงผลผ่านการวาดภาพ งานปั้น การเล่นละคร การเขียน
6. ภาษาธรรมชาติ (Whole Language Approach) การสอนภาษาแบบบูรณาการ ผ่านการฟัง พูด อ่าน เขียนพร้อมกัน ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เตรียมความพร้อมทุกด้าน ให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษาได้ง่ายและเร็วขึ้น
7. ไฮ/สโคป (High/Scope) เน้นการเรียนรู้แบบลงมือกระทำ (Active learning) ผ่านมุมเล่นหลากหลาย ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะกับพัฒนาการ และการแก้ปัญหา พร้อมใช้การสอนกลุ่มย่อยเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ
 
3. โรงเรียนสองภาษา   [.....]  ใช่    [.....]  ไม่ใช่
ที่เรียกว่า ไบลิงกัว เน้นการสอนแบบสองภาษา โดยใช้หลักสูตรของกระทรวง คือ ภาษาไทยกับภาษาที่สอง คือ อังกฤษ หรือจีน บางโรงเรียนเพิ่มเป็นสามภาษาตามที่ผู้ปกครองต้องการ สอนแบบเตรียมความพร้อม เน้นกิจกรรมเล่นปนเรียน มีสื่อที่เป็นภาษาที่สอง เช่น บัตรคำ หนังสือภาพ หรืออื่นๆ
4.โรงเรียนนานาชาติ [.....]  ใช่    [.....]  ไม่ใช่
เป็นโรงเรียนที่ไม่ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ใช้หลักสูตรของต่างประเทศ เช่น หลักสูตรระบบอเมริกันและระบบอังกฤษ หรือหลักสูตรเฉพาะชาติ ส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางเป็นหลัก อดีตเคยเป็นที่รองรับลูกชาวต่างชาติที่ทำงานในบ้านเรา ปัจจุบันกลายเป็นที่นิยมของพ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกเรียนภาษา 

รู้ทันข้อคิดก่อนเลือกโรงเรียน

* อย่าคิดว่าโรงเรียนอนุบาล คือ สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนที่ดีต้องมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่ชัดเจน เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการเพิ่มขึ้น ส่วนสถานรับเลี้ยงเด็กนั้น จะเน้นเรื่องการดูแลเด็กเป็นส่วนใหญ่ค่ะ

* อย่าหลงเชื่อที่กิจกรรมพิเศษ เช่น ว่ายน้ำ เทควันโด้ คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเพียงโฆษณาที่โรงเรียนมักยกเป็นกิจกรรมที่ช่วยดึงดูดใจให้มาสมัครมากกว่าที่จะทำกันอย่างจริงจัง

* อย่าคิดว่าโรงเรียนใหญ่ๆ ต้องดีกว่าโรงเรียนเล็กๆ บางครั้งโรงเรียนขนาดใหญ่เกินไปก็อาจดูแลเด็กได้ไม่ทั่วถึง และก็มีหลายโรงเรียนที่แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก แต่ก็มีคุณภาพ
 
* อย่าคิดว่าโรงเรียนแพงๆ แล้วจะต้องดีเสมอไป เพราะหลายโรงเรียนมักเรียกค่าใช้จ่ายสูงเกินกว่าความเป็นจริง คุณแม่จึงควรขอเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จะต้องจ่ายจริงๆ ก่อนตัดสินใจเลือกโรงเรียนให้ลูกค่ะ
 
             
เช็กลิสต์โรงเรียนอนุบาลในดวงใจแม่
    ทำความรู้จักกับแนวการเรียนการสอนกันมาบ้างแล้ว บางท่านอาจคิดว่าแนวการสอนยังไม่ใช่หัวใจหลักสำคัญของการเลือกโรงเรียนนัก น่าจะมีข้อพิจารณาอื่นๆที่ต้องคิดมากกว่านี้อีก แล้วคุณแม่คิดอย่างไรกับการเลือกโรงเรียนให้ลูกกันบ้าง ลองมาเช็กความต้องการของคุณแม่กันก่อนดีไหมคะ
 
เลือกปัจจัยที่คุณแม่ให้ความสำคัญสำหรับการเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูกน้อย
…..เดินทางสะดวก เพราะอยู่ใกล้บ้าน ใกล้ที่ทำงาน หรือเป็นทางผ่านของพ่อแม่
…..สิ่งแวดล้อมดี สถานที่กว้างพอทำกิจกรรม มีความปลอดภัย มีรั้วรอบขอบมิดชิดจากถนน
…..มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ เคยได้รับรางวัลดีเด่น เช่น รางวัลชนะเลิศทางด้านดนตรี ด้านศิลปะ หรืออื่นๆ
…..สัดส่วนคุณครู ผู้ดูแลเด็ก และพี่เลี้ยงเด็กต่อจำนวนนักเรียนเหมาะสม ไม่น้อยเกินไป
…..เป็นโรงเรียนเตรียมความพร้อม ไม่มุ่งเน้นวิชาการมากไปจนเด็กเครียด
…..มีแนวการเรียนการสอนครบถ้วน ทั้งด้านวิชาพื้นฐานทั่วไป หรือด้านภาษา
…..มีการเรียนพิเศษภาคฤดูร้อนครอบคลุมทักษะด้านต่างๆ ทั้งภาษา ดนตรี ศิลปะ คอมพิวเตอร์
…..มีกิจกรรมต่างๆ มากมายที่ช่วยเสริมทักษะพัฒนาการและสังคมของลูก
…..ค่าเทอมไม่แพงจนเกินไป
…..คุณครูจบด้านครุศาสตร์ สาขาอนุบาล หรือการศึกษาปฐมวัยโดยตรง
…..ห้องเรียน อาคาร โรงอาหาร ห้องน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ ตู้น้ำดื่ม หรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เพียงพอ
…..มีที่จอดรถสำหรับการรับ-ส่งเด็กนักเรียน
…..สิ่งอำนวยความสะดวกทุกอย่างสะอาด สภาพตู้น้ำดื่มได้มาตรฐาน
…..อาหารกลางวันที่เด็กนักเรียนจะได้รับมีคุณค่าทางโภชนาการ
…..สนามเด็กเล่นมีเครื่องเล่นเพียงพอต่อจำนวนเด็ก
…..ยินยอมให้พ่อแม่ไปเยี่ยมชมโรงเรียน และมาดูการเรียนการสอนได้ โดยไม่รบกวนการเรียนของลูก
 
