การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว

การให้นมแม่ช่วยคุณแม่ลดน้ำหนักส่วนเกินได้อย่างรวดเร็ว หลังคลอดลูก หากคุณแม่ให้นมลูกเอง นน.จะลงมาเป็นปกติภายใน 1-6 ด.โดยไม่ต้องซื้อคอร์สลดนน.ราคาแพง หรือ ซื้อยาลดนน.จากอินเตอร์เนทที่เป็นอันตรายมากิน โดยมีข้อแม้ว่า ตลอดการตั้งครรภ์ 9 เดือน คุณแม่ควรควบคุมน้ำหนักตลอดการตั้งครรภ์ให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 10-12 กก.ตลอดการตั้งครรภ์ โดยที่ 3 ด.แรก น้ำหนักต้องไม่ขึ้นเลย 3 ด.ถัดมาขึ้น 6 กก. และ 3 ด.สุดท้ายขึ้น 6 กก. ใครที่นน.ขึ้นเกินจากนี้ ไม่ดีนะคะ อย่าคิดว่าตอนท้องเป็นช่วงโปรโมชั่น อยากกินอะไรก็กินได้ตามใจอยาก อ้วนได้ไม่มีใครกล้าว่า แล้วคิดกินเพื่อลูก โด๊ปอาหารก่อภูมิแพ้เข้าไปมากมาย นมวัวเอย ผลิตภัณฑ์นมวัวเอย ทั้งชีส เค้ก ไอศครีม นมถั่วเหลืองซื้อมาเป็นลังๆ ไข่กินวันละหลายๆฟอง ขนมนมเนยทุกชนิด ปลาแซลมอนทุกมื้อ ผลที่ตามมา คือ แม่อ้วนทำให้เสี่ยงต่อเบาหวาน ครรภ์เป็นพิษ ลูกเสี่ยงกับภาวะแพ้โปรตีนกลุ่มเสี่ยง พอคลอดลูกเสร็จ ก็ยังกินบำรุงน้ำหนักต่อ โดยคิดว่าจะทำให้ผลิตน้ำนมได้เยอะ ผลที่เกิดขึ้นคือ น้ำหนักส่วนเกินยังคงอยู่สะสมในร่างกาย แต่น้ำนมไม่ได้เพิ่มขึ้น (ดังรูปบน) เพราะปริมาณน้...

“รถหัดเดิน” อันตราย!!

 “รถหัดเดิน” อันตราย!!


ไม่อยากให้ลูกตาย เลิกใช้ซะ!!



“รถหัดเดิน” คือสินค้าที่วางขายกันเกร่อ คุณพ่อคุณแม่ล้วนเข้าใจผิดๆ กันมานานแล้วว่าจะช่วยให้ลูกน้อยวัย 5 – 6 เดือนได้ออกกำลังกายและฝึกให้เดินเป็นเร็วขึ้น ส่วนลูกน้อยเองก็แสนจะเพลิดเพลิน เพราะไถรถไปที่ไหนต่อที่ไหนได้เอง พ่อแม่ก็จะได้พักผ่อนบ้าง

 
แต่รถหัดเดินทำให้เดินได้เร็วจริงหรือ?

เปล่าเลย! ทำให้เด็กเดินช้าต่างหาก

 

เด็กเล็กที่อยู่ในรถหัดเดิน เวลาจะเคลื่อนที่จะใช้ปลายเท้าจิกลงและไถไปข้างหน้า ขณะที่เวลาเริ่มเดินจริง กลไกการเดินที่ถูกต้องจะใช้ส้นเท้าลงก่อน
 

ดังนั้นเด็กที่อยู่ในรถหัดเดิน นานหลายชั่วโมงต่อวัน เมื่อตั้งไข่ได้ดีแล้วจะก้าวเดิน เด็กจะใช้ปลายเท้าจิกลงซึ่งจะทำให้เดินไม่ได้ หรือเดินเป๋เพราะใช้ปลายเท้าในการเดิน นั่นเป็นการฝึกเดินที่ผิดลักษณะ เกิดการทรงตัวที่ไม่ดี และจะสร้างปัญหาให้ในยามที่เขาต้องหัดเดินด้วยตนเอง

โดยทั่วไปเด็กที่อยู่ในรถหัดเดินหลายชั่วโมงต่อวันจะเดินได้ช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้ประมาณ 1 – 3 เดือน ซึ่งในสิงคโปร์มีการวิจัยในเด็ก 185 คน พบว่า 10% ของเด็กที่ใช้รถหัดเดินเป็นประจำจะมีพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวช้ากว่าเด็กที่ไม่ได้ใช้

 

ที่แย่กว่านั้นก็คือ...อันตรายจากอุบัติเหตุ
 

ในสหรัฐอเมริกา พบว่า มีเด็กบาดเจ็บจากรถหัดเดินต้องมารับการรักษาในห้องฉุกเฉินปีละกว่า 29,000 ราย! แม้แต่ในเมืองไทยเราเองก็เคยมีการวิจัยพบว่าเด็กๆ 1 ใน 3 เคยได้รับบาดเจ็บจากการใช้รถหัดเดินมาแล้ว
 

แต่กระนั้น คุณพ่อคุณแม่ชาวไทยก็ยังซื้อรถหัดเดินมาให้ลูกใช้กันอยู่ ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย และในหลายๆ รัฐของสหรัฐอเมริกา ล้วนแต่เห็นโทษภัยของ “รถหัดเดิน” จนทางการห้ามขาย และประชาชนก็พากันเลิกซื้อเลิกใช้กันมาถึง 10 กว่าปีแล้ว

 
รถหัดเดินอันตรายอย่างไร??
 

            1) สภาพของรถหัดเดินโดยมากแล้วจะมีฐานที่ไม่กว้าง โครงสร้างก็เปราะบาง จึงมักจะเกิดเหตุพลิกคว่ำอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อเด็กไถไปโดยเร็วแล้วไปเจอพื้นต่างระดับ สะดุดกับสิ่งของบนพื้น หรือแม้แต่ชนกับเสาหรือกำแพง จนได้รับบาดเจ็บไม่ว่าจะที่แขน ขา ใบหน้า หรือกระทั่งศีรษะ แต่จะเป็นเรื่องหนักหน่วงขึ้นมาทันทีที่รถหัดเดินร่วงลงมาจากที่สูง ไม่ว่าจะเป็นชั้นบนของบ้าน หรือบ้านที่มีใต้ถุน จึงต้องพึงสังวรไว้ว่า มีเด็กที่ต้องพิการหรือเสียชีวิตในกรณีนี้ไม่น้อยเลย

            2) นอกจากจะไถรถไปวิ่งชนกับ “ของแข็ง” ยังมีโอกาสวิ่งไปชน “ของร้อน” อีกด้วย เช่น โต๊ะที่วางกาน้ำร้อน หม้อหุงข้าว หรือสายไฟเตารีด! (กรณีโดนน้ำร้อนลวกเพียงแค่ 30 วินาที ผิวหนังจะไหม้และอาจเสียหายอย่างถาวร และการโดนของร้อนอาจทำให้ช็อคได้ เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำ และเกลือแร่อย่างฉับพลัน)

            3) สิ่งที่อาจจะนึกไม่ถึง แต่ได้เกิดขึ้นแล้วก็คือ รถหัดเดินเป็นอีกสาเหตุให้เด็ก “จมน้ำตาย”! ดังเช่น จากรายงานทั้งในไทยและต่างประเทศ เกิดกรณีเด็กไถรถหัดเดิน จนหล่นลงไปในสระน้ำ บ่อน้ำหรือไถรถไปชนจนหน้าคว่ำลงไปในอ่างน้ำ ถังน้ำ หรือแม้แต่ส้วมชักโครกก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว นั่นสามารถนำมาสู่ภาวะสมองตายเพราะขาดอากาศหายใจ และเป็นเรื่องที่ยากจะเยียวยาแก้ไข หนทางที่ปลอดภัยของเด็กน้อยก็คือ...งดใช้รถหัดเดิน!
 
จากหลักฐานการวิจัยที่ผ่านมาทั้งหมด น่าจะสรุปได้แล้วว่า รถหัดเดินนั้น ‘มีประโยชน์น้อย แต่มีอันตรายมาก’ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคควรมีบทบาทกำกับดูแลเรื่องนี้ รัฐบาลควรหันมาเข้มงวดให้มากขึ้น มิเช่นนั้นประชาชนก็ยังคงต้องตกเป็นเหยื่อผลิตภัณฑ์อันตรายกันต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

 
ที่มา : จดหมายข่าวชุมชนคนรักสุขภาพ ฉบับสร้างสุข เดือนมิถุนายน 2552

ความคิดเห็น