                                                                   
เลือกโรงเรียนอนุบาลในดวงใจลูก
คุณแม่ที่ขีดถูกตอบหลายข้อ แสดงว่ามีความละเอียดรอบคอบดีอยู่แล้วค่ะ ส่วนคุณแม่ที่ขีดตอบได้น้อย ก็คงได้เวลาที่หันมาพิจารณาโรงเรียนอนุบาลกัน เพราะการเลือกโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อลูกไปโรงเรียนครั้งแรก ลูกย่อมกังวลต่อสถานที่แปลกใหม่ เพื่อนใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่ ลูกย่อมงอแง เพราะรู้สึกไม่สบายใจ ยิ่งเลือกได้โรงเรียนที่ไม่ดูแลลูกให้ดีพอ ลูกย่อมไม่มีความสุขกับการเรียนเพิ่มขึ้นด้วยค่ะ
   ดังนั้นถ้าคิดจะเลือกโรงเรียนให้ลูก นอกจากดูว่าสิ่งแวดล้อมดี มีความปลอดภัย โรงเรียนได้มาตรฐานแล้ว ก็ต้องหันมาคิดถึงจิตใจของลูกด้วยนะคะ ดังนี้
* เตรียมความพร้อมดีกว่ามุ่งเรียน
ควรเลือกโรงเรียนเตรียมความพร้อมให้ลูก เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับสิ่งใหม่ๆ ให้ลูกก่อนเข้าสู่ระบบการเรียนในชั้นประถม ซึ่งเหมาะสมกว่าการมุ่งเรียนวิชาการตั้งแต่ยังเล็ก เพื่อช่วยให้ลูกได้พัฒนาอารมณ์ จิตใจ สังคม
 


* อัตราส่วนครูกับเด็กเหมาะสม
สัดส่วนครูต่อเด็กนักเรียนเหมาะสม ครูหนึ่งคนต่อเด็กในห้องเรียนหนึ่งไม่ควรให้เกินห้องละ 20-25 คน ไม่รวมครูผู้ช่วย เพื่อให้ลูกได้รับความสนใจจากครูได้มากพอ และครูก็สามารถดูแลเด็กได้ทั่วถึง และใกล้ชิดด้วย

* มีกิจกรรมเสริมทักษะสังคม
ควรเลือกโรงเรียนที่มีกิจกรรมล้อมวงทุกวัน เพื่อให้ลูกได้ฝึกทักษะทางสังคมที่จำเป็น เด็กๆดูวุ่นวายกับการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การผลัดกัน การรู้จักฟังผู้อื่น ครูเข้าใจเด็ก พร้อมที่จะเหนื่อยเพื่อเด็ก มีเวลาเพียงพอในการจัดกิจกรรมแต่ละวัน และส่งเสริมให้เด็กได้ร่วมกิจกรรมกันทุกคน

* บรรยากาศอบอุ่นวางใจ
เมื่อเข้าไปแล้วโรงเรียนมีบรรยากาศอบอุ่น ร่มรื่นเย็นสบาย ไม่มีเสียงดังมากจนเกินไปจากถราภายนอก หรือเงียบจนเกินไปจนดูน่ากลัว บรรยากาศเอื้ออำนวยพอที่จะทำให้เด็กอยากเรียนรู้ เช่น มีมุมหนังสือ นิทาน มีสนามเด็กเล่น พร้อมมีเครื่องเล่นในสนามเพียงพอและได้มาตรฐาน

* สิ่งแวดล้อมเสริมการเรียนรู้
มีการจัดสิ่งแวดล้อมเหมาะสมต่อพัฒนาการเด็ก สภาพแวดล้อมเอื้อต่อการเรียนรู้ภาษา ครูอ่านนิทานให้ฟังทุกวัน ห้องเรียนมีนิทานมากพอให้เลือกหยิบตามต้องการ มีสื่อการสอนที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์เพิ่มขึ้น เมื่อเด็กวาดรูป หรือทำงานศิลปะ แปะติดผนังห้อง แล้วครูช่วยเขียนคำบรรยายตามที่เด็กบอกประกอบ

* เสริมการเล่นของเด็ก
เป็นโรงเรียนที่มีของเล่นต่างๆพร้อม เช่น บล็อก จิ๊กซอว์พอที่จะเล่นได้หลายคน มีของแปลกใหม่มาให้เด็กเรียนรู้ เปิดโอกาสให้เด็กสำรวจ แสดงความเห็น ขยายผลเป็นโครงการต่อเนื่อง เช่น ครูหาใบไม้มาให้เด็กดู แล้วเด็กซักถามเรื่องพืช เกิดความอยากลองเพาะเมล็ดพืช เกิดการปลูกต้นไม้ และสังเกตการเติบโตทุกระยะ
 
ขอขอบคุณ : ข้อมูลดีๆ จาก Mother & Care ค่ะ

ความคิดเห็น